"คนใจงาม เกษตรกรรมคู่บ้าน ศาลเจ้าแม่เบิกไพร หลากหลายสวัสดิการ ธนาคารชุมชน"
“หนองขุย” เป็นสำเนียงเพี้ยนมาจาก “หนองคุย” ที่มาจาก พูดคุย เนื่องจากบริเวณพื้นที่บ้านหนองขุยแห่งนี้เคยใช้เป็นที่พักทัพพูดคุยปรึกษาหารือการศึกเมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกระทำยุทธหัตถีกับมหาอุปราชพม่า และพื้นที่แห่งนี้มีกอไผ่จํานวนมากล้อมอยู่รอบหนองน้ำ ชาวบ้านทั่วไปจึงเรียกพื้นที่แห่งนี้ว่า “หนองคุย”
"คนใจงาม เกษตรกรรมคู่บ้าน ศาลเจ้าแม่เบิกไพร หลากหลายสวัสดิการ ธนาคารชุมชน"
หมู่บ้านหนองขุย ตําบลหนองสาหร่าย อําเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี เดิมมีการปกครองขึ้นอยู่กับตําบลดอนเจดีย์ มีประวัติเล่าต่อกันมาว่าเมื่อ ครั้งสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงทําการยุทธหัตถีกับพม่าผ่านบริเวณบ้านดอนเจดีย์นั้น ณ บริเวณพื้นที่บ้านหนองขุยแห่งนี้เคยใช้เป็นที่พักทัพพูดคุยปรึกษาหารือกันในการที่จะ กระทําการรบ ซึ่งพื้นที่แห่งนี้มีกอไผ่จํานวนมากล้อมอยู่รอบหนองน้ำ ชาวบ้านทั่วไปจึงเรียกพื้นที่แห่งนี้ว่า "หนองคุย" (พูดคุย) ต่อมาได้มีประชาชนชาวบ้านมาถากถางพื้นที่เพื่อใช้ในการทํานาทําไร่กันมากขึ้น จึงได้ปลูกกระต๊อบห้างนาเพื่อใช้อาศัยพักแรมหลับนอน จนมีชาวบ้านเพิ่มมากขึ้น จึงได้ตั้งเป็นหมู่บ้าน โดยใช้ชื่อว่าหมู่บ้าน "หนองคุย" แต่เนื่องจากสําเนียงการพูดของท้องถิ่นออกสียงเหน่อ จึงทําให้คําพูดนั้นเพี้ยนจากคําว่าบ้านหนองคุยกลายมาเป็น "หนองขุย" ซึ่งตรงตามสภาพพื้นที่ที่มีหนองน้ำ กอไผ่ ขุยไส้เดือน และขุยไผ่จํานวนมาก ต่อมาได้มีการแบ่งเขตการปกครองขึ้นใหม่ บ้านหนองขุยได้แยกจากตําบลดอนเจดีย์มาขึ้นกับตําบลหนองสาหร่าย เมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2535 โดยบ้านหนองขุยตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตําบลหนองสาหร่าย อําเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี
ที่ตั้งและอาณาเขต
บ้านหนองขุย ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตําบลหนองสาหร่าย อําเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอําเภอพนมทวน ในเขตรับผิดชอบของสถานีอนามัยบ้านสระลุมพุก ตําบลหนองสาหร่าย ระยะห่างจากหมู่บ้านถึงสถานีอนามัยเป็นระยะทาง ประมาณ 2 กิโลเมตร หมู่บ้านมีเนื้อที่ 4.07 ตารางกิโลเมตร หรือ 2,549 ไร่ มีอาณาเขตติดต่อกับหมู่บ้านอื่น ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ที่ 4 บ้านหัวรัง ตําบลดอนเจดีย์
- ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ที่ 3 บ้านหนองปริก ตําบลหนองสาหร่าย
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ที่ 1 บ้านสระลุมพุก ตําบลหนองสาหร่าย และหมู่ที่ 2 บ้านโกรกยาวตําบลหนองสาหร่าย
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่ที่ 1 บ้านดอนเจดีย์ ตําบลดอนเจดีย์ และหมู่ที่ 2 บ้านดอนเจดีย์ ตําบลดอนเจดีย์
ลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศ
บ้านหนองขุยมีลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ ลักษณะดินเป็นดินปน มีคลองส่งน้ำโดยรอบหมู่บ้าน โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทางการเกษตร แบ่งเป็นพื้นที่นา 1,408 ไร่ พื้นที่ไร่ 790 ไร่ และอื่น ๆ 351 ไร่
ลักษณะภูมิอากาศของบ้านหนองขุย แบ่งออกเป็น 3 ฤดู คือ
- ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม อากาศจะร้อนและแห้งแล้งมากเป็นพิเศษในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน โดยทั่วไปจัดว่าอากาศอยู่ในระดับร้อนแต่ไม่ถึงกับร้อนอบอ้าว ช่วงกลางวันจะยาวกว่าช่วงกลางคืน
- ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคม โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ มีฝนตกชุกจนสามารถทําให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรบางส่วนได้
- ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุม ตะวันออกเฉียงเหนือ
การตั้งบ้านเรือน
การตั้งบ้านเรือนของบ้านหนองขุยมีลักษณะตั้งเรียงรายไปตามถนนสายหลักของหมู่บ้าน และอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเดียว ลักษณะบ้านเรือนที่อยู่อาศัย สามารถแบ่งได้ 3 ลักษณะ ลักษณะแรก คือ บ้านเรือน จะเป็นบ้านในสมัยอดีตที่สร้างจากไม้ โดยมีการสร้างแบบยกใต้ถุนสูงเพื่อความสะดวกในการเก็บผลผลิตทางการเกษตร หรือเพื่อใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจในช่วงเวลากลางวัน เนื่องจากบ้านยกสูงจะมีอากาศถ่ายเทสะดวก ลมสามารถ พัดผ่านใต้ถุนบ้านก่อให้เกิดความเย็นสบายแก่ผู้อาศัย บ้านลักษณะที่สอง คือ บ้านโรง จะเป็นบ้านที่ปลูกด้วยอิฐ บล็อกปูน เป็นบ้านชั้นเดียวที่นิยมมาก เพราะมีความสะดวกสบายในการหาซื้อวัสดุอุปกรณ์ แต่ถ้าหน้าร้อนอากาศจะร้อนมาก เนื่องจากลมไม่สามารถพัดผ่านได้ และบ้านในลักษณะที่สาม คือ การผสมผสานระหว่างบ้านโรงกับบ้านเรือน โดยในอดีตก็เป็นบ้านเรือน แต่พอกาลเวลาผ่านไปคนในบ้านมีจํานวนเพิ่มขึ้นจึงจําเป็นที่จะต้องกั้นใต้ถุนเพื่อทําเป็นห้องใช้สอยหรือไว้เป็นมุมเก็บของ ดังนั้นบ้านในลักษณะนี้ชั้นบนจะเป็นไม้ ส่วนชั้นล่างจะเป็นปูน
การคมนาคม
ถนนที่ใช้สัญจรภายในหมู่บ้านหนองขุยเป็นถนนลาดยาง ซึ่งเป็นถนนสายหลักของหมู่บ้าน สามารถสัญจรติดต่อได้ทุกหมู่บ้าน ลาดยาวติดต่อระหว่างหมู่บ้านถึงอําเภอ และหมู่บ้านไปจนถึงตัวจังหวัด สำหรับการเดินทางสัญจรภายในชุมชน ชาวบ้านจะใช้รถจักรยานยนต์เป็นส่วนใหญ่ หากต้องเดินทางเข้าไปในตัวจังหวัดกาญจนบุรีก็จะใช้รถยนต์ประเภทรถกระบะ ส่วนรถโดยสารจะมีรถสองแถวสีเหลืองให้บริการ แต่จะมีเฉพาะช่วงเช้าและช่วงเย็นเท่านั้น ถ้าจะเดินทางช่วงกลางวันจะต้องนั่งรถออกไปขึ้นรถที่ตําบลดอนเจดีย์ ซึ่งอยู่ห่างจาก หมู่บ้านหนองขุยประมาณ 2 กิโลเมตร
