ชุมชนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ชุมชนที่มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ผูกพันกับธรรมชาติ แหล่งวัฒนธรรมประเพณีอันเก่าแก่ของชาวไทยเชื้อสายมอญ
“บางเลียบ” มาจากคำว่า “บาง” หมายถึง ชุมชนที่มีการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่บริเวณริมน้ำ และคําว่า “เลียบ” มีความหมายว่า ไปตามริม ไปตามขอบ “บางเลียบ” จึงมีความหมายว่า ชุมชนที่ตั้งอยู่บริเวณเลียบริมน้ำ เพราะมีการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่บริเวณตลอดแนวสองริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
ชุมชนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ชุมชนที่มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ผูกพันกับธรรมชาติ แหล่งวัฒนธรรมประเพณีอันเก่าแก่ของชาวไทยเชื้อสายมอญ
พุทธศักราช 2369 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้ส่งกองทัพไปปรากบฏเจ้า อนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ เมื่อรบชนะได้อพยพผู้คนหลายร้อยคนมาจากเวียงจันทน์ มีทั้งชาวจีน ชาวลาว ชาวมอญ และชาวมุสลิม โดยโปรดเกล้าฯ ให้มาอยู่ใกล้วัดเสด็จ เมื่อสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยแล้วก็ได้บุกเบิกที่ดินทำกินและประกอบอาชีพตามความถนัด ชาวจีนมีความชํานาญเรื่องการปลูกพริกไทย ก็นําพืชผลพริกไทยมาปลูกที่หมู่บ้านของลาว-อิสลาม จนได้ชื่อว่าเป็นสวนพริกไทยมาถึงปัจจุบัน เวลาผ่านไปพื้นที่บริเวณนี้กลายเป็นชุมชนที่มีประชากรเข้ามาอยู่อาศัยหนาแน่นขึ้น ทางราชการจึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นตําบล ให้ชื่อว่าตําบลสวนพริกไทย
ชุมชนบ้านบางเลียบเป็นชุมชนหนึ่งในตําบลสวนพริกไทย ที่ได้ชื่อว่า "บ้านบางเลียบ" เพราะคําว่า "บาง" ใช้เรียกชุมชนที่มีการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่บริเวณริมน้ำ และคําว่า "เลียบ" มีความหมายว่า ไปตามริม ไปตามขอบ เช่น เรือแล่นเรียบชายฝั่ง เดินเลียบริมคลอง ฯลฯ "บางเลียบ" จึงมีความหมายว่า ชุมชนที่ตั้งอยู่บริเวณเลียบริมน้ำ เพราะมีการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่บริเวณริมฝั่งคลองเชียงราก (บางพูน) เป็นแนวตลอดริมฝั่งคลอง และในอดีตมีวัดเก่าแก่ชื่อว่า "วัดเลียบ" แต่ปัจจุบันวัดดังกล่าวได้ถูกยกเลิกแล้ว เพราะไม่มีพระสงฆ์จําพรรษา ปัจจุบันคงเหลือแต่ร่องรอยซากปรักหักพังของเจดีย์เก่าที่แสดงถึงความเป็นวัดเท่านั้น
ที่ตั้งและอาณาเขต
ชุมชนบ้านบางเลียบ หมู่ที่ 5 ตําบลสวนพริกไทย อยู่ห่างจากที่ทำการอําเภอเมือง จังหวัดปทุมธานีเป็นระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร โดยอยู่บริเวณทิศตะวันตกของพื้นที่ตําบลสวนพริกไทย มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านกระแชง อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านกระแชง และบ้านกลาง อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี
- ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ที่ 6 ตำบลสวนพริกไทย
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 4 ตำบลสวนพริกไทย
ลักษณะภูมิประเทศและสภาพแวดล้อม
