“ไปบ้านแม่กระบุง ชมทุ่งสมุนไพร เร้าใจเสียงดนตรี ประเพณีกะเหรี่ยงโพร่ง”
เดิมชื่อบ้านต้นมะพร้าว ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงเขตการปกครองและจัดตั้งตําบลใหม่คือตําบลแม่กระบุง จึงเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็น "บ้านแม่กระบุง" ตามชื่อภูเขาที่อยู่หลังหมู่บ้าน
“ไปบ้านแม่กระบุง ชมทุ่งสมุนไพร เร้าใจเสียงดนตรี ประเพณีกะเหรี่ยงโพร่ง”
บ้านแม่กระบุง เดิมคือบ้านต้นมะพร้าว ขึ้นอยู่กับหมู่ 7 ตำบลหนองเป็ด ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงเขตการปกครองและจัดตั้งตําบลใหม่คือตําบลแม่กระบุง จึงเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็นบ้านแม่กระบุงตามชื่อภูเขาที่อยู่หลังหมู่บ้าน ประชากรส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเป็นชาวกะเหรี่ยง หรือปกาเกอะญอ ก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2327 เมื่อนายย่องคือ ได้อพยพครอบครัวมาจากบ้านลิ่นถิ่น อําเภอทองผาภูมิ เพื่อแสวงหาที่ทํากินใหม่ โดยยึดอาชีพทําปลูกข้าวไร่ ทําสวน หมาก มะพร้าว ส้มโอ และมะม่วง ต่อมาใน พ.ศ. 2420 ทางการได้ประกาศแต่งตั้งนายตู้เป็นผู้ใหญ่บ้าน และให้หมู่บ้านในขณะนั้นขึ้นอยู่กับจังหวัดกาญจนบุรี ขณะเดียวกันหมู่บ้านก็มีประชากรเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งจากการแยกครอบครัว และการอพยพย้ายมาจากหมู่บ้านอื่น เช่น บ้านต่อเรือ บ้านน้ำมุด บ้านท่าทุ่งนา บ้านสะแดะ บ้านห้วยเล็ก บ้านจองวา บ้านตะเคียนปิดทอง บ้านตับพะ แต่ในปัจจุบันบ้านสะแดะ บ้านห้วยเล็ก บ้านจองวา บ้านตะเคียนปิดทอง บ้านตับพะ ไม่มีราษฎรอาศัยอยู่แล้ว คงมีแต่ไม้ผลที่ปลูกไว้ เช่น มะม่วง มะพร้าว ขนุน เป็นต้น และในปี พ.ศ. 2519 ประชากรที่อาศัยอยู่แถบเขื่อนศรีนครินทร์ประสบปัญหาน้ำท่วม จึงได้มาขอพื้นที่ทำกินกับทางราชการตั้งบ้านเรือนและบุกเบิกพื้นที่ทำกินในหมู่บ้านต้นเดิมทีประชากรกลุ่มนี้มีทั้งที่มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ในจังหวัดกาญจนบุรี และบางส่วนมาจากจังหวัดนครปฐม โดยอาศัยอยู่บริเวณทางด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้าน ส่วนประชากรที่เป็นชาวปกาเกอะญอจะอาศัยอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้าน กระทั่ง พ.ศ. 2528 บ้านต้นมะพร้าวทางด้านทิศตะวันตกได้แยกหมู่บ้านเป็นบ้านแม่กระบุง หมู่ 2 ในเขตการปกครองตำบลแม่กระบุง อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ที่ตั้งและสภาพแวดล้อม
บ้านแม่กระบุงตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายของอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ พื้นที่ทั้งหมู่บ้านตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ และบางส่วนมีพื้นที่คาบเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติเอราวัณ สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่ของหมู่บ้านมีลักษณะเป็นภูเขาสูง มีที่ราบสลับไหล่เขา