Advance search

ทับเที่ยง

เทศบาลนครตรัง

เมืองเก่ามีประวัติการตั้งถิ่นฐานมากว่า 200 ปี และเป็นชุมทางการค้าที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้

ทับเที่ยง
เมืองตรัง
ตรัง
ณัฐวุฒิ บัวคลี่
22 มิ.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
30 มิ.ย. 2023
ณัฐวุฒิ บัวคลี่
17 ก.ค. 2023
ทับเที่ยง
เทศบาลนครตรัง

‘ทับเที่ยง’ มีที่มาเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จถึงจังหวัดตรังในเวลาตอนเที่ยง จึงได้สร้างที่ประทับตอนเที่ยงขึ้น และกลายเป็นชื่อตำบลทับเที่ยง ปัจจุบันเป็นตำบลอยู่ในเขตเทศบาลนครตรัง


เมืองเก่ามีประวัติการตั้งถิ่นฐานมากว่า 200 ปี และเป็นชุมทางการค้าที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้

ทับเที่ยง
เมืองตรัง
ตรัง
92000
เทศบาลนครตรัง โทร. 0-7521-8017
7.565023
99.622778
เทศบาลเมืองทับเที่ยง

ทับเที่ยง เดิมที่เป็นพื้นที่ของศูนย์กลางจังหวัดตรัง ตรังเป็นจังหวัดหนึ่งทางภาคใต้ของประเทศไทยด้านฝั่งทะเลตะวันตก มีหลักฐานความเป็นมาที่ยาวนานตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ส่วนการแบ่งยุคหรือสมัยประวัติศาสตร์ของตรังในที่นี้พิจารณาจากเหตุการณ์ภายในของเมืองตรังเป็นหลัก โดยเฉพาะเรื่องที่ตั้งเมืองซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามศูนย์อำนาจ แบ่งได้ดังนี้

1. สมัยก่อนประวัติศาสตร์ (ประมาณก่อนพุทธศตวรรษที่ 13-14)

บรรพบุรุษของชาวตรังส่วนหนึ่งพัฒนาจากมนุษย์ถ้ำที่หาของป่าล่าสัตว์ มารู้จักปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ สร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัย อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม กลายเป็นหมู่เขา และหมู่นาหรือหมู่ทุ่ง แต่ยังมีอีกส่วนหนึ่งยังคงวิถีดั้งเดิมเป็นที่รู้จักกันในนามหมู่ซาไก รวมทั้งกลุ่มที่เร่ร่อนไปในทะเลก็สร้างที่อยู่ถาวรตามชายฝั่ง ยังชีพด้วยการประมงจนกลายเป็นหมู่เลในที่สุด นับเป็นการเข้าสู่สังคมเกษตรกรรมและพัฒนาเรื่อยมาจนเกิดชุมชนใหญ่ริมแม่น้ำตรัง

ต่อมาเมื่อแม่น้ำตรังเป็นเส้นทางข้ามคาบสมุทรไปสู่เมืองท่าฝั่งตะวันออก มีการกล่าวถึงชื่อ “ตะโกลา” เมืองท่าฝั่งตะวันตกที่ปรากฏในแผนที่ปโตเลมี ราวพุทธศตวรรษที่ 7-8 ทำให้นักวิชาการบางกลุ่มกล่าวว่าเมืองตรังน่าจะเป็นที่ตั้งของตะโกลา แต่ก็เป็นเพียงข้อถกเถียงที่ยังไม่ยุติ

2. สมัยประวัติศาสตร์ (ประมาณพุทธศตวรรษที่ 13-14 ถึงปัจจุบัน)

หลักฐานรุ่นแรก ๆ ได้แก่ จารึกเขาช่องคอย ที่พวกศาสนาฮินดูหรือพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย จารึกไว้ขณะใช้เส้นทางแม่น้ำตรังแล้วแยกเข้าคลองกะปาง ผ่านหุบเขาช่องคอยไปยังนครศรีธรรมราช จากนั้นก็มีโบราณวัตถุ ได้แก่ พระพิมพ์ดินดิบ อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 14 พบที่ถ้ำต่าง ๆ ในแถบอำเภอห้วยยอด แสดงถึงการผ่านเข้ามาของพุทธศาสนานิกายมหายาน ที่เข้าสู่ชุมชนตามแนวแม่น้ำตรัง

