Advance search

บ้านห้วยหวายพัฒนาได้การสร้างพื้นที่จำลองภูมิปัญญา ตำน้ำกินหรือ ซ้อมน้ำ เพื่อสาธิตวิธีการตำน้ำกินให้กับนักท่องเที่ยว เพื่อดึงศักยภาพ เอกลักษณ์ วิถีวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เป็นจุดเด่นของชุมชน

หมู่ที่ 15
ห้วยหวายพัฒนา
โคกสะอาด
ลำปลายมาศ
บุรีรัมย์
ธำรงค์ บริเวธานันท์
7 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
6 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
9 ก.ค. 2023
บ้านห้วยหวายพัฒนา

เนื่องจากพื้นที่หมู่บ้านมีทั้งแหล่งน้ำ และมีต้นหวายเป็นจํานวนมากบริเวณลำห้วย จึงได้เรียกชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านห้วยหวาย”


บ้านห้วยหวายพัฒนาได้การสร้างพื้นที่จำลองภูมิปัญญา ตำน้ำกินหรือ ซ้อมน้ำ เพื่อสาธิตวิธีการตำน้ำกินให้กับนักท่องเที่ยว เพื่อดึงศักยภาพ เอกลักษณ์ วิถีวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เป็นจุดเด่นของชุมชน

ห้วยหวายพัฒนา
หมู่ที่ 15
โคกสะอาด
ลำปลายมาศ
บุรีรัมย์
31130
15.13001892
102.8764232
องค์การบริหารส่วนตำบลโคกสะอาด

ชุมชนบ้านห้วยหวายพัฒนา ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2464 โดยบุคคลกลุ่มแรกที่ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐาน คือ นายปลา ธรรมธุระ นายเขื่อน เขื่อนมั่น และนายฝัน ซึ่งมา จากบ้านสงวน ตําบลโคกสะอาด อําเภอลําปลายมาศ ซึ่งได้สร้างกระท่อมเล็ก ๆ เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย และไว้ล่าสัตว์ป่า ทั้ง 3 คนก็เลยได้มีแนวคิดว่าควรมาตั้งถิ่นฐานในบริเวณดังกล่าว เนื่องจากการเดินทางกลับไปบ้านสนวนมีระยะทางไกลประมาณ 3 กิโลเมตร ในอดีตถนนไม่ดี ทั้งยังมีโจรชุกชุมคอยออกปล้นวัวควายชาวบ้าน ทั้งสามคนจึงเริ่มอพยพครอบครัวมาตั้งถิ่นฐานทําไร่ ทํานา เพื่อทําการเกษตรในพื้นที่บ้านห้วยหวายปัจจุบัน การมาอยู่อาศัยในยุคแรกพื้นที่บริเวณนี้มีลักษณะเป็นป่าหนาทึบ มีสัตว์ป่าจํานวนมาก ทั้งสามจึงได้มีแนวคิดร่วมกันว่าควรมีการตั้งชื่อหมู่บ้านเพื่อให้ผู้คนได้รู้จักทั้งสามคนจึงได้มีการระดมความคิด นายผันเสนอว่า ควรตั้งชื่อ "บ้านหนองโดน" เพราะมีหนองน้ำขนาดใหญ่ที่ใช้ทั้งอุปโภคบริโภค แต่นายปลาและนายโล้นเห็นแย้งว่าควรตั้งชื่อ "ห้วยหวาย" เพราะมีทั้งแหล่งน้ำ และมีต้นหวายเป็นจํานวนมากบริเวณลำห้วย จึงได้เรียกชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านห้วยหวาย" หลังจากนั้นผู้คนบ้านสงวนมองเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความอุดมสมบูรณ์ มีป่าไม้และแหล่งน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก จึงได้เริ่มมีการอพยพมาตั้งถิ่นฐานมากขึ้น

พ.ศ. 2515 ชุมชนบ้านห้วยหวายได้มีผู้นําใหญ่บ้านคนแรก คือ นายนา มุ่งดี มีนายอ้วย เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งอพยพมาจากชุมชนบ้านหนองเติ่น การเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านเป็นการเสนอชื่อจากคนในชุมชนเห็นว่ามีความเหมาะสม สมควร และสามารถดูแลความสงบเรียบร้อยของหมู่บ้านได้ ในช่วงเวลาดังกล่าวมีชาวบ้านเริ่มอพยพเข้ามาอยู่อาศัยในชุมชนมากขึ้น มีการแผ้วถ่าง จับจองพื้นที่ทําเกษตร ทําให้สภาพป่าที่เคยอุดมสมบูรณ์เริ่มลดน้อยลงไปด้วย พื้นที่ป่าที่เคยอุดมสมบูรณ์กลับแปลงสภาพเป็นไร่นาของชุมชน เนื่องจากจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น

ประมาณในปี พ.ศ. 2518 ในสมัยรัฐบาลหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช มีกระแส "ภัยแล้ง" เกิดขึ้นทั่วประเทศ ทําให้เกษตรกรเกิดความเดือดร้อน ซึ่งส่งผลกระทบมาถึงบ้านห้วยหวาย ชุมชนบ้านห้วยหวายเผชิญปัญหากับภัยแล้ง น้ำไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค เกษตรกรไม่สามารถทำการเกษตรได้ ชาวบ้านต้องอาศัยน้ำจากบ้านโคกล่ามซึ่งมีระยะทางห่างจากบ้านห้วยหวายประมาณ 6 กิโลเมตร โดยนําภาชนะ ได้แก่ ถังน้ำ โอ่งน้ำขึ้นเกวียน หรือรถเข็น เพื่อขนส่งน้ำจากบ้านโคกล่ามเข้ามาใช้อุปโภคบริโภคในบ้านห้วยหวาย ภาครัฐจึงได้มีนโยบายช่วยเหลือด้านรายได้แก่เกษตรที่ไม่สามารถปลูกพืชได้ มีการจ้างให้เกษตรกร "ขุดคลอง หนองน้ำ" เอง โดยรัฐบาลจ้างเป็นค่าแรง ขณะนั้นตำบลโคกสะอาดก็ได้ดำเนินการขุดหนองน้ำที่ชื่อว่า "หนองโดน" โดยแรงงานของชุมชนบ้านห้วยหวาย ส่งผลให้มีพื้นที่ในการกักเก็บน้ำเพิ่มมากขึ้น และที่สำคัญคือชาวบ้านในชุมชนไม่ต้องไปหาแหล่งน้ำที่ไกลจากหมู่บ้านอีกต่อไป

