Advance search

บ้านหนองแวง

ชุมชนบ้านหนองแวงเดิมเป็นเพียงพื้นที่ชุมชนธรรมดา แต่อยู่ติดกับพื้นที่ราชพัสดุ จากการสร้างศูนย์ราชการจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งเป็นแหล่งรวมของหน่วยงานราชการทั้งหมด ทำให้บ้านหนองแวงได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

หมู่ที่ 1
หนองแวง
แวงน่าง
เมืองมหาสารคาม
มหาสารคาม
ณัฐพล นาทันตอง
1 ก.ค. 2023
วุฒิกร กะตะสีลา
2 ก.ค. 2023
ณัฐพล นาทันตอง
11 ก.ค. 2023
บ้านหนองแวง

บ้านหนองแวงตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.ใดไม่มีใครทราบโดยแน่ชัด แต่มีเรื่องการตั้งเมืองมหาสารคามซึ่งมีเรื่องการตั้งบ้านหนองแวงปรากฏอยู่ด้วย จากหนังสือพงศาวดารภาค 4 ฉบับหอสมุดแห่งชาติกรุงเทพมหานคร โดยมีนายบุญช่วย อัตถากร อดีตนายกเทศมนตรีเมืองมหาสารคามเป็นผู้คัดลอกมา มีข้อความตอนหนึ่งว่า “นายโล่ มีชาติกำเนิดมาจากเมืองเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว บิดามารดาในตำนานไม่ปรากฏชื่อ ได้อพยพถิ่นฐานมากับ จารย์แก้วมงคล จากเมืองเวียงจันทน์” เพื่อมาหาที่ทำเลตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองศรีภูมิ (อำเภอสุวรรณภูมิจังหวัดร้อยเอ็ดในปัจจุบัน)  โดยหลังจากนายโล่ได้รับราชการอยู่กับเจ้าเมืองร้อยเอ็ดเป็นเวลาหลายปี ต่อมานายโล่ได้พาญาติพี่น้องอพยพไปหาที่ทำเลใหม่ที่มีความอุดมสมบูรณ์กว่าที่เดิมเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ (ไปอยู่บ้านใหม่) จนได้มาพบหนองน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์น้ำและสัตว์ป่านานาชนิด ที่มาอาศัยหาอาหารและกินน้ำในหนองนี้ เมื่อสร้างบ้านเรือนเสร็จแล้วจึงตั้งชื่อบ้านว่า "หนองแวงทับน่าง" และเปลี่ยนเป็น "หนองแวง" จนปัจจุบัน


ชุมชนบ้านหนองแวงเดิมเป็นเพียงพื้นที่ชุมชนธรรมดา แต่อยู่ติดกับพื้นที่ราชพัสดุ จากการสร้างศูนย์ราชการจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งเป็นแหล่งรวมของหน่วยงานราชการทั้งหมด ทำให้บ้านหนองแวงได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

หนองแวง
หมู่ที่ 1
แวงน่าง
เมืองมหาสารคาม
มหาสารคาม
44000
เทศบาลตำบลแวงน่าง โทร. 0-4377-7348
16.15694232916299
103.30911999990056
องค์การบริหารส่วนตำบลแวงน่าง

ยุคแรก ก่อนตั้งบ้านหนองแวงในปี พ.ศ. 2404 หนองแวงคือพื้นที่บริเวณแถววัดใต้จะมีหนองน้ำขนาดใหญ่ สมัยก่อนมีนายพรานเดินทางมาล่าสัตว์แล้วมาเจอกับหนองน้ำบริเวณนี้เห็นว่าสัตว์อยู่เป็นจำนวนมากเพราะเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์เลยใช้น่าง (เครื่องมือดักสัตว์) ในการล่าสัตว์ ได้จำนวนเยอะจึงกลับไปบอกคนทางร้อยเอ็ดว่าอยู่ที่แห่งนี้เป็นที่อุดมสมบูรณ์น่าจะตั้งชุมชนได้นายพรานได้ทำเนื้อแห้งจากการล่าสัตว์ไปฝาก ผู้คนทางร้อยเอ็ดก็สอบถามว่าไปได้มาจากไหนเมื่อรู้ว่าทางหนองแวงอุดมสมบูรณ์เลยพากันอพยพมาอยู่ แต่เป็นการมาแบบไม่ได้ตั้งใจย้ายมาอยู่ แต่มาเพื่อมาล่าสัตว์ จึงมาเป็นหนองแวงทับน่าง (น่างคือเครื่องมือดักสัตว์ชนิดหนึ่ง ลักษณะคล้ายกับซิงดักนกคุ้ม)

