ชุมชนมีดีแห่งเมืองรอยยิ้มจันทบุรี ศูนย์กลางในการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสังคมจากการเรียนรู้และพัฒนาชุดความรู้แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ด้วยการทดลองทำ จนเป็นผู้เชี่ยวชาญ และเป็นฐานเรียนรู้ให้กับเกษตรกรชาวเมืองจันท์
ในช่วงเริ่มเข้ามาก่อตั้งชุมชน ผู้คนที่ในสมัยนั้นนิยมปลูกข้าวทํานากันเป็นจํานวนมาก โดยมีลักษณะปลูกเป็นแถวยาวตามคลองน้ำ จึงเรียกกันติดปากว่า “บ้านแถวนา” จนถึงปัจจุบัน
ชุมชนมีดีแห่งเมืองรอยยิ้มจันทบุรี ศูนย์กลางในการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสังคมจากการเรียนรู้และพัฒนาชุดความรู้แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ด้วยการทดลองทำ จนเป็นผู้เชี่ยวชาญ และเป็นฐานเรียนรู้ให้กับเกษตรกรชาวเมืองจันท์
บ้านแถวนาเป็นในอดีตนับว่าเป็นชุมชนที่มีความอุดมสมบูรณ์ การที่ชุมชนเป็นพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งป่าเบญจพรรณและป่าชายเลน จึงเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและอาหารของสัตว์นานาชนิด ได้แก่ ช้างป่า เสือโคร่ง เสือปลา เสือ แปลง นากทะเล จระเข้น้ำเค็ม ลิงแสม (ปัจจุบันสัตว์เหล่านี้สูญพันธ์ไปจากพื้นที่หมดแล้ว) นอกจากนี้ยังมีสัตว์ปีกและสัตว์เลื้อยคลานอีกหลายชนิดซึ่งมีหลักฐานการอ้างอิงจากการพบเห็นว่าสัตว์ป่าดังกล่าวเคยอาศัยอยู่บริเวณนี้ หลักฐานอ้างอิงที่ทําให้เชื่อถือได้ว่าเป็นป่าแห่งนี้เคยเป็นที่อยู่อาศัยของช้างป่า คือ แอ่งดินที่ช้างป่ามานอนรวมกันและเกลือกกลิ้ง เมื่อมีฝนตกก็จะมีน้ำขังในแอ่งดิน กินและนอนเล่นจนมีขนาดกว้างและลึกมากขึ้น มีปรากฏทั่วไปในพื้นที่ จํานวน 9 แห่ง ชาวบ้านเรียกว่า “สระ” ต่อมาชาวบ้านได้ใช้จํานวนสระมากตั้งเป็นชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านบางสระเก้า ผู้ที่เข้ามาสร้างถิ่นฐานเป็นชนกลุ่มแรกสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นชาวชองจากตําบลบางกระจะ จังหวัดจันทบุรี ซึ่งขยายพื้นที่ทํามาหากิน และติดต่อค้าขายกับชาวจีน ชาวญวน และคนไทยจากภาคใต้ โดยอาศัยการเดินทางด้วยเรือ พื้นที่ตําบลบางสระเก้า มีทําเลเหมาะสมที่จะใช้เป็นที่พักแรมหลบมรสุม จึงมาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณนี้
ก่อนที่ชาวบ้านจะมาตั้งรกรากในถิ่นฐานบ้านเรือนจนเป็นบ้านแถวนาในปัจจุบัน พื้นที่แห่งนี้เดิมทีเคยเป็นที่เนินและที่ราบลุ่มตั้งอยู่แถบชายทะเล มีลําคลองไหลผ่าน ลำคลองสายนี้แบ่งแยกพื้นที่ระหว่างป่าไม้เบญจพรรณ และป่าชายเลน จากคำบอกเล่าของชาวบ้านในพื้นที่ถึงประวัติความเป็นมาของชุมชนนั้น ชาวบ้านกล่าว่า สมัยก่อนบริเวณหมู่บ้านเป็นที่เนินและมีคลองน้ำจืดไหลผ่าน คนในช่วงเริ่มเข้ามาก่อตั้งชุมชนนิยมปลูกข้าวทํานากันเป็นจํานวนมาก และเนื่องจากพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีการปลูกข้าวเป็นแถวยาวตามคลองน้ำ จึงเรียกกันติดปากว่าบ้านแถวนา จนมีการตั้งชื่อหมู่บ้านแถวนามาจนถึงปัจจุบัน
