Advance search

กว่า 200 ปีมาแล้ว ที่ชาวไทยวนจากเชียงแสนได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนในตำบลคูบัว จังหวัดราชบุรี แม้เวลาจะผ่านมาเนิ่นนานแต่ชาวไทยวนราชบุรีก็ยังคงอนุรักษ์ภูมิปัญญา วัฒนธรรม ภาษาพูด และการแต่งกายไว้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะภูมิปัญญาการทอ ผ้าซิ่นตีนจก ภูมิปัญญาอันแสดงถึงอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของชาวไทยวนราชบุรีผ่านวิวัฒนาการลวดลายการร้อยเรียงผ่านเส้นด้าย
คูบัว
เมืองราชบุรี
ราชบุรี
ธำรงค์ บริเวธานันท์
10 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
11 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
15 ก.ค. 2023
ไทยวนราชบุรี


กว่า 200 ปีมาแล้ว ที่ชาวไทยวนจากเชียงแสนได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนในตำบลคูบัว จังหวัดราชบุรี แม้เวลาจะผ่านมาเนิ่นนานแต่ชาวไทยวนราชบุรีก็ยังคงอนุรักษ์ภูมิปัญญา วัฒนธรรม ภาษาพูด และการแต่งกายไว้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะภูมิปัญญาการทอ ผ้าซิ่นตีนจก ภูมิปัญญาอันแสดงถึงอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของชาวไทยวนราชบุรีผ่านวิวัฒนาการลวดลายการร้อยเรียงผ่านเส้นด้าย
คูบัว
เมืองราชบุรี
ราชบุรี
70000
13.49332863
99.83829305
องค์การบริหารส่วนตำบลคูบัว

ไทยวน เป็นกลุ่มชนกลุ่มใหญ่ที่อาศัยอยู่ในดินแดนล้านนามาเป็นเวลานาน มักเรียกตนเองว่า “คนเมือง” ซึ่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทางภาคเหนือตอนบน ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลําปาง พะเยา ลําพูน แม่ฮ่องสอน แพร่ และน่าน ส่วนชาวไทยวนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดราชบุรีในแง่ของประวัติศาสตร์เชิงพื้นที่นั้น ตามตํานานสิงหนวัติกล่าวไว้ว่า สิงหนวัติกุมารโอรสของท้าวเทวกาลซึ่งปกครองบ้านเมืองอยู่ทางยูนนาน ได้อพยพผู้คนมาตั้งถิ่นฐานอยู่ลุ่มน้ำโขงตอนใต้ หรือบริเวณอําเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงรายในปัจจุบัน และได้ตั้งชื่อเมืองว่า โยนกนคร หรือโยนกนาคนคร หรือโยนกนาคพันธุ์ คนทั่วไปเรียกเมืองนี้ว่า โยนก หรือยูน หรือยวน

พุทธศักราช 2345 รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กองทัพพม่าซ่องสุมกําลังพลอยู่ในเมืองเชียงแสน ซึ่งในขณะนั้นเมืองเชียงแสนอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงมีพระบรมราชโองการให้กองทัพของเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ และพระยายมราชยกทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงแสน ทําการรื้อกําแพงเมือง รวมถึงเผาบ้านเรือนเพื่อมิให้เป็นที่อยู่อาศัยและซ่องสุมกําลังของข้าศึก จากนั้นได้ทําการอพยพราษฎรชาวเชียงแสนประมาณ 23,000 คน โดยทําการแบ่งออกเป็นห้าส่วนให้กับกองทัพเมืองเชียงใหม่ กองทัพเมืองน่าน กองทัพเมืองลําปาง กองทัพเมืองเวียงจันทร์ และกองทัพเมืองหลวง

โดยกองทัพเมืองหลวงได้นําชาวเชียงแสนลงมาที่กรุงเทพฯ ขณะที่เดินทางมาถึงจังหวัดสระบุรีบริเวณอําเภอเสาไห้ในปัจจุบัน มีชาวเชียงแสนส่วนหนึ่งขอตั้งถิ่นฐานที่บริเวณแห่งนี้ และส่วนที่เหลือได้เดินทางตามกองทัพลงมาพักที่บริเวณบางขุนพรหม กรุงเทพมหานครได้ระยะหนึ่ง จากนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงโปรดเกล้าฯ ให้ไปตั้งถิ่นฐานที่จังหวัดราชบุรี ตําบลคูบัว อําเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เป็นพื้นที่หนึ่งที่ชาวไทยวนได้อพยพย้ายไปตั้งถิ่นฐาน

