ชุมชนชาวมอญที่สืบเชื้อสายจากหมู่บ้านกะมาวัก เมืองมะละแหม่ง ก่อนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ก่อร่างสร้างรากฐานวัฒนธรรมประเพณีฝังลึกในตำบลเจ็ดริ้วกว่า 150 ปี
ชื่อเรียกตำบลเจ็ดริ้วมีที่มาจากสองนัยด้วยกัน
นัยแรก สืบเนื่องมาจากพื้นที่ตำบลเจ็ดริ้วมีความอุดมสมบูรณ์มากจนสามารถนำปลาช่อนที่จับมาได้ แล่เป็นริ้วเพื่อตากแห้งได้ถึงเจ็ดริ้ว
นัยที่สอง ว่ากันว่าในอดีตพื้นที่บริเวณนี้เป็นป่ารกชัฏ ต้นไม้และภูมิประเทศเหมือนกันไปหมดทำให้ชาวบ้านหลงป่า จึงมีผู้นำผ้าแดงผืนใหญ่ผูกปลายไม้ไผ่ชูเหนือยอดไม้ให้เป็นที่สังเกต ต่อมาธงดังกล่าวถูกลมโบกสะบัดทำให้ขาดออกเป็นริ้ว ๆ นับได้เจ็ดริ้ว ชาวบ้านจึงเรียกที่ตั้งดังกล่าวว่า “เจ็ดริ้ว”
ชุมชนชาวมอญที่สืบเชื้อสายจากหมู่บ้านกะมาวัก เมืองมะละแหม่ง ก่อนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ก่อร่างสร้างรากฐานวัฒนธรรมประเพณีฝังลึกในตำบลเจ็ดริ้วกว่า 150 ปี
ตําบลเจ็ดริ้วเป็นชุมชนที่มีชาวมอญอพยพเข้ามาอาศัยอยู่กว่า 150 ปีแล้ว โดยบรรพบุรุษของชาวมอญเจ็ดริ้วอพยพมาจากหมู่บ้านกะมาวัก เมืองมะละแหม่ง ในช่วงปี พ.ศ. 2358 หรือในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สาเหตุของการอพยพในครั้งนั้นสืบเนื่องมาจากพระเจ้าประดุงของพม่าเกณฑ์แรงงานชาวมอญไปสร้างพระธาตุที่เมืองเมงถิ่น ชาวมอญจำนวนมากที่โดนกดขี่ จึงพากันอพยพจากถิ่นฐานเดิมเข้าสู่ประเทศไทย ในระยะแรกบรรพบุรุษของชาวมอญเจ็ดริ้วได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ ตําบลบ้านเกาะและตําบลท่าทราย จังหวัดสมุทรสาครเป็นหลัก
บรรพบุรุษชาวมอญเจ็ดริ้วที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณตำบลบ้านเกาะและตำบลท่าทราย ได้รับการขนานนามว่าเป็น “มอญนอกพงศาวดาร” เนื่องจากไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่อธิบายถึงการอพยพย้ายเข้ามาของชาวมอญกลุ่มนี้ แต่ภายหลังจากการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ตําบลบ้านเกาะและตําบลท่าทราย ระยะเวลาต่อมาเมื่อมีการขุดคลองดําเนินสะดวกในสมัยรัชกาลที่ 5 ช่วงปีพ.ศ. 2411 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่มีการ เลิกทาสและมีการให้กรรมสิทธิ์ที่ดินแก่ราษฎรที่จะใช้เพาะปลูกข้าว ทําให้ชาวมอญที่เคยอาศัยอยู่ในพื้นที่ตําบลบ้านเกาะและตําบลท่าทรายเข้ามาบุกเบิกที่ดินรกร้างและตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณแนวคลองเจ็ดริ้ว รวมถึงคลองพาดหมอนที่เป็นคลองส่งน้ำในตําบลเจ็ดริ้ว ซึ่งเป็นพื้นที่น้ำจืดและมีความอุดมสมบูรณ์มากกว่าพื้นที่เดิมที่เป็นพื้นที่น้ำเค็มและน้ำกร่อย นับตั้งแต่ชาวมอญจากตําบลบ้านเกาะและตําบลท่าทรายอพยพมาอาศัยอยู่ในพื้นที่ ตําบลเจ็ดริ้ว ก็ทําให้ชาวไทยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกันรับรู้ว่าแถบตําบลเจ็ดริ้วนั้นเป็นถิ่น “ชาวมอญ” และมักจะเรียกชาวมอญกลุ่มดังกล่าวว่า “ชาวมอญเจ็ดริ้ว”