ชุมชนบ้านแถวนา หมู่ที่ 5 ตําบลบางสระเก้า เป็นชุมชนเกษตรกรรมขนาดเล็ก มีพื้นที่เชื่อมระหว่างปากแม่น้ำและทะเลป่าชายเลน มีความอุดมสมบูรณ์หลายด้านจนได้ชื่อว่า “3 น้ำ 9 นา” (3 น้ำ คือ น้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย และ 9 นา คือ นาข้าว นากก นาปอ นาบัว นาถั่ว นาข้าวโพด นามะพร้าว นามะนาว และนากุ้ง) มีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชายฝั่งที่อุดมสมบูรณ์มาแต่อดีต บริเวณชุมชนมีแม่น้ำไหลผ่านเป็นแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์ ทรัพยากรสัตว์ป่านานาพันธุ์ อาทิ เหยี่ยวแดง ซึ่งภายหลังได้กลายเป็นทรัพยากรการท่องเที่ยว กิจกรรมการชมเหยี่ยวแดงที่ชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างขึ้น นอกจากนี้บ้านแถวนายังมีความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งสอดคล้องสัมพันธ์กับวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพของชาวบ้านแถวนา ที่มีความเป็นอยู่ด้วยการอาศัยและพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
สถิติประชากรองค์การบริหารส่วนตำบลบางสระเก้าแบบแยกรายหมู่บ้าน รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 5 บ้านแถวนาทั้งสิ้น 354 คน แยกเป็นประชากรชาย 150 คน และประชากรหญิง 204 คน 107 ครัวเรือน
กลุ่มเครือญาติของชุมชนบ้านแถวนาส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ตําบลบางสระเก้า และมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติค่อนข้างสูง และให้ความสําคัญกับการเคารพนับถือผู้อาวุโส โดยถือว่าเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในตําบล ซึ่งเป็นทุนทางสังคมของชุมชนที่มีมาช้านาน สร้างจิตสํานึกที่ดีงามจากรุ่นสู่รุ่นเรื่อยมา
ด้านลักษณะครอบครัวมี 2 ลักษณะ คือ ครอบครัวเดี่ยวและครอบครัวขยาย แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นครอบครัวขยายซึ่งเป็นครอบครัวขนาดใหญ่ที่มีสมาชิกตั้งแต่ผู้สูงอายุ ได้แก่ ปู่ ย่า ตา ยาย ผู้ใหญ่วัยกลางคน ได้แก่ พ่อ แม่ ลุง ป้า นา อา และวัยเด็ก ทั้งนี้ ครอบครัวขยายก็จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทด้วยกัน คือ ประเภทที่อาศัยอยู่ร่วมกันในบ้านใหญ่หลังเดียว และประเภทที่อยู่บ้านคนละหลัง แต่ก็ยังคงอยู่ในพื้นที่บริเวณเดียวกัน ซึ่งทําให้ความสัมพันธ์มีความเกี่ยวข้องกันตลอดเวลา เช่น