Advance search

ถ้ำรงค์

ชุมชนถ้ำรงค์ หนึ่งพื้นที่ซึ่งผูกพันกับต้นตาลโตนดอย่างใกล้ชิดมาตั้งแต่รุ่นตารุ่นยายที่เป็นชาวสวนตาล สืบทอดภูมิปัญญาการเรียนรู้แก่ลูกหลาน สู่การก่อตั้งวิสาหกิจแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้วิถีชีวิตชาวสวนตาลถ้ำรงค์ เพื่อนำเสนอและเชิดชูภูมิปัญญาจากบรรพชนผ่านกิจกรรมที่สะท้อนวิถีชีวิตของคนในชุมชน

ถ้ำรงค์
บ้านลาด
เพชรบุรี
ธำรงค์ บริเวธานันท์
17 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
18 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
19 ก.ค. 2023
ถ้ำรงค์

ที่มาของชื่อชุมชนถ้ำรงนั้นมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาถึง 3 เรื่องเล่าด้วยกัน แต่ทั้ง 3 เรื่องนั้นมีความสอดคล้องกัน ตํานานได้กล่าวถึงกษัติรย์ที่เสด็จมาประทับที่ชุมชนตําบลถ้ำรงค์แห่งนี้ในอดีตและได้มีหญิงสาวนําน้ำใส่ขันมาถวาย แต่ภายในขันได้ใส่ใบไม้ลงไปเพื่อที่จะไม่ให้พระองค์ทรงรีบเสวยน้ำ เพราะอาจทําให้เกิดอาการจุกเสียด กษัติรย์ได้ทราบถึงความปรารถนาดีของหญิงสาวจึงพระราชทาน แหวน “ธํามรงค์” แก่หญิงสาว และคําว่า “ธํามรงค์” ได้เพี้ยนเสียงไปเป็น “ถ้ำรงค์” จึงเกิดเป็นชื่อของชุมชนถ้ำรงค์มาจนปัจจุบัน


ชุมชนชนบท

ชุมชนถ้ำรงค์ หนึ่งพื้นที่ซึ่งผูกพันกับต้นตาลโตนดอย่างใกล้ชิดมาตั้งแต่รุ่นตารุ่นยายที่เป็นชาวสวนตาล สืบทอดภูมิปัญญาการเรียนรู้แก่ลูกหลาน สู่การก่อตั้งวิสาหกิจแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้วิถีชีวิตชาวสวนตาลถ้ำรงค์ เพื่อนำเสนอและเชิดชูภูมิปัญญาจากบรรพชนผ่านกิจกรรมที่สะท้อนวิถีชีวิตของคนในชุมชน

ถ้ำรงค์
บ้านลาด
เพชรบุรี
76150
ชุมชนถ้ำรงค์ โทร. 09-9246-9099
13.02971583
99.91704673
องค์การบริหารส่วนตำบลถ้ำรงค์

ประวัติความเป็นมาของชุมชนตำบลถ้ำรงค์นั้นมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาเป็นตำนานถึง 3 ตำนานด้วยกัน ดังจะกล่าวต่อไปนี้

ตํานานที่ 1 มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า ในอดีตมีกษัตริย์ไม่ปรากฏพระนามพระองค์หนึ่ง ได้เสด็จประพาสป่าและแม่น้ำบริเวณนี้ ขณะที่พระองค์ประพาสชมวิวทิวทัศน์ ในช่วงกลางวันนั้นได้มีหญิงสาวชาวบ้านคนหนึ่งเห็นพระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อย พระวรกายชุ่มโชกไปด้วยพระเสโท จึงได้ถวายน้ำให้ดื่มแก้กระหาย แต่ในภาชนะใส่น้ำนั้น นอกจากมีน้ำแล้วยังมีใบหญ้าประเภทหนึ่งที่ชาวบ้าน เรียกว่า “หญ้าคา” ใส่ลงไปในน้ำด้วย กษัตริย์เห็นเช่นนั้นทรงกริ้วมาก จึงได้เรียกให้หญิงสาวผู้นั้นเข้าเฝ้าและได้ไต่ถามสาเหตุที่นางใส่หญ้าคาให้เสวย กษัตริย์ได้รับคําตอบว่า เห็นพระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อยและกระหายน้ำจึงได้ใส่หญ้าคาไว้เพื่อป้องกันไม่ให้พระองค์รีบเสวยน้ำนั้น เพราะจะทําให้พระองค์เกิดอาการจุกเสียดและอาจทรงประชวรได้ กษัตริย์ได้รับฟังเช่นนั้นทรงปลื้มพระทัยและรู้สึกชอบใจในความห่วงใยของหญิงสาวชาวบ้าน จึงได้มอบแหวนให้แก่หญิงสาวชาวบ้านคนนั้น (ราชาศัพท์เรียกว่า ธำมรงค์)ต่อมาชาวบ้านจึงขนานนามบริเวณแห่งนี้ว่า “บ้านธํามรงค์” และเพี้ยนเป็น “ถ้ำรงค์” ในปัจจุบัน