สถานที่สำคัญ
วัดหนองขุยสิริวราราม หรือวัดหนองขุย ศาสนสถานประจำชุมชนบ้านหนองขุย เดิมทีนั้นเป็นเพียงสำนักสงฆ์ และได้รับพระราชทานวิสูงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2516 ขณะนั้นพระวินัยธรหลิ่ว วรปญฺโญ ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสรูปที่ 3 พร้อมด้วยคณะกรรมการวัด ได้ทำการก่อสร้างอุโบสถชั่งคราวขึ้นมา 1 หลัง เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ทำสังฆกรรม และชาวบ้านได้ใช้ประกอบพิธีในวันสำคัญต่าง ๆ จนถึง พ.ศ. 2520 ก็ได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์อุโบสถหลังปัจจุบันขึ้น จากนั้นการก่อสร้างได้ดำเนินการต่อมาอีก 10 ปี จึงแล้วเสร็จ โดยการอุปถัมภ์จากสายคณะศรัทธา คุณเสรี ช่วงชัย และคณะ ตลอดจนชาวบ้านทั่วไป รวมการก่อสร้างพระอุโบสถเป็นเวลากว่า 18 ปี ปัจจุบันวัดหนองขุยได้เพิ่มเติมชื่อเป็น วัดหนองขุยสิริวราราม
บ้านหนองขุย หมู่ที่ 4 ตําบลหนองสาหร่าย มีจํานวนครัวเรือนทั้งสิ้น 159 หลังคาเรือน จํานวนประชากรทั้งสิ้น 690 คน แยกเป็นเพศชาย 327 คน และเพศหญิง 363 คน
ลักษณะครอบครัวของบ้านหนองขุยมี 2 ลักษณะ คือ ครอบครัวเดี่ยวและครอบครัวขยาย แต่โดยส่วนใหญ่จะเป็นครอบครัวเดี่ยวมากกว่าครอบครัวขยาย ความสัมพันธ์ภายในชุมชนเป็นแบบสังคมเครือญาติที่เหนียวแน่น มีความช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน มีจิตใจโอบอ้อมอารี ถ้อยทีถ้อยอาศัย พึ่งพาช่วยเหลือแบ่งปันกัน ลักษณะการอยู่อาศัยของครอบครัวหนึ่ง ๆ ส่วนใหญ่จะมีเด็กและผู้สูงอายุอยู่ร่วมกันในครัวเรือน ตระกูลที่อาศัยในชุมชนแรกเริ่ม คือ ตระกูลสมคิด ตระกูลจิตนิยม ตระกูลวรรณะ และตระกูลมาลาพงษ์
คนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นอาชีพดั้งเดิมที่ชาวบ้านในหมู่บ้านมีความชํานาญ โดยได้รับภูมิปัญญาที่สั่งสมจากบรรพชน ประกอบกับหมู่บ้านมีพื้นที่ทําการเกษตรอยู่อีกมาก มีการเพาะปลูก การทํานาข้าว การทําไร่อ้อย การปลูกข้าวโพด การทําสวนพริก รองลงมาเป็นการประกอบอาชีพรับจ้าง หลังจากว่างจากการทําไร่ทํานาตามฤดูกาล เช่น การรับจ้างเก็บพริก รับจ้างทําสวนกล้วยไม้ เป็นต้น อาชีพเสริม ได้แก่ ค้าขาย รับจ้าง ก่อสร้าง โดยประชากรในหมู่บ้านหนองขุย หมู่ที่ 4 มีรายได้เฉลี่ย 80,894 บาท/คน/ปี
พริกที่คนในชุมชนปลูกส่วนใหญ่เป็นพริกกะเหรี่ยง เพราะมีอายุยืนยาวข้ามปี ทั้งยังใช้ต้นทุนในการปลูกต่ำ ส่วนพริกหอมคนในชุมชนนิยมปลูก เช่นกัน แต่น้อยกว่าพริกกะเหรี่ยง เนื่องจากมีต้นทุนสูงกว่าพริกกะเหรี่ยง ระยะเวลาในการปลูกประมาณ 4 เดือน จึงจะสามารถเก็บผลผลิตได้ ภายหลังเก็บผลผลิตแล้วจะมีตัวแทนมารับซื้อในชุมชน หรือรวมกันแล้วนําไปส่งขายตลาดในตัวเมือง ราคาอยู่ที่ 45 บาทต่อกิโลกรัม