การออกไปทํางานร่วมกัน และการทําอาหารการร่วมกัน เป็นต้น ซึ่งสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนมากที่สุด คือ ภาพความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวช่วงเช้าหรือช่วงหัวค่ำของทุก ๆ วัน ทุกคนในครอบครัวจะรวมตัวกันบริเวณใต้ถุนบ้านหรือลานที่ทําขึ้นภายในบริเวณบ้าน ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางในการพบปะกินข้าวและทํากิจกรรมร่วมกันของญาติพี่น้องภายในชุมชน
ชาวชุมชนบ้านแถวนาส่วนใหญ่ประกอบอาชีพหัตกรรมและเกษตรกรรม เช่น ทอเสื่อกก ทํานา ปลูกกก ปลูกปอ เลี้ยงปลา และประมงชายฝั่ง โดยมีรายได้หลักมาจากการทอเสื่อกก นอกจากนี้ยังมีการแปรรูปอาหารจากสัตว์น้ำที่หาได้ในชุมชน เนื่องจากบ้านแถวนาเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำลําคลองไม่ห่างไกลตากทะเลนัก บริเวณรอบชุมชนจึงมีสัตว์น้ำนานาชนิดทั้ง กุ้ง หอย ปู ปลา หอยนางรม และแมงกะพรุน ซึ่งถือได้ว่าเป็นแหล่งอาหารและแหล่งรายได้ที่สำคัญของชุมชน แต่พื้นฐานแล้วจะจับเพื่อบริโภคโภค เมื่อเพียงพอและเหลือจากการบริโภคแล้ว จะนํามาแปรรูปไว้เป็นอาหารแห้ง เช่น กุ้งแห้ง ปลาเค็ม กะปิ น้ำปลา เพื่อนําไปขายที่ตลาดเพื่อเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง โดยประเภทการถนอมอาหารเหล่านี้จะมีการเปลี่ยนแปลงตามช่วงเวลาของเดือน เพราะต้องขึ้นอยู่กับวัตถุดินในแม่น้ำที่พอจะหาได้ของแต่ละเดือน
สำหรับการทำเกษตรกรรมทำนา ชาวบ้านจะใช้วิธีการยกคันดินกั้นบริเวณที่เป็นทุ่งดอนไว้เพื่อไม่ให้น้ำเค็มไหลเข้ามา พื้นที่เหล่านั้นสามารถใช้ปลูกข้าวได้ โดยอาศัยน้ำฝนที่ตกตามธรรมชาติ ภายหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต ชาวบ้านจะเก็บไว้บริโภคส่วนหนึ่ง และส่วนหนึ่งก็จะขายหรือแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องใช้สอยต่าง ๆ เนื่องจากพื้นที่ติดทะเล การทํานาข้าวจึงทําได้เพียงปีละ 1 ครั้ง ยามว่างจากฤดูกาลทํานาชาวบ้านก็จะหันมาเย็บใบจาก ทอเสื่อ และรับจ้างสร้างรายได้เสริมต่าง ๆ
ผลิตภัณฑ์ชุมชน
- กระเป๋าเสื่อ
- น้ำปลาแท้ของชุมชน
- กะปิคุณเสนาะ
- น้ำพริกแกง
- ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผึ้งชันโรง
- กุ้งต้มหวาน
- เมี่ยงคำ
- ชาใบขู่
- กล้วยตากหลากรส
- หอยนางรมพร้อมทาน
วิถีชีวิต
ชาวบ้านแถวนามีความเชื่อ หลักปฏิบัติ และศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา โดยมีวัดบางสระเก้าเป็นศาสนสถานและแหล่งเรียนรู้สำคัญของชุมน ทั้งยังเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชุมชนผ่านพิธีกรรมทางศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม กิจกรรม และพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น การแข่งเรือ งานเทศน์มหาชาติ งานสงกรานต์ และกิจกรรมตามวาระวันสำคัญทางศาสนาที่เกิดขึ้นในชุมชน
