Advance search

วังกระดูกขาว

ชุมชนชาวลาวครั่งที่มีประวัติศาสตร์การรวมตัวก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2440 แหล่งต้นกำเนิดเรื่องราวตลกร้ายอันโด่งดังที่เกิดกับอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เหตุการณ์สำคัญที่นำพาบ้านวังน้ำขาวสู่สายตาผู้คน  

บ้านวังน้ำขาว
วังตะเคียน
หนองมะโมง
ชัยนาท
ธำรงค์ บริเวธานันท์
8 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
9 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
12 ก.ค. 2023
บ้านวังน้ำขาว
วังกระดูกขาว

บ้านวังน้ำขาวมีพื้นที่ตั้งอยู่ติดกับลำคลองที่เรียกว่า คลองปากเบ่ง ซึ่งในสมัยนั้นนิยมเรียกลําคลองว่า “วัง” เช่น วังอ่าง วังชะเอม วังปากเบ่ง วังน้ำขาว แต่วังน้ำขาวนั้นมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากวังอื่น ๆ คือ เมื่อถึงฤดูแล้งน้ำจะแห้ง ชาวบ้านจําเป็นต้องขุดบ่อในลําคลอง แต่น้ำในบ่อที่ขุดได้นั้นมีสีขาว ใช้ดื่มไม่ได้ ต่อมาเมื่อชาวบ้านอพยพมาอยู่บริเวณทางทิศใต้ของลําคลอง จึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ว่า “วังน้ำขาว


ชุมชนชาวลาวครั่งที่มีประวัติศาสตร์การรวมตัวก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2440 แหล่งต้นกำเนิดเรื่องราวตลกร้ายอันโด่งดังที่เกิดกับอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เหตุการณ์สำคัญที่นำพาบ้านวังน้ำขาวสู่สายตาผู้คน  

บ้านวังน้ำขาว
วังตะเคียน
หนองมะโมง
ชัยนาท
17120
15.27918761
99.81814563
เทศบาลตำบลวังตะเคียน

หมู่บ้านวังน้ำขาว ก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2440 นำโดยนายโสภีย์ (ไม่ทราบนามสกุล) เป็นผู้นำพาชาวบ้านอพยพจากบ้านกกงิ้วและวังเบ่ง (ปัจจุบันอยู่ในเขตอําเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี) มาตั้งบ้านเรือนอยู่ติดกับลําคลองซึ่งมีลําน้ำสองสายไหลมารวมกัน เรียกว่า คลองปากเบ่ง สมัยนั้นนิยมเรียกลําคลองว่า “วัง” เช่น วังอ่าง วังชะเอม วังปากเบ่ง วังน้ำขาว แต่วังน้ำขาวนั้นแปลกกว่าวังอื่น ๆ คือ เมื่อถึงฤดูแล้งน้ำจะแห้ง ชาวบ้านจําเป็นต้องขุดบ่อในลําคลอง แต่น้ำในบ่อที่ขุดได้นั้นมีสีขาว ใช้ดื่มไม่ได้ ต่อมาเมื่อชาวบ้านอพยพมาอยู่บริเวณทางทิศใต้ของลําคลอง จึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ว่า “วังน้ำขาว"

เนื่องจากหมู่บ้านวังน้ำขาวมีลักษณะภูมิประเทศที่ตั้งอยู่ติดกับลำคลองธรรมชาติที่เอื้ออํานวยต่อวิถีการดํารงชีวิตของคนในหมู่บ้าน ทําให้ในระยะต่อมามีชาวลาวครั่งจากตําบลกุดจอกและตําบลกุดจิกอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านเป็นจํานวนมาก จนเรียกได้ว่าเป็นหมู่บ้านชาวลาว อย่างไรก็ตาม ระยะแรกเมื่อเริ่มตั้งหมู่บ้าน ระบบการแพทย์ซึ่งไม่เจริญมากนักในสมัยนั้นได้ส่งผลให้มีผู้คนล้มตายไปเป็นจํานวนมากด้วยไข้ป่า ชาวบ้านจึงเรียกขานหมู่บ้านแห่งนี้ว่า "วังกระดูกขาว" เป็นอีกชื่อหนึ่ง หลังจากตั้งหมู่บ้านได้อีกช่วงระยะเวลาหนึ่ง ชาวบ้านได้ร่วมมือร่วมใจกันสร้างวัดและโรงเรียนเพื่อเป็นศูนย์รวมในการทํากิจกรรมต่าง ๆ ของชาวบ้าน และเมื่อกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ได้มีการสร้างสถานีตํารวจและสถานีอนามัยขึ้นในหมู่บ้านวังน้ำขาว นอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคภายในหมู่บ้านในเวลาต่อมาด้วย

นอกจากการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่งในหมู่บ้านแห่งนี้แล้ว ยังมีชาวบ้านอพยพมาจากที่อื่น ๆ มากขึ้น อันเนื่องมาจากการแต่งงานกับคนในหมู่บ้านวังน้ำขาว ซึ่งตามประเพณีลาวครั่ง ฝ่ายชายมักจะต้องย้ายมาอยู่ที่บ้านฝ่ายหญิง เช่น ย้ายมาจากจังหวัดใกล้เคียง และจังหวัดทางภาคอีสาน รวมทั้งมีการเคลื่อนย้ายออกไปเป็นแรงงานรับจ้างตามจังหวัดอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น จังหวัดสมุทรปราการ ปทุมธานี และกรุงเทพมหานคร เป็นต้น