สภาพภูมิประเทศของชุมชนบ้านบางเลียบ หมู่ที่ 5 ตำบลสวนพริกไทย มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่ม ในอดีตถือว่าบริบูรณ์ สภาพดินอุดมสมบูรณ์มีความเหมาะสมกับเพาะปลูก โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจชาวบ้านใช้ทำการเกษตรได้ผลเป็นอย่างดีสำหรับแหล่งน้ำธรรมชาตินั้นมีคลอง 2 สาย ไหลผ่าน ได้แก่ คลองเชียงราก และคลองประปา
- คลองเชียงราก เดิมทีเป็นคลองที่เปรียบเสมือนเป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนในชุมชน ชาวบ้านใช้น้ำจากลำคลองสายนี้สำหรับอุปโภคบริโภค และตั้งบ้านเรือนบริเวณริมคลอง ตลอดจนใช้ประโยชน์ทางการเกษตร โดยมีการขุดคลองสาขาเพื่อส่งน้ำไปใช้ในการทำนาปลูกข้าวเป็นการเฉพาะ นอกจากนี้เมื่อครั้งอดีตที่ยังไม่มีถนน ชาวบ้านยังคงใช้เรือเป็นพาหนะหลักในการเดินทาง ชาวบ้านยังใช้คลองเชียงรากเป็นเส้นทางสายหลักในการสัญจร เพราะคลองเชียงรากเชื่อมต่อกับคลองที่สําคัญหลายสาย รวมทั้งแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย ด้วยเหตุนี้คลองเชียงรากจึงมีความสําคัญกับชุมชนบางเลียบมาก
- คลองประปา เกิดจากการที่รัฐบาลในอดีตมีนโยบายขุดคลองเพื่อส่งน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาไปผลิตน้ำประปา ซึ่งกําหนดให้เป็นคลองเฉพาะ ห้ามให้ประชาชนทั่วไปเข้าไปใช้ประโยชน์ในการอุปโภค บริโภค และทำการเกษตร คลองประปามีลักษณะเป็นคลองส่งน้ำ เริ่มต้นจากบริเวณวัดสําแลที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาใน พื้นที่ตําบลบ้านกระแชง ขุดเป็นคลองกว้างประมาณ 50 เมตร ตลอดแนวสองฝั่งคลองมีการนําดินที่ได้จากการขุดมาทำเป็นคันกันแนวคลองไว้ และมีการทำสะพานปูนข้ามคลองประปาเป็นระยะ ๆ เพื่อให้ประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงใช้เป็นทางสัญจรได้ ซึ่งบางสะพานก็มีขนาดใหญ่ รถยนต์ผ่านได้แต่บางสะพานก็มีขนาดเล็กรถยนต์ไม่สามารถผ่านได้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการที่มีลำคลองไหลผ่านหมู่บ้านถึง 2 สาย จะทำให้ชาวบ้านชุมชนบางเลียบมีน้ำใช้เพียงพอตลอดทั้งปี ทว่า เมื่อมีข้อดีก็ต้องมีข้อเสีย การขุดคลองประปาผ่านชุมชนบ้านบางเลียบมีผลกระทบให้ชาวบ้านบางเลียบหมู่ที่ 5 รวมถึงชาวบ้านหมู่ที่ 6 และ 7 ตำบลสวนพริกไทยต้องเลิกอาชีพทำนาไป สาเหตุเพราะคลองประปาที่ขุดขึ้นนั้น ขุดผ่านที่นาบางส่วนซึ่งต้องเวนคืนที่ดินจากชาวบ้าน ส่วนที่นาที่เหลืออยู่ก็ทำนาได้อย่างยากลำบาก เนื่องจากน้ำจากคลองประปาไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ แม้ทางการจะมีการฝังท่อส่งน้ำลอดคลองประปาเพื่อส่งน้ำจากคลองเชียงรากไปใช้ในการทำนา แต่เนื่องจากท่อส่งน้ำมีขนาดเล็ก และน้ำในคลองเชียงรากมีปริมาณไม่เพียงพอ ทำให้ระดับน้ำต่ำกว่าท่อ ซึ่งส่งผลให้น้ำส่งไปไม่ถึงที่นา กอปรกับสะพานข้ามคลองประปาที่การประปานครหลวงทำไว้ให้มีขนาดเล็ก รถยนต์ไม่สามารถผ่านได้ ทำให้ไม่สะดวกในการขนส่งวัสดุอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ใช้ในการทำนา จึงทำให้ชาวบ้านไม่สามารถทำนาได้และต้องเลิกทํานาไปในที่สุด