ประเพณีที่มีความสำคัญอย่างมากต่อชาวบ้านแถวนา คือ “ประเพณีลูกหล่า” ซึ่งเป็นประเพณีที่เกิดขึ้นในประเพณีเทศน์มหาชาติของชุมชน ผู้ที่จะเทศน์เป็นตัวละครชาดกได้นั้นต้องมีสถานะเป็นพระเท่านั้น โดยมีข้อกำหนดว่าต้องเป็นพระที่สืบสายตระกูลจากผู้ที่เคยรับบทบาทนี้มาก่อน เช่น ตระกูลตองอ่อน เป็นลูกหล่าเทศน์กัณฑ์กุมาร พระสงฆ์ที่จะมาทำหน้าที่เทศน์กัณฑ์กุมารก็ต้องมาจากตระกูลตองอ่อนเท่านั้น จะมีคนจากตระกูลอื่นมาเทศน์แทนไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีประเพณีทำบุญสระน้ำหมู่บ้าน (สระในตำนาน 9 สระ) เพื่อระลึกถึงคุณแม่น้ำ แผ่นดิน และบรรพบุรุษ
ปฏิทินชุมชนบ้านแถวนา
เดือน | กิจกรรมชุมชน |
มกราคม | ทําบุญสระตํานาน ทอเสื่อร่วมงานวันเด็ก ปันผลกองทุนหมู่บ้าน ประชุมหมู่บ้าน ปล่อยปลาเก๋า ตกปลากะพง ตกปลาเห็ดโคน วางลอกปูม้า และแกะเนื้อปูม้า |
กุมภาพันธ์ | ปล่อยปลาเก๋า ตกปลากะพง ตกปลาเห็ดโคน วางลอกปูม้า แกะเนื้อปูม้า ทอเสื่อ ประชุมหมู่บ้าน และถอนถั่วลิสง |
มีนาคม | ปล่อยปลาเก๋า ตกปลากะพง ตกปลาเห็ดโคน วางลอกปูม้า งมกุ้งขาว ปูทะเล ทอเสื่อ จักกก ถอนถั่วลิสง และประชุมหมู่บ้าน |
เมษายน | แข่งกีฬาตําบล ปลูกปอ ทอเสื่อ ประชุมหมู่บ้าน และทําบุญสงกรานต์ 7 วัน (นับจากวันที่ 13-19) วันสุดท้ายเรียกทําบุญส่ง |
พฤษภาคม | ปล่อยกุ้ง เลี้ยงปลาเก๋า ราวปลาดุก ราวปลาไหล ประชุมหมู่บ้าน ทอเสื่อ ปลูกกก ปลูกปอ และหว่านข้าว |
มิถุนายน | ประชุมหมู่บ้าน ดักอวนปลากระบอก เลี้ยงปลาเก๋า ทอเสื่อ เลี้ยงกุ้ง รับจ้างเก็บผลไม้ |
กรกฎาคม | ประชุมหมู่บ้าน เลี้ยงปลาเก๋า เลี้ยงกุ้ง ทอเสื่อ ดํานา ดักลอบปูทะเล/ดักอวนกุ้งกุลาดํา ทําบุญเข้าพรรษาและงานบวช |
สิงหาคม | ประชุมหมู่บ้าน เลี้ยงปลาเก๋า ทอเสื่อ ตัดปอ ทํากกและตกปลากะพง |
กันยายน | ประชุมหมู่บ้าน จับปลาเก๋า ทอเสื่อ ทําบุญสารทไทย และดักลอบปูทะเล |
ตุลาคม | ประชุมหมู่บ้าน จับปลาเก๋า ทอเสื่อ และราวปลากุเลา |
พฤศจิกายน | ประชุมหมู่บ้าน จับปลาเก๋า ช้อนปูแป้น ทําน้ำปลา ลอบปูม้า แข่งเรือยาว ประเพณี ลอยกระทง ทอเสื่อ และตกลูกปลาเก๋า |
ธันวาคม | ประชุมหมู่บ้าน จับปลาเก๋า ลอบปูม้า ปลูกถั่ว ทอเสื่อ ตกปลาปาน และปลาเห็ดโคน |
การสร้างที่อยู่อาศัย
การสร้างที่อยู่อาศัยของชาวบ้านแถวนาในอดีตจะใช้วัสดุจากธรรมชาติประกอบกับภูมิปัญญาของชุมชนนํามาดัดแปลงเป็นวัสดุอุปกรณ์ใช้สร้างบ้านเรือนเป็นที่อยู่อาศัย โดยนํามาจากป่าชายเลนและป่าเบญจพรรณในพื้นที่ เช่น ใบจาก จะถูกนํามาพับเย็บเป็นแผ่น มีไม้ไผ่เป็นแกน ใช้มุงหลังคาและฝากั้น ใบนำมาเป็นที่ห่อทําขนมจาก ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้ครอบครัวและชุมชนได้