ตำบลเจ็ดริ้วมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ7,502 ไร่ มีจํานวนครัวเรือน 987 หลังคาเรือน (องค์การบริหารส่วนตำบลเจ็ดริ้ว 2562) อาณาเขตของตำบลเจ็ดริ้วทิศเหนือติดต่อกับตำบลตลาดจินดาและตำบลคลองจินดา อําเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ทิศใต้ติดต่อกับตำบลคลองตันและตำบลหลักสอง อําเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ทิศตะวันออกติดต่อกับตำบลเกษตรพัฒนาและตำบลคลองตันและตำบลเกษตรพัฒนา อําเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร และทิศตะวันตกติดต่อกับตำบลหลักสอง อําเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร และตำบลตลาดจินดา อําเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
การอพยพเข้ามาในระยะแรกพื้นที่บางส่วนยังคงเป็นป่าอ้อ ชาวมอญที่อพยพเข้ามาจึงแผ้วถางและจับจองพื้นที่ การปลูกสร้างบ้านเรือนมักจะปลูกสร้างขึ้นตามแนวลําคลองก่อนจะกระจายไปตามพื้นที่ต่าง ๆ โดยลำคลองสายหลักในตำบลเจ็ดริ้วมี 2 สาย คือ คลองเจ็ดริ้ว และคลองพาดหมอน แต่ก็มีการขุดคลองสาขาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการเกษตร ลักษณะการตั้งบ้านเรือนที่มักจะตั้งขึ้นตามแนวลําคลอง ซึ่งมีผลต่อการแบ่งสรรการปกครองหมู่บ้านออกเป็น 5 หมู่บ้าน ตามตําแหน่งการวางตัวตามแนวลําคลอง ได้แก่ บ้านปลายคลองเจ็ดริ้ว บ้านกลางคลองเจ็ดริ้ว บ้านต้นคลองเจ็ดริ้ว บ้านต้นคลองพาดหมอน และบ้านปลายคลองพาดหมอน ดังนั้น การคมนาคมของชาวมอญเจ็ดริ้วในช่วงแรกจึงเป็นการสัญจรทางน้ำเป็นหลัก แต่ปัจจุบันเมื่อมีถนนตัดผ่าน ได้แก่ ถนนสายบ้านแพ้ว-หนองนกไข่ ถนนหนองนางดํา-บ้านปลายนา ถนนสายเลียบคลองพาดหมอน ถนนสายหลักสอง-เจ็ดริ้ว และถนนสายเกษตรพัฒนา ทําให้ชาวเจ็ดริ้วจํานวนมากหันมาตั้งบ้านเรือนริมถนนและเปลี่ยนมาใช้เส้นทางสัญจรทางบกเป็นหลัก ส่วนบ้านที่ตั้งอยู่ติดกับลำคลองมาก่อนจะมีการสร้างทางเท้าริมคลองเจ็ดริ้วด้านทิศตะวันออก ซึ่งสามารถใช้รถจักรยานยนต์ออกมายังถนนสายหลักได้ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีชาวเจ็ดริ้วจํานวนไม่น้อยที่ใช้เรือพาย รวมไปถึงเรือหางยาวในการสัญจรทางน้ำ เนื่องจากลําคลองเชื่อมต่อกับคลองดําเนินสะดวกและคลองจินดา ทําให้สามารถเดินทางไปยัง อําเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดนครปฐมได้สะดวกเช่นเดียวกับการสัญจรทางบก