เหตุการณ์สําคัญในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งส่งผลให้หมู่บ้านแห่งนี้เป็นที่รู้จักของผู้คนทั่วไป นั่นก็คือ ในช่วง 04.00 น. ของวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2487 ชาวบ้านไปตัดไม้ในป่าท้ายหมู่บ้าน พบชาย 3 คน ซึ่งโดดร่มลงมาบริเวณหนองปลาหมอ ห่างจากหมู่บ้าน ประมาณ 1 กิโลเมตร ทราบชื่อภายหลังว่าชายกลุ่มดังกล่าว คือ นายเข้ม (ป๋วย อึ้งภากรณ์) นาย แดง (ประทาน เปรมกมล) เป็นพนักงานวิทยุ และนายดี (เปรม บุรี) เป็นแพทย์ประจํากลุ่ม ทั้งสามคนสวมใส่เสื้อผ้าในชุดโดดร่ม ชาวบ้านเข้าใจผิดคิดว่าเป็นพวกแนวที่ 5 หรือคอมมิวนิสต์จึงช่วยกันจับไว้ เพื่อนสองคนของนายป๋วยหนีไปได้ ส่วยนายป๋วยโดนจับ เพราะโดดร่มลงมาถูกปลักควาย เท้าแพลงไปไหนไม่ได้ เมื่อชาวบ้านจับตัวนายป๋วยได้ก็นํานายป่วยมามัดไว้ที่เสาต้นที่ 2 กลางศาลาวัด ก่อนที่จะนําตัวนายป๋วยใส่เกวียนคุณลุงบุญธรรมไปส่งมอบที่อําเภอวัดสิงห์ ต่อมาภายหลังชาวบ้านจึงทราบว่านายป๋วยผู้นี้คือใคร จึงได้ให้ความช่วยเหลือ ปัจจุบันชาวบ้านยังรําลึกถึงอาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ จึงได้ร่วมมือกันสร้างอนุสรณ์สถานเพื่อรําลึกถึงท่านและเหตุการณ์สําคัญดังกล่าว

ลักษณะภูมิประเทศ

หมู่บ้านวังน้ำขาวตั้งอยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดชัยนาทประมาณ 53 กิโลเมตร และห่างจากกิ่งอําเภอหนองมะโมงประมาณ 4 กิโลเมตร โดยมีอาณาเขตติดต่อกับหมู่บ้านต่าง ๆ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านใหม่ทุ่งจํารองและบ้านหนองหวาย
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านหนองดู่ หมูที่ 7 ตําบลหนองมะโมง
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านวังตะเคียน
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านหัวเรือและบ้านหนองยาง
  • ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ติดกับบ้าน บ่อลึก

ลักษณะพื้นที่ของหมู่บ้านแห่งนี้เป็นที่ราบสูง พื้นดินเป็นดินร่วนปนทรายเหมาะแก่การเพาะปลูก โดยพื้นที่เกือบ 80% ของหมู่บ้านหรือ 8,811 ไร่จากพื้นที่ทั้งหมด 11,300 ไร่ เป็นพื้นที่ทางการเกษตร พื้นที่สาธารณะมีเพียง 124 ไร่ ส่วนพื้นที่สําหรับตั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัยมี 1,465 ไร่ ซึ่งประกอบด้วยคุ้มต่าง ๆ ตามชื่อเรียกหมู่บ้าน ดังนี้ คุ้มหนองรังนก คุ้มวังชะเอม คุ้มกุดตาเป็น คุ้มหนองปลาหมอ คุ้มหนองเป็ด คุ้มหนองปลาไหล คุ้มเขาน้อย คุ้มทุ่งกระเจียว และคุ้มทับทัน

สภาพภูมิอากาศ

ภูมิอากาศโดยทั่วไปของหมู่บ้านวังน้ำขาวมิได้แตกต่างจากหมู่บ้านอื่น ๆ ในจังหวัดชัยนาทมากนัก คือ มีอากาศค่อนข้างร้อนและแห้งแล้งมากในฤดูร้อน โดยเฉพาะในช่วงเดือนเมษายนมีอุณหภูมิสูงถึง 40 องศาเซลเซียส เนื่องจากหมู่บ้านแห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตเงาฝน จึงมีฝนตกในปริมาณที่ไม่มากนัก ฤดูฝนชาวบ้านที่ไม่ได้มีที่นาอยู่ติดคลองส่งน้ำจะสามารถทํานาได้เพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น ขณะที่ชาวนาที่มีที่นาอยู่ติดคลองส่งน้ำสามารถทำนาได้ถึงปีละ 2 หน ส่วนฤดูหนาวอากาศจะเย็นมาก โดยเฉพาะช่วงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม และด้วยภูมิอากาศที่แห้งแล้งของหมู่บ้านแห่งนี้จึงทําให้ได้รับสมญานามว่า “อีสานตอนกลาง” ของประเทศ

เส้นทางการคมนาคม

สภาพเส้นทางการคมนาคมภายในหมู่บ้านในอดีตนั้นเป็นทางดิน ใช้เกวียนเป็นพาหนะในการเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างกัน จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2534 จึงมีถนนลาดยางตัดผ่านกลางหมู่บ้านใช้เป็นเส้นทางติดต่อไปยังหมู่บ้านอื่น เช่น ทางทิศตะวันตกสามารถเดินทางไปสู่อําเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ส่วนทางทิศตะวันออกสามารถเดินทางไปสู่อําเภอวัดสิงห์เข้าสู่ตัวจังหวัดชัยนาท สําหรับถนนภายในหมู่บ้านบางสายเป็นถนนคอนกรีต และมีบางสายที่ยังเป็นถนนลูกรัง

