Advance search

เขายี่สาร, ยี่สาร

ชุมชนเก่าแก่ที่มีอายุกว่า 800 ปี ที่มีกายภาพโดดเด่นอย่างการมีป่าชายเลนและลำคลองหลายสายรอบชุมชน อันส่งผลให้มีวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์หลายประการ โดยเฉพาะวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ เช่น การทำถ่านไม้โกงกาง การจับสัตว์น้ำ ทั้งนี้ภายในชุมชนยี่สารยังมีสิ่งก่อสร้างและสถานที่ต่าง ๆ ที่สำคัญ เช่น วัดเขายี่สาร ที่มีร่องรอยของศิลปะมาตั้งแต่ในสมัยอยุธยา ศาลพ่อปู่ศรีราชามีความที่ศักดิ์สิทธิ์ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเขายี่สารที่เก็บรวบรวมสิ่งของโบราณของชุมชน

หมู่ที่ 1
ยี่สาร
อัมพวา
สมุทรสงคราม
วีรวรรณ สาคร
16 มิ.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
30 ก.ค. 2023
วีรวรรณ สาคร
13 ก.ค. 2023
บ้านเขายี่สาร
เขายี่สาร, ยี่สาร

คำว่า ยี่สาร ที่เป็นชื่อของชุมชน ปัจจุบันยังไม่มีข้อยืนยันแน่ชัดว่ามาจากสิ่งใด มีเพียงข้อสันนิษฐานถึงที่มาของคำนี้จากนักวิชาการเท่านั้น โดยข้อสันนิษฐานแรกคาดว่าคำว่า “ยี่สาร” น่าจะมาจาก คำว่า ปสาน ซึ่งแปลว่า ตลาด โดยคำนี้ได้เพี้ยนมาจากคำว่า บาซาร์ (Bazaar) ในภาษาเปอร์เซียมาอีกที ในอดีตคำว่า ปสาน นี้มักแพร่หลายในหลายพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นตลาด ซึ่งเมื่อมองบริบทของชุมชนยี่สาร ในอดีตชุมชนแห่งนี้ก็เคยเป็นชุมชนหนึ่งที่เคยมีลักษณะเป็นตลาดขายสินค้ามาก่อนเช่นกัน ส่วนข้อสันนิษฐานประการต่อมาได้คาดว่า “ยี่สาร” น่าจะมาจาก ยิปซานที่แปลว่า ภูเขาลูกเล็ก ในภาษาจีน ซึ่งข้อสันนิษฐานนี้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศของบริเวณยี่สารที่มีเขายี่สาร ซึ่งมีภูเขาลูกเล็ก ๆ ตั้งอยู่ รวมถึงสอดคล้องกับการที่ภาษาจีนเข้ามาบริเวณนี้ เพราะบริเวณนี้ในอดีตเคยเป็นเส้นทางการค้าของพ่อค้าชาวจีนที่จะมักเข้ามานั่นเอง


ชุมชนชนบท

ชุมชนเก่าแก่ที่มีอายุกว่า 800 ปี ที่มีกายภาพโดดเด่นอย่างการมีป่าชายเลนและลำคลองหลายสายรอบชุมชน อันส่งผลให้มีวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์หลายประการ โดยเฉพาะวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ เช่น การทำถ่านไม้โกงกาง การจับสัตว์น้ำ ทั้งนี้ภายในชุมชนยี่สารยังมีสิ่งก่อสร้างและสถานที่ต่าง ๆ ที่สำคัญ เช่น วัดเขายี่สาร ที่มีร่องรอยของศิลปะมาตั้งแต่ในสมัยอยุธยา ศาลพ่อปู่ศรีราชามีความที่ศักดิ์สิทธิ์ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเขายี่สารที่เก็บรวบรวมสิ่งของโบราณของชุมชน

หมู่ที่ 1
ยี่สาร
อัมพวา
สมุทรสงคราม
75110
13.302011367866353
99.90301675228304
องค์การบริหารส่วนตำบลยี่สาร

ชุมชนบ้านยี่สาร หรือ ยี่สาน เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขายี่สารที่เป็นเขาหินปูนขนาดย่อม ในตำบลเขายี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม โดยที่มาของชื่อชุมชนแห่งนี้ที่มีคำว่า "ยี่สาร" นั้นไม่มีใครรู้แน่ชัดว่ามีที่มาจากสิ่งใด มีเพียงข้อสันนิษฐานของนักวิชาการถึงที่มาของชื่อเท่านั้น โดยข้อสันนิษฐานประการแรกเชื่อกันว่า “ยี่สาร” หรือ “ยี่สาน” น่าจะมาจากคำว่า ปสาน ซึ่งแปลว่า ตลาด โดยคำนี้ได้เพี้ยนมาจากคำว่า บาซาร์ (Bazaar) ในภาษาเปอร์เซียที่มีความหมายแปลว่าตลาดของแห้งมาอีกทีหนึ่ง โดยในอดีตคำว่าปสานนี้มักแพร่หลายในหลายพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นตลาด ซึ่งเมื่อมองบริบทของชุมชนยี่สารในอดีตชุมชนแห่งนี้ก็เคยเป็นชุมชนหนึ่งที่เคยมีลักษณะเป็นตลาดขายสินค้ามาก่อนเช่นกัน จึงคาดว่าได้ชื่อยี่สารมาอาจมาจากลักษณะชุมชนที่เป็นตลาดขณะนั้น ทั้งนี้ข้อสันนิษฐานประการต่อมานักวิชาการส่วนหนึ่งเชื่อว่า “ยี่สาร” น่าจะเพี้ยนมาจากคำในภาษาจีนอย่างคำว่า ยิปซาน (ยิบ แปลว่า เล็ก และซาน แปลว่าภูเขา) ซึ่งมีความหมายโดยรวมว่า ภูเขาลูกเล็ก โดยเมื่อพิจารณาดูบริบทของพื้นที่ยี่สานก็พบว่าข้อสันนิษฐานนี้ก็มีความเป็นไปได้ เนื่องจากได้สอดคล้องกับทั้งสภาพภูมิประเทศของชุมชนยี่สารที่มี เขายี่สาร ซึ่งมีภูเขาลูกเล็กๆ ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำ และทั้งสอดคล้องกับการที่ภาษาจีนอาจจะสามารถแพร่มาบริเวณนี้ได้เพราะบริเวณยี่สารในอดีตถือเป็นทางผ่านและจุดแวะพักสำคัญของพ่อค้าชาวจีนที่จะเดินทางไปค้าขายยังพื้นที่ต่างๆ อาจทำให้ชาวจีนที่เข้ามาบริเวณพื้นที่อาจจะมีการเรียกพื้นที่นี้ว่ายิปสานกัน จนเมื่อเวลาผ่านไปคำนี้จึงเพี้ยนมาเป็นคำว่ายี่สารก็เป็นไปได้ อย่างไรก็ตามแม้ข้อสันนิษฐานทั้งสองที่กล่าวมานี้จะสามารถมีความเป็นไปได้ถึงที่มาของชื่อยี่สารทั้งสองข้อสันนิษฐาน แต่ทว่าก็ยังไม่มีหลักฐานมารองรับอย่างแน่ชัดว่าข้อสันนิษฐานใดถูกต้องหรือน่าจะเป็นไปได้ จึงทำให้ปัจจุบันที่มาของคำว่ายี่สารจึงยังคงเป็นปริศนาต่อไปนั่นเอง

ทั้งนี้ในส่วนของประวัติของชุมชนยี่สารนั้นจะพบว่าจากหลักฐานทางโบราณคดีและเอกสารทางประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เห็นว่าชุมชนบ้านยี่สารแห่งนี้เป็นชุมชนที่มีผู้คนอยู่อาศัยโดยตลอดอย่างไม่ขาดตอนและไม่มีการทิ้งร้างเลยมากว่า 800 ปี โดยเริ่มนับตั้งแต่ต้นสมัยกรุงศรีอยุธยาในพุทธศตวรรษที่ 19 จวบจนมาถึงปัจจุบัน โดยชุมชนบ้านยี่สารแห่งนี้ได้เริ่มก่อตัวขึ้นมาจากผลสืบเนื่องของตำแหน่งที่ตั้งชุมชนที่ได้ส่งเสริมให้มีการเข้ามาของผู้คนโดยเฉพาะชาวจีนที่เดินทางมาค้าขายทางทะเล เพราะบริเวณเขายี่สารนี้ได้ตั้งอยู่บนเส้นทางหลักของการคมนาคมทางทะเลที่เรือจะผ่านไปในพื้นที่ต่างๆ โดยในอดีตก่อนการเกิดขึ้นของอยุธยายี่สารจะอยู่ในเส้นทางที่เรือจะผ่านไปติดต่อกับชุมชนอยู่ตามปากแม่น้ำและบริเวณชายฝั่งทะเลแถบอ่าวไทย จนเมื่อเข้าช่วงอยุธยาตอนต้นยี่สารยังอยู่ในเส้นทางที่จะผ่านไปยังบริเวณสำคัญ เช่น ในระดับภูมิภาค ยี่สารจะอยู่ในทางผ่านของเส้นทางจากกรุงศรีอยุธยาไปเมืองมะริด ทวาย ตะนาวศรีและเมืองท่าทางทะเลฝั่งอันดามัน ซึ่งคือบรรดาหัวเมืองสำคัญขณะนั้น นอกจากนี้ยังอยู่ในทางผ่านของเส้นทางที่จะข้ามจากคาบสมุทรอ่าวไทยไปอ่าวเบงกอล ส่วนในระดับท้องถิ่น จะเป็นทางผ่านสำคัญของเส้นทางการเดินทางจากกรุงเทพมาสู่เมืองเพชรบุรี (เส้นทางเดินเรือมาเพรชบุรีที่ต้องผ่านยี่สารนี้นิยมมากมาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์เห็นได้จากนิราศเมืองเพชรของสุนทรภู่ที่ยังมีการผ่านบริเวณยี่สาร) ดังนั้นจากบริบทที่บริเวณชุมชนแห่งนี้ที่เป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญในอดีตจึงมีเรือเดินทางผ่านเส้นทางใกล้ชุมชนนี้อยู่ตลอด ซึ่งการเดินเรือบางครั้งเมื่อผ่านเส้นทางนี้มาถึงบริเวณพื้นที่ชุมชนเขายี่สารแล้วพบว่าพื้นที่บริเวณนี้มีเวิ้งน้ำขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “อู่เรือสำเภา” ที่สามารถจะจอดพักเรือได้ก็มักจะมาจอดพักเรืออยู่ที่แห่งนี้กันอีกด้วย โดยเฉพาะสำเภาสินค้าของชาวจีนที่จะมาค้าขาย ดังนั้นระยะแรกของชุมชนอาจเริ่มจากการเข้ามาของคนภายนอกมาจอดพักของเรือสำเภาต่างๆและอาจอยู่อาศัยเบาบางไม่ถาวร ก่อนที่ระยะต่อมาประมาณในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 ช่วงนับแต่การเกิดขึ้นของกรุงศรีอยุธยา เมื่อผู้คนได้ผ่านในเส้นทางสัญจรบริเวณมากขึ้นจากการค้าที่เจริญและเล็งเห็นถึงจุดยุทธศาสตร์ของพื้นที่ที่จะทำการค้าสร้างกำไรได้เพราะมีผู้คนผ่านไปมามากอยู่ตลอด อีกทั้งประกอบกับช่วงเวลานั้นผู้คนสามารถควบคุมน้ำจืดได้ คนเหล่านี้จึงจะค่อยๆเริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยถาวรและเกิดเป็นชุมชนทางการค้าบ้านยี่สารในที่สุด

โดยหลักฐานที่สนับสนุนว่าชุมชนบ้านยี่สารแห่งนี้เริ่มมีคนเข้ามาในพื้นที่แล้วแต่อาจยังไม่ได้ตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยหรืออาจอยู่กันอย่างเบาบางมากก่อนพุทธศตวรรษ 19 คือหลักฐานทางโบราณคดี ซึ่งจากการขุดค้นมีการแสดงให้เห็นว่าในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 จนถึงช่วงก่อนถึงพุทธศตวรรษที่ 19 พื้นที่นี้น่าจะยังไม่มีการตั้งถิ่นฐานอย่างถาวร เนื่องจากในชั้นของดินช่วงเวลานี้แม้จะมีการพบโบราณวัตถุอยู่บ้างแต่มีจำนวนน้อยและไม่พบภาชนะขนาดใหญ่สำหรับเก็บน้ำจืดในช่วงเวลานี้ (พื้นที่ชุมชนไม่มีน้ำจืด น้ำที่มีตามธรรมชาติไม่สามารถอุปโภคและบริโภคได้) มีแต่เครื่องถ้วยจีนและหม้อดินเผาประดับลวดลาย ส่วนในเนื้อดินเป็นเศษเปลือกหอยชนิดต่างๆ ป่นละเอียด ที่ชาวบ้านเรียกว่า “ขี้กะซ้า” เปลือกหอยแครงและเปลือกหอยทะเลหลายประเภทพบเป็นจำนวนน้อย กล่าวได้ว่าเมื่อเมื่อนำชั้นดินนี้มาเทียบกับชั้นดินในช่วงเวลาต่อมาที่มีการพบโบราณวัตถุมากมายอันแสดงให้เห็นการอยู่อาศัยของผู้คน จึงเป็นสิ่งยืนยันว่าผู้คนเริ่มน่าจะเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยกันเป็นชุมชนถาวรในบริเวณนี้นับแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 นั่นเอง

ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 สมัยอยุธยาตอนต้นผู้คนจากภายนอกอย่างชาวจีนที่เดินทางด้วยสำเภาและเคยแวะพักจอดพักเรือในบริเวณอู่สำเภาได้เป็นกลุ่มแรกที่เริ่มการเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ชุมชนบ้านยี่สารกันแบบถาวร ทั้งนี้สาเหตุการเข้ามาตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ถาวรของผู้คนนั้นจะพบว่าด้วยสภาพพื้นที่ตั้งของชุมชนที่เป็นที่ดอน มีภูเขาเตี้ยๆและที่สำคัญคือพื้นที่นี้มีเส้นทางน้ำออกไปทางทะเล รวมถึงสามารถติดต่อกับชุมชนที่อยู่บริเวณชายฝั่งได้สะดวก ทำให้ชาวจีนมองว่าพื้นที่นี้จึงเหมาะตั้งถิ่นฐานชุมชนเพื่อการค้าอย่างมากเพราะนอกจากจะขายสินค้าในพื้นที่แก่ผู้คนที่ผ่านไปมาได้แล้วการจะล่องเรือออกไปซื้อขายสินค้าที่อื่นๆก็สามารถทำได้สะดวก จึงทำให้เริ่มมีการคิดที่จะเข้ามาตั้งบ้านเรือบริเวณนี้อย่างจริงจัง ยิ่งประกอบกับช่วงเวลานี้ได้ทีมีภาชนะที่จะสามารถคุมน้ำจืดได้ไม่เหมือนช่วงแรกเพราะผู้คนได้มีตุ่มหรือ”โพล่”ขนาดใหญ่ (สันนิษฐานการว่าอาจผลิตที่สุพรรณบุรีหรือนำมาจากทางตอนใต้ของจีนและเวียดนาม) ไว้กักเก็บน้ำจืดที่มาจากการล่มน้ำมาจากแม่น้ำเพชรบุรีและจากฝนธรรมชาติสำหรับการอุปโภคบริโภค จุดนี้จึงทำให้ชาวจีนที่ล่องเรือสำเภาเริ่มที่จะเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่เกิดเป็นชุมชนขึ้นนับแค่พุทธศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา

โดยหลักฐานทั้งตำนานของท้องถิ่นและการขุดค้นทางโบราณคดีที่พบในบริเวณชุมชนบ้านยี่สารนี้ ได้สนับสนุนกับข้อมูลการตั้งถิ่นฐานของชุมชนบ้านยี่สารในช่วงพุทธศตวรรษ 19 ที่กล่าวไว้ข้างต้นอีกด้วย โดยในหลักฐานของตำนานท้องถิ่นอย่าง “ตำนานคุณปู่ศรีราชา” ได้แสดงให้เห็นภาพการตั้งถิ่นฐานของชุมชนแห่งนี้โดยกลุ่มคนจีนที่แล่นเรือสำเภาเข้ามาในแถบนี้อย่างชัดเจน กล่าวคือตามตำนานได้เล่าว่าคุณปู่ศรีราชาอยู่ในกลุ่มคนจีนที่ล่องเรือสำเภามาค้าขายโดยมากันสามพี่น้อง พี่คนโตชื่อ จีนเคราหรือจีนข้าว คนรองชื่อ จีนขานหรือตามตำนานคือคุณปู่ศรีราชา ส่วนคนสุดท้องชื่อ จีนกู่ ทั้งสามคนได้แล่นเรือมาจนถึงบริเวณเขายี่สาร (ในอดีตติดกับทะเล) เรือสำเภานี้ได้พุ่งชนเขาจนเรือแตกพี่น้องพลัดพรากจากกัน โดยจีนเคราไปอยู่ที่เขาตะเครา (เขาตะเคราบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี) จีนกู่ไปอยู่ที่เขาอีโก้ (ภูเขาในเขตอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี) ส่วนจีนขานได้มาอยู่ที่ยี่สาร หลังจากนั้นสามพี่น้องนี้จึงได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ตามสถานที่ข้างต้นจนเกิดเป็นหมู่บ้านสืบมาจนถึงปัจจุบัน จากตำนานที่กล่าวมานี้แม้จะไม่ได้ระบุว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นช่วงสมัยใดเพราะเป็นตำนานเล่าขานกันในท้องถิ่น แต่ก็เป็นการสะท้อนให้เห็นเป็นอย่างดีว่าคนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งชุมชนตรงเขายี่สารและชุมชนชายทะเลแถบนี้ คือชาวจีนที่สัมพันธ์กับการเดินเรือสำเภาทางทะเลผ่านเส้นทางบริเวณนี้ในอดีต ซึ่งตรงกับข้อมูลข้างต้นที่ว่าคนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งชุมชนยี่สารน่าจะเป็นชาวจีนที่เคยเดินเรือค้าขายสินค้าในเส้นทางบริเวณเขายี่สารนั่นเอง

ส่วนในด้านหลักฐานทางโบราณคดีที่มีการขุดค้นในบริเวณนี้นั้นได้สนับสนุนข้อมูลข้างต้นที่ว่าช่วงเวลาของตั้งหลักแหล่งอยู่อาศัยของผู้คนได้เกิดขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 19 กล่าวคือจากการขุดค้นในชั้นดินช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 19 ถึงพุทธศตวรรษที่ 20 ได้มีการพบถึงปริมาณเศษภาชนะดินเผาทุกประเภทจำนวนมาก ทั้งเครื่องถ้วยจากแหล่งเตาหลากหลายจากจีนและเวียดนาม ชิ้นส่วนชามจากแหล่งเตาสันกำแพงในเขตจังหวัดเชียงใหม่และคอน้ำต้นที่ฝังเส้นคาดสีขาวจากแหล่งเตาหริภุญไชยยุคหลังรวมอยู่ด้วย อีกทั้งยังพบกระดูกสัตว์ประเภทวัว-ควาย กวางหมูที่เลี้ยงไว้บริโภคของผู้คน มีการพบกระดูกสัตว์เลี้ยงพวกสุนัข และกระดูกปลาจำนวนมาก นอกจากนี้ยังพบเศษภาชนะใส่น้ำขนาดใหญ่ (ตุ่มหรือโพล่) จากแหล่งเตาบ้านบางปูนสุพรรณบุรี อันแสดงว่าช่วงเวลานี้ชุมชนสามารถมีน้ำจืดเพื่อใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันได้ รวมถึงยังพบก้อนอิฐจากสิ่งก่อสร้างที่คาดว่าน่าจะคือชิ้นส่วนของวัด โดยการที่บริเวณเขายี่สารนี้จะสามารถมีการเกิดขึ้นของวัดได้แปลว่าพื้นที่แห่งนี้ต้องมีการอยู่อาศัยของผู้คนที่เป็นกลุ่มชุมชนขึ้นมาแล้ว อันเป็นการย้ำถึงการตั้งถิ่นฐานของผู้คนในบริเวณนี้อย่างดี ดังนั้นจากหลักฐานทั้งตำนานท้องถิ่นและโบราณคดี รวมถึงลักษณะตำแหน่งที่ตั้งของชุมชนเมื่อประกอบกันแล้ว จึงบ่งบอกได้ว่าชุมชนบ้านยี่สารแห่งนี้ได้มีการเริ่มต้นขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 จากการเข้ามาของผู้คนกลุ่มแรกคือชาวจีนที่เดินเรือสำเภาทางทะเลใกล้เคียงกับชุมชน จุดนี้จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของชุมชนที่ต่อมาจะมีการอยู่อาศัยของผู้คนต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน

หลังจากการตั้งชุมชนบ้านยี่สารแห่งนี้แล้วจะพบว่าแม้ชาวจีนจะเป็นกลุ่มแรกที่เข้ามาอยู่ภายในชุมชนแห่งนี้ก็ตามแต่ต่อมาได้มีผู้คนจากภายในที่อยู่ตามชายฝั่งทะเลได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานผสมภายในชุมชนแห่งนี้ด้วย ทำให้ชาวบ้านของชุมชนแห่งนี้จึงมีทั้งคนภายนอกและภายในอยู่อาศัยในชุมชน ทั้งนี้ในช่วงแรกของชุมชนบ้านยี่สารจะพบว่าลักษณะการประกอบอาชีพและแหล่งของเศรษฐกิจของชุมชนแห่งนี้ที่ค่อนข้างแตกต่างกับชุมชนอื่นๆทั่วไป โดยชุมชนอื่นส่วนมากช่วงนี้มักมีการทำเกษตรกรรมการทำนาข้าวหรือทำสวนทำไร่เป็นรูปแบบเศรษฐกิจยังชีพของชุมชน แต่ในชุมชนยี่สารแห่งนี้จะมีการประกอบอาชีพในด้านการค้าขายอันพึ่งพาอยู่กับระบบเศรษฐกิจการค้า เมื่อได้รายได้จากการค้าขายถึงจะไปซื้อสิ่งต่างๆมาอุปโภค บริโภคอีกที ซึ่งการที่ชุมชนต้องดำเนินลักษณะนี้เนื่องจากสภาพแวดล้อมของชุมชนที่แม้จะเอื้อต่อการทำการค้าแต่ไม่ได้เอื้อต่อการทำเกษตรกรรมใดๆได้ โดยภายในชุมชนไม่สามารถมีน้ำจืดเพียงพอต่อการทำเกษตรกรรมเพราะส่วนใหญ่เป็นน้ำเค็มจากทะเล รวมถึงสภาพดินภายในบริเวณชุมชนก็เป็นดินเค็มไม่สามารถทำการเกษตรนาไร่ได้เช่นกัน ดังนั้นในอดีตชุมชนแห่งนี้จึงต้องพึ่งพาเศรษฐกิจในทางด้านการค้าอย่างแท้จริง

