Advance search

บ้านเกาะจิก

“มัลดีฟส์เมืองไทย” ชุมชนต้นแบบแห่งการอนุรักษ์พลังงานและลดภาวะโลกร้อนจากความสามารถในการจัดสร้างระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนแบบผสมผสานเพื่อแก้ปัญญาการขาดแคลนไฟฟ้าในชุมชนด้วยตนเอง

เกาะจิก
บางชัน
ขลุง
จันทบุรี
ธำรงค์ บริเวธานันท์
7 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
10 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
16 ก.ค. 2023
บ้านเกาะจิก

1) ความเป็นมาของชื่อมาจากชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่งที่เคยมีอยู่จำนวนมากในชุมชน แต่เนื่องจากไม่ได้ใช้ประโยชน์ ปัจจุบันจึงไม่มีเหลืออยู่แล้ว เข้าใจว่า คือ ต้นจิก  2) คาดว่าพื้นที่แห่งนี้มีชื่อเรียกว่าเกาะจิกตั้งแต่ก่อนมีผู้คนอพยพเข้ามาอยู่อาศัย ในอดีตเกาะจิกเคยมีถึง 3 เกาะ คือ เกาะจิกใน เกาะจิกกลาง และเกาะจิกนอก เรียกรวมกันสั้น ๆ ว่าเกาะจิก ซึ่งเกาะจิกนอกก็คือหมู่บ้านเกาะจิกในปัจจุบัน 3) ว่ากันว่าเมือครั้งพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ฯ ทรงเสด็จนากองเรือออกราชการพื้นที่ภาคตะวันออก ได้ค้นพบหมู่เกาะจิกใน จึงได้ตั้งชื่อหมู่เกาะบริเวณนี้ว่า “เกาะจิก”


ชุมชนชนบท

“มัลดีฟส์เมืองไทย” ชุมชนต้นแบบแห่งการอนุรักษ์พลังงานและลดภาวะโลกร้อนจากความสามารถในการจัดสร้างระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนแบบผสมผสานเพื่อแก้ปัญญาการขาดแคลนไฟฟ้าในชุมชนด้วยตนเอง

เกาะจิก
บางชัน
ขลุง
จันทบุรี
22110
องค์การบริหารส่วนตำบลบางชัน โทร. 0-3946-0951
12.29420913
102.2392832
องค์การบริหารส่วนตำบลบางชัน

เกาะจิกเป็นหมู่บ้านหนึ่งในเขตอําเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ห่างจาก กรุงเทพฯไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ 255 กิโลเมตร ทั้งจังหวัดมีพื้นที่ทั้งหมด 6,338 ตาราง กิโลเมตรหรือประมาณ 3,961,250 ไร่ จังหวัดจันทบุรีเป็นจังหวัดเก่าแก่ที่มีร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์นับแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จากหลักฐานทางโบราณคดีประกอบกับสภาพภูมิศาสตร์ สันนิษฐานว่าอาณาเขตจันทบูรหรือจันทบุรีในปัจจุบันเป็นเมืองที่ขอมสร้างขึ้นร่วมสมัยเดียวกับลพบุรี พิมาย และเพชรบูรณ์ ซึ่งมีอายุมากกว่า 1,000 ปี ขอมปกครองจันทบุรีอยู่ประมาณ 400 ปี จนเสื่อมอํานาจลงในปลายพุทธศตวรรษที่ 17 หลังจากนั้นก็มาปรากฏหลักฐานว่าจันทบุรีเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรไทยฝ่ายใต้ ซึ่งมีราชธานีอยู่ที่เมืองสุพรรณภูมิ (เมืองอู่ทอง) และเป็นเมืองหนึ่งในจํานวน 16 เมืองประเทศราชของกรุงศรีอยุธยาในเวลาต่อมา นับจากนั้นประวัติศาสตร์ของ จันทบุรีก็เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน (ตรี อมาตยกุล 2514: 16 อ้างถึงใน กุลศิริ อรุณภาคย์, 2542)

บ้านเกาะจิก เป็นหมู่บ้านชาวประมงที่มีประวัติการตั้งถิ่นฐานมายาวนานตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2450 คนกลุ่มแรกที่อยพเข้ามา คือ ชาวบ้านที่มีภูมิลำอยู่บริเวณตำบลบางปิด อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราดในปัจจุบัน รวมถึงกลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลที่เดินทางเข้ามาด้วยเรือใบสามเสา ที่มาของชื่อเรียกเกาะจิก มีการสันนิษฐานกันต่าง ๆ นานา บ้างก็ว่ามาจากชื่อของต้นจิก ต้นไม้ชนิดหนึ่งที่เคยมีอยู่บนเกาะเป็นจำนวนมาก แต่ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้

ปัจจุบันจึงไม่มีเหลืออยู่แล้ว ชาวบ้านบางคนก็แย้งว่าชื่อเรียกเกาะจิกไม่ได้มาจากชื่อต้นไม้ เพราะเพราะตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยเห็นต้นจิกเลย หากเคยมีต้นจิกอยู่ก็น่าจะหลงเหลืออยู่บ้าง ขณะเดียวกันก็มีเรื่องเล่าว่าในอดีตเกาะจิกเคยมีถึง 3 เกาะ คือ เกาะจิกใน เกาะจิกกลาง และเกาะจิกนอก เรียกรวมกันสั้น ๆ ว่าเกาะจิก ซึ่งเกาะจิกนอกก็คือหมู่บ้านเกาะจิกในปัจจุบัน ส่วนเกาะจิกในจะอยู่ติดฝั่งในเขตจังหวัดตราด เดิมเป็นป่าชายเลน แต่ต่อมามีการถางป่าชายเลนแล้วทําถนน เกาะจิกในจึงหมดสิ้นสภาพความเป็นเกาะไป ส่วนเกาะจิกกลางอยู่ถัดจากเกาะจิกในออกมา เดิมทีเป็นเกาะที่ไม่มีคนอาศัยอยู่ จึงถูกใช้เป็นสถานที่ใช้สำหรับเผาและฝังศพ เป็นที่หวาดกลัวของชาวบ้าน