ตำบลเจ็ดริ้วมีประชากรจำนวน 3,980 คน เป็นชาย 2,087 คน หญิง 1,893 คน ประชากรตําบลเจ็ดริ้วนอกจากจะมีชาวมอญผู้นับถือผีอาศัยอยู่มากแล้ว ยังปรากฏกลุ่มชาติพันธุ์อื่นปะปนด้วย ได้แก่ ชาวไทยซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีผี ชาวลาวที่นับถือผีลาวหรือ “อะลูกแล” และชาวไทยเชื้อสายจีนที่ชาวมอญเรียกว่าเป็นผู้นับถือ “อะลูกจ๊อด” หรือ “ผีเจ๊ก”
ชาวมอญเจ็ดริ้วเชื่อว่าตนสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษคนเดียวกัน หรือในภาษาภาษาไทยอาจเรียกว่า “โคตร” เดียวกัน เพียงแต่ไม่สามารถสืบสาวสายสัมพันธ์นั้นออกมาอย่างชัดเจนได้ โดยชาวมอญเจ็ดริ้วผู้นับถือผีมอญจะแบ่งตระกูลตามการนับถือผีทั้งหมด 4 ตระกูล ได้แก่ ผีเต่า ผีไก่ ผีปลาไหล และผีงู โดยผีเต่าที่เป็นตระกูลผีที่ใหญ่ที่สุดนั้นมีการแบ่งออกเป็นตระกูลย่อยด้วย ได้แก่ ผีหัวเข่า (อะลูกตั้งบอง) ผีไว้ผมยาว (อะลูกศกยอง) ผีเต่าที่หวงผ้าแดง และผีเต่าที่หวงข้าวเหนียว
มอญการประกอบอาชีพของชาวมอญตั้งแต่เริ่มแรกที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่ตำบลเจ็ดริ้ว ได้แผ้วถางบุกเบิกที่ดินบริเวณป่าอ้อเพื่อแปรสภาพป่าอ้อเป็นนาข้าว โดยใช้วิธีการเจาะแล้วหยอดเป็นหลุม ๆ แต่ผลผลิตที่ได้จากการทำนาในช่วงแรกไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร ด้วยถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง จากนั้นจึงเริ่มมีการเรียนรู้การทำการเกษตรรูปแบบอื่น ๆ จากคนในละแวกใกล้เคียง เช่น การทำสวนองุ่นในอําเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม และการทำสวนมะนาวในแถบคลองดําเนินสะดวก ทำให้ชาวมอญเจ็ดริ้วมีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น และเป็นที่มาของคําขวัญประจําตำบลว่า “แดนองุ่น ดงมะนาว สาวรามัญ” ปัจจุบันนอกจากการทำสวนองุ่นและสวนมะนาวแล้ว พื้นที่ตำบลเจ็ดริ้วยังมีการทำสวนพืชชนิดอื่น ๆ ด้วย เช่น มะม่วง ลําไย ฝรั่ง มะพร้าว พลู เป็นต้น อีกทั้งยังมีการปลูกพืชผักหมุนเวียนเพื่อหารายได้ระยะสั้น เช่น กระเจี๊ยบ แตงไทย มะเขือยาว บวบ เป็นต้น ส่วนอาชีพอื่น ๆ ที่พบมากในพื้นที่นอกเหนือจากการทำสวน ได้แก่ อาชีพประมงบ่อกุ้งและบ่อปลาเพื่อขายส่งแพกุ้งหรือแพปลาในตัวเมืองมหาชัย นอกจากนี้ ยังมีบางส่วนประกอบอาชีพรับจ้าง รับราชการหรือออกไปทำงานในตัวเมืองอยู่บ้างประปราย แต่ไม่มากเท่าการประกอบอาชีพทำสวน
ประเพณีรามัญตำบลเจ็ดริ้ว
ประเพณีสงกรานต์