ในปี พ.ศ. 2542 ได้มีการเปลี่ยนแปลงผู้นํา คือ นายเชื้อ พลล้ำ เป็นผู้ใหญ่บ้าน พร้อมทั้งได้มีการแยกหมู่บ้านจากเดิม บ้านห้วยหวาย หมู่ 9 เป็น บ้านห้วยหวายพัฒนา หมู่ 15 เนื่องจากมีประชากรในหมู่บ้านเพิ่มขึ้น จึงได้มีการแยกหมู่บ้านเพื่อความสะดวก และง่ายในการปกครอง ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยให้ทั่วถึง ซึ่งในการก่อตั้งชุมชนบ้านห้วยหวายพัฒนา มีสมาชิกจํานวน 80 ครัวเรือน ได้รับงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนตําบลโคกสะอาด มาขุดลอกคลองบ้านห้วยหวายพัฒนาตอนบนเพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อกับบ้านขี้ตุ่นตอนล่าง จึงเปลี่ยนชื่อเรียกกันว่า "คลองหนองปลาไหล" แต่ชื่อดั้งเดิม เรียกว่า "หนองเอี่ยน" คลองห้วยหวายจึงถูกเรียกชื่อเป็นทางการว่า "คลองหนองปลาไหล" ซึ่งเป็นคลองที่เรียกชื่อเดียวกันกับบ้านขี้ตุ่น

ลักษณะภูมิประเทศของชุมชนบ้านห้วยหวายพัฒนามีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มและที่ราบสูง มีแหล่งน้ำสำคัญสําหรับใช้ในอุปโภคบริโภคและการเกษตร คือ หนองโดน ในอดีตหากปีใดฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล น้ำในหนองโดนมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ ชาวบ้านจะร่วมกันขุดน้ำเป็นหนองเล็ก ๆ เพื่อให้เกิดน้ำซับให้คนในชุมชนได้นําไปใช้ประโยชน์ เรียกว่า "การซ้อมน้ำ" หรือ "ตําน้ำกิน" แต่ปัจจุบันได้มีการแก้ไขปัญหาโดยการสร้างอ่างเก็บน้ำ และเขื่อนต่าง ๆ เพิ่มขึ้น รวมถึงการสร้างทํานบ เหมือง ฝาย ขุดลอกห้วย หนอง สร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ขุดสระน้ำ ทําบ่อน้ำตื้น ทำให้ปัญหาการขาดแคลนน้ำใช้ทุเลาความรุนแรงลง

ด้านสภาพภูมิอากาศของชุมชนบ้านห้วยหวายพัฒนาจัดอยู่ในลักษณะภูมิอากาศแบบมรสุมเขตร้อน อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 27 องศาเซลเซียส เดือนธันวาคมมีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุด 23.4 องศาเซลเซียส และเดือนเมษายนจะมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุด 29.6 องศาเซลเซียส ลักษณะภูมิอากาศแบบมรสุมเขตร้อนนี้ แบ่งได้ 3 ฤดู ดังนี้

  • ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-ตุลาคม โดยได้รับอิทธิพลจากร่องอากาศต่ำพายุดีเปรสชันหรือพายุโซนร้อนจากทะเลจีนใต้เป็นหลัก ส่งผลให้มีอากาศชุ่มชื้นและฝนตกชุก หากได้รับพายุพัดผ่านน้อยปริมาณน้ำฝนก็น้อยตาม
  • ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายน-มกราคม โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งจะพัดเอาความหนาวเย็นและความแห้งแล้งมากมาสู่พื้นที่ชุมชน
  • ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-กลางเดือนพฤษภาคม ในช่วงนี้จะมีอากาศร้อนอบอ้าว อุณหภูมิจะอยู่ที่ระหว่าง 35-38 องศาเซลเซียส

ฐานข้อมูลสถิติประชากรจากทะเบียนบ้านตำบลโคกสะอาด อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ รายงานสถิติประชากรหมู่ 15 บ้านห้วยหวายพัฒนา แบบรายครัวเรือนทั้งสิ้น 121 ครัวเรือน 453 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 216 คน และประชากรหญิง 237 กลุ่มประชากรที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นชาวไทยลาว

ในอดีตผู้ชายแต่ละครัวเรือนจะต้องช่วยกันดูแลความสงบเรียบร้อยของหมู่บ้าน ตั้งแต่ช่วงเวลา 19.00 น.–04.00 น. จะมีการจัดเวรยามกันวันละ 4 คน เดินตรวจตรารอบหมู่บ้านเพื่อป้องกันโจรปล้นวัว ควาย และทรัพย์สินของชาวบ้าน หากมีโจรจะใช้การตี กะลอแบบรัว ๆ หลายครั้ง (เครื่องเคาะสําหรับให้สัญญาณ) เพื่อแจ้งให้ชาวบ้านได้รับทราบว่ามีการปล้นเกิดขึ้นภายในชุมชน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในอดีตชุมชนบ้านห้วยหวายมีความสมัครสมานสามัคคีภายในชุมชนเป็นอย่างมาก เป็นการสะท้อนระบบการพึ่งพาอาศัยช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันของผู้คนในชุมชนที่มีมาตั้งแต่ครั้งอดีต 

ชุมชนบ้านห้วยหวายพัฒนา หมู่ที่ 15 ตําบลโคกสะอาด อําเภอลําปลายมาศ จังหวัด บุรีรัมย์ ในอดีตชุมชนมีการประกอบอาชีพที่หลากหลาย ได้แก่ การทำนา การปลูกปอ การปลูกหอม กระเทียม ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การเลี้ยงวัวและควาย การเลี้ยงเป็ดและไก่ รวมทั้งการเลี้ยงสุกร แต่การทำการเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์ในอดีตไม่มีการใช้สารเคมีแต่อย่างใด ใช้กระบวนการผลิตที่สืบต่อกันมาจากบรรพบุรุษ ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นในการเพาะปลูก จึงทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งการประกอบอาชีพของชุมชนในอดีตเป็นการผลิตเพื่อยังชีพ ไม่ได้ผลิตเพื่อการขาย แต่ปัจจุบันวิถีการผลิตของชุมชนได้เปลี่ยนแปลงจากเดิม มีการใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีในการเพาะปลูกเพิ่มมากขึ้น ทำให้ระบบนิเวศตามหัวไร่ปลายนาเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยรูปแบบการผลิตทางการเกษตรของชาวบ้านห้วยหวายพัฒนามีดังต่อไปนี้