อนึ่ง บ้านหนองขุยได้มีการจัดตั้งกลุ่มองค์กรชุมชนขึ้นมากมาย ทั้งกลุ่มองค์กรด้านการเงิน กลุ่มองค์กรด้านสุขภาพ กลุ่มองค์กรด้านการพัฒนาศักยภาพและสิ่งแวดล้อม กลุ่มองค์กรด้านสวัสดิการ และกลุ่มองค์กรด้านอาชีพ ซึ่งนำไปสู่การรวมตัวเพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สินค้าจากท้องถิ่นจากการภูมิปัญญาพื้นบ้านของคนในชุมชน
ผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจของหมู่บ้าน
- ผลิตภัณฑ์จักสานด้วยไม้ไผ่และพลาสติก
- ผลิตภัณฑ์น้ำยาล้างจานของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตตําบลหนองสาหร่าย
- ผลิตภัณฑ์น้ำยาซักผ้าของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตตําบลหนองสาหร่าย
- ผลิตภัณฑ์ปุ๋ยฮอร์โมนน้ำของกลุ่มปลูกผักและกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตตําบลหนองสาหร่าย
- ผลิตภัณฑ์สารกําจัดแมลงชีวภาพของกลุ่มปลูกผักและกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตตําบลหนองสาหร่าย
- ผลิตภัณฑ์สารป้องกันเชื้อราชีวภาพของกลุ่มปลูกผักและกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตตําบลหนองสาหร่าย
- ผลิตภัณฑ์ดอกไม้มงคลของกลุ่มสตรีอาสาพัฒนาบ้านหนองขุย
ประเพณีรับขวัญข้าว จัดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม ระยะเวลาที่ข้าวกําลังตั้งท้อง โดยจะมีการกําหนดวันทําพิธี คือ กระทําขึ้นระหว่างวันจันทร์หรือวันศุกร์แค่ 2 วันเท่านั้น การทําขวัญข้าวจะต้องทําในช่วงเช้าจนถึงเที่ยงวัน ผู้ทําพิธีทําขวัญจะต้องเป็นผู้หญิง ซึ่งในช่วงเช้าวันที่ทําพิธีชาวบ้านจะเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ ธงขาวแดง อาหารคาวหวาน และน้ำมนต์ที่ทําในวันออกพรรษานําไปรดต้นข้าว เพื่อจะได้ให้ต้นข้าวออกข้าวได้ง่าย ไม่มีโรคภัย จากนั้นจุดธูปเทียน พร้อมดอกไม้ แล้วกล่าวอัญเชิญพระแม่โพสพให้มาเสวยอาหาร และเชิญแม่โพสพไปเที่ยวในงานบุญกฐินที่จัดขึ้นในที่ต่าง ๆ เป็นอันเสร็จพิธีในการทําขวัญข้าว
ประเพณีการยกธง เป็นการทําบุญถวายผ้าเมื่อถึงประเพณีวันสงกรานต์ โดยจะทํากันในวันสุดท้ายของวันสงกรานต์ ชาวบ้านจะนําผ้าที่หาได้ไม่จํากัดสีและความยาวมาตกแต่งให้สวยงามด้วยดอกไม้ แล้วนําไม้ไผ่มาทําเสาแบบเสาธงผูกผ้าไว้กับเสาและทําการแห่เสาธงผ้านี้ไปที่วัด เมื่อถึงวัดจะปักเสาธงขนาดใหญ่ที่ทําด้วยไม้ที่ลอกเปลือกออกจนหมด ทาด้วยน้ำหอมกระแจะจันทร์ บริเวณปลายเสาจะมีหัวพญานาคเสียบอยู่ เมื่อทําพิธีถวายผ้าเสร็จ จะนําผ้าผูกที่ปลายเสาต่อจากหัวพญานาค แล้วยกเสาธงขึ้นไปปักไว้ 3 วัน หลังจากเชิญเสาธงลง เพื่อไม่ให้เป็นการสูญเสียวัสดุโดยเปล่าประโยชน์ ทางวัดจะนำผ้าจากเสาธงไปทำเป็นหมอน หรือผ้าม่าน ตามแต่เห็นสมควร