ประเพณีสงกรานต์เป็นงานบุญประเพณีที่ชาวบ้านจะร่วมกันทำบุญตักบาตร เลี้ยงพระเช้าและเพล โดยในช่วงประเพณีสงกรานต์จะมีกิจกรรมมากมาย เช่น การรับส่งสำรับผู้ใหญ่ที่จะกระทำกันเมื่อใกล้ถึงวันสงกรานต์ประมาณ 2-3 วัน ลูกหลานชาวมอญจะเตรียมสำรับอาหารคาวหวานไปให้พ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่รับประทาน ซึ่งชาวมอญเจ็ดริ้วได้ยึดถือปฏิบัติสืบต่อมาอย่างเคร่งครัด จากนั้นจะมีการสรงน้ำพระ และรดน้ำผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือและขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคล นอกจากนี้ยังมีการทำข้าวสงกรานต์ หรือ “ข้าวแช่” โดยการนำข้าวสวยมาซาวด้วยน้ำสะอาด 3 ครั้ง แล้วกรองด้วยผ้าสะอาดเพื่อป้องกันไม่ให้แมลงหรือสิ่งแปลกปลอมตกหล่นลงไปปะปนในข้าวแช่ และข้าวแช่นี้จะนำไปถวายพระ ฉันคู่กับอาหารแห้ง ๆ เช่น กะปิทอด ปลาเค็ม หรือปลาหวาน เป็นต้น อนึ่ง ชาวมอญเจ็ดริ้วยังมีหนึ่งประเพณีที่กระทำในวันสงกรานต์ ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ที่ปฏิบัติกันมาแต่เดิม คือ การกวนกะละแม โดยนิยมใช้เป็นข้าวเหนียวแดง เพราะเก็บไว้รับประทานนาน กะละแมที่กวนขึ้นในวันสงกรานต์นี้จะนำไปถวายพระและแจกจ่ายแก่ญาติพี่น้อง และเพื่อนบ้าน แต่ปัจจุบันนี้ผู้กวนกะละแมในตำบลเจ็ดริ้วเหลืออยู่น้อยมาก เนื่องจากเห็นว่ามีความยุ่งยาก และใช้เวลานาน กว่าจะได้กะละแมแต่ละกระทะต้องใช้เวลา 5-6 ชั่วโมง ปัจจุบันจึงนิยมซื้อแบบสำเร็จรูปจากตลาดมากกว่ากวนเอง
ประเพณีทำบุญศาลเจ้าพ่อล่องหน วัดเจ็ดริ้ว
ประเพณีทำบุญศาลเจ้าพ่อล่องหน เป็นงานบุญที่ชาวมอญในตำบลเจ็ดริ้วทุกหมู่บ้านร่วมกันจัดขึ้น โดยยึดเอาศาลเจ้าประจำหมู่บ้านเป็นสถานที่ประกอบพิธี เพื่อแสดงความเคารพต่อผีบรรพบุรุษผีที่พิทักษ์รักษาผู้คนในหมู่บ้านให้ร่มเย็นเป็นสุข ปราศจากเรื่องราวเดือดร้อน
ประเพณีแห่นางหงส์ (แห่หงส์ธงตะขาบ)
การแห่นางหงส์เป็นประเพณีสำคัญที่ชาวมอญตำบลเจ็ดริ้วจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยเจ้าภาพหรือผู้สร้างหางหงส์จะเตรียมผ้าสีมาตัดเย็บตกแต่งลายให้สวยงาม ด้านปลายหงส์จะนำเอาเส้นผมของตนเย็บติดไว้เพื่อความเป็นสิริมงคล ครั้นถึงวันสงกรานต์เจ้าภาพและญาติพี่น้องจะนำหางหงส์แห่ไปที่วัด แล้วนำไปแขวนที่เสาหงส์หน้าวัดหรือหน้าพระอุโบสถเช่นนี้เป็นประจำทุกปี ชาวมอญมีความเชื่อว่าการสร้างหางหงส์ถวายวัดนั้น เมื่อครั้งล่วงลับไปแล้ว หากมีลมพัดหางหงส์ที่แขวนหน้าวัดเพียง 1 ครั้ง ผู้สร้างถวายก็จะร่มเย็นเป็นสุข แม้ว่าจะอยู่ห่างไกลถึงดินแดนพรหมโลกก็ตาม
ประเพณีล้างเท้าพระ-ตักบาตรดอกไม้
เป็นประเพณีที่จัดขึ้นในวันออกพรรษา เริ่มต้นด้วยการทำบุญตักบาตรในช่วงเช้า ฟังเทศน์มหาชาติในช่วงบ่าย ซึ่งชาวบ้านจะนำขันใส่น้ำและดอกไม้หลากชนิดไปวัดเพื่อรอเวลาพระสงฆ์เดินลงจากศาลาไปยังพระอุโบสถ ระหว่างทางชาวบ้านจะเตรียมขันใส่น้ำเพื่อล้างเท้า ปูผ้าให้พระสงฆ์เดินย่ำ แล้วถวายดอกไม้ที่เตรียมมาใส่ลงในย่าม จากนั้นพระสงฆ์จะนำดอกไม้ที่รับมาจากชาวบ้านขึ้นไปยังพระอุโบสถเพื่อทำสังฆกรรมปวารณาออกพรรษา
ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง
ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้งจัดขึ้นในวันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี โดยถวายน้ำผึ้งเป็นศิลานเภสัช (ยารักษาโรค) หนึ่งใน 5 อย่าง คือ น้ำผึ้ง น้ำอ้อย น้ำตาลสด เนยใส และน้ำมันงา เพื่อให้พระภิกษุได้พิจารณาเป็นยารักษาโรค แต่ครั้นน้ำผึ้งกลายเป็นของหายากประเพณีจึงได้สูญหายไป และจากประเพณีตักบาตรน้ำผึ้งก็กลายเป็นตักบาตรน้ำตาลทรายแทน กระทั่งปี 2546 คณะครูและนักเรียนโรงเรียนวัดเจ็ดริ้วได้เล็งเห็นถึงคุณค่าของวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น จึงได้มีการจัดการฟื้นฟูประเพณีตักบาตรน้ำผึ้งขึ้นมาในตำบลเจ็ดริ้วอีกครั้งหนึ่ง และได้ถือปฏิบัติสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
ความเชื่อเรื่องผ้าผีและเสาผีมอญ
ผ้าผีและเสาผีสำหรับชาวมอญนั้นมีสถานะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนนอกตระกูลไม่สามารถแตะต้องได้เชื่อว่าหากผ้าผีมีรอยขาดหรือโดนแมลงกัดแทะ จะส่งผลให้คนในตระกูลประสบกับเหตุร้าย นอกจากนี้ พื้นที่ห้องผีที่เป็นสถานที่ตั้งของเสาผีและผ้าผีจะถือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่คนในตระกูลผีต้องคอยระมัดระวังไม่ให้คนนอกตระกูลล่วงล้ำเข้าไปได้ ทั้งนี้ก็สืบเนื่องมาจากทั้งผ้าผีและเสาผีต่างเป็นสัญลักษณ์ที่เกี่ยวพันกับผีมอญของแต่ละตระกูลผีและเป็นสัญลักษณ์สําคัญที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อเรื่องผีมอญ ผ้าผีและเสาผีรวมไปถึงบริเวณที่ใช้เก็บรักษาสัญลักษณ์เหล่านี้จึงมีสถานะศักดิ์สิทธิ์ตามผีมอญหรือปะโน่กไปด้วย
การรำผีมอญ
สืบเนื่องชาวมอญมีความเชื่อว่า “ผี” คือ “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ในยามที่ต้องการหรือปรารถนาสิ่งใดก็มักจะบนบานศาลกล่าวขอร้องต่อผี และเมื่อได้ดังสมปรารถนาแล้วก็จะต้องทำการแก้บนโดยพิธีกรรมที่เรียกว่า “รำผี” นอกจากเพื่อแก้บนแล้ว การรำผียังกระทำขึ้นโดยมีนัยเพื่อขอขมาผีในกรณีที่คิดว่ามีการทำผิดผี เช่น คนมีครรภ์มานอนในบ้าน สามีเป็นผีผื่นมาค้างในบ้าน เด็กที่ไม่โกนจุกมานอนในบ้าน หรือในกรณีที่กระทำการบางอย่างแล้วไม่ได้แจ้งกล่าวผี ฯลฯ การรำผีมักทำกันในช่วงฤดูแล้ง และมีข้อห้ามว่าห้ามทำในวันพระ ในวันรำผีจะมีการบอกกล่าวญาติพี่น้อง จัดซื้อข้าวของ ปลูกโรงพิธีภายในบริเวณบ้าน จัดทำที่สำหรับวางของที่ใช้ในการรำผี ได้แก่ อ่างน้ำ กล้วย อ้อย มะพร้าว ขนม ดาบ 2 เล่ม ต้นกล้วย ต้นหว้าที่ปลูกหน้าโรงพิธี และหาพิณพาทย์มอญ 1 วง ประกอบการรำ