ต่อมามีชาวบ้านจากบ้านบางกระดาน ชื่อหมอควร เข้าไปถางที่ดินเพื่อปลูกมะพร้าว และกลายเป็นเจ้าของในที่สุด หลังจากนั้นลูกหลานหมอควรได้ขายที่เกาะกลางให้นางเกษร ซึ่งเป็นเจ้าของในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ลักษณะภูมิประเทศแบบ 3 เกาะ ของเกาะจิกยังคงปรากฏอยู่จนปัจจุบัน และเป็นที่ยอมรับ และรับรู้กันโดยทั่วไป ซึ่งลักษณะภูมิประเทศแบบ 3 เกาะ นี้เป็นที่มาของเกาะจิกอีกนัยหนึ่งว่า ครั้งนั้น พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ฯ ได้ค้นพบหมู่เกาะจิกใน เมื่อครั้งทรงเสด็จนากองเรือออกราชการพื้นที่ภาคตะวันออก จึงได้ตั้งชื่อหมู่เกาะบริเวณนี้ว่า “เกาะจิก” ตามสภาพพื้นที่เกาะจิกใน เกาะจิกกลาง และเกาะจิกนอก หรือบ้านเกาะจิก (นอก) ซึ่งได้รับประกาศจัดตั้งเป็นหมู่บ้านตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่บ้านเกาะจิก หมู่ที่ 1 ตำบลบางชัน อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี 

ที่ตั้งและอาณาเขต

บ้านเกาะจิก หมู่ที่ 1 ตำบลบางชันอําเภอขลุง อยู่ทางทิศตะวันออกของจังหวัดจันทบุรี มีขนาดพื้นที่ 750 ไร่ ลักษณะพื้นที่เป็นเกาะในอ่าวไทยด้านใน หมู่บ้านเกาะจิกจะแยกออกไปจากหมู่   อื่น ๆ ของตําบลบางชัน มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ทะเลด้านอำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี

  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ทะเลด้านอำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด

  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ทะเลด้านอำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด

  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ทะเลอ่าวไทย

เกาะจิกเป็นเกาะในอ่าวไทย จัดอยู่ในเขตประมงเขตที่ 1 ตามการแบ่งเขตแหล่งประมงในประเทศไทย จาก 7 เขต มีแหล่งประมงทะเลที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจจําเพาะอยู่ 2 แหล่ง คือ แหล่งประมงในอ่าวไทย และแหล่งประมงทะเลในทะเลอันดามัน โดยแหล่งประมงในน่านน้ำไทยที่อยู่ในอ่าวไทย จะมีอาณาเขตตั้งแต่จุดแบ่งเขตแดนด้านตะวันออกระหว่างประเทศไทยกับราชอาณาจักรกัมพูชาไปจนถึงจุดแบ่งเขตแดนด้านใต้ระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีความยาวของชายฝั่งประมาณ 1,670 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 252,000 ตารางกิโลเมตร และแบ่งออกเป็น 5 เขต คือ

  • เขต 1 อ่าวไทยด้านตะวันออก ประกอบด้วย ทะเลที่อยู่ในอาณาเขตจังหวัดตราด จันทบุรี และระยอง

  • เขต 2 อ่าวไทยตอนใน ประกอบด้วย ทะเลที่อยู่ในอาณาเขตจังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรี

  • เขต 3 อ่าวไทยด้านตะวันตกตอนบน ประกอบด้วยทะเลที่อยู่ในอาณาเขตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎ์ธานี

  • เขต 4 อ่าวไทยด้านตะวันตกตอนล่าง ประกอบด้วย ทะเลที่อยู่ในอาณาเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส

  • เขต 5 อ่าวไทยตอนกลาง ประกอบด้วยทะเลที่อยู่บริเวณกลางอ่าวไทย มีอาณาเขตติดต่อเส้นแบ่งเขตเศรษฐกิจจําเพาะของประเทศมาเลเซียและกัมพูชา

ส่วนแหล่งประมงในน่านน้ำไทยในบริเวณทะเลอันดามัน จะมีชายฝั่งทะเลตั้งแต่จุดแบ่งเขตด้านตะวันตกของประเทศไทยกับประเทศพม่า ไปจนถึงจุดแบ่งเขตแดนด้านใต้ระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีความยาวชายฝั่งประมาณ 740 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 126,000 ตารางกิโลเมตร แบ่งออกเป็น 2 เขตคือ

  • เขต 6 ทะเลอันดามันตอนบน ประกอบด้วยทะเลที่อยู่ในอาณาเขตจังหวัดระนอง พังงา และภูเก็ต

  • เขต 7 ทะเลอันดามันตอนล่าง ประกอบด้วยทะเลที่อยู่ในอาณาเขตจังหวัดกระบี่ ตรัง และสตูล (ศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 2530 : 337 อ้างถึงใน กุลศิริ อรุณภาคย์, 2542)

