Advance search

หมู่บ้านน้ำตาลสดเป็นแหล่งปลูกตาลโตนดมากที่สุดในภาคตะวันออกของไทย ชาวบ้านยึดอาชีพทำน้ำตาลสดพร้อมดื่มและน้ำตาลปึกเป็นหลัก นอกจากนี้ยังเป็นเหมือนศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในด้านการทำน้ำตาลสด จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์น้ำตาลสดและน้ำตาลปึก ที่มีคุณภาพดีสามารถส่งขายและสร้างรายได้ให้กับครอบครัวและชุมชน

หมู่ที่ 11 ถนนวนะภูติ
บ้านปากน้ำ
ปากน้ำ
บางคล้า
ฉะเชิงเทรา
ธนวิชญ์ ใจดี
17 ก.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
29 ก.ค. 2023
ณัฐวุฒิ บัวคลี่
17 ก.ค. 2023
หมู่บ้านน้ำตาลสด

หมู่บ้านน้ำตาลสด เป็นชุมชนเก่าแก่แห่งหนึ่งของจังหวัดฉะเชิงเทราและเป็นแหล่งผลิตน้ำตาลสดพร้อมดื่มแห่งเดียวในภาคตะวันออก ในบริเวณมีต้นตาลโตนดที่มีความสูงเสียดฟ้าขึ้นอยู่มาก ส่งผลให้ชาวบ้านมีอาชีพหลักใหม่คือการทำน้ำตาลสดพร้อมดื่มและน้ำตาลปึก


หมู่บ้านน้ำตาลสดเป็นแหล่งปลูกตาลโตนดมากที่สุดในภาคตะวันออกของไทย ชาวบ้านยึดอาชีพทำน้ำตาลสดพร้อมดื่มและน้ำตาลปึกเป็นหลัก นอกจากนี้ยังเป็นเหมือนศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในด้านการทำน้ำตาลสด จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์น้ำตาลสดและน้ำตาลปึก ที่มีคุณภาพดีสามารถส่งขายและสร้างรายได้ให้กับครอบครัวและชุมชน

บ้านปากน้ำ
หมู่ที่ 11 ถนนวนะภูติ
ปากน้ำ
บางคล้า
ฉะเชิงเทรา
24110
13.74633
101.19914
เทศบาลตำบลปากน้ำ

หมู่บ้านน้ำตาลสดที่ตำบลปากน้ำ อำเภอบางคล้า ถือเป็นชุมชนเก่าแก่แห่งหนึ่งของจังหวัดฉะเชิงเทรา สมัยก่อนชาวบ้านตำบลปากน้ำเคยทำนามาก่อน แต่พอหน้าแล้งก็ทำนาไม่ได้ผลดีมากนัก ทว่าในบริเวณแห่งนี้มีต้นตาลโตนดที่มีความสูงเสียดฟ้าขึ้นอยู่มาก ส่งผลให้ชาวบ้านมีอาชีพใหม่คือการทำน้ำตาลสดพร้อมดื่มและน้ำตาลปึก โดยคนในชุมชนสามารถค้นหาน้ำจากต้นตาลโตนดที่สูงเสียดฟ้ามากลั่นกรองผ่านขั้นตอนและวิธีการที่คิดค้นกันขึ้นมาเอง จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์น้ำตาลสดและน้ำตาลปึก ที่มีคุณภาพดีสามารถส่งขายและสร้างรายได้ให้กับครอบครัวและชุมชน จนถือเป็นอาชีพที่ทำกันในทุกครัวเรือน โดยจะทำควบคู่ไปกับการทำนา

ในเวลาต่อมา พ.ศ. 2546 หมู่บ้านก็ได้ถูกจัดตั้งโดยได้งบประมาณจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในชื่อของ "หมู่บ้านน้ำตาลสด" เพื่อจัดตั้งเป็นชมรมหมู่บ้านน้ำตาลสด ให้ชาวบ้านที่ทำน้ำตาลสดในแถบนี้ได้อนุรักษ์ สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น และเผยแพร่ความรู้ให้แก่นักท่องเที่ยว และคนรุ่นใหม่ ได้เห็น ได้สัมผัส เรียนรู้กระบวนการทำน้ำตาลสดและน้ำตาลโตนด

