Advance search

บ้านจำรุง

ชุมชนต้นแบบที่ได้รับรางวัลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ปี 2550 ที่ตั้ง “มหาวิทยาลัยบ้านนอก” แหล่งท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้ที่มุ่งเน้นเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและการทำเกษตรแบบครบวงจร ด้วยหลักการ “วิถีบ้านนอก” วิถีชีวิตบนความเรียบง่ายและพอเพียง สะท้อนเรื่องราวความเป็นคนบ้านนอกและวิถีชุมชนท้องถิ่น จุดแข็งที่ทำให้บ้านจำรุงยังคงรักษาวิถีชีวิตดั้งเดิมไว้ได้

จำรุง
เนินฆ้อ
แกลง
ระยอง
ธำรงค์ บริเวธานันท์
9 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
ธำรงค์ บริเวธานันท์
15 ก.ค. 2023
บ้านจำรุง

พื้นที่หมู่บ้านในอดีตเป็นที่ราบลุ่ม มีน้ำท่วมขังตลอดทั้งปี ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “จำรุ” เป็นภาษาชอง แปลว่า ปากช่องทางน้ำไหลลงทุ่งหรือบึง แล้วเพี้ยนเป็น “จำรุง” ในเวลาต่อมา 


ชุมชนต้นแบบที่ได้รับรางวัลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ปี 2550 ที่ตั้ง “มหาวิทยาลัยบ้านนอก” แหล่งท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้ที่มุ่งเน้นเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและการทำเกษตรแบบครบวงจร ด้วยหลักการ “วิถีบ้านนอก” วิถีชีวิตบนความเรียบง่ายและพอเพียง สะท้อนเรื่องราวความเป็นคนบ้านนอกและวิถีชุมชนท้องถิ่น จุดแข็งที่ทำให้บ้านจำรุงยังคงรักษาวิถีชีวิตดั้งเดิมไว้ได้

จำรุง
เนินฆ้อ
แกลง
ระยอง
21110
เทศบาลตำบลเนินฆ้อ โทร. 0-3803-7612
12.70837382
101.622005
เทศบาลตำบลเนินฆ้อ

หมู่บ้านจํารุงในอดีตเมื่อประมาณ 150 ปีก่อน เป็นเพียงหมู่บ้านเล็ก ๆ มีประชากรเพียง 30 ครัวเรือน ผู้คนที่มาอยู่อาศัยอพยพมาจากบริเวณชายทะเล บ้านถนนกะเพรา ตําบลเนินฆ้อในปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาที่ทำกินแห่งใหม่ แรกเริ่มเรียกชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านป่าเรไร” ต่อมาได้มีการหักล้างถางพงเพื่อปรับพื้นที่ในการทําไร่ทํานาบริเวณหน้าวัดจํารุงปัจจุบัน เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีน้ำท่วมขังตลอดทั้งปี จึงมีการเรียกพื้นที่บริเวณนั้นว่า “จํารุ” (ภาษาถิ่นของคนชอง) มีความหมายว่า ปากช่องทางน้ำไหลลงทุ่งหรือบึง แต่ต่อมาเรียกเพี้ยนเป็นคําว่า “จํารุง”

พัฒนาการของหมู่บ้านจำรุง

  • พ.ศ. 2510 บ้านจำรุงมีรถไถนาควายเหล็กคนแรก เป็นของนายหนุ่ม ดีนาน หมอแผนโบราณและผู้นำทางความคิด โดยให้เหตุผลว่ารถไถนาดูแลง่าย เพียงแค่เติมน้ำมันก็สามารถทํางานได้ทั้งวัน ไม่เหน็ดเหนื่อย ต่างจากวัว ควายที่ต้องหาหญ้าหาน้ำให้กินแต่ทำงานได้เพียงครึ่งวัน จากนั้นจึงมีการใช้รถไถกันมากขึ้น รวมถึงชาวนาเริ่มหันไปใช้บริการรถไถนาที่เข้ามารับจ้างมากขึ้น ทุนนิยมธุรกิจเข้าสู่ทุ่งนา จากเดิมที่ระบบการผลิตเป็นเพื่อบริโภค ภายหลังกลายเป็นการผลิตเพื่อจำหน่าย ส่วนที่จะบริโภคก็หาซื้อเอาจากที่อื่น

  • พ.ศ. 2517 เมื่อมีไฟฟ้าเข้ามาในหมู่บ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้าก็ตามเข้ามาด้วย เช่น โทรทัศน์ ตู้เย็น หม้อหุงข้าว เป็นต้น ขณะเดียวกันในชุมชนก็เริ่มประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการเกษตร เนื่องจากลูกหลานบ้านจำรุงเริ่มได้รับการส่งเสริมให้เข้าถึงการศึกษาในระดับสูงขึ้น การเข้ามาของระบบการศึกษาส่งผลให้การเชื่อมต่อภูมิปัญญาความรู้ในการประกอบอาชีพหยุดชะงัก วัฒนธรรมประเพณีขาดการสืบทอด เนื่องจากคนรุ่นใหม่มักมองว่าเป็นเรื่องงมงายไร้สาระ คนในชุมชนเริ่มต่างคนต่างอยู่ การทํามาหากินเน้นเรื่องเงินเป็นหลัก การพึ่งพาช่วยเหลือกันแบบสมัยก่อนลดลงมาก

  • พ.ศ. 2529 ควายตัวสุดท้ายในชุมชนบ้านจำรุงได้ถูกขายไป ป่ายางพาราที่เคยชุ่มชื้นมีพืชผักสมุนไพรแซมอยู่ทั่ว กลับกลายเป็นสวนยางพาราที่ปลูกได้เพียงอย่ายางพาราอย่างเดียว โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสงเคราะห์การทําสวนยาง อีกทั้งสวนผลไม้ดั้งเดิมที่มีลักษณะเป็นสวนผสม ถูกมองว่าไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ทําให้สารเคมีเข้ามามีบทบาทในการประกอบอาชีพของชาวบ้านจำรุงมากขึ้น

  • พ.ศ. 2536 มีการผลักดันการสร้างถนนตัดผ่าเข้าสู่บ้านจำรุงเชื่อมต่อกับถนนสุนทรภู่ โดยพระครูประสิทธิถาวรการ (สัมฤทธิ์ พุทธรักขิโต) เจ้าอาวาสวัด จํารุง และผู้ใหญ่เยือน ผลงาม ช่วงเวลานี้มีผู้คนจากทั่วประเทศมาดูงานของหมู่บ้านจํารุง หลายคณะ ทําให้คนในชุมชนเห็นประโยชน์จากการทํางานเป็นหมู่คณะเกิดการแปรรูปสินค้าผลผลิตทางการเกษตรมากขึ้น

  • ช่วงระหว่าง ปี พ.ศ. 2533-2536 ได้เกิดกลุ่มกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและกิจกรรมที่ชุมชนคิดขึ้นมาเอง โดยจะมารวมตัวกันที่ร้านค้าชุมชน ซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่า “กองทุนพัฒนาหมู่บ้าน”