โดยการนําของสองพี่น้องชื่อว่า “หนานฟ้า” และ “หนานขันธ์” เมื่อเดินทางมาถึงพื้นที่ตําบลคูบัว หนานฟ้าผู้เป็นพี่เห็นว่าบริเวณที่ราบลุ่มริมห้วย ซึ่งแต่เดิมนั้นเป็นคูเมืองโบราณสมัยทวาราวดีนั้นเต็มไปด้วยดอกบัว เป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมกับการตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัย รวมถึงการทําการเกษตร จึงได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ทางฝั่งเหนือของลําห้วย แล้วตั้งชื่อว่า คูบัว พื้นที่อยู่อาศัยของชาวไทยวนราชบุรี และมีลูกมีหลานสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน (อุดม สมพร, 2540: 8-12)

ที่ตั้งและอาณาเขต

ชุมชนไทยวนราชบุรี ในลักษณะเชิงพื้นที่ก็คือพื้นที่ตําบลคูบัว อําเภอเมือง จังหวัด ราชบุรี อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดราชบุรีไปทางทิศใต้ประมาณ 5 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 25 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 15,625 ไร่ อาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับตําบลดอนตะโก และตําบลบ้านไร่ อําเภอเมืองราชบุรี อาณาเขตทิศใต้ติดต่อกับตําบลบ่อกระดาน อําเภอปากท่อ อาณาเขตทิศตะวันออกติดต่อกับตําบลบ้านไร่ อําเภอเมืองราชบุรี และตําบลเกาะศาลพระ อําเภอวัดเพลง และอาณาเขตทิศตะวันออกติดต่อกับตําบลอ่างทอง (เทศบาลตําบลห้วยชินสีห์) ตําบลดอนตะโก อําเภอเมืองราชบุรี

ลักษณะภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศ

ลักษณะภูมิประเทศของตําบลคูบัวเป็นพื้นที่ราบลุ่ม มีลําห้วยธรรมชาติไหลผ่านจากทิศตะวันตกไปยังทิศตะวันออกจํานวน 2 สาย ได้แก่ ลําห้วยคูบัว และลําห้วยชินสีห์ ซึ่งมีน้ำตลอดทั้งปี รวมถึงมีคลองชลประทาน 2 สายใหญ่ ตำบลคูบัวจึงเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมกับการทําการเกษตรและปศุสัตว์ ในส่วนของลักษณะภูมิอากาศ ในฤดูร้อนอากาศค่อนข้างร้อนและแห้งแล้ง ฤดูหนาวอากาศหนาว และฤดูฝนมีปริมาณฝนตกปานกลางถึงมาก

ทรัพยากรธรรมชาติ

ในพื้นที่ตําบลคูบัวมีทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นแหล่งน้ำ 2 แห่ง ได้แก่ ลําห้วยคูบัว และลําห้วยชินสีห์ ลำนำทั้งสองสายยังคงความอุดมสมบูรณ์อยู่ แหล่งน้ำทั้งสองแห่งนี้มีความสําคัญต่อการดํารงชีวิตของชาวไทยวนราชบุรีตั้งแต่ในอดีตมาจนถึงปัจจุบัน มีการนํามาใช้เพื่อการอุปโภคและบริโภค รวมถึงเป็นแหล่งอาหารของชุมชน แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการสร้างระบบชลประทานขึ้นมา แต่แหล่งน้ำทั้งสองแห่งยังคงความสําคัญต่อชุมชน ชุมชนยังคงใช้น้ำจากลําห้วยเพื่อทําการเกษตร และการทําประปาหมู่บ้าน เป็นต้น

องค์การบริหารส่วนตำบลคูบัว มีพื้นที่เขตการปกครองจำนวน 15 หมู่บ้าน มีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 3,672 ครัวเรือน มีประชากรทั้งสิ้น 11,081 คน แยกเป็นชาย 5,256 คน หญิง 5,825 คน มีความหนาแน่นเฉลี่ย 443.24 คน : ตารางกิโลเมตร (ข้อมูลเดือนกุมภาพันธ์ 2564) ประชากรตําบลคูบัวส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายไทยวน ประชากรมีความเป็นอยู่แบบสังคมชนบท ใช้ชีวิตเรียบง่ายมีความสัมพันธ์กับวิถีการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ ถึงแม้ว่าจะอยู่ในเขตอําเภอเมืองก็ตาม

ไทยวน

อาชีพของชาวชุมชนไทยวนราชบุรีในภาพรวมในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ ดังนี้

  • อาชีพเกษตรกรรม ได้แก่ การทํานา การทําสวนผลไม้และผัก

  • อาชีพเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ การเลี้ยง สุกร เลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงโค เลี้ยงไก่ และเลี้ยงเป็ด

