บ้านเชิงเขา ชุมชนที่มีความบริบูรณ์พร้อมทั้งทรัพยากรธรรมชาติ และทรัพยากรมนุษย์ สู่การบริหารจัดการที่ครั้งหนึ่งเคยนำพาชุมชนเข้าสู่ยุครุ่งเรืองทางเศรษฐกิจถึงขีดสุด
บ้านเชิงเขา ชุมชนที่มีความบริบูรณ์พร้อมทั้งทรัพยากรธรรมชาติ และทรัพยากรมนุษย์ สู่การบริหารจัดการที่ครั้งหนึ่งเคยนำพาชุมชนเข้าสู่ยุครุ่งเรืองทางเศรษฐกิจถึงขีดสุด
พ.ศ. 2482 ชายชาวจีนจากดินแดนโพ้นทะเลเดินทางโล้สำเภามาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนบริเวณเขาโกรกตะแบก (ภูเขาที่มีต้นตะแบกอยู่ทั่วทั้งเขา และมีลําธารไหลลงมาจากเขาไม่เคยขาด) ซึ่งปัจจุบันคือที่ตั้งวัดเขาคีรีภาวนาราม ภายหลังมีผู้คนจากจังหวัดนครปฐม อ่างทอง สุพรรณบุรี และปราจีนบุรี ได้อพยพเข้ามาสร้างบ้านเรือนบริเวณเขาโกรกตะแบกแห่งนี้ด้วยเพราะพื้นที่เดิมไม่อุดมสมบูรณ์ เนื่องจากชาวบ้านที่มาส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ชาวบ้านจึงต้องแสวงหาถิ่นฐานใหม่ที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การประกอบอาชีพ และเห็นว่าบริเวณเขาโกรกตะแบกนี้ป่าไม้ ทรัพยากรธรรมชาติ น้ำท่าบริบูรณ์ จึงตัดสินใจอพยพย้ายครอบครัวมาตั้งถิ่นฐานภูมิลำเนาใหม่ ณ เขาลูกนี้ ซึ่งบริเวณนี้ตรงกับหลักกิโลเมตรที่ 16 ของอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี จึงมีชื่อเรียกลักษณะการรวมตัวของบ้านเรือนแถบนี้ว่า กม. 16
พ.ศ. 2506 มีการสร้างสนามบินอู่ตะเภาและมีการตั้งฐานทัพของทหารอเมริกัน ชาวบ้านมีการสร้างห้องพักและบ้านเช่าเพื่อให้ทหารอเมริกันและชาวต่างชาติที่เข้ามาประกอบธุรกิจเช่า ซึ่งราคาค่าเช่าประมาณ 3,000 บาทต่อหลัง ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่เศรษฐกิจในชุมชนเฟื่องฟูถึงขีดสุด แต่กว่าจะสร้างอาคารบ้านเรือนเคหสถานต่าง ๆ แล้วเสร็จ ทหารต่างชาติและชาวต่างชาติก็เริ่มทยอยกลับประเทศ กอปรกับมีเหตุการณ์เกี่ยวกับการเมืองภายในประเทศ คือ เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 มีการขับไล่ชาวต่างชาติโดยขบวนการนักศึกษา จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ต้องเดินทางย้ายกลับประเทศเพื่อความปลอดภัยและเหตุผลด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจของชุมชนเริ่มซบเซา บ้านเช่าขาดผู้เช่า เนื่องจากมีการขับไล่ชาวต่างชาติ จากขบวนการนิสิตนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 จึงเป็นอีกเหตุผลที่ต้องกลับประเทศเพื่อความปลอดภัยและมิตรภาพ ยังผลให้เศรษฐกิจแถบนี้เริ่มซบเซา บ้านเช่าไม่มีผู้เช่า จึงต้องลดราคาค่าเช่าลง
พ.ศ. 2525 มีการก่อตั้งกองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน มีการเวนคืนที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของชาวบ้านให้กับกองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน ชาวบ้าน กม.16 จึงได้อพยพย้ายบ้านเรือนมาทางทิศตะวันออกของเขา ซึ่งก็คือบ้านเชิงเขาในปัจจุบัน