โดยชุมชนยี่สารได้มีกิจกรรมทางการค้า 2 ลักษณะด้วยกัน ลักษณะแรกคือการเป็นพ่อค้าคนกลางที่จะมีการรับสินค้าจากเมืองหลวงมาขายกระจายสินค้าต่อแก่ผู้คนอีกทีนึง รวมถึงอาจรับสินค้านำมาขายในกรุงศรีอยุธยาเช่นกัน ซี่งการค้าเช่นนี้ทำให้ชุมชนยี่สารกลายเป็นย่านการค้าและตลาดแลกเปลี่ยนสินค้าไปด้วย โดยสิ่งที่ยืนยันได้ว่าชุมชนนี้เป็นชุมชนค้าขายก็คือการพบเครื่องถ้วยที่มีที่มาหลากหลายท้องถิ่นในพื้นที่ชุมชน นอกจากนี้กิจกรรมการค้าภายในชุมชนแห่งนี้ยังมีอีกลักษณะคือมีการผลิตสินค้าแปรรูปและของแห้งเพื่อส่งออกไปขาย โดยชุมชนยี่สารไม่ได้เป็นชุมชนประมงชายฝั่งแต่มีการรับซื้อสินค้าสดจากทะเลของชาวประมงมาผลิตแปรรูปอีกต่อหนึ่งเพื่อให้กลายเป็นสินค้าที่สามารถเก็บไว้ได้นาน เช่น กะปิ น้ำปลา ปลาเค็ม ปูเค็ม เป็นต้น ดังนั้นในพื้นที่จากหลักฐานทางโบราณคดีจึงมักพบกระดูกสันหลังและก้างปลาจำนวนมากเกินกว่าจะบริโภคในพื้นที่ชุมชน ทั้งนี้ยังพบว่าชาวบ้านยังได้มีการเพาะเลี้ยงหอยและนำหอยแครงมาแปรรูปทำปูนขาวเป็นสินค้าอีกด้วย โดยพบหลักฐานจากการขุดค้นทางโบราณคดีที่ชุมชนยี่สารหลังการเกิดขึ้นของชุมชนว่าพื้นที่นี้มักจะพบเปลือกหอยแครงและหอยครางจำนวนมากในพื้นที่ ซึ่งคาดว่าเปลือกหอยเหล่านี้ชาวบ้านได้นำมาเพื่อผลิตปูนขาวภายในชุมชน กล่าวว่าสินค้าแปรรูปทั้งหมดที่ชาวยี่สารได้ผลิตภายในชุมชนนี้ได้มีการถูกส่งต่อไปขายในพื้นที่ต่างโดยรอบ ในที่นี้รวมถึงส่งไปขายที่กรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นเมืองหลวงและศูนย์กลางการค้าที่สำคัญแห่งหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในขณะนั้นด้วย โดยมีการปรากฎถึงหลักฐานการค้าขายสินค้าแปรรูปของชุมชนยี่สารกับกรุงศรีอยุธยานี้ผ่านในจดหมายเหตุความทรงจำขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรมในตอนหนึ่งว่า “อนึ่ง เรือปากหกศอกเจ็ดศอกชาวบ้านญี่สานบ้านแหลมบางทะลุ บรรทุกกะปิน้ำปลาปูเคมกะพงคุเราปลาทูกะเบนย่างมาจอดเรือขายแถววัดพรนางเชิง” ซึ่งจากหลักฐานของจดหมายเหตุหลวงประดู่ทรงธรรมนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าสินค้าแปรรูปพวกของเค็มจากทะเลที่ถูกบรรทุกมากับเรือและนำมาขายที่กรุงศรีอยุธยานี้ได้มีที่มาจากชาวบ้านชุมชนยี่สารแห่งนี้นั่นเอง

ดังนั้นจากกิจกรรมการค้าทั้ง 2 ลักษณะของผู้คนในชุมชนยี่สารที่กล่าวข้างต้นนี้ จึงทำให้ชาวยี่สารสามารถมีเงินทองทุนทรัพย์ในการตอบสนองต่อความต้องการต่างๆได้ เช่น มีทุนทรัพย์สำหรับการทำบุญสร้างศาสนสถานและทะนุบำรุงอาคารสถานที่ได้อย่างเต็มที่ โดยจะเห็นได้จากวัดยี่สารภายในชุมชนที่สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นนับตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่19 วัดแห่งนี้จะมีศาสนาสถานภายในวัดที่ค่อนข้างโอ่อ่าและมีพุทธศิลป์แบบฝีมือช่างครู ทั้งพระวิหาร พระอุโบสถ และบรรดาเจดีย์ที่รายรอบวัดล้วนแต่สวยงามและมีลักษณะของสถาปัตยกรรมไปในทางเดียวกัน ซึ่งการสร้างศาสนสถานที่ใหญ่โตและสวยงามกลางป่าชายเลนที่ห่างไกลได้เช่นนี้ล้วนมาจากชาวบ้านที่มีทุนทรัพย์จากการค้าขายที่เจริญรุ่งเรืองทั้งสิ้น จุดนี้จึงแสดงออกถึงความรุ่งเรืองของการค้าภายในชุมชนในอดีตอีกด้วย นอกจากนี้การค้ายังทำให้ผู้คนสามารถซื้อสิ่งของที่ชุมชนไม่สามารถผลิตได้จากชุมชนรอบๆ ทั้งข้าวจากแถบเพชรบุรี ผัก ผลไม้จากสวนแถบอัมพวา น้ำจากการเรือล่มน้ำที่แม่น้ำเพชรบุรี รวมถึงยังสามารถซื้อโอ่งขนาดใหญ่สำหรับเก็บน้ำจืดและซื้อภาชนะชามหรือถ้วยจากท้องที่ต่างๆ เป็นต้น ถือได้ว่าจากการที่ชุมชนบ้านยี่สารมีการดำเนินเศรษฐกิจรูปแบบการค้านั้นได้ทำให้ผู้คนในชุมชนแห่งนี้จึงสามารถอยู่อาศัยในป่าชายเลนที่ค่อนข้างยากลำบากได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น เพราะมีรายได้จากการค้าขายที่สามารถจะนำมาซื้อสิ่งต่างๆเพื่อตอบสนองต่อสิ่งขาดหรือไม่สามารถผลิตภายในชุมชนได้ ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าการดำรงอยู่ของผู้คนในชุมชนแห่งนี้ที่มีมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานในอดีตจึงมีผลมาจากการค้าขายของชุมชนเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตามจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงทางการค้าของชุมชนยี่สารเป็นอย่างมาก เมืองตะนาวศรีและมะริดซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญได้ถูกทำลายลงทำให้เส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทรตอนบนสุดที่มีเมืองเพรชบุรีเป็นศูนย์กลางค่อยๆหมดความสำคัญลง ประกอบกับขณะนั้นพัฒนาการของการเดินเรือเลียบชายฝั่งก็ได้เปลี่ยนไปเป็นการใช้เรือกำปั่นและเรือกลไฟแทน ทำให้ไม่ต้องรอลมมรสุมหรือเดินเรือเป็นฤดูกาลแต่อย่างใด ความสำคัญของเมืองชายฝั่งตะวันตกรวมถึงเมืองท่าภายในอย่างเมืองเพชรบุรีจึงหมดความหมายลงอย่างสิ้นเชิง โดยการที่เมืองเพชรบุรีเริ่มถูกลดความสำคัญลงไป จุดนี้ได้ส่งผลให้ชุมชนยี่สารที่ตั้งอยู่ในเส้นทางการคมนาคมหลักทางน้ำที่จะผ่านเข้าสู่เมืองเพชรบุรีมีการผ่านของเรือที่จะเข้ามาน้อยลง ทำให้การค้าขายของชุมชนยี่สารที่เคยเจริญรุ่งเรืองและคึกคักเป็นตลาดที่เฟื่องฟูแบบในอดีตสมัยอยุธยาจึงเริ่มเปลี่ยนไปสู่ความเงียบเหงาและเริ่มที่จะเกิดความซบเซาขึ้นมา

ทั้งนี้แม้ว่าต่อมาในช่วงต้นรัตนโกสินทร์สมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ได้มีสนธิสัญญาเบอร์นี่ที่ทำให้รูปแบบการค้าและการผลิตภายในสยามกลายเป็นการผลิตแบบส่งออก อันส่งผลให้หลายพื้นที่ในสยามจึงเริ่มฟื้นตัวและเริ่มเจริญมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามเมื่อมองไปที่ชุมชนยี่สารในขณะนั้นกับพบว่าพื้นที่แห่งนี้ไม่ได้รับความเจริญต่างๆในช่วงเวลานี้เหมือนพื้นที่อื่นๆด้วยเลย โดยกล่าวว่าการผลิตแบบส่งออกได้ทำให้หลายพื้นที่มีการผลิตสินค้าที่เป็นที่ต้องการของตลาดอย่าง อ้อย ยาสูบ ข้าว ซึ่งแถบตะวันตกของสยามนี้ก็จะมีการผลิตอยู่ที่ตามหัวเมืองต่างๆ เช่น เพชรบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี และสุพรรณบุรี โดยจะเห็นได้ว่าพื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่ที่มีการผลิตอยู่ใกล้บริเวณชุมชนยี่สาร แต่การที่ชุมชนยี่สารไม่ได้อยู่ในส่วนร่วมการค้าและการผลิตที่เข้มข้นนี้คงเป็นเพราะข้อจำกัดของชุมชนในด้านสภาพพื้นที่ที่ทำให้ไม่สามารถจะผลิตสินค้าที่ต้องการของตลาดแบบพื้นที่ใกล้เคียงได้ โดยยี่สารมีสภาพดินเป็นดินเค็มและไม่มีน้ำจืดเพียงพอต่อการทำเกษตรกรรมส่งผลให้การที่จะผลิตหรือเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจที่เป็นที่ต้องการของตลาดไม่สามารถจะทำได้ ชุมชนยี่สารจึงยังคงต้องดำเนินการค้ารูปแบบเดิมที่ซบเซาต่อไปพร้อมกับพื้นที่ข้างเคียงที่เริ่มเข้าสู่ความเจริญ

ในช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4 ) ได้มีการขุดคลองบางลี่และคลองลัดยี่สารขึ้นมาส่งผลให้มีความสะดวกต่อการคมนาคมส่งออกผลผลิตจากแถบเมืองเพชรบุรีสู่แม่กลองและเมืองหลวง ซึ่งการขุดคลองนี้แม้จะทำให้เส้นทางสัญจรทางน้ำมีการเดินทางที่เชื่อมต่อตรงเข้าบริเวณชุมชนยี่สารก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ทำให้ชุมชนยี่สารแห่งนี้เจริญทางการค้าหรือมีความสำคัญมากขึ้นกว่าเดิมเลย โดยกล่าวได้ว่าการขุดคลองครั้งนี้ส่วนใหญ่อาจเป็นประโยชน์แก่การขนส่งสินค้าเกษตรจำนวนมากจากแถบเพชรบุรีเสียมากกว่า ซึ่งส่วนของการค้ายี่สารหลังการขุดคลองนี้ก็ยังคงพบว่าไม่ได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นกว่าเดิม ยิ่งต่อมาประมาณพ.ศ.2446 สมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีการสร้างรถไฟสายกรุงเทพฯ-เพชรบุรี ซึ่งการมีเส้นทางรถไฟนี้ได้ทำให้การเดินทางสัญจรทางน้ำของเรือต่างๆจากเมืองหลวงผ่านบริเวณชุมชนยี่สารไปเพชรบุรีหรือจากเพชรบุรีผ่านยี่สารไปสู่เมืองหลวงแบบแต่เดิมได้ลดลงอย่างมาก เพราะผู้คนเปลี่ยนมาสัญจรและขนส่งสินค้าระหว่างเมืองหลวง (กรุงเทพฯ) กับเพชรบุรีกันด้วยรถไฟแทน กล่าวได้ว่าการที่บริเวณชุมชนยี่สารได้มีการสัญจรทางน้ำที่ลดลงอันเป็นผลจากการเกิดขึ้นของรถไฟสายกรุงเทพฯ-เพชรบุรี จุดนี้ได้ทำให้การค้าของชุมชนยี่สารรับผลกระทบเป็นอย่างหนัก โดยชุมชนแห่งนี้ได้ถูกลดความสำคัญลงไป ความซบเซาของการค้าในชุมชนที่มีอยู่แต่เดิมนั้นในช่วงเวลานี้ถือได้ว่าเพิ่มสูงขึ้นซ้ำไปอีก

โดยนับตั้งแต่หลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 จนถึงช่วงต้นรัตนโกสินทร์การค้าของชุมชนบ้านยี่สารได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆมาโดยตลอด ส่งผลทำให้ความเป็นชุมชนการค้าที่ถนัดในการเป็นคนกลางส่งขายสินค้าต่างๆและการค้าสินค้าแปรรูปไม่สามารถทำได้อย่างดีได้เท่าในอดีต กล่าวคือในด้านของการเป็นพ่อค้าคนกลางของชาวบ้านยี่สารนั้นจะพบว่าหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาการสัญจรทางน้ำของผู้คนในบริเวณชุมชนยี่สารดังที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าพื้นที่นี้การสัญจรเริ่มไม่เป็นที่นิยมและมีผู้คนสัญจรน้อยลงเมื่อเทียบกับในสมัยอยุธยาที่ผู้คนมีการสัญจรกันอย่างคึกคัก จุดนี้ส่งผลให้ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพเป็นพ่อค้าคนกลางในชุมชนแห่งนี้ต้องเผชิญความน้อยลงของผู้คนที่จะเข้ามาในพื้นที่เรื่อยมาอันทำให้การค้าแบบตลาดในพื้นที่แห่งนี้ซบเซาเพิ่มขึ้นตลอด ยิ่งเมื่อประกอบกับการเกิดศูนย์กลางการค้าแห่งอื่นๆที่การเดินทางสะดวกสามารถซื้อสินค้าได้ง่ายกว่าการเข้ามาที่ชุมชนยี่สาร จึงทำให้ความต้องการของผู้คนต่อสินค้าที่คนยี่สารเป็นคนกลางจึงไม่เป็นที่ต้องการอีกต่อไป ไม่นานนักผู้คนในพื้นที่ส่วนหนึ่งที่ประกอบอาชีพเป็นพ่อค้าคนกลางจึงต้องออกจากพื้นที่ไปหาแหล่งศูนย์กลางอื่นเพื่อค้าขาย เช่น แม่กลอง เมืองเพชรบุรี เป็นต้น ทำให้พื้นที่ชุมชนยี่สารที่ในอดีตเป็นตลาดที่เจริญรุ่งเรืองคึกคักจึงเงียบเหงาลงเรื่อยมา ทั้งนี้ในด้านของการค้าขายสินค้าแปรรูปของชาวชุมชนบ้านยี่สารนั้นจะพบว่าการค้าขายสินค้ารูปแบบนี้ก็เริ่มซบเซาลงเช่นกัน เป็นผลมาจากการที่สินค้าแปรรูปของชุมชนยี่สารต้องเผชิญกับการมีคู่แข่งทางการค้าที่อยู่ใกล้ในการซื้อขายสินค้ากับศูนย์กลางการรับซื้ออย่างเมืองหลวงที่มากกว่า กล่าวคือในช่วงกรุงธนบุรีจนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้มีชาวจีนโพ้นทะเลมาตั้งหลักแหล่งในแถบชุมชนชายทะเลของสยามอยู่หลายแห่งทั้งในฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของอ่าวไทย โดยชุมชนของชาวจีนแถบชายทะเลเหล่านี้หลังการตั้งชุมชนก็มักจะพบว่าชาวบ้านจะมีการแปรรูปอาหารแห้งมาค้าขายกับเมืองหลวงด้วยเช่นกัน ซึ่งชุมชนบางแห่งอาจอยู่ใกล้กับเมืองหลวงหรือบางแห่งอาจอยู่ใกล้กับการคมนาคมขนส่งไปยังเมืองหลวงที่มีความสะดวกและความรวดเร็ว ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบกับชุมชนยี่สารที่อยู่ห่างไกลเมืองหลวงและยังมีระบบคมนาคมขนส่งสินค้าที่เชื่องช้าอยู่ จึงส่งผลให้การค้าขายอาหารแปรรูปของชาวยี่สารถูกแทนที่ด้วยชุมชนอื่นและเป็นกิจการที่ไม่น่าจะเจริญรุ่งเรืองอีกต่อไป การผลิตสินค้าแปรรูปขายของชาวยี่สารแห่งนี้จึงค่อยๆซบเซาลง

กล่าวได้ว่าการค้าขายของชุมชนยี่สารทั้งในรูปแบบการเป็นพ่อค้าคนกลางและการค้าขายสินค้าแปรรูปได้เริ่มซบเซาและหายไปเรื่อยๆจนคาดว่ามีการสิ้นสุดและหมดลงในช่วงก่อน พ.ศ.2470 ชาวยี่สารส่วนหนึ่งได้อพยพออกไปตั้งถิ่นฐานที่อื่น แต่ก็มีส่วนหนึ่งที่ไม่มีที่ไปหรือยังรักในบ้านเกิดของตนเองจึงยังคงอยู่อาศัยในพื้นที่ โดยชาวบ้านเหล่านี้ได้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่เพื่อตอบสนองต่อความมั่งคั่งที่น้อยลงด้วยการหากินเลี้ยงชีพแบบพอเพียง มีการใช้จ่ายที่น้อยลงด้วยการพยายามหาอาหารตามที่ทรัพยากรธรรมชาติมี เช่น ปลาตามลำคลอง วัชพืชที่มีขึ้นในชุมชนอย่างชะคร้าม มารับประทานในครัวเรือน นอกจากนี้ชาวบ้านอาจจะมีการนำทรัพยากรในชุมชนแลกเปลี่ยนสิ่งของจำเป็นกับภายนอกด้วย อย่างการนำปลาที่หาได้จากลำคลองบริเวณชุมชนไปแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งของจำพวก ผัก ผลไม้ ของแห้ง น้ำตาล เป็นต้น โดยการนำของไปแลกเปลี่ยนนี้จะมีตลาดแลกเปลี่ยนขณะนั้นคือ ตลาดนัดคลองโคน ที่เป็นตลาดน้ำอยู่ห่างจากชุมชนไปประมาณ 7-8 กิโลเมตร ชาวบ้านในชุมชนเมื่อหาปลาได้จะล่องเรือไปแลกเปลี่ยนที่แห่งนี้อยู่เสมอเพื่อให้ได้ของจำเป็นมาใช้ในครัวเรือน อาจกล่าวได้ว่าวิถีชีวิตของชาวชุมชนยี่สารหลังการค้าในชุมชนซบเซาหายไปนั้น เริ่มทำให้การอยู่อาศัยในชุมชนลำบากมากขึ้น ชาวบ้านที่ยังอยู่จึงค่อนข้างต้องปรับตัวอย่างมาก โดยเน้นอาศัยการอยู่กันอย่างพอเพียงและเรียบง่าย ซึ่งวิถีชีวิตรูปแบบนี้ได้เกิดขึ้นไปพร้อมๆกับการที่ชาวบ้านได้ประกอบอาชีพที่พอจะทำให้มีรายได้ในขณะอย่างการค้าฟืนไปให้กับเมืองหลวงอีกด้วยนั่นเอง

โดยการส่งขายฟืนของชาวบ้านยี่สารแท้จริงแล้วได้เริ่มมาตั้งแต่ในช่วงที่ชาวบ้านยังคงประกอบอาชีพหลักคือการค้าขายก่อนที่จะมากขึ้นเมื่อการค้าซบเซาลง กล่าวคือมีชาวบ้านส่วนหนึ่งที่พอจะมีกำลังทรัพย์และมีกำลังคนได้เริ่มมีอาชีพเสริมเกี่ยวกับการส่งขายฟืนที่มาจากไม้ป่าชายเลนในพื้นที่ โดยคนเหล่านี้เริ่มมีการถางพื้นที่ป่าชายเลนตามธรรมชาติเพื่อปลูกไม้ชายเลนที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจบางชนิด เช่น ต้นแสมและต้นจาก ซึ่งส่วนใหญ่ทั้งหมดจะนำมาทำเป็นฟืนเพื่อส่งขายไปยังเมืองหลวง กิจการนี้ได้ดำเนินเรื่อยมายิ่งเมื่อการค้าซบเซาผู้คนก็เริ่มสนใจในการทำการค้านี้มากขึ้นเพื่อเพิ่มหารายได้ ในช่วงพ.ศ.2450-2460 ได้เริ่มมีการนำฝักต้นโกงกางใบเล็กจากภาคใต้มาทดลองปลูกและพบว่าได้ผลดีจึงมีการขยายพันธุ์ออกไปเพื่อนำมาค้าเป็นพืชเศรษฐกิจร่วมด้วย ซึ่งในระยะแรกยังเป็นไปอย่างช้าๆ ไม่แพร่หลายมากเพราะต้นโกงกางใช้เวลาเติบโตนานกว่าต้นแสม อีกทั้งตลาดในรับซื้อยังมีจำกัดกว่าไม้ฟืนที่มาจากต้นแสมและต้นจาก (ต้นโกงกางใช้ประโยชน์ส่วนใหญ่กับกิจกรรมก่อสร้าง ประมง) จึงทำให้ชาวบ้านอาจยังไม่ได้นิยมพาะปลูกมากในชุมชน ดังนั้นในช่วงเวลาที่การค้ารูปแบบเดิมได้ถึงจุดที่ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้แล้วจึงคาดว่าชาวบ้านส่วนหนึ่งที่ยังเลือกอยู่อาศัยในชุมชนแห่งนี้ ในช่วงแรกๆที่การค้าสิ้นสุดจึงมีการทำอาชีพปลูกและส่งขายฟืนและต้นโกงกาง โดยแม้จะไม่ได้ทำให้มีกำไรมากแต่พอจะทำให้สามารถอยู่อาศัยในชุมชนที่ค่อนข้างลำบากแห่งนี้ต่อไปได้ ผู้คนได้ดำเนินกิจกรรมการปลูกพืชส่งขายนี้เรื่อยมาจนกระทั่งในปี พ.ศ.2480 จึงเริ่มเปลี่ยนมาทำถ่านจากไม้โกงกางที่สร้างกำไรได้มากขึ้นและกลายมาเป็นอาชีพหลักของคนในชุมชน