การทำนาหรือปลูกข้าว: ช่วงเดือนเมษายนจะมีการเผาตอซัง ต่อมาในเดือนพฤษภาคมจะทำการไถแปรหรือไถตากดิน ในเดือนมิถุนายนจะมีการไถหว่านต้นกล้าเพื่อใช้ในการปักดํา พอถึงเดือนกรกฎาคมเมื่อฝนลงได้ที่ก็จะมีการไถและคราดเพื่อเตรียมแปลงให้พร้อมสําหรับการดํานา คนที่มีที่นาจํานวนมากก็ต้องใช้แรงงานคนในชุมชนโดยใช้วิธีการลงแขกดํานาหรือนาวาน ซึ่งทุกคนพร้อมที่จะ ให้ความร่วมมือและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ในอดีตส่วนใหญ่จะนิยมทำนาดํา ไม่มีการทำนาหว่านดังเช่นปัจจุบัน ต่อมาเมื่อถึงช่วงเดือนกันยายนจะต้องมีการตรวจดูระดับของน้ำในนาข้าวและใส่ปุ๋ยเพื่อให้ธาตุอาหารให้แก่ข้าว เดือนตุลาคมและพฤศจิกายนข้าวจะตั้งท้องพร้อมจะออกรวง และเดือนธันวาคมจะเก็บเกี่ยวข้าว และนําข้าวขึ้นยุ้งฉาง ในอดีตคนในชุมชนจะใช้มูลวัวควายมาทาพื้นดินให้เรียบเพื่อใช้เป็นพื้นที่สำหรับตากข้าว เพื่อป้องกันพื้นดินไม่ให้แตก ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับวิถีการผลิต

การปลูกหอมแดงและกระเทียม: ในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี ภายหลังเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว เกษตรกรบางครัวเรือนในชุมชนบ้านห้วยหวายพัฒนาจะเตรียมแปลงเพื่อทำการเพาะปลูกหอมแดงและกระเทียม โดยการใช้จอบขุดยกร่องเป็นแปลง (หนาน) แล้วใช้ปุ๋ยคอกรองพื้นคลุกเคล้าให้เข้ากับดิน แล้วนําหัวหอมแดงหรือกระเทียมปลูก ในช่วงเดือนมกราคมก็จะพรวนดิน ใส่ปุ๋ยคอกหรือมูลสัตว์ กําจัดวัชพืชด้วยการขุดหรือถอนออก เดือนกุมภาพันธ์หอมกระเทียมออกผลผลิตพร้อมที่จะเก็บเกี่ยว นําไปบริโภคและจําหน่ายเป็นรายได้เสริมของครัวเรือน

การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม: จะเริ่มปลูกในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี เนื่องจากหม่อนเป็นพืชที่ต้องการน้ำ ต้องมีการวางแผนในการหาต้นพันธุ์ มีการเตรียมพื้นที่ด้วยการไถหรือขุดหลุมแล้วใส่ปุ๋ยคอกหรือมูลสัตว์รองพื้น หลังจากนั้นนำต้นของหม่อนลงไปในหลุมที่เตรียมไว้ ในเดือนมิถุนายนจะพรวนดินใส่ปุ๋ยคอกและกําจัดวัชพืชแบบใช้สารอินทรีย์ชีวภาพ เดือนกรกฎาคมก็สามารถเก็บใบหม่อนได้ โดยให้เก็บจากใบด้านล่างของแต่ละกิ่งก่อน แล้วนําไปเลี้ยงตัวไหม และในช่วงเดือนสิงหาคม–เมษายนของทุกปี ทุกครัวเรือนสามารถนําใยไหมที่ได้จากการเลี้ยงไหมมาทอผ้าเพื่อนําไปใช้ในครัวเรือน หรือนําไปจําหน่ายได้

การปลูกอ้อย: การปลูกอ้อยเริ่มเข้ามามีบทบาทต่อชุมชนบ้านห้วยหวายพัฒนาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 โดยมีกระบวนการปลูกเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม โดยมีการวางแผนในการปลูกและเตรียมการซื้อต้นพันธุ์ ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน ชาวไร่จะเริ่มไถแปรและปั่นดินให้ละเอียด ใส่ปุ๋ยเคมีรองพื้นพร้อมปลูกทิ้งช่วงไว้ประมาณ 2 เดือน เมื่อถึงช่วงเดือนกุมภาพันธ์ทำการกําจัดวัชพืชและให้ปุ๋ยเคมีรอบที่ 2 โดยกำหนดปริมาณ 1 ถุงต่อไร่ หลังจากนั้นทิ้งไว้อีก 4 เดือน ช่วงเดือนกรกฎาคมใส่ปุ๋ยรอบที่ 3 แล้วทิ้งช่วงไว้จนถึงฤดูเก็บเกี่ยว หลังจากนั้นประมาณ 5 เดือน (ราวเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม) ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้

มันสําปะหลัง: ช่วงเดือนมีนาคมมีการวางแผนเตรียมจัดหาต้นพันธุ์ เดือนเมษายนมีการไถแปรหรือตากดินไว้ ถัดมาในเดือนพฤษภาคมเริ่มไถแปรปั่นดินให้ละเอียด ยกร่อง ใส่ ปุ๋ยเคมีรองพื้นพร้อมปลูกและฉีดยาคลุมหญ้า ปล่อยไว้ 2 เดือน เมื่อถึงเดือนสิงหาคมใส่ปุ๋ยเคมีรอบที่ 2 พร้อมฉีดยากําจัดวัชพืช หลังจากนั้นทิ้งช่วงไว้ประมาณ 7 เดือน ประมาณเดือนเมษายนเป็นช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต ส่วนใหญ่จะนําผลผลิตไปจําหน่ายที่ลานมันทางไปอําเภอชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา

การเลี้ยงเป็ดไข่และไก่พื้นบ้าน: ในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี ชาวบ้านจะซื้อลูกพันธุ์เป็ดและไก่จากพ่อค้าที่มาเร่ขายลูกพันธุ์ โดยจําหน่ายสามตัวในราคา 1 บาท ถัดจากนั้นอีกสามเดือน คือ ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคมเป็ดก็จะเริ่มออกไข่ ซึ่งแต่ละครัวเรือนสามารถนํามาใช้บริโภค หรือแลกเปลี่ยนกับครอบครัวอื่น หรือนําไปจําหน่ายได้ ตลอดระยะเวลาในการเลี้ยงชาวบ้านใช้เศษอาหารที่เหลือจากการบริโภคในแต่ละวันนํามาให้เป็ดหรือไก่ นอกจากนั้นแล้วยังสามารถขุดไส้เดือนเพื่อใช้เป็นอาหารของเป็ดและไก่ได้ ซึ่งถือว่าเป็นการลงทุนที่ไม่สูงนัก สามารถเลี้ยงได้ตลอดทั้งปี