ทว่าในทุกวันนี้อาชีพทำน้ำตาลสดกลับค่อยๆ ลดน้อยถอยลงไปทุกที จากการก้าวเข้ามาของวัฒนธรรมสมัยใหม่อย่างโรงงานอุตสาหกรรมและการเลี้ยงกุ้ง มีหลายครอบครัวที่ทิ้งต้นตาลโตนดแล้วเข้าไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม หรือบ้างก็เปลี่ยนอาชีพไปทำนากุ้งแทน ทำให้อาชีพการทำน้ำตาลสดจากตาลโตนดลดน้อยลงไปและหาดูได้ยากพอสมควรในปัจจุบัน และสวนตาลโตนดบางแห่งเปลี่ยนเป็นนากุ้งขึ้นมาแทน แต่ก็ยังคงมีให้ชมให้ชิมในหลายจุดหลายครอบครัวที่ตำบลปากน้ำแห่งนี้ โดยเฉพาะที่สถานีบริการและเรียนรู้การทำน้ำตาลสดของชาวตำบลปากน้ำ (หรือในชื่อ สมนึกน้ำตาลสด)

หมู่บ้านน้ำตาลสด เป็นแหล่งผลิตน้ำตาลสดจากตาลโตนดพร้อมดื่มแห่งเดียวในภาคตะวันออก หมู่บ้านแห่งนี้จะไม่อยู่ติดๆ กันแบบหมู่บ้านทั่วไป แต่จะอยู่กระจัดกระจายในบริเวณโดยรอบ หมู่บ้านนั้นเป็นพื้นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำบางปะกงไหลผ่านทางทิศตะวันตก พื้นที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การทำอาชีพเกษตรกรรม

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลหัวไทร อำเภอบางคล้า
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลบางคล้า อำเภอบางคล้า
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลเมืองใหม่ อำเภอราชสาส์น
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ  ตำบลบางตลาด อำเภอคลองเขื่อน

จากข้อมูลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2565 พบว่า ภายในเทศบาลตำบลปากน้ำ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา อันเป็นพื้นที่ที่หมู่บ้านน้ำตาลสดตั้งอยู่ มีจำนวนประชากรทั้งหมด 787 คน แบ่งออกเป็นประชากรชาย จำนวน 360 คน และประชากรหญิง จำนวน 427 คน มีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 449 ครัวเรือน 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ

การเก็บเกี่ยวตาลโตนด 

ต้นตาลโตนดที่เลือกที่จะเก็บเกี่ยวนั้นต้องมีอายุ 10 ปีขึ้นไป จึงจะมีน้ำตาลสดให้เรารับประทาน บางแหล่งข้อมูลก็บอกว่าอายุต้นต้อง 12 ปีขึ้นไป และเราสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้นานถึง 80 ปีเลยทีเดียว

ต้นตาลโตนดจะแบ่งออกเป็นตัวผู้และตัวเมีย ตัวผู้จะสังเกตได้จากงวงตาลที่ยาวออกมาประมาณสัก 40-50 เซนติเมตร และมีดอกบาน งวงส่วนใหญ่จะออกยาวประมาณ 3 งวง ถ้า4 งวง ชาวบ้านเขาจะไม่ใช้ในการปาดตาล ส่วนตัวเมียจะไม่มีงวงแต่เป็นลูกตาลแทน ซึ่งมีขนาดลูกเท่าลูกหมาก ลูกละมุด หรือใหญ่กว่านั้นหลังจากที่ช่อดอกตัวเมียบาน โดยที่ต้นตาลตัวผู้จะให้น้ำตาลสดเยอะกว่าตัวเมีย ชาวบ้านจะเลือกจะเก็บเกี่ยวจากต้นตาลตัวผู้มากกว่า

ในแต่ละวันจะมีการเก็บเกี่ยว 2 ครั้งต่อวัน แบ่งออกเป็นช่วงเช้ากับช่วงบ่าย ชาวบ้านที่นี่เลือกจะเก็บน้ำตาลสดในช่วงเช้ามากกว่า เพราะว่าน้ำตาลสดที่เก็บในช่วงเช้าจะมีคุณภาพมากกว่าของที่เก็บในช่วงบ่าย ถ้าเก็บในช่วงบ่ายความร้อนในอากาศจะทำให้น้ำตาลสดไม่ค่อยมีคุณภาพและอาจจะบูดเสียได้มากกว่า