ที่ตั้งและอาณาเขต
หมู่บ้านเชิงเขา หมู่บ้านที่ 8 ในจํานวน 8 หมู่บ้านในเขตพื้นที่ตําบลสํานักท้อน อําเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ตั้งอยู่ห่างจากที่ว่าการอําเภอบ้านฉางไปทางด้านทิศเหนือตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 (สุขุมวิท) เส้นทาง 3376 และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 332 ระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร และตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของอําเภอเมืองจังหวัดระยอง ระยะทางห่างจากจังหวัดระยอง 179 กิโลเมตร หมู่บ้านเชิงเขามีพื้นที่ทั้งหมด 3,125 ไร่ พื้นที่ทางการเกษตร 111 ไร่ มีทั้งที่ปลูกมันสําปะหลัง ปลูกยูคาลิปตัส และเกษตรแบบผสมผสาน โดยมีอาณาเขตติดต่อกับหมู่บ้านอื่น ๆ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่บ้านสระแก้ว หมู่ที่ 3 ตำบลสํานักท้อน
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลพลา อำเภอบ้านฉาง
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ที่ 1 ตำบลพลา อำเภอบ้านฉาง เทศบาลตำบลบ้านฉาง
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่บ้านคลองบางไผ่ หมู่ที่ 4 ตำบลสำนักท้อน อำเภอบ้านฉาง
ลักษณะภูมิประเทศ หมู่บ้านเชิงเขามีลักษณะทางภูมิประเทศแบ่งออกเป็น 2 ส่วน
- ส่วนที่ 1 เป็นที่ราบลุ่มและที่เนินบางส่วนทางด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้าน ซึ่งพื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ตั้งบ้านเรือน และมีพื้นที่ทําการเกษตรแบบผสมผสานที่ทางการเข้ามาจัดสรรให้
- ส่วนที่ 2 เป็นที่ราบเนินเขา มีภูเขาลูกเตี้ย ๆ กระจายอยู่ถัดจากบริเวณที่ตั้งบ้านเรือนขึ้นมาทางทิศตะวันออกและด้านทิศเหนือ พื้นที่บริเวณนี้จะมีการทําเกษตร เช่น ปลูกมันสําปะหลัง เกษตรผสมผสาน เช่น มะพร้าว ขนุน มะม่วง และบางส่วนเป็นที่อยู่อาศัย
สภาพภูมิอากาศ
หมู่บ้านเชิงเขามีพื้นที่อยู่ในเขตภูมิอากาศแบบมรสุมเมืองร้อน แบ่งเป็น 3 ฤดู ได้แก่ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว แต่เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบมีภูเขาและป่าไม้กระจายอยู่ทั่ว จึงทําให้ลักษณะภูมิอากาศไม่ร้อนจัดและไม่หนาวจัดเกินไป ดังจะแยกแต่ละฤดู ดังนี้
- ฤดูร้อน เริ่มในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม ในฤดูนี้มีอากาศร้อนมากทั้งตอนกลางวัน และกลางคืน แต่ก็มีความชื้นจากภูเขาและป่าไม้
- ฤดูฝน เริ่มในช่วงเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ในฤดูฝนนี้ปริมาณน้ำฝนที่ตกมามีปริมาณมากพอ ทำให้ชาวบ้านมีน้ำใช้เพียงพอสำหรับการเกษตร แต่ด้วยพื้นที่ในหมู่บ้านเชิงเขา เป็นดินปน ทรายการอุ้มน้ำในเนื้อดินมีน้อย พืชที่ปลูกส่วนใหญ่จึงเป็นพืชประเภทที่ไม่ต้องใช้น้ำมากเท่าใดนัก เช่น มันสำปะหลัง
- ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน-มกราคมปีถัดไป สภาพความหนาวเย็นของภูมิอากาศจะขึ้นอยู่กับระดับความกดอากาศ เนื่องจากอยู่ใกล้ทะเลและป่าเขา ภูมิอากาศในฤดูนี้ในบางครั้งจึงค่อนข้างแปรปรวน
ลักษณะการปลูกสร้างบ้านเรือน การปลูกสร้างบ้านเรือนของชาวบ้านจะปลูกสร้างในรูปแบบง่าย ๆ ในอดีตส่วนใหญ่จะนิยมสร้างด้วยไม้ โดยไม้ที่นํามาปลูกบ้านจะหาได้จากสวนป่าภายในหมู่บ้านหรือพื้นที่ป่าบริเวณใกล้เคียง เช่น ไม้เต็ง ไม้กระถิน ไม้รัง ฯลฯ แต่ปัจจุบันบางครัวเรือนเริ่มมีการสร้างบ้านรูปแบบใหม่ตามสมัยนิยม รูปแบบบ้านจึงมีให้เห็นหลากหลายแบบ ดังนี้
- บ้านชั้นเดียวติดพื้น มีอยู่ 3 ลักษณะ ลักษณะแรก คือ บ้านชั้นเดียวติดพื้นสร้างด้วยไม้ทั้งหลัง พื้นฉาบปูนซีเมนต์ หลังคามีทั้งสังกะสีและกระเบื้อง ภายในตัวบ้านปล่อยเป็นที่โล่ง ไม่มีการ มีประตูเข้า-ออกทางเดียว การประกอบอาหารทํากันที่พื้นปูนซีเมนต์หน้าบ้าน เพราะไม่มีห้องครัว บางครอบครัวมีการทําครัวกันในบ้าน ลักษณะที่สอง คือ บ้านชั้นเดียวติดพื้นก่ออิฐบล็อกมาถึงวงกบหน้าต่างบ้านส่วนอีกครึ่งเป็นไม้ หลังคามักเป็นสังกะสีและกระเบื้อง บ้านลักษณะนี้ส่วนมากพบในซอยบ่อนไก่และซอยป้าหงส์ ในกลุ่มบ้านหน้าถนนสุขุมวิทหรือ กม. 16 และเนินพัฒนา ลักษณะสุดท้าย คือ บ้านชั้นเดียวติดพื้นก่ออิฐถือปูนทั้งหลัง หลังคามักมุงด้วยกระเบื้อง พื้นปูด้วยแผ่นกระเบื้องลายและสีเดียวกัน ภายในบริเวณบ้านมีการกั้นห้อง ส่วนใหญ่เป็นบ้านเช่า ซึ่งพบอยู่ทั่วไปในหมู่บ้าน
- บ้านชั้นเดียวยกพื้นสูง เป็นบ้านไม้ทั้งหลัง ใต้ถุนบ้านเป็นที่โล่ง แต่บางบ้านมีกั้นใต้ถุนเป็นห้องครัวและห้องน้ำ หรือเป็นที่เก็บของ และมีแคร่เพื่อเป็นที่สันทนาการ ลักษณะบ้านมักพบได้ในกลุ่มบ้านหน้าถนนสุขุมวิทหรือ กม. 16 และพบได้มากบริเวณเนินพัฒนา
- บ้านสองชั้นครึ่งไม้ครึ่งปูน เป็นบ้านที่ชั้นล่างมักก่อสร้างด้วยอิฐฉาบปูน ชั้นบนเป็นไม้ทั้งหลัง หลังคามีทั้งมุงสังกะสีและกระเบื้อง ชั้นล่างเป็นที่โล่ง อาจมีห้องส่วนตัวของคนในบ้าน มีห้องเก็บของชั้นบนเป็นห้องนอน บ้านลักษณะนี้แต่เดิมเป็นบ้านชั้นเดียวยกพื้นสูง แต่เมื่อมีสมาชิกมากขึ้น จึงต้องมีการต่อเติมชั้นข้างล่างโดยก่อเป็นอิฐบล็อกฉาบปูนซีเมนต์ พบมากในกลุ่มหน้าถนนสุขุมวิทหรือกม. 16 และกลุ่มเนินพัฒนา
