Advance search

มอญพระประแดง

“เมืองพระประแดง ดินแดนชาวรามัญ แหล่งสืบสายอารยธรรม บรรพชนคนหงสาวดี”

ทรงคนอง
พระประแดง
สมุทรปราการ
ธำรงค์ บริเวธานันท์
17 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
18 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
18 ก.ค. 2023
มอญพระประแดง


“เมืองพระประแดง ดินแดนชาวรามัญ แหล่งสืบสายอารยธรรม บรรพชนคนหงสาวดี”

ทรงคนอง
พระประแดง
สมุทรปราการ
10130
องค์การบริหารส่วนตำบลทรงคนอง โทร. 0-2818-5226
13.659993
100.533085
เทศบาลเมืองพระประแดง

มอญเป็นชนชาติเก่าแก่ที่อาศัยอยู่บริเวณตอนใต้ของพม่า ในอดีตชนชาติมอญเคยมีอํานาจปกครองตนเอง และอาณาจักรมอญเคยมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมากในดินแดนสุวรรณภูมิก่อนถูกพม่ารุกราน จนถึงปี พ.ศ. 2300 ก็ถูกพม่าปราบปรามอย่างเด็ดขาด ผลจากการเสื่อมสลายของอาณาจักรมอญ ทําให้คนมอญอพยพเข้ามายังดินแดนประเทศไทยหลายระลอกด้วยกัน และชาวมอญที่ได้อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยนั้นจะได้รับการต้อนรับจากรัฐบาลไทย โดยจัดที่อยู่อาศัยในหลักแหล่งที่เหมาะสม สําหรับบริเวณที่รัฐบาลได้จัดให้นั้นส่วนใหญ่จะตั้งอยู่บริเวณทั้งสองฟากฝั่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตอนเหนือของกรุงเทพมหานครขึ้นไป และแถบลุ่มน้ำแม่กลอง กล่าวคือ ชาวมอญที่อพยพเข้ามาครั้งกรุงศรีอยุธยาส่วนใหญ่จะได้รับพระราชทานที่ดินให้ทํามาหากินอยู่ในกรุงศรีอยุธยาหรือบริเวณที่ใกล้เคียง ครั้นถึงสมัยกรุงธนบุรีสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้โปรดเกล้าฯ ให้ชาวมอญที่อพยพเข้ามาในครั้งนั้นไปอยู่ที่ปากเกร็ด เมืองนนทบุรี และที่สามโคก เมืองปทุมธานี

ต่อมาในสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ได้โปรดให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นแม่กลองเสด็จลงไปทําเมืองขึ้นที่ปากลัด ตัดเอาท้องที่แขวงกรุงเทพมหานครบ้าง แขวงเมืองสมุทรปราการบ้าง รวมกันตั้งเป็นเมืองใหม่พระราชทานนามว่า “เมืองนครเขื่อนขันธ์” ในกาลนี้ได้โปรดฯ ให้ชาวมอญที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยย้ายมาตั้งถิ่นฐานในบริเวณนครเขื่อนขันธ์ด้วย โดยการอพยพของชาวมอญสู่นครเขื่อนขันธ์นั้นปรากฏ 2 ครั้งด้วยกัน ครั้งแรกประกอบด้วยชาวมอญที่อพยพมาพร้อมการสร้างเมืองจากเมืองปทุมธานี และครั้งที่สองคือ เมื่อเริ่มสร้างเมือง ต่อมาในปี 2548 สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้เปลี่ยนนามนครเขื่อนขันธ์เป็นเมืองพระประแดง เนื่องจากนามเมืองพระประแดงนี้เป็นนามเมืองที่สำคัญมาแต่โบราณ ชาวมอญจึงถือเป็นราษฎรกลุ่มแรกของเมืองพระประแดง โดยกระจายตัวตั้งบ้านเรือนอยู่ตามตำแหน่งต่าง ๆ ของอำเภอพระประแดง

