ชุมชนบ้านไร่ เป็นหนึ่งในชุมชนชาติพันธุ์ของชาว “ญัฮกุร” ที่ยังคงแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์ เช่น การใช้ภาษาญัฮกุร วัฒนธรรมการกิน การใส่เสื้อพ้อก และการทำสวนสมุนไพร อีกทั้งบ้านไร่ยังเป็นชุมชนที่ได้รับความสนใจเข้ามาศึกษาจากนักวิชาการหลายทศวรรษ ความรู้ทางวิชาการและความเข้มแข็งของชุมชนก่อให้เกิด “กลุ่มเยาวชน” ที่คอยหล่อเลี้ยงอัตลักษณ์ญัฮกุรให้ยังคงอยู่
“โดงคะม่า” ในภาษาญัฮกุร คำว่า "โดง" หมายถึงบ้าน และ "คะม่า" หมายถึง ไร่
ชุมชนบ้านไร่ เป็นหนึ่งในชุมชนชาติพันธุ์ของชาว “ญัฮกุร” ที่ยังคงแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์ เช่น การใช้ภาษาญัฮกุร วัฒนธรรมการกิน การใส่เสื้อพ้อก และการทำสวนสมุนไพร อีกทั้งบ้านไร่ยังเป็นชุมชนที่ได้รับความสนใจเข้ามาศึกษาจากนักวิชาการหลายทศวรรษ ความรู้ทางวิชาการและความเข้มแข็งของชุมชนก่อให้เกิด “กลุ่มเยาวชน” ที่คอยหล่อเลี้ยงอัตลักษณ์ญัฮกุรให้ยังคงอยู่
“ชุมชนบ้านไร่” หรือ “โดงคะม่า” (ในภาษาญัฮกุร คำว่า โดง หมายถึงบ้าน และคะม่า หมายถึงไร่) ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านไร่ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ เป็นหนึ่งในชุมชนชาติพันธุ์ของชาว “ญัฮกุร” ที่ยังคงมีการอาศัยอยู่ เช่นเดียวกับชุมชนญัฮกุรอื่น ๆ ที่ยังคงกระจายตัวอยู่ตามแนวที่ราบสูงโคราช อาทิ ตามแนวเขาพังเหย เขาพนงดงรัก หรือในจังหวัดนครราชสีมา (อ.ปักธงชัย) และเพชบูรณ์
หากอ้างอิงจากงานศึกษาของอิริค ไซเดนฟาเดน (Erik Seidenfaden) อดีตประธานสยามสมาคม ที่ได้เข้ามาสำรวจชาวญัฮกุรในจังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา และเพชรบูรณ์ เมื่อราว ค.ศ. 1918 ก็จะพบว่า เขาได้ทำความรู้จักกับชาวญัฮกุรและรู้ว่า “คนอื่น” มีวิธีการเรียกชาวญัฮกุรตามแต่ละพื้นที่แตกต่างกันออกไปอย่างไร เช่น ในจังหวัดชัยภูมิ ชาวญัฮกุรถูกเรียกว่า “ละว้า” หรือ “ชาวบน” ส่วนชาวญัฮกุรในนครราชสีมากลับถูกเรียกว่า “เนียะกุล” เป็นต้น (Seidenfaden 1918, 1919, อ้างถึงใน พิพัฒน์ กระแจะจันทร์, 2559, น. 18) นอกเหนือไปจากเนื้อหาในงานศึกษาของไซเดนฟาเดน เราก็อาจอนุมานในเบื้องต้นได้ว่า การมีอยู่ของชาวญัฮกุรในจังหวัดชัยภูมิ (รวมถึงชาวญัฮกุรที่กระจายอยู่ตามที่ราบสูงโคราช) ต้องมีอายุในการตั้งถิ่นฐานมาแล้วอย่างน้อย 100 ปีกว่า ๆ ตามอายุงานศึกษาชิ้นดังกล่าวของไซเดนฟาเดนนั้นเอง