- บ้านสองชั้นก่ออิฐถือปูน เป็นบ้านสองชั้นที่ก่ออิฐถือปูนทั้งหลัง มีการแบ่งสัดส่วนพื้นที่อย่างเป็นระบบระเบียบ มีการจ้างสถาปนิกในการควบคุมงานก่อสร้าง บ้านลักษณะนี้อยู่ในละแวกกลุ่มบ้านหน้าถนนสุขุมวิทหรือ กม. 16 และบริเวณกลุ่มบ้านพักทหาร เป็นบ้านสองชั้นก่ออิฐถือปูน เป็นบ้านที่ก่อสร้างตามแบบที่กําหนดของทางราชการ ทุกบ้านมีพื้นที่ในการใช้สอยในความกว้างยาวที่เท่ากัน เป็นบ้านที่สร้างติดกันไปเรื่อย ๆ บริเวณบ้านเป็นที่โล่ง มีห้องน้ำชั้นล่าง ชั้นบนว่างเป็นที่กว้าง ตั้งอยู่ทั้งสองฝั่งถนนในบริเวณพื้นที่ บ้านพักอยู่ในบริเวณกองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานด้านทิศตะวันตก ใกล้ถนนทางหลวงหมายเลข 332 ฝั่งละ 20 หลังคาเรือน รวมทั้งสิ้น 40 หลังคาเรือน
ทรัพยากรธรรมชาติ
ทรัพยากรดิน บ้านเชิงเขา มีลักษณะดินเป็นดินปนทรายและดินเหนียวปนทราย ซึ่งเป็นดินส่วนใหญ่ที่พบในภาคตะวันออก แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
- ลักษณะดินคละ เป็นดินตื้นลักษณะดินปนทรายอยู่บริเวณทางด้านทิศตะวันตกและด้านทิศเหนือของกองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน และกลุ่มบ้านเนินพัฒนา ดินบริเวณนี้เหมาะแก่การปลูกพืชไร่ เช่น มันสําปะหลัง พืชสวน เช่น มะม่วง ชมพู่ มะพร้าว ฯลฯ
- ลักษณะดินพื้นที่ภูเขา เป็นดินเหนียวปนทราย อยู่บริเวณด้านตะวันออกถัดไปทางด้านเหนือบ้างเล็กน้อย อยู่บริเวณกลุ่มบ้านหน้าถนนสุขุมวิทและกลุ่มบ้านเนินพัฒนา ดินบริเวณนี้เหมาะแก่การปลูกพืชสวน เช่น มะม่วง มะพร้าว และพืชไร่บางส่วน
ทรัพยากรน้ำ บ้านเชิงเขามีแหล่งน้ำในการอุปโภคบริโภค ทั้งที่เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติ และแหล่งน้ำที่หน่วยงานราชการและชาวบ้านสร้างขึ้น ได้แก่
- น้ำฝน ในอดีตชาวบ้านใช้น้ำฝนในการบริโภค แต่เมื่อมีโรงงานอุตสาหกรรมมาประกอบกิจการอยู่โดยรอบ น้ำฝนที่ใช้บริโภคเริ่มเกิดปัญหามีสิ่งเจือปน ชาวบ้านสังเกตจากการตักน้ำฝนแล้วทิ้งไว้ เมื่อน้ำฝนระเหยไปจะมีคราบสิ่งเจือปนจับที่ขัน ชาวบ้านจึงตัดสินใจเลิกบริโภคน้ำฝนแล้วเปลี่ยนมาซื้อน้ำจากผู้ผลิตน้ำดื่ม และก่อนที่จะมีน้ำประปาใช้ในปัจจุบัน กลุ่มบ้านหน้าถนนสุขุมวิทหรือ กม.16 มักประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในการอุปโภคช่วงฤดูแล้ง ชาวบ้านต้องซื้อน้ำจากตัวแทนจําหน่ายน้ำอุปโภคในราคาคันรถละ 250-350 บาท ซึ่งสามารถใช้ได้เป็นเวลาหลายเดือน
- นํ้าตก เดิมทีอาณาเขตทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกของหมู่บ้านวังน้ำขาวป็นพื้นที่ที่มีน้ำตกไหลผ่านมาจากเขาโกรกตะแบก ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “ภูเขาเจ้าพ่อเจ้าแม่หลวงเตี้ย” เป็นน้ำตกที่ไม่ได้ไหลแรงมาก แต่ไหลเรื่อย ๆ ไม่มีวันแห้ง โดยจะไหลเป็นลำธารมาถึงซอยป้าหงส์ในปัจจุบัน ทว่า ในปีพ.ศ. 2536 มีการก่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออก สาย กม.139 ชุมทางศรีราชาแยกไปท่าเรือแหลมฉบังและสถานีชุมทางเขาชีจรรย์แยกไปนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุต จังหวัดระยอง (กม. 203) ส่งผลให้น้ำตกที่ไหลจากทิศเหนือมายังทิศตะวันออกก็ไม่มีอีก เหลือเพียงทางทิศเหนือเท่านั้นที่ยังมีอยู่บนเขาเจ้าพ่อเจ้าแม่หลวงเตี้ย เหตุผลเพราะมีการฉาบปูนซีเมนต์เพื่อกันดินพังทลายมาทับรางรถไฟจึงมีผลให้ปิดทางน้ำไปด้วย