ที่ตั้งและลักษณะภูมิประเทศ

ปัจจุบันอําเภอพระประแดง เป็นอําเภอหนึ่งของจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดสมุทรปราการ มีพื้นที่ครอบคลุมบริเวณริมสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาตอนปลายเหนืออ่าวไทย ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 10 กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งหมด ประมาณ 73,997 ตารางกิโลเมตร และแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 15 ตําบล คือ ตําบลตลาด ตําบลบางพึ่ง ตําบลบางครุ ตําบลบางจาก ตําบลทรงคนอง ตําบลบางยอ ตําบลบางกระสอบ ตําบลบางน้ำผึ้ง ตําบลบางกะเจ้า ตําบลบางกอบัว ตําบลบางหญ้าแพรก ตําบลบางหัวเสือ ตําบลสําโรง ตําบลสําโรงกลาง ตําบลสําโรงใต้ ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ ไม่มีภูเขา มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านกลางทําให้พื้นที่แยกออกเป็นสองฝั่ง มีคลองสําคัญ ได้แก่ คลองลัดโพธิ์ คลองลัดหลวง คลองสําโรง เป็นต้น โดยมีอาณาเขตติดต่อดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อ เขตยานนาวา และเขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร
  • ทิศใต้ ติดต่อ อําเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ
  • ทิศตะวันออก ติดต่อ อําเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ
  • ทิศตะวันตก ติดต่อ เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร

จากลักษณะภูมิประเทศดังกล่าวทําให้มีเรือสินค้าขนาดใหญ่สามารถแล่นเข้าออกได้ พื้นที่ส่วนใหญ่ที่เคยเป็นพื้นที่สําหรับการเพาะปลูกหรือทําการเกษตร ส่งผลให้อำเภอพระประแดงกลายเป็นแหล่งลงทุนภาคอุตสาหกรรม มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่เป็นจํานวนมาก ยกเว้นพื้นที่ทางทิศเหนือของอําเภอซึ่งมีแม่น้ำเจ้าพระยาล้อมรอบ มีสัณฐานคล้ายกระเพาะหมู ประชาชนในพื้นที่ยังคงประกอบอาชีพทําสวนผลไม้เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งพื้นที่บริเวณนี้ทางรัฐบาลได้ประกาศให้เป็นพื้นที่สีเขียว รวมทั้งได้จัดสรรพื้นที่บางส่วนทําเป็นสวนกลางมหานครโดยใช้ชื่อว่า “สวนศรีนครเขื่อนขันธ์” เพื่อให้เป็นปอดของคนกรุงเทพ อีกทั้งยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจอีกด้วย

หมู่บ้านมอญในอำเภอพระประแดง

หมู่บ้านมอญในอําเภอพระประแดงนั้นได้จําลองแบบอย่างมาจากกรุงหงสาวดี (พะโค) เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ชาวมอญที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในแผ่นดินไทย ดังนั้นจึงเรียกเมืองพระประแดงแห่งนี้ว่า “ดินแดนแห่งชาวรามัญ หรือเมืองของชาวรามัญ” (Raman Town) (กษิด์เดช เนื่องจำนงค์, 2557: 52-53) หมู่บ้านชาวมอญในอำเภอพระประแดงมีทั้งหมด 17 หมู่บ้าน (หมู่บ้านมอญเรียกว่า กวาน ကွာန်) และหมู่บ้านมอญเหล่านี้ส่วนใหญ่จะใช้ชื่อหมู่บ้านที่เคยมีอยู่ในกรุงหงสาวดี ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ใน 4 ตําบล คือ ตําบลตลาด ตําบลทรงคนอง ตําบลบางพึ่ง และตําบลบางหญ้าแพรก ดังนี้

1. กวานดงฮะนอง (ကွာန်ဍောၚ်သၞံၚ်) ภาษามอญแปลว่า ดวงดาว ปัจจุบันเรียกว่าบ้านทรงคนอง

2. กวานเริ่งเกลิ่ง (ကွာန်ရုၚ်ဂၠုၚ်) ปัจจุบันเรียกว่า บ้านโรงเรือ

3. กวานอะหม่าน (ကွာန်လမာန်) แปลว่า บ้านช่างปั้น ชาวมอญที่อาศัยอยู่ที่บ้านอะหม่านแห่งนี้ เป็นมอญที่อพยพมาจากหมู่บ้านเดียวกันกับ บ้านอาม่าน ที่เกาะเกร็ด