ประเพณีก่อพระเจดีย์ข้าวเปลือก หรือขนข้าวเปลือกเข้าวัด เป็นประเพณีที่ชาวชุมชนบ้านหนองขุยปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ พิธีนี้จะทํากันในเดือนห้า ภายหลังเสร็จสิ้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าว โดยให้ชาวบ้านที่มีจิตศรัทธาที่จะถวายข้าวขนข้าวเข้าวัด แล้วนําข้าวที่ขนไปถวายวัดก่อเป็นเจดีย์ข้าวเปลือกคนละ 1 กอง เจ้าของจะตกแต่งกองข้าวเปลือกของตัวเอง แล้วนําดอกไม้ธูปเทียนมาประดับไว้บนกองข้าวเปลือก
การส่งกระแบะกระบาล เป็นประเพณีเก่าแก่ที่กระทํากันมาตั้งแต่สมัยโบราณ ในปัจจุบันยังมีอยู่บ้างเมื่อมีคนในบ้านล้มป่วย สามวันดีสี่วันไข้ แล้วเชื่อว่าเกิดจากผีสางมารบกวน เนื่องจากผีมันอดอยาก ก็จะทําพิธีให้ทานด้วยการเตรียมปั้นดินเหนียวเป็นรูปคน วัว ควาย หรือซื้อเอาก็ได้ ข้าวปากหม้อ แกงปากหม้อ หมาก พลู ธูปเทียน เย็บกระทงกาบกล้วย แล้วนําไปทิ้งไว้ที่ทางสามแยกเพื่อเป็นการขอขมา หรือให้ทานภูติผี
ประเพณีการทํายาย เป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษของแต่ละต้นตระกูล โดยการทํายายนั้นจะเป็นการทําเพื่อให้ยายหรือบรรพบุรุษช่วยคุ้มครองลูกหลาน มีขั้นตอนการทําดังนี้
1. การรับยาย เป็นขั้นตอนแรกที่ลูกหลานหรือผู้ร่วมตระกูลเดียวกันต้องไปรับยายหรือผีบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วที่บ้านต้นตระกูล สิ่งที่ต้องเตรียมไป คือ หม้อดิน 1 ใบ หมากพลู 3 คํา เบี้ย 1 อัน และไม้เท้าพร้อมผ้าขาว นําทุกสิ่งทุกอย่างใส่ในหม้อ จากนั้นมีการทําพิธีอัญเชิญยายหรือผีบรรพบุรุษมาอยู่ในหม้อ แล้วใช้ผ้าขาวปิดปากหม้อไว้ และใช้คําพูดบอกกับยายหรือผีบรรพบุรุษว่า “ไปอยู่กับลูกที่บ้านนะ”
2. การขึ้นยาย เมื่อนํายายมาถึงยังบ้านแล้วจะต้องมีการนํายายขึ้นบ้าน โดยการนําขนมต้มขาวต้มแดง หมากพลูมาไหว้ จากนั้นจุดธูปเทียนบอกยายหรือผีบรรพบุรุษ แล้วตั้งไว้ที่หม้อยายในบ้าน ส่วนใหญ่จะตั้งไว้บริเวณที่สูงติดกับเสาบ้านต้นใดต้นหนึ่งของมุมบ้าน แล้วเรียกชื่อใหม่ว่า “ผีบ้านผีเรือน” การขึ้นยายจะมีขึ้นทุกปีในเดือนพฤษภาคม โดยจะต้องมีการอาบน้ำ และเปลี่ยนผ้าให้ยายใหม่
3. การส่งยาย ส่วนมากจะทํากันในเดือนหก หรือบ้านใดที่มีลูกเล็ก ๆ แล้วตอนเย็นร้องไห้โยเย สามวันดีสี่วันไข้ ถ้าบ้านนั้นมีหม้อยายอยู่ คนเฒ่าคนแก่ก็จะแนะนําให้ทําขนมส่งยาย เพราะมีความเชื่อว่าผีปู่ย่าตายายมาหยอกล้อเล่นกับหลาน ลูกหลานตกใจก็จะส่งเสียงร้อง พิธีกรรมนี้ทําขึ้นเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลไปให้และเพื่อเป็นการขอขมา
การทําบุญศาลเจ้าแม่เบิกไพร จัดขึ้นในเดือน 6 ขึ้น 6 ค่ำของทุกปี การจัดงานจะมีการฉายภาพยนตร์ให้คนในชุมชนได้ชมกัน 2 คืน ชาวบ้านจะช่วยกันทําอาหารหวานคาวมาถวายเจ้าแม่เพื่อเป็นการกราบไหว้บูชาและขอพรให้ปกป้องคุ้มครองให้คนในชุมชนอยู่เย็นเป็นสุข
บ้านหนองขุยมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน มีการรวมตัวกันของผู้คน วัฒนธรรม และประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน หล่อหลอมให้คนในชุมชนเกิดการเรียนรู้ สั่งสมภูมิปัญญาต่าง ๆ รวมถึงการก่อเกิดปราชญ์ชาวบ้านตามมาด้วย ซึ่งบ้านหนองขุยผู้มีความรู้ความสามารถเชี่ยวชาญภูมิปัญญาพื้นบ้านหลายด้าน หลากสาขา ดังต่อไปนี้
