Advance search

บ้านนครชุมน์

กวานโหน่ก, กวานเจียะโนก, นครชุม

“กวานโหน่ก” คือชื่อเรียกชุมชนในภาษามอญ การแสดงออกทั้งทางภาษาและวิถีการดำเนินชีวิต เป็นรากเหง้าของชุมชนวัฒนธรรมที่ยังคงหยั่งรากลึกจากอดีตถึงปัจจุบัน

บ้านนครชุมน์
นครชุมน์
บ้านโป่ง
ราชบุรี
สุธาสินี บุญเกิด
14 มี.ค. 2023
สุธาสินี บุญเกิด
15 มี.ค. 2023
บ้านนครชุมน์
กวานโหน่ก, กวานเจียะโนก, นครชุม

ลักษณะการแยกหมู่บ้านภายในชุมชนบ้านนครชุมน์ อาศัยการเรียกชื่อเป็นภาษามอญตามลักษณะของที่ตั้งหมู่บ้าน กล่าวคือ

บ้านนครชุมน์ เรียกเป็นภาษามอญว่า “กวานโหน่ก” ซึ่งมาจากคำว่า กวาน แปลว่า บ้านหรือหมู่บ้าน หรือบาง รวมกับคำว่า โหน่ก แปลว่า ใหญ่ ซึ่งคนสมัยก่อนได้เล่าต่อกันมาว่า หมู่บ้านนครชุมน์นี้เป็นหมู่บ้านที่มีคนมาอยู่รวมกันเป็นจำนวนมากและมีพื้นที่กว้างใหญ่ 

เรียกกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ว่า “อุม” แปลว่า “หมู่ หรือ กลุ่ม” โดยคำว่า “อุม” เมื่อเทียบกับลักษณะหรือคำกิริยา หมายถึง ลักษณะการกองรวมกันเป็นกลุ่ม ๆ แยกเป็นกอง ๆ โดยเริ่มจากหมู่ที่อยู่ใกล้วัด คนมอญนครชุมน์เรียกว่า “อุมเต้อ” หรือ หมู่เนิน เพราะบริเวณที่ดินดังกล่าว มีลักษณะเป็นที่สูงคล้ายเนินเขา เวลาฤดูน้ำ หลาก คนนครชุมน์จะต้อนวัวควายหนีน้ำอยู่รวมกันตรงบริเวณนี้ ปัจจุบันคือ ที่ตั้งครัวเรือนของหมู่ที่ 5 และ หมู่ที่ 6 บางส่วน

เรียกหมู่ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งน้ำหรือบริเวณใกล้แม่น้ำแม่กลอง ว่า “อุมบี” หรือ “หมู่แม่น้ำ” ซึ่งคนสมัยก่อนจะมีกิจกรรมร่วมกันที่หมู่นี้เป็นส่วนใหญ่ เพราะมีพื้นที่ริมแม่น้ำในสมัยก่อนบริเวณนี้มีหาดทรายที่ทอดตัวยาวเลียบแม่น้ำ ซึ่งในปัจจุบันหาดทรายดังกล่าวหายไปแล้วเนื่องจากเรือสัมปทานทรายดูดทรายไปใช้ทำถนน หาดทรายดังกล่าวนี้ในอดีตชาวบ้านใช้เป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ อาทิ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ใช้บริเวณนี้เล่นสาดน้ำ ใช้เป็นเส้นทางในการทำบุญส่งข้าวแช่ ใช้เป็นท่าเรือเพื่อข้ามไปยังวัดม่วงและวัดมะขามฝั่งตรงข้ามบ้านนครชุมน์ นอกจากนี้แล้วยังใช้เป็นที่การเพาะปลูกถั่วงอก ใช้เป็นจุดหนึ่งในการแห่นาคในงานบวช ตลอดจนเป็นบริเวณที่ชาวบ้านใช้เป็นท่าน้ำเพื่อตักในไปใช้ในครัวเรือน โดยเฉพาะยามจัดงานบุญต่าง ๆ ดังนั้นแล้วชาวบ้านจึงให้มีพิธีทำบุญแม่น้ำสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

คนมอญนครชุมน์เรียกหมู่บ้านชั้นในไปทางทุ่งนาท้ายหมู่บ้าน และอยู่ใกล้ ๆ กับทางไปสถานีรถไฟ ว่า “อุมเว” หรือ “หมู่ทุ่งนา” คนมอญนครชุมน์ทั้งสามหมู่นั้นต่างก็มีพื้นที่ทำกินใกล้หมู่นี้จึงมีการทำบุญทุ่งนาเพื่อเป็นการขอขมาและขอบคุณพื้นที่ทำกินดังกล่าวเป็นประจำทุกปี

การเรียกชื่อหมู่บ้านที่ตั้ง ยังสามารถเรียกได้อีกสองลักษณะ คือ ลักษณะแรกเรียกตามลักษณะทางกายภาพที่ตั้งเป็นอาณาเขตกว้าง ๆ คือ เรียกกลุ่มคนที่ตั้งบ้านเรือนจากทางทิศใต้ศาลเจ้าพ่อช้างพัน แบ่งเขตจากทางสถานีอนามัยนครชุมน์ลงไปว่า “หมู่ล่าง” (อุมพะมอ) และตามกลุ่มชาติพันธ์ุเชื้อสายจีนที่มาอาศัยบริเวณริมแม่น้ำ เป็นลักษณะที่สองว่า “อุมพะเจิ่ด” ซึ่งแปลว่า “หมู่คนจีน” กลุ่มคนไทยเชื้อสายจีนนี้ประกอบอาชีพค้าขาย ซักรีด เสริมสวย ขายอาหาร โรงสีข้าว และสำหรับโรงสีข้าวนั้นมีทั้งคนไทยเชื้อสายจีนและเชื้อสายมอญเป็นเจ้าของด้วยเช่นเดียวกัน

การเรียกขานกลุ่มคนที่แยกออกเป็นหมู่ หรือ อุม ยังคงปรากฏใช้ในคำสนทนาประจำวันของคนมอญนครชุมน์อยู่จนถึงปัจจุบันนี้ โดยคนนครชุมน์ทั้งที่มีเชื้อสายมอญหรือกลุ่มชาติพันธ์ุอื่น ต่างก็รับรู้และเข้าใจในคำเรียกขานนี้เช่นเดียวกัน การแบ่งหมู่และเรียกขานดังที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นไปตามความเข้าใจของคนในชุมชนที่อาศัยในบ้านนครชุมน์เรียกกันไปมา หากคนในชุมชนจะการเรียกคนนอกหมู่บ้านที่เป็นคนมอญหมู่บ้านใกล้เคียง เช่น บ้านท่าอิฐ บ้านม่วง บ้านหัวหิน จะเรียกชื่อบ้านเป็นภาษามอญว่า “กวานโหน่ก” ซึ่งหมายถึง หมู่บ้านนครชุมน์ทั้งสามหมู่รวมกัน และต่อท้ายว่า หมู่ 4 หมู่ 5 และ หมู่ 6 (พชระ โชติภิญโญกุล, 2554, น. 24-25)


“กวานโหน่ก” คือชื่อเรียกชุมชนในภาษามอญ การแสดงออกทั้งทางภาษาและวิถีการดำเนินชีวิต เป็นรากเหง้าของชุมชนวัฒนธรรมที่ยังคงหยั่งรากลึกจากอดีตถึงปัจจุบัน

