Advance search

ชุมชนที่ประสบความสำเร็จด้านขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบพอเพียงและวิถีด้านการเกษตรกรรม จึงได้รับการยกย่องให้เป็นชุมชนต้นแบบด้านการเกษตรกรรมที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ

บ้านบุรีรัมย์
ในวงใต้
ละอุ่น
ระนอง
ธำรงค์ บริเวธานันท์
12 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
ธำรงค์ บริเวธานันท์
12 ก.ค. 2023
บ้านบุรีรัมย์

บ้านบุรีรัมย์มีประชากรในชุมชนส่วนใหญ่อพยพมาจากจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อรับจ้างเก็บกาแฟและทำสวนกาแฟ เมื่ออพยพมาตั้งถิ่นฐานมีการตั้งบ้านเรือนเป็นกลุ่ม ๆ จึงเรียกกลุ่มนี้ว่า กลุ่มบ้านบุรีรัมย์ หมายถึง กลุ่มคนที่มาจากจังหวัดบุรีรัมย์ และเมื่อมีการจัดตั้งหมู่บ้าน จึงเรียกหมู่บ้านว่า "บ้านบุรีรัมย์"


ชุมชนชนบท

ชุมชนที่ประสบความสำเร็จด้านขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบพอเพียงและวิถีด้านการเกษตรกรรม จึงได้รับการยกย่องให้เป็นชุมชนต้นแบบด้านการเกษตรกรรมที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ

บ้านบุรีรัมย์
ในวงใต้
ละอุ่น
ระนอง
85130
10.0198158290385
98.8647651672363
องค์การบริหารส่วนตำบลละอุ่นเหนือ

บ้านบุรีรัมย์ หมู่ที่ 1 ตำบลในวงใต้ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง ได้รับการจัดตั้งเป็นหมู่บ้านเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2528 เดิมเป็นส่วนหนึ่งของบ้านปากแพรก หมู่ที่ 5 ตำบลละอุ่นเหนือ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง เหตุที่ตั้งชื่อหมู่บ้านบุรีรัมย์เพราะ ในพื้นที่มีประชากรจากจังหวัดบุรีรัมย์เดินทางมาเพื่อรับจ้างเก็บกาแฟและทำสวนกาแฟ ทั้งหมดตั้งถิ่นฐานอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม จึงเรียกว่า กลุ่มบ้านบุรีรัมย์ เมื่อมีการตั้งเป็นหมู่บ้านจึงใช้ชื่อว่า บ้านบุรีรัมย์

จากการศึกษาของ จีรจิต ทองสีขาว (2553) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ของบ้านบุรีรัมย์ เป็นชาวจังหวัดบุรีรัมย์ เดินทางมาเพื่อหาที่ทำกินที่มีความอุดมสมบูรณ์กว่าเดิม ซึ่งการเดินทางมายังพื้นที่นี้ในสมัยก่อนต้องเดินทางผ่านป่าและภูเขาจาก บ้านในหุบ ตำบลเขาค่าย อำเภอสวี จังหวัดชุมพร ซึ่งมีพื้นที่ติดกับอำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง พื้นที่นี้เรียกว่า บ้านในวง การเดินทางเข้ามาครั้งแรกมีเฉพาะผู้ชาย เมื่อได้พื้นที่แล้วจึงช่วยกันสร้างขนำ (ที่พัก) ด้วยไม้ไผ่ อยู่ร่วมกันราว 9-10 คน จากนั้นจึงช่วยกันถางป่า ดายหญ้า จับจองที่ดินทำกิน หรือไม่ก็ซื้อที่ดินจากเจ้าของเดิม ช่วยกันลงแรงปลูกข้าวตำข้าวและล่าสัตว์ป่า เนื่องจากบริเวณนี้มีสัตว์ชุกชุม รวมถึงจับสัตว์น้ำประเภทต่าง ๆ อาทิ กบ กุ้ง ปลา ตะพาบน้ำ นอกจากนี้มีการทำน้ำปลาไว้สำหรับการบริโภคในชุมชน