4. กวานแซ่ฮ์ (ကွာန်ဇြာ) ในเมืองมอญเมื่ออดีตมีฐานะเป็นเมืองใหญ่ เรียกว่า เมืองแซ่ฮ์ ปัจจุบันทางการพม่าแยกย่อยออกเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ชื่อเมืองแซ่ฮ์จึงหายไป เหลือเพียงหมู่บ้านแซ่ฮ์ แต่เมืองแซ่ฮ์ยังถูกใช้เรียกขานในหมู่ชาวบ้าน ส่วนที่พระประแดงในปัจจุบันคงสถานะเป็นหมู่บ้าน เรียกว่า บ้านแซ่ฮ์

5. กวานตองอุ๊ (ကွာန်တံၚ်ဥ) ปัจจุบันเรียกว่า บ้านตองอุ๊

6. กวานฮะมาง (ကွာန်ထမၚ်) ปัจจุบันเรียกว่า บ้านทะมัง

7. กวานฮะเริ่น (ကွာန်ဂရိၚ်) ปัจจุบันเรียกว่า บ้านฮะเริ่นย์ ภาษามอญ แปลว่า ฟ้าคำราม

8. กวานตา (ကွာန်တာ) ปัจจุบันเรียกว่า บ้านตา ภาษามอญ แปลว่า ตาล

9. กวานเว่ขะราว (ကွာန်ဝါခရူ) ปัจจุบันเรียกว่า บ้านเว่ขะราว ภาษามอญ แปลว่า บ้านทุ่งขรู่

10. กวานเต่อ (ကွာန်ဒဵုฉ ปัจจุบันเรียกว่า บ้านเต่อ ภาษามอญ แปลว่า บ้านดอน

11. กวานดัง (ကွာန်က္ဍိုၚ်) ปัจจุบันเรียกว่า บ้านดัง ภาษามอญ แปลว่า บ้าน (ทำ) ร่ม หรือฉัตร

12. กวานจ่างบี (ကွာန်ဇိုၚ်ၜဳ) ปัจจุบันเรียกว่า บ้านจ่างบี ภาษามอญ แปลว่า บ้านริมน้ำ/ชายน้ำ

13. กวานเกริงกรัง (ကွာန်ကြုၚ်ကြၚ်) ปัจจุบันเรียกว่า บ้านโกงกาง ภาษามอญ แปลว่า บ้าน (ต้นพืช) โกงกาง

14. กวานฮะโต่นเจินย์ (ကွာန်ဒဒန်စိၚ်) ปัจจุบันเรียกว่า บ้านฮะโต่นเจิ่นย์ ภาษามอญ แปลว่า บ้านสะพานช้าง

15. กวานเจิ่มฮะมาย (ကွာန်ဆေၚ်မာဲ) ปัจจุบันเรียกว่า บ้านเชียงใหม่

16. กวานฮะกาม (ကွာန်ဟကာံ) ปัจจุบันเรียกว่า บ้านฮะกาม ภาษามอญ แปลว่า บ้านแกลบ

17. กวานฮะโหมก (ကွာန်ဗမံက်) ปัจจุบันเรียกว่า บ้านฮะโหมก ภาษามอญ แปลว่า บ้านตะวันออก (รามัญคดี, 2563: ออนไลน์)

อำเภอพระประแดงมีประชากรทั้งสิ้น 195,343 คน เพศชาย 94,325 คน เพศหญิง 101,018 คน ประชากรหนาแน่นเฉลี่ย  2,678.75 คนต่อ 1 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุดคือ ตำบลตลาด มีความหนาแน่น 15,478 คนต่อ 1 ตารางกิโลเมตร รองลงมาคือ ตำบลบางพึ่ง ตำบลบางครุ ตำบลบางจาก 4,733 คนต่อ 1 ตารางกิโลเมตร และที่มีความหนาแน่นน้อยที่สุด คือ ตำบลบางกระสอบ 669 คนต่อ 1 ตารางกิโลเมตร

มอญ

เนื่องจากอำเภอพระประแดงเป็นพื้นที่ย่านอุตสาหกรรม มีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก โดยเฉพาะแถบตำบลบางกระเจ้า ซึ่งมีผลอย่างมากต่อรูปแบบการประกอบอาชีพของประชาชนในพื้นที่ ประชาชนจำนวนมากมีอาชีพเป็นลูกจ้างในโรงงานอุตสาหกรรม ส่วนอาชีพเกษตรกรรมที่เคยเป็นอาชีพหลักในอดีตปัจจุบันมีผู้ประกอบอาชีพนี้ลดน้อยลงมาก เนื่องจากพื้นที่นาส่วนใหญ่ถูกขายต่อให้กับเหล่านายทุนเพื่อก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม ความเป็นเกษตรกรรมของพระประแดงจึงถูกแทนที่ด้วยอุตสาหกรรมแทน 