บ้านนครชุมน์
นครชุมน์
บ้านโป่ง
ราชบุรี
70110
อบต.นครชุมน์ โทร. 08-1861-9246
13.771632
99.849611
องค์การบริหารส่วนตำบลนครชุมน์

จากคำบอกเล่าที่เล่าสืบต่อกันมาของคนในชุมชนนั้น คนบ้านนครชุมน์เชื่อว่าบรรพบุรุษในสมัยแรกตั้งหมู่บ้านซึ่งเป็นชาวมอญที่อพยพหนีสงคราม มาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร จึงอพยพจากด่านเจดีย์สามองค์และล่องมาตามลำน้ำแม่กลอง จนมาถึงบริเวณที่ตั้งปัจจุบัน จากคำบอกเล่าของนายมอง เกษเจริญ ปราชญ์ชาวบ้านอายุ 93 ปี ผู้อาวุโสที่เป็นที่เคารพนับถือของคนมอญนครชุมน์ ได้บอกเล่าถึงเรื่องเล่าในอดีตว่า สมัยเมื่อเขายังเป็นเด็ก อายุประมาณ 7 ปี ปู่ของเขาเล่าให้ฟังว่า ปู่ของปู่บอกว่าคนมอญแถบนี้ ทั้งนครชุมน์ บ้านม่วง ต่างก็เป็นคนมอญอพยพหนีมาจากพม่ามาด้วยกัน เข้าใจว่าอพยพหนีภัยสงคราม ผ่านกันมาตามเส้นทางอำเภอทองผาภูมิ หนีมาทางช่องด่านเจดีย์สามองค์ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี กลุ่มคนมอญรุ่นนั้น ได้พากันลัดเลาะลงมาตามลำน้ำ พอมาถึงบริเวณนี้ได้แยกออกเป็นสามกลุ่ม คือ กลุ่มที่หนึ่ง มาตั้งถิ่นฐานที่นครชุมน์ กลุ่มที่สอง มาตั้งถิ่นฐานที่บ้านม่วง และกลุ่มที่สาม มาตั้งถิ่นฐานที่คงคารามโดยเรียกว่า “บ้านนครชุมน์” เนื่องจากเป็นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์จึงก่อตั้งบ้านเรือนและเรียกชื่อหมู่บ้านเป็นภาษามอญว่า “กวานเจียะโนก” หรือ “กวานโหน่ก” และเรียกชื่อเป็นภาษาไทยว่า “นครชุม”

ตามเอกสารที่ได้ศึกษาและสืบค้นประวัติของชุมชนโดย ร.อ.ชุมพร ดำรงศุภสุนทร นั้นแสดงให้เห็นว่า คนมอญนครชุมน์เกี่ยวพันกับเชื้อสายตระกูลผู้ว่าราชการรามัญเมืองทั้ง 7 เมือง (เมืองทองผาภูมิ, เมืองท่าขนุน, เมืองไทรโยค, เมืองท่าตะกั่ว, เมืองลุ่มสุ่ม, เมืองสมิงสิงหบุรี, เมืองท่ากระดาน) เนื่องจากภูมิประเทศส่วนใหญ่ทั้ง 7 เมืองในสมัยนั้นมีความทุรกันดาน จึงพากันอพยพลงมายังแถบลุ่มน้ำแม่กลองและตั้งถิ่นฐานบริเวณวัดคงคาราม ยกเว้นเจ้าเมืองทองผาภูมิที่เข้าย้ายมาตั้งบ้านเรือนใกล้วัดนครชุมน์

ทั้งจากคำบอกเล่าและเอกสารอื่น ๆ ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับวัดนครชุมน์ ซึ่งมีหลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงให้เห็นการก่อตั้งชุมชนชาวมอญที่บ้านนครชุมน์และสามารถกล่าวได้ว่า บ้านนครชุมน์มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานและมีความเชื่อร่วมกันว่าบรรพบุรุษอพยพมาจากเมืองหงสาวดีครั้งสงครามในสมัยอยุธยา (พชระ โชติภิญโญกุล, 2554, น. 25-29)

บ้านนครชุมน์ มีลักษณะเป็นดอนน้ำท่วมไม่ถึง บางแห่งเป็นที่ลุ่มติดแม่น้ำ น้ำท่วมถึงในฤดูน้ำหลาก ทำให้บริเวณพื้นที่ส่วนใหญ่เหมาะแก่การทำการเกษตร โดยอยู่ห่างจากตัวอำเภอบ้านโป่งประมาณ 5 กิโลเมตร ห่างจากอำเภอเมืองราชบุรี 35 กิโลเมตร มีพื้นที่ 14.17 ตารางกิโลเมตร (9,962 ไร่) เป็นหมู่บ้านหนึ่งในตำบลนครชุมน์ แบ่งการปกครองออกเป็น 3 หมู่ ได้แก่ หมู่ 4 หมู่ 5 และ หมู่ 6 โดยมีอาณาเขตติดต่อกับตำบลอื่น ๆ ดังนี้ (พชระ โชติภิญโญกุล, 2554, น. 21)

  • ทิศเหนือ  ติดต่อกับ  บ้านท่าอิฐ

  • ทิศใต้  ติดต่อกับ  บ้านหัวหินและตำบลคลองตาคต อำเภอโพธาราม

  • ทิศตะวันออก  ติดต่อกับ  บ้านดงม่วงและตำบลสวนกล้วย อำเภอบ้านโป่ง

  • ทิศตะวันตก  ติดต่อกับ  ริมน้ำแม่กลอง

การคมนาคม การเดินทางเข้าหมู่บ้านไม่มีรถประจำทาง ส่วนใหญ่เดินทางเข้าออกโดยใช้รถจักรยานยนต์และรถยนต์ส่วนบุคคล

เส้นทางหลัก สามารถใช้เส้นทางถนนลาดยางจากอำเภอบ้านโป่ง ประมาณ 5 กิโลเมตร ใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 323 (ถนนบ้านโป่ง-กาญจนบุรี) แยกจากถนนเพชรเกษมทางตอนเหนือ แยกจากถนนเพชรเกษมทางตอนเหนือของจังหวัดราชบุรีในเขตอำเภอบ้านโป่ง หลังจากนั้นใช้เส้นทางเลียบคลองประปาและถนนเลียบแม่น้ำแม่กลอง ผ่านบ้านสวนกล้วย บ้านท่าอิฐ เลียบริมแม่น้ำมาเรื่อย ๆ ถึงวัดใหญ่นครชุมน์

เส้นทางรอง การเดินทางโดยรถไฟ จากสถานีรถไฟธนบุรี บางกอกน้อย เดินทางมายังสถานีรถไฟนครชุมน์ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณด้านหลังของหมู่บ้าน ใกล้ทุ่งนาท้ายหมู่บ้าน (พชระ โชติภิญโญกุล, 2554, น. 22)