บ้านบุรีรัมย์ ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออก ห่างจากอำเภอละอุ่นราว 28 กิโลเมตร ตามเส้นถนนสายบางชัน-ทุ่งตะโก การเดินทางจากอำเภอละอุ่น เลี้ยวขวาที่บ้านคอกช้าง หมู่ที่ 2 ตำบลในวงเหนือ ผ่านบ้านผาพิง เมื่อถึงสามแยกตลาดนัดบ้านในวง เลี้ยวขวาผ่านบ้านเนินทอง จะถึงบ้านบุรีรัมย์

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ที่ 3 บ้านหมอลำ ตำบลในวงเหนือ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลปังหวาน อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ที่ 2 บ้านเนินทอง ตำบลในวงใต้ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่ที่ 3 บ้านหมอลำ ตำบลในวงเหนือ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง

สภาพพื้นที่ทางกายภาพ

พื้นที่บ้านบุรีรัมย์ ล้อมรอบด้วยภูเขา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูเก็ต หมู่บ้านตั้งอยู่บริเวณที่ราบเชิงเขา ที่ตั้งของหมู่บ้านมีความสูง 250 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล เทือกเขาในหมู่บ้านเป็นแนวเขตในการแบ่งพื้นที่ อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร จากลักษณะพื้นที่จึงทำให้มีลำห้วยผ่านในหมู่บ้าน คือ ห้วยหอย หรือ ห้วยบุรีรัมย์ ลำห้วยนี้เป็นต้นน้ำของคลองละอุ่น 

ข้อมูลสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร์ (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย รายงานสถิติจำนวนประชากรบ้านบุรีรัมย์ หมู่ที่ 1 ตำบลในวงใต้ อำเภอละอุ่น เดือนมกราคม 2566 พบว่า บ้านบุรีรัมย์มีจำนวนหลังคาเรือน 201 หลังคาเรือน จำนวนประชากร ชาย 255 คน จำนวนประชากร หญิง 227 คน รวมประชากรทั้งสิ้น 482 คน

กลุ่ม/องค์กร ที่มีการรวมกลุ่มกัน มีดังนี้

  • กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต
  • กองทุนหมู่บ้าน
  • กลุ่มสตรี
  • กลุ่มเยาวชน
  • กลุ่มอาชีพผลิตชาใบหม่อน ข้าวเกรียบใบหม่อน ลูกหม่อน
  • กลุ่มเพาะเห็ดฟาง

ชาวบ้านบุรีรัมย์ ส่วนใหญ่รู้จักกันและมีความคุ้นเคยเสมือนเป็นเครือญาติ เพราะมาจากถิ่นอีสานจึงสามารถประสานติดต่อกันได้อย่างรวดเร็ว ภาษาที่ใช้พูดในหมู่บ้านเป็นภาษาถิ่นอีสาน วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนค่อนข้างเรียบง่าย

จากการสัมภาษณ์สมาชิกในชุมชนของ จีรจิต ทองสีขาว (2553) ผู้ให้สัมภาษณ์กล่าวว่า “พวกเราส่วนใหญ่เป็นคนอีสานแถบจังหวัดบุรีรัมย์ นครราชสีมา มหาสารคาม และหลาย ๆ จังหวัดที่ย้ายมาอยู่ที่บ้านบุรีรัมย์ ย้ายมาตามที่เพื่อนหรือญาติชักชวนกันมาทำมาหากิน ในพื้นที่แห่งใหม่ที่มีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าอีสานบ้านเฮา มีความสุขสบายมากกว่า อยู่กันฉันญาติมิตรเพราะความเป็นคนพื้นเพเดียวกัน ภาษาพูดเดียวกัน วัฒนธรรมเหมือนกัน ทำให้พวกเราอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียวในครอบครัว มีพ่อ แม่และลูก ๆ อยู่รวมกัน เมื่อแต่งงานแล้วแยกครอบครัวใหม่ต่างหาก 