ป่าไม้บริเวณโดยรอบยังคงความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำธรรมชาติที่หลากหลาย เช่น ห้วยแม่กว้า ห้วยน้ำมุด และห้วยต้นมะพร้าว ฯลฯ ซึ่งไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ กอปรกับลักษณะภูมิประเทศของหมู่บ้านตั้งอยู่ริมเขื่อนศรีนครินทร์ ส่งผลให้เมื่อมองจากหมู่บ้านแม่กระบุงจะสามารถมองเห็นทัศนียภาพที่งดงามของอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ ตลอดจนความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้นานพรรณที่อยู่รอบหมู่บ้าน
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ บ้านปากเหมือง หมู่ที่ 7 ตําบลด่านแม่ แฉลบ อําเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านบนเขาแก่งเรียง หมู่ที่ 3 ตําบลท่ากระดาน อําเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ พื้นที่อ่างเก็บน้ำหน้าเขื่อนศรีนครินทร์ ติดต่อกับพื้นที่อําเภอไทรโยค
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอไทรโยค
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม·
- ป่าไม้ : ป่าไม้ในเขตพื้นที่หมู่บ้านอยู่ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ ป่าไม้ส่วนใหญ่เป็นไม้ไผ่ผากและไผ่นวลขึ้นผสมกับไม้ตะเคียน และไม้แดง เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2540 เกิดปัญหาแล้งหนัก เนื่องจากไม้ไผ่ผากตายขุย ทําให้ไม่มีพื้นที่ดูดซับน้ำ ทั้งยังถูกหนูรบกวน ส่งผลให้ชาวบ้านทําข้าวไร่ได้ผลผลิตไม่ดีนัก เพราะขาดแคลนน้ำใช้ในการเกษตร และประสบปัญหาศัตรูพืช กระทั่งในปี พ.ศ. 2549 ได้มีการสํารวจพื้นที่ป่าประมาณ 500 ไร่ จัดทําเป็นป่าสาธารณะให้ชาวบ้านหาของป่าและเลี้ยงสัตว์ เพื่อให้ชาวบ้านมีพื้นที่หาของป่าเสริมรายได้และปลอดภัยจากการจับกุมของเจ้าหน้าที่กรมอุทยาน
- แหล่งน้ำ : บ้านแม่กระบุงมีลําน้ำธรรมชาติที่ไหลจากเขาตะกวด (เขาเผ่ง) ไหลผ่านหมู่บ้านลงสู่อ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ ได้แก่ 1) ห้วยต้นมะพร้าว ลำน้ำสายหลักของหมู่บ้าน 2) ห้วยโจ้ไหว้ ซึ่งไหลกัดเซาะพื้นที่ทางการเกษตรของหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงได้ใช้น้ำจากลำน้ำสายนี้ในการทำไร่ และ 3) ห้วยทีเพื่อ เป็นห้วยที่เกิดจากตาน้ำ คือ มีน้ำไหลตลอดปี เป็นลําห้วยที่มีขนาดเล็ก และไหลมาบรรจบกับห้วยต้นมะพร้าว จากนั้นไหลลงสู่เขื่อนศรีนครินทร์
- สัตว์ป่า : ด้วยความที่ป่ายังมีความอุดมสมบูรณ์ ทําให้ป่าโดยรอบหมู่บ้านแม่กระบุงยังคงมีสัตว์ป่านานาชนิด เช่น เลียงผา เก้ง เก้ง หมูป่า กวาง ช้างป่าค่าง ชะนี ลิงกัง กระทิง หมี นกเงือก เสือโคร่ง เสือดํา เม่น อีเห็น ถิ่น เป็นต้น
แหล่งท่องเที่ยวบ้านแม่กระบุง
- ห้วยน้ำอุ่น-น้ำเย็น : ลำห้วยนี้อยู่บริเวณลำห้วยต้นมะพร้าว ซึ่งเป็นลำน้ำสายหลักของหมู่บ้าน ห้วยน้ำอุ่นน้ำเย็นนี้เป็นห้วยที่เกิดจากความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ เมื่อลำน้ำสองสาย สายหนึ่งเป็นน้ำอุ่น อีกหนึ่งเป็นน้ำเย็นไหลมาบรรจบกัน บริเวณจุดกึ่งกลางการบรรจบของลำน้ำแห่งนี้จึงได้กลายเป็นสถานที่สำคัญ และแหล่งท่องเที่ยวประจำหมู่บ้าน