ปัจจุบันชุมชนบ้านบางเลียบไม่ได้ใช้น้ำจากคลองเชียงรากในการอุปโภคบริโภคเป็นหลักแล้ว เนื่องจากเปลี่ยนมาใช้ระบบน้ำบาดาลและน้ำประปาแทน ถึงแม้ว่าชาวบ้านส่วนใหญ่จะไม่ได้ใช้น้ำจากคลองเชียงรากในการอุปโภคบริโภคดังเช่นในอดีต แต่ยังคงใช้เป็นเส้นทางสัญจรหลักเหมือนเคย และคลองก็ยังคงมีความสําคัญต่อชุมชนบ้านบางเลียบอยู่ เพราะชาวบ้านบางส่วนมีการทำเกษตรแบบพื้นบ้านสร้างรายได้เลี้ยงชีพ โดยเฉพาะการปลูกบัวที่จะต้องใช้น้ำจากคลองเชียงรากอยู่ และชาวบ้านบางส่วนมีการทำประมงพื้นบ้าน เช่น การจับปลา จับกุ้ง และเลี้ยงปลาในกระชัง ซึ่งก็ล้วนแต่ต้องใช้น้ำจากคลองเชียงรากเช่นเดียวกัน
ปัจจุบันคลองเชียงรากประสบปัญหาเกิดความเสื่อมโทรมอย่างมาก เนื่องจากคลองดังกล่าวมีระยะทางไกล ไหลผ่านหลายพื้นที่ และบางพื้นที่ก็มีการปล่อยน้ำเสียลงคลอง โดยเฉพาะบริเวณที่มีโรงงานหรือหอพัก แม้คลองเชียงรากจะเป็นคลองที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยา ทว่า ปัจจุบันบริเวณที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำนั้นมีการทำประตูกั้นน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมในช่วงฤดูน้ำมาก ซึ่งประตูดังกล่าวมีการปิดประตูน้ำเป็นระยะ ๆ แต่ช่วงเวลาที่ปิดประตูน้ำบางครั้งจะมีเวลานาน จึงทําให้น้ำในคลองไม่ไหลเวียน สภาพน้ำในคลองไม่ค่อยดีนัก และมีบางช่วงเวลาเกิดปัญหาน้ำเน่าเสีย ส่งผลให้มีปลาลอยขึ้นมาตายเพราะขาดออกซิเจน จนบางครั้งชาวบ้านต้องไปร้องขอให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเปิดประตูน้ำให้เพื่อให้คุณภาพน้ำดีขึ้น ซึ่งบางครั้งเจ้าหน้าที่ก็ไม่เปิดให้ ทำให้เกิดปัญหากับสภาพแวดล้อมเพราะน้ำมีกลิ่นและเน่าเสีย จนทำให้ชาวบ้านไม่สามารถใช้น้ำจากคลองได้
กรรมสิทธิ์และการถือครองที่ดิน
ในอดีตพื้นที่ชุมชนบางเลียบส่วนใหญ่เป็นป่าสะแก ช่วงแรกเริ่มตั้งหมู่บ้าน ชาวบ้านผู้ที่ทำการบุกเบิกป่าสามารถทำประโยชน์ในที่ดินนั้นได้เลยซึ่งส่วนใหญ่ใช้ทํานา ต่อมาทางการกําหนดให้ต้องมีการจดทะเบียนครอบครองที่ดิน โดยเริ่มจากการมีหนังสือแสดงสิทธิ สค. 1 เป็นเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ครอบครองใช้ประโยชน์ แต่ไม่มีสิทธิขาย ต่อเปลี่ยนเป็น นส. 3 เป็นหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์สิทธิประโยชน์สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้ แล้วจึงเปลี่ยนมาเป็นโฉนดแสดงกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของและสามารถเปลี่ยนมือได้โดยเสรี
ปัจจุบันผู้ที่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนใหญ่ยังเป็นชาวบ้านในชุมชน แม้จะมีที่ดินบางส่วนที่มีการขายกรรมสิทธิ์ให้กับคนนอกชุมชนถือครอง เพราะชาวบ้านบางคนเมื่อเลิกทำนาแล้วก็ปล่อยที่ดินให้รกร้างว่างเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์ ต่อมาเมื่อมีคนมาขอ ซื้อและให้ราคาสูงจึงขายให้ไป โดยเฉพาะในช่วงที่มีการเกร็งราคาในที่ดิน ระหว่างปี พ.ศ. 2538-2540 มีการซื้อขายที่ดินเกิดขึ้นจํานวนหลายราย ซึ่งผู้ซื้อก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินและปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่ามาจนถึงปัจจุบัน