บ้านบุรีรัมย์มีรายได้หลักจากการทำสวนผลไม้ รองลงมาคือ การปลูกกาแฟ หมาก

การทำสวนผลไม้แต่ละครั้งต้องใช้ต้นทุนการผลิตราคาสูงตั้งแต่ 10,000-20,000 บาท/ไร่ โดยเฉพาะการผลิตทุเรียนให้ออกนอกฤดูกาลที่ชาวบ้านเรียกว่า "ทำทวาย" ต้องพึ่งสารเคมีเร่งผลผลิต รวมทั้งค่าแรงในการดูแล หากทำให้ได้ผลผลิตจำนวนมากและราคาสูงกว่าในช่วงฤดูกาลผลไม้ ตั้งแต่เดือน มิถุนายน-สิงหาคม ของปี ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-กรกฎาคม ของทุกปี จะมีชาวบ้านส่วนหนึ่ง เดินทางไปทำนาที่บ้านเดิมภาคอีสาน

ภายหลังพื้นที่บ้านบุรีรัมย์ได้นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในชุมชน ชุมชนมีแนวทางความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และได้รับรางวัลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดระนอง ประจำปี 2552 และเปิดให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาเรียนรู้ภายในศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงได้ นอกจากนี้ภายในชุมชนยังมีการรวมกลุ่มประกอบอาชีพอื่น ๆ เช่น กลุ่มทำไม้กวาด กลุ่มทอเสื่อกก กลุ่มทอผ้า กลุ่มเลี้ยงจิ้งหรีด

สมาชิกในหมู่บ้านบุรีรัมย์นับถือพุทธศาสนา สมาชิกชุมชนประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่สำนักสงฆ์หมอลำ และวัดเวฬุวนาราม ตำบลในวงเหนือ นอกจากนี้ชุมชนยังมีการประกอบประเพณีเลี้ยงผีปู่ตา ซึ่งเป็นความเชื่อของชุมชน เพื่อแสดงความเคารพนับถือผีหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาตั้งแต่บรรพบุรุษ หรือ ผีปู่ตาประจำหมู่บ้าน ในรอบปีมีการทำบุญเลี้ยงผีปู่ตา 1 ครั้ง ในช่วงขึ้น 3 ค่ำหรือ 6 ค่ำ หรือ 9 ค่ำ เดือน 6 มุ่งหมายเพื่อปกป้องหมู่บ้านให้มีความสงบสุข

นอกจากนี้ ประกอบด้วยพิธีบายศรีสู่ขวัญ งานทอดกฐิน งานทอดผ้าป่า การร่วมแข่งขันกีฬาของสมาชิกในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามที่ได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษ และนำมาปรับใช้ในการดำรงชีพ

ชุมชนมีประเพณีการลงแขก แต่ในหมู่บ้านไม่มีการทำนา จึงเป็นการร่วมกันทำสวน การใช้แรงงานในหมู่บ้านมีการลงแขกแบบจ่ายค่าแรง หรือบางครั้งหมุนเวียนกันทำงานให้แต่ละครอบครัว เมื่อครบมีการเวียนไปช่วยเหลือคนอื่น ๆ โดยไม่ต้องจ่ายค่าแรง ผู้ร่วมลงแขกจะนำอาหารไปกินร่วมกันในพื้นที่ที่ทำงานไม่ต้องเป็นภาระแก่เจ้าของสวน

1. สมชาย บุญเขื่อง

นายสมชาย บุญเขื่อง Smart Farmer บ้านบุรีรัมย์ หมู่ที่ 1 ตำบลในวงใต้ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง ได้รับการรับรองมาตรฐานตามระบบ การจัดการคุณภาพ GAP และนายสมชาย บุญเขื่อง ได้ขอจดทะเบียน GI ทุเรียนในวงระนอง หมายถึง ทุเรียน พันธุ์หมอนทอง ผลทรงกลมรีน้ำหนัก 3-7 กิโลกรัม มีร่องพูชัดเจน เปลือกบาง หนามถี่ สีเขียว เนื้อหนาเนียนละเอียดสีเหลืองทอง เมล็ดลีบ รสชาติหวานหอมมันกรอบ กลิ่นไม่ฉุน และที่สำคัญต้องปลูกในเขตตำบลวงในเหนือ และตำบลในวงใต้เท่านั้น