- น้ำตกแม่กระบุง : เป็นน้ำตกขนาดความสูง 3 ชั้น มีโขดหินลดหลั่นกันลงมา บรรยากาศโดยรอบน้ำตกแห่งนี้ถูกรายล้อมด้วยป่าเขาและต้นไม้นานาพรรณ แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติของหมู่บ้านแม่กระบุง ทว่าน่าเสียดายที่น้ำตกแห่งนี้ยังไม่เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวเท่าใดนัก
- ถ้ำพระปรางค์ : หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าถ้ำต้นมะพร้าว ภายในถ้ำแห่งนี้มีหินย้อยรูปร่างคล้ายพระปรางค์ และบริเวณหินงอกย้อยมีแร่ไมก้าปะปนอยู่ เวลาต้องแสงไฟจะสะท้อนเป็นประกายงดงาม
- ป่าชุมชนแม่กระบุง : ป่าชุมชนบ้านแม่กระบุง แหล่งเรียนรู้ธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชและสัตว์ป่ามากมายหลากหลายชนิด ทั้งยังเป็นแหล่งทุ่งสมุนไพรหลากสายพันธุ์ ซึ่งเจริญเติบโตผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนตลอดทั้งปี
การคมนาคม การคมนาคมในหมู่บ้านสามารถเดินทางได้ 3 เส้นทาง ดังนี้
- เส้นทางคมนาคมสายหลักประจําหมู่บ้านและประจําตําบล คือ ถนนสายคึกฤทธิ์ เป็นถนนลูกรัง ระยะทางจากเขื่อนศรีนครินทร์มาถึงบ้านแม่กระบุง ระยะทางประมาณ 38 กิโลเมตร เส้นทางตัดผ่านภูเขาจึงมีลักษณะคดเคี้ยว ลาดชัน เป็นหลุมเป็นบ่อค่อนข้างอันตราย เมื่อถึงฤดูฝนการเดินทางลําบากมาก เพราะน้ำฝนกัดเซาะถนนทําให้ลื่นเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ปัจจุบันการคมนาคมมีทางลาดยางตลอดเส้นทางสายเขื่อนศรีนครินทร์-น้ำตกห้วยแม่ขมิ้นเป็นเส้นทางหลัก ทําให้การเดินทางสะดวกรวดเร็วมากขึ้น
- เส้นทางเอราวัณ-ศรีสวัสดิ์ถึงท่าแพขนานยนต์ห้วยแม่ละมุน โดยข้ามจากฝั่งแม่ละมุ่นด้วยแพขนานยนต์มายัง อำเภอศรีสวัสดิ์ ใช้เวลา 15 นาที จากนั้นขับรถต่ออีกประมาณ 20 กิโลเมตร ถึงท่าแพขนานยนต์ที่ 2 ข้ามจากศรีสวัสดิ์ทางแพขนานยนต์มายังน้ำตกห้วยแม่ขมิ้น ใช้เวลา 45 นาที ขับรถต่อจากท่าแพอีกประมาณ 7 กิโลเมตร จะถึงน้ำตกห้วยแม่ขมิ้น ซึ่งเป็นที่ตั้งที่ทําการอุทยานแห่งชาติ เส้นทางนี้เหมาะสําหรับรถเล็กและรถตู้
- เรือ โดยการเช่าเหมาเรือเอกชนจากท่าต่าง ๆ เช่น ท่าเรือหม่องกระแทะ ท่าเรือท่ากระดาน และท่าเรือเขื่อนศรีนครินทร์ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเข้ามาเทียบท่าที่หมู่บ้าน ใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง 30 นาที
บ้านแม่กระบุงมีประชากรทั้งสิ้น 133 ครัวเรือน 397 คน โดยจำแนกเป็นประชากรชาย 210 คน และประชากรหญิง 187 คน (ข้อมูลเมื่อปี 2555) ประชากรในหมู่บ้านกว่าร้อยละ 90 เป็นชาวกะเหรี่ยงโพร่ง กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวัฒนธรรมอันโดดเด่นทั้งภาษา การแต่งกาย รวมถึงประเพณี และวิถีชีวิต