- ด้านการทําปุ๋ยชีวภาพ ได้แก่ นายจํานง วรรณะ นายเฉลียว เนียมหอม และนางสาวสว่าง จิตนิยม
- ด้านการเกษตรการทํานา ได้แก่ นายมนัส วรรณะ
- ด้านการทําไร่ผัก ได้แก่ นายยวน วัลลา นายพนม วรรณะ ด้านการเลี้ยงวัว คือ นายขจร จิตนิยม และนายเวียง สอนใจ
- ด้านสมุนไพรและยาแผนโบราณ คือ นายแตร วัลลา และนายโกย สมคิด
- ด้านอาหาร ได้แก่ นางชูศรี ห้วยหงษ์ทอง นางสําอางค์ ใจชุ่ม นางสาวจําเริญ จิตนิยม นางสาวประนอม วรรณะ นางกรอง มาลาพงษ์ นางดิบ จิตนิยม นางโปร่ง จิตนิยม นางกริม ว่องจริงไว และนางจิต จิ๋วประเสริฐ
- ด้านวัฒนธรรมชุมชน รําเหย่ย กลองยาว รําโทน ได้แก่ นางบุษกร พรหมมา และกลุ่มวัฒนธรรมด้านเครื่องบายสี ได้แก่ นางทองมั่น ตรุษกูล
- ด้านศิลปกรรมการปั้นลวดลาย ได้แก่ นายช่างชอบ ห้วยหงส์ทอง
- ด้านการจักสาน ได้แก่ นางแหนม เมฆปั้น นางน้ำค้าง จิตนิยม
- ด้านหัตถกรรมการเย็บผ้า ได้แก่ นางลําเทียน กระต่ายทอง และนางราตรี พระติโยพันธ์
เพลงเหย่ยหรือรําเหย่ย
ประวัติของเพลงเหย่ยนั้น เดิมร้องเล่นกัน ณ “บ้านเก่า” ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ริมแควน้อย ห่างจากตัวเมืองกาญจนบุรีไปประมาณ 50 กิโลเมตร “เพลงเหย่ย” หรือ “รําเหย่ย” บางครั้งเรียกว่า “รําพาดผ้า” เดิมมีชื่อเรียกกันหลายอย่างแตกต่างกันออกไปตามท้องถิ่น เช่น เพลงดอกแคร่วง เพลงกลองยาว เพลงรําแคน เพิ่งจะเรียกกันว่า เพลงเหย่ย เมื่อมีการฟื้นฟูวัฒนธรรมการละเล่นพื้นบ้านขึ้นมา ลักษณะการเล่นเริ่มจากการประโคมกลองอย่างกึกก้องแล้วค่อย ๆ ลดจังหวะให้ช้าลง จากนั้นฝ่ายชายก็จะออกมาร้องรํา แล้วเอาผ้าไปคล้องไหล่ให้ฝ่ายหญิง ฝ่ายหญิงเมื่อถูกคล้องผ้าก็จะออกมารํา และร้องแก้คําเกี้ยวของฝ่ายชาย เพลงเหย่ยจะใช้คําพื้น ๆ ร้องโต้ตอบกันด้วยการด้นกลอนสด เนื้อร้องส่วนใหญ่จะเป็นทํานอง หยอกล้อ เกี้ยวพาราสี เครื่องดนตรีประกอบ ได้แก่ กลองยาว รํามะนา ฉิ่ง กระบองไม้ไผ่ ฯลฯ
เพลงร่อยพรรษา
เพลงร่อยพรรษา มักจะร้องก่อนวันออกพรรษาตั้งแต่ช่วงวันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 11 เป็นต้นไป จนถึงวันออกพรรษา คือ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เพื่อขอบริจาคสิ่งของเงินทองจากชาวบ้านนําไปทําบุญหรือถวายวัดในวันออกพรรษา กลุ่มผู้ร้องเพลงซึ่งโดยมากจะเป็นผู้สูงอายุ ราว 5-6 คน จะหาบกระบุง ตะกร้า ออกเดินไปตามบ้านต่าง ๆ ในหมู่บ้าน ถึงบ้านใดก็จะหยุดร้องเพลงอยู่บันไดหน้าบ้านนั้น เมื่อเจ้าของบ้านได้ยินก็จะนําเงิน หรือสิ่งของ ซึ่งอาจได้แก่ ข้าวสาร ขนม ผลไม้ ฯลฯ ออกมาให้ เงินและสิ่งของเหล่านี้หัวหน้าคณะผู้ร้องเพลงร่อยพรรษาก็จะนําไปถวายพระในลักษณะของการทอดกฐิน หรือนํามาสร้างสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์แก่ชุมชน