ลักษณะหมู่บ้านและการตั้งบ้านเรือน

ในสมัยก่อนการตั้งบ้านเรือนของหมู่บ้านวังน้ำขาว ตั้งเป็น 2 หย่อมใกล้แหล่งน้ำ คือ คลองวังตุ่ม ชาวบ้านเรียกว่า จุกเหนือ จุกใต้ บ้านเรือนสมัยนั้นนิยมก่อสร้างด้วยไม้ ยกพื้นสูง หลังคามุงด้วยสังกะสีและหญ้าคา แต่ในสมัยปัจจุบันมีการขยับขยายพื้นที่ปลูกบ้านไปตามพื้นที่นาของตน และติดกับสองข้างทางถนนสายชัยนาท-อุทัยธานี แต่ปัจจุบันลักษณะบ้านที่สร้างนั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมาก โดยจะเห็นได้จากบ้านที่เป็นไม้ล้วนนั้นไม่ค่อยจะมีเพราะส่วนใหญ่จะนิยมสร้างแบบผสม เช่น บ้านสองชั้นยกพื้นสูง ส่วนบนทําด้วยไม้ ส่วนล่างของบ้านฉาบด้วยปูน หรือไม่ก็เป็นบ้านปูนทั้งหลัง ซึ่งมีทั้งสองชั้นและชั้นเดียว

การถือครองที่ดิน

ชาวบ้านในหมู่บ้านวังน้ำขาวส่วนใหญ่ถือครองที่ดินครัวเรือนละประมาณ 20-50 ไร่ โดยมีเอกสารสิทธิ์โฉนดที่ดิน นส.3 รองลงมาคือครัวเรือนที่ถือครองที่ดิน ประมาณ 1-10 ไร่ซึ่งเป็นเพียงที่ดินสําหรับปลูกบ้านเท่านั้น และมีเอกสารสิทธิ์ที่เป็นหนังสือรับรอง ซึ่งไม่สามารถทําการซื้อขายได้ ชาวบ้านกลุ่มนี้จึงไม่สามารถประกอบอาชีพทํานาได้ ต้องอพยพไปรับจ้างนอกชุมชน และบางส่วนทํางานรับจ้างในโรงงานไฟแช็ค สําหรับครัวเรือนที่ถือครองที่ดินตั้งแต่ 80 ไร่ขึ้นนั้นไม่ค่อยพบเพราะต่างก็แบ่งให้ลูก ๆ ไปหมดแล้ว

ประชากร

ข้อมูลตามทะเบียนราษฎรเมื่อ พ.ศ. 2558 ตามรายงานข้อมูลประชากรจากเทศบาลตำบลวังตะเคียน รายงานว่า หมู่ที่ 3 บ้านวังน้ำขาว มีประชากรทั้งสิ้น 422 ครัวเรือน 1,174 คน แยกเป็นประชากรชาย 584 คน และประชากรหญิง 271 คน โดยประชากรในหมู่บ้านลาวครั่งนี้ส่วนใหญ่เป็นชาวลาวครั่ง รวมถึงการอพยพเข้ามาของชาวบ้านจากสภ่นที่ต่าง ๆ อันเนื่องมาจากการแต่งงานกับชาวบ้านวังน้ำขาว

ครอบครัวและเครือญาติ

ลักษณะครอบครัวในหมู่บ้านวังน้ำขาวมีทั้งครอบครัวเดี่ยวและครอบครัวขยาย ซึ่งครอบครัวเดี่ยวมักจะเป็นครอบครัวที่แยกมาจากครอบครัวเดิม เพราะมีฐานะที่ดีพอที่จะสร้างบ้านใหม่ได้เอง ปัจจุบันครอบครัวส่วนใหญ่มีสมาชิกในครอบครัวไม่มากนัก ประกอบด้วย พ่อ แม่ ลูก นิยมปลูกบ้านอยู่ในบริเวณเนื้อที่รอบ ๆ ญาติพี่น้องหรือตามพื้นที่มรดกที่ได้รับจากบิดา มารดา และในพื้นที่ที่ตัวเองซื้อหาไว้ ส่วนครอบครัวขยายนั้น ประกอบด้วยบุคคลหลายรุ่น เช่น ตา ยาย พ่อ แม่ น้า ป้า ลูกหลาน ทั้งนี้อาจจะเนื่องมาจากความไม่พร้อมทางการเงินจึงไม่ได้แยกครอบครัวออกไปหรืออาจจะมีภาระต้องดูแลพ่อ แม่ ลูกหลาน ของตนเอง

ในหมู่บ้านวังน้ำขาวนั้นมีต้นตระกูลเก่าแก่ในหมู่บ้าน คือ ต้นตระกูลที่ลงท้ายด้วยคําว่า ศรี ซึ่งเป็นชาวลาวครั่ง เช่น จบศรี ก๊กศรี จันทร์ศรี และกุดจอก เป็นสายตระกูลที่ย้ายมาจากตําบลกุดจอก ตําบลกุดจิก นอกจากนี้ยังมีนามสกลุลจูเปีย เชื้อชวด น้อยแก้ว มาขํา ดีจ้าย ย้ายมาจากอําเภอวัดสิงห์ อย่างไรก็ตาม แม้ว่านามสกุลของคนในหมู่บ้านจะไม่เหมือนกันแต่ทุกคนก็ถือว่าเป็นญาติพี่น้องกัน ทั้งนี้ อาจเนื่องมาจากความสนิทสนมคุ้นเคยหรือรู้จักกันเป็นอย่างดีในฐานะเพื่อนบ้าน ทําให้ทุกครั้งที่มีงานสําคัญเกิดขึ้น ทุกคนจะให้ความช่วยเหลือเกื้อกูล พึ่งพาอาศัยกันเป็นอย่างดี เช่น การลงแขกขนข้าว งานแต่งงาน งานบวช งานศพ งานบุญกฐิน งานลอยกระทง ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือกันทางด้านการเงิน การให้เช่าที่นาในราคาถูก อาหารการกิน วัสดุอุปกรณ์ที่จําเป็น เช่น เครื่องฉีดยาฆ่าหญ้า คราด ไถ เป็นต้น