ต่อมามีตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ตำนานนางเลือดขาว และตำนานท้องถิ่นตรังเรื่องการสร้างวัดสร้างพระที่เชื่อมโยงกับพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช บ่งบอกถึงการรับพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ทำให้เห็นความเป็นปึกแผ่นของชุมชนคนตรังหมู่เขา ในแถบชายเขา และหมู่ทุ่ง ในแถบลุ่มน้ำที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำตรัง มีศาสนสถานและศาสนวัตถุเป็นศูนย์กลาง ขณะนั้นคงมีการปกครองในลักษณะเมืองแล้ว เพราะตำนานเอ่ยชื่อเจ้าเมืองตรัง หนึ่งในเมือง 12 นักษัตร ของนครศรีธรรมราช ว่าเป็นเมืองตราม้าประจำปีมะเมีย แต่ที่ตั้งเมืองคงจะอยู่ทางเหนือขึ้นไป

เมื่อกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีได้ไม่นานนัก ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ก้าวสู่ยุคใหม่ ด้วยประเทศตะวันตกที่เข้ามาเพื่อแสวงหาดินแดนที่อุดมด้วยทรัพยากร เริ่มจากโปรตุเกสเข้ายึดครองมะละกาและตั้งสถานีการค้าเป็นชาติแรก จากนั้นฮอลันดาและชาติอื่น ๆ ตามมาเป็นลำดับ ดินแดนแหลมมลายูจึงกลายเป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างชาติตะวันตกและตะวันออก ทำให้เมืองท่าการค้าหลายแห่งรุ่งเรืองขึ้น เช่น สงขลา ปัตตานี สิงคโปร์ เคดะห์ ขณะที่อาณาจักรไทยซึ่งเคยแผ่อำนาจไปถึงมะละกาก็ยอมรับในการเข้ามาของชาวตะวันตก ดังในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 โปรตุเกสเป็นฝรั่งชาติแรกที่เข้ามาติดต่อกับไทย ถึง 2 ครั้ง ใน พ.ศ. 2054 และ พ.ศ. 2056 โดยผ่านท่าเรือเมืองตรัง ความเป็นท่าเรือหมายถึงการมีชุมชนในบริเวณนั้น และคงจะต่อเนื่องจากสมัยการเข้ามาของพระพิมพ์ดินดิบ จากนั้นจึงมีหลักฐานชัดเจนถึงที่ตั้งเมืองตรัง ซึ่งแบ่งเป็นช่วงสมัย ดังนี้

2.1 สมัยตั้งเมืองที่เขาสามบาตร (ก่อน พ.ศ. 2054-ต้นรัตนโกสินทร์)

การเข้ามาของโปรตุเกสแสดงว่าชาวยุโรปรู้จักเมืองตรังแล้วในฐานะเมืองท่าปากประตูสู่อาณาจักรไทย แต่ไม่สามารถหาหลักฐานศูนย์กลางที่ตั้งเมืองว่าอยู่ ณ จุดใด จนกระทั่งเวลาผ่านมาอีกร้อยปี จึงมีจารึกเขาสามบาตร หรือเขาสะบาป พ.ศ. 2157 ที่ตำบลนาตาล่วง อำเภอเมืองตรังปัจจุบัน เป็นหลักฐานว่าที่ตั้งเมืองอยู่ตรงบริเวณนั้นมาก่อนจารึกและต่อเนื่องมาอีกยาวนาน

ในสมัยธนบุรี พ.ศ. 2319 มีชื่อเมืองตรังปรากฏในแผนที่โบราณในสมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงธนบุรี และในปีเดียวกันนี้สมเด็จพระเจ้าตากสินโปรดเกล้าฯ ให้ยกหัวเมืองทั้งหมดของนครศรีธรรมราชไปขึ้นกับกรุงธนบุรี ยกเว้นเมืองท่าทองทางฝั่งทะเลตะวันออก และเมืองตรังทางฝั่งทะเลตะวันตก ฐานะของเมืองตรังจึงยังเป็นเมืองในกำกับของนครศรีธรรมราช

เมื่อเริ่มสมัยรัตนโกสินทร์ ที่ตั้งเมืองคงอยู่ที่เขาสามบาตร และบางช่วงที่ตั้งบ้านผู้ว่าราชการอยู่ที่บ้านนาแขก ตำบลหนองตรุด

ช่วงนั้นปรากฏว่ามีเมืองภูราอีกเมืองหนึ่ง จนถึง พ.ศ. 2330 พระภักดีบริรักษ์ผู้ว่าราชการเมือง ได้ขอรวมเมืองตรังทางฝั่งตะวันตกแม่น้ำตรังกับเมืองภูราทางฝั่งตะวันออก เป็นเมืองตรังภูรา