จากนั้นก็ผิดเพี้ยนมาเป็นหนองแวงน่าง มีหนองที่อุดมสมบูรณ์ แวงคือต้นแวงมีจำนวนมากคนที่มาจากร้อยเอ็ดมาจากเมืองศรีภูมิ (อำเภอสุวรรณภูมิในปัจจุบัน) คนพามาคือนายโล่ มีชาติกำเนิดมาจากเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อพยพถิ่นฐานมากับจารย์แก้วมงคล จากเมืองเวียงจันทน์ ทีแรกมาเมืองศรีภูมิก่อน (อำเภอสุวรรณภูมิในปัจจุบัน) และได้ยินข่าวว่าตรงนี้อุดมสมบูรณ์ก็เลยพากันมาหนองแวงหาทำเลที่ตั้งเมืองตั้งบ้านอยู่ ตระกูลแรกที่เข้ามาตั้งบ้านคือ “ภูวตานนท์ ” สายเดียวกับเจ้าเมืองกวด แยกออกมาจากบ้านจารย์หรือวัดอภิสิทธิ์ในปัจจุบัน ทั้งผู้คนดั้งเดิมและผู้คนจากเมืองร้อยเอ็ด “บ้านหลังแรก บ้านเลขที่ 1 หมู่ 1 คุณพ่อเสน ตะพา”

ยุคที่สอง การตั้งบ้านเมืองสร้างชุมชน ในปี พ.ศ. 2404-2477 ภายหลังนายโล่ได้รับราชการกับเจ้าเมืองร้อยเอ็ดอยู่หลายปี พาญาติพี่น้องอพยพมาหาที่ตั้งทำเลใหม่ การที่นายโล่ได้มาอยู่ที่นี่ก็ได้บวชเป็นพระภิกษุ ได้ไปเรียนบาลีอยู่จังหวัดอุบลราชธานี พอเสร็จก็เดินทางมาจำพรรษาอยู่วัดใต้แวงน่าง พ.ศ. 2404 (อาจจะก่อนตั้งเมืองมหาสารคามเพราะมหาสารคามตั้ง พ.ศ. 2408) พอมาอยู่เจ้าเมืองร้อยเอ็ด (อุปฮาดสิงห์) เลยอยากหาคนที่มีความรู้ไปสร้างแปงเมืองมหาสารคามขึ้น อุปฮาดสิงห์เลยเห็นว่าคนที่มีความรู้ ความสามารถ และความเหมาะสมก็คือนายกวด หรือเซียงกวด ในขณะนั้นนายกวดหรือเซียงกวดก็ยังรับราชการอยู่ที่กรุงเทพฯ ก็เลยเรียกตัวนายกวดขึ้นมามหาสารคาม เพื่อมาเป็นเจ้าเมืองมหาสารคามเอาราษฎรมาจากกรุงเทพฯด้วยประมาณ 2,000 คน มาสร้างบ้านอยู่บ้านกุดยางใหญ่ หรือ กุดนางใยในปัจจุบัน และเจ้าเมืองชื่อพระเจริญราชเดช หลังจากสร้างเมืองแล้วแต่ยังไม่มีวัดประจำเมืองมหาสารคาม เลยมองว่าคนที่จะสร้างวัดได้ก็คือหลวงปู่โล่ ที่จำพรรษาอยู่วัดใต้แวงน่าง เจ้าเมืองมหาสารคามเลยนิมนต์หลวงปู่โล่จากวัดใต้แวงน่างไปเป็นประธานสร้างอุโบสถคือวัดมหาชัยในปัจจุบันเลยได้ชื่อว่า พระครูสุรรณดี ศรีสังวโล ตำแหน่งหลักคำและได้บรรจุเป็นอุปัชฌาย์ และท้ายที่สุดก็กลับมาจำพรรษาอยู่วัดใต้หนองแวงเช่นเดิม ซึ่งบ้านที่ตั้งเริ่มต้นคือพื้นที่หมู่ 1 ในปัจจุบันเพราะติดกับหนองน้ำที่ตั้งชุมชนเพราะมีหนองน้ำมีป่าที่อุดมสมบูรณ์