ประเพณีสงกรานต์

ประเพณีสงกรานต์พระประแดง เดิมเรียกกันว่า “สงกรานต์ปากลัด” โดยรวมนับว่าคล้ายคลึงกับประเพณีสงกรานต์ทั่ว ๆ ไป แต่ที่เห็นว่าแตกต่างจากประเพณีสงกรานต์อื่น ๆ คือ การจัดงานสงกรานต์พระประแดง จะช้ากว่าวันสงกรานต์ปกติ คือ แทนที่จะจัดในวันที่ 13 เมษายน ก็กลับเป็นวันอาทิตย์ต่อถัดจากวันสงกรานต์อีกหนึ่งสัปดาห์

ประเพณีสงกรานต์พระประแดง ถือเป็นวันเทศกาลขึ้นปีใหม่ เป็นเทศกาลสำคัญของชาวไทยเชื้อสายมอญ หรือที่เรียกว่า ชาวไทยรามัญ ที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองพระประแดง ในวันสงกรานต์จะเริ่มต้นด้วยการส่งข้าวสงกรานต์ตามวัดต่าง ๆ ทำบุญทำทานในตอนเช้าตรู่ ในตอนสายลูกหลานจะพากันไปรดน้ำขอพรจากผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ตอนกลางคืนจะมีการเล่นสะบ้าตามหมู่บ้านต่าง ๆ การร้องเพลงทะแยมอญกล่อมบ่อน ซึ่งแสดงถึงวิถีชีวิตของชาวไทยเชื้อสายมอญ และในวันท้ายของสงกรานต์ทุกหมู่บ้านจะร่วมใจกันจัดขบวนแห่นางสงกรานต์เพื่อนำขบวนไปปล่อยนก-ปล่อยปลา ณ อาราหลวงวัดโปรดเกษเชษฐาราม ซึ่งถือเป็นการสะเดาะเคราะห์ของชาวมอญ

ประเพณีกวนกะละแม

ประเพณีกวนกะละแมเป็นหนึ่งประเพณีสำคัญของชาวมอญในอำเภอพระประแดง เมื่อถึงเทศกาลประเพณีสงกรานต์ของชาวมอญ ชาวมอญจะทำความสะอาดบ้านเรือนแต่เนิ่น ๆ และทำขนมที่มอญเรียกว่า “กวันฮะกอ” แปลเป็นภาษาไทยว่า “ขนมกวน” ประกอบด้วยแป้ง ข้าวเหนียว น้ำตาลมะพร้าว และกะทิ กวนให้เข้ากันจนเหนียว เรียกว่า “กาละแม” เมื่อถึงวันสงกรานต์คนมอญจะนำอาหารไปทำบุญที่วัดตอนเย็นจะพากันไปรดน้ำขอพรจากผู้ใหญ่และผู้ที่เคารพนับถือ บรรดาสาว ๆ ตามหมู่บ้านจะนำขนมกาละแมไปส่งตามญาติ หรือผู้ที่เคารพนับถือในต่างตำบล และชอบที่จะไปส่งไกลบ้านตน ส่วนช่วงเย็นจะพากันไปสรงน้ำพระที่วัด และเมื่อถึงเวลากลางคืนจะมีการเล่นสะบ้าตามประเพณีตามหมู่บ้านของตน และการเล่นสะบ้านี้จะมีขนม “กวันฮะกอ” เตรียมไว้ให้รับประทานด้วย ปัจจุบันนี้ประเพณียังคงอยู่ตามหมู่บ้านต่าง ๆ