2.2 สมัยตั้งเมืองที่เกาะลิบง (ต้นรัตนโกสินทร์ก่อน พ.ศ. 2347-2354)

โต๊ะปังกะหวาปลัดเมืองซึ่งอยู่ที่เกาะลิบงได้เลื่อนตำแหน่งเป็นพระยาลิบง ผู้ว่าราชการเมือง เกาะลิบงจึงเป็นที่ตั้งเมืองตามที่อยู่ของผู้ว่าราชการและเป็นท่าเรือค้าขาย ทั้งเป็นศูนย์กลางระหว่างเมืองทางทะเลหน้านอก เช่น ถลาง ปีนัง ต่อมาพระยาลิบงเกิดไม่ลงรอยกับเจ้าพระยานครฯ (พัด)รัชกาลที่ 1 จึงให้เมืองตรังภูรามาขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ ใน

พ.ศ. 2347 เมื่อสิ้นพระยาลิบง หลวงฤทธิสงครามได้ว่าราชการต่อมา แต่ไม่สันทัดการบริหารบ้านเมือง รัชกาลที่ 2 จึงให้ขึ้นต่อสงขลา เมื่อหลวงฤทธิสงครามถึงแก่กรรม เมืองตรังภูราถูกยกกลับมาขึ้นต่อนครศรีธรรมราชอีกครั้งหนึ่ง

2.3 สมัยตั้งเมืองที่ควนธานี (พ.ศ. 2354-2436)

พ.ศ. 2354 พระบริรักษ์ภูเบศร์ (น้อย) ได้เลื่อนเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองนครฯ ได้ปรับปรุงตำแหน่งกรมการเมือง มีชื่อหลวงอุภัยราชธานีเป็นผู้พยาบาลเมืองตรัง ตั้งเมืองที่ควนธานี เมืองตรังยังคงฐานะเป็นเมืองท่าหน้าด่านของนครศรีธรรมราช เจ้าพระยานครฯ (น้อย)เข้ามาจัดการเมืองตรังให้เป็นเมืองท่าค้าขายและฐานทัพเรือเพื่อควบคุมหัวเมืองมลายู สินค้าออกที่สำคัญ ได้แก่ ช้าง และดีบุก เมืองตรังเป็นที่ต้องรับทูตอังกฤษจากปีนังถึง 2 ครั้ง และถูกโจรสลัดหวันมาลีเข้าตีเมืองเมื่อ พ.ศ. 2381 หลังจากนั้นไม่ค่อยปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับเมืองตรัง

เมื่อถึงต้นรัชกาลที่ 5 หัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันตกมีความสำคัญยิ่งขึ้นในฐานะเป็นแหล่งดีบุก ทางส่วนกลางจึงส่งข้าหลวงใหญ่ฝ่ายทะเลตะวันตกมาประจำที่ภูเก็ตตั้งแต่ พ.ศ. 2418 ต่อมาพวกกรรมกรจีนก่อจลาจล ข้าหลวงฯ จึงมาประจำอยู่ที่เมืองตรังคือที่ควนธานี ฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)อดีตผู้สำเร็จราชการในรัชกาลที่ 5 ก็ออกมาปรับปรุงเมืองตรัง และให้เมืองตรังขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ แต่สมเด็จเจ้าพระยาฯ ถึงแก่พิราลัยเสียก่อน เมืองตรังถูกปกครองโดยข้าหลวงฯ จากภูเก็ต จนถึง พ.ศ. 2431 พระยาตรังคภูมาภิบาล (เอี่ยม) ได้เป็นผู้ว่าราชการเมือง ต่อมารัชกาลที่ 5 เสด็จฯ เมืองตรัง ใน พ.ศ. 2433 ทรงเห็นว่าบ้านเมืองทรุดโทรม จึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผู้ว่าราชการเมืองคนใหม่ คือพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี(คอซิมบี๊)ซึ่งได้ย้ายที่ตั้งเมืองไปยังตำบลกันตังสำเร็จเรียบร้อยใน พ.ศ. 2436

2.4 สมัยตั้งเมืองที่กันตัง (พ.ศ. 2436-2458)