ในปีพ.ศ.2480 ขณะที่ชาวบ้านยังประกอบอาชีพส่งขายฟืนและไม้โกงกาง ช่วงเวลานี้ได้มีการนำเข้าของความรู้และเทคโนโลยีการผลิตถ่านมาจากเครือข่ายการติดต่อของญาติพี่น้องที่เป็นคนจีน อำเภอกันตัง จังหวัดตรังเข้ามา ส่งผลให้มีการเปลี่ยนไม้โกงกางให้เป็นถ่านชั้นเลิศที่สร้างรายได้มากขึ้น จุดนี้ผู้คนในพื้นที่จึงหันมาประกอบอาชีพหลักในการทำถ่านส่งขายกัน โดยผืนป่าชายเลนที่ชาวบ้านเคยเพาะปลูกเพื่อตัดเป็นฟื้นส่งขาย ได้เปลี่ยนเป็นสวนป่าโกงกางเพื่อการทำถ่าน ในชุมชนเกิดการซื้อหาที่ดินเพิ่มขึ้น มีการสร้างเตาขนาดใหญ่ไว้เผาและอบไม้โกงกางในพื้นที่ ทั้งนี้อาชีพการทำถ่ายส่งขายยังทำให้เกิดการสร้างงานภายในของคนในชุมชน เช่น เป็นเจ้าของเตาเผา เป็นลูกจ้างหาฝักและปลูกโกงกาง เป็นลูกจ้างตัดไม้โกงกาง เป็นลูกจ้างถางวัชพืช เป็นลูกจ้างกะเทาะเปลือกไม้และตัดเป็นท่อน เป็นลูกจ้างเรียงไม้ในเตา เป็นลูกจ้างลำเลียงถ่านออกจากเตา เป็นลูกจ้างบรรจุถ่าน ละเป็นคนขนส่งถ่าน เป็นต้น ถือได้ว่าการทำถ่านได้ทำให้คนยี่สารมีงานทำเลี้ยงชีพในชุมชน ถ่านไม้โกงกางที่นี่เป็นถ่านคุณภาพดี ขายได้ราคามากกว่าถ่านทั่วไป ทำให้มีการผลิตส่งขายจำนวนมากในจังหวัดสมุทรสงครามและกรุงเทพฯ อย่างไรก็ตามกิจการนี้ได้เจริญและดำเนินเรื่อยมาจนกระทั่งประมาณ พ.ศ.2520 กิจการการทำถ่านไม้โกงกางนี้ก็ได้เข้าสู่ความซบเซาลง ส่งผลให้มีการปิดตัวลงของเตาอบหลายแห่ง อันจะเห็นได้จากแต่เดิมในพื้นที่มีเตาเผาหรือเตาอบถ่านอยู่ 7 แห่ง แต่ต่อมาได้เหลือที่อยู่เพียง 3-4 แห่งเท่านั้นที่ยังคงมีการเปิดทำถ่านอยู่ ซึ่งการที่กิจการทำถ่านของชาวบ้านยี่สารได้ซบเซาลงไปนี้พบว่ามีสาเหตุด้วยกันหลายสาเหตุ ประการแรกมาจากความต้องการถ่านในตลาดได้มีจำนวนลดลง ซึ่งเป็นผลจากยุคสมัยใหม่ผู้คนสามารถมีเชื้อเพลิงอื่นที่เข้ามาทดแทนและใช้ได้สะดวกกว่า เช่น แก๊สหุงต้ม และไฟฟ้า ทำให้การใช้ถ่านที่แม้จะดีแต่ก็ล้าสมัยไปแล้ว จุดนี้ถือได้ว่าความนิยมของผู้คนที่จะใช้ถ่านจึงลดลง ประการต่อมาคือจากการตื่นตัวในการประกอบอาชีพใหม่ที่สร้างรายได้มากกว่าเดิมอย่างการทำนากุ้งที่เข้ามาในช่วงปี พ.ศ. 2500 อาชีพทำให้ชาวบ้านส่วนหนึ่งได้ละละทิ้งอาชีพทำถ่านและหันมาทำกิจการนากุ้งนี้มากยิ่งขึ้นอันส่งผลให้คนที่จะทำกิจการถ่านส่งขายในชุมชนจึงมีน้อยลง ความคึกคักของกิจการถ่านไม้โกงกางจึงลดลงมากอย่างมาก นอกจากนี้การทำนากุ้งที่เริ่มขึ้นมานี้ยังทำให้ป่าชายเลนที่เคยใช้ปลูกสวนป่าโกงกางถูกทำลายไปจำนวนมาก ส่งผลให้พื้นที่เพาะปลูกต้นโกงกางเพื่อที่จะทำถ่านจึงไม่ค่อยมีพื้นที่เท่าแต่เดิม ไม้โกงกางจึงมีจำนวนน้อยลง เมื่อเป็นเช่นนั้นการทำกิจการนี้จึงลำบากมากขึ้น ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าจากสาเหตุทั้งหมดทั้งมวลกิจการถ่านไม้โกงกางของชุมชนยี่สารจึงได้ค่อยๆซบเซาเรื่อยมา โดยแม้ว่าปัจจุบันกิจการทำถ่านในชุมชนแห่งนี้ยังคงพบถึงการดำเนินกิจการอยู่แต่ก็ไม่ได้เจริญรุ่งเรืองเท่าเดิมอีกต่อไป มีเพียงชาวบ้านส่วนน้อยในชุมชนที่ยังคงสืบทอดและทำกิจการการเผาถ่านนี้อยู่ ส่วนในชาวบ้านส่วนใหญ่นั้นจะพบว่าได้หันไปประกอบอาชีพทำนาที่มีรายได้ดีกว่ากุ้งแทน ส่งผลให้ต่อมากิจการการทำนากุ้งจึงกลายเป็นอาชีพหลักของชุมชนแห่งนี้

การทำนากุ้งของชุมชนบ้านยี่สารในช่วงแรกนั้นจะพบว่าเป็นนากุ้งขาวหรือกุ้งแชบ๊วย ซึ่งได้เริ่มแพร่กระจายเข้ามาสู่ชุมชนยี่สารเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2500 ชาวยี่สารได้เห็นวิธีการขุดบ่อและการเลี้ยงกุ้งมาจากภาคใต้ จึงได้เริ่มทดลองทำกันภายในชุมชนและพบว่าได้ผลดี ชาวบ้านบางส่วนจึงเปลี่ยนสภาพพื้นที่ป่าชายเลนให้เป็นบ่อเลี้ยงกุ้งและเริ่มทำกิจการนากุ้งกันในชุมชน ทั้งนี้ต่อมาประมาณปีพ.ศ.2523-2524 ประเทศไทยได้มีกระแสความต้องการพื้นที่ทะเลตมทำนากุ้งกุลาดำเพื่อส่งออกประกอบกับการทำนากุ้งกุลาดำได้ค่าตอบแทนจำนวนมาก ชาวบ้านที่ทำนากุ้งขาวมาก่อนจึงหันมาประกอบอาชีพทำนากุ้งกุลาดำกันเกือบทั้งหมด กล่าวว่าการทำนากุ้งกุลาดำนี้ได้แลกมากับผลเสียของสภาพสภาพแวดล้อมในชุมชนที่มีการทำลายป่าชายเลนธรรมชาติที่เคยมีอยู่ โดยเฉพาะช่วงพ.ศ.2527-2532 ช่วงที่กิจการนากุ้งกุลาดำเจริญรุ่งเรืองสูงสุดจะพบว่าชาวยี่สารได้ทำลายป่าชายเลนกันอย่างมากเพื่อเพิ่มพื้นที่การเลี้ยงกุ้งกุลาดำ นอกจากนี้ยังมีนายทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาลงทุนกว้านซื้อหรือเช่าพื้นที่ในชุมชนเพื่อลงทุนทำบ่อกุ้งกุลาดำเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ป่าชายเลนเกินกว่าครึ่งหนึ่งหายไปอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดีประมาณ พ.ศ.2535 เมื่อค่าตอบแทนการทำนากุ้งกุลาดำเริ่มไม่คุ้มกับการลงทุนประกอบกับการเกิดโรคระบาดของกุ้ง กิจการนากุ้งหลายแห่งจึงถูกทิ้งร้างจนทำให้ส่งผลเสียแก่สภาพแวดล้อมและกลายมาเป็นปัญหาวิกฤต ซี่งต่อมาประมาณปีพ.ศ.2543 หน่วยงานในจังหวัดสมุทรสงครามได้เล็งเห็นและตระหนักถึงปัญหาความเสื่อมโทรมของป่าชายเลน จึงได้เริ่มเข้ามาฟื้นฟูปลูกไม้เศรษฐกิจทดแทนในตำบลยี่สาร ซึ่งพืชที่ปลูกในป่าชายเลนให้งอกใหม่นี้จะมีด้วยกัน 2 ชนิด คือ แสมขาวและลำพู การฟื้นฟูนี้ได้ทำให้ปัจจุบันตำบลยี่สารสามารถมีป่าชายเลนเพิ่มขึ้นประมาณ 3,000 ไร่เศษ จากแต่เดิมที่ป่าชายเลนถูกทำลายจนเหลือ 900 ไร่ ทั้งนี้แม้ว่าจะมีการฟื้นฟูป่าชายเลนขึ้นเพื่อให้สภาพแวดล้อมป่าชายเลนกลับมาเหมือนเดิม แต่การฟื้นฟูที่มีก็ยังคงเป็นแค่ส่วนหนึ่งเพราะพื้นที่ป่าชายเลนอีกส่วนยังคงเป็นนากุ้งถูกทิ้งร้างและอยู่ในครอบครองของนายทุน ซึ่งยังคงเป็นพื้นที่กิจการนากุ้งที่ยังไม่ได้รับการฟื้นฟู อาจกล่าวได้ว่าการทำนากุ้งกุลาดำที่เคยเฟื่องฟูถือเป็นกิจการที่ทำให้สภาพแวดล้อมของชุมชนยี่สารได้เปลี่ยนไปมากที่สุดจากบรรดากิจการและอาชีพต่างๆของชุมชนแห่งนี้ เพราะกิจการนี้ได้เข้าทำลายป่าโกงกางอันอุดมสมบูรณ์ที่เคยมีมารวมถึงทำลายสภาพแวดล้อมการอยู่อาศัยของสัตว์น้ำอื่นๆ จึงทำให้พื้นที่บริเวณยี่สารต้องได้รับผลกระทบในเรื่องปัญหาสภาพแวดล้อมเป็นอย่างมาก

นอกจากกิจการนากุ้งกุลาดำจะทำให้สภาพแวดล้อมป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ของชาวยี่สารถูกทำลายไปแล้ว พบว่ากิจการการทำนากุ้งกุลาดำนี้ยังทำให้ที่ดินของพื้นที่ชุมชนยี่สารที่เคยเป็นของชาวบ้านในพื้นที่ทำกิจการต่างๆมาอย่างช้านานตกไปอยู่ในมือของนายทุนภายนอกอีกด้วย โดยช่วงที่กิจการกุ้งกุลาดำเฟื่องฟูชาวยี่สารได้ขายที่ดินให้กลุ่มนายทุนใหญ่รายหนึ่งที่เป็นคนนอกชุมชน โดยขณะนั้นนายทุนได้มีการตั้งราคารับซื้อที่ดินราคาสูงกว่าราคาซื้อขายของคนในชุมชนด้วยกันเอง ส่งผลให้ชาวยี่สารที่ส่วนหนึ่งที่มีภาระหนี้สินต้องการเงินก้อนใหญ่จึงมีการขายที่ดินให้นายทุนไปจนหมด ซึ่งการที่ชาวบ้านในชุมชนมีการขายที่ดินแก่นายทุนไปจำนวนมากในครั้งนั้น ต่อมาจึงมีผลให้ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยที่ยังคงมีการทำกิจการนากุ้งต้องกลายสภาพเป็นผู้ที่ต้องเช่าที่ดินของตนเองในการประกอบอาชีพทำนากุ้งภายในชุมชนแห่งนี้แทน โดยจะมีการเช่าบ่อเลี้ยงกุ้งที่เป็นของคนนอกในการเป็นที่ทำกินแบบรายปี ดังนั้นจากจุดนี้จึงมักจะพบเห็นภาพของนายทุนภายนอกที่ไม่มีความสัมพันธ์กับชุมชนกับมีฐานะเป็นเจ้าของที่ดินปล่อยเช่า ส่วนชาวบ้านที่อยู่อาศัยในชุมชนมาอย่างยาวนานกับพบว่ามีฐานะเป็นผู้เช่าที่ดินในการทำกินภายในชุมชนแห่งนี้นั่นเอง

ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่าหลังการซบเซาลงของกิจการการทำนากุ้งกุลาดำ ทำให้ชาวบ้านจำนวนหนึ่งได้อพยพออกไปหางานและตั้งถิ่นฐานภายนอก ส่วนชาวบ้านที่ยังคงอาศัยอยู่ก็ค่อนข้างมีอาชีพหลักที่มีหลากหลายมากขึ้น รวมถึงบางส่วนกลับไปทำอาชีพเดิมที่ยังพอทำรายได้ เช่น กลับไปดำเนินกิจการทำนากุ้งขาวหรือกุ้งแชบ๊วย ทำการเผาถ่านขาย การหากินตามลำคลอง การรับจ้างทั่วไป เป็นต้น ซึ่งกลุ่มชาวบ้านเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไปหรือคนมีอายุที่อยู่ในชุมชนอย่างยาวนาน ส่วนคนรุ่นใหม่ๆที่มีอายุน้อยหรือกลุ่มเด็กสมัยใหม่ที่มีโอกาสได้รับการศึกษาก็มักมีค่านิยมที่จะไปทำงานภายนอกหรือในเมืองมากกว่าสืบทอดอาชีพหรือกิจการที่มีมาของครอบครัวหรือชุมชน โดยเมื่อคนกลุ่มนี้เติบโตขึ้นจึงมีการออกจากพื้นที่นี้ไปประกอบอาชีพนอกชุมชนต่อไป อาจเป็นที่ตัวเมืองจังหวัดหรือเมืองหลวง เป็นต้น จุดนี้ทำให้เกิดการเดินทางออกจากพื้นที่ของคนกลุ่มนี้อยู่ตลอดเรื่อยมา ซึ่งในปัจจุบันนี้ลักษณะการประกอบอาชีพของผู้คนนี้ก็ยังคงเป็นรูปแบบนี้อยู่ ส่งผลให้ชาวบ้านที่อยู่อาศัยและมีการประกอบอาชีพภายในชุมชนจะพบเป็นผู้มีอายุเป็นส่วนมากกว่าวัยหนุ่มสาวนั่นเอง

จะเห็นได้ว่าจากอดีตถึงปัจจุบันชุมชนยี่สารแห่งนี้มีความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจภายในชุมชนมาโดยตลอด โดยการประกอบอาชีพและกิจการต่างๆที่เกิดขึ้นมานี้ล้วนสัมพันธ์กับภูมิศาสตร์และลักษณะทางกายภาพที่อุดมสมบูรณ์ของชุมชนแห่งนี้ ทั้งการค้าที่เจริญรุ่งเรืองเนื่องจากอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ทางผ่านของเรือในอดีต ทั้งการทำฟืน ทำถ่านไม้โกงกาง ทำนากุ้งที่เกิดขึ้นได้เพราะมีป่าชายเลน ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าด้วยตำแหน่งที่ตั้งของชุมชนยี่สารที่แม้ปัจจุบันผู้คนจะมองว่าเป็นอุปสรรคต่อการอยู่อาศัยของชุมชนแห่งนี้เพราะค่อนข้างมีความยากลำบาก กันดาร มีงูและยุงชุกชุม แต่ก็อาจปฎิเสธไม่ได้เลยการที่ชุมชนยี่สารมีการเลือกตั้งชุมชนในบริเวณที่แห่งนี้จึงทำให้สามารถที่จะดำรงสืบทอดความเป็นชุมชนยี่สารมาได้อย่างยาวนาน อันจะเห็นได้นับตั้งตั้งแต่แต่พุทธศตวรรษที่19 จวบจนถึงปัจจุบันนั่นเอง

ชุมชนบ้านยี่สารตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลยี่สารหมู่ที่ 1 ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม โดยชุมชนนี้ห่างจากถนนธนบุรี-ปากท่อหรือถนนพระราม 2 ไปทางทิศใต้ประมาณ 8 กิโลเมตรและอยู่ห่างจากชายขอบอ่าวไทยฝั่งตะวันตกประมาณ 5 กิโลเมตร ตัวชุมชนจะตั้งอยู่ในบริเวณเชิงเขายี่สารที่เป็นเขาหินปูนขนาดย่อมสูงจากน้ำทะเลปานกลางราว 2 เมตร มีเนื้อที่ประมาณ 29.3 ตารางกิโลเมตรหรือ 18,308.51 ไร่ บ้านยี่สารมีเส้นทางน้ำต่อกับอ่าวบางตะบูนที่อยูู่ระหว่างปากแม่น้ำแม่กลองและปากน้ำเพชรบุรีนับเป็นบริเวณที่ไกลศูนย์กลางจังหวัดสมุทรสงครามที่สุด แต่สามารถติดต่อกับจังหวัดเพชรบุรีได้สะดวกที่มากเช่นกัน

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือและทิศตะวันออก มีลำคลองที่ขุดลัดสามารถไปออกแม่น้ำแม่กลองที่อัมพวาและแม่กลองได้โดยไม่ต้องอ้อมออกทะเล เรียกว่าคลองขุดยี่สารหรือคลองหลวง แล้วแยกขวาไปทางทิศตะวันออกมีเส้นน้ำไปออกคลองช่องและคลองโคนได้นับเป็นหัวใจของการคมนาคมในยุคโบราณปัจจุบันไม่มีผู้นิยมใช้เดินทางแล้ว
  • ทิศตะวันตก เป็นพื้นที่ป่าชายเลนติดต่อกับนาข้าวที่ติดต่อและเขตหมู่บ้าน เช่น บ้านวังมะนาว บ้านบางเค็ม บ้านกล้วย บ้านหนองสิม และมีเส้นทางรถไฟตัดผ่านไปจังหวัดเพชรบุรีบริเวณนี้จะพบเขารูปร่างแปลกตา เช่น เขาอีโก้ เขาอีบิด และกลุ่มเขากลิ้ง เขาขนาด เขากระโดดบริเวณอำเภอเขาช้อย สลับกับพื้นที่ราบลุ่มใช้ปลูกข้าวที่อุดมสมบูรณ์
  • ทิศใต้ มีทางน้ำอ้อมเขาแยกออกเป็นสองสาย สายหนึ่งคือ คลองยี่สารเดิมพุ่งตรงออกไปยังเขาอีโต้ อีกสายหนึ่งคือแพรกบางอีทอนหรือแพรกเขมรเป็นลำคลองไปสู่บ้านต้นลำแพนเชื่อมต่อกับคลองไหหลำ ที่ไปออกคลองบางตะบูนได้ ทั้งนี้บริเวณหน้าวัดมีการขุดคลองยี่สาร ตัดตรงไปเชื่อมต่อกับคลองบางตะบูนและออกปากอ่าวบางตะบูนได้สะดวก บริเวณใกล้ปากอ่าวบางตะบูนเสมือนเป็นทางแยกที่สามารถเดินทางแยกออกไปตามที่ต่างๆได้หลายทาง เช่น ผ่านจากบ้านปากอ่าวออกปากอ่าวบางตะบูนข้ามทะเลไปแม่กลองหรือปากน้ำเพชรบุรีแล้วแยกเข้าแถบวัดคุ้งตำหนักซึ่งมีทางน้ำติดต่อไปแถบเขาสมอระบัง อันเป็นจุดต่อระหว่างป่าโกงกางและนาข้าวได้ ทางแยกอีกทางหนึ่ฃงบริเวณหน้าวัดคุ้งตำหนักคือ ทางเข้าคลองบางครกสู่วัดเขาตะเคราเป็นเขตรอยต่อเช่นเดียวกัน จากนั้นสามารถตัดตรงเข้าแม่น้ำเพชรแยกไปบ้านแหลมและเมืองเพชรบุรีได้

ลักษณะทางกายภาพ

ชุมชนยี่สารตั้งอยู่บนพื้นที่ราบลุ่มมีน้ำทะเลท่วมถึงอยู่เสมอในบริเวณที่เรียกว่า “ทะเลตม”และป่าชายเลนของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยาที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ หรือเรียกว่า “นิวเดลต้า” ใกล้ชุมชนมีลำคลองที่รับอิทธิพลน้ำทะเลแตกแยกหลายสาย ซึ่งจะมีสภาพเป็นน้ำกร่อย ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถนำน้ำในคลองมาอุปโภคและบริโภคได้จึงต้องอาศัยการล่มน้ำจากเพชรบุรีมาใช้ในชุมชน โดยในอดีตลำคลองต่างๆเหล่านี้ยังถือว่าสำคัญและเป็นหัวใจหลักต่อการคมนาคมยุคแรกๆของชุมชนอีกด้วยก่อนที่ต่อมาถนนจะเข้ามาเป็นเส้นทางสำคัญแทนและลำคลองก็ถูกลดความสำคัญลงไป

ในส่วนของพื้นที่บริเวณชุมชนบ้านเขายี่สารนั้น พบว่าในบริเวณใจกลางชุมชนจะมีภูเขาสำคัญคือ เขายี่สาร โดยเป็นเขาหินปูนปนหินทรายขนาดย่อมๆสูงจากน้ำทะเลปานกลางราว 2 เมตร บนภูเขาแห่งนี้จะมีวัดเขายี่สาร ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ตั้งอยู่ ส่วนพื้นที่บริเวณรอบๆเชิงเขามักจะมีบ้านเรือนต่างๆของชาวบ้านตั้งขึ้นอย่างหนาแน่น ทั้งนี้ส่วนในบริเวณของพื้นที่โดยรอบของชุมชนยี่สารนั้นพบว่าส่วนใหญ่จะเป็นป่าชายเลนอันเป็นแหล่งอาหารและแหล่งวางไข่ของสัตว์น้ำ อีกทั้งยังเป็นแหล่งที่มีพรรณไม้น้ำกร่อยขึ้น เช่น โกงกาง ครุ่ย รุ่ย ตะบูนหรือกะบูน แสมขาว แสมดำ จาก เหงือกปลาหมอ ทับแถม ลำแพน ลำพู โพธิ์ทะเล ฝาด ปุโลง ชะคราม เป็นต้น

ในด้านของสภาพดินภายในพื้นที่ชุมชนยี่สารจะเป็นดินเค็ม ทำให้ยี่สารไม่สามารถทำการเพาะปลูกพืชผักผลไม้หรือทำนาได้ พืชที่ขึ้นในชุมชนบางชนิดจึงมีเฉพาะพืชที่สามารถทนความเค็มได้เท่านั้น อย่างไรก็ตามแม้ว่าสภาพดินของชุมชนนี้ส่วนใหญ่เป็นดินเค็มที่ไม่สามารถเพาะปลูกพืชได้แต่จะมีพื้นที่ในบริเวณหนึ่งคือบริเวณรอบภูเขายี่สารที่ดินค่อนข้างแตกต่างจากพื้นที่อื่นๆของชุมชน เพราะมีสภาพเป็นเนินดินอันอุดมสมบูรณ์ ทำให้บริเวณนี้จึงถือเป็นพื้นที่เดียวที่มีต้นไม้ขนาดใหญ่ขึ้น เช่น มะขาม มะกลัก มะเกลือ ราชพฤกษ์ ละมุดสีดา เป็นต้น โดยจะขึ้นเป็นดงหนาทึบในบริเวณนี้

ลักษณะภูมิอากาศ

ชุมชนยี่สารอยู่ในพื้นที่บริเวณชายฝั่งของอ่าวไทยด้านตะวันตก ซึ่งบริเวณนี้มักได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมสองประเภท คือ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือทำให้เกิดฤดูฝนตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมจนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีคือประมาณ 28.1 องศาเซลเซียส สูงสุดในเดือนเมษายนประมาณ 36.3 องศาเซลเซียส ต่ำสุดในเดือนมกราคม 19.5 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรวม 1,094.8 มิลลิเมตร

สถานที่สำคัญภายในชุมชน

ชุมชนยี่สารมีวัดประจำชุมชน 1 แห่งคือวัดเขายี่สารที่ตั้งอยู่บริเวณบนภูเขาเขายี่สารอันเป็นศูนย์กลางชุมชน นอกจากนี้สถาบันการศึกษาก็อยู่ในวัดแห่งนี้เช่นกันชื่อว่า โรงเรียนวัดเขายี่สาร ซึ่งโรงเรียนนี้จะเปิดสอนแค่ในระดับประถมศึกษาเท่านั้น ในส่วนของสาธารณสุขจะพบว่าภายในชุมชนจะมีสถานีอนามัยประจำตำบล 1 แห่งที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านที่คอยให้บริการประชาชนเมื่อเจ็บป่วย

การเดินทางเข้าสู่ชุมชนบ้านยี่สาร

  • เส้นทางที่ 1 เดินทางโดยรถยนต์จากกรุงเทพฯ ไปตามถนนสายธนบุรี-ปากท่อ พอผ่านจังหวัดสมุทรสงครามข้ามแม่น้ำแม่กลองไปประมาณ 3-4 กิโลเมตร ถึงปั๊มน้ำมัน ปตท. ก่อนถึงคลองโคนจะมีถนนด้านซ้ายมือแยกไปบ้านเขายี่สาร ระยะทางประมาณ 7.5 กิโลเมตร
  • เส้นทางที่ 2 เดินทางโดยทางรถไฟสายใต้ ลงที่สถานีรถไฟวัดกุฏิแล้วลงเรือไปตามคลองยี่สาร
  • เส้นทางที่ 3 เดินทางโดยเรือจากอัมพวาหรือแม่กลอง (จังหวัดสมุทรสงคราม) ไปตามคลองขุดดอนจัน เข้าบางลี่หรือคลองชุมชนชื่นก็จะออกที่บ้านเขายี่สาร
  • เส้นทางที่ 4 ทางเรือจากอัมพวาหรือแม่กลอง (จังหวัดสมุทรสงคราม) ไปตามคลองขุดดอนจัน เข้าคลองบางลี่หรือคลองชุมชนชื่นก็จะออกที่บ้านเขายี่สาร หรือลงเรือที่ทำเรือวัดหลวงพ่อบ้านแหลม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ล่องเรือดูภูมิประเทศสองฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ออกสู่ปากอ่าวแม่กลอง ชมชีวิตชาวประมง การเลี้ยงหอยแคลง หอยแมลงภู่ ป่าชายเลน ทะเลตม ชุมชนบ้านตะบูน เข้าคลองขุดยี่สาร เข้าถึงหมู่บ้านเขายี่สาร