ประเพณีแห่หงส์-ธงตะขาบ

แห่งหงส์-ธงตะขาบ เป็นประเพณีสำคัญของชาวมอญในช่วงเทศกาลสงกรานต์ วัดแต่ละวัดจะตกแต่งรถหงส์ เป็นรถเข็นขนาดใหญ่ โดยรอบประดับประดาด้วยดอกไม้และผ้าสีสันต่าง ๆ และมีลักษณะเหมือนกับหงส์ บนรถจะมีนางหงส์นั่งอยู่ รถหงส์จะแห่ออกจากหมู่บ้านตามเส้นทางไปจนถึงตลาดพระประแดง นอกจากนี้ยังมีธงตะขาบขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นของวัดแต่ละวัดนำมาร่วมขบวนแห่ เมื่อขบวนแห่วนไปถึงบริเวณวัดของตน คนในหมู่บ้านที่ขึ้นอยู่กับวัดแห่งนั้น ก็จะแยกจากขบวนเข้าไปที่วัดของตนเพื่อนำธงตะขาบไปแขวนไว้ในวัด

ตามความเชื่อของชาวมอญนั้น หงส์นั้นเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของเมืองหงสาวดีอันเป็นดินแดนดั้งเดิมของชาวมอญ ตามตำนานเล่าว่า หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ได้ 8 ปี ก็ได้เสด็จไปยังแคว้นต่าง ๆ วันหนึ่งทรงมาถึงภูเขาสุทัศนมรังสิต ซึ่งอยู่ทางเหนือของเมืองสะเทิน ทรงเห็นเนินดินกลางทะเล มีหงส์คู่หนึ่งเล่นน้ำกันอยู่พระองค์จึงทำนายว่าในกาลสืบไปข้างหน้า เนินดินที่หงส์ทองเล่นน้ำจะกลายเป็นมหานครชื่อว่า หงสาวดี คำสั่งสอนของพระพุทธองค์จะรุ่งเรืองขึ้นที่นี่ หลังจากเสด็จดับขันธ์ล่วงไปแล้วได้ 100 ปี ทะเลใหญ่นั้นก็เกิดตื้นเขินจนกลายเป็นแผ่นดินกว้างใหญ่ เมืองหงสาวดีจึงได้กำเนิดขึ้น ณ ดินแดนที่มีหงส์ทองเล่นน้ำอยู่นั้น ดังนั้นชาวมอญในหงสาวดีจึงใช้หงส์เป็นสัญลักษณ์ของประเทศตั้งแต่นั้นมา ส่วนธงตะขาบนั้นมีความหมายในทางโลกว่า ตะขาบ เป็นสัตว์มีเขี้ยวเล็บที่มีพิษ สามารถต่อสู้กับศัตรูที่มาระรานได้ เปรียบเสมือนชาวมอญซึ่งไม่เคยหวาดหวั่นต่อศัตรู ส่วนความหมายในทางธรรมนั้น คนมอญจะตีความทุกส่วนของตะขาบออกมาเป็นปริศนาธรรมทั้งสิ้น

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

การเล่นสะบ้าบ่อน

การเล่นสะบ้าบ่อน เป็นการละเล่นอย่างหนึ่งของชาวมอญที่มีมาแต่โบราณ จัดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ การเล่นสะบ้าบ่อนนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หนุ่มสาวชาวมอญได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกันอย่างใกล้ชิดภายใต้สายตาของผู้ใหญ่ เนื่องจากในอดีตหนุ่มสาวชาวมอญไม่มีโอกาสได้พบปะพูดคุยกันเหมือนในปัจจุบัน ดังนั้นการเล่นสะบ้าบ่อนของชาวมอญจึงไม่ได้เน้นที่แพ้หรือชนะ แต่หากใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบรูปร่าง หน้าตา กิริยามารยาท การสนทนา บุคลิกภาพ ตลอดจนการตรวจสอบการพิการทางร่างกายของหนุ่ม–สาวที่เล่นสะบ้า

บ่อนสะบ้า

มักจะใช้บ้านที่มีบริเวณใต้ถุนบ้านสูงหรือลานกว้าง ๆ ในสมัยก่อนฝ่ายหญิงจะต้องจัดเตรียมบ่อนสะบ้าโดยใช้น้ำราดและทุบดินบริเวณใต้ถุนบ้านให้เรียบ ใช้ตะลุมพุกทุบแล้วกลึงด้วยขวดน้ำให้พื้นนั้นเรียบสนิท ในปัจจุบันใช้เล่นบนพื้นปูนซีเมนต์หรือบนพื้นไม้ก็มี