ลาวครั่ง

การประกอบอาชีพ

ชาวบ้านวังน้ำขาวประกอบอาชีพทํานาเป็นหลัก รายได้ไม่แน่นอนเพราะต้องพึ่งพาธรรมชาติ ก่อให้เกิดภาวะหนี้สินตามมา จึงต้องมีการแก้ไขปัญหาด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามการแลกเปลี่ยนสินค้าในหมู่บ้านยังมีความคล่องตัวอยู่มาก ดังรายละเอียดที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้

  • อาชีพทํานา เนื่องจากสภาพพื้นดินและแหล่งน้ําที่เหมาะแก่การทําการเกษตร อาชีพการทํานาจึงถือว่าเป็นอาชีพหลักและเป็นอาชีพส่วนใหญ่ของชาวบ้านวังน้ำขาว ซึ่งทําสืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านาน และเมื่อว่างเว้นจากการทํานาในสมัยก่อนจะมีการทอผ้า เผาถ่าน หาของป่า จักสาน ทอเสื่อกก เลี้ยงควาย หาปลา แต่ในปัจจุบันเมื่อระบบการทํานาเปลี่ยนแปลงไป มีการลงทุนเพิ่มมากขึ้นทั้งจากการขยายพื้นที่ในการทํานาและการทํานาที่เพิ่มมากขึ้นจากปีละ 1 ครั้ง เป็นปีละ 2 ครั้ง ซึ่งส่งผลให้ประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำ ทําให้ผลผลิตที่ได้มีปริมาณน้อยไม่คุ้มกับการลงทุนส่งผลให้เกิดระบบหนี้สิน นอกจากนี้ปัญหาจากการใช้สารเคมีในการปราบศัตรูพืชในนาข้าวยังส่งผลกระทบต่อปัญหาดินเสื่อมคุณภาพ สัตว์และแมลงที่มีขนาดเล็กลง

  • อาชีพเลี้ยงสัตว์ สัตว์ที่นิยมเลี้ยงในหมู่บ้านวังน้ำขาว ได้แก่ ควาย วัว ซึ่งมิได้เลี้ยงไว้ใช้งานเหมือนในอดีต แต่เลี้ยงไว้ขายอย่างเดียวเช่นเดียวกับสัตว์อื่น ๆ เช่น สุกร ไก่ เป็ด ปลา และกระต่าย

  • อาชีพรับราชการ เช่น ข้าราชการครู ตํารวจ ทหาร พยาบาล แพทย์ ฯลฯ

  • อาชีพรับจ้าง ในหมู่บ้านวังน้ำขาวมีโรงงานไฟแช็คซึ่งเป็นโรงงานขนาดเล็ก 1 แห่ง ก่อตั้งเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2538 เจ้าของโรงงานชื่อ นายชํานาญ ว่องกิจจารย์ ในโรงงานมีคนงานทั้งหมดประมาณ 150 คน เฉพาะในหมู่บ้านวังน้ำขาวประมาณ 30 คน ซึ่งคนงานส่วนใหญ่เป็นคนงานหญิงอายุระหว่าง 20-40 ปี ทําหน้าที่ในแผนกต่าง ๆ เช่น แผนกใส่ไส้ แผนกแปะตะปู แผนกจี้หัว แผนกหมุนวาว แผนก QC ฯลฯ รวมถึงรับจ้างอื่น ๆ เช่น รับจ้างสร้างบ้าน รับจ้างขับรถส่งของ ส่งนักเรียน นอกจากนี้ยังมีแรงงานวัยหนุ่มสาวที่อพยพไปทํางานตามโรงงานในจังหวัดต่าง ๆ เช่น โรงงานทําสายไฟที่จังหวัดสมุทรปราการ โรงงานCP ในกรุงเทพฯ และปทุมธานี เป็นต้น

การแลกเปลี่ยนสินค้า

ระบบการแลกเปลี่ยนสินค้าในบ้านวังน้ำขาว สมัยก่อนส่วนใหญ่จะใช้สิ่งของแลกสิ่งของ เช่น ถ้วยแลกถ่าน พริกแลกเกลือ มากกว่าที่จะใช้เงินเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน เดิมเงินตราที่ใช้ในการแลกเปลี่ยน ได้แก่ สตางค์แดง ดีบุก เบี้ย แต่ปัจจุบันใช้เหรียญและธนบัตรเป็นสื่อกลางสําคัญในการแลกเปลี่ยนสิ่งของทั้งกับคนในหมู่บ้านและนอกหมู่บ้าน โดยทุกวันพุธในช่วงเวลาประมาณ 06.00-12.00 นาฬิกา และทุกวันศุกร์เวลา 06.00-21.00 นาฬิกา มีตลาดนัดขายสินค้าตรงข้ามบริเวณวัดวังน้ำขาว โดยสินค้าที่นำมาแลกเปลี่ยน มีทั้งเสื้อผ้า อาหาร และสิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือน

การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ

การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของชาวบ้านในหมู่บ้านวังน้ำขาวมี 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มเยาวชน และกลุ่มทอผ้า ดังนี้