  • พ.ศ. 2542 หมู่บ้านจํารุงเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ คือ การก่อสร้างถนนสายหลักของหมู่บ้านโดยได้รับงบประมาณลาดยางเชื่อมต่อกับถนนสุขุมวิทและสถานีอนามัยบ้านจํารุง ทั้งนี้ยังมีการก่อสร้างศาลากลางน้ำที่สระน้ำหน้าวัดจํารุง และได้รับการสนับสนุนโครงการจากกองทุนเพื่อสังคม (SIF) เป็นจํานวน 837,000 บาท

  • พ.ศ. 2543 ทางราชการได้กําหนดนโยบายสุขภาพดีถ้วนหน้า กําหนดให้ 4 กระทรวงหลักลงมาช่วยทํางานในพื้นที่ระดับหมู่บ้าน ทุกหมู่บ้านต้องผ่านเกณฑ์ที่กําหนด เช่น มี ส้วมทุกหลังคาเรือน มีหอกระจายข่าว หรือเสียงตามสาย มีที่อ่านหนังสือพิมพ์ เป็นต้น

  • ช่วงปี พ.ศ. 2544-2548 บ้านจํารุงได้มีการตั้งกลุ่มกิจกรรม 24 กลุ่ม กลุ่มกิจกรรมที่เกิดขึ้นมาช่วงในระยะเวลานี้ จะเป็นกลุ่มที่มีการจัดตั้งโดยการเน้นการฟื้นฟูความเป็นชุมชนและรวมพลังเพื่อต่อรองสร้างความอยู่ดีมีสุขให้กับสมาชิกชุมชน ทั้งในเรื่องของอาหาร ความเป็นอยู่ สุขภาพ และการประกอบอาชีพ ที่มีเป้าหมายในการสร้างชุมชนที่ปลอดจากอันตรายจากสารเคมี สมาชิกชุมชนสุขภาพดี มีความเป็นอยู่ที่ดี และลดการถูกเอารัดเอาเปรียบของผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดี ชุมชนมีฐานเศรษฐกิจที่มั่นคง มีความเป็นตัวของตัวเองในเรื่องของสังคม ประเพณี และวัฒนธรรม นําไปสู่การเสริมสร้างขีดความสามารถของชุมชนในการพัฒนาการพึ่งตนเอง และเกิดความเข้มแข็งของชุมชน ซึ่งการพึ่งตนเองเป็นการกระตุ้นส่งเสริมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน

หลังจากการมีกลุ่มกิจกรรมที่เกิดขึ้นเพื่อการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน โดยใช้แนวคิดการพึ่งตนเองเป็นหลักภายใต้การน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติ ส่งผลให้บ้านจํารุงได้รับการยอมรับว่าเป็นหมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง และได้เข้ารับพระราชทานรางวัลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เมื่อปี พ.ศ. 2549 จากความสําเร็จที่เกิดขึ้นทําให้หลายชุมชนเดินทางมาเยี่ยมชมถึงหมู่บ้านเพื่อมาศึกษาหาความรู้ รวมทั้งแนวทางปฏิบัติเพื่อนําไปใช้ในชุมชนของตนเอง

นอกจากบ้านจํารุงจะมีการพัฒนาตนเองด้วยการมีกลุ่มกิจกรรมที่ประสบผลสําเร็จ ปัจจุบันบ้านจํารุงยังมีการพัฒนาการเกี่ยวกับการทํางานของเครือข่ายองค์กรชุมชน ที่มีการเชื่อมประสานตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตําบล อําเภอ จังหวัด ซึ่งบ้านจํารุงได้เข้าร่วมเป็นขบวนองค์กรชุมชนภาคตะวันออก ที่มียุทธศาสตร์พลิกฟื้นวิถีชุมชนเพื่อการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นคนตะวันออก มีเวทีในการร่วมกันหาทางออกเมื่อมีผลกระทบต่อชุมชนในเครือข่าย ทั้งนี้ บ้านจํารุงก็ได้เป็นต้นแบบและตัวอย่างในการพัฒนาชุมชนที่จะขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นในอนาคต (อัมรินทรา ทิพย์บุญราช, 2552: 44-47)

ที่ตั้งและอาณาเขต

บ้านจำรุงหมู่ที่ 7 ตําบลเนินฆ้อ อําเภอแกลง จังหวัดระยอง ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของอําเภอแกลง ห่างจากตัวอําเภอแกลงประมาณ 10 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากเทศบาลตําบลเนินฆ้อไปทางทิศตะวันตก ระยะทาง 3 กิโลเมตร หมู่บ้านมีเนื้อที่ 4.92 ตารางกิโลเมตร หรือ 3,077 ไร่ มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดกับ หมู่ที่ 5 บ้านหนองแพงพวย ตําบลเนินฆ้อ

  • ทิศใต้ ติดกับ หมู่ที่ 6 ตําบลชากโดน

  • ทิศตะวันออก ติดกับ หมู่ที่ 5 บ้านหนองแพงพวย ตําบลเนินฆ้อ

  • ทิศตะวันตก ติดกับ หมู่ที่ 4 ตําบลชากโดน

สภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ

สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปของบ้านจํารุง เป็นที่ราบลุ่มมีเนินเหมาะแก่การทํานา และทําสวนผลไม้ เช่น สวนทุเรียน สวนเงาะ สวนมังคุด ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีสวนยางพาราที่มีคุณภาพ สภาพของดินมีความอุดมสมบูรณ์ ในทุ่งนาดินจะมีลักษณะเป็นดินเหนียวสีดํา ทํานาได้ผลดี สภาพดินบนเนินมีสีแดงมันปูเหมาะแก่การทําสวนผลไม้และสวนยางพารา

สภาพภูมิกาศค่อนข้างอากาศร้อนเกือบตลอดทั้งปี และมีช่วงฤดูหนาวที่สั้นมาก ในฤดูฝนมีฝนตกชุก ฤดูกาลต่าง ๆ มีลักษณะคล้ายกับเมืองชายทะเลอื่น ๆ ฤดูร้อนจะเริ่มประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน และฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน

ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

  • ทรัพยากรน้ำ

บ้านจํารุงมีแหล่งน้ำธรรมชาติอยู่หลายแห่ง ทั้งน้ำผิวดิน เช่น ลํารางสาธารณะ แอ่งน้ำตามทุ่งนา และน้ำใต้ดิน เช่น บ่อน้ำ น้ำบาดาล เป็นต้น