การประกอบพิธีโดยย่อจะเริ่มจากการเชิญผีประจำตระกูลมายังโรพิธี ทุกคนในพิธีจะเวียนรอบโรงพี และเริ่มทำการรำถวาย ส่วนมากเริ่มด้วยบทแก้บน บทประมุขของข้าว บูชาผ้าผี เจ้าพ่อหลักเมือง โปรยข้าวตอก อาบน้ำต้นผี บวชเณรแล้วออกบิณบาตร พายเรือส่งขันหมาก ออกศึก ชนไก่ ขณะรำผีแต่ละผี แต่ละบท ผู้อำนวยการรำผีหรือโต้ง (ผู้ส่งการให้ผี) จะนำอ่างบรรจุเครื่องเซ่นให้แขกรับประทาน แล้วจบลงด้วยการนำเอาเศษอาหารที่เหลือจากงานพิธีเทรวมกัน บรรทุกลงเรือต้นกล้วยเพื่อนำไปลอยน้ำ ซึ่งถือเป็นการลอยเสนียด
ลักษณะบ้านเรือน
ลักษณะบ้านเรือนของชาวมอญเจ็ดริ้วส่วนมากมักจะเป็นบ้านไม้สองชั้นและจะมีห้องผี โดยห้องผีจะอิงกับเสาผีที่มักจะเป็นเสามุมห้องที่เป็นเสาเอกหรือบางบ้านจะเป็นเสาโท นอกจากนี้ยังมีการสร้างบ้านให้มีห้องที่อยู่ต่ำกว่าตัวเรือนหลักหรือห้องผีลงมาราวหนึ่งคืบ เพื่อถือเป็นเคล็ดว่าไม่ใช่บ้านผี ทําให้คนนอกตระกูลผีสามารถมาค้างแรมได้ ปัจจุบันการสร้างบ้านเรือนของชาวมอญเจ็ดริ้วมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น จากเดิมที่นิยมปลูกบ้านไม้ก็ปรับเปลี่ยนมาเป็นบ้านปูน หรือบางบ้านที่มีโครงบ้านเดิมเป็นบ้านไม้สองชั้นก็มักจะปรับตัวบ้านชั้นล่างให้เป็นปูน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการก่อสร้างบ้านเรือนจะเปลี่ยนแปลงไปเพียงใดแต่เจ้าของบ้านจะให้ความสําคัญกับ “ห้องผี” เป็นลําดับแรกอยู่เสมอ เพราะเป็นสถานที่ที่เก็บสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ของผีมอญ ทั้งเสาผี และผ้าผี อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องคอยระมัดระวังไม่ให้คนนอกตระกูลผีเข้าไปกระทําผิดผีได้ ห้องผีจึงมักเป็นห้องที่มีพื้นเรือนสูงกว่าห้องอื่น ๆ ในบ้าน
การปลูกไม้มงคล
การปลูกไม้มงคลนั้นเป็นความเชื่ออย่างหนึ่งของชาวมอญรุ่นเก่า รวมถึงชาวมอญในปัจจุบันบางครัวเรือนที่ให้ความสำคัญกับการปลูกไม้มงคลไว้ในบ้าน คือ ทิศอีสานปลูกมะตูม ทิศบูรพา ปลูกกล้วย ทิศอาคเนย์ ปลูกดอกรัก ทิศพยัพปลูกดอกเข็มหรือบุณฑริก ทิศประจิมปลูกพุทรา ทิศหรดีปลูกขนุน ทิศอุดรปลูกมะขามป้อม และทิศทักษิณปลูกมะม่วง กล่าวกันว่าเมื่อในบ้านมีคนเจ็บป่วยรักษาไม่หายก็ให้นำเอาไม้ทั้ง 8 ทิศนี้ไปต้มให้คนป่วยดื่ม จะช่วยให้หายจากอาการป่วย นอกจากนี้ยังเชื่อว่าหากปลูกไม้มงคลถูกทิศตามตำรา บ้านนั้นจะปลอดจากขโมยขโจร
การร้องเล่นทะแยมอญ
ทะแยมอญเป็นการร้องเล่นของชาวมอญเจ็ดริ้วที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่ม “รามัญบันเทิง” กลุ่มมอญรุ่นใหม่ที่ให้ความสนใจในการอนุรักษ์และสืบทอดศิลปวัฒนธรรมมอญ ปัจจุบันกลุ่มรามัญบันเทิงได้ร่วมมือกับครูโรงเรียนวัดเจ็ดริ้วและศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ ในการก่อตั้งศูนย์อนุรักษ์ทะแยมอญขึ้น ภายใต้แนวคิด “ฟื้นฟู อนุรักษ์ มารู้จักทะแยมอญ” และมีการฝึกหัดเยาวชนชาวมอญในพื้นที่ให้เป็นนักร้องและนักดนตรีประกอบการแสดงทะแยมอญที่จะขึ้นแสดงทั่วไปทั้งในพื้นที่ตําบลเจ็ดริ้ว รวมถึงชุมชนมอญอื่น ๆ ทําให้การร้องเล่นทะแยมอญเป็นการร้องเล่นที่แพร่หลายและหาชมได้ทั่วไปในพื้นที่ตําบลเจ็ดริ้ว