อุปกรณ์ในการรองน้ำตาลสดจะใช้เป็นกระบอกไม้ไผ่ที่ทำเหมือนบ้องข้าวหลามหัวตัดท้ายปิด ขนาดความจุประมาณ 1-3.5 ลิตร เอาไปกันเป็นพวงๆ หลายพวง ซึ่งต้องนำไปรมไฟฆ่าเชื้อก่อน แล้วใส่ไม้เคี่ยมที่เป็นไม้ตระกูลไม้ฝาด ตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ ประมาณ 1 ข้อนิ้ว ใส่ไว้ในกระบอกไม้ไผ่ ทำหน้าที่เหมือนสารกันบูดเพื่อนกันไม่ให้ตาลสดบูดเสีย

การนวลตาลนั้นเป็นการกระตุ้นให้ต้นตาลรีดน้ำหวานออกมาไว้ที่ดอกหรืองวงตาล ช่วยให้ได้น้ำตาลเยอะ โดยใช้เครื่องมือจากภูมิปัญญาชาวบ้านที่เรียกว่า "ไม้คาบตาล" มีลักษณะเป็นไม้ 2 ท่อน ผูกติดกันด้านหนึ่งเหมือนตะเกียบหรือตัวหนีบขนาดใหญ่ บีบงวงตาลหรือนวดตาลเบา ๆ วันละครั้ง ทำติดต่อกัน 3-4 วัน (บางแหล่งข้อมูลบอกว่าทำติดต่อกัน 5-7 วัน) ให้งวงนิ่ม จากนั้นนำกระบอกไม้ไผ่ที่ทำเหมือนบ้องข้าวหลามหัวตัดท้ายปิดมารองน้ำตาลสด ซึ่งมีขนาดความจุประมาณ 1-3.5 ลิตร เอาไปกันเป็นพวงๆ หลายพวง ก่อนใช้ต้องนำไปรมไฟฆ่าเชื้อก่อนแล้วใส่ไม้เคี่ยมที่เป็นไม้ตระกูลไม้ฝาด ตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ ประมาณ 1 ข้อนิ้ว ใส่ไว้ในกระบอกไม้ไผ่ ทำหน้าที่เหมือนสารกันบูดเพื่อนกันไม่ให้ตาลสดบูดเสีย

ขณะที่ลูกตาลของต้นตัวเมียจะใช้ไม้คาบตาลสำหรับตัวเมีย วิธีการใช้เหมือนกันคือจะนวดบริเวณรอบก้านที่ติดลูก ทำติดต่อกันประมาณ 3 วัน โดยใช้กระบอกไม้ไผ่รองน้ำตาลสดเช่นกัน

หลังจากนวดตาลเสร็จก็ทำการปาดตาล ด้วยการนำมีดคมๆ กรีดที่ปลายงวงตาลเพื่อให้น้ำจากงวงไหลออกมา กรีดไล่ตั้งแต่ปลายงวงถึงโคนงวงในวันต่อๆ ไป แล้วก็รองน้ำตาลสดด้วยกระบอกไม้ไผ่ ทำเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าน้ำตาลจะหมด ส่วนของต้นตัวเมียจะปักปลายก้านหรือปล่ายจั่นทิ้งไว้ที่ลูกตาลประมาณ 1 นิ้ว แล้วถึงจะปาดเอาน้ำตาลสดจนกว่าจะหมด รองด้วยกระบอกไม้ไผ่เช่นเดียวกับตัวผู้

การผลิตน้ำตาลสดและน้ำตาลโตนด

เมื่อได้น้ำตาลที่รองจากกระบอกไม้ไผ่แล้ว นำน้ำตาลที่ได้ใส่กระทะใบบัว นำขึ้นตั้งไฟ (มักใช้เตาถ่าน) ขั้นตอนนี้สามารถนำน้ำตาลจากต้นตาลตัวผู้และตัวเมียมาปนกันได้เลย ก่อนนำลงกระทะเทผ่านผ้าขาวบางเพื่อให้กรองเศษไม้พะยอมออกก่อน

น้ำตาลที่รองมาได้จากต้นตาล หากยังไม่ได้ผ่านการต้มมีรสชาติจะหวานอ่อนๆ กลิ่นไหม้นิดๆ เป็นกลิ่นที่มาจากกระบอกไม้ไผ่ที่รองน้ำตาลลงมา การทำน้ำตาลสดให้เก็บได้นานขึ้น จะต้องนำไปต้มให้พอเดือด น้ำตาลสดที่ผ่านการต้มแล้ว จะมีสีเข้มขึ้น ให้รสชาติหวานขึ้นและมีกลิ่นหอม