ชุมชนบ้านเขายี่สารเป็นชุมชนหมู่ที่ 1 ตำบลยี่สาร ซึ่งมีประชากรทั้งสิ้น 705 คน แบ่งเป็นชาย 339 คน หญิง 366 คน มีจำนวนครัวเรือน 238 ครัวเรือน ทั้งนี้พบว่าจำนวนประชากรของชาวชุมชนยี่สารมักมีจำนวนลดลงทุกปี เนื่องจากประชากรที่อยู่ในวัยแรงงานต้องออกไปหางานทำที่ดีกว่าภายนอกชุมชน โดยจะย้ายถิ่นถาวรไปตั้งรกรากนอกชุมชนแบบนานทีจะกลับมาเยี่ยมครอบครัวผู้สูงอายุที่ยังอยู่ ซึ่งจากการย้ายถิ่นทำงานนี้คาดว่าอนาคตจะสูงขึ้นเพราะจากการมีแหล่งทำงานที่น้อย การจ้างงานลดลงที่ยังคงมีอยู่เรื่อยๆจะผลักดันให้เกิดการย้ายออกจากชุมชนไปหางานทำที่อื่นมากขึ้น อีกสาเหตุหนึ่งของการย้ายถิ่นฐานมาจากการย้ายถิ่นเพื่อการศึกษา โดยเด็กนักเรียน ในชุมชนที่จบการศึกษาในระดับประถมจากโรงเรียนวัดเขายี่สารแล้วก็มักจะเข้าศึกษาต่อในตัวเมืองสมุทรสงครามหรือในกรุงเทพมหานคร เมื่อเติบโตก็ไม่ได้กลับมาอาศัยชุมชนเขายี่สารอีก กล่าวได้ว่าจากการอพยพต่างๆที่เกิดขึ้นภายในชุมชนทำให้ประชากรของชุมชนแห่งนี้ส่วนใหญ่ในแต่ละครอบครัวจึงเหลือแค่เด็กเล็กและผู้สูงอายุที่อยู่อาศัยในชุมชนมากกว่าประชากรวัยหนุ่มสาว จุดนี้จึงส่งผลต่อการพัฒนาชุมชนในอนาคตอีกด้วย

ทั้งนี้ในด้านการประกอบอาชีพของชาวบ้านชุมชนยี่สารจะพบว่าผู้อยู่อาศัยในชุมชนยี่สารปัจจุบัน มีการประกอบอาชีพหลากหลายอาชีพหลัก ทั้งที่เป็นอาชีพที่ต่อเนื่องและสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม ตลอดจนอาชีพอื่นๆที่คนทั่วไปนิยมทำในปัจจุบัน ซึ่งแบ่งได้ดังนี้

  • 1. เลี้ยงสัตว์ อาทิ กุ้ง ปู ปลา ประมาณ 60%
  • 2. ปลุกป่าไม้โกงกางและเผาถ่านไม้โกงกาง ประมาณ 15%
  • 3. รับจ้างตามโรงงานและทั่วไป ประมาณ 10%
  • 4. รับราชการ ประมาณ 5%
  • 5. ค้าขาย ประมาณ 5%
  • 6. อาชีพอื่นๆ ประมาณ 5%

ความสัมพันธ์และระบบเครือญาติ

ชุมชนยี่สารมีตระกูลที่เป็นเครือญาติขนาดใหญ่ไปจนถึงขนาดเล็ก ซึ่งจะพบว่าแต่ละตระกูลของชาวยี่สารยังมักมีการแต่งงานระหว่างตระกูลกันจนทำให้มีลักษณะของชุมชนกลายเป็นเครือญาติกันทั้งชุมชน โดยกลุ่มตระกูลในชุมชนยี่สาร อาทิเช่น พยนต์ยิ้ม อ่อนอุระ (สองตระกูลนี้เป็นสายตระกูลเก่าแก่เชื้อสายจีน) เวชกิจ ชลภูมิ พยัคฆะ บางแสน เบ็งสงวน หันสกุล มณีนารถ ชูมณี สารสิทธิ์ เป็นต้น ทั้งนี้หลายตระกูลเหล่านี้ที่กล่าวมามักมีบรรพบุรุษเป็นชาวจีนโพ้นทะเล แต่ก็ไม่สามารถสืบได้ว่าตระกูลตนเคยใช้แซ่ใด ชาวลูกหลานปัจจุบันก็ไม่ได้มีลักษณะแบบชาวจีนหรือใช้ภาษาจีนหรืออ่านภาษาจีนได้แล้ว โดยสิ่งที่เหลือสืบทอดมาปัจจุบันคงมีแค่ร่องรอยจากสรรพนามที่ใช้เรืยกปู่หรือตาว่า ก๋ง หรือเรียกพ่อว่า เตี่ย เท่านั้น ส่วนสายตระกูลที่ยังอาจมีแซ่อยู่ในตระกูลสืบสายมาถึงปัจจุบันที่ยังพบในชุมชนยี่สารคือ แซ่ลิ้ม แซ่อึ้ง แซ่ลี้ อาจกล่าวได้ว่าตระกูลใหญ่ๆเกือบทุกตระกูลในชุมชนบ้านยี่สารทั้งที่ปรากฎแซ่และไม่ปรากฎแซ่ของนามสกุลแบบจีน มักจะพบว่าในตระกูลนั้นๆจะมีบรรพบุรุษในตระกูลของตนอย่างน้อยหนึ่งคนที่เป็นคนจีนมาจากโพ้นทะเล จุดนี้มาจากตำแหน่งที่ตั้งและการเข้ามาของกลุ่มคนจีนในอดีตที่มาตั้งถิ่นฐานเป็นกล่มแรกอยู่ในชุมชนแห่งนี้นั่นเอง

จีน

ผู้คนในชุมชนบ้านเขายี่สารจะมีการรวมกลุ่มกันแบบทั้งไม่เป็นทางการและเป็นทางการ ดังนี้

กลุ่มที่ไม่เป็นทางการ

กลุ่มที่ไม่เป็นทางการของชุมชนยี่สารจะคือการรวมกลุ่มตามกิจกรรมงานเทศกาลสำคัญต่างๆ ที่ส่วนใหญ่จะเป็นงานบุญทางพุทธศาสนา โดยการรวมกลุ่มนี้ผู้ใหญ่ของชุมชนจะมีบทบาทอย่างมาก ชาวบ้านเพศชายที่สูงวัยและเคยบวชเรียนคุ้นเคยช่วยกิจกรรมของวัดสม่ำเสมอก็จะเป็นกลุ่มที่มีบทบาทเป็นที่ปรึกษาให้กับกรรมการวัดและเป็นกลุ่มที่ได้รับความไว้วางใจจากชาวบ้านในเรื่องการเงินหรือเป็นที่ปรึกษายามเกิดปัญหา นอกจากนี้ทางเจ้าอาวาสวัดเขายี่สารก็จะมีกลุ่มมัคทายกของวัดเป็นฝ่ายสนับสนุนและเป็นคนสนิทอีกส่วนหนึ่งด้วย แต่ทั้งสองกลุ่มนี้จะไม่มีปัญหาระหว่างกัน ส่วนชาวบ้านเพศหญิงที่สูงวัยและมีความเชี่ยวชาญในเรื่องอาหารมักจะมีการรวมกลุ่มกันอยู่ในโรงครัว คนที่ได้รับการยอมรับมากจะเป็นคนลงมือทำอาหารคราวละมาก ๆ ส่วนผู้ที่ไม่เชี่ยวชาญนักก็จะเป็นลูกมือ เก็บล้างเช็ดถู การแบ่งกลุ่มระหว่างชายหญิงนี้จะเห็นว่ามีการแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจนในการปฎิบัติหน้าที่ของตนและจะไม่ค่อยก้าวก่ายระหว่างกัน ทั้งนี้การรวมกลุ่มรูปแบบนี้จะสลายหลังงานกิจกรรมต่างๆของวัดเสร็จสิ้น และจะรวมกลุ่มกันอีกครั้งเมื่อมีงานหรือเทศกาลสำคัญต่างๆเกิดขึ้น

กลุ่มที่เป็นทางการ

กลุ่มที่เป็นทางการของชุมชนบ้านยี่สารนั้นจัดตั้งขึ้นจากการรวมตัวของชาวบ้านเองและการผลักตันจากหน่วยราชการ กลุ่มเหล่านี้มีฐานมาจากการสนิทสนมกันเป็นส่วนตัวก่อนที่จะเริ่มรวบรวมคน ซึ่งมักจะเป็นกลุ่มคนที่มีแนวโน้มเป็นญาติสนิท บ้านใกล้เคียงกัน หรือมีบุญคุณแก่กันจนทำให้เกิดความเกรงใจกัน รวมถึงมักเป็นกลุ่มคนที่สามารถพูดคุยกันได้โดยไม่ขัดแย้ง เป็นต้น ซึ่งกลุ่มที่เป็นทางการของชุมชนบ้านยี่สาร เช่น

กลุ่มกรรมการจัดงานสมโภชน์ ส่วนใหญ่เป็นกรรมการวัดซึ่งเป็นผู้ใหญ่ในชุมชนและเป็นที่นับถือ จะรวมกลุ่มทำงานเมื่อถึงเวลางานประจำปี และจะกระจายงานออกไปตามพรรคพวกของตนเอง ถือว่าเป็นกลุ่มที่เป็นทางการเฉพาะกิจก็ได้

กลุ่มแม่บ้านตำบลยี่สาร มีหัวหน้ากลุ่มคือ ภรรยาของกำนันตำบลยี่สารในปัจจุบัน กลุ่มนี้เป็นการรวมตัวเพื่อทำกิจกรรมที่ได้รับนโยบายมาจากอำเภออัมพวาหรือจังหวัดสมุทรสงคราม กิจกรรมที่เคยทำ เช่น การทำเครื่องดื่มรังนกจำหน่าย การรวมกลุ่มแม่บ้านยังไม่มีโครงสร้างที่ชัดเจนเท่าใดนัก และถูกปฏิเสธจากแม่บ้านหลายคนในชุมชน เพราะเห็นว่าใช้อำนาจของความเป็นภรรยากำนันมาทำประโยชน์ของตัวเอง

กลุ่มพัฒนาบ้านเขายี่สาร เป็นกลุ่มแกนนำในการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบ้านเขายี่สาร และนัดรวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมที่เห็นชอบว่ามีประโยชน์เป็นครั้งคราว การเข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่ม ใช้วิธีชักชวนตามอัธยาศัย หากต้องช่วยเงินก็จะช่วยกันบริจาคเป็นครั้งคราว

กลุ่มเยาวชนรักบ้านยี่สาร เป็นการรวมตัวของเยาวชนในบ้านยี่สารอย่างหลวมๆเพื่อเป็นกลุ่มที่รับหน้าที่จัดการกิจกรรมตามวาระชั่วคราว และในปัจจุบัน ยังมีกลุ่มเยาวชนจากหมู่บ้านและเด็กนักเรียนโรงเรียนวัดเขายี่สารทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศน์ของพิพิธภัณฑ์ด้วย

กลุ่มเปลือกไม้ เป็นกลุ่มชาวบ้านผู้หญิงที่รวมตัวเป็นกลุ่มหลังจากพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นสร้างเสร็จแล้วประมาณ พ.ศ.2543 มีจุดประสงค์เพื่อทำการย้อมผ้าแบบดั้งเดิมจากเปลือกไม้ในป่าชายเลนเป็นอาชีพเสริม โดยมีการจัดแสดงผลิตภัณฑ์และจำหน่ายที่อาคารพิพิธภัณฑ์ รวมถึงมีการติดต่อแลกเปลี่ยนความรู้กับกลุ่มที่มีลักษณะคล้ายกันจากภายนอกด้วย

วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ

วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจของชาวยี่สารได้สัมพันธ์กับลักษณะทางกายภาพของที่ตั้งชุมชน โดยอาชีพดั้งเดิมที่เกิดขึ้นในชุมชนยี่สารก็ล้วนอาศัยลักษณะกายภาพของชุมชนมาข้องเกี่ยวเสมอ เช่น การค้าขายทางทะเล การจับสัตว์น้ำ ตัดไม้ทำฟื้น การทำถ่านไม้โกงกาง การเลี้ยงกุ้งและปูทะเล เป็นต้น อย่างไรก็ดีแม้ปัจจุบันบางอาชีพชาวบ้านได้เลิกทำไปแล้วแต่ก็มีบางอาชีพที่สืบทอดยาวนานถึงปัจจุบันจนกลายมาเป็นวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจที่โดดเด่นของชาวบ้านชุมชนบ้านยี่สารแห่งนี้ โดยอาชีพแรกที่ยังคงมีการทำจนถึงปัจจุบันและโดดเด่นอย่างมาก คือการทำถ่านไม้โกงกาง อาชีพนี้ชาวยี่สารได้ดำเนินต่อเนื่องตลอดเวลานับตั้งแต่ พ.ศ.2480 เป็นต้นมา โดยได้รับเทคนิคการเผาถ่านมาจากทางภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งการทำถ่านไม้โกงกางของชาวบ้านยี่สารนี้จะมีกระบวนการอย่างย่อคือ ปลูก - ตัด – เผา - ขาย กล่าวคือเริ่มแรกชาวบ้านจะปลูกไม้โกงกางเพื่อใช้ทำถ่านก่อนลักษณะเป็นสวนป่าในพื้นที่ป่าชายเลนในพื้นที่เอกสิทธิ์ที่ดินส่วนบุคคลของตน โดยเมื่อชาวบ้านลงปลูกต้นโกงกางจากการปักฝักโกงกางแล้วจะมีการดูแลในช่วง 1-3 ปีแรกอย่างพิถีพิถัน หลังจากนั้นก็จะปล่อยให้ต้นโกงกางเติบโตเองตามธรรมชาติ ซึ่งคาดว่าการปลูกต้นโกงกางจนสามารถตัดได้จะใช้เวลากว่า 8-15 ปี จนเมื่อต้นโกงกางได้ขนาดพอเหมาะประมาณ 4-8 ซ.ม. ก็จะมีการตัดโค่นต้น ริดกิ่ง ก้าน รากออกและเลื่อยลำต้นของโกงกางออกเป็นท่อนเรียกว่าไม้หลา จากนั้นจึงนำมาเรียงกองเป็นระเบียบรอการลำเรียงมาโรงถ่าน โดยเมื่อถึงเวลาเผาถ่านชาวบ้านจะถ่ายไม้มาทางเรือล่องน้ำมายังโรงถ่านและจัดเรียงไว้หน้าโรงถ่านเพื่อรอเผา ซึ่งก่อนจะเผาชาวบ้านจะมีการทุบเปลือกนอกให้เนื้อไม้เหลือเพียงสีแดงอมส้มก่อน จากนั้นจึงจะหอบไม้หลาสดที่ทุบเปลือกเรียบร้อยเหล่านี้มาบรรจุเข้าไปในเตาเผาถ่านที่มีลักษณะเป็นครึ่งวงกลมทำจากอิฐมอญ โดยมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5-6 เมตร สูงประมาณ 3 เมตร มีช่องทางเข้า 1 ช่องในการลำเลียงไม้และมีปล่องระบายควัน 5 ช่อง ซึ่งชาวบ้านจะเรียงไม้หลานี้ในเตาเผาถ่านเริ่มจากไม้ท่อนใหญ่จะบรรจุเป็นแนวตั้งเข้าไปในเตาก่อน แล้วบรรจุไม้ที่มีขนาดเล็กซ้อนไว้ด้านบน โดยชาวบ้านจะพยายามบรรจุให้ได้มากที่สุดและจะเว้นที่ไว้แค่บริเวณทางเข้าเท่านั้น เมื่อบรรจุเรียบร้อยแล้วชาวบ้านจะทำการปิดประตูทางเข้าด้วยการก่ออิฐมอญแล้วใช้ดินน้ำจืดเป็นตัวเชื่อมประสานเพื่อไม่ให้อากาศเข้าไปภายในเตาเผา ซึ่งการก่อปิดนี้อาจจะเว้นช่องด้านล่างประตูไว้สำหรับใส่เชื้อไฟประมาณ 30x30 เซนติเมตร ทั้งนี้เมื่อก่อปิดช่องประตูเรียบร้อยแล้วชาวบ้านจะมีการใส่ไฟ โดยเชื้อไฟคือรากและกิ่งของต้นโกงกางที่เตรียมไว้ ซึ่งเมื่อไฟติดแล้ว เตาเผาถ่านนั้นๆก็จะต้องมีผู้เฝ้าดูแลเรียกว่าไซอู่ คอยใส่ไฟและดูแลอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง เพราะหากไฟดับหรืออากาศเข้าไปได้จะทำให้ไม้ที่เผาภายในเตาเกิดความเสียหายได้ การเผาถ่านครั้งนึงจะมีการใช้เวลากว่า 15 วัน กว่าที่ถ่านไม้จะได้ที่พิจารณาจากควัน กลิ่น จนมั่นใจว่าท่อนไม้ในเตาได้เปลี่ยนสภาพเป็นถ่านจากนั้นจึงหยุดใส่ไฟและเริ่มการก่ออิฐปิดช่องใส่ไฟนี้ให้เรียบร้อยเรียกปิดหน้าเตา เมื่อปิดเสร็จชาวบ้านก็จะทิ้งให้ความร้อนในเตาลดลง พอถ่านเย็นสามารถนำออกมาได้ชาวบ้านจึงเปิดช่องประตูเตาเรียกว่าเปิดหน้าเตาและจะลำเลียงถ่านออกจากเตาแล้วคัดเลือกบรรจุลงถุงชั่งน้ำหนักแล้วจึงส่งขายเป็นอันเสร็จ จะเห็นได้ว่าการเผาถ่านของชาวยี่สารค่อนข้างพิถีพิถันและใช้เวลาผ่านการใส่ใจเกือบทุกขั้นตอน โดยถ่านยี่สารถือว่าคุณภาพดีมาก เพราะมีขนาดที่พอเหมาะ ให้ความร้อนสม่ำเสมอ เนื้อถ่านไม่แตกประทุง่าย และเผาไหม้ได้นาน ขี้เถาน้อย ถ่านของชาวยี่สารในช่วงเวลาหนึ่งถือว่าเจริญรุ่งเรืองขายดีอย่างมาก แม้ว่าต่อมาถ่านในสังคมจะไม่นิยมแล้วและทำให้กิจการถ่านไม้โกงกางของชาวยี่สารปิดตัวลงไปหลายที่ แต่ทว่าด้วยการที่ถ่านของยี่สารมีคุณภาพดีมากและยังมีคนรับซื้อประกอบกับความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้โกงกางที่ยังไม่หมดไปในปัจจุบัน เนื่องจากการทำถ่านไม้นี้ชาวบ้านจะยึดหลักการที่ว่า ตัดเท่าใดก็จะต้องปลูกให้เท่าจำนวนที่ตัด และจะไม่มีการตัดไม้ทำลายป่าให้ความสมบูรณ์ที่มีลดลง ทั้งหมดทั้งมวลจึงยังพอที่จะมีชาวบ้านส่วนหนึ่งดำเนินกิจกรรมการทำถ่านไม้โกงกางบ้านยี่สารนี้เรื่อยมา ซึ่งจุดนี้กล่าวได้ว่าทำให้ชุมชนยี่สารแห่งนี้จึงมีวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับการทำถ่านไม้โกงกางมาจวบจนถึงปัจจุบันนั่นเอง

นอกจากการทำถ่านไม้โกงกางของชาวบ้านยี่สารที่เป็นวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจในชุมชนแห่งนี้แล้วนั้น ยังพบว่าชาวยี่สารยังมีการประกอบอาชีพอื่นๆที่เป็นวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจที่มีการสืบทอดมาอย่างยาวนานด้วยเช่นกัน โดยอาชีพที่ยังคงพบเห็นผู้คนในชุมชนยี่สารในปัจจุบัน คือ การจับสัตว์น้ำ อาชีพนี้กล่าวว่ามีนานมากโดยแต่เดิมจะเป็นการที่ชาวบ้านจะหาจับสัตว์น้ำเพื่อนำไปรับประทานในครอบครัวและก็จะแบ่งส่วนหนึ่งไว้สำหรับแลกเปลี่ยนกับสิ่งของต่างๆของผู้คนนอกชุมชน เช่น ผัก ผลไม้ ของแห้ง เกลือ น้ำตาล เป็นต้น แต่ต่อมาเมื่อระบบการซื้อขายสินค้าด้วยเงินเป็นตัวกลางได้เข้ามามากขึ้นและเงินก็เป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้คน การจับสัตว์น้ำของชาวบ้านจึงเปลี่ยนเป็นการค้าขายสัตว์น้ำเพื่อให้ได้เงินมาเลี้ยงชีพแทน โดยชาวบ้านจะมีการออกจับสัตว์ เช่น ปลา ปู กุ้ง น้ำทั้งทางแม่น้ำลำคลองที่เป็นน้ำกร่อยรอบชุมชนและทั้งทางทะเลอ่าวไทยที่อยู่ใกล้ชุมชน ซึ่งจะใช้เครื่องมือในการจับสัตว์น้ำด้วยกันหลายรูปแบบและหลายขนาด โดยเครื่องมือขนาดใหญ่จะมี โพงพาง ที่ถือเป็นเครื่องมือพื้นบ้านสามารถพบเห็นทั่วไปในยี่สารโดยเฉพาะในอดีต เครื่องมือนี้จะใช้ประโยชน์จากการขึ้นลงของระดับน้ำในบริเวณชุมชน โดยจะติดตั้งขวางทางไหลของกระแสน้ำ นิยมใช้เมื่อน้ำขึ้นสูงสุด ซึ่งส่วนที่เป็นถุงอวนติดกับโพงพางจะดักจับสัตว์ที่ว่ายหรือถูกพัดมาตามกระแส น้ำเข้าสู่ถุงอวน ซึ่งส่วนมากจะคือกุ้ง ปูและบางบางชนิด นอกจากโพงพางที่เป็นเครืองมือจับสัตว์น้ำแล้วยังมีเครื่องมือขนาดเล็กทั่วไป เช่น เรือผีหลอก แห อวน เบ็ด ไซ ชิงเลน เป็นต้น อย่างไรก็ดีปัจจุบันนี้เครื่องมือโพงพางจะไม่สามารถสร้างขึ้นใหม่ได้แล้วเพราะผิดกฎหมาย แต่ในส่วนที่มีอยู่เดิมนั้นชุมชนแห่งนี้ยังได้รับการยกเว้นให้สามารถใช้ได้จึงยังคงมีการใช้โพงพางในชุมชนแห่งนี้อยู่ ส่วนเครื่องมืออื่นๆยังสามารถใช้ได้ปกติ ดังนั้นจุดนี้ในปัจจุบันชาวบ้านยี่สารแห่งนี้จึงยังคงจับสัตว์น้ำเพื่อค้าขายด้วยวิถีชีวิตแบบเดิมของชุมชนได้อยู่มาจนถึงปัจจุบันจนกลายมาเป็นวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจรูปแบบหนึ่งของชาวบ้านชุมชนบ้านยี่สารแห่งนี้