โพล่งชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและสัตว์เลี้ยง เช่น การปลูกข้าวไร่ ชาวบ้านจะปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองซึ่งมีหลายชนิด ทั้งสายพันธุ์นกกระจอก ข้าวเบา 3 เดือน เป็นข้าวตระกูลนิ่ม เมล็ดสีขาวเหลือง เรียวยาว รวมทั้งข้าวพันธุ์คด ซึ่งเมล็ดจะคดและสั้น โดยทั่วไปการปลูกข้าวจะใช้เวลาประมาณ 6-7 เดือน ยกเว้นข้าวเบา 3 เดือน ที่ใช้เวลาปลูกเพียง 4 เดือน โดยข้าวที่ปลูกจะใช้รับประทานภายในครัวเรือนทั้งหมด ครอบครัวที่มีสมาชิก 5 คนต้องปลูกข้าวประมาณ 3 ไร่จึงจะเพียงพอตลอดทั้งปี และรอบ ๆ ไร่จะปลูกพืชอื่น ๆ เช่น แตงเปรี้ยว พริกกะเหรี่ยง ผักกาด มันเทศ และมันหม้อ ผสมผสานในพื้นที่ด้วย
การปลูกพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ พริก ข้าวโพด และมะขามหวาน ในชุมชนมีพื้นที่ใช้ประโยชน์ในชุมชนประมาณ 3,000 ไร่
การเลี้ยงสัตว์ตามบริเวณพื้นที่รอบบ้าน เช่น ไก่ นอกจากนี้ยังมีอาชีพหาของป่าและรับจ้างทั่วไป ในเขตพื้นที่ ตําบลแม่กระบุงไม่มีหน่วยธุรกิจแต่อย่างใด นอกจากร้านขายของชํา และร้านอาหารขนาดเล็กเท่านั้น
นอกจากการทำเกษตรกรรมและเลี้ยงสัตว์แล้ว บ้านแม่กระบุงยังมีผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP ซึ่งเกิดจากการสร้างสรรค์ภูมิปัญญาของชาวบ้านแม่กระบุงร่วมกับการปรับประยุกต์ทรัพยากรที่มีอยู่ภายในและบริเวณโดยรอบชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งป่าชุมชน ซึ่งเปรียบเสมือนขุมทรัพย์สมบัติและแหล่งรายได้ของชาวบ้านแม่กระบุง โดยผลิตภัณฑ์สินค้าของชาวบ้าน ได้แก่ ผ้าทอกะเหรี่ยง กระด้ง ชาใบเถาวัลย์เหล็ก ตะกร้าไม้ไผ่ น้ำมันไพร ยาหม่องไพร มะม่วงหาวมะนาวโห่เชื่อม และยาสระผมมะกรูด อนึ่ง บ้านแม่กระบุงยังมีการจัดตั้งอันเกิดจากการรวมตัวของชาวบ้านในกลุ่มอาชีพเดียวกัน ได้แก่ กลุ่มทอผ้ากะเหรี่ยง และกลุ่มเกษตรกรปลูกพริก ตลอดจนการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้บ้านกะเหรี่ยง เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมภูมิปัญญาของชาวกะเหรี่ยงบ้านแม่กระบุง เช่น การนวดตอกเส้น และการแปรรูปสมุนไพร ฯลฯ
ประเพณีและความเชื่อ
ชาวบ้านแม่กระบุงมีประเพณีและความเชื่อสำคัญมากมาย เช่น การรำตง ประเพณีเก่าแก่ที่ชาวกะเหรี่ยงภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก รวมถึงประเพณีงานประตูหลง ประเพณีสำคัญที่ชาวกะเหรี่ยงบ้านแม่กระบุงปฏิบัติสืบทอดมาแต่โบราณกาล จัดขึ้นในช่วงหน้าแล้งประมาณเดือนมีนาคม งานประตูหลงนี้มีลักษณะคล้ายการเล่นเขาวงกต โดยใช้ไม้จำนวนมากกั้นซ้อนกันเป็นลักษณะของเขาวงกต คนที่เข้าไปเล่นจะต้องหาทางออกให้ได้ โดยปลายทางออกจะเป็นเส้นทางที่นำไปสู่การไหว้พระ เนื่องจากเป็นความเชื่อว่า คนที่มีบุญจะสามารถเข้าไปไหว้พระได้โดยไม่หลงทาง ในการจัดงานนี้จะต้องจัดให้ครบ 3 ปี จึงจะถือว่าเป็นสิริมงคล และเมื่อครบ 3 ปี ก็จะไม่จัดอีก แต่จะเวียนไปจัดที่หมู่บ้านอื่นในตำบลแม่กระบุงต่อไป
ความเชื่อเรื่องการฝังสายสะดือเด็กแรกเกิดไว้ใต้ต้นไม้ใหญ่ โดยมีความเชื่อว่าเด็กที่เกิดมาจะโตขึ้น และเป็นคนดีตามลักษณะของต้นไม้ที่ได้นำสายสะดือไปฝังไว้