ยุคที่สาม การขยายเมืองการเข้ามาของศูนย์ราชการ ในปี พ.ศ. 2478-2516 เมื่อปี พ.ศ. 2478 สถานีบำรุงพันธุ์สัตว์มหาสารคามภายใต้การกำกับดูแลของบำรุงพันธุ์ กรมปศุสัตว์ได้เริ่มก่อตั้งขึ้นที่ ต.แวงน่าง อ.เมือง จ.มหาสารคาม เลี้ยงโคพันธุ์บราห์มัน สุกรและสัตว์ปีก มีพื้นที่ประมาณ 2,448 ไร่ และได้มีหน่วยงานของทางราชการอื่น ๆ ขอใช้พื้นที่ไปบางส่วน การที่มีสถานีบำรุงพันธุ์สัตว์เข้ามาตั้งทำให้เกิดประโยชน์แก่คนในชุมชนคือ 1.ทำให้มีงานทำ 2.สร้างรายได้ 3.ส่งเสริมปศุสัตว์ 4.ส่งเสริมการเกษตร ชาวบ้านหนองแวงไปทำงานที่สถานีบำรุงพันธุ์สัตว์ประมาณ 150 คน (ไม่ถึงครึ่งของสมาชิกในหมู่บ้าน) ทำต่อมาเรื่อย ๆ จากรุ่นสู่รุ่นเป็นงานหลักของชุมชน ในช่วงนั้นที่ได้เป็นลูกจ้างราชการ ทหารอากาศมาก่อนสถานีบำรุงพันธุ์สัตว์ การที่ทหารอากาศเข้ามาส่งผลดีต่อคนในชุมชน สมัยนั้นเวลามีเหตุอะไรก็จะใช้ทหารอากาศในการสื่อสารควบคุมดูแล (ประชาสัมพันธ์) ผู้คนมักจะไปชมการแสดงเนื่องจากเป็นงานรื่นเริง โดยวิธีเดินทางคือเดินและปั่นจักรยาน

ต่อมา พ.ศ. 2409 มีสถานศึกษาเข้ามา (รร.ปริยัติธรรม) อยู่ที่วัดเหนือ พระนิยมมาเรียนเยอะเลยเป็นศูนย์กลางการเรียนของพระในภาคอีสานช่วงหนึ่ง ส่วนมากมาจากต่างจังหวัด เพราะฉะนั้นหมู่บ้านหนองแวงจะเด่นในด้านการศึกษา ส่งผลทำให้ผู้คนรู้จักบ้านหนองแวงมากขึ้น และเข้ามาอยู่อาศัย เศรษฐกิจช่วง พ.ศ. 2504 มีการปลูกปอ ปลูกมัน อยู่ที่ไร่ที่นาตัวเองไม่ได้เดือดร้อนใคร ก่อนปลูกปอป่าไม้มีจำนวนมาก หลังปลูกปอป่าไม้ยังคงเหลืออยู่ไม่ได้หายหรือตายหมด การปลูกปอทำให้เกิดรายได้โดยการเอาปอ, มัน ไปขายในหมู่บ้าน ก็จะมีนายฮ้อย 1.นายเสริม ศรีพล 2.นายเจริญ วรรณขันต์ 3.นายรุน พิทา เป็นผู้รับซื้อ ปอ, มัน, ข้าว, หนัง จากชาวบ้านหนองแวง ปริมาณการปลูกปอมากขึ้น ทำให้มีรายได้มากขึ้น และจะมีร้านสหศิลป์มารับซื้อต่อน้อยฮ้อยอีกทีเพื่อเอาไปส่งห้างย่งเฮง อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ถนนเส้นแรกหรือเส้นหลักในชุมชนคือ เส้นสารคาม-วาปีปทุม ถนนเป็นทางเกวียน (เส้นหน้าวัดเหนือ) ประมาณ พ.ศ. 2515 มีการลาดยางถนนเส้นสารคาม-วาปีปทุม การทำถนนครั้งนี้ทำให้เกิดรายได้ของคนในชุมชนคือการรับจ้างทำถนน ทำให้เดินทางสะดวกมากขึ้น และมีการขยายตัวชุมชนออกไปทางถนนเส้นหลัก