สถิติประชากรองค์การบริหารส่วนตำบลสวนพริกไทย พ.ศ. 2562 แยกรายหมู่บ้าน ระบุจำนวนประชากร หมู่ที่ 5 บ้านบางลียบ มีจำนวนครัวรือนทั้งสิ้น 331 ครัวเรือน ประชากร 1,029 คน แยกเป็นประชากรชาย 508 คน และประชากรหญิง 521 คน ประชาชนในหมู่บ้านมีทั้งไทยพื้นถิ่น ชาวไทยเชื้อสายมอญ ชาวไทยเชื้อสายจีน และชาวไทยมุสลิม
จีน, มอญการประกอบอาชีพของชาวบ้านในชุมชนบ้านบางเลียบสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ อาชีพในภาคการเกษตร และอาชีพนอกภาคการเกษตร
แม้ว่าปัจจุบันอาชีพการทำนาซึ่งเคยเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านบางเลียบจะถูกยกเลิกไป เนื่องจากผลกระทบจากการสร้างคลองประปา แต่ยังคงมีชาวบ้านบางส่วนที่ยังคงยึดอาชีพในภาคเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก โดยเปลี่ยนจากการทำนามาเป็นการปลูกพืชผักบริเวณริมคลองเชียงราก ได้แก่ การปลูกผักกระเฉด การปลูกกระจับ การเลี้ยงปลาในกระชัง การเก็บผลตาลโตนด และการทำบ่อปลูกบัวเพื่อเก็บฝักขาย อาชีพดังกล่าวเป็นอาชีพที่อาศัยทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นเป็นรากฐานในการประกอบอาชีพ ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้ชาวบ้านมาเป็นระยะเวลายาวนาน
สำหรับอาชีพนอกภาคการเกษตรนั้นสามารถจำแนกได้ 3 กลุ่มอาชีพ ได้แก่ รับจ้าง รับราชการ และประกอบธุรกิจส่วนตัว ดังรายละเอียดต่อไปนี้
- รับจ้าง: โดยการเป็นพนักงานบริษัทเอกชน ซึ่งเกิดจากการที่พื้นที่ของจังหวัดปทุมธานีมีการเจริญเติบโตของโรงงานอุตสาหกรรม มีนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง ประกอบกับชาวบ้านนิยมส่งเสียให้ลูกเรียนหนังสือ ให้ได้รับการศึกษาในระดับสูงจะได้ไม่ต้องลําบากเหมือนยุคของพ่อแม่ และเมื่อสำเร็จการศึกษา บางส่วนจึงนิยมประกอบอาชีพเป็นลูกจ้าง หรือพนักงานของบริษัทเอกชน ทั้งที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงและที่ห่างไกลออกไป โดยเฉพาะในโรงงานอุตสาหกรรม
- รับราชการ: เนื่องจากชาวบ้านนิยมส่งเสียให้ลูกเรียนหนังสือ และเห็นว่าอาชีพรับราชการเป็นอาชีพที่มีเกียรติ จึงสนับสนุนให้ลูกหลานรับราชการ ซึ่งปัจจุบันก็มีชาวบ้านหลายคนในชุมชนที่ประกอบอาชีพรับราชการ โดยส่วนใหญ่มักจะสังกัดหน่วยงานที่อยู่นอกพื้นของชุมชน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ลูกหลานบ้านบางเลียบที่ประกอบอาชีพข้าราชการนั้นไม่มีใครรับราชการหรือทํางานอยู่ในพื้นที่เลย ที่เคยมีคนพื้นที่ทํางานอยู่ก็คือโรงเรียนชุมชนวัดเสด็จ แต่ก็มีอายุมากและได้เกษียณอายุราชการไปแล้ว และปัจจุบันยังไม่มีคนใหม่ที่เป็นคนในชุมชนมาทดแทน
- ธุรกิจส่วนตัว: สำหรับธุรกิจส่วนตัวของชาวบ้านบางเลียบนั้นมีอยู่หลายอาชีพ ทั้งการค้าขายในรูปแบบของการเปิดร้านค้าชุมชนหรือร้านขายของชำ และบางส่วนก็นำสินค้าไปจำหน่ายที่ตลาดนัดชุมชน และตลาดนัดในตัวเมือง และสืบเนื่องจากจังหวัดปทุมธานีมีนิคมอุตสาหกรรมอยู่หลายแห่ง ฉะนั้นธุรกิจการสร้างหอพักให้เช่าจึงเป็นอีกหนึ่งธุรกิจยอดนิยมของชาวบ้านบางเลียบที่ค่อนข้างมีฐานะดี นอกจากนี้ยังมีการประกอบธุรกิจร้านอาหาร รวมถึงการทำโรงงานหล่อปูนปูแผ่นพื้นอีกด้วย
ประเพณีตักบาตรพระร้อย