  • กลุ่มออมทรัพย์ ก่อตั้งมาเมื่อปี พ.ศ. 2527 โดยฝึกฝนให้ประชาชนมีสัจจะ รู้จักการออม ช่วยเหลือซึ่งกันและกันเรื่องเงินทุนในการประกอบอาชีพ เริ่มแรกมีสมาชิก 250 คน มีเงิน สัจจะสะสม 250,500 บาท ต่อมามีปัญหาในกลุ่มจึงยุบลง จนกระทั่งประมาณปี พ.ศ. 2537 มีการก่อตั้งใหม่อีกครั้งโดยมีสมาชิก 50 คน มีการจัดการบริหารงานครบทุกฝ่าย ดํารงตําแหน่งคราวละ 1 ปี ให้บริการฝากเงินและกู้ยืมทุกวันที่ 5 ของเดือน แต่อยู่ได้ไม่นานก็เกิดปัญหาขึ้นระหว่างกลุ่มจึงยุบไปเป็นครั้งที่สอง ปัจจุบันมีการตั้งกลุ่มขึ้นมาใหม่อีกครั้งเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2542 โดยมีนายอํานาจ ใจหลัก เป็นประธาน และคณะกรรมการบริหารงาน 11 คน มีสมาชิกเริ่มแรก 60 คน เงินทุน 10,290 บาท บริหารงานเรื่อยมาจนเดือนกันยายน 2544 มีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 80 คน มีเงินทุน 110,622.32 บาท กําหนดฝากเงินและกู้ยืม ทุกวันที่ 3 ของเดือน

  • กลุ่มเยาวชน จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2530 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งพัฒนาเยาวชนในหมู่บ้าน ซึ่งได้รับการสนับสนุนด้วยดีทั้งจากทางโรงเรียนและวัด กิจกรรมกลุ่มเยาวชนที่ผ่านมีทั้งกลุ่มทําไม้กวาด กลุ่มส่งเสริมศิลปะ และกลุ่มกีฬา แต่ในปัจจุบันกลุ่มเหล่านี้ได้ล้มเลิกไปและมีการตั้งกลุ่มใหม่เพียง 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอนุรักษ์ดนตรีไทย (เครื่องแห่) และกลุ่มเลี้ยงปลาดุก ส่วนกิจกรรมส่งเสริมทางด้านกีฬายังคงมีอยู่เป็นประจํา ดังจะเห็นได้จากการจัดการแข่งขันกีฬาเยาวชนระหว่างหมู่บ้านในตําบลวังตะเคียนที่จัดขึ้นเป็นประจําทุกปี ขณะที่การมีส่วนร่วมทางการเมืองของกลุ่มเยาวชนค่อนข้างมีบทบาทน้อยมาก

  • กลุ่มทอผ้า เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2539 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชน และก่อให้เกิดการรวมกลุ่มในชุมชน อีกทั้งเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน โดยมีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค 4 เข้ามาสนับสนุนในด้านอุปกรณ์การทอผ้าโดยการจัดซื้อกี่กระตุก 3 ตัว ตัวละ 7,000 บาท และอุปกรณ์อื่น ๆ เช่น กระสวย ด้าย รวมประมาณ 70,000 บาท การดําเนินงานของกลุ่มนั้นจะมีการประชุมกันทุกวันที่ 5 ของเดือน ผลกําไรที่ได้จากกลุ่มจะนําไปช่วยเหลือสังคม เช่น เป็นเงินทุนช่วยเหลือคนพิการ ผู้สูงอายุ เงินทุนช่วยเหลือการศึกษาแก่เด็กยากจน และเงินทุนช่วยเหลือคนที่ไม่มีที่นาทํากินในหมู่บ้าน 

ความเชื่อ

ชาวบ้านวังน้ำขาวซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวลาวครั่งมีการนับถือศาสนาควบคู่ไปกับสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติ (ผี) โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อในเรื่องผีบรรพบุรุษ การนับถือผีนี้มีอิทธิพลต่อการดําเนินชีวิตของคนในชุมชนอย่างยิ่ง เป็นต้นว่าการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทํามาหากิน เช่น การทํานา ต้องมีพิธีบูชาเซ่นสรวงแม่ธรณี แม่โพสพ ประมาณเดือนเจ็ดหรือเดือนแปดก่อนการทํานา เครื่องเซ่นจะประกอบไปด้วย ข้าวหวาน (ข้าวสุกคลุกน้ำตาล) ใส่ในใบคูณ 4 ที่ ยาสูบใบตองแห้งสองมวน หมากสองคํา วางบนพื้นดินบริเวณคันนาแล้วกล่าวคําบอกแม่ธรณีว่า “จะทํานาแล้ว ขอให้คนและควายอยู่ดีมีสุขสบาย คราดไถอย่าให้หัก บ่ได้มาแย่งกินขอเพียงแค่ทํานา”

นอกจากความเชื่อเกี่ยวกับการทํามาหากินแล้ว ชาวบ้านยังคาดหวังความคุ้มครองจากผีให้อยู่เย็นเป็นสุข โดยจัดพิธีเลี้ยงผีครั้งใหญ่ในหมู่บ้านก่อนการทํานา เรียกว่า “การเลี้ยงเจ้าบ้าน” แต่เมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนไปความเชื่อในเรื่องพิธีกรรมที่เกี่ยวกับผีก็ค่อย ๆ เลือนหายไป ส่งผลให้การทํานาในปัจจุบันไม่มีการเลี้ยงแม่โพสพ ไม่มีการเลี้ยงเจ้าบ้านร่วมกันทั้งหมู่บ้าน หากแต่ความเชื่อในเรื่องผีก็ยังคงมีอยู่ เช่น ความเชื่อในเรื่องผีพระภูมิเจ้าที่ ความเชื่อถึงความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าพ่อบุญคง หลวงพ่อจําปา ที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่า ยังคงให้ความคุ้มครองคนในหมู่บ้านวังน้ำขาวอยู่ ดังจะเห็นได้จากพิธีแต่งงานที่ต้องมีการเลี้ยงผีเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลและหวังความคุ้มครองจากผีให้อยู่ร่มเย็นผาสุขตลอดไป หรือเมื่อทําบุญตักบาตรเสร็จต้องกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ตลอดจนเจ้ากรรมนายเวร ผีไร้ญาติทั้งหลาย ส่วนความเชื่อในเรื่องบาป-บุญยังคงมีอยู่ เช่น ในสมัยอดีตไม่ให้ใช้ควายไถนาวันพระ เพราะจะบาป ทํามาหากินไม่คล่อง เมื่อทําบุญตักบาตรมาก ก็จะได้บุญมาก ทําให้ชีวิตความเป็นอยู่ในชาตินี้และชาติหน้าสุขสบาย