การร้องเล่นทะแยมอญเป็นการร้องโต้ตอบกันระหว่างฝ่ายชายและฝ่ายหญิง มีวงดนตรีมโหรีมอญเป็นเครื่องให้จังหวะ ลักษณะของการร้องเล่นทะแยมอญจึงคล้ายกับการร้องลําตัดของไทย ทว่าภาษาที่ใช้ในการขับร้องโต้ตอบกันนั้นจะใช้ภาษามอญเท่านั้น ทะแยมอญเป็นการร้องเล่นที่เล่นได้ในทุกโอกาสทั้งงานบวช งานแต่งงาน งานศพ งานแก้บน หรือในงานประจําปีของศาลเจ้าพ่อประจําหมู่บ้าน แต่เนื้อหาที่ใช้ในการขับร้องจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละวาระโอกาส โดยจะมีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาให้สอดคล้องกับงานนั้น ๆ นักร้องฝ่ายชายและฝ่ายหญิงจะต้องใช้ปฏิภาณ ไหวพริบในการร้องโต้ตอบเนื้อหาที่อีกฝ่ายหนึ่งส่งมาให้ได้ แต่โดยปกติทั่วไปแล้วมักจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเกี้ยวพาราสีระหว่างชายหญิง การจำลองเหตุการณ์ประเพณี วัฒนธรรม วิถีชีวิต ตลอดจนความเชื่อของชาวมอญ หรือบางครั้งก็มีการร้องเกี่ยวกับพุทธประวัติ ชาดก หรือการสั่งสอนชาวมอญให้ใช้ชีวิตตามระเบียบ ขนบธรรมเนียม จารีต ตามที่เหล่าบรรพชนกำหนดขึ้น การร้องทะแยมอญจึงเปรียบได้กับคำสอนประเภทหนึ่งที่ถ่ายทอดผ่านร้องเล่นที่มีความสนุกสนาน เพื่อลดความเคร่งขรึมให้น่าฟัง แต่แฝงแง่คิดฝากไว้ในความทรงจำของผู้ชม
ชาวมอญเจ็ดริ้วส่วนใหญ่ยังคงใช้ภาษามอญในการสื่อสารกันอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดการเข้าทรงของผีมอญ ภาษามอญจะเป็นภาษาสื่อกลางที่ร่างทรงใช้พูดกับชาวมอญเจ็ดริ้ว ซึ่งปัจจุบันพบว่าเด็กที่มีคนในครอบครัวพูดภาษามอญ แม้ว่าจะอายุเพียง 3-4 ปี ก็สามารถฟังภาษามอญออกแล้ว และวัยรุ่นชาวมอญเจ็ดริ้วหลายคนยังคงฟังและพูดภาษามอญอย่างคล่องแคล่ว
กรองทิพย์ สุวรรณพรรณชู. (ม.ป.ป.). แนวทางการสร้างสุขภาคดีด้วยวิถีชีวิตวัฒนธรรมชุมชนมอญ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนตำบลเจ็ดริ้ว อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร (รายงานการวิจัย). สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว).
รัตนาวดี สวยบำรุง. (2564). บทบาททางสังคมของความเชื่อเรื่องผีมอญในตำบลเจ็ดริ้ว อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร. วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (ม.ป.ป.). มอญเจ็ดริ้ว. สืบค้นเมื่อ 10 กรกฎาคม 2566, จาก https://db.sac.or.th/samutsakhon/