ยุคที่สี่ การพัฒนาเมื่อไฟฟ้าเข้ามาในปี พ.ศ. 2517-2534 มีการเข้ามาของไฟฟ้าใน พ.ศ. 2517 เป็นการไฟฟ้าที่เชื่อมระหว่างสารคาม-วาปีปทุมเป็นช่วงหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชมาทำงานที่มหาสารคาม และนำความเจริญเพิ่มคือการที่มีไฟฟ้าเข้ามา ทำให้ร้านค้าในชุมชนเกิดรายได้คือมีโทรทัศน์ วิทยุ ให้ผู้คนได้เข้ามาเช่า/จ่ายเงินได้รับรู้ข่าวสารเหตุการณ์บ้านเมืองหลังจากนั้นได้เกิดการแบ่งเขตการปกครองหมู่บ้าน 2 หมู่บ้านคือ หมู่บ้านหนองเจริญและ หมู่ที่ 8 เนื่องจากมีผู้คนเริ่มหนาแน่น จริง ๆ มีชุมชนอยู่แล้วแต่ยังไม่ได้แบ่งการปกครอง บางคนบอกฝั่งหมู่ 8 มีการอพยพมาจากที่อื่น ต่อมาจึงมีการสร้างวัดเหนือทางคุ้มหมาหม้องหรือชุมชนท่าแสบง พื้นที่การก่อตั้งโรงเรียน, ชุมชน, วัด ห่างกันเลยต้องมีการแบ่งชุมชน เป็นหมู่บ้านที่มีขนาดใหญ่จึงต้องจัดการการปกครอง มีหมู่บ้าน 3 หมู่ที่ติดกันตอนนี้ คือ แวงน่าง, หนองเจริญ, คุ้มหมาหม้อง (หมู่ 8) ตอนนี้หมู่ 8 เป็นพื้นที่ที่มีผู้คนอยู่จำนวนมาก การตั้งชุมชนแรกเริ่มไม่ได้ตั้งใจอยู่กันหนาแน่น แต่กระจายตัวกันเป็นกลุ่ม ๆ ส่วนมากอยู่บ้านหนองแวงเป็นหลัก รุ่นพ่อแม่จะย้ายไปอยู่หัวไร่ปลายนากระจายกันออกไปก็เลยต้องแบ่งการปกครอง

เมื่อปี พ.ศ. 2546 กรมปศุสัตว์ได้ยุบสถานีบำรุงพันธุ์สัตว์มหาสารคาม ได้ปรับเปลี่ยนภารกิจการบริหารส่วนราชการ โดยมอบให้สำนักงานพัฒนาการปศุสัตว์ และถ่ายทอดเทคโนโลยี กำกับดูแลแทนเปลี่ยนชื่อเป็น “ศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีมหาสารคาม” มีพื้นที่ทั้งหมด 1,772 ไร่ เป็นพื้นที่สำนักงาน อาคาร โรงเรือน คอกสาร และคอกสัตว์ปีก ที่เหลือแปลงหญ้าสำหรับเลี้ยงโคประมาณ 1,300 ไร่ จากนั้นภารกิจของศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีมหาสารคาม การเลี้ยงโคได้ลดลงมีแม่โคเนื้อ 30 ตัว แปลงหญ้าที่มีอยู่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เต็มที่ขาดการบำรุงรักษา ทำให้แปลงหญ้ามีสภาพเสื่อมโทรม ชาวบ้านบุกรุกโดยนำสัตว์เข้ามาเลี้ยง เช่น โค กระบือ และราชพัสดุขอคืนพื้นที่ที่ไม่ใช้ประโยชน์ กรมปศุสัตว์ จึงมีนโยบายในการใช้พื้นที่ของศูนย์วิจัยและถ่ายเทคโนโลยีมหาสารคาม ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับกรมปศุสัตว์ ได้มอบหมายให้กองบำรุงพันธุ์สัตว์ กองอาหารสัตว์พิจารณาหาแนวทางใช้ประโยชน์การเลี้ยงโคในพื้นที่นี้