สําหรับความเชื่อในการดําเนินชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายจะพบเห็นได้ตามงานประเพณี เช่น การเกิด ในอดีตจะมีการโกนผมไฟ การโกนจุก เพราะเชื่อกันว่าเด็กจะเลี้ยงง่าย หายขี้โกง ขี้อ้อน แต่ปัจจุบันมีเฉพาะการโกนผมไฟ การบวชจะทําให้พ่อแม่ได้รับผลบุญจากชายผ้าเหลืองของลูก หญิงมีครรภ์ห้ามนั่งขวางประตูเพราะจะคลอดลูกยาก งานศพห้ามมีการเผาศพวันพระ วันอังคาร วันศุกร์ เพราะผีจะแรง สําหรับความเชื่อเกี่ยวกับคาถาอาคมในหมู่บ้าน เช่น คาถาขอฝน ที่พระจะสวดเมื่อฝนไม่ตกติดต่อกันนานหลายวัน คาถาอาคมที่ใช้เกี่ยวกับการรักษาโรคของหมอสมุนไพร เป็นต้น

ประเพณีในรอบปี

นอกจากประเพณีเกี่ยวกับชีวิตแล้วในหมู่บ้านวังน้ำขาวยังมีงานประเพณีประจําในรอบปี โดยเริ่มตั้งแต่ต้นปีไปจนถึงปลายปีประกอบไปด้วยประเพณีทั้งที่เคยมีในอดีตและในปัจจุบัน ได้แก่ ประเพณีขึ้นปีใหม่ ประเพณีบุญเดือนสี่ ประเพณีเดือนห้าหรือประเพณีสงกรานต์ ประเพณีบุญเดือนหก ประเพณีเข้าพรรษา ประเพณีออกพรรษาหรือตักบาตรเทโว และประเพณีสุดท้ายประจําปีคือประเพณีลอยกระทง ดังรายละเอียดต่อไปนี้

  • ประเพณีขึ้นปีใหม่ เป็นอีกประเพณีหนึ่งที่สืบทอดมาช้านานจนถึงปัจจุบัน ตอนเช้าจะมีการทําบุญใส่บาตรธรรมดา ในบางปีทางโรงเรียนวังน้ำขาวจะจัดงานสมโภชในตอนกลางคืนเพื่อหาเงินทุนเป็นค่าใช้จ่ายทางด้านการศึกษา

  • ประเพณีบุญเดือนสี่ เป็นประเพณีที่จัดขึ้นหลังการเก็บเกี่ยวข้าวกล้าในนาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งการจัดงานนี้จะจัดขึ้นเป็นระยะเวลา 3 วัน 3 คืน ในตอนกลางวันมีการทําเหล้าสาโท ตําข้าว ตําขนมเส้นเลี้ยงกันที่บริเวณวัด ส่วนตอนกลางคืนมีการละเล่นรําวง การเล่นเจ้าเต็น การเล่นนางด้ง บางปีก็อาจจะมีลิเก แต่ในปัจจุบันประเพณีดังกล่าวนี้ไม่มีแล้ว

  • ประเพณีบุญเดือนห้าหรือประเพณีสงกรานต์ ประเพณีนี้ในตอนกลางวันจะมีการสรงน้ำพระ รดน้ำผู้อาวุโสในหมู่บ้าน ส่วนในตอนกลางคืนจะมีการละเล่นอื่น ๆ เช่น นางด้ง เล่นเจ้าเต็น ปัจจุบันการเล่นสงกรานต์ได้เปลี่ยนไป ไม่มีการละเล่นพื้นบ้านในช่วงกลางคืนแล้ว ทำให้สงกรานต์ค่อนข้างเงียบเหงากว่าในอดีต อีกทั้งหนุ่มสาวยังมักจะไปเที่ยวสงกรานต์กันที่อื่นมากกว่าในหมู่บ้านของตนเอง

  • ประเพณีบุญเดือนหก จัดขึ้นก่อนการเริ่มฤดูทํานา มีวัตถุประสงค์เพื่อเลี้ยงผีบรรพบุรุษ ผีอารักขาหมู่บ้าน ตลอดจนผีไร่ ผีนา ผีไม่มีญาติ ชาวบ้านเรียกประเพณีนี้ว่า “การเลี้ยงเจ้าบ้าน” การจัดงานจะจัดกัน 3 วัน 3 คืน ก่อนงานเริ่ม ทุกครัวเรือนจะต้องเตรียมฟื้นไว้หุงข้าวให้พอดี เพราะตลอดทั้ง 3 วันนี้จะไปไหนไม่ได้ เมื่อวันงานมาถึงทุกครัวเรือนจะต้องมีเหล้าอย่างน้อย 1 ขวดและไก่ 1 ตัว ตลอดจนเครื่องเซ่นอื่น ๆ มารวมตัวกันที่วัด ตอนกลางคืนจะมีการละเล่นพื้นบ้านต่าง ๆ เช่น เล่นเจ้าเต็น เล่นนางด้ง ในสามวันนี้หากชาวบ้านอื่นจะมาร่วมงานด้วยต้องเสียค่าปรับ การปรับนี้แล้วแต่จะตกลง เช่น ปรับเป็นเหล้า เป็นไก่ เป็นต้น