ถัดมาในช่วงปี ค.ศ. 1984 ก็ได้มีงานทางด้านภาษาศาสตร์เข้าศึกษาและมาอธิบายเพิ่มว่า ภาษาญัฮกุรมีความแตกต่างไปจากภาษามอญที่ใช้กันในปัจจุบัน แต่ในทางกลับกัน ก็มีความคล้ายคลึงกับภาษามอญโบราณที่ปรากฎอยู่ในจารึกทวารวดีที่ค้นพบในประเทศไทย (Diffloth, 1984, อ้างถึงใน อภิญญา บัวสรวง และ สุวิไล เปรมศรีรัตน์, 2541, น. 9) จากความพยายามเชื่อมโยง “ญัฮกุร” ให้เข้ากับ “มอญโบราณ” ในมิติทางภาษาศาสตร์ ทำให้งานศึกษาเกี่ยวกับทวารวดีในประเทศไทยในเวลาต่อมา ก็ได้หยิบยกเอาข้อเสนอของ Diffloth มาดัดแปลงเป็นสมมติฐานที่ว่า ชาวญัฮกุรอาจจะเป็นลูกหลานของคนสมัยทวารวดีที่ยังหลงเหลืออยู่ก็เป็นได้ (ธิดา สาระยา, 2538, น. 195)
ถ้าหากเป็นไปตามสมมติฐานของธิดา สาระยา บริเวณที่ชาวญัฮกุรอาศัยอยู่ตามที่ราบสูงโคราชก็ควรจะพบหลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงความต่อเนื่องของยุคสมัยและวัฒนธรรมด้วย ทำให้พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ นักประวัติศาสตร์ที่ได้เข้ามาทำการขุดค้นเพื่อหาหลักฐานทางโบราณคดีในพื้นที่ อ.เทพสถิต หรือตามแนวเทือกเขาพังเหย โดยเฉพาะบริเวณช่องเขาที่ชื่อว่า “ช่องชิด” ใกล้กับชุมชนบ้านไร่ ผลการศึกษาพบว่า แหล่งโบราณคดีที่ค้นพบตามแนวเทือกเขาพังเหยล้วนมีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 17-19 เป็นต้นไป ซึ่งไม่ได้มีนัยยะสำคัญที่แสดงถึงความต่อเนื่องกับรัฐทวารวดีมากนัก หากแต่แสดงให้เห็นถึงความสอดคล้องกับอิทธิพลของอาณาจักรเขมร (ช่วงพระเจ้าชัยวรมันที่ 6-7) เสียมากกว่า เช่น การพบชิ้นส่วนเครื่องถ้วยการค้าและเครื่องปั้นดินเผาแบบเขมร ยิ่งโดยเฉพาะแหล่งโบราณคดีที่ใกล้กับเขาช่องชิด ก็จะพบของสิ่งของจากต่างถิ่นและเครื่องถ้วยการค้า (หรือเครื่องถ้วยที่มาจากจีน) หลายชิ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพื้นที่ที่ปัจจุบันเรียกว่า “บ้านไร่” และบริเวณใกล้เคียงนั้น น่าจะก่อตัวขึ้นเป็นหมู่บ้านด้วยเหตุผลคือ อยู่ใกล้กับเส้นทางคมนาคมและเส้นทางการค้าในอดีต (พิพัฒน์ กระแจะจันทร์, 2559, น. 27-30) ถึงกระนั้น แม้จะมีหลักฐานการใช้งานพื้นที่ดังกล่าวตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 17 แต่ก็ไม่อาจชี้ชัดได้ว่าเป็นชาวญัฮกุรหรือคนกลุ่มใดที่อาศัยอยู่
อย่างไรก็ดี ชาวญัฮกุรบางคนยังคงสามารถเล่าถึงที่มาที่ไปของ “โดง คะม่า” หรือเรื่องราวการย้ายถิ่นฐานมาตั้งหมู่บ้านที่ชื่อว่า “บ้านไร่” โดยเรื่องราวย้อนกลับไปเมื่อ 80 กว่าปีก่อน แถวช่องตับเต่า บ้านปรกใหญ่ และบ้านวังแล่ ซึ่ง 3 สถานที่นี้ น่าจะเป็นที่อยู่อาศัยเดิมของชาวญัฮกุรก่อนที่จะโยกย้ายมาสู่บ้านไร่ เพราะชุมชนเดิมเกิดโรคระบาด (ฝีดาษ) ประกอบกับบริเวณบ้านไร่มีทรัพยากรน้ำและดินที่เหมาะสมแก่การทำการเกษตร เช่น สามารถปลูกข้าวไร่และเดือยได้ อีกทั้งยังตั้งอยู่บนเส้นทางคมนาคม ทำให้ในเรื่องเล่า “โดง คะม่า” จึงกล่าวถึงสาเหตุที่เกิดเป็น “บ้านไร่” ในปัจจุบันนั้นเอง (พิพัฒน์ กระแจะจันทร์, 2557, น. 82)