สภาพบ้านเรือนและที่อยู่อาศัย การตั้งบ้านเรือนแบ่งพื้นที่แยกชัดเจนระหว่างพื้นที่ทำกินซึ่งอยู่ไปทางท้ายหมู่บ้านและบ้านเรือนที่อยู่ส่วนด้านหน้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบ้านยกใต้ถุนสูง มีทั้งแบบก่ออิฐถือปูนชั้นเดียวและสองชั้น บ้านที่มีสองชั้นมักปูด้วยไม้เนื่องจากสัมพันธ์กับควาวมเชื่อเรื่องการนับถือผีบรรพบุรุษ โดยตามวัฒนธรรมชาวมอญนั้นนิยมปลูกเรือนที่มีใต้ถุนสูงโล่ง ภายในบ้านมีห้องผีบรรพบุรุษ ภายในห้องผีมีเสาเอกของเรือนมอญเรียก เสาผีบรรพบุรุษ (พชระ โชติภิญโญกุล, 2554, น.30)

บ้านนครชุมน์ ประกอบด้วยจำนวนครัวเรือน 333 ครัวเรือน ประชากรรวม 1,222 คน แบ่งเป็นชาย 557 คน และหญิง 665 คน (ข้อมูลเมื่อปี พ.ศ. 2554) โดยประชากรส่วนใหญ่ในชุมชนเป็นชาวไทยเชื้อสายมอญ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนไทยเชื้อสายจีน เขมร ลาว และไทย จากการแต่งงานกับคนไทยเชื้อสายมอญ (พชระ โชติภิญโญกุล, 2554, น. 21)

ครอบครัวคนมอญนครชุมน์มีลักษณะเป็นครอบครัวขยาย เนื่องจากการประกอบอาชีพการเกษตร จำเป็นต้องใช้แรงงานในการผลิต ขณะเดียวกันก็มีการจัดระบบภายในครอบครัว ถือสายตระกูลฝ่ายชายเป็นสำคัญ โดยเมื่อแต่งงานฝ่ายหญิงจะต้องเข้ามาอยู่ในตระกูลฝ่ายชาย พ่อและแม่ฝ่ายชายจะให้อาศัยอยู่ในครอบครัวเดียวกันหรืออยู่ในบริเวณที่ดินเดียวกัน แม้บางครอบครัวหลังจากแต่งงานแล้วได้แยกไปตั้งบ้านเรือนก็จะพยายามปลูกบ้านให้ใกล้บ้านพ่อแม่ฝ่ายชายมากที่สุด (พชระ โชติภิญโญกุล, 2554, น. 31)

จีน, มอญ

ในอดีตประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร ซึ่งมีการใช้แรงงานภายในครอบครัวเป็นหลัก เนื่องจากคนมอญนครชุมน์มีความสัมพันธ์กันในลักษณะเครือญาติ ทำให้มีแรงงานและได้ผลผลิตทางเกษตรจำนวนมาก ปัจจุบันคนในหมู่บ้านยังมีการประกอบอาชีพอื่น ๆ อีก เช่น ค้าขาย อุตสาหกรรมในครัวเรือน รับจ้างทั่วไป ราชการ เนื่องจากคนในหมู่บ้านได้รับการศึกษาที่สูงขึ้นประกอบกับการเดินทางคมนาคมสะดวกเป็นผลให้แรงงานภาคการเกษตรลดน้อยลงไป เกษตรกรส่วนใหญ่จึงต้องพึ่งพิงแรงงานภายนอกครอบครัว (พชระ โชติภิญโญกุล, 2554, น. 21)

ชุมชนบ้านนครชุมน์นี้มีการจัดตั้งกลุ่มองค์กรต่าง ๆ ดังนี้

กลุ่มแม่บ้านนครชุมน์ จัดขึ้นโดยการรวมตัวของสตรีในหมู่บ้านตามนโยบายของทางการเพื่อพัฒนาอาชีพให้กับคนในชุมชน เช่น การทำสินค้าแปรรูป การฝึกหัดทำแชมพู โดยมีนางบุษบา บุญนพ เป็นหัวหน้ากลุ่ม

กลุ่มสืบสานวัฒนธรรม-ธรรมชาติบ้านนครชุมน์ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2536 เพื่อรวมกลุ่มชาวบ้านที่สนใจการทำนุบำรุงศาสนา วัฒนธรรมและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของชุมชน เช่น การจัดกิจกรรมแข่งขันสวดมนต์ภาษาบาลีสำเนียงมอญ โดยใช้บทสวดสรรเสริญคุณพระธรรม (เอวอง) และบทสวดมนต์ทำวัตรเช้าเป็นบทในการแข่งขัน โดยมีนางประไพ บุญนพ เป็นประธานกลุ่ม

กลุ่มอนุรักษ์วัฒนธรรมมอญนครชุมน์ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2553 โดยมีนายคมสรร จับจุปราชญ์ เป็นประธานกลุ่ม มีสมาชิกรวม 39 คน ประกอบไปด้วยชาวบ้านทั้งสามหมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 4, 5 และ 6 ปัจจุบันกลุ่มอนุรักษ์วัฒนธรรมมอญนครชุมน์ได้รับการรับรองจากทางราชการ โดยมีคณะกรรมการที่ปรึกษาประกอบด้วยหัวหน้าส่วนราชการทางอำเภอและตำบล พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ของอำเภอตำบล และปราชญ์ชาวบ้านจากในหมู่บ้านและชุมชนมอญใกล้เคียง

กลุ่มเกษตรกรทำนานครชุมน์ มีนายสามพร คำดี เป็นประธานกลุ่ม โดยมีสมาชิกจัดตั้งกลุ่มจำนวน 60 คน (พชระ โชติภิญโญกุล, 2554, น. 36-37)

ประเพณีในรอบปีชาวมอญบ้านนครชุมน์

เดือน 5 บุญสงกรานต์

ในวันที่ 12 ของเดือนเมษายน ชาวบ้านเตรียมเครื่องใช้และอาหารสำหรับวันสงกรานต์ ผู้หญิงจะทำกับข้าวเตรียมไว้สำหรับวันที่ 13 และ 14 เพื่อใช้ในพิธีข้าวแช่ หรือ "เปิงด้าจ์ก" ในภาษามอญ ซึ่งแปลว่า ข้าวน้ำ ส่วนฝ่ายชายช่วยกันสร้าง บ้านสงกรานต์ เป็นศาลที่ใช้บูชานางสงกรานต์ไว้ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของบ้าน นำดอกไม้มาประดับ วันรุ่งขึ้นชาวบ้านตื่นตั้งแต่เช้ามืดเพื่อทำข้าวแช่ หลังจากนั้นสมาชิกทุกคนนำดอกไม้ธูปเทียนไปบูชาที่บ้านสงกรานต์ จากนั้นสมาชิกในครอบครัวแยกย้ายกันไปส่งข้าวแช่ที่วัดใหญ่นครชุมน์เป็นวัดแรก ตามด้วยวัดในละแวกใกล้เคียง หลังจากนั้นจึงมารับประทานข้าวแช่ร่วมกันที่บ้าน ในวันที่ 13 ช่วงเช้าทางวัดจะจัดขบวนนางสงกรานต์อย่างสวยงาม มีขบวนแห่ปลา มีการปล่อยปลาทำทานในวันสงกรานต์ ส่วนในวันที่ 14 นั้น ชาวมอญนครชุมน์ถือว่าเป็นวันที่ยังสามารถส่งข้าวแช่ได้อีก 1 วัน แต่ไม่คึกคักเท่าวันที่ 13 (พชระ โชติภิญโญกุล, 2554, น. 57-58)