พระยารัษฎาฯ เริ่มงานพัฒนา ได้แก่ การวางผังเมือง ก่อสร้างสถานที่ราชการ ตัดถนนเพิ่มระหว่างอำเภอและจังหวัดใกล้เคียง เปิดการค้ากับต่างประเทศอย่างเป็นระบบ และนำพันธุ์ยางพารามาส่งเสริมให้ราษฎรปลูกที่เมืองตรังเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ระหว่างนั้นเมืองตรังเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลภูเก็ต ต่อมา พ.ศ. 2453 โครงการทางรถไฟสายใต้ได้กำหนดสายแยกจากทุ่งสงมาสุดปลายทางที่ท่าเรือกันตัง จนเปิดการเดินรถได้ใน พ.ศ. 2456 การพัฒนาทุกด้านทำให้เมืองตรังก้าวสู่ความเจริญอย่างรวดเร็ว จนมีชื่อกันตังเป็นเมืองท่าในแผนที่โลก

2.5 สมัยตั้งเมืองที่ทับเที่ยง (พ.ศ. 2458-ปัจจุบัน)

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 เสด็จฯ เมืองตรังในปี พ.ศ. 2458 ซึ่งอยู่ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 ทรงเห็นว่าที่กันตังไม่ปลอดภัยในยามสงคราม ทั้งเป็นที่ลุ่มมักทำให้เกิดโรคระบาด และยากแก่การขยายเมือง ส่วนที่ตำบลทับเที่ยง อำเภอบางรักหรืออำเภอเมืองตรังในปัจจุบัน เป็นที่ชุมชนมากกว่า ภูมิประเทศก็เหมาะสม จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายที่ตั้งเมืองไปที่ตำบลทับเที่ยง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2458 และเป็นที่ตั้งเมืองมาจนถึงปัจจุบัน

สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่โดยทั่วไปเป็นเนินสูง ๆ ต่ำ ๆ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ตำบลทับเที่ยง มีพื้นที่รับผิดชอบ 14.77 ตารางกิโลเมตร ระยะห่างจากที่ตั้งจังหวัด ประมาณ 50 เมตร มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ จรด ตำบลนาตาล่วง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง
  • ทิศใต้ จรด ตำบลโคกหล่อ อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง
  • ทิศตะวันออก จรด ตำบลบ้านโพธิ์ อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง
  • ทิศตะวันตก จรด ตำบลบางรัก อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง

ลักษณะภูมิอากาศ จากข้อมูลเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศและที่ตั้งทางภูมิศาสตร์จังหวัดตรัง พอสรุปลักษณะภูมิอากาศของจังหวัดตรัง ได้โดยย่อดังนี้

ลักษณะอากาศโดยทั่วไป โดยเหตุที่ว่า ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของจังหวัดตรัง ตั้งอยู่ทางฝั่งทะเลทางด้านตะวันตกค่อนไปทางใต้ของภาคใต้ เมื่อลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นลมร้อนชื้นจากมหาสมุทรอินเดียพัดผ่าน จึงได้รับอิทธิพลจากลมนี้อย่างเต็มที่ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึงเดือนตุลาคม ฉะนั้นในช่วงเวลาข้างต้น จังหวัดตรังจึงมีฝนตกชุกมาก และเมื่อมรสุมนี้อ่อนกำลังลงก็จะมีมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจากประเทศจีนพัดเข้ามาแทนที่ เนื่องจากจังหวัดตรังอยู่ทางด้านปลายลม จึงได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมนี้ไม่มากนัก แต่อย่างไรก็ตาม ตอนต้นของฤดูมรสุมนี้ คือ ในเดือนตุลาคมและเดือนพฤศจิกายนก็ยังมีฝนตกชุกอยู่ หลังจากนี้ไปฝนก็จะเริ่มลดน้อยลงตามลำดับ

ฤดูกาล ฤดูกาลของจังหวัดตรัง แบ่งตามลักษณะ ตามอากาศของประเทศไทย ได้เป็น 2 ฤดูคือ 1. ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กลางกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม ระยะนี้เป็นช่วงว่างของลมมรสุมหลังจากนี้สิ้นสุดฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ หรือฤดูหนาวแล้ว อากาศจะเริ่มร้อนและจะร้อนจัดในเดือนมีนาคมและเมษายน แต่ไม่ร้อนมากนัก เนื่องจากภูมิประเทศเป็นคาบสมุทร อยู่ใกล้ทะเล ไอน้ำจากทะเลทำให้อากาศคลายความร้อนลงมาก 2. ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ เป็นช่วงที่มรสุมทางตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นลมร้อนและชื้นจากมหาสมุทรอินเดียพัดปกคลุมภาคใต้เป็นระยะๆอีกด้วย ทำให้มีฝนตกมากฝนสูงสุดอยู่ในเดือนกันยายน