ลํารางสาธารณะมีความยาวประมาณ 1,200 เมตร เมื่อถึงฤดูฝนจะมีปริมาณน้ำมาก แต่ในฤดูแล้งน้ำจะแห้งขอด ชาวบ้านจึงได้ร่วมกันปรับปรุงลํารางสาธารณะโดยทํางานร่วมกับกองทัพมด ทําการขุดลอกขยายลํารางและทําฝายแม้วเพื่อชะลอน้ำ นอกจากนี้ยังได้นําพืชน้ำ เช่น ผักกระเฉด และผักบุ้ง มาปลูกไว้ตามลํารางสาธารณะ เพื่อเป็นแหล่งอาหารที่หาได้ตามธรรมชาติด้วย นอกจากนี้ ภายในหมู่บ้านยังมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จํานวน 1 แห่ง ถือเป็นแหล่งน้ำสําคัญที่ชาวบ้านจำรุงใช้สําหรับอุปโภคบริโภค และทําการเกษตร อ่างเก็บน้ำนี้มีน้ำตลอดทั้งปี ปัจจุบันทําบันไดปลาโจนเพื่อให้ปลาขึ้นมาวางไข่ เมื่อถึงฤดูแล้งก็สามารถมาจับปลาไปเป็นอาหารได้ และมีการสร้างศาลาริมน้ำเพื่อใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจและทํากิจกรรมชุมชน

  • ทรัพยากรดิน

ทรัพยากรดินในชุมชนบ้านจำรุงนั้นนับได้ว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ โดยมีการรณรงค์ให้เกษตรกรลดการใช้สารเคมีและหันมาใช้ปุ๋ยชีวภาพแทน เพื่อรักษาคุณภาพและแร่ธาตุของดินในพื้นที่ทางการเกษตร เนื่องจากเห็นว่าดินเป็นรากฐานสําคัญในการเพาะปลูก หากดินดีก็สามารถเพิ่มผลผลิตให้แก่เกษตรกรได้ ทั้งยังช่วยให้ระบบนิเวศเกิดความสมดุล ด้วยการมอบถังหมักชีวภาพให้ทุกครัวเรือนเพื่อผลิตปุ๋ยอินทรีย์และน้ำหมักชีวภาพสําหรับใช้ในการดูแลพืชผักและผลไม้ที่ปลูกกันในครัวเรือน ทั้งยังส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนปลูกพืชผักสวนครัวไว้รับประทาน เพื่อเพิ่มความหลากหลายของพืชอาหารในหมู่บ้าน

ปัจจุบัน บ้านจํารุงมีแนวคิดที่จะคืนความเป็นชุมชน โดยต้องการฟื้นฟูทั้งคน ดิน น้ำ ป่า ซึ่งเป็นสิ่งที่บ้านจํารุงได้ให้ความสําคัญ เพราะหากไม่มีการฟื้นฟูให้กลับคืนสู่ความเป็นชุมชนที่มีคุณค่าและมีเอกลักษณ์ของตนเอง การพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็งพึ่งตนเองได้ก็จะไม่ประสบผลสําเร็จ

ลักษณะการตั้งบ้านเรือน

ลักษณะการตั้งบ้านเรือนของชาวบ้านแม่จำรุงส่วนใหญ่จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อน โดยในอดีตนิยมสร้างบ้านเรือนอยู่บริเวณริมทุ่งเป็นหลัก แต่ต่อมามีการหักร้างถางป่าบนเนินเพื่อแปรสภาพพื้นที่ป่ทาเป็นสวนยางพาราและสวนผลไม้ ชาวบ้านที่สร้างบ้านอยู่บริเวณชายทุ่งจึงได้ขยายแยกครอบครัวมาสร้างบ้านภายในบริเวณสวนผลไม้และสวยนยางพาราของตน 

รายงานสถิติประชากรเทศบาลตำบลเนินฆ้อแบบแยกรายหมู่บ้าน ระบุจำนวนประชากรหมู่ที่ 7 บ้านจำรุงทั้งสิ้น 241 ครัวเรือน 528 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 243 คน และประชากรหญิง 285 คน ประชาชนในหมู่บ้านบางส่วนสืบเชื้อสายมาจากชาวชอง มีตระกูลเก่าแก่ที่ตั้งรกรากมาตั้งแต่แรกตั้งหมู่บ้านและสืบสายสกุลมาจนปัจจุบัน 5 ตระกูล ได้แก่ ตระกูลดีนาน ตระกูลรัตนพงศ์ ตระกูลไกรทอง ตระกูลก่อเกื้อ และตระกูลเจือจุน ซึ่งปัจจุบันตระกูลเหล่านี้ได้มีลูกมีหลานและแต่งงานจนเป็นเครือญาติกันเป็นส่วนใหญ่

ลักษณะทางสังคมโดยทั่วไปของบ้านจํารุงเป็นความสัมพันธ์แบบเครือญาติ มีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวมีความรักใคร่กลมเกลียวมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและปรองดองกัน สมาชิกในหมู่บ้านมีความผูกพันและมีการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เมื่อมีปัญหาสามารถพูดคุยกันอย่างเปิดเผย และทางชุมชนบ้านจํารุงได้มีกลุ่มกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อให้คนทุกเพศทุกวัยได้เข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมของหมู่บ้าน เช่น กลุ่มกองทัพมด กลุ่มเยาวชน กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร และกลุ่มผู้สูงอายุ เป็นต้น ทั้งนี้ ยังมีศูนย์การเรียนรู้ของชุมชนที่เป็นศูนย์รวมในการรวมคนเพื่อทํากิจกรรมต่าง ๆ ภายในหมู่บ้านอีกด้วย

 

ชอง

การประกอบอาชีพ

ชาวบ้านจำรุงส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมและการประมง เช่น การทําสวนยางพารา สวนผลไม้ และรับจ้างกรีดยาง โดยปกติแล้วชาวบ้านจะมีรามยได้ประมาณ 5,000-10,000 บาท/คน/เดือนยางพาราที่นิยมปลูก คือ ยางพาราสายพันธุ์ 600 ซึ่งชาวบ้านจะขายเป็นยางพาราถ้วย โดยการขายยางพารานั้นมีทั้งที่ขายผ่านกลุ่มรวมซื้อขายยางพารา และขายให้แก่พ่อค้าคนกลางที่มีรับซื้อภายในหมู่บ้าน ผลไม้ที่นิยมปลูก ได้แก่ ทุเรียน สายพันธุ์หมอนทอง ชะนี และกระดุม ขนุน สายพันธุ์ทองประเสริฐ เงาะ สายพันธุ์โรงเรียน มังคุด ลองกอง แก้วมังกร และมะยงชิด ซึ่งการขายผลไม้มีทั้งขายให้แก่พ่อค้าคนกลางที่มารับซื้อ ชาวสวนบรรทุกผลไม้ไปขายเองที่ตลาด และขายให้แก่ผู้ที่มาศึกษาดูงานภายในหมู่บ้าน