หากที่จะทำตาลโตนดจะต้องเคี่ยวน้ำตาลให้เดือดอยู่ประมาณ 2-3 ชั่วโมง เพื่อให้น้ำระเหยออกไปให้มากที่สุด ระหว่างต้มต้องคอยตักฟองทิ้งด้วย จากนั้นก็เคี่ยวจนข้นกลายเป็นน้ำตาลเหลวสีเข้ม จึงนำไปใส่เบ้าพิมพ์คล้ายถ้วย ก็จะได้น้ำตาลปึก หากใส่ปี๊บก็จะได้น้ำตาลปี๊บ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

อาหาร

ตาลโตนด ถือเป็นไม้ตระกูลเก่าแก่ตระกูลหนึ่งในโลกซึ่งเป็นต้นไม้ที่มีอายุยืนนับเป็นร้อยปี นักชีววิทยามีความเห็นว่า ตาลโตนดน่าจะมีถิ่นกำเนิดทางฝั่งตะวันออกของอินเดียขยายไปสู่ศรีลังกา สหภาพเมียนม่าร์ ไทย อินโดนีเซีย กัมพูชา ส่วนในประเทศไทยพบมากที่จังหวัดเพชรบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ส่วนภาคใต้พบมากที่อำเภอสทิงพระ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา และภาคตะวันออกพบมากในเขตอำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา 

น้ำตาลที่ได้รับจากช่อดอกหรืองวงของต้นตาลโตนด คนส่วนใหญ่นั้นจะรู้จักกันอยู่ในรูปของน้ำตาลปึกหรือน้ำตาลปิ๊บ ซึ่งเรียกกันตามรูปร่างของน้ำตาลและภาชนะที่ใส่ ในปัจจุบันจะหาตาลโตนดแท้ๆ ได้ยากมากจากต้นทุนการผลิตที่แพง ทำให้ในท้องตลาดจะมีการผสมน้ำตาลทรายหรือผสมแบะแซบ้างเข้าไปด้วย เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิต

สำหรับตาลโตนดแท้นั้นจะมีกลิ่มหอมและรสชาติที่กลมกล่อมกว่าน้ำตาลอ้อยและน้ำตาลมะพร้าว หากต้องการก็ต้องจำเป็นต้องไปซื้อจากแหล่งผลิตโดยตรง อย่างเช่น หมู่บ้านน้ำตาลสดที่เป็นแห่งผลิตน้ำตาลโตนดแห่งเดียวในภาคตะวันออก

ผลิตภัณฑ์จากตาลโตนดนอกจากน้ำตาลปึกหรือน้ำตาลปิ๊บแล้ว นำเอาเมล็ดของผลตาลจากต้นตาลตัวเมียมาทำขนม เช่น ตาลลอยแก้ว พายลูกตาล หรือเอามารับประทานสดๆ กันได้อีกด้วย ขณะที่แก่นงวงจากต้นตัวผู้สามารถนำมาใช้รีดน้ำจากงวงก็เอามาหันเป็นแว่น ๆ นำไปตากแดดจนแห้ง นำมาชงใส่น้ำร้อนดื่มเหมือนน้ำชาได้อีกด้วย ลดน้ำตาลในเลือด ลดความดัน และลดคอเลสเตอรอลเรสได้อีกด้วย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

แม้จะประสบปัญหาอาชีพผลิตน้ำตาลเสื่อมถอยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา ทว่าในปี พ.ศ. 2546 หน่วยงานภาครัฐก็ได้เข้ามาส่งเสริม ฟื้นฟูการประกอบอาชีพแนววัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นตามนโยบายของประเทศ หมู่บ้านก็ได้ถูกจัดตั้งโดยได้งบประมาณจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในชื่อของ "หมู่บ้านน้ำตาลสด" เพื่อจัดตั้งเป็นชมรมหมู่บ้านน้ำตาลสดและอนุรักษ์วัฒนธรรมการผลิตน้ำตาล ส่งผลให้อาชีพผลิตน้ำตาลเริ่มฟื้นตัวอีกครั้ง เพราะน้ำตาลถือว่ามีความสำคัญต่อครัวเรือนไทยในการทำอาหารหรือขนม นอกจากนี้ทางชุมชนตำบลปากน้ำ อำเภอบางคล้าเองก็เห็นควรให้อนุรักษ์ตาลโตนดให้เป็นอาชีพที่เป็นเอกลักษณ์ของตำบลร้อยละ 93 อีกด้วย

ทางด้านปัจจัยภายนอกที่ส่งเสริมการผลิตน้ำตาลจากตาลโตนดเอง บุคคลที่มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และส่งเสริมก็มาจากผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้บริโภค ขณะที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนก็ให้การสนับสนุนอยู่ด้วย เช่น เทศบาลตำบลปากน้ำ ธนาคารเพื่อการเกษตรและส่งเสริมการเกษตร เป็นต้น