เดือน 8 หล่อเทียนพรรษา, บุญสลากภัต, อาสาฬบูชาและเข้าพรรษา

งานบุญช่วงเทศกาลเข้าพรรษา จัดงาน 3 วัน คือ วันก่อนวันอาสาฬบูชา (ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 8) ตอนเช้า ชาวบ้านร่วมกันตักบาตรทำบุญที่วัด หลังจากตักบาตรเสร็จจึงหล่อเทียน

วันอาสาฬบูชา ตอนเช้าทำบุญตักบาตร ส่วนช่วงสายจนถึงเพลร่วมกันทำบุญสลากภัต

วันเข้าพรรษา แรม 1 ค่ำเดือน 8 วันนี้ชาวบ้านจะไม่มีการตักบาตรเช้าที่วัด แต่จะร่วมกันถวายภัตตาหารเพล โดยพระสงฆ์จากวัดมอญอีก 8 วัด (รวมกับวัดใหญ่นครชุมน์เป็น 9 วัด) ที่อยู่ละแวกนั้นจะมารวมกันในวันเข้าพรรษาที่หอฉันวัดใหญ่นครชุมน์ (พชระ โชติภิญโญกุล, 2554, น. 59)

เดือน 8 ฑุคตะทาน (ปีที่มีเดือน 8 สองครั้ง)

พิธีนี้มักกระทำทุก 4 ปี วัดเป็นผู้กำหนดวันจัดพิธีขึ้นในช่วงเดือนสิบถึงสิบเอ็ด คนมอญเชื่อว่าพิธีฑุคตะทานมีประวัติมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล พิธีนี้ถูกจัดขึ้นเพื่อให้คนจนมีโอกาสทำบุญ แต่ปัจจุบันพิธีฑุคตะทานเป็นพิธีเพื่อให้ชาวบ้านทุกคนมีโอกาสนิมนต์พระไปที่บ้าน เมื่อวัดประกาศจัดงาน ชาวบ้านที่ต้องการนิมนต์พระไปที่บ้านก็จะเขียนชื่อตนเองใส่กระดาษแล้วนำไปที่วัด เมื่อทราบจำนวนแน่ชัดพระจะติดต่อไปยังวัดใกล้เคียง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัดมอญมาร่วมในวันประกอบพิธี เมื่อถึงวันงานพระทุกรูปจับสลากชื่อชาวบ้าน เมื่อเป็นชื่อใครคนนั้นก็จะทำการนิมนต์พระรูปนั้นไปที่บ้านของตนเพื่อเลี้ยงเพล (พชระ โชติภิญโญกุล, 2554, น. 60)

เดือน 10 ตักบาตรน้ำผึ้ง

เมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 มีการตักบาตรน้ำผึ้งและน้ำตาลทราย คือ การนำน้ำผึ้งพร้อมทั้งอาหารและข้าวต้มมัดไต้หรือข้าวต้มลูกโยนไปใส่บาตร (พชระ โชติภิญโญกุล, 2554, น. 61)

เดือน 11 ออกพรรษา

ตอนเช้าของวันออกพรรษา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หลังจากประกอบพิธีทำบุญตอนเช้า พระจากวัดต่าง ๆ จำนวน 9 วัด ที่เป็นวัดมอญในลุ่มแม่น้ำแม่กลอง อำเภอบ้านโป่ง จะมาพร้อมกันที่วัดใหญ่นครชุมน์ เพื่อร่วมพิธีตักบาตรแถว คือ ให้พระสงฆ์ถือบาตรพร้อมกับสะพายย่ามเดินไปจนถึงสุดเขตของบริเวณวัด เพื่อให้ชาวบ้านทำบุญตักบาตร เมื่อเสร็จจากการบิณฑบาตรพระจะเข้าไปประกอบพิธีที่ศาลาการเปรียญ ก่อนที่ชาวบ้านจะประเคนอาหาร สวดมนต์ ช่วยกันเก็บดอกบัวให้ครบพันดอก ตกแต่งศาลาการเปรียญให้สวยงามด้วยพวงมะหดและผ้าเทศก์มหาชาติ เพื่อจัดพิธีเทศน์มหาชาติในช่วงบ่ายและเย็น นอกจากนี้ในวันออกพรรษายังมีการแข่งเรือยาวในแม่น้ำแม่กลองอีกด้วย (พชระ โชติภิญโญกุล, 2554, น. 61-62)

เดือน 3 ประเพณีจองโอะห์ตาน

ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนสามหรือวันมาฆบูชา คือ ประเพณีส่งฟืนหรือที่ชาวมอญเรียกว่า “ประเพณีจองโอะห์ต่าน” ก่อนวันมาฆบูชา 1-2 วันจะมีการเตรียมโอะห์ต่าน แต่ละบ้านจะช่วยกันตัดไม้กระถินที่มีขนาดพองาม ปอกเปลือกและลอกให้เกลี้ยง แล้วทาด้วยน้ำมันมะพร้าวผสมผงขมิ้นเพื่อเพิ่มสีสันให้สวยงาม บ้างก็ทาปูนแดงหลังจากนั้นจึงนำไปผึ่งแดด ก่อนนำมามัดรวมกันมัดละ 5-10 ท่อนตกแต่งด้วยดอกไม้ตามฤดูกาล ซึ่งหากเป็นสมัยก่อนนิยมใช้ดอกของต้นยางป่า พร้อมด้วยธูปเทียนเป็นเครื่องบูชา

ในวันก่อนวันมาฆบูชา ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 3 ชาวบ้านพากันหลามข้าวหลามเพื่อใช้เป็นอาหารในการประกอบพิธีวันมาฆบูชา ตอนเย็นร่วมกันแบกโอะห์ต่านร่วมทำบุญกันที่วัด ชาวบ้านร่วมเดินบูชาโอะห์ต่าน 3 รอบ ก่อนนำวางพิงหลักไว้แล้วพนมมือไหว้บูชาเป็นอันจบพิธีช่วงวันสุกดิบ

หลังจากนั้นช่วงเวลาเช้ามืดชาวบ้านช่วยกันเผาโอะห์ต่านจนไฟลุกสว่าง พร้อมกันนั้นจัดเตรียมถวายอาหารแด่พระสงฆ์ เมื่อเปลวไฟใกล้มอดนิมนต์พระสงฆ์ลงจากวัดมานั่งอาสนะรอบกองไฟ ตัวแทนชาวบ้านอาราธนาศีลห้า ชาวบ้านถวายข้าวต้มและข้าวหลาม เมื่อฉันอาหารเสร็จพระสงฆ์ให้พรชาวบ้านก่อนกลับขึ้นวัด จากนั้นชาวบ้านรับประทานอาหารร่วมกันแผ่ส่วนบุญส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับ (พชระ โชติภิญโญกุล, 2554, น. 63-65)

นอกจากนี้ยังมีการจัดงานบวชนาค ซึ่งในชุมชนนครชุมน์นิยมจัดงานสองวัน คือวันก่อนวันบวช เรียกว่า วันสุกดิบใหญ่ และวันบวช สำหรับวันสุกดิบน้อยหรือวันก่อนวันบวช 2 วันนั้น เป็นวันเตรียมงานของเจ้าภาพ