ลักษณะภูมิประเทศ

บ้านเกาะจิกมีลักษณะเป็นเกาะที่มีด้านหนึ่งเป็นภูเขาไม่สูงมาก ส่วนด้านหนึ่งเป็นหาดทรายสั้น ๆ เนื้อทรายมีลักษณะหยาบปนกับเปลือกหอย บริเวณรอบเกาะส่วนใหญ่เป็นโขดหิน โดยลักษณะเด่นของเกาะจิก คือ มีสภาพพื้นที่เป็นหมู่เกาะจำนวน 3 เกาะ ประกอบด้วย เกาะจิกนอก เกาะจิกกลาง และเกาะจิกใน บริเวณเกาะที่เป็นที่ตั้งบ้านเรือน คือ เกาะจิกนอก ซึ่งมีสภาพพื้นที่เป็นป่ทามีต้นไม้ขึ้นหนาแน่น ป่ามีลักษณะเป็นป่าเบญจพรรณ มีหาดทรายอยู่ด้านฝั่งที่หันออกอ่าวทย ส่วนด้านที่ตั้งบ้านเรือนเป็นที่ราบหันหน้าเข้าหาจังหวัดตราด เนื่องจากเป็นทิศทางที่ลมสงบ ถัดจากชายฝั่งเข้าไปเป็นพื้นที่ใช้ทําเกษตรกรรม ทั้งยางพารา มะม่วง ขนุน มะขาม และชมพู่ ฯลฯ รวมพื้นที่ที่ใช้ทําเกษตรกรรมทั้งหมด 250 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 750 ไร่ พื้นที่ตอนกลางของเกาะเป็นป่าไม้ธรรมชาติ มีไม้ขึ้นอยู่ค่อนข้างหนาแน่น เป็นไม้ขนาดกลางและขนาดเล็กเสียส่วนมาก

เกาะจิกมีรูปร่างคล้ายรูปสามเหลี่ยม ทิศเหนือหรือด้านบนของเกาะเป็นที่ตั้งของบ้านเรือนชาวประมง ชาวบ้านเรียกพื้นที่บริเวณนี้ว่าหน้าเกาะ ตอนล่างหรือทางทิศใต้เป็นหาดและโขดหิน มีรูปร่างแหลมยาว ทิศตะวันตกเป็นส่วนที่มีหน้าผาชัน มีแนวโขดหิน และหาดทรายหยาบทอดตัวยาวกว่าบริเวณอื่น แต่ไม่มีผู้คนอยู่ อาศัย เพราะใช้เป็นพื้นที่สำหรับเลี้ยงปลาในกระชัง ด้านตะวันออกเป็นนากุ้ง และถัดเข้ามาในพื้นดินเป็นสวนยาง มีบ้านเรือนอยู่เพียงไม่กี่หลัง ส่วนใหญ่เป็นบ้านของคนงาน หรือลูกจ้างที่มาเฝ้านากุ้งที่มีอยู่ 5 บ่อบริเวณหลังเกาะ

เกาะจิกเป็นเกาะที่ตั้งอยู่ปลายเขตของจังหวัดจันทบุรีและต้นทางของจังหวัดตราด ด้วยความที่เป็นเกาะขนาดเล็ก ทั้งยังมีสภาพพื้นที่เป็นเกาะที่ไม่มีลักษณะเด่นในเรื่องความสวยงามหรือมีความดึงดูดทางการท่องเที่ยว ทําให้ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากภาครัฐเท่าที่ควร เกาะจิกจึงไม่เป็นที่รู้จักของคนนอกพื้นที่และยังไม่มีการพัฒนาด้านสาธารณูปโภคมากนัก

สภาพภูมิอากาศ

บ้านเกาะจิกตั้งอยู่ในแถบมรสุมเขตร้อน มีฝนตกชุกปีละประมาณ 6 เดือน คือ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม มีปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ย 2815.7 มิลลิเมตรต่อปี อุณหภูมิเฉลี่ย 27.3 องศาเซลเซียส โดยแบ่งลักษณะภูมิอากาศออกเป็น 3 ฤดู ดังนี้

  • ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม ในช่วงระยะนี้ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจะอ่อนกําลังลง ประกอบกับมีลมร้อนพัดจากทะเลจีนตอนใต้เข้าสู่อ่าวไทย ทําให้เกิดการปะทะกันของลมหนาวและลมร้อน มักเกิดพายุและฝนฟ้าคะนองโดยทั่วไป ฉะนั้น แม้ว่าจะเป็นช่วงฤดูร้อน แต่ก็จะมีฝนตกเป็นระยะ ๆ

  • ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม เป็นระยะเวลาประมาณ 6 เดือน โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จากมหาสมุทรอินเดียพัดผ่านอ่าวไทย ทํา ให้มีฝนชุกมากโดยเฉพาะในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน ชาวบ้านเรียกลมมรสุมนี้ว่าลมแปดทิศ ในหน้านี้ทะเลจะแปรปรวน เกาะจิกจะได้รับลมนี้อย่างเต็มที่ เนื่องจากไม่มีเกาะอื่นกําบัง แต่ลมมรสุมนี้จะมีระยะเวลาไม่นานนัก ในฤดูฝนเป็นช่วงที่ชาวบ้านจะไม่ค่อยเดินทางไปไหน เนื่องจากเป็นหน้าลมและพายุฝน ซึ่งเป็นอันตรายต่อการเดินทางทางน้ำ

  • ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ในระยะนี้จะได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งพัดมาจากประเทศจีน เป็นลมหนาวและแห้งแล้ง แต่เนื่องจากบ้านเกาะจิกมีลักษณะภูมิประเทศเป็นเกาะได้รับอิทธิพลจากลมทะเลทําให้อากาศไม่หนาวเย็นมากนัก นอกจากนี้เกาะจิกยังตั้งอยู่บริเวณอ่าวไทยตอนใน ซึ่งเป็นบริเวณที่อยู่กึ่งกลางระหว่างฝั่งตะวันตกกับฝั่งตะวันออกและเป็นส่วนที่อยู่ลึกเข้ามาทางแผ่นดิน ผลกระทบจากคลื่นลมจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจึงไม่รุนแรงนัก

