
เป็นพื้นที่ชุมชนโบราณที่มีผู้คนอยู่อาศัยมาแต่โบราณ เนื่องจากมีโบราณสถานที่สำคัญของจังหวัดมหาสารคามแห่งหนึ่งคือ กู่มหาธาตุ (ปรางค์กู่บ้านเขวา) ซึ่งเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์และพบโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ รูปเคารพพระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคต พระพุทธเจ้าบรมครูแห่งการแพทย์ ผู้มีความเมตตาประทานธรรมโอสถแก่สรรพสัตว์ทั้งปวง ในอิริยาบถประทับนั่งขัดสมาธิ
สาเหตุของชื่อบ้าน “เขวา” มาจากต้นเขวาที่ขึ้นอยู่เต็มบริเวณพื้นที่
เป็นพื้นที่ชุมชนโบราณที่มีผู้คนอยู่อาศัยมาแต่โบราณ เนื่องจากมีโบราณสถานที่สำคัญของจังหวัดมหาสารคามแห่งหนึ่งคือ กู่มหาธาตุ (ปรางค์กู่บ้านเขวา) ซึ่งเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์และพบโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ รูปเคารพพระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคต พระพุทธเจ้าบรมครูแห่งการแพทย์ ผู้มีความเมตตาประทานธรรมโอสถแก่สรรพสัตว์ทั้งปวง ในอิริยาบถประทับนั่งขัดสมาธิ
ชุมชนบ้านเขวาก่อตั้งขึ้นเมื่อไหร่ไม่มีหลักฐานปรากฏชัดเจน แต่มีเรื่องราวที่เล่าขานสืบต่อกันมา และข้อสันนิษฐานทางโบราณคดีคือมีกู่มหาธาตุ (ปรางค์กู่บ้านเขวา) สร้างด้วยศิลาแลงเป็นศิลปะขอมแบบบายนรูปกระโจมสี่เหลี่ยม สูงจากพื้นดินถึงยอด 4 วา กว้าง 2 วา 2 ศอก ภายในปราสาท ล้อมรอบด้วยกำแพงสี่เหลี่ยม มีซุ้มประตู มีกู่ปรางค์ประธาน คาดว่าสร้างในพุทธศตวรรษที่ 18 เป็นโรคยาศาล ศาสนาพุทธลัทธิมหายาน ประติมากรรมที่ค้นพบเป็นรูปเคารพหินทราย 2 องค์ องค์หนึ่งคือ พระพุทธไภษัชยคุรุไวทูรย์ประภา นั่งขัดสมาธิ ประนมมือ ถือสังข์ มีกำแพงทำด้วยศิลาแลงล้อมรอบ โคปุระ ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้มีบรรณาลัย 1 หลัง มีซุ้มประตูอยู่กึ่งกลางกำแพงแก้ว ด้านหน้าเป็นทางเข้าออกเพียงด้านเดียว ส่วนอีก 3 ด้าน เป็นประตูหลอก กรอบประตูและทับหลังเป็นหินทราย สร้างอยู่บนพื้นที่ก่อนการเข้ามาของกลุ่มคนที่เดินทางมาจากจังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดกาฬสินธุ์ อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานเพื่อทำมาหากิน จากการสันนิษฐานพื้นที่บริเวณบ้านเชวาเคยเป็นอาณาบริเวณของชุมชนโบราณสมัยขอมเรืองอำนาจ ซึ่งพบพื้นที่บ้านเชียงเหียนที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบถึงสองชั้น ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งของชุมชนโบราณและมีพื้นที่ใกล้เคียงกับชุมชนบ้านเขวาปัจจุบัน
ต่อมาเมื่อกลุ่มคนจากร้อยเอ็ดประสบปัญหาในการดำรงชีวิตจึงอพยพโยกย้ายมาหาที่ทำกินใหม่ เมื่อมาพบพื้นที่ที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติและแหล่งน้ำเหมาะแก่การทำเกษตรกรรม จึงได้ตั้งรกรากขึ้นและเรียกขานกันว่า “บ้านเขวา” เนื่องจากมีต้นเขวาขึ้นอยู่ในพื้นที่มากมาย ในสมัยเจ้าเมืองท้าวมหาชัยปกครองเมืองมหาสารคาม มีการแต่งตั้งขุนเขวาเขตผดุง นามเดิมทองอินทร์ จันทร์สมบัติ เป็นผู้ปกครองตำบลเขวาคนแรก ต่อมาเมื่อมีผู้คนเดินทางมาอาศัยอยู่จำนวนมากทั้งในพื้นที่บ้านหม้อ และบ้านติ้วที่อยู่ใกล้เคียงกันประชากรเริ่มเพิ่มจำนวนมากขึ้น จึงมีหมู่บ้านเพิ่มขึ้นมาใหม่จำนวนมากจนถึงปัจจุบัน
ข้อมูลทั่วไปของชุมชนบ้านเขวา ตั้งอยู่ที่ตำบลเขวา อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลลาดพัฒนา อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลมิตรภาพ ตำบลหนองกุง อำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลแวงน่าง และเทศบาลเมืองมหาสารคาม อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลท่าตูม ตำบลห้วยแอ่ง อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม
ปัจจุบันจำนวนประชากรบ้านหม้อมีทั้งหมด 707 คน มีจำนวนบ้านเรือนทั้งหมด 256 หลังคาเรือน
ชุมชนบ้านเขวาประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นจำนวนถึงร้อยละ 60 ของประชากรทั้งหมด นอกนั้นจะเป็นการทำอาชีพรับจ้าง ค้าขาย รับราชการ เนื่องจากชุมชนบ้านเขวาเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับตัวเมืองมหาสารคามไม่มากนักและยังเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อระหว่างจังหวัดมหาสารคามกับจังหวัดร้อยเอ็ด ชุมชนแห่งนี้จึงมีทั้งพื้นที่ทำการเกษตร พื้นที่ค้าขายที่มีความเหมาะสม
ชาวบ้านเขวาปัจจุบันมีอาชีพทำการเกษตรเป็นหลักและรองลงมาคืออาชีพรับจ้างและค้าขาย
กู่มหาธาตุ
ปรางค์กู่บ้านเขวาเป็นโบราณสถานที่มีอายุราว ๆ ปี พุทธศตวรรษที่ 18 สร้างขึ้นเพื่อเป็นอโรคยาศาล ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นศิลปะขอมแบบบายน ทำจากศิลาแลง เป็นรูปกระโจมสี่เหลี่ยม โดยสูงจากพื้นดินถึงยอด 4 วา กว้าง 2 วา 2 ศอก ภายในปราสาทก็จะมีเทวรูป ที่ทำจากดินเผา 2 องค์ นั่งขัดสมาธิ ประนมมือ ถือสังข์ รวมถึงยังมีกำแพงทำด้วยศิลาแลงล้อมรอบอีกชั้น ส่วนโคปุระ ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ก็มีบรรณาลัย 1 หลัง มีซุ้มประตูอยู่กึ่งกลางกำแพงแก้ว ส่วนด้านหน้าก็จะเป็นทางเข้าออก ที่มีเพียงด้านเดียวเท่านั้น ส่วนอีก 3 ด้านนั้น จะเป็นประตูหลอก กรอบประตูและทับหลังก็เป็นหินทราย ซึ่งที่นี่กรมศิลปากรก็ได้ทำการขุดแต่งเรียบร้อยแล้ว


ชุมชนบ้านเขวาโดยมากอพยพมาจากพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดซึ่งเดิมเป็นคนอีสาน ภาษาที่ใช้ในชุมชนส่วนมากจึงเป็นภาษาอีสานที่ใช้สื่อสารทั่วไปในชุมชน
ความเปลี่ยนแปลงด้านประเพณีพิธีกรรมในการสรงกู่บ้านเขวาในช่วง พ.ศ. 2478-2564 ประเพณีสรงกู่บ้านเขวาปรับเปลี่ยนตามความเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและสังคม กล่าวคือก่อน พ.ศ. 2478 ประเพณีสรงกู่เกิดจากความร่วมมือของคนในชุมชนท้องถิ่นเป็นหลักซึ่งสถานที่จัดงานคือบริเวณรอบกู่ โดยการสรงน้ำหอมพระพุทธรูปและกิจกรรมรื่นเริงของชาวบ้านร่วมกันจัดขึ้น เช่น มวย รำวง หมอลำ ต่อมาช่วงหลัง พ.ศ. 2478-2535 กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนและขุดแต่งโบราณสถานกู่บ้านเขวา พร้อมทั้งกำหนดพื้นที่โบราณสถานไม่ให้ชาวบ้านก้าวล่วง และตั้งแต่ พ.ศ. 2535-2564 รัฐราชการได้เข้ามามีบทบาทในการจัดงานประเพณีเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว จึงพบว่าชุมชนเริ่มหมดบทบาทความสำคัญลง ขณะเดียวกันรัฐราชการกลับมีบทบาทและอำนาจในการจัดงานสรงกู่อย่างเบ็ดเสร็จ ซึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในงานประเพณีสรงกู่บ้านเขวาสามารถนำไปเป็นตัวบทเพื่อทำความเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงประเพณีสรงกู่ในพื้นที่อื่น ๆ ของภูมิภาคอีสานทำให้เกิดประเพณีประดิษฐ์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและส่งเสริมรายได้เกิดขึ้นในชุมชน
องค์การบริหารส่วนตำบลเขวา. (2561). แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2561-2564). สืบค้นจาก http://www.tumbonkhwao.go.th/
nukkpidet. (2564). กู่มหาธาตุ (กู่บ้านเขวา). สืบค้นเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2566. สืบค้นจาก https://travel.trueid.net/
เมวลัย นิมิต และ นราวิทย์ ดาวเรือง. (2565). สรงกู่บ้านเขวากับการกลายเป็นประเพณีประดิษฐ์ ช่วงปี พ.ศ.2535-2564.วารสาร มจร กาญจนปริทรรศน์ ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม-สิงหาคม 2565)