นอกจากนี้ชาวไทยเชื้อสายมอญยังมีความเชื่อเกี่ยวกับผีบรรพบุรุษและผีประจำตระกูล เช่น ผีงู เต่า ไก่ ข้าวสาร ซึ่งความเชื่อต่าง ๆ ปรากฏในพิธีกรรม ดังนี้

การเลี้ยงผีบรรพบุรุษ ชาวมอญนครชุมน์ให้ความสำคัญกับพิธีนี้เป็นอย่างมาก โดยส่วนใหญ่ทำปีละ 3-4 ครั้ง ตามแต่ที่เคยปฏิบัติสืบต่อกันมา จัดพิธีขึ้นในเดือนคู่ นิยมเลี้ยงระหว่างเดือน 4 หรือเดือน 6 แต่ต้องไม่ตรงกับวันพระหรือวันเสาร์ หากเคยประกอบพิธีในเดือนใดก็จะทำในเดือนนั้นตลอด ซึ่งส่วนใหญ่โต้งเป็นผู้กำหนดวันประกอบพิธี ยกเว้นหากมีเหตุผู้หญิงในตระกูลตั้งครรภ์หรือมีคนในตระกูลเสียชีวิต จะห้ามตระกูลนั้นจัดพิธีเลี้ยงผีโดยเด็ดขาดและต้องให้ผ่านไปครบปีก่อนถึงจะประกอบพิธีได้

พิธีรำผี เป็นพิธีเกี่ยวกับการขอขมาลาโทษกับผีบรรพบุรุษหลังเกิดเหตุการณ์ไม่ดีขึ้นกับคนในตระกูล หรือทำผิดข้อห้ามของตระกูลหรือที่เรียกว่า “ผิดผี” เช่น การเจ็บป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ หญิงตั้งครรภ์พิงเสาบ้านหรือในพิธีเลี้ยงผีเมื่อโต้ง (ผู้ประกอบพิธี) มีการตรวจพบว่าผ้าผีในหีบมีตำหนิ เช่น มีรอยขาด รอยเปื้อนคล้ายเลือดหรือมีเศษหญ้า เจ้าบ้านจึงต้องจัดพิธีรำผีเพื่อเป็นการขอขมาและทำให้ผีประจำตระกูลพอใจ

การรับผี การสืบทอดผีบรรพรุษ โดยการสืบทอดมีเฉพาะบุตรชายคนโตของตระกูลในแต่ละรุ่น เรียกว่า “ต้นผี” เป็นผู้สืบทอดหรือเป็นผู้รับผี แต่หากไม่มีลูกชายคนโตจะให้น้องชายคนถัดไป หรือถ้าไม่มีลูกชายเลยก็จะให้ลูกชายคนโตของน้องชายพ่อเป็นคนรับแทน หากสายตระกูลใดไม่มีลูกชายก็ถือว่าหมดผีตระกูล ถึงกับต้องถอนเสาเอกหรือเสาผีไปถวายวัด แล้วแต่วัดจะนำไปใช้ในกิจใด “ต้นผี” มีบทบาทต้องประกอบพิธีเกี่ยวกับผีบ้านทุกอย่าง เช่น พิธีเลี้ยงผีและรำผี นอกจากนั้นยังทำหน้าที่ดูแลปกครองกลุ่มเครือญาติในสายตระกูลเดียวกันไม่ให้ฝ่าฝืนข้อห้ามข้อปฏิบัติ 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนวัฒนธรรม

สถานที่สำคัญ

วัดใหญ่นครชุมน์ เดิมเรียกว่า วัดนครชุมน์ ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 เป็นศูนย์รวมจิตใจของหมู่บ้าน บริเวณด้านหน้าวัดมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่คนในชุมชนนับถือ คือ วิหารปากี ตามความเชื่อของคนในชุมชน ฐานของวิหารปากีเดิมเป็นฐานอิฐที่บรรพบุรุษตั้งใจจำลองพระธาตุมาเตา เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ทางใจของชาวมอญที่อพยพมา ซึ่งวัดนครชุมน์เป็นศูนย์กลางของการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา (พชระ โชติภิญโญกุล, 2554, น. 22)

นอกจากยังพบสำนักปฏิบัติธรรมศานตินันทวัน ที่เกิดขึ้นโดยผู้ร่วมก่อตั้ง 3 ท่าน คือ ยายชีถนอม เสลานนท์ คุณยายชีทองเจือ แสงมณี และคุณยายเชียง เสลานนท์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2514 เพื่อให้เป็นที่พึ่งของสตรีทั้งหลายและเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม (พชระ โชติภิญโญกุล, 2554, น. 52)

ศาลเจ้าพ่อช้างพัน (ฮ๊อยปะจุ๊เจินงิ่ม) เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้านนครชุมน์ ตั้งอยู่บริเวณกลางหมู่บ้าน ตรงดินบริเวณศาลเป็นเนินดินเตี้ยๆ มีต้นพิกุล ต้นมะขาม และจอมปลวกขนาดใหญ่เล่าต่อกันมาว่า ศาลเจ้าพ่อช้างพันเป็นศาลเจ้าโบราณ ภายในมีดาบและหมวกทหารโบราณ งาช้าง เครื่องดนตรี ที่มีคนมาถวายให้กับเจ้าพ่อ บริเวณโดยรอบศาลมีศาลเจ้าเล็ก ๆ เป็นศาลเจ้าจีน (ปาโหน่กปังกุง) และศาลเจ้าของไทย (ปะจ๊ะอะเลอะห์ปอง) รายล้อมอยู่ เป็นที่รับรู้ถึงความศักดิ์สิทธิ์ที่ดลบันดาลให้ผู้ที่มาบนบานสานกล่าวประสบผลสำเร็จ นอกจากนี้ศาลเจ้าพ่อช้างพันยังมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับพิธีกรรมบวชนาคมอญ ที่ต้องมากราบไหว้เคารพเจ้าพ่อช้างพันไม่กระทำมิได้ และทุก ๆ เดือน 4 ภายหลังเสร็จสิ้นบุญสงกรานต์แล้ว ชาวบ้านจะมีการทำบุญประจำปี คนในหมู่บ้านที่นับถือจะมาทำพิธีไหว้ขอขมาและขอบคุณเจ้าพ่อช้างพันและศาลเจ้าไทย ศาลเจ้าจีน ซึ่งกระทำ 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นงานรวมร่างทรงและลูกศิษย์ที่นับถือเจ้าพ่อ เรียกว่า “เต็ดประจุ๊” และครั้งที่ 2 เป็นการทำบุญทางพุทธศาสนา เรียกว่า “ทำบุญกลางบ้าน” หรือ “ทำบุญประจำปีศาลเจ้าพ่อช้างพัน” (พชระ โชติภิญโญกุล, 2554, น. 52-54)

ศาลเจ้าที่หมู่ 5 (ปะจุ๊เกาะเกริง) เป็นศาลเจ้าที่คนในชุมชนหมู่ 5 ให้ความเคารพ มีงานต่าง ๆ เช่น งานบวชนาคที่อาศัยอยู่ในหมู่ 5 ต้องไปเคารพกราบไหว้บอกกล่าว