  • อาชีพรับจ้าง ได้แก่ ทํางานใน โรงงานอุตสาหกรรม และรับจ้างทั่วไป

  • อาชีพค้าขาย ได้แก่ ค้าขายผัก ขายของชําทั่วไป

  • อาชีพหัตถกรรมในครัวเรือน ได้แก่ การทอผ้าจก การทําผลิตภัณฑ์จากไม้ตาล-ไม้มะพร้าวแปร รูป การทําผลิตภัณฑ์จากไม้มูกมัน-ไม้รวกแปรรูป การทําแคน เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีภาคธุรกิจที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่ ได้แก่ โรงงานอุตสาหกรรมทอผ้า โรงงานผลิตพลาสติก ฟาร์มสุกรขนาดใหญ่ สถานีให้บริการน้ำมันและก๊าซ ตลอดจนบ้านจัดสรรซึ่งทำให้ระบบเศรษฐกิจของชุมชนไทยยวนราชบุรี ตำบลคูบัวนั้นค่อนข้างคึกคัก เนื่องจากมีอาชีพที่หลากหลายให้ประชากรได้เลือกสรรตามความถนัด

สหกรณ์การเกษตรไทยวน ราชบุรี จํากัด

สหกรณ์การเกษตรไทยวน ราชบุรี จํากัด ได้รับการยกย่องให้เป็นศูนย์รวมผ้าจกไทยวนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคตะวันตกของประเทศไทย และผลิตภัณฑ์ผ้าจกไทยวน ตําบลคูบัว ได้รับการคัดสรรให้เป็นสุดยอดผลิตภัณฑ์ระดับ 5 ดาวของโครงการหนึ่งตําบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ในปี 2547 จนถึงปัจจุบัน สินค้าที่มีจําหน่ายในสหกรณ์ ได้แก่ ผ้าจก ผ้าซิ่นต่าง ๆ ผ้าขาวม้า และสหกรณ์ยังได้พัฒนารูปแบบของผ้าจกให้เป็นเสื้อผ้าสําเร็จรูปชาย-หญิง กระเป๋า ผ้าพันคอ ฯลฯ รวมถึงเป็นสถานที่สาธิตการทอผ้าจกจากช่างฝีมือทอผ้าจกให้กับผู้ที่สนใจจะเรียนรู้การทอผ้าจก

ประเพณีทําบุญกลางบ้าน

ในช่วงเดือน 6 จนถึงกลางเดือน 7 ของทุก ๆ ปี หมู่บ้านแต่ละหมู่บ้านของชาวไทยวนราชบุรี จะจัดงานทําบุญในหมู่บ้าน เรียกว่า “ทําบุญกลางบ้าน” ทุกครัวเรือนในหมู่บ้านจะทําการปั้นตุ๊กตาดินเหนียว แทนถึงสมาชิกและสัตว์เลี้ยงของแต่ละครัวเรือน มีการนําเศษผ้ามาสวมใส่ให้กับตุ๊กตาดินเหนียวเพื่อความสวยงามพร้อมกับนําข้าวสุก พริกแห้ง หัวหอม กระเทียม ใส่ในถ้วยเล็ก ๆ ซึ่งแต่ละครัวเรือนจะนําไปรวมกันที่บริเวณทําพิธีแล้วนิมนต์พระสงฆ์มาสวดทําบุญในช่วงค่ำ เช้าวันรุ่งขึ้นมีการนิมนต์พระสงฆ์มาเพื่อทําบุญตักบาตรซึ่งเป็นการสิ้นสุด พิธีกรรม ชาวไทยวนราชบุรีมีความเชื่อว่า การทําบุญกลางบ้านเป็นการสะเดาะเคราะห์และต่อชะตาของคนในหมู่บ้าน

การปั้นตุ๊กตาดินเหนียวถือว่าเป็นตัวแทนของสมาชิกในครอบครัวเพื่อถวายแก่ท้าวจัตุโลกบาล ให้เอาตุ๊กตาดินเหนียวที่เป็นคนดีไปแทนผู้ที่มีชีวิตอยู่จริง ชาวไทยวนราชบุรีเรียกว่า “เสียกบาล” ซึ่งผู้สูงอายุในชุมชนจะให้ความสําคัญกับประเพณีนี้เป็นอย่างมาก โดยแต่ละหมู่บ้านจะจัดงานทําบุญกลางบ้านไม่พร้อมกัน ขึ้นอยู่กับความ สะดวกของแต่ละหมู่บ้าน

สลากภัตร

ในทุก ๆ ปี กลางเดือน 7 ก่อนวันเข้าพรรษา ชุมชนไทยวนราชบุรีจะจัดงานสลากภัตรที่วัดใกล้เคียงในหมู่บ้าน ชาวบ้านจะนําผลไม้หลากหลายชนิดมารวมกันเป็นชุด ๆ เพื่อถวายแก่พระสงฆ์ โดยการทําสลากและเบอร์สลากที่ชุดผลไม้แต่ละชุด จากนั้นจึงนิมนต์ให้พระสงฆ์ทําการจับสลาก พระสงฆ์จับสลากได้ชุดผลไม้ชุดใด ชาวบ้านก็จะถวายผลไม้ชุดนั้นให้กับพระสงฆ์รูปที่จับสลากได้