ยุคที่ห้า การเปลี่ยนแปลงสมัยใหม่ในปี พ.ศ. 2535-2565 การก่อตั้งขึ้นของศูนย์ราชการจังหวัดมหาสารคามหรือเรียกกันติดปากว่า "ศาลากลางหลังใหม่" นับเป็นการขยายตัวของเมืองมหาสารคามทางด้านทิศใต้ให้คึกคักมากขึ้น ซึ่งแต่เดิมพื้นที่ศูนย์ราชการแห่งใหม่เป็นที่ดินของกองทัพอากาศที่มอบให้ปศุสัตว์ใช้ในการดำเนินงานของสถานีบำรุงสัตว์ จำนวน 2448 ไร่ใช้เป็นพื้นที่ศูนย์ราชการจำนวน 167 ไร่ 1 งาน ศูนย์ราชการแห่งใหม่ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกถนนเลี่ยงเมืองหมายเลข 23 ตัดกับถนนมหาสารคาม-วาปีปทุมในเขตตำบลแวงน่าง อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม เริ่มสร้างเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2540 กำหนดการแล้วเสร็จวันที่ 21 ธันวาคม 2542 และทำพิธีเปิดโดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีฯ ในวันที่ 26 ธันวาคม 2542 จากการก่อตั้งศูนย์ราชการแห่งใหม่โดยมีการย้ายหน่วยงานภายใต้สังกัดมายังที่ทำการใหม่ทั้งหมดหลังจากศูนย์ราชการแห่งใหม่ได้เปิดทำการบางหน่วยงานที่ยังไม่มีที่ตั้งของสำนักงานได้อาศัยศาลากลางหลังใหม่เป็นที่ทำการ เช่น สำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาจังหวัดมหาสารคาม (สกสค.) ซึ่งต่อมาไม่นานก็มีการเริ่มสร้างที่ทำการของหน่วยงานราชการเกิดขึ้น โดยเริ่มจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 26 (สพม. 26) ในปี พ.ศ. 2553, องค์การบริหารส่วนตำบลแวงน่างสร้างขึ้น พ.ศ. 2554 สหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขมหาสารคามสร้างขึ้น พ.ศ. 2555, สำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาจังหวัดมหาสารคาม (สกสค.) สร้างเมื่อ พ.ศ. 2556, และท้ายสุดคือสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดมหาสารคามสร้างเมื่อ พ.ศ. 2558

จากการสร้างขึ้นใหม่ของสถานที่ราชการส่วนหนึ่งจากการสัมภาษณ์ได้คำตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าเพื่อความสะดวกสบายในการเดินทางมาติดต่อราชการการคมนาคมสะดวกสบายมากขึ้น เป็นต้น แต่มีความข้อสังเกตการณ์มากระจุกตัวของสถานที่ราชการต่าง ๆ ดังนี้ ประการแรกตำบลแวงน่างเป็นสถานที่ที่มีหน่วยงานราชการเดิมอยู่หลายแห่ง เช่น สำนักงานขนส่งจังหวัด สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองสำนักงานสาธารณสุข สำนักงานปศุสัตว์ สำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคามเป็นต้นจึงเป็นสาเหตุให้การเลือกที่ตั้งศูนย์ราชการแห่งใหม่มาใกล้ชิดกับหน่วยงานราชการเดิมที่มีอยู่แล้วเพื่อความสะดวกในการติดต่อราชการ ประการต่อมาเนื่องจากสถานที่ตั้งหน่วยงานราชการไม่ว่าจะเป็นศูนย์ราชการ หน่วยงานราชการใกล้เคียง ล้วนเป็นที่ดินราชพัสดุเดิมอยู่แล้วในการก่อสร้างไม่ต้องทำการซื้อที่ดินจากประชาชน ซึ่งเดิมพื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่ของกองทัพอากาศจึงเป็นพื้นที่ของส่วนราชการที่สามารถขอที่ดินเพื่อก่อสร้างหน่วยงานราชการได้ง่ายขึ้น ศูนย์ราชการแห่งใหม่นี้นับว่าเป็นความสะดวกสบายต่อการเดินทางมาติดต่อราชเนื่องจากตั้งอยู่ติดถนนเส้นรอบเมืองทำให้การจราจรไม่ติดขัดมาก ประกอบกับเป็นการนำความเจริญมาสู่ชุมชนรอบนอกจากศูนย์ราชการจะทำให้เกิดการขยายตัวของหน่วยงานราชการรอบข้างแล้วนั้นยังส่งผล ให้ชุมชนแวงน่างเกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน หลังจากที่ศูนย์ราชการสร้างแล้วเสร็จนั้นบ้านหนองแวงได้มีการเปลี่ยนแปลงขึ้นเห็นได้จากเริ่มมีร้านค้าขายเกิดขึ้นเช่นร้านอาหารตามสั่ง ร้านส้มตำร้านสะดวกซื้อ ร้านค้าเอกชน รวมถึงตลาดแวงน่างที่มีผู้คนมาจับจ่ายมากขึ้น เป็นต้น