การเลี้ยงวัวและเลี้ยงควาย: เกษตรกรชุมชนบ้านห้วยหวายพัฒนาจะใช้เวลาว่าง จากการทำอาชีพอื่นๆ ในการเลี้ยงวัวเลี้ยงควายโดยมีการเลี้ยงเชิงธุรกิจตั้งแต่ปี 2532 จนถึงปัจจุบันเดิมที มีการซื้อพ่อแม่พันธุ์วัวจากขอนแก่นมาทำการเลี้ยง สามารถเลี้ยงได้ตลอดทั้งปี โดยการเลี้ยงวัวและควายของชาวบ้านห้วยหวายพัฒนาแบ่งออกเป็น 5 ประเภท คือ

  1. การเลี้ยงแบบปล่อย คือ การปล่อยวัวควายให้ออกหากินตามธรรมชาติในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน พอถึงช่วงเวลาเย็นก็จะไปไล่ต้อนกลับบ้าน การเลี้ยงลักษณะนี้มักจะไปเป็นวัวควายที่มีขนาดฝูงใหญ่
  2. การเลี้ยงแบบติดตาม เป็นการเลี้ยงที่มีคนคอยเติมตามวัวควายไปหากินตามทุ่งนา แล้วจะมีคนเฝ้าติดตามห่าง ๆ พอตกเย็นก็จะนําวัวควายกลับบ้าน ในขณะเดียวกันในระหว่างที่เลี้ยงวัวควาย ชาวบ้านบางคนก็จะเก็บหาของป่า หรือหาปู ปลา มาทำเป็นอาหารภายในครัวเรือน การเลี้ยงแบบติดตามทำให้ชาวบ้านได้มีการพบปะพูดคุยกัน มีความช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน หากวัวควายของใครพลัดหลงไปก็ช่วยค้นหาหรือเป็นหูเป็นตาช่วยดูแลให้กัน
  3. การเลี้ยงแบบขังคอก ในช่วงฤดูฝนประมาณเดือนกรกฎาคม–ตุลาคม ชาวบ้านจะมีการทำนา ทำไร่ ทำสวน จะไม่สามารถปล่อยวัวควายไปหากินตามทําธรรมชาติได้ เนื่องจากจะไปกัดกินพืชผลทางการเกษตรของเพื่อนบ้าน ชาวบ้านบางคนจึงต้องไปเกี่ยวหญ้ามาให้วัวควาย หรือปัจจุบันมีการปลูกหญ้า แล้วตัดหญ้าที่ปลูกมาให้วัวควายได้กิน
  4. การเลี้ยงแบบผูกล่าม เป็นวิธีการเลี้ยงแบบหนึ่งในช่วงฤดูทำไร่นา โดยทำการผูกล่ามไว้ในบริเวณพื้นที่ว่าง ๆ ที่มีหญ้าขึ้นเพียงพอให้วัวควายได้กิน

สำหรับการเลี้ยงวัวควายนั้น ชาวบ้านจะขายตัวที่เห็นว่าเติบโตเต็มที่หรือแม่พันธุ์ที่ตกลูกมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งรายได้จากการขายวัวควาย มีปริมาณมากไม่น้อยไปกว่าการทำพืชผลทางการเกษตร หรือในช่วงเวลาที่วัวควาย มีราคาสูง จะทำให้มีกําไรมากกว่าการรับจ้างทั่วไป หรือบางครัวเรือนสามารถนําเงินที่ได้จากการขายวัวควายส่งลูกเรียนหนังสือในระดับสูงขึ้นได้ ซึ่งการขายวัวควาย ชาวบ้านสามารถต่อรองราคาได้ดีกว่าการขายพืชผลทางการเกษตร หากไม่พอใจในราคา หรือไม่รีบขายเพื่อนําเงินไปใช้จ่ายสิ่งจําเป็น ก็สามารถปล่อยวัวควายเลี้ยงไว้เพื่อเพิ่มราคาได้อีกด้วย