การแต่งกาย

ชาย สวมเสื้อเชิ้ตแขนสั้นหรือแขนยาว หรือเสื้อที่ใส่สบายไม่จำกัดสี นิยมนุ่งโสร่งลายตารางไม่ได้จำกัดสีหรือลายที่เป็นแบบแผน มีผ้าขาวม้าพาดบ่า ถ้าเป็นงานมงคลมักสวมเสื้อสีอ่อน สำหรับงานอวมงคลสวมสีดำหรือสีเข้ม

หญิง ส่วนใหญ่สวมเสื้อเชิ้ตแขนสั้น ไม่จำกัดสีแบบ บางครั้งสวมเสื้อยืด นุ่งผ้าถุงไม่จำกัดแบบและลาย แต่มีสีและลายที่ดูสุภาพ ผาดผ้าพาดบ่าสีขาว บ้างก็เป็นลูกไม้หรือผ้าถักตามความชอบของแต่ละคน

อย่างไรก็ตามหากไม่มีงานสำคัญชาวมอญนครชุมน์ก็แต่งตัวตามปกติเหมือนคนไทยในปัจจุบัน

ในปัจจุบันภาษามอญยังคงมีการใช้พูดคุยสื่อสารกันในคนช่วงวันกลางคนขึ้นไป ส่วนในกลุ่มวัยรุ่นและเด็กเล็กมีจำนวนน้อยมากที่สามารถใช้ภาษามอญสื่อสารได้ ภาษามอญนั้นพบในบทสวดภาษามอญของพระบวชใหม่ ซึ่งเป็นการสะกดด้วยรูปภาษาไทยแต่ออกเสียงเป็นภาษามอญ การใช้ภาษามอญในชีวิตประจำวันพบว่ามีการใช้ภาษาไทยปะปนเพื่อความสะดวกต่อการสื่อสารกับเด็กที่ไม่รู้ภาษามอญมากนัก


ในสมัยก่อนคนมอญนครชุมน์นิยมส่งบุตรหลานที่เป็นผู้ชายเข้าไปเป็นลูกศิษย์วัดและบวชเรียน โดยมีเหตุผลสำคัญสองประการ ประการแรก เพื่อให้เด็กได้เล่าเรียนเขียนอ่านได้ เนื่องจากในสมัยก่อนนั้นไม่มีการเรียนการสอนที่เป็นระบบการสอนแบบสามัญที่เป็นโรงเรียนอย่างในปัจจุบัน ดังนั้นการอ่านเขียนจึงต้องอาศัยเรียนกับพระสงฆ์ที่วัด ประการที่สอง การเรียนหนังสือจากการได้บวชเรียนตามความเชื่อทางพระพุทธศาสนาเป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้ผู้บวชเรียนได้รู้หนังสือทั้งยังถือว่าการบวชเป็นบุญอานิสงค์อย่างมาก

ในปัจจุบัน รัฐบาลได้กำหนดการศึกษาขั้นพื้นฐาน เด็กทุกคนต้องจบการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.3) ทำให้คนในบ้านนครชุมน์ไม่ได้ส่งลูกหลานของตนเองไปเป็นลูกศิษย์วัดเหมือนเช่นในอดีต แต่กลับนิยมส่งลูกหลานไปเข้าโรงเรียนตามระบบการศึกษาภาครัฐ ทั้งในตัวบ้านนครชุมน์เองและอำเภอบ้านโป่ง รวมถึงโรงเรียนมีชื่อเสียงในจังหวัดใกล้เคียงอย่างกาญจนบุรีและนครปฐมอีกด้วย ค่านิยมดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่กี่สิบปีที่ผ่านมาอาจจะเนื่องมาจากมีระบบเส้นทางการคมนาคมทางบกที่สะดวกสบายกว่าแต่ก่อน

โรงเรียนวัดใหญ่ (บุญเอี่ยมอนุเคราะห์ ) ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 บ้านนครชุมน์ ซึ่งมีอายุเก่าแก่มาประมาณ 100 ปี เป็นโรงเรียนที่เกิดขึ้นตามตัวบทกฎหมายของทางราชการ ในอดีตโรงเรียนแห่งนี้เป็นสถานที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้แก่คนในชุมชนทั้งในหมู่บ้านนครชุมน์และหมู่บ้านใกล้เคียงด้วยกัน ปัจจุบันโรงเรียนเปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียน ด้วยขณะนี้โรงเรียนแห่งนี้ประสบปัญหาเกี่ยวกับระบบการเรียนการสอนตั้งแต่เมื่อปลายปี พ.ศ. 2554 ชาวบ้านขาดความเชื่อมั่นในครูผู้สอน ต่างพาบุตรหลานของตนไปเข้าเรียนในโรงเรียนอื่น จึงส่งผลให้มีแนวโน้มต้องปิดโรงเรียน ชาวชุมชนชาวบ้านนครชุมน์จึงร่วมกันต่อสู้เพื่อให้โรงเรียนได้อยู่ต่อไปเพื่อเด็กและเยาวชนผู้ด้อยโอกาส อีกทั้งโรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนของรัฐซึ่งมีขนาดเล็ก ทำให้โรงเรียนยังขาดงบประมาณในการสนับสนุน ในด้านการเรียนการสอนที่จำเป็น ปัจจุบันโรงเรียนวัดใหญ่ยังคงเปิดทำการเรียนการสอนตามปกติแต่จำนวนเด็กมีน้อยลงไปเรื่อย ๆ ตามความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและค่านิยมในการส่งบุตรหลานไปเล่าเรียนในสถานศึกษาที่มีชื่อเสียงในตัวอำเภอและจังหวัด เพื่อให้เกิดความทัดเทียมและแสดงถึงฐานะทางครอบครัวของผู้ที่ส่งบุตรหลานไปเรียนในสถานศึกษาที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย (พชระ โชติภิญโญกุล, 2554, น. 34-35)

บวชนาคมอญบ้านนครชุมน์

โดยมีขั้นคร่าว ๆ หลักดังนี้ (รายละเอียดของพิธีบวชนาคสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ (พชระ โชติภิญโญกุล, 2554, น. 85-109))

การเตรียมงานก่อนถึงวันบวช

ในการเตรียมงานล่วงหน้า เครือญาติของนาคจะวางแผนในการเตรียมงานทั้งหมด คือ เริ่มจากการกำหนดวันที่จะบวช ซึ่งคนมอญนครชุมน์ส่วนใหญ่นิยมบวชจัดงานบวชกันในช่วงเดือน มีนาคม-พฤษภาคม ซึ่งจะไม่เกินช่วงวันเข้าพรรษา และนิยมบวชก่อนเข้าก่อนสงกรานต์เนื่องจากมีความเชื่อว่า หากบวชเป็นพระและปฏิบัติกิจสงฆ์ในช่วงสงกรานต์แล้ว ผู้บวชและครอบครัว รวมถึงบรรพบุรุษจะได้รับอานิสงส์และบุญมาก เพราะ “ในช่วงสงกรานต์ชาวมอญบ้านนครชุมน์มีประเพณีบุญข้าวแช่และบังสุกุลบรรพบุรุษ หากลูกหลานอยู่บวชผลบุญก็จะส่งมายังบรรพบุรุษ" นอกจากกำหนดวันที่จะบวชแล้ว เจ้าภาพงานบวชจะมีการจัดพิมพ์การ์ดเชิญคนในหมู่บ้านและคนรู้จักมาร่วมงาน บอกกล่าวญาติและคนที่รู้จักให้มาช่วยงาน รวมไปถึงการทาบทามเด็กสาวในหมู่บ้านให้มาแต่งตัวร่วมขบวนแห่ในวันสุกดิบ คนมอญนครชุมน์ เรียกว่า “การจองสาวอุ้มต้นเทียน”