การนับถือผีป่าเขาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยจัดพิธีการบวชป่า มีพระสงฆ์มาเป็นผู้นำประกอบพิธีกรรมและสาบานต่อหน้าป่าที่บวชว่าจะไม่เข้าไปบุกรุก ตัดต้นไม้ ล่าสัตว์ป่า หากแม้นว่าผิดคำสาบานจะมีอันเป็นไป
การแต่งกาย
การแต่งกายของชาวบ้านแม่กระบุงโดยทั่วไปชาวบ้านที่เป็นผู้ใหญ่จะนุ่งผ้าซิ่นหรือกางเกง และสวมเสื้อตามปกติทั่วไป ส่วนวัยรุ่นมักจะแต่งกายตามสมัยนิยม ชุดท้องถิ่นของชาติพันธุ์จะใส่บ้างเป็นบางครั้งในช่วงงานบุญหรืองานประเพณีชุมชน
อาหารพื้นถิ่น
- ห่อหมกดอกขมิ้น
- ต้มใบกระเจี๊ยบ
- ลาบหัวปลี
- แกงข้าวคั่วใส่ใบส้มป่อย
- แกงซะกะป๊อ
ภูมิปัญญาชุมชน: โรงปุ๋ยอินทรีย์
สืบเนื่องจากปัจจุบันดินในพื้นที่ทำกินของชาวบ้านบ้านแม่กระบุงเกิดความเสื่อมสภาพ อันมีสาเหตุจากการใช้ปุ๋ยเคมีในปริมาณมาก ประกอบกับปุ๋ยเคมีมีราคาแพง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตต้องสูงขึ้นตามไปด้วย เพื่อเป็นการลดต้นทุนในการทำเกษตร ชาวบ้านจึงได้ร่วมกันตั้งโรงผลิตปุ๋ยขึ้นมาเอง โดยมีการอบรมวิธีการทำปุ๋ย และการทำน้ำหมักชีวภาพ โดยดำเนินงานในรูปแบบสหกรณ์ ซึ่งสมาชิกทุกคนจะต้องมีหุ้นในสหกรณ์ แล้วจะสามารถซื้อปุ๋ยได้ถูกกว่าผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก รวมถึงเงินปันผลให้สมาชิกได้นำไปเป็นต้นทุนในการลงทุนทำการเกษตรในรอบปีถัดไป
สำหรับชาวบ้านที่เป็นผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะใช้ภาษากะเหรี่ยงเป็นภาษาหลักทั้งการพูดและการเขียน (กะเหรี่ยงไม่มีอักษรเขียน อักษรภาษากะเหรี่ยงจะเขียนเป็นอักษรมอญ แต่อ่านออกเสียงเป็นภาษากะเหรี่ยง) ชาวบ้านในช่วงวัยนี้เป็นกลุ่มที่ไม่ได้เรียนหนังสือตามการศึกษาภาคบังคับ เนื่องจากในอดีตการศึกษายังเข้าไม่ถึงคน เช่นเดียวกับคนที่ก็เข้าไม่ถึงการศึกษาดังเช่นในปัจจุบัน ส่งผลให้กลุ่มผู้สูงอายุในหมู่บ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยงอ่านภาษาไทยไม่ออก แต่พูดได้บ้างเล็กน้อย และอาจไม่เข้าใจคำบางคำที่เป็นศัพท์ทางราชการหรือศัพท์เฉพาะ ส่วนชาวบ้านที่เป็นคนรุ่นใหม่ สามารถเข้าถึงการศึกษาภาคบังคับของแต่ละช่วงอายุ ในหมู่บ้านยังมีโรงเรียนต้นมะพร้าวเป็นโรงเรียนประจำหมู่บ้าน ชาวบ้านสามารถส่งบุตรหลานเข้ารับการศึกษายังสถานแห่งนี้ ซึ่งมีการเรียนการสอนเป็นภาษาไทย ทำให้คนรุ่นใหม่ในหมู่บ้านสามารถพูด อ่าน และเขียนภาษาไทยได้
ภายในหมู่บ้านมีโรงเรียนซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ 2511 คือ โรงเรียนบ้านต้นมะพร้าว ปัจจุบันเปิดทำการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และมีวัดเก่าแก่ประจำหมู่บ้าน คือ วัดต้นมะพร้าว ศาสนสถานศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านในหมู่บ้าน ทุกครั้งมีงานบุญประเพณีใด ๆ ชาวบ้านจะหยุดการทำงาน การทำไร่ ตลอดจนภาระหน้าที่ทุกสิ่งอย่าง เพื่อพร้อมใจกันไปทำบุญตักบาตรที่วัด
ชาวบ้านแม่กระบุงกับภาพจำแลงผู้บุกรุก หรือแพะรับบาปในสายตากรมอุทยานฯ