อุณหภูมิ เนื่องจากจังหวัดตรังอยู่ในคาบสมุทรที่เป็นแหลมยื่นออกไปในทะเลจึงได้รับลมมรสุมอย่างเต็มที่ คือ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้จากมหาสมุทรอินเดีย และมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทย ทำให้ได้รับไอน้ำและความชุ่มชื้นมาก อุณหภูมิโดยเฉลี่ยไม่สูงมากนัก และอากาศไม่ร้อนนักในฤดูร้อน อากาศจะอุ่นในช่วงฤดูฝน ส่วนฤดูหนาวอากาศจะเย็นบางครั้ง อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 29.1 องศาเซลเซียส เดือนมีนาคมเป็นเดือนที่มีอากาศร้อนจัดที่สุด

ข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนประชากร (ปี พ.ศ. 2562) ระบุว่ามีจำนวนบ้าน 25,138 ครัวเรือน ประกอบไปด้วยประชากรชาย 27,435 คน ประชากรหญิง 31,732 คน รวมประชากร 59,167 คน

จีน
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ประเพณีและงานประจำปี

  1. ประเพณีถือศีลกินผัก
  2. ประเพณีตรุษจีน
  3. ประเพณีวันสารทเดือนสิบ
  4. ประเพณีสงกรานต์
  5. ประเพณีลอยกระทง
  6. ประเพณีชักพระวัดควนขัน
  7. ประเพณีลากพระ
  8. งานเทศกาลหมูย่าง และขนมเค้ก
  9. งานวิวาห์ใต้สมุทร

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

1. รองเง็ง เป็นการละเล่นของชาวบ้านประเภทผสมผสานระหว่างท่าเต้นกับบทร้อง การแสดงเหมือนกับรำวงทั่วไป กล่าวคือ มีการจัดตั้งคณะรองเง็งขึ้นเป็นคณะ คณะหนึ่งมีนางรำประมาณ 4-10 คน นางรำเหล่านี้จะถูกฝึกให้มีความชำนาญในจังหวะการเต้นแบบต่าง ๆ พร้อมกันนั้นก็จะต้องสามารถร้องเนื้อร้องได้ทุกทำนอง และต้องรู้ทั้งบทกลอนที่ท่องกันมาและสามารถผูกกลอนสดขึ้นร้องโต้ตอบกับคู่รำได้อย่างคล่องแคล่วและชำนาญ นางรำส่วนใหญ่มักจะได้รับการฝึกหัดมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ในสมัยโบราณคณะรองเง็งคณะหนึ่ง มักจะเป็นคนในครอบครัวหรือเครือญาติเดียวกัน หรือไม่ก็คนในหมู่บ้านเดียวกัน (เพราะสะดวกในการฝึกซ้อม และในการเรียกรวมตัวเมื่อมีผู้มาติดต่องานการแสดง) หนึ่งในจำนวนนั้นจะมีนายโรงคนหนึ่งซึ่งมักจะเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีความรู้เกี่ยวกับขนบธรรมเนียมของรองเง็งเป็นอย่างดี และมักจะเป็นมือซอหรือมือไวโอลินประจำคณะด้วย

2. อนุสาวรีย์พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) อนุสาวรีย์พระรัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) อยู่ในบริเวณสวนสาธารณะเขตเทศบาลเมืองตรัง ห่างจากศาลากลางจังหวัด 1 กิโลเมตร เส้นทางถนนตรัง-พัทลุง พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี ได้สร้างความเจริญแก่จังหวัดตรังเป็นอย่างมาก เช่น การคมนาคม เกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์ การศึกษา การปกครอง และเป็นผู้นำต้นยางต้นแรกมาปลูกในจังหวัดตรัง จนแพร่หลายไปทั่วภาคใต้

3. หอนาฬิกาประจำจังหวัดตรัง เป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของจังหวัด ซึ่งตั้งตระหง่านอยู่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด ปัจจุบันทางเทศบาลนครตรังได้ปรับปรุงทิวทัศน์บริเวณถนนโดยรอบหอนาฬิกา เพื่อเป็นสถานที่สำหรับนักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชมความสวยงามของเมืองตรังในยามเย็นได้อีกด้วย