เส้นทางการคมนาคม

การเดินทางเข้าสู่บ้านกาะจิก สามารถเดินทางได้โดยใช้ถนนสายสุขุมวิท (บางนา-ตราด) และถนนสาย 3145 (แสนตุ้ง-แหลมงอบ เกาะช้าง) จากนั้นลงเรือที่ท่าเนรือบ้านอ่างกระป่าง ตำบลท่าโสม อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด ใช้เวลาเดินทางจากท่าเรือถึงหมู่บ้านประมาณ 30 นาที

สำหรับเส้นทางการสัญจรในหมู่บ้านนั้นมีถนน คลส. เชื่อมติดกันทั้งหมู่บ้าน ชาวบ้านส่วนใหญ่นิยมใช้รถจักรยานในการเดินทาง และรถเข็นสามล้อสำหรับขนส่งสินค้า โดยมีกฎว่าห้ามใช้รถทุกชนิดที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล เนื่องจากหมู่บ้านเกาะจิกได้ประกาศตนเองเป็นหมู่บ้านแห่งการอนุรักษ์พลังงานและลดภาวะโลกร้อนตั้งแต่ พ.ศ. 2547

ลักษณะการตั้งบ้านเรือน

บ้านเรือนเกือบทั้งหมดในเกาะจิกจะตั้งตามแนวเหนือ-ใต้ โดยตั้งขนานไปตามถนนคอนกรีตเสริมไม้ไผ่ ถนนเพียงสายเดียวของเกาะ ลักษณะของตัวบ้านในเกาะจิกอาจแบ่งได้ 3 ประเภทตามวัสดุที่มุงหลังคา ได้แก่ บ้านหลังคามุงกระเบื้องหรือคอนกรีต บ้านหลังคามุงสังกะสี และบ้านหลังคามุงด้วยจากหรือหญ้า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฐานะความเป็นอยู่ของเจ้าของบ้าน โดยปกติทั่วไปบ้านที่อยู่ติดทะเลจะเป็นบ้านชั้นเดียว เพราะมีความมั่นคงกว่า ส่วนบ้านที่มีที่ติดพื้นดินมีทั้งที่เป็นบ้านชั้นเดียวและบ้านสองชั้น ซึ่งมักจะเป็นของคนที่มีฐานะดี มักอยู่ใกล้กับถนนสายเดียวในหมู่บ้าน ส่วนสภาพบ้านเรือนที่อยู่ถัดจากบ้านติดถนนเข้าไปทางด้านในของเกาะจะตั้งกระจายกันไป แต่ละบ้านระยะห่างไม่ไกลกันนัก บ้านส่วนใหญ่บ้านที่พบในเกาะจิกมักเป็นบ้านไม่มีรั้ว มีเพียงบางหลังที่ทํารั้วไม้ หรือปลูกต้นไม้เป็นรั้วกั้นเพื่อใช้กั้นอาณาบริเวณของสัตว์เลี้ยง บ้านที่อยู่ในส่วนนี้มักเป็นบ้านชั้นเดียวยกพื้นสูง มีส่วนที่เป็นบนเรือนและลานบ้าน บริเวณลานบ้านหรือใต้ถุนของหลายบ้านจะมีเปลเชือกแขวนอยู่ หรือมีแคร่ไม้ตอกง่ายๆ เพื่อใช้เป็นที่เอนหลังในเวลาที่ต้องการ

นอกจากนี้ลานบ้านและใต้ถุนบ้านยังเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านใช้ซ่อมแซมอุปกรณ์ประมง และที่สำคัญบ้านเกือบทุกหลังจะมีอวนขนาดใหญ่กองอยู่เป็นประจํา ในกรณีเป็นบ้านที่อยู่ติดทะเล หากจะซ่อมแหหรืออวนที่มีขนาดไม่ใหญ่นักก็จะทําบนบ้าน แต่หากเป็นอวนหรือแหปากใหญ่ ชาวบ้านที่อยู่ใกล้ศาลเจ้าแม่เกาะจิกมักจะไปนั่งทําที่ลานกว้างใกล้ ๆ ศาล หรือพื้นที่ว่างถัดจากศาลเจ้าแม่ออกไปในด้านที่ไม่มีใครอาศัยอยู่

สถานที่สำคัญ

  • ศาลเจ้าพ่อมังกร

  • ศาลเจ้าแม่พิมพา

  • ศาลเจ้าแม่เกาะจิก

  • ประภาคารทหารเรือ

  • หาดล้านหอย

  • ชายหาดหลังเกาะ

  • โรงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

  • วัดเกาะจิก

  • โรงเรียนวัดเกาะจิก

  • โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบบบ้านเกาะจิก

  • หาดทรายหอยแตก

สถิติประชาองค์การบริหารส่วนตำบลบางชัน ปี 2564 แสดงข้อมูลแบบรายหมู่บ้าน ระบุข้อมูลประชากรหมู่ 1 บ้านเกาะจิก มีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 150 ครัวเรือน จำนวนประชากรทั้งสิ้น 370 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 191 คน และประชากรหญิง 179 คน ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน ที่เหลือจะปะปนกันระหว่างชาวไทย ลาว เขมร และญวน 

การประกอบอาชีพ

เนื่องจากหมู่บ้านเกาะจิกมีลักษณะเป็นเกาะ การที่มีภูมิประเทศแวดล้อมด้วยทะเล เป็นปัจจัยสําคัญที่ทําให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง โดยเป็นการทำประมงพื้นบ้าน ส่วนอาชีพอื่น ๆ ได้แก่ การค้าขาย การทำสวนยางพารา และรับจ้าง