ในระยะแรก บ้านไร่มีบ้านเรือนประมาณ 6 หลัง แต่ด้วยในช่วงปี พ.ศ. 2500 ที่มีแผนพัฒนาเศรฐกิจ ก็ทำให้มีชาวไทยอีสานย้ายเข้ามาอยู่ในชุมชนมากขึ้น และแต่งงานกับชาวญัฮกุรด้วย (เพิ่งอ้าง, 84) และที่สำคัญ ในปี พ.ศ. 2511 ได้มีการตั้งโรงเรียนบ้านไร่พัฒนาขึ้น ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้มีคนเข้ามาอาศัยในชุมชนเยอะกว่าเดิม แต่ที่แน่ ๆ โรงเรียนบ้านไร่พัฒนามีส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้ภาษาญัฮกุรเกือบถูกกลืนหายไป ในประเด็นวิกฤติภาษานี้ ผู้เขียนจะขอยกไปพูดถึงในหัวข้อ “ภาษา” ต่อไป
ชุมชนบ้านไร่ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตำบล บ้านไร่ และตั้งอยู่ห่างไปจากน้ำตกบ้านไล่ประมาณ 500 เมตร
- ไปทางทิศเหนือ ผ่านบ้านโนนสำราญไปประมาณ 10 กิโลเมตร จะพบกับอุทยาแห่งชาติป่าหินงาม (ทุ่งดอกกระเจียว)
- ไปทางทิศใต้ประมาณ 1.5 กิโลเมตร จะพบกับที่ทำการ อบต.บ้านไร่ รวมถึงด้านทิศใต้จะติดกับ ต.วะตะแบก และ ต.ห้วยยายจิ๋ว
- ไปทางทิศตะวันออก จะพบกับคลองลำคันฉุ รวมถึงด้านทิศตะวันออกจะติดกับ อ.บำเหน็จนรงค์ และ อ.ซับใหญ่
- ไปทางทิศตะวันตกติดกับหนองปล้อง อ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี
จากรายงานโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย (2561) ที่ได้ทำการสำรวจจำนวนประชากรและการตั้งถิ่นฐานชาวญัฮกุรตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 ถึง 2560 พบว่า ที่บ้านไร่มีชาวญัฮกุรอยู่จำนวน 10 ครัวเรือน จาก 466 ครัวเรือนทั้งหมด และมีประชากรชาวญัฮกุรอยู่ 70 คน จากประชากรทั้งหมด 1382 คน
สำหรับระบบเครือญาติ หากว่ากันตามประเพณี ชาวญัฮกุรจะนับถือผีฝ่ายหญิง ทำให้เมื่อแต่งงานแล้ว ฝ่ายชายจะต้องย้ายเข้าไปอยู่บ้านของพ่อแม่ฝ่ายหญิง นอกเหนือไปจากการนับผีฝ่ายหญิงแล้วนั้น ระบบเครือญาติของชาวญัฮกุรได้ให้น้ำหนักความสำคัญกับทั้งฝ่ายชายและหญิงอย่างเสมอ ๆ กัน ดังที่สะท้อนผ่านคำเรียกญาติ เช่น “โองอึนชีร พ่ะอึนชีร” หรือที่แปลว่า “แม่ยาย พ่อตา” เป็นต้น
โปรดสังเกตว่า ชาวญัฮกุรที่บ้านไร่จะมีนามสกุลที่คล้าย ๆ กัน อย่างนามสกุลที่จะมีคำว่า “จัตุรัส” เช่น ยิ้มจัตุรัส เย็นจัตุรัส หรือยี่จัตุรัส และอีกมากมาย ซึ่งผู้เขียนสังเกตว่า ความแตกต่างของนามสกุลจะมาจากการเปลี่ยนคำข้างหน้าแทน อย่างไรก็ดี ข้อจำกัดของที่มาที่ไปของนามสกุลนี้คือยังขาดคำบอกเล่าจากชาวญัฮกุรเอง