ประเพณีชุมชน

  • ประเพณีข้าวประดับดิน นิยมทําในวันแรม 14 ค่ํา เดือน 9 ประเพณีดังกล่าว เกิดจากคติความเชื่อของคนอีสานที่ว่าประตูนรกจะเปิดในคืนเดือนเก้าดับในรอบปี ยมบาลจะปล่อยให้ผีนรกออกมาเยี่ยมญาติในโลกมนุษย์เพียงคืนนี้คืนเดียวเท่านั้น ดังนั้นจึงต่างพากันจัดข้าว ปลา อาหารหวานคาว หมากพลู บุหรี่ ห่อด้วยใบตอง เตรียมไว้ให้ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับไปแล้ว โดย นําไปวางไว้ตามพื้นดิน รอบเจดีย์ อุโบสถ หรือโคนต้นไม้ เพื่อเป็นการเซ่นดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ (คําดี สาระผล, 2555 : 100) สําหรับประเพณี “บุญข้าวประดับดิน” ของชาวบ้านห้วยหวายพัฒนา จะเริ่มขึ้นในช่วงเย็นของวันแรม 13 ค่ำ เดือน 9 บรรดาลูกหลานญาติมิตรในครอบครัวจะมาร่วมกันทําห่อข้าว โดยนําข้าวเหนียวนึ่งสุก ปลา ขนม หมาก พลู ยาเส้น ฯลฯ ห่อแต่ละอย่างแยกกันด้วยใบตอง แล้วใช้ไม้แหลมกลัดหัวท้าย และนําห่อข้าวปลาอาหารแต่ละชนิดมาคัดรวมกันไว้ด้วยไม้อีกครั้งหนึ่ง จากนั้นนําเชือกมาร้อยเพื่อให้สามารถนําไปแขวนได้ ในช่วงเวลา 05.00 นาฬิกา ก่อนถึงเช้าของวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 ลูกหลานญาติมิตรจะนําห่อข้าวที่เตรียมไว้แล้วนั้นไปแขวนไว้ตามกําแพงวัด หรือโคนต้นไม้ แต่วิธีการแขวนห่อข้าว จะแขวนในระดับที่ปลายด้านล่างของห่อข้าวติดกับพื้นดิน เมื่อแขวนห่อข้าวเรียบร้อยแล้วก็กลับบ้านเพื่อเตรียมหุงหาอาหารนําไปทําบุญที่วัดในตอนเช้า หลังจากไหว้พระ รับศีล ถวายทาน กรวดน้ำ รับพรเรียบร้อยแล้ว ให้นําน้ำที่กรวดตอนพระสงฆ์ให้พรไปเทบริเวณที่แขวนห่อข้าวไว้ และอธิษฐานให้ญาติที่ล่วงลับไปแล้วมารับส่วนบุญส่วนกุศลที่ได้ทําอุทิศให้แล้วนั้นเป็นอันเสร็จพิธีการทําบุญ “ข้าวประดับดิน”
  • ประเพณีบุญข้าวสลาก หรือบุญข้าวสาก คําว่า สาก ในที่นี้มาจากคําว่า ฉลาก ในภาษาไทย ข้าวสากหรือฉลากภัตรนี้แต่ละท้องถิ่นทําไม่เหมือนกัน ในบางท้องถิ่นอาจจะจัดของเครื่องใช้ในชีวิตประจําวัน นําไปถวายพระ ก่อนจะทําพิธีถวายก็จะมีการจับฉลากก่อน จับฉลากได้เป็นชื่อของพระเณรรูปใดก็นําไปถวายตามนั้น ลักษณะเช่นนี้ถือว่าเป็นการเสี่ยงสมภาร (บารมี) ว่าในปีนี้ดวงชะตาหรือชีวิตของตนจะเป็นเช่นไร มีการทํานายไปตามลักษณะของพระหรือเณรที่ตนเองจับฉลากได้ เช่น บางคนอาจจะจับได้พระที่เป็นผู้ที่อายุพรรษามากถือว่าเป็นผู้มีชีวิตมั่นคง หรือจับฉลากถูกพระเปรียญหรือเณรมหาก็ถือว่าเป็นผู้ที่สติปัญญามาก เป็นต้น สำหรับบุญข้าวสากของชุมชนบ้านห้วยหวายพัฒนาบางครั้งเรียกว่า ข้าวสาด หรือ กระยาสารท ก่อนถึงวันบุญ ญาติพี่น้องในครอบครัวจะมาช่วยกันคั่วข้าวตอก (ข้าวเปลือกที่นํามาคั่วไฟให้เปลือกข้าวหลุดออกเหลือเป็นเนื้อฟูสีขาว) การคั่วจะต้องทําให้เกิดเสียงดัง ตามความเชื่อว่าผู้คั่วจะมีความรุ่งเรืองในชีวิต ชื่อเสียงโด่งดัง หากข้าวเปลือกที่นําไปคั่วไม่เกิดเสียงดัง หรือดังค่อย จะมีการพูดกระเซ้าเย้าแหย่กันด้วยความสนุกสนานว่าผู้คั่วไม่มีความสามารถ ก็จะช่วยกันหาวิธีคั่วให้เกิดเสียงดังให้ได้ เมื่อคั่วเสร็จ จะนําข้าวตอกเทใส่กระด้งเพื่อช่วยกันเก็บเปลือกข้าวที่กะเทาะออกจากเนื้อข้าว ในอดีตการนําข้าวสาด หรือกระยาสารท ไปฝากญาติพี่น้อง เป็นธรรมเนียมที่ต้องให้ความสําคัญอย่างมาก โดยเฉพาะญาติพี่น้องที่อยู่ห่างไกล ในหนึ่งปีจะใช้โอกาส “บุญข้าวสาด” นี้มาพบปะเยี่ยมเยือน หากไม่ไปเยี่ยม หรือไม่นําข้าวสาดไปฝาก บางรายอาจถึงกับน้อยใจ ผิดใจกันก็มี บุญข้าวสาดจึงเป็นประเพณีบุญที่ชาวบ้านห้วยหวายพัฒนาให้ความสําคัญ เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับการรักษาความสัมพันธ์ระบบสังคมเครือญาติให้เกิดความใกล้ชิดแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความกตัญญูรู้คุณต่อญาติมิตร ทั้งผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ และล่วงลับไปแล้ว ซึ่งผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ แม้ว่าจะอยู่ห่างไกลกันเพียงใด เมื่อถึงประเพณีบุญข้าวสาด ก็ไม่ลืมที่จะนําข้าวสาดไปฝาก ส่วนผู้ที่ล่วงลับไปก็ได้ทําบุญอุทิศส่วนบุญกุศลไปให้

ความเชื่อของคนในชุมชน

ความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในฐานะเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางสังคม เพราะความเชื่อได้สร้างและ รักษา กฎระเบียบ ให้กับชุมชน หากใครฝ่าฝืนกฎระเบียบก็จะถูกสิ่งศักดิ์สิทธิ์ลงโทษ ในขณะเดียวกันผู้ที่ทําตามกฎระเบียบจะมีชีวิตที่มั่นคงและเป็นสุข ทั้งนี้ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนจะเปรียบเสมือนดัชนีชี้วัดความสามัคคีและการพึ่งพาอาศัยกัน (นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ 2560 : 183) ความเชื่อของชุมชนท้องถิ่นจึงเป็นการให้เกียรติเคารพต่อการใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งเหนือธรรมชาติ สัญลักษณ์การเชื่อมโยงให้เกิดความยําเกรง เนื่องจากความเชื่อและพิธีกรรมเป็นสิ่งที่คนในชุมชนยอมรับนับถือ ศรัทธา และไว้วางใจ หากทําตามความเชื่อศรัทธาจะทําให้สบายใจ เพราะความเชื่อมีความสําคัญกับวิถีชีวิตของประชาชนคนไทย โดยเฉพาะชาวอีสานจะมีความเชื่อและพิธีกรรมที่แตกต่างกันไปตามกลุ่มชาติพันธุ์ ชุมชนบ้านห้วยหวายพัฒนาเป็นชุมชนชาติพันธุ์ไทยลาว ซึ่งมีความเชื่อและพิธีกรรมต่าง ๆ มากมาย โดยความเชื่อต่าง ๆ ที่ปรากฏพบในบ้านห้วยหวายพัฒนา ตำบลโคกสะอาด อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ได้แก่ ความเชื่อเรื่องผีปู่ตา ความเชื่อเรื่องการไหว้ผีบรรพบุรุษ ความเชื่อเกี่ยวกับการไหว้ผีตาแฮก และพระแม่ธรณี เป็นต้น

ความเชื่อเรื่องผีปู่ตา

ภายในชุมชนบ้านห้วยหวาย มีศาลปู่ตาเก่าแก่ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่แรกตั้งหมู่บ้าน ซึ่งศาลปู่ตานี้เป็นที่สิงสถิตย์ของ หลวงอุดม ตั้งอยู่บริเวณริมหนองน้ำสาธารณะประจำหมู่บ้าน ผีปู่ตาหลวงอุดมเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีอิทธิพลต่อความเชื่อของชาวบ้านห้วยหวายเป็นอย่างมาก เป็นที่ยึดเหนี่ยวของคนในหมู่บ้าน และศาลปู่ตาก็เปรียบเสมือนพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ให้คนในชุมชนได้ทำพิธีกรรม เคารพกราบไหว้