นอกจากนี้ชาวบ้านยังมีอาชีพเสริมที่เพิ่มรายได้ คือ การเลี้ยงตะพาบน้ำเพื่อขายไข่ และการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เช่น ทุเรียนทอด การทํากะปิ น้ำปลา เป็นต้น ซึ่งผลิตภัณฑ์การแปรรูปของชุมชน เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกลุ่มกิจกรรมภายในชุมชน โดยทุกกลุ่มจะมีการแปรรูปสินค้าและจําหน่ายให้กับผู้ที่มาสั่งซื้อผ่านกลุ่ม รวมถึงนำไปขายที่ตลาดนัด ตลอดจนขายให้ผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้ในศูนย์การศึกษาชุมชน ซึ่งรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์แปรรูปสามารถสร้างรายได้ให้กับสมาชิกในชุมชนได้ตลอดทั้งปี ทั้งนี้ บ้านจำรุงยังมีการส่งเสริมให้ปลูกผักสวนครัวภายในครัวเรือนเพื่อลดค่าใช้จ่าย แต่ก็ยังพบว่าชาวบ้านบางส่วนที่มีปัญหาหนี้สินที่เกิดจากการลงทุนผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งชุมชนเองก็ได้มีกลุ่มกิจกรรมที่ช่วยเหลือชาวบ้านที่มีหนี้สิ้น และยังมีกลุ่มธนาคารชุมชนที่จะดําเนินการฝาก ถอน และให้สมาชิกสามารถกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเป็นทุนในการประกอบอาชีพ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการออมอีกด้วย

กลุ่มองค์กรชุมชน

บ้านจำรุงมีกลุ่มองค์กรชุมชนมากกว่า 20 กลุ่ม ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของชาวบ้านภายในหมู่บ้านเพื่อดำเนินการกิจกรรมต่าง ๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ระบบเศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนธำรงไว้ซึ่งประเพณีและวัฒนธรรมชุมชน ซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึงเพียงบางกลุ่ม ดังนี้

  • ร้านค้าชุมชนหรือศูนย์สาธิตการตลาด

ร้านค้าชุมชนหรือศูนย์สาธิตการตลาดบ้านจำรุง ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2530 โดยหมอบานเย็น ดีนาน น เป็นศูนย์การจำหน่ายสินค้าในลักษณะของการเปิดบัญชีหุ้นกู้ โดยใช้กองทุนของผู้ถือหุ้น 33,250 บาท ซื้อสินค้ามาวางจำหน่ายในร้านแล้วขายให้กับสมาชิก ในช่วงหนึ่งแรกของการดำเนินการใช้วีการให้ผู้ถือหุ้นผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาขายสินค้า ซึ่งผลตอบรับในปีงบประมาณแรกเป็นไปได้ด้วยดี ร้านค้าชุมชนมีกำไรกว่า 50,000 บาท สามารถแบ่งกำไรให้ผู้ถือหุ้น และจัดสรรกำไรส่วนหนึ่งไปดำเนินการจักตั้งกองทุนพัฒนาหมู่บ้านจำรุง แต่พอเข้าปีที่สอง การดำเนินการประสบปัญหา เมื่อถึงเวลาตัวแทนผู้ถือหุ้นมาขายสินค้า ไม่สามารถมาขายได้ ทำให้แกนนำต้องมาขายแทน แต่อย่างไรก็ตามเมื่อถึงเวลาปิดบัญชีงบประมาณปีที่ 2 ร้านค้าก็ยังคงมีกำไร จนถึงปีที่ 3 มีการพัฒนาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการทํางานหลายอย่าง เช่น มีการจ้างพนักงานขายสินค้าประจํา 1 คน ส่งผลให้การ ดําเนินงานไปได้ด้วยดี รวมทั้งหมอบานเย็น ดีนาน ได้ประสานงานกับสํานักงานสาธารณสุขจังหวัดระยองขอรับการสนับสนุนเป็นเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย 30,000 บาท มาเพิ่มทุนให้กับร้านค้าชุมชน ทุกคนในชุมชนให้ความสนใจกิจกรรมร้านค้าชุมชนและมีความรู้สึกเป็นเจ้าของร้านค้า ซึ่งส่งผลให้ร้านค้าชุมชนมีกำไรมากเพียงพอสำหรับนำไปพัฒนาชุมชน โดยเรียกงบประมาณส่วนนี้ว่า “กองทุนพัฒนาบ้านจํารุง”

  • กลุ่มเกษตรพื้นบ้าน

กลุ่มเกษตรกรพื้นบ้านก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ส. 2545 ช่วงเริ่มต้นมีสมาชิกด้วยกัน 10 คน เป็นกลุ่มที่สนใจทําการเกษตรแบบผสมผสาน การทําปุ๋ยหมัก สกัดสารชีวภาพเพื่อไล่แมลง น้ำหมักชีวภาพไว้ใช้ในกลุ่มและจําหน่ายให้กับผู้ที่สนใจทําแปลงสาธิตการปลูกผักปลอดสารพิษ รวมถึงเก็บผลผลิตปลอดสารพิษขายให้กับร้านค้าภายในชุมชน ต่อมาเมื่อมีวิทยุชุมชนบ้านจํารุง สมาชิกกลุ่มเกษตรพื้นบ้านได้ไปผลิตรายการวิทยุชุมชนบอกเล่า กิจกรรมของกลุ่มทําให้มีผู้สนใจเข้าร่วมเพื่อเป็นสมาชิกของกลุ่มเพิ่มขึ้น ในปี พ.ศ. 2547 ทางกลุ่มได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสถาบันองค์กรชุมชนเป็นเงินจํานวน 24,000 บาท สำหรับใช้พัฒนากิจกรรมของกลุ่ม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สมาชิกได้รวมตัวแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการทําเกษตรพื้นบ้านแบบพึ่งตนเอง เพื่อลดต้นทุนการผลิตและการใช้สารเคมีอย่างสิ้นเชิง ชาวบ้านได้รับประทานอาหารที่ปลอดสารพิษ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของผู้ที่สนใจในการทําเกษตรอินทรีย์ และเพื่อให้สมาชิกมีปุ๋ยหมักน้ำจุลินทรีย์ชีวภาพเอาไว้ใช้เอง

  • กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร

กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร เป็นกลุ่มที่ตั้งขึ้นตามแรงผลักดันของกรมส่งเสริมการเกษตรเมื่อ พ.ศ. 2520 เนื่องจากชาวบ้านประสบปัญหาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ กลุ่มสตรีในหมู่บ้านจึงรวมตัวกันหาวิธีเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้มีราคาดีขึ้นและเก็บผลผลิตไว้ได้นาน จึงรวบรวมสมาชิกได้ 20 คน โดยความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ส่งเสริมของสํานักงานเกษตรอําเภอแกลง จัดหาวิทยากรมาอบรมการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร อบรมการถนอมอาหาร ทําทุเรียนทอด ทุเรียนกวน อบรมการผสมแม่ปุ๋ยไว้ใช้ในสวนผลไม้และสวนยางพารา ทําน้ำยาสระผม ครีมนวด น้ำยาล้างจาน และนำออกจําหน่ายให้ผู้ที่สนใจ ปัจจุบันกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนมากกว่า 100,000 บาท และมีกิจกรรมฝากสัจจะออมทรัพย์ทุกเดือน