ในอดีต บรรพบุรุษของชาวบ้านแม่กระบุงที่ได้เข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่แห่งนี้ มีการประกอบอาชีพทำไร่หมุนเวียน หาของป่า และล่าสัตว์อย่างอิสรเสรี อาศัยอยู่แบบพอมีพอกิน ใช้ประโยชน์และพึ่งพาอาศัยป่าในการดำเนินชีวิต ภายใต้จิตสำนึกว่าต้องอนุรักษ์ ดูแลรักษาผืนป่าเป็นการตอบแทน ทว่าในเวลาต่อมาชาวบ้านต้องเสียภาษีที่ดินทำกิน โดยมีการจัดวัดพื้นที่อาณาเขตว่าแต่ละคนมีการใช้งานเท่าไหร่ ก็เสียภาษีตามจำนวนมากน้อยของที่ดิน เนื่องจากมีการบุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งเพื่อแปลงเป็นที่ดินสำหรับเพาะปลูก และตัดไม้เพื่อการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงก่อนการสร้างอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ รัฐบาลได้กำหนดพื้นที่ป่าไม้แถบนี้เป็นพื้นที่ป่าสงวน และมีการเปิดสัมปทานป่าไม้ให้สามารถตัดไม้ไอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้นจึงมีคนมากมายจากภายนอกที่เข้ามาตัดไม้เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ที่แตกต่างกันไป เมื่อต้นไม้ถูกตัดไปเป็นจำนวนมาก ก็ทำให้ป่าไม้ลดน้อยลง ทรัพยากรธรรมชาติเกิดความเสื่อมโทรม ไม่นานนักพื้นที่บริเวณนี้ก็ถูกประกาศจัดตั้งเป็นเขต “อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์”
ภายหลังพื้นที่แถบนี้ได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติ ชาวบ้านต้องประสบกับภาวะความยากลำบากมากขึ้น พื้นที่ที่เคยเข้าไปพึ่งพาอาศัย พื้นที่ที่เคยทำกินอย่างอิสรเสรี บัดนี้ต้องถูกจำกัดเขต หากฝ่าฝืนจะต้องถูกจับกุมจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ทันที ซึ่งชาวบ้านมองว่าเป็นการกระทำอย่างเข้มงวดโดยไม่ฟังเสียงหรือเหตุผลจากชาวบ้าน ไม่เข้าใจถึงความจำเป็นและความต้องการพึ่งพิงป่าเพื่อดำรงชีพตามแบบวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวบ้านในเรื่องการทำไร่หมุนเวียน ทำให้ชาวบ้านที่อยู่อาศัยในเขตอุทยานกลายเป็นแพะรับบาป ถูกมองว่าเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ป่าไม้หมดไป ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วความเสื่อมโทรมของป่าไม้หาได้เกิดจากชาวบ้านเสียทั้งหมด แต่เกิดจากการให้สัมปทานป่าไม้ของหน่วยงานรัฐ ผู้ได้ประโยชน์คือนายทุน จนเมื่อไม้หมดประกาศเขตอุทยานฯ ก็เหลือแต่ตอไม้ ผลสุดท้ายรัฐกล่าวว่าชาวบ้านคือผู้ทำลาย ในข้อนี้เป็นความไม่พอใจอย่างมากที่ชาวบ้านมีต่อเจ้าหน้าที่รัฐ
กระทั่งในปี พ.ศ. 2542 อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ได้เริ่มเข้าไปแก้ไขปัญหาการทำไร่หมุนเวียนของชาวบ้านด้วยการผ่อนปรนมาตรการการจับกุม แต่ใช้วิธีการเข้าไปสร้างความเข้าใจเพื่อการมีส่วนร่วมกับชุมชนในการดูแลรักษาป่าและแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุนำไปสู่การทำลายป่า และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของชาวบ้านต่อป่าไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติให้ดีขึ้น โดยเริ่มจากการยอมรับและเข้าใจว่าไร่หมุนเวียนเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้าน แล้วตั้งคณะกรรมการสำรวจข้อมูลและแนวเขตร่วมกัน วางกฎเกณฑ์ในการทำไร่หมุนเวียน หากผู้ใดไม่ปฏิบัติตามจะถือว่าผิดข้อตกลง ชุมชนจะลงโทษกันเองตามบทลงโทษที่ตั้งไว้ร่วมกัน แต่หากลงโทษแล้วยังทำผิดซ้ำอยู่ คณะกรรมการหมู่บ้านจะแจ้งให้อุทยานฯมาจับกุมไปดำเนินคดีตามกฎหมายได้ทันที ความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านกับกรมอุทยานฯ และเจ้าหน้าที่รัฐจึงค่อย ๆ ดีขึ้น