การเกิดขึ้นของร้านอาหาร ตลาดที่ขยายขายของเพิ่มขึ้นเป็นตัวบ่งบอกถึงการเพิ่มขึ้นของประชากรที่อยู่รอบบริเวณชุมชนและผู้สัญจรผ่านชุมชนมากขึ้น ตลาดแวงน่างเกิดขึ้นหลังจากศูนย์ราชการเปิดใช้งานเริ่มแรกไม่มีคนมาขายของมากเท่าไหร่นักมีเพียงชาวบ้านเก็บผักที่ปลูกไว้มาขายในช่วงเย็นซึ่งไม่คึกคักมากนักต่างจากตอนนี้ที่ตลาดคึกคักมากขึ้นแม่ค้ามาค้าขายเพิ่มขึ้นจนล้นตลาดออกมาขายบริเวณถนนข้างตลาดทั้งสองข้าง ผลผลิตที่นำมาขายก็ไม่ใช่ผักที่ปลูกเองแล้วถ้ามีก็คงส่วนน้อยแล้วจะเป็นผักที่นำมาส่งเสียมากกว่าการที่ตลาดมีผู้คนมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นเนื่องจากอยู่ใกล้สถานที่ราชการส่วนมากแล้วคนที่มาจับจ่ายเป็นข้าราชการ พนักงานของหน่วยงานราชการที่ทำงานอยู่ศูนย์ราชการนั่นเอง รวมไปถึงผู้คนที่เดินทางมาติดต่อราชการผ่านมาและแวะจับจ่ายซื้อของจากนั้นเรื่อยมาก็มีตึกแถว อาคารพาณิชย์ ร้านค้าปลีก-ส่ง เพิ่มขึ้นเป็นลำดับสื่อให้เห็นถึงความเจริญเติบโตของชุมชนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

การกระจุกตัวของศูนย์ราชการ หน่วยงานราชการเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความเจริญและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน การที่สถานที่ราชการเข้ามาทำให้เกิดการขายที่ดินให้กับบุคคลภายนอก คนภายนอกเข้ามาสร้างบ้าน เริ่มมีข้าราชการมาซื้อที่ชุมชนเริ่มหนาแน่นมากขึ้น และทำให้เกิดการขยายตัวมากขึ้น มีหมู่บ้านจัดสรร, เซเว่น, โลตัส, คลินิก, ปั๊มน้ำมัน, ศูนย์ราชการ ฯลฯ ผู้คนที่มาทำงานสถานที่ราชการก็มาหาซื้อที่สร้างบ้านกระจายกันไปเพราะใกล้กับที่ทำงาน บ้านจัดสรรจะเป็นบ้านตำรวจ (ไม่ใช่สถานที่ราชการ แต่มีนายทุนมาซื้อและทำบ้านจัดสรร) ตำรวจมาอาศัยอยู่ที่นี่เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงเรียกว่าหมู่บ้านตำรวจ การที่ผู้คนมาอยู่มากขึ้นจึงเกิดปัญหาในชุมชนคือความหนาแน่นในพื้นที่ทุกหมู่บ้านในหนองแวง ลูกหลานขยับขยายต่อเติมบ้าน ผู้สูงอายุบางส่วนไปสร้างบ้านที่นาตัวเองเพื่อลดปัญหาความแออัด พ.ศ. 2537 มีการตั้งตลาด ลักษณะตลาดมุงหลังคาสังกะสี อยู่บริเวณติดถนนเส้นหลัก สารคาม-วาปีปทุม ชาวบ้านต่างเอาของป่าไปขายหรือพืชผักที่ปลูกเองตามบ้านตามนาของตัวเอง ทำให้เกิดรายได้ภายในครอบครัว ตลาดเกิดการขยับขยายออกไปรอบข้างเรื่อย ๆ จนเป็นตลาดชุมชนขนาดใหญ่ ทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจของหมู่บ้านหนองแวงจนถึงปัจจุบัน ผู้คนจากในเมืองมหาสารคามก็มาซื้อขายของกัน คนนอกที่มาขายของอยู่ตลาดบ้านหนองแวงก็มาสร้างบ้านเรือนเพิ่มขึ้นบริเวณบ้านหนองแวงเพื่อสะดวกในการเดินทาง