  • กลุ่มที่พักชุมชนโฮมสเตย์

เกิดจากการขยายงานของกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน และเพื่อต้องการให้บ้านของสมาชิกมีความสะอาด สวยงาม และเป็นสถานที่รองรับผู้ที่มาศึกษาดูงานที่    บ้านจํารุง ซึ่งผลตอบรับของการดำเนินงานนับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก และมีผู้คนมาเรียนรู้ศึกษาดูงานและเข้าพักในบ้านพักของสมาชิกกลุ่มโฮมสเตย์อย่างต่อเนื่อง

  • กลุ่มพัฒนาอาชีพ

ก่อตั้งเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2544 มีจํานวนสมาชิก 35 คน เป็นกลุ่มที่ตั้งขึ้น หลังจากได้งบประมาณจากกองทุนเพื่อสังคมจํานวน 15,000 บาท เพื่อนํามาสร้างอาชีพให้กับ สมาชิกมีการจัดหาวิทยากรมาอบรมให้ความรู้กับสมาชิกในเรื่องของการบรรจุหีบห่อ การจัดหาตลาด การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร จัดหาอุปกรณ์ในการทํากิจกรรมของกลุ่ม เช่น ตู้อบแห้ง ตู้อบขนม เครื่องกวนทุเรียน เครื่องบรรจุหีบห่อ และในเวลาต่อมาสํานักงานการส่งเสริมการวิจัยได้มาอบรมการทําเงาะตากแห้ง เค้กทุเรียน และผงทุเรียนอบแห้งให้แก่สมาชิก

  • กลุ่มสตรีอาสาพัฒนาบ้านจำรุง

จัดตั้งขึ้นตามนโยบายกรมการพัฒนาชุมชนที่ต้องการให้สตรีในชุมชนได้ใช้เวลาว่างจากอาชีพหลักของครอบครัวมารวมตัวกันประกอบอาชีพเสริม และมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นในชุมชน ร่วมกับการพัฒนาชุมชน และพัฒนาศักยภาพของกลุ่มสตรีให้มีความรู้ ความสามารถในการที่จะแก้ปัญหาของชุมชนร่วมกับแกนนําชุมชน โดยกิจกรรมสำคัญของกลุ่มสตรีอาสาพัฒนาบ้านจำรุงที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การแปรรูปน้ำปลา กะปิ น้ำยาล้างจาน และน้ำยาซักผ้า

  • กลุ่มรวมซื้อรวมขายยางพารา

เป็นกลุ่มกิจกรรมที่เกิดขึ้นจากการพูดคุยผ่านเวทีสภาหมู่บ้าน โดยมีแนวคิดว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทําสวนยางพารา แต่ไม่สามารถต่อรองหรือกําหนดราคายางพาราที่เป็นธรรมได้ ถูกเอารัดเอาเปรียบเรื่องเครื่องชั่งที่ไม่ได้มาตรฐาน ในปี พ.ศ. 2548 ชุมชนบ้านจำรุงรวมถึงชุมชนเกษตรกรสวนยางพาราอำเภอแกลงได้รับการส่งเสริมจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ให้มีการรวมตัวขึ้นเป็นกลุ่มรวมซื้อรวมขายยางพารา โดยใช้ทุนเบื้องต้นจากการส่งเสริมของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และการระดมทุนกันเองในชุมชนเปิดกิจการโดยมีทุกคนเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง ซึ่งจากการดำเนินงานตั้งแต่แรกตั้งกลุ่มจนถึงปัจจุบน กลุ่มรวมซื้อรวมขายยางพารามีทุนดําเนินการหมุนเวียนต่อวันประมาณ 400,000 บาท

  • กองทัพมด

กลุ่มกองทัพมดก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2547 โดยการเชิญชวนให้เด็ก ๆ เยาชนในหมู่บ้านเข้ามามีส่วนร่วมและช่วยเหลืองานชุมชน กลุ่มกองทัพมดมีกิจกรรมที่ทําร่วมกันอย่างต่อเนื่อง คือ การดูแลแหล่งน้ำภายในหมู่บ้านโดยการสร้างฝายทดน้ำ หรือฝายแม้ว ซึ่งมีลักษณะเป็นฝายขนาดเล็กทําด้วยไม้และมีกระสอบทรายกั้นน้ไว้ นอกจากนี้ยังได้นําผักกระเฉดไปปลูกในลํารางน้ำเพื่อให้คนในชุมชนสามารถเก็บมารับประทานได้ นอกจากนี้กลุ่มกองทัพมดยังมีภารกิจในการช่วยงานสาธารณะประโยชน์ทั่วไปภายในหมู่บ้าน เช่น การทําความสะอาดศูนย์การเรียนรู้ชุมชนและผู้สูงอายุบ้านจํารุง การต้อนรับคณะผู้ศึกษาดูงาน ตลอดจนช่วยเหลืองานบุญหรือพิธีสําคัญ ๆ เช่น การจัดเตรียมสถานที่บริเวณศาลาเนินกระชายเพื่อทําบุญส่งในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หรือช่วยเสิร์ฟน้ำในงานสวดพระอภิธรรมศพ เป็นต้น

ชาวบ้านจำรุงส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีวัดจำรุง หรือวัดป่าเลไล เป็นศาสนสถานสำคัญที่ใช้ในการประกอบศาสนกิจตามประเพณีทางศาสนาและความเชื่อต่าง ๆ และแม้ว่าชาวบ้านจำรุงส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาพุทธแต่ก็ยังไม่ละทิ้งความเชื่อและวัฒนธรรมท้องถิ่นดั้งเดิมที่ได้รับการสืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เดิมทีชาวบ้านจำรุงมีรากฐานทางวัฒนธรรมมาจาก “คนชอง” ที่ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ ทําให้ชุมชนบ้านจํารุงมีเอกลักษณ์ทางประเพณีและวัฒนธรรมที่มีการผสมผสานจากคนชองร่วมอยู่ ซึ่งประเพณีและวัฒนธรรมเหล่านั้นสะท้อนให้เห็นถึงควมาเชื่อ ความศรัทธา และวิถีชีวิตของชาวบ้านจำรุงตั้งแต่ครั้งอดีต เช่น ประเพณีผีลอบผีกระด้ง สะท้อนความเชื่อในการแสดงความเคารพกตัญญูต่อผีบรรพบุรุษ ผีประจําเครื่องมือที่ในการประกอบอาชีพ เครื่องมือทํามาหากิน ประเพณีแห่นางแมว สะท้อนความเชื่อในเทพยดาที่สามารถบันดาลให้ฝนตกได้ โดยปฏิทินงานประเพณีประจําปีของชาวบ้านจำรุงมีดังนี้