ประเพณีไปเซิ้ง

เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ ชาวไทยวนจะรวมกลุ่มกันกลุ่มละประมาณ 10-20 คน ออกเดินทางพร้อมด้วยอุปกรณ์เครื่องดนตรี มีกลอง แคน ฉิ่ง ฉาบ เป็นต้น กลุ่มเหล่านี้จะร้องรําทําเพลงแวะเวียนไปตามบ้าน เมื่อถึงบ้านไหน เจ้าของบ้านจะเชิญเข้ามาในบ้าน และให้เงินหรือสิ่งของจําพวกอาหาร สุรา ไว้เป็นเสบียง โดยปัจจุบันมีวัตถุประสงค์เพื่อความสะสนุกสนานเท่านั้น

ความเชื่อ

ชุมชนไทยวนราชบุรีมีความเชื่อในสิ่งที่เหนือธรรมชาติ คือ ความเชื่อในเรื่องผี โดยเฉพาะผีบรรพบุรุษ หรือผีประจําตระกูล หรือผีโคตรเหง้า ทุกครัวเรือนในชุมชนไทยวนราชบุรี เชื่อและนับถือผีบรรพบุรุษทางฝ่ายหญิง ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกันกับสังคมชาวนาแบบหมู่บ้านของล้านนาไทยที่ยังคงปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีการสืบทอดการนับถือผีบรรพบุรุษฝ่ายหญิงเป็นส่วนใหญ่ โดยมีสมาชิกหญิงผู้หนึ่งเป็นผู้สืบทอดการนับถือผีบรรพบุรุษ เมื่อเกิดการสมรส ฝ่ายชายจึงเสียผี คือเสียสินสอดเป็นเครื่องเซ่นผีบรรพบุรุษฝ่ายหญิงนั่นเอง นอกจากผีบรรพบุรุษแล้ว ชาวไทยวนราชบุรียังมีความเชื่อเรื่องผีประจำบ้าน ผีประจำวัด  ผีนา และผีปอบ โดยทุกหมู่บ้านจะมีศาลผีประจําอยู่ในหมู่บ้าน เรียกว่า “ปู่เสี้ยวบ้าน เมื่อมีงานมงคลต่าง ๆ ชาวบ้านก็จะไปทําพิธีบวงสรวงปู่เสี้ยวบ้านให้ช่วยคุ้มครองรักษาและให้งานดําเนินไปด้วยความเรียบร้อย

ผีประจําวัด หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ปู่เสี้ยววัด ทุกวัดจะมีศาลปู่เสี้ยววัดประจําอยู่ทุก ๆ วัด เมื่อถึงคราวที่วัดจัดงานบุญต่าง ๆ ชาวบ้านจะมีการจุดธูปบอกกล่าวปู่เสี้ยววัดก่อนการจัดงานเพื่อให้งานดําเนินไปด้วยความเรียบร้อย

ผีประจํานา หรือ ปู่เสี้ยวนา เป็นความเชื่อที่สืบเนื่องมาจากอาชีพดั้งเดิมของชุมชนไทยวนราชบุรี ตั้งแต่เริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานจนถึงปัจจุบัน คืออาชีพทำนา ชาวไทยวนจึงมีความเชื่อว่าพื้นที่นาของตนมีเจ้าที่หรือผีดูแลอยู่ เมื่อถึงฤดูกาลทํานา ชาวไทยวนที่ประกอบอาชีพทํานา จะนําอาหารคาวหวานไปตั้งไว้สี่มุมของพื้นที่นา หรือบางคนก็เอาอาหารคาวหวานไปวางไว้ที่หัวคันนาเพื่อเป็นการไหว้ผีประจํานา เพื่อขอให้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในปริมาณมาก ๆ

ผีปอบหรือผีกะ ชาวไทยวนราชบุรี มีความเชื่อในเรื่องของผีร้ายที่เข้ามาสิงสู่ในร่างคน ที่เรียกว่า ผีปอบหรือผีกะ ชาวไทยวนราชบุรีเชื่อกันว่าผู้ที่เป็นผีปอบ คือผู้ที่มีคาถาอาคมแกร่งกล้าทางไสยศาสตร์ แต่ไม่สามารถปฏิบัติได้ คาถาอาคมเหล่านั้นจึงย้อนกลับเข้าตัวทำให้กลายเป็นปอบ โดยชาวบ้านเชื่อว่าผู้ใดที่เป็นปอบเวลากินอาหารจะกินมากกว่าคนปกติทั่วไป บุคคลใดที่มีอาการไข้สูง และลูกตากลิ้งกรอกไปมาหรือไม่รู้สึกตัว เชื่อกันว่าถูกผีปอบเข้าสิง ในกรณีเช่นนี้จะต้องเรียกหมอผี หรือพระสงฆ์มาทําพิธีขับไล่ผีออกจากร่าง และบังคับให้ผีปอบขานชื่อของมันออกมา