อาชีพประมง: การทำประมงในบ้านเกาะจิกเป็นอาชีพที่มีความหลากหลายหากแบ่งตามชนิดของสัตว์น้ำที่ทําการประมง เช่น กุ้ง ปู ปลาหมึก ฯลฯ ซึ่งต้องมีเครื่องมือตลอดจนวิธีการที่แตกต่างกันออกไป เช่น ถ้าจะจับปลาทูก็ต้องใช้เครื่องมือประเภทอวน และออกเรือเวลากลางคืน หรือถ้าจะจับหมึกก็ต้องใช้ลอบดักปลาหมึก และถ้าจะทําประมงสัตว์หน้าดิน ได้แก่ กุ้ง กั้ง ปู และปลาบางชนิด ก็ต้องใช้เครื่องมือที่ต่างออกไปตามความหลากหลาย เครื่องมือที่ใช้ในการประมงจึงปรับเปลี่ยนไปตามวัตถุประสงค์ของชาวประมงว่าจะทําการจับสัตว์น้ำชนิดใด ในเกาะจิกชาวบ้านทําประมงโดยใช้เครื่องมือหลายชนิด ได้แก่ โป๊ะ ลอบปลาหมึก เป็นเครื่องมือที่ได้รับความนิยมมากที่สุด นอกจากนี้ยังมีอวนลาก อวนลอย ลอบปลาเก๋า และโพงพางซึ่งเคยทํากันมากในอดีตแต่ปัจจุบันไม่มีคนทําแล้ว สำหรับสัตว์ทะเลที่จับมาได้ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะนำมาแปรรูปเป็นอาหารทะเลตากแห้งเพื่อเกห็บไว้รับประทานในระยะเวลานา และจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยว เช่น ปลาแห้ง หมึกแห้ง กุ้งเหยียด ฯลฯ

การเลี้ยงปลากะพงขาวในกระชัง: การเลี้ยงปลากะพงขาวในกระชัง เป็นอาชีพค่อนข้างใหม่ในเกาะจิก ชาวบ้านที่เลี้ยงเป็นคนแรกคือ นายเผ่า ที่ได้พบเห็นการเลี้ยงปลากรพพงขาวในกระชังมาจากชาวบางชัน แล้วน้ำมาประยุกต์ให้เข้ากับพื้นที่ชายฝั่งของเกาะ ในตอนแรกนั้นเลี้ยงเพียงกระชังเดียว ผลที่ได้ปรากฏว่าได้กําไรดี จากนั้นจึงเริ่มขยายกิจการ ชาวบ้านคนอื่นในหมู่บ้านก็เริ่มทำตาม เนื่องจากการเลี้ยงปลากระพงขาวใช้ต้นทุนก็ไม่ส่วนรายได้ที่ได้กลับมายังนับว่าเป็นที่น่าพอใจ โดยการเลี้ยงปลาจะทําบริเวณด้านหลังเกาะ เพราะเป็นสถานที่กําบังคลื่นลมได้ดี หากมีคลื่นลมอาจก่อให้เกิดความเสียหายกับไม้หลักค้ำจุนกระชัง กระชังที่ใช้เลี้ยงปลาทําด้วยเนื้ออวนไนลอน ซึ่งอาจแบ่งกระชังตามขนาดและวัตถุประสงค์ในการใช้ประโยชน์ได้ 2 ประการคือ กระชังเลี้ยงปลาขนาดเล็ก ใช้สําหรับเลี้ยงปลาที่มีขนาดความยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร มีขนาดตา อวน 1-2 เซนติเมตร ขนาดเนื้อที่พื้นกระชังประมาณ 30-50 ตารางเมตร ความลึก 2-3 เมตร สําหรับกระชังเลี้ยงปลาใหญ่ใช้สําหรับเลี้ยงปลาขนาดกลางถึงขนาดใหญ่หรือความยาวประมาณ 20 เซนติเมตรขึ้นไป พื้นที่กระชังประมาณ 100 ตารางเมตร ความลึก 2-3 เมตร อาหารที่ใช้เลี้ยงปลาเป็นเนื้อขนาดเล็ก หรือที่เรียกว่า ปลาเป็ด

การรับซื้อสัตว์น้ำ: ที่เกาะจิกมีบ้านที่รับซื้อสัตว์น้ำจากชาวบ้านอยู่ 2 หลัง ชาวประมงเรียกว่า “เถ้าแก่” ซึ่งนอกจากจะรับซื้อสัตว์น้ำจากชาวประมงในหมู่บ้านแล้ว เถ้าแก่ทั้ง 2 ยังเป็นผู้ที่ช่วยเหลือเรื่องเงินทุนให้แก่ชาวประมงในยามที่ต้องการซ่อมแซมเครื่องมือประมง ซื้อของ ขึ้นคานเรือ ชาวประมงจะสามารถขอยืมเงินจากเถ้าแก่ได้บางส่วน แล้วชําระคืนโดยการหักจากมูลค่าสัตว์น้ำที่จับได้ โดยไม่กําหนดเวลา ชาวประมงส่วนใหญ่ถือว่าตนไม่ได้ถูกเอาเปรียบ เพราะถึงแม้มีหนี้สินแต่ก็มีอาหารการกินบริบูรณ์ บ้านที่รับซื้อสัตว์น้ำจึงแปรียบเสมือนแหล่งเงินทุนกู้ยืมสําหรับชาวประมงทุกคนในเกาะจิก นอกจากนี้ เถ้าแก่ทั้งสองยังมีกิจการเรือประมง และขายน้ำมันที่ใช้สำหรับเรือประมงเป็นของตนเอง โดยจ้างลูกจ้างมาช่วยทําประมงแล้วจ่ายค่าแรงเป็นวัน