เดือนประเพณี
มกราคมประเพณีทำบุญปีใหม่
กุมภาพันธ์มาฆบูชา
เมษายน

ประเพณีสงกรานต์ มหกรรมคนรักว่าว แห่นางแมว

ทอดผ้าป่า ประเพณีบุญส่ง ประเพณีอัญเชิญผีลอบ

พฤษภาคมวันวิสาขบูชา ทอดกฐิน
กรกฎาคมวันเข้าพรรษา วันอาสาฬหบูชา
ตุลาคมวันออกพรรษา
พฤศจิกายนวันลอยกระทง

การทําบุญผีหมู่

การทำบุญผีหมู่ คือ ประเพณีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับ โดยชาวบ้านจะเขียนชื่อบรรพบุรุษหรือญาติพี่น้องของตนที่ล่วงลับไปแล้วลงในกระดาษ แล้วใส่ลงในโกศรวมกัน และโยงสายสิญจน์จากหน้าพระพุทธรูปมาที่โกศ พิธีจะเริ่มต้นในช่วงหัวค่ำโดยมีพระสงฆ์มาสวดเพื่ออุทิศส่วนกุศล พอรุ่งเช้าก็จะทําบุญถวายภัตตาหารเช้า ทําวัตรเช้าอีกครั้ง แล้วนํากระดาษรายชื่อไปเผา หลังจากนั้นชาวบ้านก็จะรับประทานอาหาร ร่วมกัน

การทําบุญส่ง (วันไหล)

การทําบุญส่ง เป็นการทําบุญส่งท้ายในช่วงประเพณีสงกรานต์ในวันที่ 21 เมษายนของทุกปี ซึ่งจะจัดงานที่ศาลาเนินกระชาย โดยความเชื่อของประเพณีนี้เชื่อว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์วิญญาณผีบรรพบุรุษจะถูกปล่อยออกมา ญาติพี่น้องก็จะทําบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้ โดยใช้กาบหมากเป็นสิ่งทดแทนพาหนะ (เรือ) ในการส่งวิญญาณ ภายในกาบหมากญาติพี่น้องก็จะนําอาหารแห้ง อาหารคาวหวาน ผลไม้ใส่ลงไป เปรียบเสมือนการส่งเสบียงไปให้ โดยในวันทำบุญส่งนี้จะมีการก่อพระเจดีย์ทราย แล้วนําดอกไม้ ธูป เทียนไปปักที่กองทราย บ้างก็นําทรายมาเพิ่ม หลังจากถวายภัตตาหารเช้าแล้ว จะมีการโปรยทาน เช่น เงิน ลูกอม และมีการรดน้ำเป็นการส่งท้าย

ประเพณีอัญเชิญผีลอบ

ประเพณีอัญเชิญผีลอบ ประเพณีดั้งเดิมที่จัดขึ้นเพื่อเป็นการแสดงความเคารพ ความกตัญญูกตเวทีต่อเครื่องมือที่ใช้ในการทํามาหากิน (ลอบเป็นเครื่องมือในการดักปลาชนิดหนึ่ง) โดยประเพณีการอัญเชิญผีลอบ จะจัดขึ้นในช่วงงานประเพณีสงกรานต์ เนื่องจากมีความเชื่อว่าเป็นช่วงที่ผีหรือวิญญาณจะถูกปล่อยออกมาเพื่อรับส่วนกุศลที่ญาติพี่น้องอุทิศไปให้ การประกอบพิธีต้องกระทําใต้ต้นไม้ใหญ่ และจะมีสายสิญจน์ผูกจากยอดไม้ลงสู่ลอบ เพราะเชื่อว่าผีจะสิงสถิตอยู่ตามต้นไม้ใหญ่

ประเพณีแห่นางแมว

ประเพณีแห่นางแมว เป็นประเพณีที่จัดขึ้นเพื่อขอฝนเมื่อฝนแล้ง ทําให้ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเดือดร้อน เพราะขาดน้ำทํานาและหล่อเลี้ยงไร่สวน การแห่นางแมวเพื่อขอฝนจึงเป็นการแสดงความเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเทพยดาที่มีการนับถือกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ และเป็นกุศโลบายที่จะทําให้ชาวบ้านมีกําลังใจที่ดีขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการถ่ายทอดวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมให้คงอยู่ถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน เพราะในการแห่นางแมวคนในชุมชนทุกเพศทุกวัยจะมาเข้าร่วมขบวนแห่ ทําให้เด็กและเยาวชนได้ซึมซับวัฒนธรรมประเพณีที่สําคัญของชุมชน การแห่นางแมวของบ้านจํารุงจะแห่เป็นเวลา 3 คืน จะเริ่มขึ้นในช่วงพลบค่ำของทุกคืน ก่อนที่จะเคลื่อนขบวนแห่นั้น ผู้เฒ่าผู้แก่จะทําพิธีไหว้โดยใช้ดอกไม้ ธูป เทียน และท่องบทสวดบริเวณลานกลางบ้านหรือที่โล่งเพื่อบอกกล่าวแก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หลังจากนั้นขบวนแห่จะแห่ไปหยุดที่หน้าบ้านแต่ละหลัง และร้องบทเพลงแห่นางแมวพร้อมกับตีเกราะเคาะจังหวะไปด้วย รอจนเจ้าของบ้านออกมาต้อนรับพร้อมบริจาคสิ่งของ ไม่ว่าจะเป็น ข้าวสาร อาหารแห้ง ผลไม้ หรือเงิน จากเจ้าของบ้านจะสาดน้ำใส่หาบแมวและขบวนแห่จนกระทั่งผู้แห่ร้องจนจบบทเพลง จึงจะเคลื่อนขบวนแห่วนจนรอบหมู่บ้านครบทุกหลังคาเรือน การสาดน้ำใส่นางแมวนั้นมีนัยสำคัญ คือ เปรียบน้ำทดแทนฝน

เมื่อเสร็จสิ้นการแห่นางแมวในคืนที่ 3 แล้ว ชาวบ้านจะนําข้าวสารส่วนหนึ่งมาหุงเป็นข้าวมันและทําแกงไก่เตรียมไว้ โดยสองอย่างนี้ต้องทํากลางแจ้งเท่านั้น ชาวบ้านจะมาร่วมรับประทานข้าวมันกับแกงไก่ที่จัดทําไว้โดยมีข้อปฏิบัติคือห้ามใช้ภาชนะและช้อนส้อม ต้องรับประทานโดยใช้ใบตองกับมือแทนภาชนะ ส่วนข้าวสาร อาหารแห้ง รวมถึงเงินอีกส่วนหนึ่งจะนําไปทําบุญที่วัด

 

