Advance search

แหล่งรวมสินค้าเสื้อผ้าและร้านของกินของใช้ราคาถูก รวมถึงย่านร้านขายยาและเครื่องมือแพทย์ประเภทต่าง ๆ

ศิริราช
บางกอกน้อย
กรุงเทพมหานคร
ศศิฉาย โพธิ์เตี้ย
17 ก.ค. 2023
ศศิฉาย โพธิ์เตี้ย
17 ก.ค. 2023
ตรอกวังหลัง

ในอดีตพื้นที่บริเวณนี้เป็นพระราชวังบวรสถานพิมุข ของสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ ซึ่งทรงเป็น กรมพระราชวังบวรสถานภิมุข (วังหลัง) ในรัชกาลที่ 1 ที่ทรงพระราชทานที่ดินบริเวณสวนมังคุด ปากคลองบางกอกน้อย (ย่านศิริราชและสถานีรถไฟธนบุรี) ให้เป็นที่ประทับ เรียกว่า "วังหลัง" โดยใช้ชื่อสถานที่ตามตำแหน่งของท่าน


แหล่งรวมสินค้าเสื้อผ้าและร้านของกินของใช้ราคาถูก รวมถึงย่านร้านขายยาและเครื่องมือแพทย์ประเภทต่าง ๆ

ศิริราช
บางกอกน้อย
กรุงเทพมหานคร
10700
13.755779887854548
100.48381118004062
กรุงเทพมหานคร

เดิมพื้นที่นี้เป็นพระราชวังบวรสถานพิมุข ซึ่งสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่1 แห่งราชวงศ์จักรี ได้พระราชทานที่ดินบริเวณสวนลิ้นจี่ ปากคลองบางกอกน้อย ให้แก่ พระยาสุริยอภัย (ทองอิน) ซึ่งต่อมาได้ขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ หรือ กรมพระยาบวรสถานพิมุข (วังหลัง) โดยใช้ชื่อสถานที่ตามพระนามของท่าน และถัดจากวังหลังไปตรงบริเวณซอยศาลาต้นจันทร์ ทางไปวัดระฆังโฆสิตาราม เคยเป็นวังที่ประทับเดิมของ สมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี บริเวณรอบข้างเป็นถนนขนาบกับคลองบางกอกน้อย เรียกว่า ถนนหน้าวังหลัง นอกจากนี้ยังป้อมและกำแพงที่เดิมเป็นกำแพงกรุงธนบุรี เมื่อกรมพระยาบวรสถานพิมุขได้เสด็จทิวงคตและไม่มีเจ้านายพระองค์ใดได้เข้ามาพำนักอยู่ในพระราชวัง จึงได้ค่อย ๆ รกร้างไป

ภายหลังได้มีการเวนคืนที่ดินบริเวณนี้ให้เป็นโรงพยาบาลศิริราชและถนนอรุณอมรินทร์ ต่อมาได้เป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นโรงเรียนสตรีแห่งแรกชองประเทศไทย ชื่อว่า โรงเรียนกุลสตรีวังหลัง และต่อมาได้ย้ายไปอยู่ที่ถนนสุขุมวิทคือ โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย หลังจากนั้นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ ทรงจัดตั้งเป็นโรงพยาบาลศิริราชขึ้นแทน

ในปี พ.ศ. 2510 เกิดเหตุเพลิงไหม้ สภาพพื้นที่เริ่มกลายเป็นชุมชนแออัด และคนในชุมชนก็ยังอยู่อาศัยมาจวบจนปัจจุบัน กลายเป็นแหล่งรวมเสื้อผ้ามือ1/มือ2 ของกินของใช้ ยา และอุปกรณ์ทางการแพทย์ หลงเหลือร่องรอยในอดีตคือชื่อของ ตรอกวังหลัง

ตรอกวังหลัง เป็นชุมชนขนาดเล็กที่ค่อนข้างแออัด มีสถานที่สำคัญและตลาดสดหลายแห่งอยู่โดยรอบ เช่น โรงพยาบาลศิริราช สถานีรถไฟธนบุรี วัดอมรินทราราม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) ฐานทัพเรือกรุงเทพ กรมอู่ทหารเรือ วัดระฆังโฆสิตาราม เป็นต้น