4. ประติมากรรมวงเวียนพะยูน งานประติมากรรมออกเป็น 3 ลำดับ ดังนี้

  • ลำดับที่ 1 (ชั้นน้ำพุที่ 1 ความสูงของงานประติมากรรม 4 เมตร) เน้นเรื่องเอกลักษณ์เป็นจุดเด่นของระดับภาคเป็นอันดับแรก โดยเน้นเรื่องของศิลปวัฒนธรรมของภาคใต้ที่ทุกจังหวัดมีเหมือนกันคือ “มโนราห์” หรือ “โนรา” เป็นศิลปะการแสดงที่โดดเด่นของเมืองตรังคู่กับหนังตะลุง
  • ลำดับที่ 2 (ชั้นน้ำพุที่ 2 ความสูงของงานประติมากรรม 2 เมตร) เน้นเรื่องอนุรักษ์ทรัพยากรที่จะสูญหายไปจากโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดในขณะนี้สำหรับชาวตรังเรา คือ “พะยูน” เพราะที่เดียวที่มีแหล่งอาหารให้ปลาพะยูนกิน นั้นคือ “หญ้าทะเล” มีอยู่มากบริเวณชายทะเลน้ำตื้นของเขตทะเลจังหวัดตรัง ปลาดุหยง หรือ พะยูน เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตระกูลเดียวกับช้าง มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น หมูน้ำ เงือก วัวทะเล Dugong Sea cow มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dugong dogong
  • ลำดับที่ 3 (ชั้นน้ำพุที่ 3 ความสูงของงานประติมากรรม 2 เมตร) เน้นเรื่องสัญลักษณ์ เริ่มแรกของจังหวัดตรัง นั่นคือ “ม้า” โดยมีที่มาจากคำว่า “ตรัง” มีความหมายสันนิษฐานได้ 2 ทาง คือ 1. ตรัง ที่มาจากคำว่า “ตรังคปุระ” เป็นคำสันสกฤต แปลว่า “การวิ่งห้อของม้า” หรือ “คลื่นเคลื่อนตัว” ชื่อเมือง 12 นักษัตร นั้นคือชื่อเมืองป้อมปราการล้อมรอบเมืองนครศรีธรรมราช เมืองตรังคปุระ เป็นเมืองที่มีฐานทับเรือ จึงให้ใช้ตราม้า 2. ตรัง มาจากคำว่า “ตรังค์” แปลว่า “ลูกคลื่น” เพราะลักษณะพื้นที่ของเมืองตรัง ตอนเหนือเป็นเนินเล็กๆ สูงๆ ต่ำๆ คล้ายลูกคลื่นอยู่ทั่วไป

ชาวตรังมีความเชื่อ ศรัทธา ค่านิยมในวัฒนธรรมทั่วไปตามครรลองของวัฒนธรรมไทย และวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น ส่วนใหญ่ตามวัฒนธรรมของพุทธศาสนา วัฒนธรรมประเพณีเป็นการผสมผสานระหว่างประเพณีวัฒนธรรมไทยกับจีน ทั้งนี้เนื่องจากประชาชน ในเขตเมืองส่วนใหญ่มีเชื้อสายไทยผสมจีน ใช้ภาษาใต้เป็นภาษาถิ่น

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ผู้จัดการออนไลน์. (2562, 4 กันยายน). ชวนมาเยือน “เมืองทับเที่ยง” ชุมชนเก่าแก่กว่า 100 ปี สวยงามโดดเด่นระดับภาคใต้. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 22 มิถุนายน 2566, จาก https://mgronline.com/.

จิระนันท์ พิตรปรีชา. (2559, 23 เมษายน). ทับเที่ยง : ย่านเก่า-เงาอดีต. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2566, จาก https://www.bangkokbiznews.com/.

งานส่งเสริมการท่องเที่ยว ฝ่ายอำนวยการ สำนักปลัดเทศบาล. (2564). แผนส่งเสริมการท่องเที่ยวเทศบาลนครตรังประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2566, จาก https://www.trangcity.go.th/

POST TODAY. (2559, 22 มีนาคม). เที่ยวเมืองตรัง ชมงาน “นิทรรศน์ทับเที่ยง ย่านเก่า เงาอดีต”. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 22 มิถุนายน 2566, จาก https://www.posttoday.com/.

THE Momentum. (2561). ไปงานศพป้า ไปหาอดีต ที่เมืองตรัง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2566, จาก https://themomentum.co/.