ในอดีตนั้น แต่ละปีชุมชนบ้านห้วยหวายพัฒนาจะจัดพิธีบวงสรวงผีปู่ตาหลวงอุดมในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ต่อมาภายหลังประชาชนในชุมชนออกไปทํางานต่างถิ่นมากขึ้น และจะกลับมาบ้านพร้อมหน้าพร้อมตากันในช่วงสงกรานต์ จึงมีมติร่วมกันว่าให้เปลี่ยนไปจัดพิธีบวงสรวงในวันที่ 13 เมษายนของทุกปีแทน อีกทั้งในช่วงเดือน 3 ของทุกปี บ้านห้วยหวายพัฒนามีการจัดประเพณี “บุญกุ้ม ข้าวใหญ่” จึงเป็นการไม่สะดวก และเป็นภาระหนักของชุมชนที่จะจัดงานใหญ่พร้อมกันในเดือนเดียวกัน การบวงสรวงผีปู่ตาหลวงอุดม มีพิธีกรรม 2 ประการที่ชุมชนได้ทําร่วมกัน โดยทําพิธีกรรมละ 3 ปี ติดต่อกัน หมุนเวียนเปลี่ยนกันไป คือ พิธีฟาย และพิธีรำบวงสรวง

  • พิธีฟาย เป็นพิธีเลี้ยงผีปู่ตาหลวงอุดมประจําปี โดยสิ่งของที่ชาวบ้านแต่ละครอบครัวจะต้องเตรียมเพื่อนําเข้าไปร่วมในพิธีฟาย คือ นําใบมะพร้าวมามัดเป็นข้อให้ครบตามจำนวนสมาชิก จํานวนสัตว์เลี้ยง หรือยานพาหนะที่มีในครอบครัว พิธีกรรมดังกล่าว มีคติความเชื่อว่าเพื่อเป็นการบอกให้ผีปู่ตาหลวงอุดมรับรู้ว่าจํานวนคน หรือสัตว์เลี้ยงในครอบครัวมีจํานวนเท่าใด หลวงอุดมจะได้คอยคุ้มครองรักษาให้สมาชิกและสัตว์เลี้ยงในครอบครัวมีแต่ความสุข อุดมสมบูรณ์ ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ส่วนอาหารที่นํามาเลี้ยง ประกอบด้วย ข้าวเหนียวคลุกน้ำตาล ไข่ต้ม 1 ฟอง วิธีการเลี้ยงเป็นไปอย่างเรียบง่าย คือ นําข้าวเหนียวคลุกน้ำตาลจิ้มกับไข่ต้มที่เตรียมมา ใส่จาน หรือพาน วางไว้ในศาลของผีปู่ตาหลวงอุดม ส่วนเครื่องเซ่นสังเวยสําหรับประกอบการเสี่ยงทาย ได้แก่ ไก่บ้าน ไก่นา 1 คู่ เหล้าขาว 2 ขวด ธูปเทียน หมากพลู 4 คำ บุหรี่ 4 มวน (ยาอี้โป้ ยาเส้นที่พันด้วยใบตองแห้ง) ข้าวต้ม ขนมบัวลอย (โอ้โล่) ข้าวคลุกน้ำตาล ขนมหัวหงอก และข้าวคลุกมะพร้าว
  • พิธีรําบวงสรวง ภายหลังจากทําพิธีฟายติดต่อกัน 3 ปีแล้ว พิธีที่จะต้องทําติดต่อไปอีก 3 ปี คือ การรําบวงสรวง การเตรียมอุปกรณ์และเครื่องสังเวย ก็เป็นเช่นเดียวกับพิธีฟาย แต่สิ่งที่แตกต่างเพิ่มเติมเข้ามา คือ จะต้องมีหมอทรง หมอปี หมอกลอง ในการเข้าทรงของผีปู่ตานั้น ผีปู่ตาที่มาเข้าทรงเป็นลําดับแรก คือ หลวงอุดม ซึ่งเชื่อกันว่ามีศักดิ์ใหญ่ที่สุด ต่อจากนั้น ผีปู่ตาที่เป็นบริวารจะมาเข้าทรงต่อตามลําดับจํานวน 10 องค์ โดยมี “เฒ่าจ้ำ” เป็นบุคคลผู้ได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนของชุมชนเข้าติดต่อสื่อสารกับผีปู่ตา หรือรับบัญชาจากผีปู่ตามาแจ้งแก่ชุมชน ตลอดจนมีหน้าที่ดูแลบริเวณที่อยู่อาศัย หรือดําเนินกิจการด้านพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับผีปู่ตา
  • การเซ่นไหว้ผีปู่ตา เป็นพิธีกรรมการแสดงออกถึงจิตสํานึกที่มีความเชื่อและศรัทธา ในอํานาจอันลึกลับที่อยู่เหนือธรรมชาติ การไหว้ผีบรรพบุรุษ เช่น พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย จนถึงระดับ หัวหน้าเผ่าพันธุ์และกษัตริย์ เมื่อท่านเหล่านี้ได้ล่วงลับไปแล้ว ต้องมีการกราบไหว้สักการบูชา ดังนั้น การทําซุ้ม การทําปิรามิดไว้สําหรับผีปู่ตา ตลอดจนพิธีกรรมต่าง ๆ ที่เซ่นไหว้ ปู่ ย่า ตา ยาย ล้วนมีเหตุมาจาก ความเชื่อในเรื่องผีและวิญญาณมาปกปักรักษา หรือดลบันดาลให้เกิดความสําเร็จในกิจกรรมต่าง ๆ

ความเชื่อเรื่องผีตาแฮก (ผีไฮ ผีนา)

ปัจจุบันบ้านห้วยหวายพัฒนามีจำนวนครัวเรือนที่ยังคงมีความเชื่อและประกอบพิธีไหว้ผีตาแฮกไม่มากนัก เพราะเห็นว่าการเลี้ยงผีตาแฮก หรือผีไฮ ผีนา ตามภาษาท้องถิ่นอีสาน เป็นพิธีกรรมที่มีความยุ่งยาก หากทำไม่ถูกต้องตามขั้นตอนอาจทำให้คนในครัวเรือนเจ็บป่วย ชาวบ้านบางครอบครัวจึงแก้ปัญหาโดยการยกเลิกไป ส่วนผู้ที่ยังทำอยู่ก็ด้วยเห็นพ้องว่าเป็นสิ่งที่ทำอยู่เป็นประจํา เป็นความเชื่อที่ได้รับการสืบทอดจากพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย จึงจําเป็นต้องทํา 