ชุมชนตรอกวังหลังมีรูปแบบและเอกลักษณ์ที่สะท้อนความเป็นชุมชนเมือง มีลักษณะเป็นชุมชนเปิด เนื่องจากเป็นจุดรวมตลาดการค้า การเชื่อมต่อการคมนาคมทั้งทางบกและทางน้ำ และถือได้ว่าเป็นชุมชนที่มีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปได้เป็นอย่างดี

การเดินทางมาสามารถมาได้ตามนี้

  • รถประจำทาง – รถประจำทางสาย: 512  25  82  91  32  53  25  , 59  503  60  65  70  3  ลงที่ท่าพระจันทร์ หรือท่าช้าง

  • หากเดินทางจากฝั่งธนบุรี ลงป้ายรถประจำทางหน้าโรงพยาบาลศิริราช ถนนอรุณอมรินทร์ : สาย 19 , 57 , 81 , ปอ.91 หรือนั่งรถสองแถวสีแดงจาก mrt บางขุนนนท์มาลงที่โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ และเดินลัดจากโรงพยาบาลมาออกทางประตูท่าเรือวังหลัง

  • BTS ลงที่สถานี สะพานตากสิน นั่งเรือจากท่าสาทร มาลงที่ท่าวังหลัง

  • mrt ลงที่สถานีบางขุนนนท์ แล้วนั่งรถสองแถวสีแดงมาลงที่ที่โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ และเดินลัดจากโรงพยาบาลมาออกทางประตูท่าเรือวังหลัง

  • เดินทางโดยรถสามล้อ (กระป๊อ)  มาลงที่ตลาดวังหลัง

ประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่เป็นชาวบ้านที่ตั้งถิ่นฐานอยู่แต่เดิม และกลุ่มนักศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชมาเช่าห่อพักอยู่อาศัย การนับถือศาสนามีหลายหลาย โดยศาสนาพุทธมีวัดโดยรอบ เช่น วัดอมรินทราราม วัดระฆังโฆสิตาราม กลุ่มชาวไทยเชื้อสายจีนโดยมีศาลเจ้าประจำชุมชนคือ ศาลเจ้าพ่อฉางเกลือ กลุ่มชาวศาสนาคริสต์มีโบสถ์ประจำชุมชนคือ คริสตจักรประชาร่วมใจ และกลุ่มศาสนาอิสลามมีมัสยิดประจำชุมชนคือ มัสยิดหลวงอันซอริซซุนนะห์

ในปี 2554 ได้มีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์และเจราจากับกรมธนารักษ์ เพื่อขอเช่าที่ดินขนาด 1 ไร่ 50 ตารางวา ในลักษณะนิติบุคคลในรูปสหกรณ์ ต่อมาสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ให้คำแนะนำและจดทะเบียนเป็นสหกรณ์ประเภทบริการ และตั้งชื่อว่า “สหกรณ์เคหสถานตรอกวังหลังต้นโพธิ์ จำกัด” เมื่อปี 2554 เพื่อจัดหาที่อยู่อาศัยให้กับคนในชุมชนที่เข้ามาเป็นสมาชิกสหกรณ์ และปี 2555 ได้มีการทำสัญญาเช่ากับกรมธนารักษ์ 30 ปี และได้งบสนับสนุนตามเงื่อนไขต่าง ๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาปรับปรุงพื้นที่สร้างบ้านที่อยู่อาศัย โดยรูปแบบบ้านเป็นสถาปัตยกรรมแบบสมัยเก่า เพื่อให้เข้ากับสภาพพื้นที่วังเก่า และเป็นแบบเดียวกันทั้งหมด จำนวน 34 หลัง เป็นบ้านของสมาชิก 33 หลัง และเป็นที่ทำการสหกรณ์ 1 หลัง