- บ่อน้ำใต้ดิน เป็นบ่อน้ำที่ชาวบ้านขุดขึ้นเพื่อนําน้ำมาใช้ประโยชน์ด้านการอุปโภค บ่อน้ำที่ขุดกว้างประมาณ 1.5 เมตร ลึกประมาณ 20 เมตร ฝังปลอกท่อซีเมนต์โบกปูน แรกเริ่มที่สร้างบ่อน้ำไม่มีฝาปิด แต่ภายหลังมีการเปลี่ยนมาใช้ฝาปิดแล้วนำท่อพลาสติกใส่ลงไปเพื่อเป็นทางผ่านให้น้ำขึ้นเมื่อคันโยกทำงาน แต่ปัจจุบันมีการติดตั้งปั้มน้ำอัตโนมัติในหมู่บ้าน บ่อน้ำใต้ดินจึงต้องถูกเลิกใช้ไป
ลักษณะครอบครัวที่ปรากฏในชุมชนบ้านเชิงเขานั้นมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ ครอบครัวเดี่ยว และครอบครัวขยาย สําหรับครอบครัวขยาย เป็นครอบครัวขนาดใหญ่ มีจำนวนสมาชิกตั้งแต่ 4 ไปจนถึง 12 คน ข้อสังเกตประการหนึ่งของครอบครัวขยายบ้านเชิงขาวที่มีเชื้อสายจีน คือ เมื่อลูกคนเล็กออกเรือน จะไม่ย้ายออกจากบ้านของพ่อแม่ เนื่องจากต้องทำหน้าที่เลี้ยงดูพ่อแม่ ซึ่งแตกต่างจากพี่ ๆ คนอื่น ๆ ที่เมื่อแตงงานแล้วมักจะแยกย้ายออกจากบ้านพ่อแม่ไปสร้างบ้านของตนเอง และมักออกไปทำงานต่างถิ่น เมื่อมีลูกจึงนําลูกมาให้พ่อแม่ของตนเป็นคนเลี้ยง โดยส่งเงินค่าเลี้ยงดูให้เป็นรายเดือน
ในอดีตการประกอบอาชีพของชาวบ้านมีทางเลือกไม่มากนัก ด้วยข้อจำกัดทางการศึกษา การคมนาคม หรือสภาพแวดล้อมอื่น ๆ อีกหลายประการ ทำให้การประกอบอาชีพของชาวบ้านในอดีตจะอยู่ในภาคการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ โดยในระยะแรกที่มีการอพยพย้ายถิ่นฐานมาอยู่แถบบริเวณนี้ มีการจับจองและบุกเบิกพื้นที่เพื่อทำการเกษตร เช่น ปลูกมันสําปะหลัง ปลูกอ้อย ส่วนอาชีพรับจ้างก็ยังเป็นการรับจ้างเป็นแรงงานในภาคการเกษตร เช่น รับจ้างถางป่า รับจ้างปลูกมันสำปะหลัง รับจ้างปลูกอ้อย ส่วนการค้าขายก็เป็นการค้าขายของป่า โดยนำของป่าที่หาได้ออกไปซื้อขายแลกเปลี่ยนกับผู้คนจากต่างชุมชนอื่น
พ.ศ. 2506 ระบบเศรษฐกิจในชุมชนบ้านเชิงเขาเฟื่องฟูถึงขีดสุด เนื่องจากมีทหารอเมริกาเข้ามาตั้งฐานทัพในอำเภอสัตหีบ จึงมีการสร้างหอพักและบ้านเช่าเพื่อปล่อยเช่าให้แก่กลุ่มทหารอเมริกาและชาวต่างชาติที่เข้ามาอยู่อาศัยในแถบนั้น ชาวบ้านบางส่วนเข้าไปเป็นแรงงานรับจ้างดูแลบ้านให้กับทหารอเมริกา เช่น รับจ้างซักผ้า และรับจ้างทําความสะอาดบ้าน อาชีพเกษตรกรรมจึงไม่เป็นที่นิยมในยุคนั้น แต่เมื่อถึง พ.ศ. 2516 เริ่มมีการทยอยกลับของทหารอเมริกา ส่งผลให้เศรษฐกิจเริ่มซบเซา ธุรกิจบ้านเช่าเริ่มไม่มีผู้เช่า ชาวบ้านจึงต้องกลับมาทําอาชีพในภาคการเกษตรดังเดิม