ทั้งนี้การประกอบอาชีพต่อมาที่ยังคงพบเห็นผู้คนในชุมชนยี่สารมีการดำเนินมาอย่างยาวนานจนถึงในปัจจุบันและกลายมาเป็นวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจอีกประการของชาวยี่สารนั่นก็คือ การทำนากุ้ง การทำนากุ้งของชาวยี่สารได้มีการเริ่มทำมาตั้งแต่ประมาณ พ.ศ.2500 โดยชาวบ้านเริ่มจากการทำนากุ้งแชบ๊วยหรือกุ้งขาวก่อนที่จะต่อมาจะเปลี่ยนมาทำนากุ้งกุลาดำ จนกระทั่งนากุ้งกุลาดำเสื่อมลงชาวบ้านจึงได้กลับมานากุ้งแชบ๊วยหรือกุ้งขาวเช่นเดิม โดยวิธีการเลี้ยงกุ้งส่วนใหญ่ที่ชาวยี่สารเลือกทำคือรูปแบบการทำนากุ้งแบบธรรมชาติ อาจมีส่วนน้อยมากที่จะทำนากุ้งแบบพัฒนาเพราะการทำนากุ้งพัฒนาค่อนข้างมีค่าใช้จ่ายที่สูงไม่เหมาะกับชาวบ้านรายย่อยทั่วไป นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่สูงหากลงทุนทำแล้วเกิดปัญหาจะสร้างหนี้ก้อนใหญ่ให้แก่ชาวบ้านได้ อีกทั้งราคาการรับซื้อกุ้งก็ค่อนข้างขึ้นลงๆไม่แน่นอนเนื่องจากผูกติดกับตลาดโลก ดังนั้นจากสาเหตุเหล่านี้ชาวบ้านยี่สารส่วนใหญ่จึงเลือกวิธีในการทำนากุ้งธรรมชาติที่ต้นทุนต่ำและเน้นการดูแลแทนการทำนากุ้งพัฒนา ทั้งนี้การทำนากุ้งของชาวบ้านยี่สารในรูปแบบนากุ้งธรรมชาตินั้นจะมีวิธีการคือ ชาวบ้านจะขุดบ่อเปิดหน้าดินจากนั้นจะอาศัยการดูดเอาน้ำกร่อยที่ไหลเข้าสู่พื้นที่ในช่วงน้ำขึ้นเข้าสู่บ่อสัปดาห์ละประมาณ 3 ครั้ง เพื่อรักษาคุณภาพน้ำในบ่อให้สะอาดเหมาะแก่การเติบโตของกุ้งอยู่เสมอ ซึ่งการดูดน้ำเข้าบ่อในสมัยก่อนจะมีการใช้ระหัดวิดน้ำแต่ต่อมาได้เปลี่ยนมาใช้เครื่องสูบน้ำแทนเพื่อความสะดวกรวดเร็ว ทั้งนี้ในส่วนของพวกเชื้อกุ้งและอาหารกุ้งนั้นพบว่าจะเข้ามาพร้อมกับการดูดน้ำเพราะสิ่งเหล่านี้ได้อยู่ในน้ำตามธรรมชาติที่ดูดเข้ามาอยู่แล้ว ชาวบ้านไม่ต้องลงทุนใดๆแค่เน้นการดูแลบ่อกุ้งของตนเองอย่างสม่ำเสมอเท่านั้นกุ้งเหล่านี้ก็จะเติบโตขึ้นเอง ในบ่อกุ้งของชาวบ้านจะมีช่องระบายน้ำด้วยเพื่อให้บ่อสะอาดเมื่อมีการสูบน้ำเข้าอยู่เรื่อยๆ ซึ่งช่องระบายน้ำนี้จะมีตาข่ายตาละเอียดขึงกั้นไม่ให้ลูกกุ้งที่กำลังเติบโตรอดออกจากบ่อไปได้ ทั้งนี้การทำนากุ้งรูปแบบนี้จะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนครึ่งกุ้งจึงจะเจริญเติบโตมากพอที่จะจับขายและส่งขายได้ โดยการทำนากุ้งธรรมชาติเนื่องจากไม่ได้ใช้เชื้อที่เป็นการซื้อมาอย่างแน่นอน จึงทำให้นอกจากจะให้ผลผลิตเป็นกุ้งขาวหรือกุ้งแชบ๊วยเป็นจำนวนมากแล้ว ชาวบ้านยังจะได้กุ้งอื่นๆหลายชนิดผสมปนมาด้วย เช่น กุ้งตะกราด เป็นต้น ซึ่งพบว่ากุ้งเกือบทั้งหมดนี้ชาวบ้านก็มีการนำมาขายจนเกิดรายได้ด้วยเช่นกัน กล่าวได้ว่าการทำนากุ้งได้ถือได้ว่าเป็นวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจรูปแบบหนึ่งของชุมชนยี่สาร รวมไปถึงพื้นที่อื่นๆในบริเวณฝั่งตะวันตกของอ่าวไทย โดยเป็นทางเลือกหนึ่งในการประกอบอาชีพของชาวบ้านที่อยู่อาศัยในพื้นที่ที่มีป่าชายเลนอุดมสมบูรณ์ ซึ่งในชุมชนยี่สารแห่งนี้เองจะพบว่าก็มีพื้นที่ป่าชายเลนที่ค่อนข้างพร้อมต่อการทำนากุ้งนี้มาก ดังนั้นชาวบ้านส่วนหนึ่งจึงเลือกการทำอาชีพนี้เลี้ยงชีพ ยิ่งเมื่อพิจารณาร่วมกับการลงทุนในการทำนากุ้งธรรมชาติที่ไม่ต้องมีการลงทุนมากนักโดยเฉพาะผู้ที่มีพื้นที่ดินของตัวเอง เพียงแค่เน้นการดูแลเอาใจใส่ก็สามารถได้ผลผลิตได้ จุดนี้จึงทำให้การทำนากุ้งของชาวบ้านจึงยังคงมีการดำเนินอยู่เรื่อยมา ถึงแม้ว่ารายได้จะไม่เฟื่องฟูเท่าจุดสูงสุดในอดีตแต่ก็พอที่จะทำให้ชาวบ้านส่วนหนึ่งสามารถยังชีพและมีรายได้ที่จะจุนเจือครอบครัว รวมถึงสามารถที่จะอยู่อาศัยในพื้นที่ห่างไกลแห่งนี้ได้นั่นเอง

จะเห็นได้ว่าการเกิดขึ้นของวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจในชุมชนบ้านยี่สารนี้ เมื่อพิจารณาจากการประกอบอาชีพโด่ดเด่น 3 อาชีพใหญ่ๆ ดังที่กล่าวข้างต้นนั้น พบว่าปัจจัยหลักมาจากลักษณะทางกายภาพ รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติที่มีในชุมชนที่เป็นส่วนที่ส่งเสริมให้มีการประกอบอาชีพของชาวบ้านเกิดขึ้น ยิ่งเมื่อประกอบกับชาวบ้านในชุมชนแห่งนี้ค่อนข้างรู้จักการปรับตัว รู้จักการมองหาและรู้จักใช้ทรัพยากร รวมถึงสภาพแวดล้อมที่ตั้งของชุมชนที่มีเหล่านี้ให้เป็นลู่ทางที่จะสามารถเกิดอาชีพสร้างรายได้แก่ตนเองได้ ทั้งหมดทั้งมวลจึงเป็นบ่อเกิดให้มีกิจกรรมทางการประกอบอาชีพเกิดขึ้นและยังส่งผลให้มีวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจภายในชุมชนแห่งนี้อีกด้วย

ทั้งนี้การที่ชาวบ้านชุมชนยี่สารสามารถมีการประกอบอาชีพต่างๆ โดยมาจากการที่รู้จักใช้ทรัพยากรและลักษณะทางกายภาพของชุมชนให้เป็นประโยชน์นั้น ยังทำให้เห็นว่าต่อให้ชุมชนแห่งนี้จะยากลำบากในการดำรงชีวิตมากเพียงใด แต่เมื่อชาวบ้านรู้จักที่จะสามารถหารายได้ภายในชุมชนจนสามารถซื้อสิ่งต่างๆมาตอบสนองต่อสิ่งที่ขาดในการอยู่อาศัยในชุมชนแห่งนี้ได้ การใช้ชีวิตในพื้นที่แห่งนี้จึงไม่เป็นอุปสรรคอีกต่อไป จุดนี้ได้ส่งผลให้ชุมชนแห่งนี้จึงยังมีผู้คนอยู่อาศัยสืบทอดมาอย่างยาวนานถึงปัจจุบันนั่นเอง

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

ชาวยี่สารมักมีกิจกรรมในทุกๆรอบปี โดยมาจากทั้งประเพณีหรือวันสำคัญทางพุทธศาสนา หรือมาจากงานที่มีขึ้นโดยเฉพาะของชุมชนยี่สารในทุกรอบปี รวมถึงมาจากประเพณีที่เกี่ยวข้องกับชีวิต ซึ่งกิจกรรมของชาวยี่สารในงานเหล่านี้ทั้งหมดทั้งมวลล้วนแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตทางวัฒนธรรมของชาวยี่สารด้วย โดยประเพณีต่างๆที่เกิดขึ้นในชุมชนบ้านยี่สารที่สำคัญ อาทิเช่น

ประเพณีตักบาตรเทโว ในชุมชนยี่สารจะจัดขึ้นในช่วงประมาณกลางเดือนตุลาคม โดยในช่วงสายวันงานชาวบ้านจะมาตั้งโต๊ะเตรียมใส่บาตรกันอยู่รอบเชิงเขายี่สาร จากนั้นจะมีขบวนพระสงฆ์นำโดยรถที่ประดิษฐ์ฐานพระพุทธรูปเคลื่อนลงจากยอดเขายี่สารเป็นแถวยาวเพื่อรับของใส่บาตร โดยของที่ใส่บาตรล้วนเป็นของแห้งที่จัดแบ่งใส่ถุงเล็กๆ เช่น ข้าวสาร น้ำตาล ไข่ เป็นต้น ซึ่งของเหล่านี้จะถูกนำไปเป็นวัตถุดิบในการทำอาหารเลี้ยงแขกในงานทอดกฐินของวัดต่อไป ทั้งนี้หลังจากการตักบาตรเทโวเสร็จสิ้น ชาวบ้านจะไปรวมตัวกันที่ศาลาวัดเพื่อช่วยกันแยกอาหารแห้งเหล่านี้ออกเป็นหมวดหมู่และจัดเก็บให้เรียบร้อยเพื่อสะดวกแก่ทางวัดที่จะนำไปใช้ต่อไปอีกด้วย

ประเพณีวันสารทไทย ระหว่างแรม 14-15 ค่ำเดือน 10 ถึงขึ้น 1 ค่ำเดือน 11 การนำอาหารมาทำบุญที่วัดจะมีความพิเศษมากกว่าปกติ เนื่องจากเป็นเทศกาลที่มุ่งหมายอุทิศส่วนกุศลแก่วิญญาณของผู้ล่วงลับเป็นหลัก ซึ่งจะพบว่าชาวยี่สารในวันสารทจะมีการมาทำบุญที่วัดมากกว่าวันพระปกติ โดยจะนำอาหารมาถวายและร่วมสวดมนต์ติดต่อกันเป็นเวลากว่า 3 วันในช่วงเช้า

งานสมโภชคุณปู่ศรีราชา เป็นงานที่ค่อนข้างเฉพาะและสำคัญของชาวยี่สาร อีกทั้งยังเป็นงานที่ใหญ่ที่สุดในรอบปีของชุมชนอีกด้วย โดยจะจัดขึ้นในช่วงกลางเดือนอ้ายหรือกลางเดือนธันวาคมของทุกปี ตัวงานจะใช้เวลาในการจัดประมาณ 3 วัน ส่วนรูปแบบของงานจะมีการจัดมหรสพการแสดงนานารูปแบบ เช่น ลิเก ละครรำ คอนเสิร์ต นอกจากนี้ยังมีการออกร้านขายของจำนวนหลายร้านที่ลานข้างวัดเขายี่สารอีกด้วย ในบริเวณบนศาลพ่อปู่จะมีชาวบ้านทั้งในและนอกชุมชนที่เลื่อมใสศรัทธาเข้ามาพร้อมกับดอกไม้ธูปเทียนสักการระและปิดทองที่รูปแทนพ่อปู่ทุกชนิดที่วางไว้ให้บูชาบนศาล กล่าวว่างานสมโภชคุณปู่ศรีราชานี้ถือได้ว่าผูกพันกับชุมชนยี่สารมาตั้งแต่อดีต ลูกหลานและชาวบ้านที่ออกไปใช้ชีวิตอยู่นอกชุมชนจะถือโอกาสใช้งานนี้ในการกลับมาชุมชนเพื่อไหว้พ่อปู่และพบปะญาติมิตรอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา นอกจากนี้ชาวบ้านนอกหมู่บ้านก็จะถือโอกาสของงานนี้ในการเข้ามาเยี่ยมเยือนเที่ยวชมภายในชุมชน ส่วนผู้ที่บนบานพ่อปู่แล้วสมปรารถนาจำนวนมากก็จะมาแก้บนตามที่ว่ากล่าวไว้ในช่วงงานนี้ จากการเข้ามาทั้งของคนทั้งในและนอกชุมชนที่มางานนี้ทำให้บรรยากาศงานเต็มไปด้วยผู้คนและมีความคึกคักสนุกสนานอย่างมาก

งานทำบุญพ่อปู่หรือเวียนเทียนพ่อปู่ จะจัดขึ้นทุกวันที่ 17 เมษายนของทุกปี ซึ่งถือเป็นวันสุดท้ายของการเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์ของหมู่บ้าน ในช่วงเช้า นับตั้งแต่ประมาณ 08.00 น. ชาวบ้านจะเริ่มทยอยนำถาดเครื่องไหว้พ่อปู่ศรีราชาของครอบครัวมาวางรวมกันที่หน้าศาลพ่อปู่บริเวณหน้าหมู่บ้าน โดยของเซ่นที่อยู่ในถาดจะประกอบด้วย บายศรีปากชาม คือ ข้าวสวยปากหม้อบรรจุมาในภาชนะสวยงามเท่าที่จะหาได้ตรงกลางบนสุดวางไข่เป็ดต้มที่สะกิดเปลือกด้านบนออกเล็กน้อย เพื่อเป็นการเชิญให้พ่อปู่ลงมารับเครื่องเซ่น ที่ขอบชามวางใบตองที่ตัดเป็นรูปสวยงามไว้ 3 มุม บางรายเพิ่มหมากพลูไว้ที่ตรงนี้ด้วย นอกจากนี้ในถาดยังมีกลัวยน้ำว้า 1 หวี มะพร้าวอ่อนเจาะฝา 1 ผล น้ำเปล่า 1 แก้ว ขนมต้มแดง ขนมต้มขาวและขนมเล็บมือนาง หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ขนมคันหลาว” อีกอย่างละชาม ทั้งนี้ของมาเป็นเครื่องเช่นล้วนเป็นของที่คัดสรรแล้วว่าไร้มลทิน กล้วยน้ำว้าผิวต้องสะอาดเกลาไม่มีรอยช้ำหรือมีรอยพัน ข้าวสวยเป็นข้าวปากหม้อ มะพร้าวอ่อนต้องเกลาเปลือกให้เนียนขาวเป็นต้น

หลังจากวางถาดของเซ่นเรียบร้อยแล้วจากนั้นชาวบ้านจะขึ้นไปกราบขอพร สรงน้ำ และปิดทองคำเปลวที่องค์พ่อปู่ ทั้งที่เป็นพระพุทธรูปและไม้เจว็ด โดยใช้ธูปไหว้ขอพรจำนวนเท่าใดก็ได้ตามความเชื่อและความศรัทธา นับตั้งแต่ 3 ดอกไปจนถึงมากกว่าสิบดอก โดยผู้ที่มาร่วมพิธีต่างคนต่างก็มีคำอธิบายต่อจำนวนธูปที่ตนจุด บางคนกล่าวว่าหยิบได้เท่าไรก็ใช้เท่านั้น บางคนที่ใช้ 5 ดอกอธิบายว่า 3 ดอกแรกสำหรับไหว้พระรัตนตรัย ดอกที่ 4 สำหรับไหว้พ่อปู่ศรีราชา และดอกที่ 5 สำหรับไว้เจ้าที่เจ้าทาง เป็นต้น

ประมาณ 9.30 น. พิธีกรประจำพิธี ซึ่งอยู่ในเครื่องแต่งกายที่เจ้าตัวเห็นว่าเป็นทางการและแสดงสถานภาพสูงสุดของตนเองจะกล่าวนำท่องนะโม 3 จบ และกล่าวอัญเชิญเทวดาคุณพระศรีรัตนตรัยและอัญเชิญพ่อปู่ศรีราชาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่ชาวบ้านนับถือมาร่วมในพิธี ซึ่งในระหว่างอันเชิญนั้นคณะละครชาตรีที่รอท่าอยู่บนศาลจะเริ่มรำถวายมือ กล่าวนำเสร็จแล้ว พิธีกรจะพรมน้ำมนต์ลงบนถาดของเช่นไหว้ทั้งหมด ขณะเดียวกันชาวบ้านจะเริ่มจุดธูปเทียนคนละชุด แล้วตั้งขบวนกลองยาวเดินเวียนเทียนวนซ้าย 3 รอบ จากนั้นจะนำของเช่นกลับไปรับประทานที่บ้าน โดยถือว่าเป็นยาที่เป็นมงคลแก่ผู้ได้รับประทาน ส่วนน้ำมนต์ชาวบ้านอาจนำไปผสมกับน้ำดื่ม หรือนำไปประกอบในการปรุงยารักษาโรค

ประเพณีเยี่ยมข้าวเยี่ยมน้ำตาลหรือเยี่ยมศพ ประเพณีนี้จะทำในโอกาสที่มีการจัดงานศพเกิดขึ้น โดยเมื่อทราบข่าวการเสียชีวิตของคนในชุมชน ชาวบ้านคนอื่นๆแต่ละครอบครัวจะนำข้าวสารและน้ำตาลทรายบรรจุภาชนะใส่ถาดเดินไปมอบแก่เจ้าภาพหรือครอบครัวผู้เสียชีวิตยังสถานที่จัดงาน โดยการนำของไปให้รูปแบบนี้จึงทำให้มีเรียกกันว่าเยี่ยมข้าวเยี่ยมน้ำตาลหรือเยี่ยมศพ ซึ่งของเยี่ยมที่ชาวบ้านนำมามอบแก่เจ้าภาพเหล่านี้จะถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการทำอาหารภายในงาน ทั้งนี้ปัจจุบันจะพบว่าการเยี่ยมศพไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะข้าวสารและน้ำตาลเท่านั้นแต่อาจใช้ของอื่นๆได้ เช่น มะพร้าว เผือก มัน เป็นต้น โดยส่วนใหญ่มักจะขึ้นอยู่กับความสะดวกและวัตถุดิบที่มีของครอบครัวเพื่อนบ้านเป็นหลัก

ประเพณีบวช พบว่าการบวชของผู้ชายชาวยี่สารส่วนใหญ่จะมีลักษณะที่คล้ายกับชาวไทยพุทธทั่วไปในสังคม แต่ก็มีลักษณะบางส่วนเช่นกันที่จะมีการปฎิบัติหรือทำกันเฉพาะชาวยี่สาร เช่น ก่อนจะบวชต้องนำดอกไม้ธูปเทียนไปไหว้บอกกล่าวต่อพ่อปู่ศรีราชาที่ศาลก่อนเพื่อเปรียบเสมือนเป็นการเคารพต่อผู้ใหญ่บรรพบุรุษของตน นอกจากนี้ในงานบวชของชาวยี่สารมักมีการมอบ “ของเลื่อน” หมายถึงชองชำร่วย ที่ทำจากทางมะพร้าวสานเป็นตะกร้าใส่ขนมทองหยิบ ทองหยอด ขนมหม้อแกง ซึ่งเป็นขนมในงานมงคลมอบแก่แขกคนละชุด ภายหลังได้มีการปรับเปลี่ยนของเลื่อนเป็นใส่จานกระเบื้องห่อกระดาษแก้ว จนปัจจุบันได้เปลี่ยนมาใช้โฟม แม้จะเปลี่ยนการห่อภายนอกตามความสะดวกแต่ภายในห่อยังคงใส่ขนมไว้เช่นเดิม

พ่อปู่ศรีราชา ถือว่าเป็นบรรพบุรุษและเป็นสิ่งศักดิสิทธิ์ที่ชาวยี่สารให้ความเครารพนับถืออย่างมาก ชาวยี่สารเชื่อกันว่าคุณปู่ศรีราชาเป็นชาวจีนที่สัมพันธ์กับตำนานท้องถิ่นในเรื่องพี่น้องคนจีน 3 คน โดยในตำนานนี้ได้มีรายละเอียดกล่าวว่าในอดีตได้มีชาวจีนที่เป็นพี่น้องกัน 3 คนล่องเรือสำเภามาค้าขาย แต่ประสบเหตุการณ์เรือแตกจึงพลัดพรากจากกันไปอยู่บนบก 3 แห่ง ได้แก่ พ่อปู่ศรีราชาที่ตอนนั้นเรียกว่าจีนขานเป็นน้องคนกลางได้ขึ้นบกที่เขายี่สาร จีนเคราพี่คนโตขึ้นบกที่เขาตะเครา จีนกู่น้องคนเล็กขึ้นบกที่เขาอีโก้ เมื่อหลังขึ้นบกได้แล้วพี่น้องนี้ต่างตั้งบ้านเรือนเพื่ออยู่อาศัยจนกลายมาเป็นชุมชนจนถึงปัจจุบัน จะเห็นว่าจากตำนานนี้ได้แสดงถึงความสัมพันธ์ของปู่ศรีราชาในการเป็นบรรพบุรุษของผู้คนในพื้นที่ชุมชนยี่สารอย่างชัดเจน โดยแม้ว่าคนยี่สารในปัจจุบันจะไม่รู้ว่าท่านมีตัวตนจริงหรือไม่เพราะเรื่องราวของท่านได้มาจากแค่เพียงตำนานของท้องถิ่นที่สืบต่อมาเท่านั้น แต่ทว่าชาวบ้านยี่สารเองก็ต่างพร้อมใจกันยึดถือและเชื่อว่าท่านมีตัวตนในการเป็นบรรพบุรุษของพวกตน ทำให้จุดนี้จึงยังคงเห็นการกราบไหว้ การเคารพนับถือ ตลอดจนการมีประเพณีเกี่ยวกับพ่อปู่ศรีราชาในปัจจุบัน ทั้งนี้แต่ดั้งเดิมภาพลักษณ์แรกของพ่อปู่ที่ชาวบ้านเชื่อถือกันจะเป็นรูปแบบของคนแก่ที่มีลักษณะเป็นคนจีนแต่นุ่งขาวห่มขาว หรืออาจกล่าวว่ารูปลักษณ์แรกของพ่อปู่เปรียบเสมือนผี โดยชาวบ้านจะเคารพผ่านการไหว้ไม้เจว็ด จนในสมัยของหลวงพ่อกลอยเป็นเจ้าอาวาสวัดยี่สาร ท่านมีดำริก่อนมรณภาพว่าอยากเปลี่ยนภาพลักษณ์คุณปู่ศรีราชาให้เป็นพระ เพราะท่านมีเหตุผลว่าหากท่านปู่อยู่ในรูปลักษณะที่เปรียบสเหมือนผี พระจะไม่สามารถไหว้ได้แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นรูปลักษณ์ของพระ พระจึงจะสามารถไหว้และมีส่วนร่วมในพิธีกรรมต่างๆได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ กระทั่งเมื่อเข้าสู่ในช่วงของพระครูสมุทรวิสุทธิคุณหรือหลวงพ่อผินท่านได้ทำตามความประสงค์ของหลวงพ่อกลอยจึงมีการเปลี่ยนแปลงให้รูปลักษณ์ของปู่ศรีราชาเป็นพระมากขึ้น โดยท่านได้นำเอาองค์พระพุทธรูปปางประทานพรมาเป็นตัวแทนขององค์ปู่ศรีราชาในการกราบไหว้แทนไม้เจว็ดเดิม โดยการที่เลือกพระพุทธรูปปางประทานพรมาเป็นรูปลักษณ์ของพ่อปู่ในครั้งนี้ชาวบ้านได้เปรียบไว้ว่าเป็นการบวชให้แก่พ่อปู่ศรีราชาให้ท่านมีสถานะเป็นพระ ซึ่งชาวบ้านเองก็เห็นด้วยและไม่มีการขัดขวางในการเปลี่ยนรูปลักษณ์ในครั้งนี้แต่อย่างไร ดังนั้นหลังจากการเปลี่ยนรูปลักษณ์จึงทำให้พ่อปู่ศรีราชาจึงมีสถานะหรือมีรูปลักษณ์อย่างเป็นทางการ คือเป็น “หลวงพ่อปู่ศรีราชา” ที่ชาวบ้านยังคงในการนับถือสืบมา โดยนี้องค์พ่อปู่ศรีราชานี้ได้มีการประดิษฐ์ฐานให้ผู้คนกราบไหว้อยู่ที่บริเวณศาลพ่อปู่ศรีราชาที่ตั้งอยู่ด้านหน้าของสถานีอนามัยของชุมชนยี่สารหมู่ 1 ในปัจจุบันนั่นเอง