ปัจจุบันสมาชิกได้เข้าอยู่จนครบทุกหลังคาเรือนแล้ว ประมาณร้อยกว่าคน โดยการวางแผนของชุมชนก็จะยึดแนวทางของสหกรณ์เป็นหลัก ตามอุดมการณ์และหลักการสหกรณ์ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน สร้างความรักความสามัคคีของคนในชุมชน และนำรายได้กลับเข้ามาสู่ชุมชนให้มากยิ่งขึ้น โดยจะเปิดพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ให้คนได้มาเดินชมสภาพแวดล้อมของชุมชนและความสวยงามของบ้านที่มีสถาปัตยกรรมอันสวยงาม โดยทุกครอบครัวจะใช้พื้นที่หน้าบ้านของตัวเองค้าขาย เช่น ร้านหอยทอด ข้าวแกง ข้าวมันไก่ ส้มตำ ร้านขายเสื้อผ้า ขายเครื่องประดับตกแต่ง ของใช้ ร้านกาแฟและขนมหวาน โดยยังคงรักษาสภาพพื้นที่ไว้แบบอนุรักษ์ที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์

วิถีชีวิตของชาวบ้านในย่านนี้ไม่แตกต่างกับย่านอื่นที่จะจัดงานตามเทศกาลต่างๆ แต่เนื่องจากเป็นย่านที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน จึงมีวันสำคัญที่แตกต่างจากย่านอื่นไปดังนี้

  • วันอานันทมหิดล ป็นวันคล้ายวันเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่8 ของราชวงศ์จักรี ซึ่งเสด็จสวรรคตในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 ซึ่งจะมีกิจกรรมต่างๆ เช่น พิธีถวายพวงมาลา ถวายสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ พิธีถวายบังคม การบำเพ็ญประโยชน์เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เป็นต้น

  • วันมหิดลป็นวันคล้ายวันเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของไทย มีกิจกรรม เช่น การรับบริจาคสมทบทุนศิริราชมูลนิธิ การจำหน่ายธงมหิดล เป็นต้น

  • กิจกรรมงานวัดประจำปีของวัดอมรินทราราม (วัดหลวงพ่อโบสถ์น้อย) จะมีการออกร้านต่างๆทั้งของอุปโภคบริโภค ร้านเครื่องเล่น มีมหรสพต่างๆ และมีการเปิดศาลาให้ประชาชนได้เข้าไปสักการะหลวงพ่อโบสถ์น้อย ซึ่งจะจัดเป็นประจำทุกปี รวมถึงช่วงวันลอยกระทงด้วย

สมเด็จพระพุทธาจารย์(โต) พรหมรังสี : ท่านเป็นปูชนียบุคคลที่พระพุทธศาสนิกชนกล่าวขวัญถึงในนามของสมเด็จโต ท่านถือกำเนิดในปี พ.ศ.2319 จนอายุได้ 13 ปี สมเด็จโตจึงบรรพชาเป็นสามเณรในเมืองพิจิตร เมื่ออายุครบอุปสมบทจึง โปรดฯ ให้บวชเป็นนาคหลวงที่วัดตะไกร จ.พิษณุโลก ท่านได้เป็นพระพี่เลี้ยง และครูสอนหนังสือขอมและคัมภีร์มูลกัจจายน์ เมื่อเจ้าฟ้ามงกุฏทรงบวชเป็นสามเณร ครั้งเจ้าฟ้ามงกุฏ ครองราชย์เป็นรัชกาลที่4

สมเด็จฯโตได้เป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม และได้เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ ท่านรอบรู้แตกฉานในพระธรรมวินัย และธรรมปฏิบัติ ความเป็นเลิศในการเทศนา ได้รับการยกย่องสรรเสริญในสติปัญญาและปฏิญาณโวหารที่ฉลาดหลักแหลม เปี่ยมด้วยจิตเมตตากรุณาแก่ผู้ตกยาก มีอัธยาศัย มักน้อย สันโดษ

สมเด็จฯโต ท่านถือปฏิบัติในข้อธุดงค์วัตรทุกประการ คือ ฉันในบาตร ถือผ้าสามผืนออกธุดงค์เยี่ยมป่าช้า นั่งภาวนา เดินจงกรม จนวาระสุดท้าย

ท่านมรระภาพเมื่อวันเสาร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 9 ปีจอ เวลา 2 ยาม รวมสิริอายุได้ 85 ปี.