ญัฮกุรเดือน 4 ประเพณีแห่หอดอกผึ้ง
หอดอกผึ้ง ถูกสร้างขึ้นด้วยโครงไม้ที่ทำเป็นรูปคล้ายเรือนหรือปราสาท และประดับประดาโดยรอบไปด้วยขี้ผึ้งรูปดอกไม้หรือดอกผึ้ง ในช่วงงานบุญใหญ่ประจำปี (ตรงกับช่วงสงกรานต์ของทุกปี) ชาวญัฮกุรจะรวมตัวกันเพื่อช่วยกันสร้างหอดอกผึ้ง และนำหอดอกผึ้งไปแห่รอบหมู่บ้าน เพื่อเป็นการบูชาธรรมชาติที่ได้ให้ชีวิตและสรรพสิ่งตามคติของชาวญัฮกุร เมื่อแห่เสร็จ หอดอกผึ้งจะถูกนำไปถวายวัดเพื่อที่พระจะได้นำเอาขี้ผึ้งที่ใช้ตกแต่งหอดอกผึ้งไปทำเทียนพรรษาต่อไป
เดือน 5-6 ประเพณีเลี้ยงผีปู่ตา
การเลี้ยงผีของชาวญัฮกุรจะทำขึ้นบริเวณศาลผีเจ้าบ้าน โดยจะเริ่มจากการซ่อมศาลผีฯ ประจำปี เมื่อซ่อมแล้วเสร็จ ผู้ใหญ่บ้านก็จะประกาศและนัดแนะชาวบ้านว่าจะมีการเลี้ยงผีกัน ในวันพิธีก็จะมีของเซ่นไหว้ เช่น ไก่ต้ม ไข่ต้ม ผ้าแพร ผ้าไหม และธูปเทียน และก็จะมี ‘หมอโทน’ ตีโทนประกอบขั้นตอนการเรียกผีด้วย ซึ่งผีที่ชาวญัฮกุรเรียกมาลงทรงตลอดทั้งวันนั้น ก็มีผีหลากหลายมากตั้งแต่ผีญัฮกุร ผีลาว ผีเจ้าพ่อ ผีไทย หรือผีพยาแล ฯลฯ ซึ่งการจะดูว่าผีตนนั้นเป็นผีอะไร ก็อาจจะสังเกตในเบื้องต้นได้จากภาษาพูด เช่น ผีญัฮกุรก็จะพูดญัฮกุร เป็นต้น
เมื่อผีประทับร่างทรง ชาวบ้านก็จะถามผีเหล่านั้นว่ามาจากไหน อยากกินอะไร รวมไปถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วสบายดีหรือไม่ เมื่อถามเสร็จ ก็จะเชิญให้ผีตนนั้นกินของเซ่นไหว้ และเชิญผีตัวอื่น ๆ มาลงทรงตลอดทั้งวัน
“ภาษาญัฮกุร” ได้รับความสนใจตั้งแต่นักภาษาศาสตร์ต่างประเทศอย่าง Diffloth ผู้ที่เข้ามาศึกษาและพูดเป็นคนแรกว่า ภาษาญัฮกุรมีความสัมพันธุ์กับภาษามอญโบราณที่ใช้กันในรัฐทวารวดี ซึ่งก็เป็นข้อเสนอทางวิชาการที่ทำให้ “ญัฮกุร” เป็นที่รู้จักในแวดวงภาษาศาสตร์และมีความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์ (โดยเฉพาะงานศึกษาประวัติศาสตร์เกี่ยวกับรัฐทวารวดี) จนในช่วงทศวรรษ 2540 ชาวญัฮกุรได้รับความสนใจอีกครั้งจากนักภาษาศาสตร์ชาวไทย ด้วยเหตุผลที่ญัฮกุรเป็นหนึ่งในชาติพันธุ์ที่กำลังเผชิญกับ “วิกฤติทางภาษา” ที่เสี่ยงต่อการสูญหายของภาษาและรากเหง้าทางวัฒนธรรม
สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้มีโครงการเข้ามาศึกษาและเก็บข้อมูลทางวัฒนธรรมเอาไว้ภายใต้ฐานคิด “มรดกของมนุษยชาติ” ซึ่งก็ได้ผลิตงานศึกษาเกี่ยวกับญัฮกุรออกมาหลายชิ้นด้วยกัน เช่น สารุกรมกลุ่มชาติพันธุ์ญัฮกุ้ร เป็นงานที่อธิบายว่า ภาษาญัญกุรเป็นภาษาในตระกูลออสโตรเอเชียติค ในสาขามอญ-เขมร สาขาย่อยโมนิค และมีความใกล้เคียงกับภาษามอญที่อยู่ในสาขาย่อยเดียวกัน(อภิญญา บัวสรวง และ สุวิไล เปรมศรีรัตน์, 2541, น. 9)