  • ประเพณีเข้าพรรษา ชาวบ้านวังน้ำขาวมีการทําบุญตักบาตรธรรมกันเป็นปกติ เพราะระหว่างนี้ไปจนกว่าจะออกพรรษาพระสงฆ์จะไปจําวัดที่ไหนไม่ได้ ส่วนชาวบ้านบางครัวเรือนอาจจะมีการงดอบายมุข เพื่อเป็นการถือศีลในช่วงเข้าพรรษาด้วย

  • ประเพณีออกพรรษาหรือตักบาตรเทโว ชาวบ้านวังน้ำขาวไม่นิยมจัดงานตรงกับวันออกพรรษาโดยทีเดียว เพราะต้องมีการเอาแรงกันทั้งในส่วนของเครื่องดนตรีและพระสงฆ์กับหมู่บ้านใกล้เคียง เช่น ผู้ที่เชี่ยวชาญในด้านการตีกลองต้องไปออกแรงช่วยหมู่บ้านอื่น เช่นเดียวกับพระสงฆ์ก็ต้องไปบิณฑบาตรร่วมกับพระหมู่บ้านอื่นด้วย ดังนั้น การจัดงานในหมู่บ้านวังน้ำขาวจะจัดประมาณวันที่สามของการออกพรรษา ก่อนจะถึงวันงานชาวบ้านจะทําขนมลูกโยน ตลอดจนตระเตรียมข้าวสาร อาหารแห้ง ไปตักบาตรในตอนเช้า เมื่อวันงานมาถึง พระสงฆ์ประมาณ 30 รูป จะเข้าไปตั้งขบวนที่ในอุโบสถ นําหน้าขบวนโดยคณะนักดนตรี ขณะนั้นญาติโยมที่มาใส่บาตรจะตั้งแถวรอตั้งแต่หน้าอุโบสถไปจนถึงศาลาวัด โดยเว้นตรงกลางให้นักดนตรีและพระสงฆ์เดิน เมื่อได้เวลาพระสงฆ์ก็จะเดินมาให้คนตักบาตร จนกระทั่งทุกคนในงานตักบาตรเสร็จจะมีการสวดมนต์ให้ศีลให้พรเป็นอันเสร็จสิ้นงานพิธีตักบาตรเทโว

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

การเล่นนางด้ง

หมู่บ้านวังน้ำขาวมีการละเล่นพื้นบ้านต่าง ๆ มากมาย ทั้งการเล่นบักแตงซ่อนหลัก หรือการเล่นซ่อนหา เจ้าเต็น และการเล่นนางด้ง ซึ่งเป็นการละเล่นที่จะต้องมีปรากฏทุกครั้งในการจัดงานประเพณีสำคัญประจำปีของชุมชน การเล่นนางด้งมีลักษณะคล้ายกับการเล่นเจ้าเต็น การเล่นต้องใช้สถานที่เป็นลานกลางแจ้ง ไม่มีสิ่งกีดขวาง มักจะเล่นในวันตรุษสงกรานต์ ประกอบด้วย ผู้เชิญผีนางดังเป็นผู้หญิง 2 คน ผู้ที่ซักถามสิ่งที่อยากรู้หนึ่งคน ผู้ร้อง เป็นคนที่ดูการละเล่น ส่วนอุปกรณ์ที่ใช้ในการเล่นเป็นสากยาว (สากมือที่ใช้ในการทําข้าวสมัยโบราณ) จํานวน 2 อัน กระด้งขนาดพอเหมาะ 1 ใบ ผ้าขาวม้าคลุมกระด้งเวลาอัญเชิญผีนางด้ง ดอกไม้ธูปเทียน 2 ชุด และไม้คาน 1 อัน บทร้องที่ใช้ร้อง “นางด้งเอย มาอมข้าวพอง เด็กน้อยทั้งสอง พระยานกกฤต พระยานกเค้า เชิญข้าเจ้ามาเข้านางด้ง”

สําหรับวิธีการเล่นต้องใช้สาวบริสุทธิ์นํากระด้งของแม่หม้าย และใช้ผ้าสีขาวคลุมกระด้งเดินไปทางสามแพร่ง นําดอกไม้ ธูปเทียนไปเชิญด้วย เมื่อไปถึงแล้วก็กล่าวเชิญผี (คนที่ตายไปแล้วในหมู่บ้านใครก็ได้) ขอเชิญมาเล่นผีนางด้ง เพื่อลูกเพื่อหลานจะได้รู้ความเป็นไปของท้องถิ่น ทั้งในด้านส่วนตัว คู่ครอง ความเป็นอยู่ และสมควรจะปฏิบัติตัวอย่างไรจึงจะมีความสุข เมื่อเชิญผีนางด้งมาแล้วก็จับกระด้งตั้งขึ้น ผู้ร้องก็จะร้องผีนางด้งพร้อม ๆ กันและปรบมือเป็นจังหวะ จนกระทั่งกระด้งที่ผู้เชิญมีอาการสั่น และกระด้งตั้งขึ้นจนผ้าหลุดออก ต่อจากนั้นผู้ถามจะถามว่าเป็นผีชื่ออะไร โดยใช้ไม้คานให้ผู้เชิญผี นางดังจับลงเขียนตามที่ผีนางด้งบอก การถามจะเป็นไปในลักษณะใช่หรือไม่ใช่ ถ้าใช่ให้กระด้งเต้น ถ้าไม่ใช่ให้กระด้งนอนลง เมื่อเล่นจนเป็นที่หายสงสัยแล้วผู้เชิญก็จะเชิญผีนางดังกลับ โดยนํากระด้งไปที่ทางสามแพร่งแล้วบอกให้กลับได้

ปัจจุบันการพูดของคนในหมู่บ้านมีทั้งภาษาไทยกลาง และภาษาลาวครั่ง แต่การพูดภาษาลาวครั่งมีเฉพาะคนวัยกลางคนไปแล้วเท่านั้น ภาษาลาวครั่งมีลักษณะคล้ายกับภาษาอีสาน เช่น อีฟ่าวไปไส หมายถึงจะรีบไปไหน อิไปเอาแฮง หมายถึง จะไปลงแขก เป็นต้น แต่จะมีความแตกต่างกันที่สําเนียง


ไฟฟ้า : หมู่บ้านวังน้ำขาวเริ่มมีไฟฟ้าใช้เมื่อปี พ.ศ. 2529 ปัจจุบันมีไฟฟ้าใช้กันทุกครัวเรือน และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ชาวบ้านส่วนใหญ่มี ได้แก่ โทรทัศน์ วิทยุ ตู้เย็น และพัดลม โดยชาวบ้านจะเปิดโทรทัศน์ดูรายการข่าว และละครในช่วงเย็นมากที่สุด

แหล่งน้ำ : หมู่บ้านวังน้ำขาวมีแหล่งน้ำที่สําคัญ คือ คลองวังดุม หรือคลองวังน้ำขาว ซึ่งมีน้ำไหลมาจากเขาระกําในเขตห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี ก่อนจะไหลรวมกับแม่น้ำท่าจีน ซึ่งชาวบ้านวังน้ำขาวอาศัยน้ำจากแหล่งน้ำนี้ในการอุปโภค จนกระทั่งปี พ.ศ. 2541 จึงได้มีการพัฒนามาทําระบบประปาหมู่บ้าน ปัจจุบันชาวบ้านส่วนใหญ่มีน้ำประปาใช้แล้ว เนื่องจากเป็นกังวลกับเรื่องความสะอาดของน้ำฝน นอกจากแหล่งน้ำข้างต้นแล้ว ยังมีแหล่งน้ำที่รัฐบาลสร้างให้ เช่น คลอง (เหมือง) ส่งน้ำ และสระน้ำซึ่งได้รับงบประมาณจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เมื่อปี พ.ศ. 2541 ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ประโยชน์ทางการเกษตร ส่วนน้ำที่นํามาบริโภคนั้นเป็นน้ำฝนซึ่งเก็บไว้ในโอ่ง หรือบางครัวเรือนก็ยอมเสียค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อน้ำสำหรับบริโภคโดยเฉพาะ


หมู่บ้านวังน้ำขาวอยู่ในเขตความรับผิดชอบของสถานีอนามัยตําบลวังตะเคียน ให้บริการดูแลด้านสุขภาพกับชาวบ้านในหมู่บ้าน โดยเริ่มดําเนินการมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2529 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีกลุ่ม อสม. หมู่บ้านเป็นผู้ช่วยดูแลประสานงาน นอกจากการแพทย์แผนปัจจุบันแล้วยังมีการแพทย์แผนไทยที่เปิดให้บริการสําหรับบุคคลทั่วไปอยู่ 2 แห่ง คือ แห่งแรกที่ศูนย์สาธิตการแพทย์แผนไทย ให้บริการด้านประคบ อบ และนวดแผนไทย แห่งที่สองที่สวนสมุนไพรจันทร์ศรีวนารามให้บริการรักษาด้วยยาสมุนไพร ขณะที่หมอพื้นบ้านหลายคนยังคงรักษาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น เช่น โรคหวัด เจ็บคอ เป็นไข้ เจ็บท้อง ซึ่งรักษาให้หายได้ไม่ยากนักด้วยยาสมุนไพรพื้นบ้าน ส่วนหมอตําแยแม้ไม่ได้ทําคลอดแล้ว แต่ยังมีบทบาทในการให้คําแนะนําสําหรับหญิงมีครรภ์ใกล้คลอด เพื่อตรวจดูอาการว่าเด็กใกล้คลอดแล้วหรือยัง เรื่องการรักษาตัวด้วยยาสมุนไพร ด้านการแพทย์ที่รักษาตามความเชื่อ หรือหมอทรง ยังคงทําหน้าที่รักษาผู้ป่วยเรื้อรัง ซึ่งส่วนใหญ่รักษาด้วยยาแผนปัจจุบันมาแล้วไม่หาย จึงหันมารักษาด้วยวิธีการติดต่อกับเทพเบื้องบนเพื่อให้ทราบตัวยาสมุนไพรมาใช้รักษาอาการป่วยให้หายเป็นปกติ โดยมากหมอพื้นบ้านเหล่านี้นิยมรักษาในโรคที่ตนถนัดให้กับคนในครอบครัว เครือญาติและเพื่อนบ้าน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

เทศบาลตำบลวังตะเคียน. (ม.ป.ป.). สภาพทั่วไปเทศบาลตำบลวังตะเคียน. สืบค้นเมื่อ 8 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.wangtakian.go.th/

ประเสริฐ ธาตุวิสัย. (2545). การแพทย์แผนไทย: กรณีศึกษาบ้านวังน้ำขาว หมู่ 3 ตำบลวังตะเคียน กิ่งอำเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท. สารนิพนธ์ปริญญาประกาศนียบัตรบัณฑิต สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

Cidar. (ม.ป.ป.). โครงการออกแบบปรับปรุงบูรณะอนุสรณ์สถาน ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์. สืบค้นเมื่อ 8 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.cidar.tds.tu.ac.th/

Rachan Chinchom. (2564). วัดวังน้ำขาว. สืบค้นเมื่อ 8 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.google.com/maps/