1. นายเสวย สุขมิ้น  ผู้นำชุมชนบ้านห้วยหวายพัฒนาคนปัจจุบัน

ตั้งแต่ พ.ศ. 2558 ปีแรกที่นายเสวย สุขขมิ้น เข้ารับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้นำชุมชนบ้านห้วยหวายพัฒนา จนถึงปัจจุบัน นายเสวยได้พัฒนาชุมชนโดยการจัดหางบประมาณจากหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงจัดโครงการมากมายหลายโครงการเพื่อพัฒนาอาชีพ สุขภาวะ และชีวิตของชาวบ้านห้วยหวายพัฒนาให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยในแต่ละปีได้มีการจัดหางบประมาณเพื่อสร้างสิ่งอํานวยความสะดวกให้กับชุมชน ดังนี้

  1. ปี พ.ศ. 2558 โครงการพัฒนาอาชีพการเกษตร เพื่อให้คนในชุมชนเกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ มีรายได้เพียงพอต่อการดํารงชีวิต จํานวน 490,000 บาท
  2. ปี พ.ศ. 2559 โครงการลานตากพืชผลทางการเกษตรบริเวณศาลปู่ตา จํานวน 250,000 บาท
  3. ปี พ.ศ. 2559 โครงการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กบริเวณสามแยกไปทางตะวันออก จํานวน 250,000 บาท
  4. ปี พ.ศ. 2559 โครงการผิวจราจรลดยาง จากบ้านห้วยหวายพัฒนาถึงบ้านสนวน ระยะทาง 3 กิโลเมตร จํานวน 1,090,000 บาท
  5. ปี พ.ศ. 2559 โครงการสร้างศาลาประชารัฐ ติดกับสระน้ำหนองโดน ใช้งบประมาณจํานวน 200,000 บาท
  6. ปี พ.ศ. 2560 โครงการขุดลอกสระน้ำหนองโดน ใช้งบประมาณของกรมชลประทาน หน่วยที่ 8 นครราชสีมา จํานวนเงิน 2,000,000 บาท
  7. ปี พ.ศ. 2561 โครงการเทลานตากพืชผลทางการเกษตร ซึ่งกําลังดําเนินการ จํานวนเงิน 2,000,000 บาท

แห่นางแมว: คติความเชื่อ และรากเหง้าทางวัฒนธรรมของชาวอีสาน บ้านห้วยหวายพัฒนา

ประเพณีแห่นางแมว สัญญะทางความเชื่อของชาวอีสานกับการแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่ต้องดำรงอยู่โดยพึ่งพาธรรมชาติ โดยเฉพาะฝน ปัจจัยสําคัญในการดำรงชีพของชาวนา ชาวไร่ เมื่อฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ชาวนา ชาวไร่ จึงต้องคิดหากลวิธีที่จะทําให้ฝนตก โดยการมองหาสัตว์ที่กลัวน้ำก็คือ แมว มาทําพิธีขอฝน

ปัจจุบันประเพณีดังกล่าวได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปบ้าง บางชุมชนก็ไม่ได้ใช้แมวจริง แต่เป็นตุ๊กตาแมว เพื่อถือเป็นการไม่ทรมานสัตว์ พิธีแห่นางแมวของชาวบ้านห้วยหวายพัฒนา มีเหตุเชื่อว่าสาเหตุที่ฝนไม่ตกมีหลายประการ เช่น เกิดจากดินฟ้าอากาศเปลี่ยนแปลง ประชาชนชาวเมืองหย่อนในศีลธรรม เจ้าเมืองเจ้าแผ่นดินไม่ทรงอยู่ในทศพิธราชธรรม เป็นต้น หรือภาษาท้องถิ่นเรียกกันเล่น ๆ ว่า “มีแม่แล้ง” หมายถึง สิ่งที่ทําให้เกิดอาเพศ ทําผิดต่อศีลธรรมอันดีงาม จึงทําให้ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล เหตุนี้ชุมชนบ้านห้วยหวายพัฒนาจึงต้องทําพิธีอ้อนวอนขอฝน และการที่ต้องใช้แมวเป็นตัวประกอบสําคัญในการขอฝน เพราะเชื่อว่าแมวเป็นสัตว์ที่เกลียดฝน ถ้าฝนตกครั้งใดแมวจะร้องทันที ชาวบ้านจึงถือเอาเคล็ดที่แมวร้องในเวลาฝนตกว่าจะเป็นเหตุให้ฝนตก ชาวบ้านจึงร่วมมือกันสาดน้ำและทําให้แมวร้องมากที่สุดจึงจะเป็นผลดี และชาวบ้านเชื่อว่าหลังจากทําพิธีแห่นางแมวแล้วฝนจะตกลงมาตามคําอ้อนวอนและตามคําเซิ้งของนางแมว องค์ประกอบที่ใช้ในพิธีแห่นางแมว ได้แก่ กะทอหรือเข่งที่มีฝาปิดข้างบน 1 อัน แมวสีดําตัวเมีย 1 ตัว ปัจจุบันใช้แมวที่เป็นตุ๊กตา เพื่อเป็นการไม่ทรมานสัตว์ เทียน 5 คู่ดอกไม้ 5 คู่ ดอกไม้สําหรับสอดกะทอให้คนหาม 1 อัน

วิธีแห่นางแมว

  • ชาวบ้านทั้งคนแก่ คนหนุ่ม และเด็กส่วนมากจะเป็นผู้ชาย ปรึกษาหารือกันเพื่อให้ผู้ไปแห่ทั้งหมดเป็นผู้ว่าตาม ส่วนใหญ่จะเป็นผู้อาวุโสในหมู่บ้าน
  • หากะทอใบหนึ่ง หรืออาจใช้เข่งก็ได้ ที่สามารถขังแมวไม่ให้หนีไปได้
  • จับเอาแมวตัวเมียสีดํา 1 (ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้ตุ๊กตาแมว) ตัวใส่ในเข่ง ใช้เชือกผูกปิดฝาเข่งไม่ให้แมวออกได้ และใช้ไม้สอดเข้าไปในเข่งให้คนหาบ 2 คน ตั้งขันธ์ห้า สวดชุมนุมเทวดา เพื่อให้เทวดาบันดาลให้ฝนตก
  • ถึงเวลาพลบค่ำผู้คนกําลังอยู่บ้านก็เริ่มขบวนแห่โดยหาบกะทอแมวออกหน้า แล้วตามด้วยผู้ว่าคําเซิ้ง ในขบวนจะมีการตีเกราะเคาะไม้ เพื่อให้เกิดจังหวะ และแห่ไปทุกหลังคาเรือนในหมู่บ้านนั้น ๆ เมื่อแห่ไปถึงบ้านใครเจ้าของบ้านก็ต้องเอาน้ำสาด หรือรดที่ตัวแมวให้เปียกและทําให้แมวร้อง และสาดใส่ขบวนเซิ้งด้วย