พ.ศ. 2524 บริษัทน้ำตาลไทยร่วมเจริญ จํากัด ยุบกิจการ ทําให้ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพทางด้านเกษตร ปลูกอ้อยต้องเลิกการปลูกอ้อย และก็หันมาปลูกมันสําปะหลังอย่างเดียว เนื่องจากไม่มีแหล่งรองรับผลผลิต กอปรกับเมื่อ พ.ศ. 2525 มีการเวนคืนที่ดินบริเวณด้านทิศตะวันตกเพื่อสร้างกองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน ที่ดินทํากินและที่อยู่อาศัยของชาวบ้านกว่า 30 หลังคาเรือนต้องย้ายออกให้พ้นเขตแดนทหาร เมื่อที่ดินทางการเกษตรหมดไป ยุคของการทําการเกษตรเริ่มเป็นอาชีพรอง เพราะเกษตรกรบางรายต้องสูญเสียพื้นที่ทางการเกษตรไปเกือบทั้งหมด หรือที่ร้ายแรงกว่านั้นคือบางรายหมดสิ้นทั้งที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย กระทั่งประมาณ พ.ศ. 2525 เริ่มมีชาวบ้านบางรายที่รับการศึกษาในระดับสูงเข้ารับราชการ และหลังจากนั้นก็มีอัตราการเข้ารับราชการของคนในชุมชนบ้านเชิงเขาเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับโครงสร้างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 4 ที่มีนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจ มีการสร้างงานในแถบภาพตะวันออก มีนิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้นโดยรอบภูมิภาค ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากมีความสนใจที่จะเข้ามาทํางานในบริษัทและเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ปัจจุบันอาชีพหลักของชาวบ้านหมู่บ้านเชิงเขา จึงเป็นอาชีพรับจ้างทั้งรายเดือนและรายวัน ลูกจ้างบริษัทเอกชนและรัฐบาล อาชีพข้าราชการ ส่วนอาชีพค้าขายและอาชีพเกษตรกรที่เคยเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านก็กลับกลายเป็นอาชีพรองลงไป
ประเพณีที่สำคัญ
- บุญข้าวหลาม บุญข้าวหลามหรือบุญเดือนสาม เป็นประเพณีที่จัดขึ้นในวันขิ้น 3 ค่ำ เดือน ชาวบ้านเชิงเขา ในกลุ่มบ้านเนินพัฒนาจะเผาข้าวหลามกันเกือบทุกบ้านเพื่อเตรียมทําบุญในเช้าของวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ช่วงเช้ามีการแห่ต้นพลูประกอบการร้องรําทําเพลง มีขบวนแห่ตีกลองยาว ในขบวนมีข้าวหลามทั้งที่ยังบรรจุอยู่ในกระบอก และที่แกะเรียบร้อยแล้ว โดยขบวนจะแห่มาที่ศาลเจ้าแม่พะอบเงินพะอบทอง แล้วทำบุญเลี้ยงพระตามธรรมเนียมสมัยก่อน เมื่อเสร็จพิธีจะมีการละเล่นพื้นบ้าน เช่น สะบ้า และการละเล่นอื่น ๆ อย่างสนุกสนาน แต่ปัจจุบันเมื่อทําบุญเสร็จเรียบร้อยก็แยกย้ายกลับบ้าน และมีการแจกจ่ายข้าวหลามให้กับเพื่อนบ้านเท่านั้น
- บุญกลางแจ้ง บุญกลางแจ้งหรือบุญประจําปี เป็นการทําบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่เจ้าที่เจ้าทาง เจ้าป่าเจ้าเขา ที่ปกป้องให้คนในหมู่บ้านอยู่เย็นเป็นสุข ประเพณีการทําบุญกลางแจ้ง เป็นประเพณีที่สืบทอดจากรุ่นบรรพบุรุษ มักจะกําหนดวันทําบุญโดยดูจากวันข้างขึ้น-ข้างแรม และความสะดวกของชาวบ้านในหมู่บ้าน ส่วนใหญ่เลือกวันอาทิตย์ เนื่องจากชาวบ้านหยุดงาน มักนิยมทําในช่วงต้นปี แต่จะเป็นเดือนใดนั้นต้องพิจารณาตกลงกันปีต่อปี ตามฤกษ์สะดวก แต่ปกติทั่วไปมักเป็นเดือนเมษายนเพราะตรงกับเทศกาลสงกรานต์ ลูกหลานที่ไปทํางานในกรุงเทพฯ หรือที่อื่นจะเดินทางกลับมาหาญาติพี่น้อง จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่จะจัดประเพณีงานบุญนี้ขึ้น