ประเพณีตักบาตรพระร้อย เป็นประเพณีสำคัญของชาวไทยเชื้อสายมอญชุมชนบ้านบางเลียบรวมถึงหมู่บ้านบริเวณสองริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในจังหวัดปทุมธานี เนื่องจากจังหวัดปทุมธานีมีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน ทำให้เกิดลำคลองหลายสายขึ้น เพื่อใช้เป็นเส้นทางการคมนาคม ใช้ในการชลประทาน ใช้ในการอุปโภคบริโภค อีกทั้งบ้านเรือนประชาชนแต่เดิมจะตั้งอยู่ริมแม่น้ำลำคลองเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในช่วงออกพรรษาเป็นช่วงน้ำหลาก บรรยากาศชุ่มชื่นการสัญจรไปมาทางเรือสะดวก ดังนั้นการตักบาตรพระสงฆ์จึงใช้เรือในการบิณฑบาตบริเวณท่าน้ำหน้าบ้านประชาชน การตักบาตรพระร้อยของชาวปทุมธานีในอดีตนั้นคลับคล้ายว่าจะแตกต่างจากที่อื่น โดยเฉพาะการตักบาตรพระร้อยตามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จะมีการตักบาตรเป็นระยะทางไกลหลายกิโลเมตร เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 เป็นต้นไป โดยทางวัดที่อยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่ง แต่ก็ไม่ได้กำหนดไปเสียทุกวัด ส่วนใหญ่จะจัดให้มีการตักบาตรเฉพาะในวัดใหญ่ ๆ ซึ่งวัดที่จัดงานจะตกลงกำหนดวันที่จะผลัดกันเป็นเจ้าภาพ เพื่อไม่ให้วันตักบาตรฯ ตรงกันหรือทับซ้อนกัน เพราะถ้าตรงกันแล้ว จำนวนพระที่จะมารับบาตรจะได้จำนวนไม่ครบ 100 รูป (คาดว่าเป็นที่มาของคำว่า “พระร้อย”) และต้องการให้พระพุทธศาสนิกชนทั้งหลายรู้กำหนดเวลา จะได้เตรียมจัดทำอาหารหวานคาวไว้ทำบุญตักบาตรได้ถูกต้องด้วย
ในการตักบาตรพระร้อย เมื่อมีการกำหนดตกลงวันเป็นเจ้าภาพของแต่ละวัดเรียบร้อยแล้ว แต่ละวัดที่เป็นเจ้าภาพตามกำหนดดังกล่าว จะต้องออกหนังสือนิมนต์พระจากวัดต่าง ๆ มาร่วมรับบาตร เมื่อใกล้ถึงกำหนดตักบาตรพระร้อย วัดที่เป็นเจ้าภาพจะเตรียมการต่างๆ โดยจะให้มรรคนายก หรือชาวบ้านที่อยู่ใกล้วัดมาช่วยเตรียมสถานที่ เมื่อถึงเวลาที่กำหนด พระจากวัดต่าง ๆ จะนั่งเรือโดยมีศิษย์วัดหรือชาวบ้านมาช่วยพายเรือให้พระนั่งรับบาตร ซึ่งพระที่นิมนต์มารับบาตรจะมารวมกัน ณ วัดที่เป็นเจ้าภาพ โดยในวันตักบาตรพระร้อย พระที่นิมนต์มารับบาตรจะจับฉลากหมายเลข ตั้งแต่ 1, 2, 3 ต่อไปจนครบ 100 รูป เมื่อพระรูปใดรับบาตรเสร็จแล้วก็จะกลับวัดของตน ครั้นตกบ่ายพุทธศาสนิกชนจะร่วมใจกันไปปิดทองนมัสการพระประธานในโบสถ์ หรือพระพุทธรูปที่เชื่อกันว่าศักดิ์สิทธิ์ หรือปิดทองรอยพระพุทธบาท ซึ่งทางวัดจะจัดเตรียมดอกไม้ ธูปเทียนทองไว้สำหรับไหว้พระเพื่อความสะดวก และให้ชาวบ้านได้ร่วมทำบุญบำรุงวัดต่อไป เมื่อนมัสการและปิดทองพระเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะพากันลงเรือล่องไปตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา ทำเช่นนี้เรื่อยไปจนครบทุกวัดตามที่ตกลงรับเป็นเจ้าภาพ สำหรับวัดเสด็จ บ้านบางเลียบ จะรับเป็นเจ้าภาพในวันแรม 12 ค่ำ เดือน 11
มรดกทรัพย์สมบัติชุมชน: วัดเสด็จ