ทุนทางวัฒนธรรม

วัดเขายี่สาร เป็นวัดโบราณสำคัญของชุมชนยี่สารที่ตั้งอยู่บริเวณภูเขาลูกโดดขนาดย่อมใจกลางของชุมชน โดยวัดแห่งนี้ที่จริงแล้วไม่ทราบว่าใครเป็นผู้สร้าง และสร้างตั้งแต่เมื่อใด แต่ตามที่สันนิษฐานของกรมศิลปากรจากสิ่งก่อสร้างต่างๆ อาทิ วิหาร อุโบสถ ตลอดจนลวดลายต่างๆนั้น ให้ความเห็นว่า วัดเขายี่สารคงสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลายที่ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระสรรเพ็ชร์ที่ 8 (พระเจ้าเสือ) ในราวปี พ.ศ. 2246 แต่อย่างไรก็ตามจากการขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณเชิงเขายี่สารพบว่าบริเวณพื้นที่แห่งนี้ได้มีการพบเศษก้อนอิฐจากการก่อสร้างอาคารที่คาดการณ์ว่าเป็นการสร้างวัดปะปนอยู่ในชั้นดินมานับตั้งแต่ชั้นการอยู่อาศัยในระยะแรกๆ คือในราวพุทธศตวรรษที่19-20 มาแล้ว จึงอาจอนุมานโดยรวมได้ว่าวัดแห่งนี้คงสร้างในสมัยอยุธยาและไม่เกินจากสมัยนี้อย่างแน่นอน ในสมัยรัชกาลที่ 4-5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์วัดยี่สารแห่งนี้ได้มีการบูรณะครั้งใหญ่ ก่อนที่ต่อมาใน พ.ศ.2448 วัดแห่งนี้จึงได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา กล่าวได้ว่าพื้นที่ของวัดเขายี่สารถือเป็นจุดศูนย์กลางทางความเชื่อและสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา รวมถึงเป็นจุดศูนย์กลางของชุมชนที่ชาวบ้านจะมาพบปะและทำบุญร่วมกันในวันพระและงานประเพณีสำคัญในรอบปี ภายในวัดได้มีศาสนสถานที่สร้างลดหลั่นเป็นลำดับตามความสำคัญและหน้าที่การใช้งาน มีพระวิหารที่อยู่บนยอดเขาที่สูงที่สุดเป็นประธาน รองลงมาคือกลุ่มเจดีย์และลานที่ปรับเรียบเพื่อสร้างศาลาพระฉันหรือศาลาทำบุญ ส่วนต่อมาจะเป็นโบสถ์และหอไตรซึ่งอยู่ในเขตสงฆ์ตามลำดับ ทั้งนี้บริเวณเชิงเขายี่สารจะมีทางขึ้นวัดอยู่ 3 ทางคือ ด้านทิศเหนือ ด้านทิศตะวันออกและด้านทิศตะวันตก โดยชาวบ้านยี่สารจะใช้ทางขึ้นในด้านทิศตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ ส่วนชาวบ้านคลองบ้านนอก (หมู่ 2 ) จะใช้ทางขึ้นในด้านทิศเหนือเป็นส่วนใหญ่ จากลักษณะที่ตั้งของศาสนสถานที่มีการทอดตัวตามแนวยาวของภูเขาประกอบกับการเห็นจังหวะการวางตำแหน่งของอาคารอย่างลงตัว อีกทั้งศาสนสถานเหล่านี้ยังมีการเรียงลำดับตามหน้าที่และความสำคัญอีกด้วย จึงแสดงให้เห็นว่าวัดยี่สารแห่งนี้ต้องมีการวางผังในการใช้พื้นที่สร้างศาสนสถานบนเขาไว้อย่างมีระเบียบแบบแผน ซึ่งการทำอย่างนั้นได้คาดว่าศาสนสถานเหล่านี้คงน่าจะมีการสร้างขึ้นมาในคราวเดียวกัน ทั้งนี้ศาสนสถานภายในวัดเขายี่สารถือว่ามีความงดงามและมีคุณค่าทางศิลปกรรมอย่างมาก ซึ่งจุดนี้สามารถอธิบายให้เห็นลักษณะของศาสนสถานแต่ละส่วนได้ดังนี้

  • พระวิหาร ถือเป็นประธานของวัดเขายี่สาร โดยสิ่งแรกที่พบภายในพระวิหารคือรอยพระพุทธบาทจำลองสี่รอยที่มีศาลาเครื่องไม้หน้าบันงดงามมากขนาดเล็กครอบอยู่ พระพุทธบาทนี้คาดว่าสร้างตามความเชื่อทางพระพุทธศาสนาที่ว่า พระพุทธเจ้า 4 พระองค์ ได้แก่ พระพุทธเจ้ากกุสันโท โกนาคม กัสสปะ และพระพุทธโคดม (พระพุทธเจ้า) ได้เสด็จมาประทับรอยพระบาทซ้อนกันไว้จนทำให้มีรอยพระพุทธบาท 4 รอยเกิดขึ้นมา ส่วนถัดมาด้านในสุดหลังพระพุทธบาทสี่รอยมีการประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่เรียกว่าหลวงพ่อปากแดงที่ชาวบ้านศรัทธาอย่างมากไว้ด้วย ซึ่งพระองค์นี้มีตำนานกล่าวขานว่าเป็นพระกินเด็ก แต่อย่างไรก็ตามปัจจุบันคาดว่าตำนานนี้น่าจะมาจากกลอุบายของผู้ใหญ่สมัยก่อนที่หลอกให้เด็กๆ กลัวและไม่กล้าขึ้นมาเล่นบนเขายี่สารในตอนเย็นๆเสียมากกว่า ทั้งนี้ในส่วนของภายนอกวิหารพบว่าส่วนของประตูวิหารถือว่าสำคัญมาก เพราะแม้ว่าอาคารวิหารแห่งนี้จะผ่านการบูรณะมาหลายครั้งแต่ทว่าในส่วนของประตูพบว่ายังคงมีการรักษาบานประตูไม้แกะสลักทั้ง 2 บานไว้คงเดิมอยู่ โดยลักษณะของบานประตูวิหารแห่งนี้ คือบานหนึ่งจะแกะตัวลายทรงพุ่มข้าวบิณฑ์เป็นแกนกลางขมวดลายเป็นช่องหางโตแบบเดียวกับที่บานประตูวิหารน้อยวัดหน้าพระเมรุ ส่วนอีกบานหนึ่งจะทำเป็นรายสานแบบตะแกรง มีลายสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองอยู่ตรงกลางและใส่ลายดอกจันทร์ไว้กลางลายสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองอีกทีหนึ่ง จากลักษณะต่างๆของบานประตูวิหารแห่งนี้จึงมีการสันนิษฐานได้ว่ามีความเก่าแก่ที่น่าจะเป็นศิลปะในสมัยอยุธยาตอนปลาย นอกจากส่วนของประตูแล้วระหว่างประตูของวิหารทั้งสองข้างยังพบการประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่อง ลักษณะปางห้ามญาติ หรือห้ามสมุทรที่สวยงามไว้ด้วยซึ่งคาดว่ามีความเก่าแก่เช่นกัน
  • พระอุโบสถ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ที่หน้าบันของพระอุโบสถมีการประดับด้วยเครื่องถ้วยชามกังใสที่เป็นการซ่อมแซมด้วยฝีมือช่างปูนปั้นเพชรบุรีเมื่อไม่นานมานี้ ภายในมีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังที่บริเวณบานหน้าต่างที่มีด้านละ 5 ช่อง ซึ่งเป็นการเขียนขึ้นใหม่แต่ยังไม่แล้วเสร็จ โดยด้านนอกจะเขียนลายลงรักปีดทองเป็นของซ่อมแซมใหม่ ส่วนด้านในจะเขียนภาพจิตรกรรมเป็นรูปตัวนิยายในพงศาวดารจีนและจะมีชื่อเป็นภาษาไทยเขียนกำกับอยู่ทั้งสองบาน ทั้งนี้เพิ่งสืบค้นได้เพียง 2 ตัวละครว่ามาจากวรรณคดีเรื่องห้องสิน ส่วนภาพอื่นๆน่าจะมีความสัมพันธ์กับพงศาวคารจีนที่แปลออกมามากในราวสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 โดยมีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นแม่กองอำนวยการแปล และหมอบรัดเลเป็นผู้พิมพ์เผยเพร่ในขณะนั้น รอบพระอุโบสถมีเสมาหินทรายแดงปักคู่อยู่โดยรอบ เป็นเสมาศิลปะแบบอยุธยาที่แพร่หลายอยู่ทั่วไปในเขตสมุทรสงครามและเพชรบุรี
  • ศาลาพระป่าเลไลยก์ ศาลาแห่งนี้สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยหลวงพ่อเชยเมื่อราวปลายรัชกาลที่ 5 ตั้งอยู่บริเวณด้านล่างติดกับท่าน้ำของวัด โดยแต่เดิมศาลาหลังเก่าเคยมีแผ่นไม้ที่คอสองเขียนภาพจิตรกรรมเรื่อง “ปฐมสมโพธิ” และมีรายชื่อผู้บริจาคเพื่อเขียนภาพนี้ ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชาวบ้านยี่สารเป็นหลักฐานไว้ด้วย คาดว่าน่าจะเขียนขึ้นเมื่อ ศก 129 ตรงกับ พ.ศ. 2454 ซึ่งเป็นปีที่สองในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งนี้บริเวณรอบๆศาลา ชาวบ้านเล่าว่าเคยมีชิ้นส่วนของพระพุทธรูปหินทรายตกเกลื่อนตามพื้นมากมาย แต่ทว่าการที่หลักฐานเหล่านี้ได้เจอกับทั้งน้ำเซาะตลิ่งและมีคนหยิบไปบ้าง หลักฐานที่สำคัญจึงคงเหลืออยู่แค่ส่วนของเศียรพระพุทธรูปหินทรายขนาดเล็ก มีเรียวพระมัสสุเหนือริมฝีปาก ซึ่งน่าจะเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้นเท่านั้น โดยในปัจจุบันศิลปวัตถุทั้งสองที่กล่าวมานี้ได้ถูกเก็บรักษาและนำมาจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบ้านยี่สาร ซึ่งชาวบ้านและคนภายนอกสามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้
  • เจดีย์ราย ศาสนสถานนี้พบว่าตั้งอยู่หลายแห่ง เช่นด้านหน้าและด้านหลังพระวิหาร โดยตัวเจดีย์จะก่ออิฐถือปูนทรงระฆังย่อมุม ฐานเจดีย์ซ้อนกันหลายชั้น และมีเจดีย์ทรงปรางค์ย่อมุมไม้สิบสอง ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ศิลปะกล่าวว่าน่าจะสร้างในสมัยรัชกาลที่ 3-4 ซึ่งพ้องกับการบูรณะครั้งใหญ่ของวัดยี่สารตามประวัติ
  • ศาลาพระฉัน ตั้งอยู่บริเวณกลางลานที่ขึ้นไปสู่วิหารและทางลงไปสู่โบสถ์ โดยเป็นศาลาที่มีลักษณะเป็นอาคารเปิดโล่ง ส่วนหลังคาเป็นหลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ภายในศาลามีพื้นไม้ที่มีการยกสูงขึ้นพอประมาณเป็นที่สำหรับพระสงฆ์นั่งฉันภัตตาหารในงานทำบุญ ส่วนด้านหน้าของศาลามีแท่นก่ออิฐฉาบปูนเป็นแนวยาว 3 แท่น ให้สำหรับพระสงฆ์วางบาตรและผู้ที่มาทำบุญวางสำรับอาหารให้พระสงฆ์ ทั้งนี้การใช้ศาลานี้นั้นสมัยก่อนจะใช้ในงานทำบุญเลี้ยงพระ โดยชาวบ้านจะขึ้นไปนั่งรอที่ศาลาและใช้พื้นที่ลานหน้าศาลาเป็นลานทำบุญและเป็นที่ชุมนุม แต่ทั้งนี้การทำบุญรูปแบบนี้ได้ถูกยกเลิกไปในภายหลังเพราะไม่มีลูกศิษย์วัดช่วยในยกสำรับข้าวขึ้นและลงเขาแล้ว จุดนี้จึงทำให้ในอดีตที่เคยมีศาลานั่งฉันอยู่ถึง 3 หลัง ในปัจจุบันจึงเหลือแค่เพียงหลังเดียว ทั้งนี้ศาลาพระฉันเป็นรูปแบบการวางผังอาคารที่มักพบเจอและนิยมกันทั่วไปในบริเวณชุมชนใกล้เคียง โดยเฉพาะจะเจอในแถบเพชรบุรีและสมุทรสงครามนั่นเอง
  • หอไตร เป็นที่เก็บรวบรวมคัมภีร์ทางศาสนาจำนวนมากที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ อีกทั้งยังมีผ้าพิมพ์ห่อคัมภีร์ที่เป็นผ้าพิมพ์และผ้าทอลายต่างๆ ซึ่งนำเข้ามาจากอินเดียตั้งแต่สมัยอยุธยาเก็บรักษาไว้ด้วย โดยคัมภีร์ทางศาสนาและชาดกเรื่องต่าง ๆ ที่ลงศักราชไว้เก่าที่สุดที่เก็บรักษาไว้ที่นี้ คือ พระวินัยปิฎกที่เขียนขึ้นเมื่อพ.ศ. 2200 ตรงกับรัชกาสสมเด็จพระนารายณ์ฯ แห่งกรุงศรีอยุธยา โดยเป็นลักษณะพระวินัยปิฎกภาษาบาลีที่มีการเขียนขึ้นด้วยอักษรขอม กล่าวว่าคัมภีร์ใบลานหลายๆเรื่องที่จัดเก็บไว้ที่แห่งนี้มักเขียนคัดลอกโดยศรัทธาของอุบาสกและอุบาสิกาเพื่ออุทิศให้แก่พุทธศาสนา บางชิ้นที่สมบูรณ์ยังปรากฎคงความงดงามต่างๆไว้ เช่น คัดลอกด้วยลายมือที่สวย ใช้ไม้ประกับแกะลวดลายต่างๆ ทาชาดและปิดทอง เป็นต้น ซึ่งการอุทิศสร้างคัมภีร์ดังกล่าวนี้จะปรากฎถึงความถี่มากในช่วงสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ ลงมาจนถึงสมัยเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 และตั้งแต่เริ่มกรุงรัตนโกสินทร์เป็นต้นมาจนถึงรัชกาลที่ 5 เป็นส่วนใหญ่ แต่อาจพบว่ามีบางเล่มที่ยังมีการคัดลอกในช่วงสมัยกรุงธนบุรีและในสมัยรัชกาลที่ 6 ด้วย ตามกำลังศรัทธาที่ยังคงมีอยู่ขณะนั้น ทั้งนี้ในส่วนด้านล่างของหอไตรยังเป็นที่เก็บรักษาโพล่หรือโอ่งใส่น้ำขนาดใหญ่ที่มักพบเห็นทั่วไปในพื้นที่ยี่สาร ซึ่งภาชนะนี้จะมีลักษณะเนื้อแกร่งและเคลือบสีน้ำตาล ซึ่งคาดว่าน่าจะมีแหล่งผลิตจากจีน
  • ศาลาตั้งศพ เป็นอาคารไม้ทรงไทยขนาดใหญ่ ผนังเปิดโล่งทั้งสี่ด้าน หลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกรัเบื้องกาบกล้วย ในบริเวณคอสองมีการเขียนภาพจิตรกรรมบนพื้นไม้เรื่องพระมาลัยตอนเสด็จเมืองสวรรค์และนรก โดยจะมีตัวหนังสือระบุกำกับชื่อขุมนรกต่างๆ แต่อย่างไรก็ดีเป็นที่น่าเสียดายที่ภาพจิตรกรรมนี้ต่อมาเมื่อราว พ.ศ. 2500 ได้ถูกเขียนเพิ่มเติมอย่างไม่ระวังจนทำให้ภาพที่งดงามมีความเสียหายไปมาก โดยปัจจุบันศาลาแห่งนี้ไม่มีการใช้งานแล้วเพราะชาวบ้านได้สร้างศาลาตั้งศพหลังใหม่เรียกว่า โรงทึม ขึ้นมาแทน จุดนี้ได้ส่งผลให้ศาลาหลังเดิมนี้เมื่อไม่ถูกใช้งานจึงมีสภาพทรุดโทรมอย่างมากนั่นเอง
  • ถ้ำพระนอน เป็นโถงถ้ำเล็กๆที่มาจากภูเขายี่สาร โดยอยู่บริเวณเชิงเขาตรงทางขึ้นไปวัดยี่สารด้านขวามือ ถ้ำแห่งนี้ได้เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธไสยาสน์ที่มีพระบาทมีเพียง 9 นิ้ว ว่ากันว่านิ้วที่ 10 อยู่ที่วัดใหญ่สุวรรณาราม จ.เพชรบุรี เพราะที่นั่นมีพระพุทธรูปที่มีพระบาท 11 นิ้ว

พิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร มีลักษณะเป็นอาคารเรือนทรงไทยสองชั้น ซึ่งสถานที่นี้แต่เดิมจัดเป็นศาสนสถานหนึ่งของวัด โดยเป็นศาลาการเปรียญที่ใช้เป็นที่พักหรือใช้สำหรับอยู่วัดของคนแก่ในหมู่บ้าน ก่อนที่ต่อมาสถานที่นี้จะมีการปรับปรุงและดัดแปลงทั้งสองชั้นเพื่อใช้เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของชุมชนและเป็นที่ประชุมเมื่อมีงานกิจกรรมของพิพิธภัณฑ์ กล่าวว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้เริ่มก่อตั้งราวปี พ.ศ. 2539 จากการที่ชาวบ้านช่วยกันเก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใช้ โบราณวัตถุจากวัดเขายี่สาร และรับบริจาคสิ่งของสำคัญต่างๆจากชาวบ้านภายในชุมชน กระทั่งเมื่อรวบรวมสิ่งของต่างๆได้แล้ว จึงได้มีการขออนุญาติจากทางวัดเขายี่สารเพื่อใช้พื้นที่ใต้ถุนศาลาการเปรียญเป็นสถานที่จัดแสดงสิ่งของเหล่านี้ ทั้งนี้ต่อมาสถานที่นี้ได้มีการปรับและเริ่มสร้างเป็นห้องพิพิธภัณฑ์ขึ้นมา ประกอบกับยังมีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารและดูแลจัดการพิพิธภัณฑ์อีกด้วย ซึ่งเริ่มแรกมีนายธนู พยนต์ยิ้ม เป็นหัวหน้าพิพิธภัณฑ์ จนปลายปี พ.ศ.2540 มีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพิพิธภัณฑ์ชุดใหม่ ผลคือได้ท่านอาจารย์สิริอาภา รัชตะหิรัญ เป็นประธานคณะกรรมการดำเนินการ โดยท่านมีแนวคิดว่าหากจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ก็ควรมีความเป็นวิชาการมีการจัดแสดงเป็นเรื่องราวได้ จึงได้มีการติดต่อขอคำแนะนำและประสานงานกับ รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธ์ และศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร มหาวิทยาลัยศิลปากร เข้ามาสนับสนุนทางด้านการศึกษาค้นคว้ารวบรวมข้อมูลในชุมชน จุดนี้จึงทำให้มีการส่งนักวิชาการและเจ้าหน้าที่ภาคสนามเข้ามาในชุมชนยี่สารในการช่วยทำทะเบียนวัตถุสิ่งของ ตลอดจนช่วยในการสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณแหล่งอู่ตะเกา ซึ่งจากวัตถุสิ่งของที่ค้นพบและเรื่องราวจากการศึกษาค้นคว้าเหล่านี้เป็นข้อมูลสำคัญในการจัดแสดงเนื้อหาในพิพิธภัณฑ์บ้านเขาขี่สาร โดยการจัดแสดงบริเวณชั้นล่างจะบอกเล่าถึงวิถีชีวิตของคนยี่สารที่เป็นเอกลักษณ์ เนื่องจากเป็นชุมชนอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบป่าชายเลน สภาพภูมิศาสตร์มีส่วนเข้ามากำหนดวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนยี่สารอย่างมาก ข้าวของที่จัดแสดงเป็นของที่ชาวบ้านนำมามอบให้พิพิธภัณฑ์ เช่น เข็มฉีดยาโบราณ หม้อดินเผา รางบดยา เป็นต้น ส่วนชั้นบนก็จัดแสดงเกี่ยวกับสภาพภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ความเชื่อถือศรัทธาของคนยี่สารที่มีต่อพ่อปู่ศรีราชาสิ่งของและเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา เป็นต้น

ศาลพ่อปู่ศรีราชา กล่าวว่าการสร้างศาลนี้มาจากความเชื่อของชาวบ้านยี่สารในเรื่องพ่อปู่ศรีราชา ซึ่งเชื่อว่าเป็นบรรพบุรุษของชาวยี่สารและเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำท้องถิ่น โดยแต่เดิมครั้งแรกของการสร้างศาล พบว่าศาลนี้ตั้งอยู่บริเวณปลายแพรกหรือเชิงเขาด้านทิศตะวันตก ที่เรียกว่า อู่ตะเภา ซึ่งพื้นที่นี้ชาวบ้านได้มีตำนานท้องถิ่นที่เล่าว่าเป็นบริเวณที่เรือสำเภาของจีนสามพี่น้องชนเขาจนเรือแตก และมีการเชื่อถือสืบมาว่าเคยมีคนเห็นเสากระโดงเรือสำเภาจมอยู่อีกด้วย ทั้งนี้คาดว่าบริเวณนี้แต่เดิมน่าจะเป็นที่ตั้งแรกเริ่มของชุมชนก่อนที่ต่อมาจะขยับขยายไปโดยรอบ โดยศาลพ่อปู่ดังเดิมนี้คาดว่าน่าจะเป็นศาลที่มีลักษณะเป็นศาลไม้ยกพื้นเตี้ยขนาดไม่ใหญ่โตมากนัก ภายในน่าจะบรรจุไม้เจว็ดซึ่งทำจากไม้ตะเคียนโดยจะถือเป็นสัญลักษณ์แทนพ่อปู่ อย่างไรก็ดีต่อมาศาลได้ชำรุดทรุดโทรม ประกอบกับพื้นที่นี้ได้กลายเป็นป่ารกเพราะชุมชนยี่สารได้เคลื่อนตัวไปตั้งบ้านเรือนอยู่ทางด้านริมคลองขุดมากกว่า จึงมีการย้ายศาลพ่อปู่มาปลูกริมคลองยี่สารด้านทิศตะวันออกหรือด้านหน้าใกล้คลองขุดยี่สารแทน โดยสารแห่งนี้จะมีลักษณะเป็นเรือนไม้ทรงไทยฝาปะกน มีบันได 5 ขั้น หลังคามุงกระเบื้อง ด้านหน้าเป็นลูกกรงไม้โปร่ง ยกพื้นสูงท่วมหัวเพื่อหนีน้ำท่วม ส่วนชานจะยื่นออกมาเป็นระเบียงยาวกว้างขวางราวกับบ้านอยู่อาศัย ด้านในยังคงไว้ซึ่งไม้เจว็ดอยู่ 4-5อัน ข้างๆจะตั้งหัวจระเข้ฟันปลาฉนาก มีแท่นสูงสำหรับวางเครื่องเซ่นด้านหน้า รางเชิงเทียน อ่างน้ำมนต์ขนาดใหญ่และกระถางธูป ทั้งนี้ต่อมาไม่นานบริเวณริมตลิ่งที่เป็นที่ตั้งของศาลแห่งนี้ได้ถูกน้ำเซาะเข้าไปมาก จึงมีการรื้อศาลเดิมมาสร้างใหม่อีกครั้งในบริเวณหน้าสถานีอนามัย (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ) เมื่อ พ.ศ. 2517 ซึ่งการย้ายมาในครั้งนี้ได้ถือว่าเป็นสถานที่ตั้งของศาลแห่งนี้อยู่สืบมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ลักษณะของศาลแห่งนี้ในปัจจุบันคือเป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูนรูปแบบทรงจตุรมุข ผนังด้านหลังของศาลเป็นแบบทึบตกแต่งลวดลายด้วยฝีมือช่างเมืองเพชร ภายในศาลได้มีการเปลี่ยนมาประดิษฐานหลวงพ่อปู่ที่เป็นพระพุทธรูปปางประทานพรที่เป็นตัวแทนพ่อปู่ ส่วนไม้เจว็ดยังคงอยู่แต่เก็บรักษาไว้โดยพิงฝาผนังด้านหลังองค์พระพุทธรูปอีกที ทั้งนี้ในอีกมุมหนึ่งของศาลยังมีพระสังกัจจายน์และหลวงพ่อวัดบ้านแหลมจำลองอยู่ภายในด้วย โดยพระพุทธรูปเหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่ชาวบ้านในเขตนี้นับถือบูชาอย่างมากจึงมีการนำมาไว้รวมอยู่ด้วยกัน ด้านหน้าของศาลมีที่วางเครื่องเช่น อ่างน้ำมนต์ และราวเทียน ส่วนหัวจระเข้และฟันปลาฉนากที่เคยมีแต่เดิมพบว่าได้ถูกละเลยและถูกวางกองไว้ข้างหลังศาล โดยต่อมาภายหลังจึงได้นำมาจัดเก็บรักษาและจัดแสดงไว้ภายในพิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สารนั่นเอง