1. ชํานิ เสริมกิจ (ลุงหมอ)
นายชำนิ เสริกิจ หรือลุงหมอ ปราชญ์การแพทย์แผนโบราณด้านสมุนไพร โดยร่ำเรียนจากพระภิกษุท่านหนึ่งในจังหวัดชลบุรีตั้งแต่ครั้งยังบวชเป็นสามเณร และเมื่ออายุ 30 ท่านได้ประกาศนียบัตรวิชาแพทย์ทางเภสัชกรรมและเวชกรรม สามารถปรุงยาสมุนไพรรักษาโรคได้ถูกต้องตามกฎหมาย และได้รับใบอนุญาตประกอบยาทางเภสัชกรรมและเวชกรรมของกรมการแพทย์แผนไทย กระทรวงสาธารณสุข ทั้งยังมีร้านยาสมุนไพรในตัวอําเภอเมืองจังหวัดระยอง ซึ่งมียาสมุนไพรจำหน่ายมากมายหลายชนิด เช่น ยารักษาโรคขัดเบา (ปัสสาวะติดขัด) โรคประจําเดือนมาไม่ปกติ ยาป้ายแผลร้อนใน ยาแก้ร้อนใน ยาสมุนไพรกวาดคอเด็ก ฯลฯ ความสามารถของท่านที่ชาวบ้านยอมรับอีกเรื่องหนึ่งนอกเหนือจากความเชี่ยวชาญด้ายสมุนไพรแล้ว ท่านยังสามารถต่อกระดูกที่หักออกจากเบ้า เช่น กระดูกแขน กระดูกไหปลาร้า ด้วยวิธีการรักษาที่เรียกว่า “การพ่น 3 เช้า” สำหรับผู้ที่ต้องการเข้ารับการต่อกระดูกจะต้องเตรียมหมากพลู 3 คํา เงินค่าครู 1.50 สตางค์ มาติดต่อกันเป็นเวลา 3 วัน หากไม่หายจะไม่เรียกรับค่ารักษาพยาบาลแต่อย่างใด ส่วนผู้ที่มารับการรักษาเมื่อหายก็จะนําหมูหรือผลไม้มาเป็นค่าตอบแทน ซึ่งท่านก็จะนำไปถวายพระในรุ่งเช้าของอีกวัน
ทุนทางเศรษฐกิจ
ชาวบ้านจะมีแหล่งเงินกู้ที่รัฐบาลรับรองและแหล่งเงินกู้นอกระบบ แต่ส่วนใหญ่นิยมกู้จากแหล่งเงินกู้ของรัฐบาล เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสหกรณ์การเกษตร อําเภอบ้านฉาง เงินกู้อุดหนุนองค์การบริหารส่วนตําบล เงินกู้กองทุนหมู่บ้าน กองทุนแก้ไขปัญหาความยากจน (ก.คจ.) แต่หากเป็นเงินกู้นอกระบบจะมาจากแหล่งเงินกู้จากการเปียร์แชร์ ซึ่งมีทั้งแชร์อาทิตย์และแชร์เดือน
ภาษาที่ชาวบ้านใช้ติดต่อสื่อสารภายนชุมชน คือ ภาษาไทยถิ่นสำเนียงระยอง ซึ่งเปรียบเสมือนภาษากลางของชาวบ้านเชิงเขาและชาวจังหวัดระยองเช่นเดียวกับภาษาไทยกลาง แต่มีสำเนียงที่เพี้ยนไปจากภาษาไทยกลางค่อนข้างมาก โดยทั่วไปจะมีสำเนียงคล้ายกับภาษาไทยถิ่นของชาวจังหวัดตราดและจันทบุรี
สิริพร บุญเรือง. (2547). การจัดการและบริหารกองทุนหมู่บ้าน: ศึกษาเฉพาะกรณีหมู่บ้านเชิงเขา ตำบลสำนักท้อน อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง. สารนิพนธ์ประกาศนียบัตรบัณฑิต สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
Tidaluk Sripuga. (ม.ป.ป.). 11 ที่เที่ยวบ้านฉาง จังหวัดระยอง ที่เราต้องพาลูกเช็คอินสักครั้ง!. สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2566, จาก https://th.theasianparent.com/ban-chang-travel