อีกทั้ง จากงานศึกษาข้างต้น ก็ได้นำเสนอเกี่ยวกับลักษณะระบบเสียง ลักษณะทางไวยกรณ์ ตัวเลขและจำนวนนับ และเนื่องจากภาษาญัฮกุรไม่มีภาษาเขียน จึงใช้อักษรแทนเสียงด้วยตัวอักษรภาษาไทย ดังตัวอย่าง ตัวเลขและจำนวนนับ
ตัวเลขและจำนวนนับในภาษาญัฮกุร
muəj | มวย | หนึ่ง |
baːr | บาร | สอง |
piː? | ปิ | สาม |
pan | ปัน | สี่ |
chuːn | ชูน | ห้า |
traw | เตรา | หก |
mpɔh | อึมป็อฮ | เจ็ด |
ncaːm | อึนจาม | แปด |
nciːt | อึนจีด | เก้า |
cas | จัซ | สิบ |
cas muəj | จัซ มวย | สิบเอ็ด |
baːr chuəj | บาร ช้วย | ยี่สิบ |
muəj choːk | มวย โชก | หนึ่งร้อย |
ca̤s cho̤ːk | จัซ โชก | หนึ่งพัน |
ความถดถอยของภาษาและวัฒนธรรมญัฮกุร โดยเฉพาะในชุมชนบ้านไร่ อาจอธิบายในบริบทเชิงประวัติศาสตร์ได้ว่า จากแต่เดิมที่ชุมชนบ้านไร่มีเพียงชาวญัฮกุรที่มาบุกเบิกพื้นที่เพื่ออยู่อาศัยและทำการเกษตร ทว่าราว ๆ ทศวรรษ 2520 ทิศทางเศรษฐกิจไทยได้เปลี่ยนการลงทุนจากภาคเกษตรกรรมมาสู่ภาคอุตสาหกรรมอย่างเต็มตัว ก็ทำให้เริ่มมีผู้คนจากภายนอกเข้ามาอยู่อาศัยในชุมชนมากขึ้น เช่น ชาวไทยอีสานที่เข้ามาบุกเบิกหรือจับจองพื้นที่บ้านไร่ พร้อมกับเข้ามาปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น หัวมัน ข้าวโพด และมันสำปะหลัง แน่นอนว่า การเข้ามาของชาวไทยอีสานนำมาซึ่งการมีปฏิสัมพันธ์ข้ามวัฒนธรรมกับชาวญัฮกุร เห็นได้จากการแต่งงานกับชาวญัฮกุร หรือการที่ชาวญัฮกุรพูดภาษาอีสาน เป็นต้น
ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจในชุมขน ชาวญัฮกุรก็ได้บุกเบิกพื้นที่เพิ่มเติมเพื่อเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อตอบสนองการค้าแบบตลาดเช่นเดียวกัน รวมถึงบางคนก็เริ่มออกไปทำงานนอกชุมชนมากขึ้น เช่น ไปตัดอ้อยที่กาญจนบุรี ไปทำงานที่กรุงเทพฯ หรือไปเป็นแรงงานที่ต่างประเทศ ผลที่ตามมาก็คือ ภาษาญัฮกุรไม่สามารถใช้สื่อสารกับคนภายนอกได้ (พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ และคณะ, 2557, น. 83) ทำให้ภาษาญัฮกุรจึงถูกแทนที่ด้วยภาษามาตรฐานของรัฐไทยหรือเรียนรู้ที่จะพูดภาษาไทย ในแง่นี้ โรงเรียนบ้านไร่พัฒนา ที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2511 ก็มีบทบาทอย่างมากต่อการส่งเสริมให้ชาวญัฮกุรพูดภาษาไทย ผ่านการเรียนการสอนที่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลัก จึงไม่แปลกนักที่ชาวญัฮกุรจะละทิ้งภาษาของตัวเองเพื่อแสวงหาโอกาสที่มากับภาษาอื่น ๆ
บทบาทของกลุ่มเยาวชนต่อการรื้อฟื้นและธำรงอัตลักษณ์ญัฮกุรในชุมชนบ้านไร่