หลังวิกฤตเศรษฐกิจ การขยายตัวของชุมชนเมืองมหาสารคามเริ่มดำเนินการอีกครั้ง เมื่อสภาพเศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น ในช่วงปี พ.ศ. 2550 การขยายพื้นที่ของศาลากลางหลังใหม่ และส่วนราชการอื่น ๆ ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองตามแนวถนนไปจังหวัดบุรีรัมย์ ทำให้เกิดการขยายตัวของชุมชนตามเส้นทางดังกล่าว บ้านหนองแวงซึ่งอยู่ใกล้ศาลากลางใหม่มีผู้คนตั้งบ้านเรือนหนาแน่นขึ้น ตลาดบ้านหนองแวงได้ขยายตัวจนเป็นตลาดใหญ่แห่งหนึ่งของจังหวัดมหาสารคาม

บทสรุป

จากการศึกษาการขยายตัวของบ้านหนองแวงตำบล แวงน่าง อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม ในช่วง พ.ศ. 2504-2565 สรุปได้ว่า มีการตั้งบ้านหนองแวงพร้อม ๆ กับการตั้งเมืองมหาสารคาม มากับเจ้ากวด ในยุคเริ่มต้นแต่มีคนตั้งก่อนหน้านั้นคือหลวงปู่โล่มาตั้งหมู่บ้านก่อน และคือบุคคลสำคัญของหมู่บ้าน ต่อมาในปี พ.ศ. 2485 สถานีบำรุงพันธุ์สัตว์เข้ามาทำให้คนในหมู่บ้านมีงานทำเป็นราชการลูกจ้างและทำให้หมู่บ้านหนองแวงเจริญมากขึ้นในอาชีพการทำงาน ทำให้เกิดประโยชน์แก่คนในชุมชน1 .ทำให้มีงานทำ 2.สร้างรายได้ 3.ส่งเสริมปศุสัตว์ 4.ส่งเสริมการเกษตร ทหารอากาศมาก่อนสถานีบำรุงพันธุ์สัตว์การที่ทหารอากาศเข้ามาส่งผลดีต่อคนในชุมชนสมัยนั้นเวลามีเหตุอะไรก็จะใช้ทางอากาศในการสื่อสารควบคุมดูแลประชาสัมพันธ์ เมื่อปี พ.ศ. 2490 มีการศึกษาเข้ามาโรงเรียนปริยัติธรรมอยู่ที่วัดเหนือพระนิยมมาเรียนเยอะเลยเป็นศูนย์กลางการเรียนของพระในภาคอีสานช่วงหนึ่งส่วนมากมาจากต่างจังหวัดเพราะฉะนั้นหมู่บ้านหนองแวงจะเด่นในด้านการศึกษา ส่งผลทำให้ผู้คนรู้จักบ้านหนองแวงมากขึ้นและเข้ามาอยู่อาศัยมีถนนเส้นแรกหรือเส้นหลักในชุมชนคือเส้น สารคาม-วาปีปทุม ถนนเป็นทางเกรียนเส้นหน้าวัดเหนือ จากนั้นมีการลาดยางถนนเส้นสารคาม-วาปีปทุม การทำถนนครั้งนี้ทำให้เกิดรายได้ของคนในชุมชนคือการรับจ้างทำถนนและมีการขยายตัวชุมชนออกไปทางถนนเส้นหลักมีไฟฟ้าเข้ามาในปี พ.ศ. 2517 ทำให้ร้านค้าในชุมชนเกิดรายได้คือมีโทรทัศน์วิทยุให้ผู้คนได้เข้ามาเช่าจ่ายเงินได้รับรู้ข่าวสารบ้านเมือง ปัจจุบันเนื่องจากเกิดการขยายตัวของศูนย์ราชการมาบ้านหนองแวงและมีความเจริญมากขึ้นทำให้เกิดความแออัดในของผู้คนเกิดตลาดร้านค้าเยอะขึ้นตามความต้องการของผู้บริโภคและมีบางช่วงอาจทำให้เกิดการจราจรติดขัดเนื่องจากบริเวณแหล่งชุมชนและแหล่งตลาด