สวนยางพารา: การทำสวนยางพาราเป็นอาชีพที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตของชาวบ้านเกาะจิกมายาวนานหลายสิบปี แต่ปัญหาสำกคัญที่เกิดขึ้นกับสวนยางพาราของชาวบ้านเกาะจิก คือ เนื่องจากระยะเวลาตั้งแต่ปลูกต้นยางจนถึงช่วงเวลาที่จะกรีดเอาน้ำยางได้ต้องรอถึง 8 ปี ซึ่งทำให้ชาวสวนยางต้องขาดรายได้เป็นเวลานาน ต้องหาอาชีพเสริมอื่นทำให้มีเวลาดูแลต้นยางได้ไม่เต็มที่ ผลผลิตก็อาจไม่ดีไม่คุ้มกับเงินลงทุน อีกทั้งภายในหมู่บ้านยังไม่ค่อยมีแรงงานที่ชำนาญในการกรีดยาง ทำให้เจ้าของสวนต้องลงมือกรีดเอง ฉะนั้นจึงส่งผลให้ในเกาะจิกจึงมีผู้ประกอบอาชีพทำสวนยางพาราไม่มากนัก

กลุ่มองค์กรชุมชน

บ้านเกาะจิกมีกลุ่มองค์กรชุมชนที่จัดตั้งขึ้นในหมู่บ้าน ทั้งกลุ่มทางเศรษฐกิจ และกลุ่มทางสังคม ได้แก่

1. สถาบันการจัดารเงินทุนชุมชนบ้านเกาะจิก

2. สำนักงานไฟฟ้าและพลังงานทดแทนบ้านเกาะจิก

3. กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติบ้านเกาะจิก

4. กลุ่มกองทุนแม่ของแผ่นดินบ้านเกาะจิก

5. กลุ่มสตรีอาสาพัฒนาบ้านเกาะจิก

6. กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านเกาะจิก

7. กลุ่มแม่บ้านประมงแปรรูปผลผลิตบ้านเกาะจิก (วิสาหกิจชุมชนบ้านเกาะจิก)

8. กลุ่มประมงอวลลอยและเรือไดหมึกบ้านเกาะจิก

9. กลุ่มผู้เลี้ยงปลาในกระชัง

10. กลุ่มเยาวชนบ้านเกาะจิก

11. ชมรมฟุตบอลบ้านเกาะจิก

12. ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทางทะเลบ้านเกาะจิก

13. ผู้ประสานพลังแผ่นดินบ้านเกาะจิก (25 ตาสับปะรด)

14. ชุดตำรวจอาสา และ ชรบ.หมู่บ้าน 

การดำเนินชีวิตประจําวันของของชาวบ้านเกาะจิกจะเริ่มต้นตั้งแต่เช้ามืด ส่วนใหญ่ผู้หญิงจะตื่นก่อนเพื่อเตรียมอาหารให้ผู้ชายที่จะออกทะเล จากนั้นก็ทํางานในบ้าน นับตั้งแต่กวาดถูทําความสะอาดบ้าน ซักผ้า เมื่อเสร็จจากงานในบ้าน ก็จะซ่อมแซมแหอวน ตาข่าย อุปกรณ์ในการประมง ตลอดจนเตรียมสิ่งของที่จะใช้ออกทะเลในวันถัดไป ในบ้านเกาะจิก บทบาทหน้าที่ของผู้ชายและผู้หญิงมีการแบ่งแยกค่อนข้างชัดเจน ผู้ชายจะเป็นแรงงานหลักในการประกอบอาชีพ ผู้หญิงมีหน้าที่หลัก คือ เลี้ยงลูก ดูแลความเป็นอยู่ภายในบ้าน และช่วยเตรียมหรือซ่อมแซมอุปกรณ์ที่ใช้ในการประมงบางชนิด ผู้หญิงอาจช่วยออกทะเลบ้าง แต่ก็เป็นบางครั้งที่จําเป็นเมื่อผู้ชายขาดคนช่วย

ผู้ชายมักตื่นประมาณตีห้า หรือหกโมง หลังจากตื่นนอนก็จะเตรียมตัวไปเรือเพื่อดูแลความเรียบร้อยก่อนออกทะเล กว่าจะกลับจากทะเลก็เป็นเวลาเย็น ชีวิตส่วนใหญ่จึงอยู่บนเรือเสียมาก เมื่อกลับจากทะเลก็เป็นอันหมดหน้าที่ อาบน้ำชําระร่างกายแล้วก็พักผ่อน ยกเว้นบางวันที่เรือหรือเครื่องมือในการทําประมงบางชิ้นมีปัญหาต้องซ่อมแซมก็จะเป็นหน้าที่ที่เพิ่มขึ้นมา โดยปกติผู้ชายจะออกทะเลทุกวัน ยกเว้นในหน้ามรสุมมีพายุจนไม่สามารถออกทะเลได้ หรือเวลาขึ้นคานเรือเพื่อซ่อมแซม

ชาวบ้านเกาะจิกนิยมรับประทานข้าวจ้าวเป็นอาหารหลัก ส่วนกับข้าวจะส่วนใหญ่จะเป็นอาหารทะเลจากสัตว์น้ำที่จับได้ แล้วนำมาแปรรูปเป็นอาหารแห้ง ดอง เก็บไว้รับประทานได้ระยะเวลานาน สําหรับอาหารประเภทเนื้อสัตว์อื่น ๆ เช่น หมู หรือ ไก่ ชาวบ้านจะรับประทานเป็นครั้งคราวเท่านั้น ส่วนอาหารประเภทผักและผลไม้ ส่วนใหญ่จะซื้อจากร้านขายของสดที่มีอยู่ในหมู่บ้าน ซึ่งร้านค้าเหล่านี้จะไปซื้ออาหารสดต่าง ๆ มาจากตลาดแสนตุ้งอีกทีหนึ่ง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ชาวบ้านเกาะจิกได้นำความรู้ต่าง ๆ ที่สั่งสมจากประสบการณ์การดำรงชีวิตมาประกอบสร้างเป็นภูมิปัญญาในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ซึ่งได้รับการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น อาทิ การคำนวณสภาพภูมิอากาศ การดูกระแสการไหลเวียนของน้ำ สีของก้อนเมฆหรือท้องฟ้า การวางแนวปะการังเทียม การถนอมอาหาร เช่น การทำหมึกแห้ง และปลาตากแห้ง เป็นต้น 