จากการสัมภาษณ์คุณเฉลิมชาติ ยันจัตุรัส หรือ “จิต” หัวหน้ากลุ่มเยาวชน รุ่นที่ 1 ได้เล่าว่า ตนนั้นได้เริ่มเข้าสู่กระบวนการรื้อฟื้นและธำรงอัตลักษณ์ญัฮกุรไปพร้อม ๆ กับการเข้ามาของสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดลในช่วงทศวรรษ 2540 ซึ่งในขณะนั้น “จิต” ในฐานะเยาวชนที่มีเชื้อสายญัฮกุรโดยตรง ก็ได้ถูกคัดเลือกเข้าเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการทำงานของสถาบันวิจัยข้างต้นด้วย
“จิต” เล่าต่อว่า เมื่อสมัยตนเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1 (พ.ศ. 2551) ตนก็ได้รวมตัวกับกลุ่มเพื่อนที่เป็น “พวกดง” (จิตเรียก) หรือกลุ่มเพื่อนที่มีเชื้อสายญัฮกุร ให้มารวมตัวกันและจัดตั้งกลุ่มเยาวชนในโรงเรียนขึ้นมาเพื่อเป็นศูนย์รวมเพื่อน ๆ ชาติพันธุ์เดียวกัน และคนที่มีอุดมการณ์อยากสืบสานวัฒนธรรมประเพณีญัฮกุร โดยกิจกรรมที่ทำร่วมกันก็คือ การเข้าร่วมงานประเพณีประจำปี เช่น การมีส่วนร่วมในงานบุญแห่หอดอกผึ้งที่ทำเป็นประจำทุกช่วงสงกรานต์ หรือการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งกับกลุ่มญัฮกุรที่เป็นผู้ใหญ่ (กลุ่มยอง) ในการฟ้อนรำตามพิธีกรรมสำคัญ ซึ่งจิตได้ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจว่า ภายหลังที่ตนและเพื่อน ๆ ตั้งกลุ่มเยาวชนในโรงเรียน เพื่อน ๆ ชาวญัฮกุรก็เริ่มกล้าแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์ของตัวเองมากขึ้น หลังจากถูกหยอกล้อมานาน
ในปัจจุบัน กลุ่มเยาวชนได้ขยับขยายพื้นที่กิจกรรมออกมานอกรั้วโรงเรียนมากขึ้น อันเป็นผลมาจากการสนับสนุนของ “กลุ่มยอง” หรือกลุ่มผู้ใหญ่ในชุมชน ที่ได้เข้ามาสนับสนุนแรงกายเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเยาวชน และทำให้กลุ่มเยาวชนมีกิจกรรมเชิงอนุรักษณ์ที่สร้างสรรค์มากขึ้น เช่น กิจกรรมปลูกผักสมุนไพรตามภูมิปัญญาญัฮกุร กิจกรรมทำเสื้อผ้าชาติพันธุ์และกระเป๋า รวมถึงกลุ่มเยาวชนยังได้ผลิตสื่อสร้างสรรค์จากทุนทางวัฒนธรรมที่ตนเองมี เช่น การบันทึกภาพและเสียงของคนในชุมชนที่กำลังสื่อสารด้วยภาษาญัฮกุรอยู่ หรือการโพสต์สินค้าชุมชนลงแอปพลิเคชัน Tiktok
“มอญโบราณ” ที่(เพิ่ง)รู้สึก
“ญัฮกุร...กลุ่มที่สืบเชื้อสายมอญโบราณสมัยทวารวดีมากกว่า 2,000 ปี”