ในงานบวชของบ้านนครชุมน์นี้ ส่วนใหญ่เจ้าภาพที่เป็นญาติผู้ใหญ่ของนาคจะสนับสนุนให้ลูกหลานแห่นาคในวันสุกดิบ เพราะในวันนี้นาคมอญจะมีการแต่งตัวสวยงาม และมีการจัดขบวนแห่ที่สนุกสนาน นอกจากนี้หากครอบครัวใดที่มีลูกหลานยังมีอายุไม่ถึง 20 ปี ซึ่งไม่สามารถบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ได้ก็จะนิยมให้ลูกหลานบวชเป็นเณรร่วมกับครอบครัวที่จะจัดงานบวชนาคนั้นด้วย เรียกว่า “หางนาค”

ผู้ที่จะบวชพระและเณร มักจะไปนอนที่วัดอย่างน้อย 1 สัปดาห์ (ปัจจุบันไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์) เพื่อฝึกสวดมนต์และท่องคาขอบวช ในสมัยก่อนจะต้องไปอยู่เกือบเดือนเพื่อไปเป็นลูกศิษย์วัดรับใช้พระก่อน สำหรับผู้ที่จะบวชเป็นพระก็มีการเตรียมตัว เช่น ตัดผมทรงดอกกระทุ่ม บ้างก็เรียกว่าทรงอเมริกัน หรือทรงรองทรงสูงที่เป็นที่รู้จักกันในปัจจุบัน และต้องรักษาเนื้อตัวให้ปลอดภัยจากอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้น

วันสุกดิบน้อย คนมอญนครชุมน์จะเรียกวันก่อนถึงวันที่นาคจะเข้าโบสถ์ หรือวันบวช 2 วัน ว่า “วันสุกดิบน้อย” ในวันนี้เป็นวันที่ผู้คนในหมู่บ้านจะมาช่วยกันเตรียมงานต่าง ๆ ผู้ชายจะถูกให้ไปเตรียมสถานที่ที่ใช้จัดงาน ส่วนผู้หญิงทำอาหารเลี้ยงคนที่มาช่วยงาน ในวันนี้ญาติผู้ใหญ่บางครอบครัวก็จะพานาคและหางนาคไปขอขมาญาติผู้ใหญ่ที่อยู่ต่างหมู่บ้าน ในคืนวันสุกดิบน้อยนี้ หลังจากเตรียมสถานที่เสร็จเรียบร้อยแล้ว ทางเจ้าภาพก็มักจะหาการละเล่นที่ก่อให้เกิดความสนุกสนานรื่นเริงและเป็นการผ่อนคลายหลังจากเตรียมสถานที่เสร็จเรียบร้อย

วันสุกดิบใหญ่ คือ วันก่อนวันบวช 1 วัน ตอนเช้าผู้ใหญ่ที่มีความสามารถในการทำบายศรี งานดอกไม้ และงานใบตองจะมารวมตัวกันทำบายศรี ซองใส่ดอกรัก ซองใส่ธูป เทียนหมากพลู และกระทงใส่ดอกรัก และในช่วงเช้าของวันนี้มีพิธีพานาคและหางนาคไปขอขมาเจ้าที่ หลังจากนั้นบอกกล่าวผีบรรพบุรุษในห้องผีบนบ้าน ซึ่งนาคกับหางนาคจะแยกทำพิธี โดยเจ้าพิธีจะทำให้นาคก่อน หลังจากทำพิธีขอมาและบอกกล่าวบรรพบุรุษทั้งของนาคและหางนาคเสร็จเรียบร้อยแล้ว หากมีศาลเจ้าที่ในหมู่บ้านที่เคารพนับถือ เจ้าพิธีก็จะพานาคและหางนาคไปไหว้ขอขมาด้วย หลังจากนั้นถวายเพลภัตาหารพระสงฆ์

ในช่วงเวลาบ่าย นาคและหางนาคจะแต่งตัวเป็น “ชุดแห่นาค” คือ นาคและหาง นาคจะแต่งหน้าทาปาก ปัดแก้มสีชมพู ใส่ตุ่มหู ใส่สร้อย ใส่แหวน มีดอกไม้กระดาษสีชมพูทัดหู ห่มสไบเรียบสีชมพู เบี่ยงไปทางซ้าย มีผ้าสี่เหลี่ยมผืนผ้า ปักด้วยลูกปัดเป็นลวดลายสวยงาม และมีลูกปัดห้อยกรุยชายสวยงามทั้งผืน วางไว้บนบ่าข้างขวาของนาคและหางนาค เรียกว่า “จยาดฮะนากรับ” นุ่งผ้าจีบ หน้านางด้วยผ้าสีน้ำเงินน้ำทะเล คาดเข็มขัดทอง ใส่กำไลข้อเท้า เมื่อถึงเวลาฤกษ์ดี เริ่มเคลื่อนขบวนออกจากบ้าน มีแตรวงประกอบสร้างความสนุกสนานครื้นเครง

ลำดับการจัดขบวนเริ่มต้นด้วยพ่อของนาค หรือญาติฝ่ายชายที่เป็นคนโตของตระกูลฝั่งพ่อ ตามด้วยแม่ของนาคถือไตร จากนั้นก็เป็นญาติทั้งหมด ซึ่งอาจเรียงลำดับตามความอาวุโสก็ได้ ญาติจะถือเครื่องใช้ต่าง ๆ ของพระสงฆ์ จากนั้นก็เป็นสาว ๆ ที่แต่งตัวสวยงามถือเครื่องไทยธรรม ต่อจากนั้นจึงเป็นแขกผู้ร่วมงานซึ่งต่างพากันเต้นรำอย่างสนุกสนานอยู่ด้านหน้าแตรวง นาคจะขี่ม้า เป็นลำดับถัดมา ในกรณีมีนาคหลายคนจะเรียงลำดับนาคที่มีอายุมากไปน้อย หรือในบางครั้งเรียงจากนาคที่เป็นเจ้าภาพ แล้วจึงเป็นนาคที่ร่วมบวชด้วย

ขบวนแห่จะเคลื่อนออกจากบ้านไปยังศาลเจ้าพ่อช้างพัน เมื่อขบวนมาถึงศาลเจ้าพ่อช้างพัน นาคและหางนาคจะถูกอุ้มลงมาจากหลังม้า เพราะเชื่อว่าเท้าของนาคและหางนาคห้ามเหยียบพื้นเพราะหากเกิดบาดแผลนาคและหางนาคจะบวชไม่ได้ เจ้าพิธีจะเริ่มพิธีขอขมาและบอกกล่าวเจ้าพ่อช้างพัน เมื่อไหว้เจ้าพ่อช้างพันเสร็จ นาคและหางนาคก็จถูกอุ้มขึ้นม้า เพื่อเคลื่อนขบวนแห่ไปยังวัดใหญ่นครชุมน์ ขอขมาเจ้าอาวาส เมื่อขอขมาเสร็จเรียบร้อยแล้ว นาคและหางนาคก็จะขึ้นม้าและแห่ไปยังหน้าวิหารปากี เพื่อขึ้นไปสักการะหลวงพ่อพญาแล จากนั้นก็เคลื่อนขบวนแห่เลยไปเกือบถึงหน้าวัดตาผา แล้วจึงเคลื่อนขบวนกลับบ้านเพื่อประกอบพิธีไหว้เครื่องบวชและนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์เย็น สำหรับนาคบางรายนั้นไม่มีการจัดขบวนแห่ในวันสุกดิบ ด้วยมีเหตุผลหลายประการ เช่น ประหยัดค่าใช้จ่าย บ้างขึ้นอยู่กับความสมัครใจ