เรือนทรงไทยในชุมชนยี่สาร กล่าวคือชุมชนแห่งนี้ค่อนข้างมีประวัติมาอย่างยาวนาน จึงยังทำให้มีการพบรูปแบบบ้านเรือนที่เป็นลักษณะทรงไทยภาคกลางเก่าแก่อยู่ภายในชุมชน ซึ่งบ้านทรงไทยเหล่านี้คาดว่าแต่เดิมเจ้าของบ้านที่สร้างจะต้องเป็นผู้ที่ค่อนข้างมีฐานะจึงจะสร้างเรือนรูปแบบนี้ได้ โดยชาวบ้านในพื้นที่ได้เล่าว่าบ้านทรงไทยเหล่านี้มักก่อสร้างโดยชาวจีน และนิยมมีการใช้วัสดุที่เป็นไม้จากป่าในเขตจังหวัดกาญจนบุรี ที่ผ่านการขนส่งด้วยการล่องลงมาตามลำน้ำแม่กลองจนมาถึงบ้านยี่สารในการสร้าง ซึ่งลักษณะในการสร้างบ้านทรงไทยในชุมชนยี่สารนี้จะมีลักษณะคือ เป็นบ้านไม้รูปทรงไทยหลังเดี่ยวที่มีฝาเรือนเป็นฝาประกน ตัวเรือนจะมีการยกใต้ถุนสูงพร้อมกับระเบียงและชานก็ยกสูงด้วยเช่นกัน ส่วนหลังคาจะเป็นหลังคาทรงจั่วสูงที่มุงด้วยกระเบื้องดินเผาและมีโครงหลังคาเป็นไม้ ทั้งนี้ภายในเรือนจะมีการกั้นห้องต่างๆอันจะประกอบไปด้วยห้องนอน ห้องครัว ระเบียงหรือชาน เป็นต้น โดยในปัจจุบันเรือนทรงไทยในชุมชนยี่สารพบมีอยู่จำนวน 41 หลังหรือประมาณ 29% ของที่อยู่อาศัยทั้งหมดในชุมชน ถือได้ว่าสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในชุมชนยี่สารแห่งนี้

อาหาร ของชาวยี่สารส่วนใหญ่มักจะมาจากวัตถุดิบที่หาได้ในพื้นที่ชุมชน โดยในแหล่งน้ำลำคลองอันอุดมสมบูรณ์รอบชุมชน พื้นที่นี้จะพบว่าเป็นแหล่งของความหลากหลายของสายพันธุ์สัตว์น้ำทั้งปลา กุ้ง หอยและปูที่มีมากกว่า 40 ชนิด ซึ่งชาวบ้านจะมีการจับสัตว์น้ำต่างๆเหล่านี้ขึ้นมาประกอบอาหารด้วยวิธีการปรุงสุกแบบต่างๆ อาทิเช่น

  • การต้ม : การต้มเค็ม ต้มหวาน และแกงกะทิ เช่น หอยแครงต้มเค็ม ปลาต้มหวาน ปลากระเบนเค็มต้มกะทิ ปลาทูต้มมะดัน ปลากระบอกต้มส้ม แกงอ่อมปลา ปลากระบอกต้มส้ม แกงส้มปูไข่ เป็นต้น
  • การผัด : ฉู่ฉี่ปลาทู ปลากะพงสามรส ปูผัดผงกะหรี่ ปลาดุกผัดฉ่า ปลากะพงผัดฉ่า เป็นต้น
  • การนึ่ง : ปลากะพงนึ่งมะนาว ปูไข่นึ่ง เป็นต้น
  • การยำ : ยำตะไคร้ปลากะพง ยำรวมมิตรทะเล เป็นต้น
  • การทอด : ปลากะพงทอดน้ำปลา ปลาทอดแดดเดียว ปลาหมึกทอดแดดเดียว ทอดมันปลา เป็นต้น

ทั้งนี้ในส่วนของพืชผักนั้นพบว่าจากลักษณะทางกายภาพของชุมชนที่ถูกโอบล้อมด้วยผืนป่าชายเลนและแม่น้ำลำคลองมีสภาพเป็นน้ำกร่อยได้ส่งผลให้พืชพันธุ์ที่ขึ้นและรับประทานได้ในพื้นที่ชุมชนจึงมีไม่มากนัก โดยที่สามารถรับประทานได้จะเป็นพืชพรรณที่ขึ้นในป่าชายเลนเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งพืชในป่าชายเลนที่ขึ้นชื่อและได้รับความนิยมมากที่สุดในการนำมาทำอาหารคือ “ต้นชะคราม” ที่เป็นพืชล้มลุกและมักขึ้นอยู่ตามเนินดินรายรอบชุมชน โดยก่อนนำมาประกอบอาหารคนยี่สารจะนำชะครามมาสกัดความเค็มออกก่อนด้วยการต้มหลายๆ ครั้ง พร้อมกับใส่เกลือลงไปในน้ำขณะที่ต้มด้วยเรียกว่า “เกลือจิ้มเกลือ” จนเมื่อความเค็มหมดแล้วจึงนำมาประกอบอาหารคาวหวานต่อไป โดยอาหารที่ทำจากชะคราม อาทิเช่น แกงส้มใบชะคราม ชะครามลวกราดกะทิ ชะครามทอดกับไข่ ยำใบชะคราม ชะครามลวกที่เป็นเครื่องเคียงน้ำพริก เป็นต้น ทั้งนี้นอกจากชะครามที่สามารถรับประทานได้แล้วยังมีพืชพันธ์จากป่าชายเลนอื่นๆ ที่สามารถนำมารับประทานได้ เช่น ลูกแสม ที่ชาวบ้านจะมีการนำลูกแสมแก่ๆมาทำขนมที่ชื่อว่า “ขนมลูกแสม” ต้นครุ่ย ที่ชาวบ้านจะมีการนำฝักแก่มาทำขนมที่ชื่อว่า “ขนมฝักคลุ่ย” ต้นสามสิบ ที่ชาวบ้านจะมีการนำมาเชื่อมจนกลายเป็นขนมหวานทานเล่น หัวกลอย ที่ชาวบ้านจะมีการนำไปขจัดพิษและเอาไปนึ่งกับข้าวเหนียว ต้นลำแพนที่มีผลรสเปรี้ยวคล้ายพุทธา ที่ชาวบ้านจะมีการนำไปกวนกับน้ำตาลปิ๊ปและเนื้อมะพร้าวขูดจนได้ขนมทานเล่นคล้ายพุทรากวน เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันนี้กล่าวว่าอาหารของชาวยี่สารถือเป็นเอกลักษณ์อย่างมากเนื่องด้วยวัตถุดิบในการประกอบอาหารที่ไม่เหมือนกับที่อื่นๆและหารับประทานยาก ดังนั้นเมื่อมีผู้คนภายนอกหรือแขกบ้านแขกเมืองเข้ามายี่สารก็มักจะต้องการลิ้มรสอาหารท้องถิ่นของพื้นที่นี้อยู่เสมอ ทำให้อาหารของชุมชนยี่สารจึงถือเป็นสิ่งที่สามารถต้อนรับผู้คนภายนอกอย่างดี

ย้อมผ้าเปลือกไม้ป่าชายเลน การย้อมผ้าโดยใช้เปลือกไม้ของพืชป่าชายเลนถือเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของชาวชุมชนเขายี่สาร ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนานของคนในชุมชนนี้ โดยในสมัยก่อนชาวบ้านภายในชุมชนยี่สารไม่ได้มีเสื้อผ้าสำเร็จรูปเข้ามาขายภายในชุมชนเพราะตัวชุมชนได้ตั้งอยู่ห่างไกลจากแหล่งความเจริญมากและหากผู้ค้าจะเข้ามาค้าขายก็ไม่คุ้มทุน ทำให้การที่ชาวบ้านจะมีเสื้อผ้าใส่จึงจะต้องตัดเสื้อผ้าและย้อมผ้าขึ้นใช้เอง โดยในการย้อมผ้านั้นชาวยี่สารได้มีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่โดยรอบชุมชนอย่างเปลือกไม้จากพืชในป่าชายเลนของชุมชนในการย้อมผ้า เช่น เปลือกจากต้นโกงกางที่จะย้อมผ้าให้มีสีน้ำตาลเข้ม เปลือกจากต้นตะบูนที่จะย้อมผ้าให้มีสีน้ำตาลอมชมพู เปลือกจากต้นปุโรงที่จะย้อมผ้าให้มีสีน้ำตาลส้ม เป็นต้น ซึ่งการย้อมผ้าจากเปลือกไม้ป่าชายเลนของชาวยี่สารนี้พบว่านอกจากจะมีคุณสมบัติที่ให้สีธรรมชาติที่สวยงามแล้ว สีจากการย้อมผ้ารูปแบบนี้จะไม่ตกง่าย อีกทั้งยังช่วยให้เนื้อผ้ามีความทนทานมากขึ้นด้วยเพราะความฝาดของเปลือกไม้ที่ย้อมผ้าได้ช่วยให้เส้นใยของผ้าที่นำมาย้อมมีความเหนียวคงทนและไม่เปื่อยง่าย จุดนี้ส่งผลต่อความคงทนที่เพิ่มขึ้นของเสื้อผ้าที่ชาวบ้านจะนำมาใส่ นอกจากนี้ยางไม้จากที่ได้จาการย้อมผ้ายังมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคที่เกิดจากการหมักหมมของเหงื่อไคลเมื่อใส่เสื้อผ้าทำกิจกรรมต่างๆด้วย ดังนั้นจากคุณสมบัติที่พวงมาจากการย้อมผ้าด้วยเปลือกไม้ป่าชายเลนจึงส่งผลให้ในสมัยก่อนการย้อมผ้าด้วยเปลือกไม้นี้จึงถือว่าตอบโจทย์กับชาวบ้านยี่สารอย่างมากโดยเฉพาะกลุ่มชาวบ้านที่ประกอบอาชีพใช้แรงงานหนักที่ต้องใส่เสื้อผ้าที่มีความคงทนสูง เช่น การตัดไม้เผาถ่าน การจับสัตว์น้ำ เป็นต้น ทั้งนี้จากการที่สีย้อมผ้าจากเปลือกไม้มีคุณสมบัติที่เพิ่มความคงทนต่อเส้นใยผ้าดังที่กล่าวข้างต้น ชาวบ้านส่วนหนึ่งที่ได้เล็งเห็นถึงคุณสมบัตินี้จึงนำสีย้อมเปลือกไม้มามาย้อมแหและอวนจับสัตว์น้ำของตนด้วย เพื่อให้เพิ่มความคงทนของอุปกรณ์จับสัตว์น้ำเหล่านี้ให้มีความเหนียวและขาดยากมากขึ้น กล่าวได้ว่าเทคนิคการย้อมผ้าด้วยเปลือกไม้ในสมัยก่อนได้รับความนิยมจากชาวบ้านในชุมชนอย่างมากทั้งย้อมเสื้อผ้าและสิ่งต่างๆในชีวิตประจำวัน ซึ่งความนิยมนี้ได้ดำเนินเรื่อยมาจนกระทั่งเมื่อการคมนาคมที่สะดวกรวดเร็วอย่างระบบถนนได้เข้าถึงชุมชน ชาวบ้านจึงหันมาซื้อเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากภายนอกที่มีความสะดวกและมีสีสันสดใสสวยงามมากกว่า จุดนี้ได้ทำให้การย้อมผ้าชาวยี่สารที่มีแบบในอดีตจึงเริ่มค่อยๆหายไป อย่างไรก็ดีทางคณะกรรมการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นยี่สารได้เล็งเห็นถึงภูมิปัญญาของการย้อมผ้าด้วยเปลือกไม้ที่มีมาอย่างยาวนานนี้ จึงได้เริ่มมีการรักษาเทคนิคการย้อมผ้าเปลือกไม้นี้ไว้และต่อมาก็มีการจัดโครงการอันเป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้คนในชุมชนมีการสืบทอดการย้อมผ้านี้ โดยในปี พ.ศ.2543 คณะกรรมการพิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สารได้จัดโครงการให้มีการฝึกอบรมเรื่องการผลิตของที่ระลึกจากวัสดุท้องถิ่นให้กับชาวบ้านบ้านเขายี่สาร ซึ่งในโครงการนี้มีการเผยแพร่อบรมเทคนิคการย้อมผ้าด้วยเปลือกไม้ ทำให้ต่อมาเมื่อชาวบ้านมีความรู้มากขึ้นจึงมีการรวมตัวของชาวบ้านและผู้ทรงความรู้ในท้องถิ่นก่อตั้งกลุ่มเปลือกไม้ขึ้นมา สำหรับการผลิตของที่ระลึกที่เป็นสินค้าผ้าย้อมเปลือกไม้จำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวทั่วไป ซึ่งสินค้านี้นอกจากจะขายภายในชุมชนแล้วยังกลายเป็นสินค้า OTOP ของจังหวัดสมุทรสงครามอีกด้วย

เครื่องมือโพงพาง เป็นเครื่องมือทำประมงดั้งเดิมที่เห็นได้ทั่วไปในพื้นที่บ้านเขายี่สารโดยเครื่องมือนี้จะอาศัยประโยชน์จากการขึ้นลงของระดับน้ำ ซึ่งจะติดตั้งขวางทางไหลของกระแสน้ำทำให้นิยมใช้เมื่อน้ำขึ้นสูงสุด โดยอวนรูปถุงที่ติดอยู่กับโพงพางจะคอยดักจับสัตว์น้ำที่ว่ายหรือถูกพัดมาตามกระแสน้ำเข้าสู่ถุงอวน สัตว์น้ำที่จับได้ คือ กุ้ง ปู และปลาที่ชอบอยู่ในเขตน้ำกร่อย เป็นต้น แม้ปัจจุบันโพงพางจะถือเป็นเครื่องมือที่ผิดกฎหมาย เพราะกีดขวางการเดินทางทางน้ำ แต่โพงพางของที่นี่ได้รับการยกเว้นเพราะเป็นเครื่องมือหากินดั้งเดิม โดยอาจจะไม่สามารถสร้างใหม่เพิ่มขึ้นได้อีกแต่ที่ที่มีอยู่เดิมชาวบ้านยังคงสามารถใช้ได้อยู่เป็นปกติ

ทุนทางกายภาพ

ลักษณะทางกายภาพชองชุมชนบ้านเขายี่สารถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการเกิดวิถีชีวิตและอาชีพของผู้คน โดยจะพบว่าชุมชนยี่สารได้มีลักษณะทางกายภาพที่โดดเด่นอยู่ประมาณ 2 ลักษณะ ได้แก่ ลักษณะของการมีพื้นที่มีป่าชายเลนและลักษณะของการมีลำคลองรอบชุมชน โดยในลักษณะแรกอย่างการมีพื้นที่ป่าชายเลนภายในชุมชนนั้นจะพบว่าถือเป็นลักษณะทางกายภาพนี้ที่มีความสำคัญอย่างมาก กล่าวคือป่าชายเลนเป็นระบบนิเวศที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เชื่อมต่อระหว่างบกกับทะเล และพื้นที่นี้น้ำทะเลจะสามารถท่วมถึงตามวงจรการขึ้นลงของน้ำทะเลอยู่ตลอดเวลาส่งผลให้ดินมีลักษณะเป็นดินโคลนหนา ซึ่งในดินโคลนเหล่านี้ก็มักจะอุดมไปด้วยแร่ธาตุและความชื้น ทำให้เป็นแหล่งการเจริญเติบโตที่ดีของสัตว์น้ำ เช่น กุ้ง หอย ปู และพืชทนเค็มบางชนิด เช่น แสม โกงกาง ตะบูน ฝาด จาก ครุ่ย ปุโลง ลำแพน เป็นต้น โดยทรัพยากรเหล่านี้ที่เกิดขึ้นภายในป่าชายเลน เมื่อมาประกอบกับการรู้จักใช้ประโยชน์ของชาวบ้านในชุมชนจึงส่งผลให้ชาวบ้านยี่สารเกิดวิถีชีวิตและกิจกรรมที่มีป่าชายเลนเป็นส่วนร่วม โดยในด้านชีวิตประจำวันจะเห็นถึงการใช้ทรัพยากรที่มีในป่าชายเลนทำสิ่งต่างๆ เช่น ในอาหารท้องถิ่นของชาวยี่สารมักจะมีการนำพืชและสัตว์ในป่าชายเลนมาเป็นวัตถุดิบประกอบอาหาร ในการย้อมผ้าก็มีการใช้พืชจากป่าชายเลนมาเป็นเบสสีในการย้อม เป็นต้น ส่วนในด้านการประกอบอาชีพจะพบว่าป่าชายเลนยังได้เป็นพื้นที่สำคัญในการทำให้เกิดการประกอบอาชีพบางอาชีพของผู้คนยี่สาร เช่น อาชีพค้าฟืน อาชีพการทำถ่านไม้โกงกาง อาชีพจับสัตว์น้ำ เป็นต้น โดยอาชีพที่กล่าวมานี้ล้วนต้องอาศัยทรัพยากรที่ต่างๆที่มาจากป่าชายเลนทั้งสิ้น ดังนั้นจะเห็นได้ว่าวิถีชีวิตของชาวยี่สารบางประการจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาดพื้นที่ที่เป็นป่าชายเลนภายในชุมชน ป่าชายเลนบ้านยี่สารจึงมีความสำคัญมากต่อผู้คนในชุมชน

ทั้งนี้นอกจากลักษณะเด่นทางกายภาพของชุมชนที่มีป่าชายเลนแล้ว ดังที่กล่าวข้างต้นว่าชุมชนนี้ได้มีลักษณะเด่นทางกายภาพอย่างการที่มีลำคลองรอบๆชุมชนด้วย โดยลำคลองที่เกิดขึ้นบริเวณชุมชนยี่สารมีทั้งคลองธรรมชาติและคลองขุด ซึ่งคลองเหล่านี้มีความสำคัญมาตั้งแต่อดีตโดยเฉพาะในช่วงที่การสัญจรรูปแบบทางบกยังไม่เข้าถึง ชาวบ้านในชุมชนยี่สารสมัยก่อนสามารถเดินทางออกไปที่ต่างๆ ได้ด้วยการผ่านคลองที่อยู่รอบชุมชนเหล่านี้ เพราะคลองรอบชุมชนยี่สารได้มีโครงข่ายที่จะสามารถเชื่อมต่อไปในหลายพื้นที่ต่างๆทั้งระดับภูมิภาคและท้องถิ่น ซึ่งเส้นทางคลองรอบชุมชนยี่สารในอดีตนอกจากชาวบ้านยี่สารจะใช้แล้วยังเป็นที่นิยมกับผู้คนรอบๆชุมชนและผู้คนภายนอกด้วยที่จะใช้คลองผ่านไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั้งนี้คลองรอบชุมชนยี่สารยังมีความสำคัญของการเกิดวิถีชีวิตและกิจกรรมต่างๆเช่นเดียวกับป่าชายเลน ในด้านของชีวิตประจำวันพบว่านอกจากลำคลองจะเป็นพื้นที่สัญจรของชาวบ้านแล้วยังเป็นพื้นที่แหล่งอาหารของชาว โดยลำคลองแห่งนี้จะมีสัตว์น้ำอยู่กว่า 40 ชนิดทำให้ชาวบ้านจะมีการจับสัตว์น้ำในลำคลองเพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับการบริโภคกันในครัวเรือน อย่างไรก็ตามแม้ว่าลำคลองจะส่งผลให้เกิดวิถีชีวิตของผู้คนในด้านชีวิตประจำวันดังที่กล่าวข้างต้น แต่เนื่องด้วยในลำคลองยี่สารมีสภาพเป็นน้ำกร่อยทำให้การที่จะใช้ประโยชน์ในการอุปโภคบริโภคของผู้คนในชีวิตประจำวันจึงไม่สามารถทำได้ ชาวบ้านในพื้นที่จึงจะต้องล่มน้ำจากพื้นที่อื่นๆเพื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวันแทน จุดนี้จะเห็นได้ว่าลำคลองจึงอาจยังไม่ได้มีผลต่อวิถีชีวิตในการนำน้ำมาอุปโภคบริโภคของผู้คน

ในส่วนด้านการประกอบอาชีพพบว่าการที่ชุมชนยี่สารมีลักษณะทางกายภาพที่มีลำคลองอยู่รอบชุมชนนั้นได้ก่อให้เกิดการประกอบอาชีพของผู้คนที่มีความสัมพันธ์กับการมีลำคลองด้วย เช่น การค้าขาย การจับสัตว์น้ำขาย เป็นต้น โดยในส่วนของการประกอบอาชีพค้าขายที่ในอดีตเคยเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านในชุมชนนั้น จะพบว่าการที่ชุมชนยี่สารมีคลองสายต่างๆอยู่ภายในพื้นที่ถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้เกิดอาชีพนี้ขึ้นมา กล่าวคือ ในอดีตจะพบว่าลักษณะการประกอบอาชีพค้าขายของผู้คนในอดีตจะมี 2 รูปแบบคือ การเป็นพ่อค้าคนกลางอยู่ภายในชุมชน และการค้าขายสินค้าแปรรูป โดยในส่วนของการเป็นพ่อค้าคนกลางนั้นจะพบว่าลำคลองได้มีส่วนทำให้เกิดลูกค้าเข้ามาภายในพื้นที่ เพราะในช่วงที่การสัญจรทางบกยังไม่เกิดขึ้นและผู้คนยังใช้การสัญจรทางน้ำอยู่อย่างคึกคัก ลำคลองต่างๆในบริเวณยี่สารถือเป็นเส้นทางยอดนิยมที่มีผู้คนจากพื้นที่ต่างๆสัญจรอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นเมื่อมีผู้คนสัญจรโดยใช้ลำคลองบริเวณชุมชนยี่สารจำนวนมากก็ย่อมส่งผลต่อการที่จะมีผู้คนแวะเข้ามาสู่ภายในพื้นที่ของชุมชนจำนวนมากเช่นกัน ซึ่งผู้คนภายนอกต่างๆที่ได้เข้ามาเหล่านี้ได้ทำให้เกิดการติดต่อแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าและทำให้ชาวบ้านมีการประกอบอาชีพเป็นพ่อค้าคนกลางขึ้นมาภายในชุมชน กล่าวได้ว่าหากพื้นที่บริเวณชุมชนยี่สารไม่ได้มีลักษณะทางกายภาพที่เส้นทางลำคลองผ่านในพื้นที่ การที่จะมีผู้คนภายนอกเข้ามาสู่พื้นที่ที่ยากลำบากแห่งนี้คงจะไม่เกิดขึ้น จุดนี้ก็จะส่งผลให้ไม่มีการประกอบอาชีพของชาวบ้านในการเป็นพ่อค้าคนกลางติดต่อกับผู้คนภายนอกภายในพื้นที่แห่งนี้นั่นเอง