ชาติชาย เหลืองเจริญ    “เมื่อใดที่เกษตรกรเรียนรู้เรื่องการพึ่งพาตนเอง   ภายใต้แนวคิดระบบเศรษฐกิจพอเพียง  เมื่อนั้นเขาจะเป็นเกษตรกรที่มีความมั่นคง”  (ชาติชาย เหลืองเจริญ, 2559)

ชาติชาย  เหลืองเจริญ วัย 60 ปี หรือที่คนรู้จักเรียกกันติดปากว่า “ผู้ใหญ่ตี๋” ผู้นำแห่งบ้านจำรุง เกษตรกรต้นแบบในพื้นที่ตำบลเนินฆ้อ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยบ้านนอก เครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง เกษตกรผู้ปลูกพืชหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นยางพารา เงาะ มังคุด ขนุน ทุเรียน รวมถึงพืชผักต่าง ๆ ในรูปแบบการทำการเกษตรแบบอินทรีย์โดยยึดแนวคิดหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เป็นแนวทาง ต่อมาได้ชักชวนเกษตกรในพื้นที่ก่อตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรธรรมชาติบ้านจำรุงเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ระหว่างกันในการทำเกษตรอินทรีย์เพื่อลดต้นทุนการผลิต แต่ประสบปัญหาขาดตลาดรองรับ จึงได้มีการเชื่อมโยงกลุ่มกิจกรรมอื่น ๆ ในชุมชน เช่น กลุ่มแม่บ้าน เพื่อบริหารจัดการระบบเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจรโดยรวมกลุ่มกันผลิตอาหารที่มาจากเกษตรอินทรีย์ซึ่งเป็นกลุ่มงานอาหารท้องถิ่นไทย รับซื้อผลผลิตทางการเกษตรของสมาชิกภายในกลุ่มมาประกอบอาหาร เช่น ผักน้ำพริกปลาทู ขาหมูต้มหน่อไม้ ทำให้ช่องว่างตลาดแคบลง ไม่ต้องนำผลผลิตไปขายที่อื่นอีกต่อไป

ภายหลังจัดการเรื่องการผลิตและการต่อยอดเรียบร้อยแล้ว จึงเริ่มคิดเรื่องของการแปรรูปโดยการนำผลไม้ของสมาชิกภายในกลุ่มที่มีลักษณะไม่เป็นที่ต้องการของตลาด เช่น ทุเรียนที่ทรงไม่สวยหรือไม่ได้ทรง มังคุดผิวไม่เรียบ ไม่มันวาว กล้วยที่ขนาดลูกไม่สวย ซึ่งจะขายไม่ได้ราคานำมาแปรรูปเป็นกล้วยกรอบแก้ว กล้วยฉาบ มันเชื่อม ทุเรียนทอด เป็นต้น โดยตั้งเป็นกลุ่มเครือข่ายแปรรูปผลผลิต ใช้พื้นที่ของศูนย์เรียนรู้เป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าของกลุ่ม จากนั้นได้มีการต่อยอดขยายการดำเนินงานกิจกรรมต่าง ๆ มากกว่า 40 กลุ่ม เพื่อสร้างชุมชนให้เป็นแหล่งเรียนรู้ครบวงจร ทั้งด้านวัฒนธรรม การแปรรูปผลผลิต ระบบการตลาด การจัดการท่องเที่ยวชุมชน ตลอดจนระบบการสื่อสารด้วยอาศัยวิธีการทำงานแบบบ้านนอกที่มีมีเขียนไว้ในตำราเรียน จัดตั้งเป็น “มหาวิทยาลัยบ้านนอก” แหล่งเรียนรู้นอกตำราที่เขียนทฤษฎีจากแผ่นดิน โดยใช้หลักคิดเศรษฐกิจพอเพียง เน้นในเรื่องความสำคัญของการรวมกลุ่มเพื่อเชื่อมโยงเป็นห่วงโซ่เศรษฐกิจ และใช้พื้นเพทางความเชื่อในเรื่องของการพึ่งตนเองภายใต้วิถีวัฒนธรรมของชุมชน

เกียรติประวัติและผลงาน

  • คนดีแทนคุณแผ่นดิน จากหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

  • ผู้ใหญ่บ้านยอดเยี่ยมแหนบทองคำ จากกระทรวงมหาดไทย

  • อสม. ดีเด่นระดับเขต

  • คณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน จากสำนักนายกรัฐมนตรี

  • ผู้ทรงคุณวุฒิของสภาองค์กรชุมชนแห่งชาติ

มหาวิทยาลัยบ้านนอก

มหาวิทยาลัยบ้านนอกชุมชนบ้านจำรุง เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้ที่มุ่งเน้นเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและการทำเกษตรแบบครบวงจร ตั้งแต่ระบบการแปรรูปผลผลิต ระบบการตลาด การจัดการท่องเที่ยวชุมชน ตลอดจนระบบการสื่อสาร โดยเกิดจากการรวมตัวของกลุ่มต่าง ๆ ในชุมชนทำให้เกิดเป็นชุมชนที่เข้มแข็งพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน นอกจากจะมีองค์ความรู้ในเรื่องของการเกษตรต่าง ๆ ให้เลือกศึกษาแล้ว ยังมีบริการบ้านพักโฮมสเตย์พาเที่ยวชมวิถีชีวิตแบบชาวสวน ชมศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น บริการอาหารปลอดสารพิษ ของฝากและผลิตภัณฑ์แปรรูปทางการเกษตร ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผลผลิตภายในชุมชน ผลิตโดยคนในชุมชน และจำหน่ายโดยคนในชุมชน

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยบ้านนอกภายใต้การนำของนายชาติชาย เหลืองเจริญ หรือผู้ใหญ่ตี๋ มีกลุ่มกิจกรรมต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกันกว่า 40 กลุ่ม ซึ่งศูนย์เรียนรู้มหาวิทยาลัยบ้านนอกได้รับความสนใจจากเหล่านักท่องเที่ยวและผู้สนใจข้ามาศึกษาอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้แบบระยะสั้นที่ใช้ระยะเวลาเพียงหนึ่งชั่วโมง หรือการเรียนรู้ในระยะยาวแบบเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่ใช้เวลาหลายวัน โดยหัวข้อการเรียนรู้มีตั้งแต่การทำเกษตรแบบอินทรีย์ การทำปุ๋ยชีวภาพ การทำน้ำหมัก การแปรรูป และระบบการจัดการต่าง ๆ โดยขึ้นอยู่กับว่าผู้ที่เข้ามาเรียนรู้สนใจทางด้านใด และจวบจนปัจจุบัน มหาวิทยาลัยบ้านนอกก่อตั้งมาแล้วกว่า 19 ปี แม้ไม่มีหน่วยราชการใดมารองรับ ไม่มีสมาชิกผู้จบการศึกษาในระบบเหมือนกับมหาวิทยาลัยทั่วไป แต่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ก็มีผู้คนทั่วไป ทุกเพศ วัย มาศึกษาเรียนรู้แล้วไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน เปรียบเสมือนมหาวิทยาลัยชีวิต เป็นมหาวิทยาลัยเปิด หรือเป็นตลาดความรู้แห่งการพึ่งพาตนเองอย่างแท้จริง