ภัทราวดี มีชูธน : ชื่อในวงการ ภัทราวดี ศรีไตรรัตน์ เกิด 27 พฤษภาคม 2491 เป็นนักแสดง ละครโทรทัศน์ ละครเวที เป็นครูสอนศิลปะการแสดง เจ้าของโรงละครภัทราวดีเธียเตอร์ ภัทราวดี เป็นบุตรสาวของ สอาด มีชูธน อดีตอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กับคุณหญิงสุภัทรา สิงหลกะ ผู้ก่อตั้งเรือด่วนเจ้าพระยา มีพี่สาวชื่อ สุภาพรรณ พิชัยรณรงค์สงคราม (สมรสกับ เปาว์ พิชัยรณรงค์สงคราม) เป็นหลานตาของพระยาราชมนตรี (สง่า สิงหลกะ) กับคุณหญิงบุญปั๋น ราชมนตรี 

วัยเด็ก เติบโตแถวซอยวัดระฆัง ศึกษาที่โรงเรียนราชินี ชอบรำละคร พออายุได้ 12 ปี ได้ไปเรียนที่ประเทศอังกฤษ แล้วเดินทางไปอเมริกาเพื่อไปศึกษาทางด้านการแสดง

การงาน ปี 2516 เข้าสู่วงการภาพยนตร์ โดยร่วมแสดงนำในเรื่อง ไม่มีสวรรค์สำหรับคุณ และได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง จากภาพยนตร์เรื่องนี้ หลังจากนั้นจึงได้แสดงภาพยนตร์และละครมาตลอด โดยใช้ชื่อในการแสดงว่า 'ภัทราวดี ศรีไตรรัตน์' ซึ่งก็ประสบความสำเร็จและใช้ชื่อนี้มาตลอด กระทั่งแต่งงาน

ปี 2520-2523 เป็นผู้สร้างละครโทรทัศน์ ผู้ประพันธ์ กำกับการแสดงและร่วมแสดงละครโทรทัศน์เป็นตอนสั้นๆ ให้กับช่อง 3 เช่น จิตไม่ว่าง ,ตุ๊กตาเสียกบาล,ปะการังสีดำ ฯลฯ ปี 2526 สร้างละครโทรทัศน์ให้ช่อง 9 ปี 2527 สร้างละครเวทีให้บริษัทไนท์สปอตและเป็นที่ปรึกษาจัดตั้ง มณเฑียรทองเธียเตอร์ จนได้ก่อตั้งคณะภัทราวดี Theatre and Dance company ในปี 2530 

ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการและครูสอนการแสดงของโรงละครภัทราวดีเธียเตอร์ และยังสละเวลาไปสอนพิเศษและบรรยายวิชาศิลปะการแสดงที่ โรงเรียนภัทราวดีมัธยมศึกษา หัวหิน ภัทราวดี มีชูธนได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ประจำปี 2557.

ชุมชนตรอกวังหลังมีทุนทางด้านวัฒนธรรมที่น่าสนใจ ดังนี้

  • หลวงพ่อโบสถ์น้อย : เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย พระรัศมี 7 ศอก 21 นิ้ว หน้าตักกว้าง 4 ศอก 22 นิ้ว ประดิษฐานอยู่ในวิหารหลวงพ่อโบสถ์น้อยวัดอมรินทราราม ไม่ปรากฏว่าสร้างในสมัยใดหรือใครเป็นผู้สร้าง จากคำบอกเล่าหลวงพ่อโบสถ์น้อยเป็นพระพุทธรูปที่หล่อด้วยทองสำริด ชาวบ้านที่เลื่อมใสศรัทธาจึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถเก่าหรือวิหารหลวงพ่อโบสถ์น้อยในปัจจุบัน แต่เนื่องจากว่าองค์หลวงพ่อโบสถ์น้อยมีขนาดเล็กไม่สมกับพระอุโบสถที่ใหญ่จึงได้นำปูนมาพอกทับไว้เพื่อให้มีขนาดใหญ่สมกับพระอุโบสถ

    จนเมื่อในปี พ.ศ.2441 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการสร้างทางรถไฟสายใต้ ซึ่งวางรางรถไฟติดกับพระอุโบสถจึงจำเป็นต้องรื้อพระอุโบสถจากที่ใหญ่ขนาด 4 ห้องให้เหลือเพียง 3 ห้อง