นอกจากนี้จากผลการศึกษาในบทความ "การพัฒนารูปแบบการอนุรักษ์และส่งเสริมผลผลิตจากตาลโตนด กรณีศึกษาชุมชนตำบลปากน้ำ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา" ปี 2550 ของลักษณาพร โรจน์พิทักษ์กุล หมู่บ้านน้ำตาลเดิมทีในชุมชนประกอบอาชีพทำนาควบคู่ไปกับผลิตน้ำตาล เนื่องจากในอดีตมีต้นตาลโตนดขึ้นอยู่ทั่วตำบล ทว่าตั้งแต่ พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา การประกอบอาชีพผลิตน้ำตาลเริ่มเสื่อมถอยลง จากการก้าวเข้ามาของวัฒนธรรมสมัยใหม่อย่างโรงงานอุตสาหกรรมและการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ

ในการศึกษาข้อมูลเชิงปริมาณในบทความ ประชาชนมีอาชีพรับจ้างทั่วไปร้อยละ 39 ในจำนวนนี้ในอดีตเคยประกอบอาชีพผลิตน้ำตาลมาก่อนร้อยละ 18 อาชีพค้าขายร้อยละ 17 และรับจ้างในโรงงานอุตสาหกรรมร้อยละ 11 ในอดีตเองชุมชนประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์ร้อยละ 1 แต่ในปี 2550 ก็เพิ่มมาเป็นร้อยละ 9 ที่นิยมคือการเลี้ยงกุ้งกุลาดำตามกระแสที่ให้ผลกำไรสูงในช่วงแรก ซึ่งการเลี้ยงกุ้งกุลาดำในเวลาต่อมาก็นำมาสู้ปัญหาภาวะขาดทุนและหนี้สิน เกิดการนำเงินมาเลี้ยงกุ้งกุลาดำแล้วไม่มีกำไร ส่งผลให้ครัวเรือนไม่สามารถปลดภาระหนี้สินและต้องขายบ่อกุ้งไป

อีกทั้งผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2556 ส่งผลให้มีการปรับพื้นที่ดินให้สูงขึ้นเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม ส่วนประชาชนปรับวิถีชีวิตจากการทำเกษตรกรรมเป็นอาชีพรับจ้างในโรงงาน  มีเพียงบางตำบลที่ยังประกอบอาชีพเกษตรกรรม  บางพื้นที่มีการขุดคลอง ขุดสระน้ำเพิ่ม เปลี่ยนจากอาชีพทำนาเป็นการเลี้ยงกุ้งและฟาร์มสัตว์ ทำให้มีแนวโน้มที่จะไปประกอบอาชีพทำงานในโรงงานหรือเลี้ยงกุ้งกุลาดำ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กรมการปกครอง. (2565). ระบบสถิติทางการทะเบียน จำนวนประชากร. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://stat.bora.dopa.go.th/

แผนที่/ที่ตั้งอำเภอบางคล้า. (ม.ป.ป.).  สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566. เข้าถึงได้จาก http://ccs.nfe.go.th/bangkha/

ลักษณาพร โรจน์พิทักษ์กุล. (2550). การพัฒนารูปแบบการอนุรักษ์และส่งเสริมผลผลิตจากตาลโตนด กรณีศึกษาชุมชนตำบลปากน้ำ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา. วารสารศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา, 18(2), 49-62. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://so02.tci-thaijo.org/

หมู่บ้านน้ำตาลสด. (ม.ป.ป.). (ออนไลน์) สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://www.ceediz.com/

หมู่บ้านน้ำตาลสด. (ม.ป.ป.). (ออนไลน์) สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2566. เข้าถึงได้จาก http://www.igettrip.com/

หมู่บ้านน้ำตาลสด. (ม.ป.ป.). (ออนไลน์) สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://thailandtourismdirectory.go.th/

หมู่บ้านน้ำตาลสด. (ม.ป.ป.). (ออนไลน์) สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://thai.tourismthailand.org/

หมู่บ้านน้ำตาลสด ฉะเชิงเทรา. (ม.ป.ป.). (ออนไลน์) สืบค้นเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2566. เข้าถึงได้จาก http://www.zthailand.com/

StationbyWayha. (2563). หมู่บ้านน้ำตาลสด อำเภอบางคล้า. (ออนไลน์) สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://intrend.trueid.net/