ในปัจจุบันความเชื่อเรื่องผีปอบยังคงมีอยู่ และจะมีการพูดกันว่าบ้านไหนใครเป็นปอบบ้าง เพราะเชื่อว่าผีปอบสามารถสืบเชื้อสายต่อกันได้ ถึงแม้ว่าคนที่เป็นจะเสียชีวิตไปแล้ว แต่ก็ยังสืบต่อถึงลูกหลานได้ ผู้ที่กลัวผีปอบจะมาเข้าสิงก็จะหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาสวมใส่ไม่ให้ผีปอบมาเข้าสิงสู่ตน ในสภาพการณ์นี้ถึงแม้ว่าผีปอบจะเป็นผีร้ายที่ชาวไทยวนราชบุรีเกรงกลัวกัน แต่ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผีปอบยังคงอยู่ในชุมชนได้ ไม่ได้ถูกขับไล่ แต่จะถูกรังเกียจจากคนที่เชื่อในเรื่องผีปอบจนไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย

อาจารย์อุดม สมพร : นักอนุรักษ์มรดกไทย

อาจารย์อุดม สมพร เชื้อสายไทยวน ผู้ก่อตั้งกลุ่มองค์กรต่างที่ทําหน้าที่ขับเคลื่อนกระบวนการฟื้นฟูภูมิปัญญาการทอผ้าจก โดยจัดแสดงนิทรรศการผ้าโบราณและต้องการรื้อฟื้นผ้าจกไทยโบราณให้กลับมาเป็นที่แพร่หลายอีกครั้ง จึงได้จัดให้มีการสอนเรื่องการทอผ้าจกอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้ภูมิปัญญาด้านการทอผ้าของบรรพบุรุษสูญหายไป ต่อมาได้ริเริ่มจัดตั้ง “จิปาถะภัณฑสถานบ้านคูบัว” ขึ้นภายในวัดโขลงสุวรรณคีรี เพื่อให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมภูมิปัญญาท้องถิ่นและผ้าซิ่นตีนจกโบราณสำหรับให้บุคคลทั่วไปได้มาศึกษาประวัติศาสตร์และความเป็นมาของชุมชนไทยวน

ผ้าจกไทยวนราชบุรี ตระกูลคูบัว

ผ้าจกไทยวน จังหวัดราชบุรีเป็นผ้าจกที่พบในหมู่ช่างทอผ้าชาวไทยวน ในจังหวัดราชบุรี มีแหล่งกำเนิดแตกต่างกัน โดยแบ่งตามลักษณะของลวดลายได้เป็น 3 ตระกูล ได้แก่ ตระกูลคูบัว ตระกูลหนองโพ-บางกะโด และตระกูลดอนแร่ โดยผ้าจกไทยวนที่ปรากฏในชุมชนดังที่กล่าวมานี้ คือ ผ้าจกไทยวนตระกูลคูบัว ผ้าจกที่มีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตัวเอง เช่น ลายดอกเซีย ลายหักนกคู่ ลายโก้งเก้ง ลายหน้าหมอน และลายนกคู่กินน้ำฮ่วมเต้า โดยในการจกจะใช้เส้นด้ายยืนสีดำ พุ่งดำ โดยไม่มีลายประกอบมากลาย พื้นผ้าเว้นพื้นต่ำไว้มากตามแบบของลวดลาย เพื่อจกให้เห็นลายชัดเจน ส่วนสีสันของเส้นใยที่ใช้ทอ จะใช้เส้นใยที่มีสีสันหลากหลาย เช่น จะใช้พุ่งต่ำดำจกแดง แซมเหลืองหรือเขียว เป็นต้น โดยตีนซิ่นจะมีความกว้างประมาณ 9-11 นิ้ว

ปัจจุบันลวดลายของผ้าจกสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

  • ลายหลัก 3 ลาย ได้แก่ ลายกาบ ลายหน้าหมอน ลายดอกเซีย ลายโก้งเก้ง ลายโก้งเก้งซ้อนเซีย ลายหักนกคู่ ลายกาบซ้อนหัก และลายกาบดอกแก้ว

  • ลายประกอบ ได้แก่ ลายดอกข้าวตอก ลายขอประแจ ลายขอ ลายกูด ลายซะ เปา ลายนกคู่กินน้ำฮ่วมต้น ลายมะลิเลื้อย ลายขอเหลียว ลายนกเขาโฮง ลายนาค ลายม้า ลายนก ลายดอกจัน ลายหัก ลายต้นไม้ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังได้มีการคิดค้นลายหลักลายใหม่ขึ้นมาได้แก่ “ลายแคทราย” โดยเกิดจาก แนวคิดของอาจารย์ อุดม สมพร ร่วมกันกับนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคราชบุรีคิดค้นขึ้นมา และยังมีลวดลายที่ช่างฝีมือทอผ้าจกคิดค้นขึ้นเองซึ่งเป็นลายเฉพาะของแต่ละบุคคล