ภาษาพูดส่วนใหญ่ใช้ภาษาไทย มีผู้ใช้ภาษาจีนบ้างเล็กน้อย ในเกาะจิกผู้ที่มีฐานะดีส่วนใหญ่มักสืบเชื้อสายมาจากชาวจีน มีร่องรอยว่าแต่เดิมคงมี ชาวจีนตั้งรกรากอยู่บนเกาะนี้จํานวนมาก การเรียกชื่อหรือการใช้สรรพนามจึงเป็นแบบจีน เช่น กิ่ง อี้ เฮีย เจ๊ ฯลฯ


แม้ว่าเกาะจิกจะเป็นเกาะที่ตั้งอยู่ไม่ห่างไกลจากแผ่นดินใหญ่ ทว่าภายในชุมชนยังไม่เคยมีเคเบิลใต้น้ำที่จะส่งไฟฟ้ามาบนเกาะ แม้ว่าระบบสาธารณูปโภคดังล่าวควรจะป็นปัจจัยพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้ แต่กระทั่งปัจจุบันชาวบ้านเกาะจิกก็ยังไม่ได้รับจากหลวง โดยให้เหตุผลว่าเกาะจิกอยู่นอกเขตจำหน่ายไฟของการฟ้าส่วนภูมิภาค ชาวบ้านต้องอาศัยแสงสว่างจากตะเกียงใต้ ตะเกียงน้ำมัน ตะเกียงเจ้าพายุ รวมถึงเครื่องยนต์ดีเซลขนาดเล็กสำหรับปั่นไฟสำหรับครอบครัวที่มีฐานะดี แต่ก็มีข้อจำกัดและยังมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรัก๋ษา รวมถึงต้นทุนค่าผลิตไฟฟ้าที่สูงถึง 30 บาทต่อหน่วย และไม่สามารถปั่นไฟได้ 24 ชั่วโมง เนื่องจากแบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหว กระทั่งในปี พ.ศ. 2544 ชุมชนบ้านเกาะจิกได้จัดทำประชาคมหมู่บ้านเสนอสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงานเพื่อขอรับการสนับสนุนการสร้างระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนแบบผสมผสาน และได้รับการอนุมัติจัดสรรงบประมาณในการจัดสร้างระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนพลังงานแสงอาทิตย์แบบผสมผสาน (โซลาร์เซลล์) ระบบไมโครกริด ในปี พ.ศ. 2545 ซึ่งปัจจุบันระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนพลังงานแสงอาทิตย์แบบผสมผสานระบบไมดครกริดสามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าบนเกาะขนาดกำลังรวมการผลิตได้ถึง 40 กิโลวัตต์ ควบคู่กับกติกาชุมชนที่ห้ามใช้พาหนะที่ใช้น้ำมันเดินทางภายในเกาะ แต่ให้ใช้การเดินเท้าแทน บ้านเกาะจิกจึงนับเป็นต้นแบบชุมชนแห่งการอนุรักษ์พลังงานและลดภาวะโลกร้อนอย่างแท้จริง

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับระบบระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนพลังงานแสงอาทิตย์บ้านเกาะจิก คือ ชาวบ้านมีการรวมตัวก่อตั้งกลุ่มฟ้าพลังงานทดแทน จุดแข็งของการบริหารงานจัดการกองทุนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนบ้านเกาะจิก คือ ชุมชนมีประสบการณ์ด้านการเงินจากสถาบันการจัดการเงินทุน ทำให้กลุ่มมีรายได้จากการเก็บค่าผ่านระบบมิเตอร์แบบเติมเงิน ณ ปัจจุบันมีเงินสะสมในธนาคารกว่า 700,000 บาท 


สาธารณสุข

เกาะจิกมีสถานีอนามัย 1 แห่ง คือ สถานีอนามัยเกาะจิก หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล บ้านเกาะจิก ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 1 ไร่ ภายในบริเวณวัดเกาะจิก ที่ตั้งของสถานีอนามัยแต่ก่อนก็เป็นที่ของวัดนั่นเอง ตัวสถานีก่อสร้างแบบก่อ อิฐแล้วฉาบด้วยปูน มีขนาดไม่ใหญ่นัก ภายในมีห้องรักษาพยาบาล 2 ห้อง มีเจ้าหน้าที่จำนวน 3 คน ทำหน้าที่ให้บริการด้านสุขภาพแก่ชุมชน สถานีอนามัยมีเวลาทํางานตามปกติคือ 8.00-17.00 น. แต่ถ้ามีกรณีเร่งด่วนก็สามารถเรียกเจ้าหน้าที่ได้ เพราะเจ้าหน้าที่มีบ้านพักที่อยู่ด้านหลังสถานีอนามัย

สุขภาวะ

ในอดีตสุขภาวะภายในหมู่บ้านเกาะจิกนั้นนับได้ว่าอยู่ในระดับดี แต่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเท่าใดนัก เนื่องจากชาวบ้านนิยมทิ้งขยะลงทะเล เพราะเห็นว่าเมื่อทิ้งขยะลงทะเล น้ำทะเลจะพัดพาขยะออกไปจากชายฝั่งหมู่บ้าน อีกทั้งท้องทะเลยังกว้างใหญ่ไพศาล จะทิ้งขยะไปมากเพียงใด ทะเลก็ไม่สกปรก แม้ว่าบางช่วงของเกาะ มักจะมีขยะที่ทิ้งลงไปกลับเข้ามาเกยตื้นเนื่องจากกระแสน้ำทะเลที่พัดพากลับคืนมา แต่ชาวบ้านก็ไม่รู้สึกว่าเป็นความสกปรก เพราะถ้าน้ำเปลี่ยนทิศทางก็จะซัดลงทะเลไป