ผู้ใหญ่สถิต แสนเสนาะ : ประธานวิสาหกิจศูนย์เรียนรู้เพื่อการท่องเที่ยวบ้านปลาธนาคารปู
ผู้ใหญ่สถิต แสนเสนาะ ผู้ริเริ่มโครงการบ้านปลา ธนาคารปูบ้านแถวนา และผู้จุดประกายความคิดให้คนในชุมชนตระหนักถึงปัญหาการบุกรุกของเรืออวนซึ่งส่งผลกระทบวงกว้างต่อแม่น้ำลำคลอง เหตุนี้เป็นจุดกำเนิดการรวมตัวของชาวบ้านเป็นกลุ่มพลังของชุมชน ในการช่วยเหลือกันปักไม้ไผ่ในแม่น้ำกำหนดอาณาเขตห้ามเรืออวนเข้ามาในพื้นีที่มีการปักไม้ไผ่ การก่อตัวของกลุ่มพลังชุมชนโดยผู้ใหญ่สถิต แสนเสนาะ เป็นจุดกำเนิดพลังที่เข้มแข็งเพื่อต่อสู้กับกลุ่มนายทุนที่เข้ามาทําลายทรัพยากรสัตว์น้ำ ทําให้ส่งผลถึงความทุกข์ยากลําบากในการดํารงชีวิต และการประกอบอาชีพของชุมชน ปลุกจิตสำนึกให้ชาวบ้านแถวนาลุกขึ้นมาต่อสู้กับกลุ่มนายทุนที่นำเรืออวนเข้ามาบุกรุกทำลายระบบนิเวศของน่านน้ำซึ่งเป็นแหล่งอาหารของชุมชน ทําให้ชุมชนรู้สึกหวงแหนต่อแม่น้ำลำคลอง จนสามารถแย่งชิงพื้นที่แหล่งอาหรของชุมชนคืนกลับมาและขับไล่เรืออวนออกไปจากน่านน้ำชุมชนได้สำเร็จ แล้วร่วมกันจัดตั้ง “บ้านปลา ธนาคารปู” รักษาความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหารในชุมชนเอาไว้
บ้านปลา ธนาคารปู
บ้านปลา ธนาคารปู เป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ก่อตั้งขึ้นโดยผู้ใหญ่สถิต แสนเสนาะ ที่ได้มีโอกาสเข้าศึกษาดูงานเรื่องสิ่งแวดล้อมที่บ้านเปร็ด จังหวัดตราด และได้พบเห็นการทำเต๋ายางเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ แล้วนำกลับมาปรับใช้ในชุมชนบ้านแถวนาในรูปแบบของการทำบ้านปลาจากเต๋ายาง ซึ่งต่อมาได้ขยายผลต่อเนื่องไปสู่การก่อตั้งธนาคารปู เพื่อสร้างแหล่งการขยายพันธุ์ปู แล้วไปฝึกอบรมและนำความรู้ที่ได้มาอธิบายขยายผลให้คนในชุมชนได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องว่าเหตุใดจึงต้องมีธนาคารปู ผลที่ได้ คือ คนในชุมชนตระหนักถึงคุณอันมีอยู่ของธนาคารปู เมื่อจับปูไข่ได้ก็จะนำมาปล่อยที่ธนาคารปู รอวันที่ไข่ปูจะออกจากกระดองของแม่ปูมาเป็นลูกปูตัวเล็ก ๆ คืนกลับสู่ธรรมชาติ ซึ่งบริเวณชุมชนเป็นพื้นที่สามน้ำ จึงทําให้ปูมีปูชุกชุมมาก ในฤดูกาลผสมพันธุ์ วางไข่ของปูทะเลนั้นอยู่ในช่วงสิงหาคม-ธันวาคม ไข่ของปูทะเลจะมีสีส้มแดง เมื่อไข่แก่ขึ้นจะเป็นสีน้ำตาลเกือบดํา ซึ่งจะถูกปล่อยออกมาอยู่นอกกระดองบริเวณจับปิ้ง เรียกว่า ปูไข่นอกกระดอง โดยเฉลี่ยแล้วปูทะเลโตเต็มที่ตัวหนึ่งจะมีไข่ จํานวน 2 ชุด ชุดละประมาณล้านกว่าฟอง การนําเอาแม่ปูมาทําเป็นอาหาร และจับปูทะเลจากธรรมชาติเพียงอย่างเดียวโดยไม่ส่งคืนย่อมส่งผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ของพันธุ์ปูทะเลในธรรมชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การอนุรักษ์พันธุ์จึงควรกระทําไปพร้อม ๆ กับการขยายพันธุ์ เพื่อให้ทรัพยากรสัตว์น้ำประเภทนี้ดํารงอยู่ ต่อไป