เมืองโบราณคูบัว

เมืองโบราณคูบัวเป็นเมืองโบราณที่มีการสร้างคูน้ำคันดินล้อมรอบ พบหลักฐานประเภทโบราณสถาน และโบราณวัตถุที่สร้างขึ้นในวัฒนธรรมทวารวดี (ราวพุทธศตวรรษที่ 11-16) เป็นจํานวนมาก มี ลักษณะของแผนผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า วางตัวตามแนวเหนือ-ใต้ บริเวณที่ตั้งเมืองเป็นเนินดินธรรมชาติอยู่บนลานตะพักชายฝั่งทะเล สูงจากพื้นที่โดยรอบประมาณ 1-2 เมตร และสูงประมาณ 5 เมตรจากระดับน้ำทะเล มี พื้นที่ทางด้านทิศเหนือของเมืองเป็นที่ราบลุ่มทางด้าน ทิศตะวันตกเป็นเขตเนินเขาและภูเขาสูง ส่วนทางด้านทิศตะวันออกเป็นที่ราบลุ่มมี “แม่น้ำอ้อม” ซึ่งเป็นทางน้ำสายเก่าของแม่น้ำแม่กลองไหลผ่าน ส่วนพื้นที่ทางทิศใต้ของเมืองเป็นที่ราบลุ่มลาดลงสู่ทะเล โดยอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลในเขตจังหวัดสมุทรสงครามประมาณ 25 กิโลเมตร

ศูนย์สืบทอดศิลปผ้าจกราชบุรี

ศูนย์สืบทอดศิลปผ้าจกราชบุรีเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลและถ่ายทอดภูมิปัญญาการทอผ้าจกไทยวนราชบุรีแห่งแรกของตําบลคูบัว โดยใช้เป็นสถานที่สอนการทอผ้าจกอันเป็นมรดกทางภูมิปัญญาของบรรพชนไทยวนให้แก่เยาวชน รวมถึงประชาชนทั่วไป มีการสาธิตการทอผ้าจากช่างฝีมือทอผ้าจกและจําหน่ายผ้าจกลายดั้งเดิมรวมถึงสินค้าภายในท้องถิ่น ศูนย์สืบทอดศิลปผ้าจกราชบุรีก่อตั้งในปี 2530 จากความคิดริเริ่มของคณะกรรมการสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนวัดแคทราย โดยต้องการให้ศูนย์สืบทอดศิลปผ้าจกราชบุรีเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในวโรกาสทรงมีพระชนมายุครบ 60 พรรษา และเป็นอนุสรณ์สถานแก่บรรพชนชาวไทยโยนกเชียงแสนที่มาตั้งถิ่นฐานที่ตําบลคูบัว รวมทั้งเป็นศูนย์รวมทางวิชาการศิลปะผ้าจกสําหรับใช้เป็นสถานที่ศึกษาหาข้อมูล เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นให้แก่นักเรียน นักศึกษาทั้งในและนอกท้องถิ่นเพื่อธำรงไว้ซึ่งศิลปะผ้าจกโบราณของชาวไทยวนให้คงอยู่สืบไป ด้วยการพัฒนาศิลปะผ้าจกให้เป็นอาชีพส่งเสริมรายได้ให้แก่ประชาชน

จิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัว

จิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัว เป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่รวบรวมข้อมูลด้านวัฒนธรรมในอดีตของชาวไทยวนราชบุรี ทั้งวิถีชีวิต ภูมิปัญญา ภาษา ศิลปหัตถกรรม ผู้นําชุมชนในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นสถานที่เก็บผ้าจกโบราณที่มีอายุร้อยกว่าปี เพื่อให้ชนรุ่นหลังเห็นความสําคัญและภาคภูมิใจในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษของตน รวมถึงผู้ที่สนใจในเรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรมของ กลุ่มชาติพันธุ์ไทยวนราชบุรี โดยมีอาจารย์อุดม สมพร และคณะบุคคลในท้องถิ่นเป็นผู้ริเริ่ม โดยนําเสนอโครงการไปที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี และองค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรีได้อนุมัติงบประมาณมาจัดสร้าง 11,624,000 บาท รวมถึงได้รับเงินบริจาคจากภาคส่วนอื่น ๆ มาใช้ในการตกแต่งเพิ่มเติมอีก ประมาณ 4 ล้านบาท และที่สําคัญเป็นอย่างยิ่งคือ พระสงฆ์และชาวบ้านในพื้นที่ให้การสนับสนุนโดยให้ใช้พื้นที่ของวัดโขลงสุวรรณคีรีเป็นสถานที่ก่อสร้าง แล้วชาวบ้านร่วมกันบริจาควัตถุโบราณเพื่อใช้จัดแสดงในจิปาถะภัณฑ์สถานฯ

จิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัวเป็นอาคาร 2 ชั้น ชั้นล่างมีการจําลองสภาพพื้นที่ตําบลคูบัวสมัยทวารวดีรวมถึงวัตถุโบราณต่าง ๆ ภาพบ้านเรือนของชาวไทยวน กลุ่มผู้นําที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการต่าง ๆ รวมถึงพระสงฆ์ที่เป็นผู้นําทางด้านจิตวิญญาณ ตลอดจนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยวนในอดีต ตั้งแต่การเกิด การกิน การอยู่ การแต่งกาย และการประกอบอาชีพ เป็นต้น ส่วนชั้นบนแบ่งออกเป็น 3 ห้อง ห้องที่ 1 จัดแสดงแสดงกระบวนการทอผ้าจกและแสดงหุ่นจําลองบรรพบุรุษไทยวนที่เป็นช่างฝีมือทอผ้าจก ห้องที่ 2 เป็นการแสดงผ้าจกโบราณลวดลายต่าง ๆ และห้องที่ 3 จัดแสดงรูปแบบเครื่องแต่งกายของชาติพันธุ์ไทยวน และชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดราชบุรี เช่น ไทยลาวเวียง ไทยกะเหรี่ยง ไทยทรงดํา เป็นต้น

การเล่นจ้อย

จ้อย เป็นการละเล่นมุขปาฐะรูปแบบหนึ่ง คือ เป็นการเล่าเรื่องสืบต่อกัน ด้วยวิธีการร้องกลอนที่เนื้อหาส่วนใหญ่จะมีความเกี่ยวข้องกับคําสอน เช่น จ้อยปู่สอนหลาน และการเกี้ยวพาราสีระหว่างหนุ่มสาว ซึ่งเนื้อหากลอนทั้งสองประเภทมักใช้ร้องเล่นกันในเทศกาลต่าง ๆ ซึ่งในปัจจุบันไม่หลงเหลือการละเล่นพื้นบ้านชนิดนี้อยู่แล้ว แต่มีความพยายามที่จะรื้อฟื้นการละเล่นน้อยขึ้นมา โดยการนําการเล่นต้อยมาแสดงในงานปอยขันโตกรวมใจ ซึ่งเป็นกิจกรรมฟื้นฟูอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ไทยวนราชบุรี ณ จิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัว วัดโขลงสุวรรณคีรี

ชุมชนไทยวนราชบุรี มีภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ภาษาพูดจะใช้คําเมืองในการติดต่อสื่อสารกัน ซึ่งการพูดคําเมืองจะมีลักษณะคล้ายคลึงกันกับการพูดคําเมืองของชนทางภาคเหนือ แต่จะมีลักษณะเสียงที่แข็งกระด้าง ห้วน และสั้น ในส่วนของภาษาเขียน อักษรของชาวไทยวนมีใช้มาเป็นเวลานานแล้ว เมื่อได้อพยพจากเมืองเชียงแสนมาอยู่ที่จังหวัดราชบุรีก็ได้นําเอาอักษรเหล่านั้นมาใช้ โดยเขียนลงในสมุดข่อยหรือจารบนใบลาน เรียกว่า “หนังสือยวน” เรื่องที่บันทึกลงในหนังสือยวนมักจะเป็นตําราหมอดู ตําราสมุนไพร เวทมนต์คาถาต่าง ๆ ส่วนเรื่องที่จารลงใบลานจะเป็นพระธรรมเทศนา

ปัจจุบันชุมชนไทยวนราชบุรี ยังใช้ภาษาพูดคําเมืองเป็นภาษาที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารกันภายในชุมชน แต่กับคนภายนอกหรือคนชาติพันธุ์อื่นก็จะใช้ภาษากลางในการติดต่อสื่อสาร และพบว่าหนุ่มสาวและเด็กรุ่นใหม่ ๆ ไม่พูดภาษาคําเมืองกันแล้ว ซึ่งสาเหตุที่เด็กรุ่นใหม่ไม่นิยมพูดคําเมืองนั้นมีสาเหตุมาจากปัจจุยหลายประการ

  • การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของชาวไทยวนเพื่อให้กลมกลืนกับสังคมเมือง ลูกหลานไทยวนในปัจจุบันมีความคิดว่าการพูดคําเมืองจะได้รับการดูถูกดูแคลนว่าเป็น “คนลาว” ดังนั้นเพื่อเป็นการลบปมด้อยของตน จึงต้องพูดภาษากลาง

  • การศึกษาของของลูกหลานไทยวน ปัจจุบันชาวไทยวนนิยมส่งบุตรหลานเข้าไปเรียนโรงเรียนในอําเภอเมือง พ่อแม่จึงฝึกหัดสอนลูกหลานของตนให้พูดภาษากลาง เพื่อใช้ในการสื่อสารกับเพื่อนนักเรียนคนอื่น ๆ เพราะไม่อยากให้ลูกหลานตัวเองถูกล้อเลียนว่าเป็น “คนลาว”

  • การแต่งงาน เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระบบการสื่อสารของชาวไทยวนเกิดความเปลี่ยนแปลง เพราะหลายคนมักแต่งงานกับคนจากต่างกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งจะต้องใช้ภาษากลางในการติดต่อสื่อสาร