ลูกสะบ้า

ในอดีต ลูกสะบ้าที่นำมาใช้ในการเล่นสะบ้านั้นมาจากไม้เลื้อยชนิดหนึ่งคล้ายเถาวัลย์ ฝักมีขนาดใหญ่และภายในมีผลทรงแบน ๆ ผลเป็นสีน้ำตาลแดงปนน้ำตาลไหม้ ลักษณะค่อนข้างกลม เปลือกแข็งและมันเงา เหมาะที่จะนำมาใช้ในการเล่นสะบ้า แต่ในปัจจุบันผลสะบ้าค่อนข้างที่จะหาได้ยากจึงเลือกใช้วัสดุหลากหลายชนิดตามความต้องการและความสวยงาม เช่น งาช้าง กระดูกวัว กระดูกควาย เขาควาย เงิน ทองแดง ทองเหลือง หรือไม้เนื้อแข็ง เป็นต้น อีกทั้งสิ่งเหล่านี้ยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงฐานะของเจ้าของบ่อนสะบ้าอีกด้วย ซึ่งในปัจจุบันเรามักจะพบเห็นแต่เพียงวัสดุประเภททองเหลืองและไม้เนื้อแข็งเท่านั้น ซึ่งลูกสะบ้าหรือผลสะบ้านั้นจะต้องมีลักษณะแบน มีความหนาโดยประมาณ สำหรับลูกสะบ้าสำหรับฝ่ายหญิงจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-2 นิ้ว และลูกสะบ้าสำหรับฝ่ายชายนั้นจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3-5 นิ้ว หรืออาจจะมีขนาดที่ใหญ่เท่าเขียงขนาดเล็กก็เป็นได้

สาวประจำบ่อน

จะมีจำนวน 8-12 คน ตามขนาดของบ่อนสะบ้า สาวประจำบ่อนสะบ้าจะเป็นหญิงสาวในหมู่บ้านนั้น ๆ ซึ่งจะต้องเป็นสาวโสดที่อายุไม่เกิน 25 ปี และจะมีหัวหน้าสาวหรือแม่เมืองคอยควบคุมดูแลอีกทีหนึ่ง หากบ่อนสะบ้าบ่อนไหนมีสาวงามมากก็จะมีผู้มาชมมากตามไปด้วย

หนุ่มเล่นสะบ้า

ส่วนใหญ่มักจะเป็นหนุ่มโสดต่างหมู่บ้าน โดยจะรวมกันเป็นกลุ่มประมาณ 10-20 คน ที่ชักชวนกันไปเล่นสะบ้าตามบ่อนต่าง ๆ และหนุ่มสะบ้าที่มาเล่นนั้นจะต้องมีหัวหน้าที่เป็นผู้อาวุโส และจะต้องเชื่อฟังผู้อาวุโสที่เป็นหัวหน้ากลุ่ม เพราะในขณะที่เล่นสะบ้ากันอย่างสนุกสนาน หนุ่มบางคนอาจจะพูดจาหรือทำบางสิ่งบางอย่างไม่ถูกต้อง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการทะเลาะวิวาทขึ้นมาได้ จึงเป็นหน้าที่ของหัวหน้ากลุ่มที่จะต้องว่ากล่าวตักเตือนหรือควบคุมเรื่องต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ สำหรับการแต่งกายของหนุ่มสะบ้ามักจะนุ่งลอยชายใส่เสื้อคอกลม ลวดลายตามสมัยนิยม และมีผ้าพาดไหล่ซึ่งมักจะเป็นพวกผ้าขาวม้าหรือผ้าที่มีสีสันฉูดฉาด ใส่สร้อยทองและห้อยพระเครื่องเพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงฐานะของหนุ่มสะบ้าที่มาเล่นนั่นเอง