ทุนชุมชนของบ้านบุรีรัมย์เป็นผลมาจากการขับเคลื่อนแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของชุมชน ประกอบด้วย

  • ด้านโครงสร้างพื้นฐาน
  • ด้านการดำรงชีวิต มีการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย การปลูกพืชแซมในสวนผลไม้ การออมเงินของครัวเรือนเพิ่มขึ้น การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ครัวเรือนลดการใช้ปุ๋ยเคมี การรวมกลุ่มของสมาชิกในชุมชนเพื่อร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ
  • ด้านสังคม สมาชิกในชุมชนร่วมกันทำงาน แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ มีการประชุมหมู่บ้าน มีความเอื้ออารีแบ่งปัน การลงแขกซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่มีมาตั้งแต่เดิมสืบสานรุ่นต่อรุ่น
  • ด้านการบริหารจัดการชุมชน มีการแบ่งคุ้มบ้านเพื่อแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบและดูแลอย่างทั่วถึง มีแผนชุมชนเป็นข้อกำหนดการปฏิบัติงานของหมู่บ้าน การกำหนดกฎระเบียบควบคุมภายในหมู่บ้าน เช่น ระเบียบหมู่บ้านเรื่องการใช้น้ำ
  • ด้านการสร้างเครือข่าย มีการทำงานร่วมกันระหว่างหมู่บ้านภายในตำบล เรียกว่า "ธรรมนูญตำบล" 

ภาษาอีสาน, ภาษาไทยถิ่นใต้ จ.ระนอง


การดูแลสุขภาพ เมื่อเจ็บป่วยก็เข้ารับการรักษาที่สถานีอนามัยที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้าน และใช้สมุนไพรพื้นบ้านควบคู่กัน ที่นิยมปลูกไว้ข้างบ้าน เช่น กระชาย ไพร แก้ท้องอืด นอกจากนี้ยังรับประทานกินผักพื้นบ้านตามฤดูกาล บำรุงธาตุต่าง ๆ เช่น แกงขี้เหล็ก ทำให้ช่วยระบายขับถ่ายได้ดี เสริมแคลเซียม พืชผักสวนครัวต่าง ๆ มีการปลูกอยู่ทุกครัวเรือน มีการแลกเปลี่ยนแบ่งปันกันในชุมชน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

จีรจิต ทองสีขาว. (2554). ผลลัพธ์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงบ้านบุรีรัมย์ ตำบลในวงใต้ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยบูรพา.

แลต๊ะ แลใต้. (2018, 12 พฤศจิกายน). แลต๊ะแลใต้ : อีสานในแดนใต้. Facebook.

องค์การบริหารส่วนตำบลละอุ่นเหนือ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง. (2566). ฐานข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่น. สืบค้น 12 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.launnuae.go.th/

องค์การบริหารส่วนตำบลละอุ่นเหนือ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง. (2566). ตำบลในวงใต้ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง. ผสานวัฒนธรรม รู้ใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน. สืบค้น 12 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.launnuae.go.th/datacenter/

องค์การบริหารส่วนตำบลละอุ่นเหนือ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง. (2566). ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านเกษตรกรรมเรื่องการทำสวนทุเรียน. สืบค้น 12 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.launnuae.go.th/datacenter/

องค์การบริหารส่วนตำบลละอุ่นเหนือ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง. (2566). รายชื่อแหล่งเรียนรู้ตำบลในวง. สืบค้น 12 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.launnuae.go.th/datacenter/

กรมส่งเสริมการเกษตร. (2565). ทุเรียนในวง @ ระนอง. สืบค้น 18 กรกฎาคม 2566, https://www.youtube.com/