เสื่อกก
การทอเสื่อกกของชุมชนบ้านแถวนา เป็นภูมิปัญญาที่ชาวบ้านสืบทอดและสืบสานมาตั้งแต่อดีต ถือเป็นการสืบสานแนวคิดจิตสํานึกในการพึ่งตนเองของชุมชนบ้านแถวนาและทุกหมู่บ้านในตําบลบางสระเก้า ซึ่งเป็นตําบลที่มีการประกอบอาชีพทอเสื่อกกมากที่สุดเมื่อเทียบกับหมู่บ้านที่ทอเสื่อกกในแหล่งอื่นของจังหวัดจันทบุรี ซึ่งผลิตเสื่อกกของชุมชนที่มีความโดดเด่ เป็นเอกลักษณ์ และเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปในนาม “เสื่อจันทบูร”
เสื่อกก มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปตามชนิด หากแยกออกตามลักษณะของเนื้อเสื่อตามการสืบทอดของชาวตำบลบางสระแก้ว จะมีอยู่ 3 ชนิด ได้แก่ สื่อชั้นเดียว เสื่อสองชั้น และเสื่อยกดอก
- เสื่อชั้นเดียว เป็นเสื่อสีเดียว หรือสลับสี เนื้อแน่นเพราะวางเส้นเอ็นถี่ นิยมใช้ปูพื้นบ้าน หรือบางทีก็ทอเป็นผืนยาวสำหรับปูลาดใต้อาสนสงฆ์ มีขนาดตั้งแต่ 4 คืบขึ้นไปจนถึง 10 คืบ ยิ่งเสื่อมีความกว้างมากเท่าใดราคาก็จะยิ่งสูงตามไปด้วย
- เสื่อสองชั้น เป็นเสื่อสลับสี (โดยมากตอนกลางของเสื่อจะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสเล็ก ๆ สลับสี) เส้นเอ็นเสื่อจะวางห่างจากเสื่อชั้นเดียว ดังนั้นเนื้อเสื่อจึงไม่แน่นเท่ากับเสื่อชั้นเดียว
- เสื่อยกดอก อาจจะเป็นเสื่อชั้นเดียวหรือสองชั้นก็ได้ แต่ยกเป็นลวดลายดอกดวง หรือเป็นภาพเป็นตัวอักษรตามแบบที่ต้องการ เป็นเสื่อที่ทอยากและใช้เวลาทอนานที่สุดในบรรดาเสื่อทั้ง 3 ชนิด เพราะการสอดเส้นกกจะต้องสอดเข้าไประหว่างเส้นเอ็นที่ยกขึ้นกดลงตามแบบที่กำหนด (ซึ่งภาษาของการทอเรียกเก็บ) และเส้นกกที่ใช้ก็ต้องใช้เส้นละเอียดกว่าการทอเสื่อชนิดธรรมดา
ภาษาพูด: ภาษาไทย
ภาษาเขียน: ภาษาไทย
ในอดีตชุมชนบ้านแถวนาเคยมีอาชีพการทำนากุ้ง (กุ้งกุลาดำ) เป็นอาชีพที่สร้างรายได้อย่างมหาศาลให้แก่ชุมชน ทว่า ผลกระทบของการทำนากุ้งได้ทําลายทรัพยากรธรรมธรรมชาติชายฝั่ง ซึ่งเคยเป็นแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์ของชุมชนไปเพราะการเตรียมพื้นที่ในการทําบ่อกุ้งต้องมีการทําลายป่าชายเลนเป็นจํานวนมาก ถือเป็นการทําลายห่วงโซ่อาหาร รวมถึงการเลี้ยงกุ้งโดยขาดจิตสํานึกยังส่งผลต่อทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีอยู่ตามธรรมชาติอีกด้วย เพราะการเลี้ยงกุ้งกุลาดําต้องมีการใช้สารเคมี ยารักษาโรคกุ้ง ที่รุนแรงที่สุด คือ การเบื่อปลาให้ตายก่อนปล่อยกุ้ง แล้วปล่อยน้ำเสียลงสู่ลําคลองสาธารณะ ส่งผลให้สัตว์น้ำตามธรรมชาติลดปริมาณลงอย่างน่าใจหาย ระบบนิเวศของทรัพยากรธรรมชาติชายฝั่งถูกทําลายไปอย่างสิ้นเชิง ผลกระทบอีกอย่างคือสภาพดินเสื่อมสภาพ เพราะการขยายพื้นที่ทํานากุ้งทําให้พื้นที่ใกล้เคียงไม่สามารถทําเพาะปลูกพืชเกษตรกรรมได้อีกเลย เนื่องจากน้ำในการเลี้ยงกุ้งเกิดการสะสมของเกลือในดิน ส่งผลให้บริเวณรอบ ๆ บ่อกุ้งเกิดการแพร่กระจายของความเค็มไปยังพื้นที่ข้างเคียง ส่งผลต่อพืชผลการผลิตในการทําเกษตรของชุมชนไปด้วย
นอกจากนี้ การทํานากุ้งตามกระแสทุนนิยมยังส่งผลให้ชุมชนเกิดเป็นหนี้สิน และที่ดินทํากินซึ่งเป็นมรดกตกทอดของครอบครัวถูกนําไปขายเพื่อเอาเงินมาลงทุนเลี้ยงกุ้งกุลาดํา แต่การเลี้ยงกุ้งมีความเสี่ยงสูงในการลงทุน แต่ผลตอบแทนคุ้มค่า ทําให้ทุกคนในชุมชนกล้าที่จะเป็นหนี้เป็นสินเพิ่มขึ้น เพื่อต้องการลงทุนในรอบต่อไป แต่การลงทุนไม่เป็นผลเพราะชุมชนขาดความรู้ความเข้าใจในการเลี้ยงกุ้งอย่างแท้จริง ก่อให้เกิดเป็นโรคตามมาและขาดทุนในที่สุด การลงทุนนากุ้งทําให้ครอบครัวมีภาระหนี้สินเพิ่ม เพราะต้องเสียค่าดอกเบี้ยที่กู้มาลงทุนต่อ เงินกู้ที่ยืมมาเพื่อหวังจะได้กลับมาของเงินกับไม่เป็นไปตามอย่างที่คิด เกิดการสะสมทับซ้อนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น มิหนําซ้ำที่ดินที่เคยมีก็ถูกนําไปขายเพื่อปลดหนี้ ที่ดินทํากินของชุมชนในการทําเกษตรกรรมก็ถูกเปลี่ยนมือให้กับจากคนนอกชุมชนมากขึ้น จากวิถีชีวิตชุมชนที่เคยพึ่งพาตนเองได้กลับเปลี่ยนไปพึ่งพาภายนอกมากขึ้น
จากสภาพปัญหาที่เกิดจากการเลี้ยงกุ้งกุลาดำในอดีต ส่งผลให้ชุมชนต้องเผชิญกับปัญหาการบุกรุกของ “เรืออวนรุน” (เครื่องมือการจับสัตว์น้ำในเขตน้ำลึก) รุกคืบเข้ามาในลําคลอง เพื่อหวังเพิ่มปริมาณผลผลิตที่จะนําออกสู่ท้องตลาด ความขัดแย้งในการทํามาหากินเริ่มเกิดขึ้นจากการปล่อยอวนรุนในลําคลองได้ทําลายลอบและอวนที่วางดักปูม้าของชาวบ้านเสียหาย และทําลายสัตว์น้ำตัวเล็ก ๆ ที่ไม่สามารถนําไปขายเททิ้งเป็นจํานวนมหาศาล แพลงก์ตอนตามหน้าดินก็ถูกทําลายไปด้วย ส่งผลให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรสัตว์น้ำระหว่างนายทุนกับคนในชุมชนอย่างรุนแรง จะเห็นได้ว่าชุมชนเริ่มเจอปัญหาหนักเพราะผลกระทบจากเรืออวนรุนที่เข้ามานั้นได้ทําลายสัตว์น้ำซึ่งเป็นแหล่งอาหารของชุมชน และวิถีชีวิตการทําประมงของชุมชนอย่างหนัก การเข้ามาของเรืออวนรุนยังส่งผลเป็นลูกโซ่ ทําให้หน้าดิน กุ้ง หอย ปู ปลา สัตว์น้ำตัวเล็ก ๆ ถูก ทําลายอย่างไม่เห็นคุณค่า ชุมชนจึงไม่อาจนิ่งนอนใจได้กับปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ด้วยความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้าน ภายใต้การนำของนายสถิต แสนเสนาะ ทำให้สามารถชิงพื้นที่คืนมาและขับไล่เรืออวนรุนออกนอกพื้นที่ไป