วัดเสด็จ ศาสนสถานประจำชุมชนบ้านบางเลียบ สถานที่ซึ่งมีเรื่องราวราวประวัติศาสตร์เรื่องราวกล่าวอ้างมาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ วัดเสด็จสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2225 เดิมชื่อ "วัดสร้อยทองคลองกระแชง" แต่ต่อมาเปลี่ยนชื่อ เป็นวัดเสด็จ เพราะในครั้งแผ่นดินของสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พระองค์ได้เสด็จ ทางชลมารคโดยขบวนข้าราชการและขุนนางชั้นผู้ใหญ่เป็นขบวนเรือยาวพระองค์ได้เสด็จมาขึ้น ที่วัดสร้อยทองคลองกระแชง ซึ่งต่อมาหลังจากที่พระองค์เสด็จประทับที่วัด และเสด็จกลับ ชาวบ้านจึงเปลี่ยนชื่อจากวัดสร้อยทองคลองกระแชงเป็น "วัดเสด็จ" ภายในมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ และหอระฆังอยู่คู่กัน เป็นพระปางสมาธินามว่า “พระสิทธัตถะพุทธโคตม” อยู่บนฐานให้ชาวบ้านและผู้มีจิตศรัทธาสามารถขึ้นไปไหว้ได้
ภาษาพูด : ภาษาไทยลาง
ภาษาเขียน : อักษรไทย
ชุมชนบ้านบางเลียบ เป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชนตําบลสวนพริกไทย เดิมชื่อว่าสถานีอนามัยตําบลสวนพริกไทย จัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี และวัดเสด็จ สมัยหลวงพ่อสาทรพัฒนกิจ เป็นเจ้าอาวาสฯ เพื่อให้ชาวบ้านได้รับการดูแลสุขภาพอย่างทั่วถึง โดยช่วงแรกมีการตั้งที่ทําการอยู่บริเวณริมน้ำภายในวัดเสด็จ และเริ่มเปิดทําการเมื่อปี พ.ศ. 2503 ต่อมามีการสร้างอุโบสถหลังใหม่ จึงได้ย้ายสถานที่ทําการมาอยู่ใกล้กับถนน ส.พัฒนาและโรงเรียนชุมชนวัดเสด็จ แต่ยังคงอยู่ในบริเวณวัดเหมือนเดิม และเปิดให้บริการประชาชนมาจนถึงปัจจุบัน
ในอดีตชุมชนบ้านบางเลียบมีวัดเสด็จเป็นศูนย์กลางทางการศึกษา ต่อมาเมื่อมีการจัดการของภาครัฐส่งเสริมให้มีการจัดตั้งโรงเรียนขึ้น จึงได้มีการแยกการศึกษาออกจากวัด โดยจัดตั้งโรงเรียนชุมชนวัดเสด็จขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2471 เริ่มแรกใช้ศาลาการเปรียญเป็นอาคารเรียน ต่อมาพลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และชาวบ้านในชุมชนได้บริจาคเงินเพื่อสมทบทุนสร้างอาคารเรียนไม้ 2 ชั้น กระทั่งใน พ.ศ. 2499 โรงเรียนชุมชนวัดเสด็จได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น โรงเรียนวัดเสด็จ "สฤษดิ์ วิจิตรา ธนะรัชต์บําเพ็ญ" โดยมีจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นประธานในพิธีสถาปนาโรงเรียน
ประพัทธ์ ปทุมรัตน์วรกุล ทองสุข ปู่กลิ่น สมจิตร สุทธิแย้ม และคณะ. (2554). วิถีชีวิตและวัฒนธรรมชุมชนเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางสังคมของชุมชนบางเลียบ ต.สวนพริกไทย อ.เมือง จ.ปทุมธานี (รายงานการวิจัย). สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น (สกว).
ภิญโญ ส่องแสง. (2563). เที่ยววังมัจฉา บรรยากาศสุดฟิน! ที่วัดเสด็จ. สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม 2566, จาก https://travel.trueid.net/
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี. (ม.ป.ป.). ท่องเที่ยววิถีชุมชนสายน้ำเจ้าพระยา: ประเพณีตักบาตรพระร้อย. สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม 2566, จาก http://www.pathumthanitourist.com/
องค์การบริหารส่วนตำบลสวนพริกไทย. (2562). ส่วนที่ 1 สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐาน. สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม 2566, จาก http://suanprigthai.go.th/