สำหรับการบริหารจัดการบริการการท่องเที่ยวในพื้นที่แหล่งเรียนรู้มหาวิทยาลัยบ้านนอกนั้น จะมีบริการรถรางนำเที่ยวพร้อมวิทยากรบรรยาย 2 รอบ รอบเล็กจะใช้เวลาประมาณ 30 นาที ซึ่งจะเป็นการขับวนรอบเพื่อชมบรรยากาศของสวนยางและสวนผลไม้ต่าง ๆ เช่น ทุเรียน มังคุด เงาะ ที่ปลูกแบบวิถีเกษตรอินทรีย์ในชุมชน พาไปดูเจ้าแม่มะม่วงป่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน ส่วนรอบใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง ซึ่งจะเป็นการพาชมสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่สวยงามในอำเภอแกลง ได้แก่ กลุ่มแปรรูปอาหารทะเล อ่างเก็บน้ำบ้านเนินฆ้อ สะพานรักษ์แสม อนุสาวสรีย์สุนทรภู่ ห้องเรียนธรรมชาติ สะพานประแสสิน เรือรบประแสสิน วัดแหลมสน และจุดชมวิวแหลมสน

ภาษาไทยถิ่นสำเนียงระยอง


ลักษณะการปกครองของบ้านจํารุง มีการปกครองโดยมีผู้ใหญ่บ้านและคณะกรรมการหมู่บ้านเป็นผู้ดูแลและทําหน้าที่พัฒนาหมู่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน คือ นายชาติชาย เหลืองเจริญ และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 2 คน คือ นายชื่น ดีนาน และนายวินัย กว้างขวาง นอกจากนี้ยังมีกลุ่มกิจกรรมต่าง ๆ ที่เปิดโอกาสให้คนในชุมชนสามารถเข้าร่วมได้ ทั้งนี้ การที่มีกลุ่มกิจกรรมภายในชุมชนจะมีผู้นํากลุ่มที่มีความรู้ความสามารถในความถนัดของตนเอง เนื่องด้วยคนในชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มแกนนําของชุมชน มีแนวคิดที่ให้ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็น ยอมรับฟังความคิดเห็น และมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนเท่าเทียมกัน สามารถวิจารณ์การทํางานของกันและกันได้ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าทุกคนที่เป็นผู้นําและทีมงานมีการให้เกียรติกัน ไม่มีการเข้าไปก้าวก่ายหน้าที่ของกันและกัน เป็นลักษณะการทํางานร่วมกันแบบเพื่อนร่วมงาน ไม่ใช่การปกครองแบบยึดถือในตําแหน่งแบบทางการ แต่จะให้มีการปกครองดูแลกันในลักษณะพี่น้อง เครือญาติ แบบไม่เป็นทางการ

โครงสร้างการบริหารงาน

บ้านจํารุงมีโครงสร้างการบริหารงานของหมู่บ้าน คือ มีเวทีประชุมสภาหมู่บ้านประจําทุก ๆ เดือน เดือนละ 2 ครั้ง ในวันที่ 15 ของเดือน เวลา 13.00 น. เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น เพื่อการพัฒนาแก้ไขปัญหาของชุมชนโดยชุมชนและเพื่อชุมชน ซึ่งเวทีประชุมสภาหมู่บ้านเป็นการพูดคุยถึงข้อมูล ข่าวสาร ความเคลื่อนไหวภายในหมู่บ้าน ถือได้ว่าเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนงานพัฒนา และเวทีประชุมเครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจํารุง จะประชุมทุกวันที่ 1 ของเดือน เป็นการประชุมเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนที่ทํางานเพื่อการเชื่อมประสานเครือข่ายต่าง ๆ ในการขยายงานพัฒนาภาคประชาชน

การประชุมสภาหมู่บ้านของบ้านจํารุง มีการประชุมมาอย่างต่อเนื่อง โดยการประชุมในแต่ละครั้งจะไม่มีการออกหนังสือเชิญประชุม เนื่องจากมีวาระการประชุมและเวลาประชุมที่แน่นอนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติทุกเดือน และถ้าหากชาวบ้านไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้หรือไม่สะดวกเข้าร่วมประชุม ก็สามารถรับรู้ข่าวสารได้ทางการถ่ายทอดเสียงตามสายของหมู่บ้านเพื่อเป็นการเปิดโอกาสในการรับรู้ข่าวสารอย่างทั่วถึง 

คำขวัญชุมชนบ้านจำรุง

“ศูนย์การเรียนรู้คู่บ้าน สืบสานประเพณี ทุเรียนพันธุ์ดี มากมียางพารา กะปิน้ำปลาขึ้นชื่อ เลื่องลือแปรรูปผลิตภัณฑ์”

เทศบาลตำบลเนินฆ้อ. (ม.ป.ป.). สภาพทั่วไป. สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2566, จาก http://www.neunkho.go.th/general1.php

ไทยโพสต์. (2564). เรื่องเล่า (เหล้า) “17 ปี มหาวิทยาลัยบ้านนอก” บ้านจำรุง จ.ระยอง ฝ่าวิกฤตโควิด-19 ฟื้น ‘ตลาดในสวน’ สร้างเศรษฐกิจชุมชน. สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.thaipost.net/

มหาวิทยาลัยบ้านนอก แหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้และโฮมสเตย์. (2559). สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2566, จาก https://web.facebook.com/

        . (2565). สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2566, จาก https://web.facebook.com/

ฤทัยรัตน์ รัตนสร้อย. (2552). พลวัตทุนทางสังคมกับความเข้มแข็งของชุมชน: กรณีศึกษาบ้านจำรุง ตำบลเนินฆ้อ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง. วิทยานิพนธ์ปริญญาพัฒนาชุมชนมหาบัณฑิต ภาควิชาการพัฒนาชุมชน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

อัมรินทรา ทิพย์บุญราช. (2552). กระบวนการการจัดการท่องเที่ยวเพื่อการศึกษาโดยชุมชน: กรณีศึกษา ศูนย์การเรียนรู้บ้านจำรุง ตำบลเนินฆ้อ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง. วิทยานิพนธ์ปริญญาพัฒนาชุมชนมหาบัณฑิต ภาควิชาการพัฒนาชุมชน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

อิศรา แจ้งประจักษ์. (2559). “ชาติชาย เหลืองเจริญ : เกษตรกรผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยบ้านนอก”. สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.rakbankerd.com/

Google Earth. (2561). สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2566, จาก https://earth.google.com/

Thailand Tourism. (ม.ป.ป.). มหาวิทยาลัยบ้านนอก (บ้านจำรุง). สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.thailandtourismdirectory.go.th/