ในส่วนของภาษาเขียน ปัจจุบันเหลือแต่เพียงภาษาเขียนที่บันทึกอยู่ในสมุดข่อย หรือจารบนใบลานเท่านั้น ซึ่งถูกเก็บรักษาอยู่ในจิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัวและวัดในท้องถิ่น แต่อย่างไรก็ตาม ชาวไทยวนราชบุรีก็มีความพยายามที่จะฟื้นฟูภาษาเขียนขึ้นมาใหม่โดยการสอดแทรกภาษาเขียนไทยวน ตามป้ายสถานที่สําคัญต่าง ๆ ในตําบลคูบัว เช่น ป้ายจิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัว ป้ายต้อนรับเข้าสู่พื้นที่ตําบลคูบัว เป็นต้น และปัจจุบันยังคงมีชาวไทยวนบางคนที่สามารถอ่านและเขียนหนังสือยวนได้ คือ อาจารย์อุดม สมพร ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มการฟื้นฟูภาษายวน โดยการนำเอาภาษายวนมาสอดแทรกไว้ในป้ายตามสถานที่ต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีปรากฏการณ์ของกลุ่มที่มีการรวมตัวกันเพื่อฟื้นฟูอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ไท-วนราชบุรี คือ กลุ่มของคณะกรรมการจิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัว หรือคนสูงอายุรวมตัวก่อการดี (คสด.) มีการตั้งกฎเกณฑ์ภายในกลุ่มว่า เวลาติดต่อสื่อสารกันภายในกลุ่มจะต้องพูดคําเมือง ถ้าใครทําผิดกฎจะถูกปรับเป็นเงิน เป็นการสร้างบรรยากาศในการทํางานเรื่องการฟื้นฟูอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ให้กับกลุ่ม รวมถึงเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับชาวไทยวนในชุมชน (อุดม สมพร, 2540: 18)


การเชื่อมโยงแหล่งโบราณสถานกับอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ไทยวนราชบุรี

โบราณสถานและโบราณวัตถุเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกออกได้จากวิถีชีวิตของชาวไทยวนราชบุรี เนื่องจากพื้นที่เดิมของตําบลคูบัวเป็นเมืองโบราณ แม้ว่าโบราณสถานบางแห่งถูกรื้อหรือถูกทําลายไป แต่ก็ยังมีโบราณสถานอีกหลายแห่งที่ได้ถูกบูรณะขึ้นมาใหม่ วัตถุโบราณต่าง ๆ ที่ชาวบ้านค้นพบ บางคนก็จะเก็บรักษาไว้ บางคนก็นําไปถวายวัด บางคนก็นําไปขาย ส่วนหนึ่งก็ถูกนําเข้าไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติราชบุรี วิถีชีวิตของชาวไทยวนจึง สัมพันธ์กันกับโบราณสถานและโบราณวัตถุทั้งในด้านการอนุรักษ์และการทําลาย ซึ่งวัตถุโบราณหลายชิ้นที่ยังอยู่ในท้องถิ่นได้ถูกรวบรวมจากการรับบริจาคจากชาวบ้านและวัดในท้องถิ่น ถูกนํามารวบรวมและนํามาจัดแสดงภายในจิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัว เพื่อเชื่อมโยงให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันของวิถีชีวิตไทยวนกับโบราณสถานและโบราณวัตถุตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน (สุชาติ พิบูลแถว, 2550: 61-62)

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

โกศล ผ่ายเผย. (2564). เยือนถิ่นไทยวนที่บ้านคูบัว แหล่ง ผ้าซิ่นตีนจก ของจังหวัดราชบุรี. สืบค้นเมื่อ 10 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.baanlaesuan.com/

เที่ยวราชบุรี. (ม.ป.ป.). จิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัว. สืบค้นเมื่อ 10 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.xn--b3czk4afcy3gxah5a1g4e.com/

สุชาติ พิบูลแถว. (2550). การศึกษากระบวนการฟื้นฟูภูมิปัญญาการทอผ้าจากชุมชนไท-ยวนราชบุรี ตำบลคูบัว อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ในมิติทางการพัฒนาชุมชน. วิทยานิพนธ์ปริญญาพัฒนาชุมชนมหาบัณฑิต คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

อุดม สมพร. (2540). ผ้าจกไท-ยวนราชบุรี. ราชบุรี: โรงพิมพ์ภาพ์พิมพ์.

องค์การบริหารส่วนตำบลคูบัว. (2564). สภาพทั่วไป องค์การบริหารส่วนตำบลคูบัว. สืบค้นเมื่อ 10 กรกฎาคม 2566, จาก http://www.kubua.go.th/

Google Earth. (ม.ป.ป.). บัว. สืบค้นเมื่อ 10 กรกฎาคม 2566, จาก https://earth.google.com/

Thai PBS. (2562). เดินตามวิถีไทยวน บ้านคูบัว จ.ราชบุรี. สืบค้นเมื่อ 10 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.thaipbs.or.th/