ในส่วนของการประกอบอาชีพค้าขายสินค้าแปรรูปของชาวยี่สาร จะพบว่าการขายสินค้าแปรรูปในอดีตได้เกิดขึ้นและเจริญขึ้นมาได้นั้น เป็นเพราะชาวบ้านสามารถส่งสินค้าไปขายยังเมืองหลวง ซึ่งการที่จะส่งสินค้าไปขายถึงเมืองหลวงที่อยู่ห่างไกลได้ในช่วงที่การสัญจรทางบกยังไม่สะดวกแบบปัจจุบันแน่นอนว่าจะต้องอาศัยเส้นทางลำคลอง ซึ่งในที่นี้คือลำคลองบริเวณรอบชุมชนบ้านยี่สารในการเดินทางขนส่งสินค้าไปที่เมืองหลวง ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าลักษณะทางกายภาพที่ชุมชนมีลำคลองรอบชุมชนที่สามารถติดต่อไปยังเมืองหลวงได้จึงเป็นสิ่งสำคัญต่อการค้าแปรรูปอย่างมาก เพราะหากพื้นที่ชุมชนยี่สารนี้ไม่มีเส้นทางของลำคลองบริเวณชุมชน การที่ชาวบ้านจะสามารถติดต่อไปขายสินค้ายังเมืองหลวงจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้ จุดนี้ก็จะส่งผลให้การประกอบอาชีพค้าขายสินค้าแปรรูปของชาวยี่สารนี้คงจะไม่เกิดขึ้นมาในอดีตอีกด้วย

นอกจากอาชีพค้าขายที่ลำคลองได้มีส่วนที่ทำให้เกิดการประกอบอาชีพนี้ขึ้นมาแล้ว ยังพบว่าในส่วนของการประกอบอาชีพจับสัตว์น้ำนั้น ก็ได้เกิดมาจากการมีอยู่ของลำคลองต่างๆบริเวณชุมชนเช่นกัน โดยคลองต่างๆในบริเวณยี่สารทั้งคลองธรรมชาติและคลองขุดใหม่ล้วนเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของมีสัตว์น้ำจำนวนมากหลากหลายชนิด เช่น ปลา กุ้ง ปู เป็นต้น ซึ่งความสมบูรณ์ของสัตว์น้ำในลำคลองต่างๆที่ยากจะหมดไปนี้ได้ส่งผลให้ชาวบ้านในชุมชนยี่สารส่วนหนึ่งที่มีการจับสัตว์น้ำในการบริโภคภายในครัวเรือนอยู่แต่เดิมแล้วเล็งเห็นถึงหนทางประกอบอาชีพได้ จึงมีการประกอบอาชีพจับสัตว์น้ำส่งขายของชาวบ้านภายในชุมชนขึ้นมา โดยชาวบ้านจะมีการจับสัตว์น้ำด้วยวิธีต่างๆในลำคลองรอบๆชุมชนยี่สารและเมื่อจับได้พอประมาณก็จะนำไปส่งขายที่ตลาดต่างๆใกล้ชุมชนจนเกิดเป็นรายได้ภายในครอบครัว จึงกล่าวได้ว่าการประกอบอาชีพจับสัตว์น้ำของชาวชุมชนยี่สารจำเป็นต้องต้องอาศัยลักษณะทางกายภาพของชุมชนที่มีลำคลองโดยรอบอย่างชัดเจนจึงจะสามารถเกิดการประกอบอาชีพนี้ขึ้นมาได้ ทำให้นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันลำคลองต่างๆจึงมีความสำคัญอย่างมากกับชาวบ้านโดยเฉพาะผู้ที่มีการประกอบอาชีพจับสัตว์น้ำนั่นเอง

กล่าวได้ว่าลักษณะทางกายภาพของชุมชนยี่สารที่มีลักษณะโดดเด่นใหญ่ๆอยู่ 2 ประการอย่างการมีพื้นที่ป่าชายเลนและการมีเส้นทางของลำคลองรอบชุมชนนั้น จะพบว่ากายภาพเหล่านี้ได้ส่งผลต่อการเกิดกิจกรรมต่างๆอันเป็นวิถีชีวิตของผู้คนทั้งในวิถีชีวิตประจำวันและในวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ โดยวิถีชีวิตต่างๆเหล่านี้ล้วนได้เป็นตัวสร้างความเป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของชุมชนยี่สารให้มีความโดดเด่นและแตกต่างจากชุมชนอื่นๆ ดังนั้นหากพื้นที่ชุมชนแห่งนี้ขาดลักษณะทางกายภาพเหล่านี้ไปวิถีชีวิตลักษณะที่ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับกายภาพก็จะไม่เกิดขึ้น ซึ่งจุดนี้จะส่งผลให้ความเป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์แบบชุมชนยี่สารก็อาจจะหายไปด้วยเช่นกัน จึงถือได้ว่ากายภาพของชุมชนยี่สารอย่างการมีป่าชายเลนและการมีลำคลองรอบชุมชนจึงมีความสำคัญกับชุมชนยี่สารอย่างมาก จนอาจเรียกได้ว่าเป็นทุนของชุมชนที่มีคุณค่านั่นเอง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในชุมชนแห่งนี้นับตั้งแต่อดีตจะพบว่ามาจากการประกอบอาชีพของผู้คนยี่สารที่มีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยตลอดเวลา โดยในช่วงการตั้งชุมชนแรกๆประมาณพุทธศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมาชุมชนแห่งนี้จะโดดเด่นในการประกอบอาชีพค้าขายเป็นอย่างมากเนื่องด้วยตำแหน่งที่ตั้งของชุมชนที่เป็นทางผ่านเดินทางของเรือสำเภาทำให้เกิดตลาดคึกคัก อีกทั้งการเดินทางนำสินค้าไปค้าขายที่เมืองหลวงก็ไม่ยากลำบากเพราะเส้นทางน้ำรอบชุมชนที่เชื่อต่อไปเมืองหลวง ดังที่มีการปรากฎหลักฐานทั้งในทางโบราณคดีและทางเอกสารประวัติศาสตร์ถึงการค้าขายของที่นี้ว่าน่าจะมีการติดต่อไปถึงเมืองหลวงอย่างอยุธยาในขณะนั้นอีกด้วย ทั้งหมดทั้งมวลส่งเสริมให้การค้าชุมชนแห่งนี้เจริญรุ่งเรืองอย่างมาก ชาวบ้านในชุมชนจึงค่อนข้างจะสามารถมีฐานะและมีรายได้ในการซื้อสิ่งต่างๆในช่วงนั้น การประกอบอาชีพการค้าเป็นอาชีพหลักของชุมชนนี้ได้ดำรงเรื่อยมาจนกระทั่งเมื่อเส้นทางสัญจรทางน้ำไม่ได้รับความนิยมเพราะมีเส้นทางสัญจรทางบกเริ่มแทนที่ ประกอบกับได้มีตลาดที่สินค้าจำพวกเดียวกับที่ยี่สารอยู่ใกล้เมืองหลวงและสะดวกในการเชื่อต่อที่รวดเร็วกว่าการค้าในชุมชนยี่สารจึงต้องยุติลงและชาวบ้านก็หันไปประกอบอาชีพอื่นแทน โดยพบว่าช่วงแรกหลังการยุติลงของการค้าชาวบ้านต้องปรับตัวจากความเจริญทางการค้าที่ลดลงไปพร้อมๆกับการประกอบอาชีพค้าฟืน โดยชาวบ้านเริ่มถากถางพืชที่ป่าชายเลนและเริ่มปลูกพืชเศรษฐกิจเช่นต้นแสม ต้นจาก เพื่อทำฟืนส่งขาย ทั้งนี้ต่อมาประมาณพ.ศ.2450-2460 ชาวบ้านเริ่มนำเข้าฝักโกงกางมาปลูกในพื้นที่ด้วย การประกอบอาชีพของผู้คนในช่วงเวลานี้จึงมีการค้าฟืนประกอบกับการส่งขายไม้โกงกางควบคู่กันไป ทั้งนี้ต่อมาประมาณพ.ศ.2480 เมื่อมีวิทยาการและความรู้ในการทำถ่านไม้โกงกางได้เข้ามาจากการติดต่อของเครือข่ายญาติพี่น้องที่เป็นคนจีน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง จุดนี้ได้ทำให้ผู้คนจึงหันมาประกอบอาชีพทำถ่านไม่โกงกางกันมากขึ้นเพราะรายได้ดีกว่าการค้าฟืน การทำถ่านไม้โกงกางนี้ดำเนินได้เจริญรุ่งเรืองอย่างมากมีการส่งขายสู่กรุงเทพฯอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ดีประมาณ พ.ศ.2520 กิจการนี้ก็ได้เข้าสู่ความซบเซาลง เตาอบถ่านปิดตัวลงไปหลายแห่ง โดยเนื่องมาจากผู้คนในสังคมได้มีความนิยมในการใช้ถ่านที่น้อยลงมักจะหันไปใช้เชื้อเพลิงอื่นที่เข้ามาทดแทนและใช้ได้สะดวกกว่า เช่น แก๊สหุงต้ม และไฟฟ้า การขายถ่านจึงไม่ได้ขายดีเท่าเดิม ประกอบกับชาวบ้านยี่สารเริ่มหันไปให้ความสนใจในการประกอบอาชีพทำนากุ้งที่ได้เข้ามาและมีรายที่ได้ดีกว่า การทำถ่านโกงกางเพื่อส่งขายนี้จึงไม่ได้คึกคักเช่นเดิมแบบที่เคยมีมา ทั้งนี้แม้ว่าชาวบ้านส่วนหนึ่งยังคงเลือกประกอบอาชีพนี้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน แต่ยังไงก็ตามกิจการนี้ก็ไม่ได้มีความเจริญรุ่งเรืองเทียบเท่ากับที่มีมาในช่วงอดีตอีกต่อไป ดังนั้นกิจการการค้าถ่านไม้โกงกางของชาวยี่สารจึงยังมีการทำเพื่อการดำรงชีพของชาวบ้านส่วนหนึ่งมากกว่าที่จะทำเพื่อกอบโกยกำไรอย่างมากมายนั่นเอง ทั้งนี้ต่อมาจะพบว่าชาวบ้านในชุมชนได้เริ่มเปลี่ยนแปลงโดยการหันไปประกอบอาชีพการทำนากุ้งมากขึ้น โดยกิจการทำนากุ้งได้เข้ามานับตั้งแต่พ.ศ. 2500 จากการเริ่มทำนากุ้งขาวหรือกุ้งแชบ๊วย และเมื่อกระแสกุ้งกุลาดำเข้ามาผู้คนจึงได้หันมาทำนากุ้งกุลาดำแทน ซึ่งกิจการการทำนากุ้งกุลาดำนี้เฟื่องฟูอย่างมากในพ.ศ.พ.ศ.2527-2532 หลายพื้นเป็นป่าโกงกางถูกถางถางและถูกซื้อทำนากุ้งจนพื้นที่ที่เคยเป็นป่าโกงกางมีจำนวนน้อยลง กิจการนี้ได้ดำเนินเรื่อยมาก่อนที่ไม่นานนักประมาณ พ.ศ.2535 เมื่อค่าตอบแทนการทำนากุ้งกุลาดำเริ่มไม่คุ้มกับการลงทุนประกอบกับการเกิดโรคระบาดของกุ้ง กิจการนากุ้งกุลาดำจึงถูกทิ้งร้างไปหลายแห่ง ชาวบ้านต่างเลิกทำนากุ้งกุลาดำกัน โดยหลังการซบเซาของกิจการนากุ้งจะพบว่าชาวบ้านได้หันไปประกอบอาชีพที่หลากหลายมากขึ้น มีทั้งที่บางส่วนกลับไปประกอบอาชีพเดิม เช่น การทำนากุ้งขาวหรือกุ้งแชบ๊วย การทำถ่านไม้โกงกาง การหาจับปลาตามลำคลอง การรับจ้าง เป็นต้น และบางส่วนที่หาลู่ทางภายนอกได้ก็จะอพยพออกไปหางานและตั้งถิ่นฐานภายนอก ซึ่งรูปแบบของการประกอบอาชีพที่หลากหลายนี้ยังคงสืบมาถึงปัจจุบันนี้ โดยในปัจจุบันจะเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่มักเลือกเดินทางออกไปทำงานภายนอกกันอยู่ตลอด ส่วนผู้ที่ที่ยังประกอบอาชีพต่างๆภายในชุมชนจะเป็นผู้ที่มีอายุเป็นส่วนมากนั่นเอง

จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางด้านการประกอบอาชีพของชาวยี่สารได้เกิดขึ้นอยู่ตลอดนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งชาวยี่สารก็มีการปรับตัวและรู้จักการใช้ทรัพยากรและลักษณะทางกายภาพของตนเองในการหารายได้ทำให้แม้การประกอบอาชีพหนึ่งจะซบเซาลงแต่ชาวบ้านก็สามารถดำเนินชีวิตด้วยการประกอบอาชีพใหม่ได้เสมอ ส่งผลให้ชาวบ้านจึงสามารถดำรงชีวิตภายในชุมชนแห่งนี้ได้เรื่อยมา


ในอดีตการสัญจรเดินทางของชุมชนยี่สารมักมีการสัญจรเดินทางกันด้วยเรือ โดยจะเดินทางกันไปทางเส้นทางน้ำที่เป็นคลองธรรมชาติและคลองขุดใหม่ที่เชื่อมโยงกันในการไปยังที่ต่างๆภายนอกชุมชน ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาค ซึ่งการสัญจรทางน้ำของชาวยี่สารรูปแบบนี้ได้ดำเนินเรื่อยมาจนในปีพ.ศ.2518 หลังการสร้างถนนธนบุรี-ปากท่อ ที่เชื่อมต่อจังหวัดราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาครเข้าสู่กรุงเทพได้โดยตรงเสร็จสิ้น ในท้องถิ่นได้เกิดการสร้างถนนลูกรังแยกออกจากถนนธนบุรี-ปากท่อเข้าสู่ชุมชนบ้านยี่สารเป็นระยะกว่า 7.5 เมตร โดยถนนแห่งนี้เมื่อสร้างแล้วเสร็จชาวบ้านชุมชนยี่สารจึงเปลี่ยนมาเป็นการสัญจรทางบกแทน ทำให้เกิดการเดินทางใช้ระบบถนนสัญจรในลักษณะต่าง ทั้งการโดยสารด้วยรถส่วนบุคคล ทั้งการโดยสารผ่านรถรับส่งประจำทาง หรือกระทั่งการขนส่งสินค้าต่างๆของชาวยี่สารไปสู่กรุงเทพก็มีการอาศัยถนนนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งถนนท้องถิ่นเส้นนี้ต่อมาได้มีการปรับปรุงลาดยางมาเป็นระยะ แต่ในปัจจุบันถนนก็ยังมีสภาพที่ยังไม่ดีเท่าที่ควร


พบว่าการเปลี่ยนแปลงทางด้านสภาพแวดล้อมของชาวยี่สารได้เกิดขึ้นอย่างชัดเจนที่สุดในช่วงหลังมีการทำนากุ้งเกิดขึ้นประมาณ พ.ศ.2500 เป็นต้นมา ทำให้พื้นที่ป่าชายเลนบางส่วนต้องสูญเสียไปเพราะถูกถากถางป่าชายเลนที่เคยมีออกเพื่อเปิดหน้าดินในการขุดบ่อกุ้ง นอกจากนี้การขุดเป็นบ่อกุ้งมักจะต้องมีคันดินกั้นน้ำต่างๆ ยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทิศทางการไหล และการขึ้นลงของน้ำทะเล ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเติบโตของพรรณไม้และสัตว์บางชนิดในป่าชายเลนส่งผลให้สิ่งเหล่านี้มีจำนวนลดลงในพื้นที่ ทั้งนี้วิกฤตทางสภาพแวดล้อมได้มีมากขึ้นเมื่อการทำนากุ้งถูกทิ้งร้างหลังกิจการการทำนากุ้งกุลาดำที่เคยเฟื่องฟูตกต่ำลง จะพบว่าพื้นที่ป่าชายเลนได้เสื่อมโทรมอย่างมากเพราะขาดการดูแลที่ดี อย่างไรก็ตามแม้ว่าต่อมาประมาณ พ.ศ.2543 ภาครัฐจะพยายามเข้าช่วยฟื้นฟูป่าชายเลนที่ได้รับผลกระทบจากการทำนากุ้งให้กับมาอุดมสมบูรณ์เช่นเดิมแต่ก็พบว่าเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ที่ดินบางส่วนได้ตกอยู่ในมือนายทุนเอกชนอันยากต่อการที่จะเข้าไปจัดการฟื้นฟูให้ดีขึ้น สภาพแวดล้อมป่าชายเลนบางส่วนจึงยังคงไม่ได้รับการฟื้นฟูให้ดีในปัจจุบัน จุดนี้ยังเป็นปัญหาที่ต้องรอการแก้ไขต่อไป

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

จารุเชฏฐ์ เรืองสุวรรณ. (2547). การประเมินคุณภาพการจัดการการท่องเที่ยวชุมชนยี่สาร อําเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาอุทยานและนันทนาการ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

ชนันธร อาจเอื้อม. (2557). การศึกษาคุณค่าและความสำคัญของอัตลักษณ์สิ่งแวดล้อมวัฒนธรรมชุมชนบ้านเขายี่สาร จังหวัดสมุทรสงคราม. วิทยานิพนธ์การวางแผนชุมชนเมืองและสภาพแวดล้อมมหาบัณฑิต สาขาการออกแบบและวางผังชุมชนเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.

ทรูไอดี. (2565). ท่องเที่ยวเรียนรู้ "วิถีชุมชนบ้านยีสาร" อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 16 มิถุนายน 2566, จาก https://travel.trueid.net/detail/WRYav7N77wKR.

นลิน สินธุประมา. (2559). ยี่สาร : ตำนานก่อนเงียบงัน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 16 มิถุนายน 2566, จาก https://www.sarakadee.com/2016/01/28/yeesan/.

แนวหน้า. (2557). ภูมิบ้านภูมิเมือง : บ้านเขายี่สาร ภูมิวิถีชุมชนคนอยุธยาริมอ่าวไทย. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 16 มิถุนายน 2566, จาก https://www.naewna.com/lady/101894.

ปริญญา มรรคสิริสุข. (2562). นิเวศวิทยาสถาปัตยกรรม : กรณีการทำถ่านไม้โกงกางบ้านเขายี่สาร. วิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.

พงษ์พันธ์ วัฒนพันธพงษ์. (2549). การบริหารจัดการพื้นที่และสภาพแวดล้อมโดยรัฐและท้องถิ่น กรณีศึกษา: ชุมชนยี่สารและแพรกหนามแดง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม. วิทยานิพนธ์การวางผังเมืองและสภาพแวดล้อมมหาบัณฑิต สาขาการวางผังเมืองและสภาพแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

พงษ์พิทักษ์ ปัตตานี. (2552). ความพร้อมในการฟื้นฟูที่อยู่อาศัยในชุมชนเขายี่สาร จังหวัดสมุทรสงคราม. วิทยานิพนธ์เคหพัฒนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

มุกดาภรณ์ สุวรรณแพทย์. (2552). ทางเลือกในการซ่อมแซมและปรับปรุงที่อยู่อาศัยในชุมชนเขายี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม. วิทยานิพนธ์เคหพัฒนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

มูลนิธิเล็ก - ประไพ วิริยะพันธุ์. (2559). พิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร : การเปลี่ยนแปลงและสู่อนาคตของยี่สาร. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 16 มิถุนายน 2566, จาก https://lek-prapai.org/home/view.php?id=639.

มูลนิธิเล็ก - ประไพ วิริยะพันธุ์. (2559). พิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร : ยี่สารในอดีต. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 16 มิถุนายน 2566, จาก https://lek-prapai.org/home/view.php?id=633.

ริเรืองรอง รัตนวิไลสกุล. (2553). ศึกษาการอยู่ร่วมกันของคนกับป่าชายเลนและภูมิปัญญาการใช้ทรัพยากรเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจของคนในชุมชนยี่สาร จังหวัดสมุทรสงคราม. วารสารวิชาการและวิจัย, 4(1), 102-114.

ลัดดาวัลย์ ตระกูลรัมย์. (2552). สภาพที่อยู่อาศัยกับความเป็นเครือญาติในชุมชนเขายี่สาร จังหวัดสมุทรสงคราม. วิทยานิพนธ์เคหพัฒนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. (2542). ยี่สาร: ย่านโบราณกลางป่าชายเลน. วารสารวัฒนธรรมไทย, 102-114.

______. (2544). ตำนานและพิธีกรรมคุณปู่ศรีราชา: ภาพสะท้อนบูรณาการทางสังคมวัฒนธรรมที่บ้านยี่สาร. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขามานุษยวิทยา คณะคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.

______. (2546). ความสำคัญของตำนานคุณปู่ศรีราชา: ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงที่มีต่อชุมชนยี่สาร. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 16 มิถุนายน 2566, จาก https://lek-prapai.org/home/view.php?id=830.

______. (2559). อาหารในป่าชายเลน : บ้านยี่สาร จังหวัดสมุทรสงคราม. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 16 มิถุนายน 2566, จาก https://lek-prapai.org/home/view.php?id=359.

______. (2561). ชุมชนโบราณที่บ้านยี่สาร ( ข้อมูลจากการขุดค้นทางโบราณคดี). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 16 มิถุนายน 2566, จาก https://walailaksongsiri.com/2018/10/23/excavationatyisan/.

______. (2561). ยี่สาร : ย่านตลาดกลางป่าชายเลน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 16 มิถุนายน 2566, จาก https://walailaksongsiri.com/2018/08/21/yisan-village/.

ศิริลักษณ์ บางจริง. (2566). วิถีกินอยู่และภูมิปัญญาเผาถ่านไม้โกงกาง ชุมชนบ้านยี่สาร สมุทรสงคราม. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 16 มิถุนายน 2566, จาก https://www.anurakmag.com/made-in-thailand/02/17/2023/baan-yee-sarn.

ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ. (ม.ป.ป.). ยี่สารเมืองสามน้ำ. ม.ป.ท.: ม.ป.พ.

สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ. (2557). Muse trip บันทึกลับเขายี่สาร ชุมชนโบราณแห่งกรุงศรี. กรุงเทพฯ: สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ.

สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสมุทรสงคราม. (ม.ป.ป.). วัดเขายี่สาร. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 16 มิถุนายน 2566, จาก https://skm.onab.go.th/th/content/category/detail/id/110/iid/13904.

สำนักงานอุทยานการเรียนรู้. (ม.ป.ป.). ต้นฉบับคู่มือกิจกรรมการเรียนรู้ต้นแบบ นิทรรศการ : เที่ยวเมืองเก่า...เล่าวิถีไทยตอน รื่นรมย์ชมบ้านเขายี่สาร. ม.ป.ท.: ม.ป.พ.

สุชิน แสงละออ. (2551). การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศของชุมชนยี่สาร จังหวัดสมุทรสงคราม. วิทยานิพนธ์สถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการวางผังเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

อภิญญา ตันทวีวงศ์. (2543). ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจแบบยั่งยืน: กรณีศึกษาการทำถ่านไม้โกงกางที่หมู่บ้านยี่สาร. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขามานุษยวิทยา คณะคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.