วิธีการเล่นสะบ้า

ขั้นตอนและวิธีในการเล่นสะบ้าแต่ละแห่งนั้นจะแตกต่างกันออกไป อาทิ ชุมชนมอญบางกระดี่จะนิยมเล่นพร้อมกันทุกคู่ ซึ่งจะแตกต่างกับการเล่นสะบ้าของชุมชนมอญพระประแดงที่นิยมเล่นทีละคู่ไปเรื่อย ๆ จนครบทุกคู่จึงจะเริ่มท่าใหม่ได้ โดยเริ่มแรกฝ่ายชายจะเป็นผู้เริ่มเล่นก่อนและให้ฝ่ายหญิงเป็นผู้นั่งและตั้งลูกสะบ้า และฝ่ายชายจะเป็นผู้ทอยหรือดีดลูกสะบ้าของตนให้ถูกลูกสะบ้าของฝ่ายหญิงในคู่ของตน หากทอยหรือดีดลูกสะบ้าของฝ่ายตรงข้ามไม่ล้ม หรือไม่ตรงคู่เล่นของตนก็จะมีโอกาสร้องขอและอ้อนวอนโดยนั่งพับเพียบและกล่าวเป็นภาษามอญว่า “บั๊วกะหยาดอัดมั่วล่น ปลอนระกะหยาด” แปลว่า “พี่สาวจ๋า ขอโอกาสอีกสักครั้งเถิดขอรับ” การขอโอกาสในการแก้ตัวใหม่เมื่อได้ทอยหรือดีดลูกสะบ้าผิดไปนี้เป็นการเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวได้มีโอกาสพูดคุยกันแต่ต้องสุภาพไม่หยาบโลน ระหว่างที่เล่นสะบ้าอยู่นั้นทั้งสองฝ่ายมักจะระวังตัว รักษามารยาท และไม่แสดงกิริยาท่าทางที่ไม่สมควร เพราะมีสายตาของผู้ใหญ่ที่กำลังเฝ้ามองอยู่บนบ้านเพื่อไม่ให้หนุ่มสาวเกินเลยซึ่งกันและกัน และเมื่อสิ้นสุดการเล่นสะบ้าในแต่ละค่ำคืนนั้น ฝ่ายชายที่เป็นหัวหน้าทีมก็จะกล่าวคำอำลาฝ่ายหญิงด้วยถ้อยคำที่สุภาพอ่อนหวานเป็นภาษามอญว่า “บั๊วกะหยาดอัวเดิด หรือโปยเดิ๊ดกะเลาะกลาระกะหยาด” แปลว่า พี่สาวจ๋า ผมขอลาไปก่อนและขออภัยหากมีการล่วงเกินนะขอรับ (วัฒนธรรม, ม.ป.ป.: ออนไลน์)

ภาษาพูด : ภาษามอญ ภาษาไทยกลาง

ภาษาเขียน : ชาวมอญมีตัวอักษรเป็นของตนเอง แต่ปัจจุบันนี้ไม่ได้ถูกนำมาใช้แล้ว ส่วนใหญ่จะปรากฏในการเอกสารโบราณที่จารึกหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา สำหรับภาษาเขียนที่ใช้ในปัจจุบันจึงใช้อักษรไทยแทน 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กษิด์เดช เนื่องจำนงค์. (2557). การจัดการองค์ความรู้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม: กรณีศึกษาการเล่นสะบ้าบ่อน อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารงานวัฒนธรรม วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

รามัญคดี. (2561). 17 หมู่บ้านมอญในพระประแดง. สืบค้นเมื่อ 17 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.facebook.com/RamannMon/

วัฒนธรรม. (ม.ป.ป.). การเล่นสะบ้าบ่อน. สืบค้นเมื่อ 17 กรกฎาคม 2566, จาก http://article.culture.go.th/

สรัญญา ชูชาติไทย. (2543). แนวทางการอนุรักษ์หมู่บ้านมอญพระประแดง: กรณีศึกษษหมู่บ้านทรงคนอง. วิทยานิพนธ์ปริญญาสถาปัตยกรรมมหาบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรม ภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สำนักงานสาธารณสุขอำเภอประแดง. (2562). ข้อมูลทั่วไปอำเภอพระประแดง. สืบค้นเมื่อ 17 กรกฎาคม 2566, จาก  https://ppdho9.files.wordpress.com/

Pitaya Pewsuwan. (2562). พ่อเมืองสมุทรปราการ เป็นประธานพิธีแห่หงส์ - ธงตะขาบ ครั้งที่ ๓๐ ประจำปี ๒๕๖๒. สืบค้นเมื่อ 17 กรกฎาคม 2566, จาก https://m.facebook.com/

Prathomporn Madecha. (2561). งานประเพณีแห่หงส์-ธงตะขาบประจำปี ๒๕๖๐. สืบค้นเมื่อ 17 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.facebook.com/