ชุมชนบ้านแถวนาภายใต้การนำของผู้ใหญ่สถิต แสนเสนาะ ประธานวิสาหกิจศูนย์เรียนรู้เพื่อการท่องเที่ยวบ้านปลาธนาคารปู ที่ได้ยกระดับชุมชนจากการเรียนรู้ภูมิปัญญาสู่การส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชนให้กลายเป็นสินค้า OTOP ระดับพรีเมียม มีร้านค้าชุมชนที่เป็นจุดศูนย์รวมสินค้าของหมู่บ้าน มีการพัฒนาทักษะการแปรรูปอาหารทะเลชายฝั่งร่วมกับภาคีเครือข่ายภาควิชาการมหาวิทยาลัยในจังหวัดจันทบุรี เช่น กุ้งเหยียด น้ำพริกปลากะพงขาว เป็นต้น นอกจากนี้ยังต่อยอดแผนงานสู่กิจกรรมที่ฟื้นฟูทรัพยากรทางชายฝั่งทะเลประมงพื้นบ้านให้เป็นกิจการหนึ่งของกลุ่มได้ เช่น การเพาะพันธุ์ปลาแขยงกง (ปลาอีกง) ปลาท้องถิ่นที่ใกล้จะสูญพันธุ์และมีความสำคัญต่อระบบนิเวศของชุมชน ก่อเกิดเป็นอีกหนึ่งธุรกิจในชุมชนที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรประมงพื้นบ้านในระยะเวลา 1 ปี 78,000 บาท ลูกปลาที่จำหน่ายในจังหวัดและต่างจังหวัดไม่ต่ำกว่า 1,000,000 ล้านตัว และชุมชนสามารถทำการตลาด บริหารจัดการกิจการได้เองอย่างไม่ต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอก เกิดการเรียนรู้และพัฒนาชุดความรู้แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ด้วยการทดลองทำ จนเป็นผู้เชี่ยวชาญและเป็นอีกฐานเรียนรู้หนึ่งในชุมชน
ธมล สกุลอินทร์. (2555). จิตสำนึกชุมชนในการมีส่วนร่วมอนุรักษณ์ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมชายฝั่ง: กรณีศึกษาชุมชนบ้นแถวนา ตำบลบางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี. วิทยานิพนธ์ปริญญาพัฒนาชุมชนมหาบัณฑิต ภาควิชาการพัฒนาชุมชน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
บ้านปลา-ธนาคารปู. (ม.ป.ป.). บ้านปลา-ธนาคารปู. สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม 2566, https://xn----0wf3dcccie5ep4lddb1i6k.com/#about
หมูยุ้ยพาเที่ยว. (2565). เรียนรู้บ้านปลา-ธนาคารปู-ล่องแพดูเหยี่ยวแดง @ ชุมชนบ้านล่าง ต.บางสระเก้า อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี. สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม 2566, https://th.readme.me/p/39995
Earth Google. (2565). สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม 2566, จาก https://earth.google.com/
PostupNews. (2561). บ้านล่าง (บ้านแถวนา) หมู่ ๕ ตำบลบางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี “ตกปลา หาปู ดูเหยี่ยว เที่ยวล่องแพ”. สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม 2566, จาก https://th.postupnews.com/