    ต่อมาในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 อเมริกาได้ทิ้งระเบิดลงที่สถานีรถไฟธนบุรี ส่งผลให้ภายในวัดเสียหาย รวมถึงทำให้บริเวณพระเศียรปูนหักพังลงมา ทางวัดจึงได้นำพระเศียรปูนไปฝากไว้ที่วัดอรุณราชวรารามชั่วคราว เมื่อจบสงครามจึงได้นำกลับมาเพื่อซ่อมแซม แต่พระเศียรเสียหายมากเกินไปจึงได้ตกลงว่าจะสร้างพระเศียรขึ้นมาใหม่โดยให้คงเค้าพระพักตร์เดิมไว้ โดยมอบหมายให้นายช่างโต ขำเดช ซึ่งเคยอุปสมบทเป็นพระในวัดอมรินทรารามมาหลายพรรษาเป็นผู้รับผิดชอบการปั้น ต่อมาใน พ.ศ.2523 ได้มีการบูรณะหลวงพ่อโบสถ์น้อยขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากองค์พระพุทธรูปมีสภาพชำรุดหลายแห่ง ครั้งนั้นได้ทำการฉาบปูนลงรักปิดทองใหม่หมดทั้งองค์ พร้อมกันนี้ก็ได้บูรณะพระอุโบสถโดยการเปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคาและซ่อมแซม ส่วนต่างๆ ที่ชำรุดทรุดโทรมในคราวเดียวกันเมื่อแล้วเสร็จจึงได้มีการเฉลิมฉลองสมโภช ประเพณีงานนมัสการหลวงพ่อโบสถ์น้อยประจำปีก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นจะจัดในเดือนเมษายน(ราวกลางเดือน 5) แต่ในปัจจุบันกำหนดให้วันที่ 29 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันนมัสการประจำปีขององค์หลวงพ่อโบสถ์น้อย เพื่อระลึกว่าในวันดังกล่าวได้เกิดเหตุการณ์สำคัญที่หลวงพ่อโบสถ์น้อยถูกภัยทางอากาศ เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2.

  • เจ้าพ่อฉางเกลือ : อยู่ในศาลเจ้าเล็กๆที่ตั้งอยู่ริมถนนวังหลัง ฝั่งตรงข้ามกับโรงพยาบาลศิริราช โดยเชื่อเจ้าพ่อฉางเกลือก็คือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โดยประวัตความเป็นมาคือ ในสมัยก่อน เกลือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะใช้ในการประกอบอาหาร ถนอมอาหาร และเป็นส่วนประกอบในการปรุงยา พระเจ้าตากได้ทรงเห็นความสำคัญของเกลือจึงได้สร้างฉางเกลือไว้  ด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ ชาวบ้านจึงได้ถวายฉายานามว่า “เจ้าพ่อฉางเกลือ” และได้สร้างศาลไว้สำหรับสักการะ ต่อมาศาลได้ชำรุดทรุดโทรมจึงได้มีการสร้างศาลใหม่ขึ้นมา ในปัจจุบันศาลเจ้าพ่อฉางเกลือได้มีความสำคัญในด้านความเชื่อและความศรัทธาเป็นที่ยึดมั่น และมีนโยบายเรื่องการช่วยเหลือสังคม โดยเป็นศูนย์กลางในการรับบริจาคเงิน สิ่งของ และหีบศพให้แก่ผู้ยากจนและศพไร้ญาติจากผู้มีจิตศรัทธา โดยมีความเชื่อว่าเป็นการสร้างเสริมบารมี เพื่อสะเดาะเคราะห์ดวงชะตา ให้ชีวิตมีความสุขความเจริญยิ่งๆขึ้นไป.

  • พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน เป็นพิพิธภัณฑ์จัดสร้างขึ้นใหม่โดยใช้อาคารสถานีรถไฟธนบุรี (เดิม) นำเสนอเรื่องราวที่ทรงคุณค่ายิ่ง ทั้งทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่บริเวณคลองบางกอกน้อยวังหลัง ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี สืบมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้นยังแสดงประวัติของศิริราช ประวัติการแพทย์แผนไทย การสร้างทางรถไฟสายใต้และวิถีชุมชนบางกอกน้อย โดยใช้เทคนิคนำเสนออย่างทันสมัย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

เนื่องจากเป็นแหล่งชุมชนที่มีประวัติศาสตร์ จึงมักจะมีเรื่องเล่าตำนานที่เล่าต่อกันมา โดยมีเรื่องที่เด่นๆอยู่ 2 เรื่อง ดังนี้