ภาษาที่ใช้ในชุมชนส่วนใหญ่จะใช้ภาษาท้องถิ่นที่มีสําเนียงที่เป็นเอกลักษณ์ของคนหนองขุย เมื่อฟังแล้วจะรู้สึกแตกต่างจากสําเนียงของคนในตําบลอื่น ๆ ในอำเภอพนมทวน หรือเรียกสําเนียงนี้ว่า "เหน่อหนองขุย" ซึ่งออกเสียงเหน่อคล้ายกับสําเนียงของคนในภาคใต้ ทําให้บุคคลภายนอกชุมชนหรือผู้ที่เข้ามาศึกษาดูงานภายในชุมชนอาจจะฟังเข้าใจได้ยาก หรือคิดว่าคนที่อาศัยในชุมชนเองเป็นคนที่ย้ายมาจากทางภาคใต้ แต่แท้ที่จริงแล้วคนในชุมชนเป็นคนหนองขุยโดยกําเนิด
บ้านหนองขุยมีไฟฟ้าใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 โดยครั้งแรกชาวบ้านเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด และมีประปาหมู่บ้านใช้อุปโภคบริโภคทุกหลังคาเรือน
บ้านหนองขุยมีศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชน 1 แห่ง มีอาสาสมัครสาธารณสุข 25 คน และมีสถานีอนามัยที่อยู่ในเขตบริการ คือ สถานีอนามัยบ้านสระลุมพุก หมู่ 1 ซึ่ง ระยะทางห่างจากบ้านหนองขุยประมาณ 3 กิโลเมตร หรือไปรับการรักษาที่สถานีอนามัยดอนเจดีย์ก็ได้เช่นกัน และมีโรงพยาบาลประจําอําเภอพนมทวน คือ โรงพยาบาลเจ้าคุณไพบูลย์พนมทวน ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะไปรักษาที่สถานีอนามัยก่อน หลังจากนั้นถ้าอาการไม่ดีขึ้น หรือเกิดอาการหนักจะส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลเจ้าคุณไพบูลย์พนมทวนด้วยสิทธิบัตรทอง แต่หากมีอาการเจ็บป่วยไม่สบาย หรือมีอาการไม่มาก ชาวบ้านส่วนใหญ่จะดูแลรักษาสุขภาพเบื้องต้นด้วยการหาซื้อยาแผนปัจจุบันจากร้านค้าภายในหมู่บ้านมาทําการรักษาเอง
บ้านหนองขุย มีสถาบันการศึกษา 1 แห่ง คือ โรงเรียนบ้านหนองขุย เปิดสอนตั้งแต่ระดับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียนชั้นอนุบาล ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ส่วนใหญ่หลังจากจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เด็กนักเรียนจะเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนพนมทวนชนูปถัมภ์ อําเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ระดับการศึกษาของคนในชุมชนบ้านหนองขุยส่วนใหญ่จบการศึกษาในระดับประถมศึกษา สามารถอ่านออกเขียนได้ สําหรับเด็กในชุมชนมีโอกาสศึกษาเล่าเรียนทุกคน โดยผู้ปกครองเป็นผู้สนับสนุนให้ลูกหลานได้รับการศึกษาที่ดี
ปิยรัตน์ เส็นยีหีม. (2553). ธนาคารความดีกับการพัฒนาชุมชน: กรณีศึกษา หมู่ที่ 4 บ้านหนองขุย ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี. วิทยานิพนธ์ปริญญาพัฒนาชุมชนมหาบัณฑิต ภาควิชาการพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
สำนักงานคณะสงฆ์ภาค 14. (ม.ป.ป.). หนองขุยสิริวราราม. สืบค้นเมื่อ 5 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.sangha14.org/
Google Earth. (ม.ป.ป.). สืบค้นเมื่อ 5 กรกฎาคม 2566, จาก https://earth.google.com/