ตำน้ำกิน: วิถีชีวิตชุมชนกับภูมิปัญญาการหลีกพ้นปัญหาความแห้งแล้ง

"บุรีรัมย์ตําน้ำกิน" เป็นคําพังเพยในอดีตที่แสดงถึงภาวการณ์ขาดแคลนน้ำในบริเวณพื้นที่อันเป็นเขตปกครองของจังหวัดบุรีรัมย์ในอดีต และแสดงถึงความเฉลียวฉลาดของชาวบุรีรัมย์สมัยก่อนที่นําเอาความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติมาแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ กรรมวิธีได้ชื่อว่าเป็นการตําน้ำกิน คือ การขุดหลุดดินขนาดย่อมขึ้นก่อนและตักเอโคลนตมในบ่อสระ หรือบึงมาใส่หลุมที่ขุดไว้ แล้วย่ําด้วยเท้าจนเป็นเลน หรือนํามาใส่ครุไม้ไผ่ยาชัน แล้วทําด้วยไม้ให้โคลนเลนมีความหนาแน่นสูงขึ้น ปล่อยทิ้งไว้ให้ตกตะกอน น้ำจากโคลนเลนจะปรากฏ เป็นน้ำใสอยู่ข้างบน ตักไปใช้บริโภคได้

ราวปี พ.ศ. 2510 ชาวบ้านห้วยหวายพัฒนาต้องประสบกับปัญหาความแห้งแล้ง น้ำมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ ชาวบ้านจึงได้นำเอาภูมิปัญญา ตำน้ำกิน หรือภาษาท้องถิ่นเรียกว่า ซ้อมน้ำ เข้ามาแก้ไขทุเลาความแห้งแล้งชั่วคราว โดยการตำน้ำกินของชาวบ้านจะทำบริเวณหนองโดน มีการขุดหลุมเล็ก ๆ หลายจุดทั่วหนองโดน แล้วทำการซ้อมน้ำเพื่อให้น้ำตกตะกอน แล้วนำน้ำที่อยู่ด้านบนมาบริโภคได้ เริ่มแรกจะขุดหลุม 2 หลุม หลุมแรกใส่กรวด หิน ดินเหนียว ใช้ไม้กวนแล้วทิ้งไว้ให้ตกตะกอน จากนั้นตักมาเก็บไว้ที่หลุมที่ 2 ซึ่งเป็นหลุมเก็บน้ำพร้อมใช้ ชี้ให้เห็นว่า ชุมชนบ้านห้วยหวายพัฒนาได้นำภูมิปัญญาที่ได้รับมาจากบรรพบุรุษมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในการเอาตัวรอดจากปัญหาความแห้งแล้ง ซึ่งปัจจุบันภูมิปัญญาตำน้ำกินของชุมชนบ้านห้วยหวายพัฒนา ได้กลายเป็นจุดสำคัญที่นำพาชุมชนไปสู่การพัฒนา โดยทางชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีโครงการสร้างพื้นที่จำลองสาธิตภูมิปัญญาตำน้ำกินให้กับนักท่องเที่ยว เพื่อดึงศักยภาพ เอกลักษณ์ วิถีวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เป็นจุดเด่นของชุมชน 

ภาษาที่ใช้ในจังหวัดบุรีรัมย์นั้นมีทั้งภาษาเขมร ภาษาลาว และภาษาไทย แต่สำหรับชุมชนบ้านห้วยหวายพัฒนาที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยลาวนั้นจะใช้ภาษาลาวเป็นภาษาหลักในการสื่อสาร และอาจมีภาษาเขมรปะปนบ้างเล็กน้อย ส่วนการติดต่อราชการต่าง ๆ จะใช้ภาษาไทยกลาง 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ตำนานบุญเดือนเก้า ข้าวประดับดิน

ตำนานการกำเนิดบุญข้าวประดับดินตามที่ปรากฏเรื่องเล่าในพระธรรมบทว่า ญาติของพระเจ้าพิมพิสารอุตลุดไปกินอาหารของพระสงฆ์ ตายไปแล้วไปเกิดในนรก ครั้นพระเจ้าพิสารถวายทานแด่พระพุทธเจ้าแล้ว มิได้อุทิศบุญให้แก่ญาติที่ตายไป ตกกลางคืนพวกญาติที่ตายไปมาแสดงตัวเปล่งเสียงที่น่ากลัวให้ปรากฏใกล้พระราชนิเวศน์ รุ่งเช้าพระเจ้าพิมพิสารได้เสด็จไปทูลถามพระพุทธเจ้า พระองค์ได้ทูลมูลเหตุให้ทรงทราบ พระเจ้าพิมพิสารจึงได้ถวายทานอีก แล้วอุทิศส่วนกุศลไปให้ พวกญาติที่ตายไปจึงได้รับส่วนกุศล การทำบุญข้าวประดับดินจึงทำเพื่ออุทิศส่วนกุศลแด่ญาติผู้ตายแล้ว ถือเป็นประเพณีที่คนอีสานต้องทำเป็นประจําทุกปี (ปรีชา พิณทอง, 2530 : 134-135 อ้างถึงใน อุทิศ ทาหอม และคณะ, 2562: 99) จนกลายเป็นประเพณีและวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาเป็นระยะเวลานาน 

คำดี สาระผล (เรียบเรียง). (2555). วัฒนธรรมอีสาน. ขอนแก่น: พระธรรมขันต์.

นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ. (2560). แนวคิดมานุษยวิทยากับการศึกษาความเชื่อศักดิ์สิทธิ์ในสังคมไทย. วารสารวิชาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์. 26(4), 99-114.

อุทิศ ทาหอม และคณะ. (2562). รูปแบบการพัฒนาศักยภาพทุนทางวัฒนธรรม เพื่อรองรับการทอ่งเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืนบ้านห้วยหวายพัฒนา ตำบลโคกสะอาด อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว).

องค์การบริหารส่วนตำบลโคกสะอาด. (ม.ป.ป.). แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม บ้านห้วยหวายพัฒนา หมู่ 15. สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม 2566, จาก http://www.khoksaard.go.th/