ชาวบ้านบางกลุ่มนิยมกําจัดขยะด้วยการเผา ด้วยเชื่อว่าเป็นการกําจัดขยะให้หายไป ไม่ทําลายสภาพแวดล้อมทางทะเล แต่คนที่ไม่เห็นด้วยก็จะบอกว่าการเผาขยะเป็นการทําลายสภาพแวดล้อมยิ่งกว่าการทิ้งขยะลงทะเล เพราะการเผาขยะแต่ละครั้งจะทําให้มีควันและกลิ่นเหม็นลอยคลุ้งไปทั่ว ส่วนการฝังขยะก็ไม่เป็นที่นิยม 

เนื่องจากชาวบ้านรู้สึกว่าเสียเวลาชุด และถ้าเป็นบ้านที่อยู่ติดทะเลพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทราย ทําให้ง่ายต่อการพัดพาของน้ำทะเลซึ่งจะทําให้ขยะลอยขึ้นมาอีก บนเกาะจิกจึงนิยมกําจัดขยะสองแบบ คือ เผา และทิ้งลงทะเล แต่เนื่องจากการประกาศตนเองเป็นหมู่บ้านแห่งการอนุรักษ์พลังงานและลดภาวะโลกร้อนเมื่อ พ.ศ. 2547 ส่งผลให้ในปัจจุบัน ชาวบ้านเกาะจิกได้มีนโยบายในการจัดการขยะรูปแบบใหม่โดยวิธีการแยกขยะเป็นหมวดหมู่ สำหรับขยะที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ ชาวบ้านจะนำมารวบรวมสะสมเพื่อเก็บไว้ใช้ประโยชนืต่อไป ส่วนขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ ชาวบ้านจะทำการคัดแยกไว้ส่งต่อให้องค์การบริหารส่วนตำบลบางชันนำไปทำลาย 

ธรรมนูญหมู่บ้านเกาะจิก

สืบเนื่องจากปัญหาสะสมที่เกิดขึ้นจากแนวทางการพัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ทั้งปัญหารุกล้ำที่สาธารณะ ปัญหามลภาวะ ปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย รวมถึงการเข้ามาจำนวนมากของกลุ่มแรงงาน ผู้ใหญ่ณรงค์ชัย เหมสุวรรณ ผู้นำชุมชนบ้านเกาะจิกจึงได้อบรมเกี่ยวกับปัญหาและประชุมประชาคมหมู่บ้าน กำหนด “ธรรมนูญหมู่บ้านเกาะจิก” ตั้งแต่ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2555 3 ข้อ ดังนี้

1. เรื่องยาเสพติด

1.1 ห้ามบุคคลใดในหมู่บ้านยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ไม่ว่าจะในฐานะผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้เสพ หรือผู้สนับสนุน

1.2 ขอธงปลอดยาเสพติด ตัดสิทธิเงินกองทุน และสวัสดิการทุกๆ กองทุนในหมู่บ้าน 1.3 ห้ามนักท่องเที่ยวนำยาเสพติดเข้ามาในหมู่บ้าน

2. เรื่องที่สาธารณะในหมู่บ้าน

2.1 ห้ามคนนอกหมู่บ้านบุกรุกที่สาธารณะ

3. เรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

3.1 ห้ามมิให้ผู้ใดเก็บหิน และเปลือกหอย เพื่อนำออกนอกหมู่บ้านโดยเด็ดขาด

3.2 ห้ามทิ้งขยะลงทะเล โดยเฉพาะจำพวกพลาสติก

3.3 ห้ามรถจักรยานยนต์วิ่งในหมู่บ้าน

3.4 ห้ามจับปูไข่ หรือนำออกจากแหล่งที่อยู่อาศัย, ห้ามล่า หรือยิงนกทุกชนิด (ยกเว้นกรณีเกิดโรคติดต่อ)

3.5 ห้ามตัดต้นเทียนทะเล หากพบจับแจ้งความดำเนินคดีทันที หากมีการฝ่าฝืนจะนำมาแจ้งในที่ประชุมประชาคมหมู่บ้านให้ทราบโดยทั่วกัน (กาญจนา จินตกานนท์, 2565: ออนไลน์)

กระทรวงพลังงาน. (ม.ป.ป.). รายงานเกาะจิก_การจัดตั้งสหกรณ์จังหวัดจันทบุรี. สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม 2566, จาก https://ppp.energy.go.th/

กาญจนา จินตกานนท์. (2565). เกาะจิก มัลดีฟส์เมืองไทย. สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.technologychaoban.com/

กุลศิริ อรุณภาคย์. (2542). บทบาทผู้หญิงในชุมชนประมง : กรณีศึกษาบ้านเกาะจิก จังหวัดจันทบุรี. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยวิทยา ภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร.

สหัส ชัยสาครสมุทร และคณะ. (ม.ป.ป.). เกาะแห่งการอนุรักษ์พลังงานและลดภาวะโลกร้อนบ้านเกาะจิก. สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.thai-german-cooperation.info/

PostupNews. (ม.ป.ป.). บ้านเกาะจิก หมู่ที่ ๑ ตำบลบางชัน อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี “ล่องเรือดูเหยี่ยว ปั่นจักรยานเที่ยวชมเกาะ อร่อยเหาะอาหารทะเล นอนไกวเปลรับโอโซน ในวันพักผ่อนโดนๆ ที่เกาะจิก”. สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม 2566, จาก https://th.postupnews.com/2018/11/ban-ko-chik.html