บ้านหนองแวง หมู่ที่ 1 ตำบล แวงน่าง ตั้งอยู่ในอำเภอเมืองมหาสารคามจังหวัดมหาสารคาม ห่างจากอำเภอเมืองมหาสารคาม ไปทางทิศตะวันออก ระยะทาง 6 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 2,500 ไร่ หรือ ราว 4 ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้ 

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ สถานีศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านจำนัก ตำบลหนองปลิง อำเภอเมืองมหาสารคาม
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านดงน้อย ตำบลแวงน่าง อำเภอเมืองมหาสารคาม
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านหนองแวงหมู่ 8 ตำบลแวงน่าง อำเภอเมืองมหาสารคาม

ปัจจุบันจำนวนประชากรบ้านหนองแวงมีทั้งหมด 937 คน มีจำนวนบ้านเรือนทั้งหมด 456 หลังคาเรือน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ชุมชนบ้านหนองแวงเป็นชุมชนของการทำเกษตรกรรม ประชากรโดยส่วนมากจะทำอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก เช่น การทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์ เป็นต้น และมีการประกอบอาชีพรับจ้าง รับราชการ ลูกจ้างในหน่วยงานราชการ เนื่องจากชุมชนอยู่ใกล้กับสถานที่ราชการ อีกทั้งยังสามารถนำผลผลิตมาขายที่ตลาดในช่วงเย็นได้ทุกวัน 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ตลาดบ้านหนองแวง เป็นทุนชุมชนที่สำคัญที่เป็นแหล่งที่สามารถสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนและในชุมชนข้างเคียงสามารถนำผลผลิตทางด้านการเกษตรหรืออาหารสำเร็จรูปมาขายที่ตลาดได้ทุกเย็น เนื่องจากเป็นทางผ่านและใกล้กับสถานที่ราชการ สามารถดึงดูดลูกค้าได้จำนวนมาก ทำให้ชุมชนมีรายได้จากการขายสินค้าการเกษตร

เนื่องจากบรรพบุรุษของชุมชนเป็นผู้คนที่เดินทางมาจากลาวเพื่อมาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ชุมชนบ้านหนองแวง ดังนั้นการใช้ภาษาพูดในพื้นที่จึงเป็นภาษาอีสานที่ใช้สื่อสารในชุมชนและสามารถใช้ภาษากลางในการสื่อสารกับบุคคลภายนอกได้


การเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ชุมชนมีการพัฒนาอย่างเห็นได้ชัดมากที่สุดคือการเข้ามาตั้งของศูนย์ราชการจังหวัดมหาสารคาม ทำให้จำนวนข้าราชการที่มาปฏิบัติงานที่ศูนย์ราชการมีจำนวนมาก ทำให้เกิดหมู่บ้านจัดสรร เกิดร้านค้าขึ้นจำนวนมาก และจากเดิมที่ตลาดบ้านหนองแวงเดิมที่เป็นตลาดขายสินค้าของชาวบ้านไม่ใหญ่โตมากนัก มีการเปลี่ยนแปลงเป็นตลาดขนาดใหญ่เนื่องจากความต้องการของคนที่มาอาศัยอยู่ในชุมชนเพิ่มจำนวนมากขึ้น

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

นันท์นภัส ปักกาโล. (2565). การขยายตัวของบ้านหนองแวง ตำบล แวงน่าง อำเภอ เมือง จังหวัด มหาสารคามในช่วง พ.ศ. 2504-2565. วิชาสัมมนาประวัติศาสตร์นิพนธ์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

ตลาดบ้านหนองแวง. (2565). ภาพตลาดบ้านหนองแวง. สืบค้นเมื่อ 4 กรกฎาคม 2566. จาก https://www.facebook.com/