ในปัจจุบัน คำว่า “มอญโบราณ” เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ใช้กับชาวญัฮกุรอย่างซ้ำ ๆ เพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เห็นได้จากข้อความข้างต้นที่มาจากเว็บไซต์ขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านไร่ (ม.ป.ป) หรือเห็นได้จากคำโปรย ชื่อบทความ หรือพาดหัวข่าวต่าง ๆ เช่น “...สัมผัสวิถีญัฮกุร หมู่บ้านมอญโบราณ...” (Thai PBS, 2561) แต่ทว่า “ญัฮกุร” และ “มอญโบราณ” เป็นเพียงความสัมพันธุ์กันในทางภาษาศาสตร์เท่านั้น ฉะนั้น การจะบอกว่าญัฮกุรเป็นลูกหลานชาวทวารวดี จึงเป็นจินตนาการที่ไกลไปจากหลักฐานและงานศึกษาที่มี
“มอญโบราณ” จึงได้กลายเป็นอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ใหม่ให้กับชาวญัฮกุร เห็นได้จากการที่คนภายนอกเรียกพวกเขาหรือบ้างพวกเขาก็แทนตัวเองว่า “มอญโบราณ” อยู่บ้าง ซึ่งดูจะไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า พวกเขาเป็น “มอญโบราณ” โดยคนอื่น และเป็น “มอญโบราณ” ที่เพิ่งรู้สึก มิใช่สำนึกแห่งตัวตน
โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย. (2561). ชนเผ่าพื้นเมือง ญัฮกุร. สืบค้นจาก https://iwgia.org/
เฉลิมชาติ ยันจตุรัส. หัวหน้ากลุ่มเยาวชนรุ่นที่ 1. (วันที่ 22 เมษายน 2566). สัมภาษณ์. (ร่วมสัมภาษณ์กับวรินธร อุ้มนุช และ ฐิติวัชร์ ยุทธวิสุทธิ์)
ธิดา สาระยา. (2538). (ศรี) ทวารวดีประวัติศาสตร์ยุคต้นของสยามประเทศ. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ.
พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ และคณะ. (2557). จาก “มะนิ่ฮ ญัฮกุร” (ชาวญัฮกุร) สู่การเป็นมอญทวารวดี และ กระบวนการคืนความรู้สู่ชุมชนบ้านไร่. วารสารอายธรรมศึกษา โขง-สาละวิน, 5(1), 76-87.
พิพัฒน์ กระแจะจันทร์. (2559). โบราณคดีและชาติพันธุ์ในเขตหมู่บ้านชาวญัฮกุรที่ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ. ดำรงวิชาการ, 15(1), 11-39.
องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านไร่. (ม.ป.ป). สภาพสังคม. สืบค้นจาก http://www.tambonbanrai.go.th/
อภิญญา บัวสรวง และ สุวิไล เปรมศรีรัตน์. (2541). สารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์ญัฮกุ้ร. กรุงเทพฯ: สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล.
Thai PBS. (22 ตุลาคม 2561). นารีกระจ่าง : สัมผัสวิถีญัฮกุร หมู่บ้านมอญโบราณ, การละเล่นพื้นบ้าน ชาวญัฮกุร [วิดีโอ]. ยูทูบ. https://www.youtube.com/
Diffloth, G. (1984). The Dvaravati Old Mon Language and Nyah Kur. Bangkok: Chulalongkorn University Print.
Seidenfaden, E. (1918). Some Notes about the Chaubun; a Disappearing Tribe in the Korat Province. Journal of the Siam Society, 12, 1-11.
Seidenfaden, E. (1919). Further Notes about the Chaubun, etc. Journal of the Siam Society, 13, 47-53.