วันบวช

วันบวช เคลื่อนขบวนตั้งแต่เช้าตรู่ ขบวนแห่ออกจากบ้านซึ่งชาวมอญบ้านนครชุมน์เรียกว่า “แห่ย่ำน้ำค้าง” ในกรณีบางบ้านไม่จัดแห่ก็จะมีการตักบาตรในตอนเช้า หลังจากนั้นนาคและหางนาคจะนุ่งผ้าสีแดงเข้ม วิธีนุ่งเหมือนุ่งสบงพระ แล้วคาดเข็มขัดทองให้แน่น จากนั้นก็สวมครุยโปร่งสี ขาวลายดอกทับ มีผ้าคาดอกสีเหลืองทองคาดเฉียงไปมาคล้ายแล้วทิ้งชายทั้งสองข้างไว้ด้านหลัง แต่งหน้าสวยงาม สวมชฎา สวมสร้อย และกำไลข้อขา สำหรับหางนาค บางครั้งก็นุ่งผ้าสีเหลืองทองได้ แล้วแต่ ผ้าคาดอกก็เช่นกัน ในมือนาคและหางนาคจะถือดอกรักหนึ่งช่อ เมื่อนาคแต่งตัวเรียบร้อยแล้วก็จะเดินเท้าเปล่าจากบ้านไปตามถนนเลียบริมแม่น้ำไปจนถึงกลางสะพานข้ามแม่น้ำแม่กลองที่จะข้ามไปยังชุมชนบ้านม่วง แล้วก็แห่กลับบ้าน ในการจัดขบวนแห่ย่ำน้ำค้างนี้จะไม่ยาวเช่นขบวนแห่ในวันสุกดิบใหญ่

เมื่อถึงบ้านนาคและหางนาคจะเปลี่ยนจากชุดแห่ย่ำน้ำค้างมาเป็นชุดแห่นาค ในช่วงนี้จะนิมนต์พระมาสวดมนต์เช้า หลังจากสวดมนต์เช้าเรียบร้อย นาค หางนาค ครอบครัวนาคและผู้มาร่วมงานจะร่วมกันตักบาตรเช้า หากนาคมีคนในสายตระกูลที่เสียชีวิตไปแล้ว เช่น บิดา มารดา พี่น้องร่วมสายเลือดเดียวกัน ก็จะมีการ “ทำบุญฉลองพระ” คือการถวายพระพุทธรูปแทนตัวผู้ตายให้กับพระสงฆ์

เมื่อตักบาตรเสร็จเรียบร้อยแล้วพระสงฆ์จะให้พรและกลับวัด ในช่วงต่อจากนั้นบางบ้านจะจัดพิธีทำขวัญนาคแบบมอญ คนมอญนครชุมน์จะเรียกว่า “บะห์อะยาง” หากไม่มีพิธีทำขวัญนาค ก็จะเตรียมถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ ส่วนใหญ่แล้วจะนิยมถวายพระสงฆ์จำนวน 25 รูป

หลังจากถวายภัตตาหารเพลพระสงฆ์เรียบร้อยแล้ว ก็จะโกนผมนาคและหางนาค โดยให้ญาติผู้ใหญ่ที่อาวุโสที่สุดในตระกูลเป็นผู้ตัดผมนาคและหางนาคก่อน แล้วจึงเป็นบิดาของนาค ตามด้วยมารดา และญาติผู้ใหญ่ตามลำดับ ต่อจากนั้นก็อาบน้ำนาค การอาบน้ำนาคก็จะเรียงลำดับความอาวุโสเช่นเดียวกันกับการตัดผม

หลังจากอาบน้ำแล้วก็จะนำขมิ้นมาทาที่ศีรษะและตัวของนาคให้เหลือง จากนั้นก็จะพานาคขี่คอขึ้นไปบนบ้านเพื่อเปลี่ยนชุดเป็นชุดนุ่งขาวห่มขาว เมื่อใกล้ถึงฤกษ์บวช ก็จะจัดขบวนแห่ไปยังโบสถ์ มีรูปแบบการจัดขบวนเช่นเดียวกับ ขบวนแห่นาคในวันสุกดิบใหญ่ คนในหมู่บ้านจะให้นาคขี่คอและแห่กันไปวัด หรือบางบ้านก็ให้นาคขี่ม้าแห่ ซึ่งขบวนแห่จะใช้เส้นทาง คือถนนเลียบแม่น้ำจนถึงหน้าวัดใหญ่นครชุมน์ เจ้าพิธีจะพานาคและหางนาคไปสักการะและขอขมากับศาลเจ้าพ่อปู่ศรีวิชัย ซึ่งเชื่อว่าเป็นศาลเทพยาดาที่คอยปกปักรักษาความสงบสุขภายในบริเวณวัด เจ้าพิธีก็จะกระทำเช่นเดียวกันกับพิธีกรรมขอขมาที่ผ่านมา เพียงแต่คราวนี้ใช้ดอกรักที่ได้จัดใส่ซองใบตองไว้ไหว้ประกอบ แล้วจึงให้นาคและหางนาคยกไตรขึ้นอธิษฐาน ยกบาตรขึ้นอธิษฐาน แล้วจึงแห่ไปยังอุโบสถเพื่อทำพิธีบรรพชาและอุปสมบทตามพิธีกรรมทางศาสนา

หลังจากนาคครองเพศเป็นภิกษุและหางนาคเป็นเณรเรียบร้อยแล้ว ก่อนที่พระและเณร กำลังจะเดินไปยังกุฏินั้นญาติผู้ใหญ่ที่เป็นผู้หญิง หรือแม่ของนาคจะป้อนหมากให้พระและเณร บวชใหม่ 1 คำ เหตุที่ให้บุพการีป้อนหมากนั้นชาวมอญเชื่อว่า “หมากเปรียบเสมือนอาหารคำสุดท้ายที่จะได้กินจากผู้มีพระคุณ เมื่อบวชเป็นพระแล้วแม่ไม่สามารถป้อนอาหารให้พระได้แล้ว” ส่วนญาติคนอื่น ๆ จะพากันนาซองเงินใส่ย่ามของพระและเณร เพื่อเป็นการถวายปัจจัย พระและเณรบวชใหม่จะไม่เคี้ยวหมากในปากจนกว่าจะถึงกุฏิที่พระและเณรจำวัตร จึงเป็นอันเสร็จสิ้นพิธีบวชนาคแบบมอญ

พชระ โชติภิญโญกุล. (2554). โลกทัศน์ของชาวไทยเชื้อสายมอญที่ปรากฏในพิธีกรรมงานบวช : กรณีศึกษาบ้านนครชุมน์ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขามานุษยวิทยา, มหาวิทยาลัยศิลปากร.