  1. เมื่อครั้งที่นายช่างฝรั่งมาส่องกล้องเพื่อดำเนินการตัดทางสำหรับวางรางรถไฟนั้นเมื่อส่องกล้องแล้ว พบว่าเส้นทางนั้นจะต้องถูกพระอุโบสถและองค์พระพุทธรูปพอดี ในคราวนั้นกล่าวกันว่า ได้เกิดอาเพศเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้นจนนายช่างฝรั่งไม่สามารถที่จะทำการตัดเส้นทางให้เป็นแนวตรงได้ จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนเส้นทางใหม่เป็นแนวอ้อมโค้งดังปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน

  2. ต่อมาเมื่อเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาขึ้น เครื่องบินข้าศึกได้มาทิ้งระเบิดเพลิงเพื่อทำลายย่านสถานีรถไฟธนบุรี แต่เนื่องจากสถานีรถไฟกับวัดมีเขตติดต่อกัน จึงทำให้ปูชนียวัตถุสถานต่างๆ ภายในวัดอมรินทรารามถูกไฟเผาทำลายเป็นส่วนมาก แม้แต่พระอุโบสถซึ่งเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อโบสถ์น้อยก็ได้รับความเสียหายในครั้งนี้ด้วย

    ดังปรากฏว่ามีหลุมระเบิดอยู่รอบๆ พระอุโบสถ ในส่วนของเชิงชายพระอุโบสถก็ถูกไฟไหม้ แต่ในที่สุดไฟก็ดับได้เองเหมือนปาฏิหาริย์ แต่มีเรื่องเล่าที่ถูกบันทึกจากล่ามต่างประเทศที่รวบรวมเรื่องราวในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 บันทึกว่า ได้มีชาวบ้านพบเห็นหลวงพ่อโบสถ์น้อยมาโบกธงขาวเพื่อให้ระเบิดไปลงที่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำที่ชาวบ้านเรียกกันว่าฝั่งแขก เพื่อให้มีชาวบ้านในแถบวัดเสียชีวิตน้อยลง

รำลึกวังหลัง วังของ “หลาน” รัชกาลที่ 1 และร่องรอยที่เหลือจากอดีตใน “ตรอกวังหลัง”(2564). [ออนไลน์] สืบค้นเมื่อ 10 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.silpa-mag.com/

ภิรดา ชัยรัตน.(2565).การรับรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาเชิงพื้นที่ชุมชนตรอกวังหลัง เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร.วารสาร มจร สังคมศาสตร์ปริทรรศน์.

ตะลุยวังหลังด้วยเงิน 500 บาทซื้ออะไรได้บ้างมาดู.(2565).[ออนไลน์] สืบค้นเมื่อ 14 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.chillpainai.com/scoop/8407/

ชุมชนวังหลัง กทม. รวมตัวตั้งสหกรณ์เคหสถาน.(2558).[ออนไลน์] สืบค้นเมื่อ 14 กรกฎาคม 2566, จาก https://d.dailynews.co.th/agriculture/333163/

9 มิถุนายน วันอานันทมหิดล.(2566).[ออนไลน์].สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.silpa-mag.com/

วันสำคัญของมหาวิทยาลัยมหิดล.(2565)[ออนไลน์].สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2566, จาก https://mustudent.mahidol.ac.th

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี).[ออนไลน์].สืบค้นเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2566, จาก

http://www.dhammathai.org/monk/

ภัทราวดี มีชูธน.[ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2655, จาก https://thaimovie.org/people/ภัทราวดี

ประวัติหลวงพ่อโบสถ์น้อย วัดอมรินทรารามวรวิหาร เขตบางกอกน้อย กรุงเทพ.(2563).[ออนไลน์].สืบค้นเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2566, จาก https://historyoftemples.kachon.com/353597

“เจ้าพ่อฉางเกลือ” สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่านวังหลัง ท่านคือใคร?.(2565).[ออนไลน์].สืบค้นเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2566, จาก https://kidnan.com/31491/

พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน.[ออนไลน์].สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.museumthailand.com/th/museum/ศิริราชพิมุขสถาน