เขื่อนศรีนครินทร์, เอราวัณ
ชาวบ้านต้นมะพร้าวจะมีการนัดจัดประชุมหมู่บ้านเป็นประจำทุกเดือน โดยจะมี อบต. ผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้าน ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมกัน เนื้อหาการประชุมส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่ทาง อบต. และผู้ใหญ่บ้านรับทราบมาจากหน่วยงานราชการ การประชุมประจำเดือนจะจัดขึ้นทุกวันที่ 10 ตั้งแต่เวลาประมาณ 09.00-12.00 นาฬิกา ณ ศาลาอเนกประสงค์ของหมู่บ้าน ก่อนการประชุมทุกครั้งจะมีการตีกลอง (เกราะ) แจ้งเตือนหนึ่งครั้ง หรือหากมีการเรียกประชุมด่วนก็จะใช้เด็กวิ่งเรียกบอก แล้วให้บอกต่อ ๆ กันว่ามีการประชุม และจะตีกลองเรียกอีกครั้งก่อนเริ่มประชุม กลองที่ใช้นี้เป็นกลองเก่าแก่ของหมู่บ้าน แขวนอยู่ที่วัดต้นมะพร้าว เป็นกลองที่มีเสียงดังกังวาลมาก ตีหนึ่งครั้งได้ยินไปถึงในไร่ ฉะนั้นเมื่อหมู่บ้านมีเหตุก็จะใช้การตีกลองเป็นการส่งส่งสัญญาณ ชาวบ้านก็จะรับรู้ร่วมกันว่าจะต้องมารวมตัวกันที่วัดต้นมะพร้าว เพราะขณะนี้ในหมู่บ้านกำลังมีเหตุการณ์สำคัญ อนึ่ง กลองใบนี้นอกจากจะใช้ตีสำหรับเรียกประชุมและบอกเหตุแล้ว ยังใช้บอกจำนวนพระที่มาจำวัดที่วัดต้นมะพร้าวอีกด้วย
ณุภัทรา จันทวิช. กระบวนการสื่อสารเพื่ออนุรักษ์ป่าไม้ ของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ กับชุมชนกะเหรี่ยงหมู่บ้านแม่กระบุง อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี. วิทยานิพนธ์ปริญญานิเทศศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตรพัฒนาการ ภาควิชาการประชาสัมพันธ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ประเดิม ศรีจรรยา จำปา ทองผาแสงสี ประวิทย์ ทองเปอะ และคณะ. (2556). โครงการแนวทางการฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นเพื่อการดูแลรักษาป่า โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนบ้านแม่กระบุง ตำบลบ้านแม่กระบุง อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว).
ลาพักเที่ยว. (2564). ชุมชนบ้านแม่กระบุง. สืบค้นเมื่อ 5 กรกฎาคม 2566, จาก https://web.facebook.com/lapakteaw/
อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร. (2555). ตัวแบบของการป้องกันรักษาทรัพยากรป่าไม้ และสัตว์ป่า ในอุทยานแห่งชาติเขื่อศรีนครินทร์ ภายใต้โครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วมในผืนป่าตะวันตก. กรุงเทพฯ: สมอลล์ ไทเกอร์ ดีไซน์.
Wow Together. (ม.ป.ป.). บ้านแม่กระบุง จังหวัดกาญจนบุรี. สืบค้นเมื่อ 5 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.wowtgt.com/