ตํานานที่ 2 เล่าว่า มีเจ้าชายองค์หนึ่งได้เสด็จมายังหมู่บ้านแห่งนี้ ซึ่งเดิมเป็นป่า มีลําห้วยไหลผ่านกลางถ้ำภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยสวยงาม พร้อมด้วยห้องหับตามซอกตามมุมของถ้ำ เมื่อเจ้าชายเสด็จมาพบก็พอพระทัย และประทับภายในถ้ำ ต่อมามีชาวบ้านคนหนึ่งเอาน้ำใส่ขันมาถวายและใส่หลอดหญ้าปล้องลงในขันด้วย เพื่อใช้แทนหลอดดูดน้ำ เจ้าชายเห็นเช่นนั้นก็ทรงตรัสถามว่าใส่ไว้ทําไม ชาวบ้านจึงตอบว่าพระองค์เสด็จมาเหนื่อย ๆ ถ้าดื่มน้ำจากขันด้วยความหิวกระหายหรือรีบร้อนจะทําให้เกิดอาการจุกเสียด ต้องค่อย ๆ ดูดจากหลอดหญ้าปล้อง พระองค์ทรงเห็นความเฉลียวฉลาดของชาวบ้านผู้นั้น จึงทรงพระราชทานแหวน “ธํามรงค์” พร้อมเงินทองให้ชาวบ้านผู้นั้น เป็นที่กล่าวขานกันทั่วทิศในเรื่องนี้ จึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านธํามรงค์” ต่อมานานเข้าภาษาอาจเพี้ยนไปจึงกลายเป็น “ถ้ำรงค์” ตราบจนปัจจุบันนี้

ตํานานที่ 3 มีเรื่องเล่าว่า สมัยก่อนเมืองเพชรบุรีมีเจ้าเมืองเป็นผู้ปกครอง วันหนึ่งเจ้าเมืองเสด็จไปหาดเจ้าสําราญโดยขึ้นคานหามไปค้างแรมที่นั่น เมื่อไปถึงเจ้าเมืองกระหายน้ำมากอยากจะดื่มน้ำจึงไปขอน้ำกินจากหญิงสาวคนหนึ่ง หญิงสาวคนนั้นก็ตักน้ำใส่ขันให้กินโดยเด็ดหางใบจาก 3 หาง ใส่ในขันน้ำแล้วให้เจ้าเมืองกิน พอเจ้าเมืองดื่มน้ำ หางของใบจากก็ลอยตามน้ำขึ้นมาจนจะเข้าปากท่านก็หยุด พอท่านอิ่มเจ้าเมืองจึงถามว่าเพราะเหตุใดจึงใส่หางจากลงในน้ำ หญิงคนนี้ตอบว่าท่านกําลังกระหายน้ำ หากดื่มมากไปจะเป็นอันตราย เจ้าเมืองเห็นว่าหญิงคนนี้มีปัญญาดี หลังจากนั้นเจ้าเมืองออกจากหาดเจ้าสําราญเสด็จมาพักที่เขาธํามรงค์โดยมีหญิงคนนั้นตามมาด้วยและชอบพบกัน เมื่อเจ้าเมืองออกจากหาดเจ้าสําราญเวลาจะกลับ เจ้าเมืองถอดแหวนให้เป็นที่ระลึกกับหญิงผู้นั้น จึงเรียกชื่อบริเวณนี้ว่า “ธํามรงค์” และต่อมาเกิดการเพี้ยนเสียงเหลือว่า “เขาถ้ำรงค์”

จากตำนานทั้งสามที่กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของชุมชนถ้ำรงค์นั้น สามารถกล่าวสรุปความตํานานได้ว่ากล่าวถึงกษัตริย์ที่เสด็จมาประทับที่ชุมชนตําบลถ้ำรงค์แห่งนี้ในอดีตและได้มีหญิงสาวนําน้ำใส่ขันมาถวาย แต่ภายในขันได้ใส่ใบไม้ลงไปเพื่อที่จะไม่ให้พระองค์ทรงรีบเสวยน้ำ เพราะอาจทําให้เกิดอาการจุกเสียด กษัตริย์ได้ทราบถึงความปรารถนาดีของหญิงสาวจึงพระราชทาน แหวน “ธํามรงค์” แก่หญิงสาว และคําว่า “ธํามรงค์” ได้เพี้ยนเสียงไปเป็น “ถ้ำรงค์” จึงเกิดเป็นชื่อของชุมชนถ้ำรงค์มาจนปัจจุบัน

ตำบลถ้ำรงค์เป็นตำบลหนึ่งของอําเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี ในอดีตเคยอยู่ในเขตการปกครองของตำบลตําหรุ มีทั้งหมด 12 หมู่บ้าน และในปี พ.ศ. 2522 ได้แยกออกมาโดยใช้ชื่อเป็นตำบลถ้ำรงค์ เนื่องจากมีพื้นที่มากทำให้การปกครองไม่ทั่วถึงและในการแบ่งเขตนี้ยึดแม่น้ำเพชรบุรีเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างตำบลตําหรุกับตำบลถ้ำรงค์ โดยแบ่ง6 หมู่บ้านจากตำบลตำหรุให้ย้ายมาขึ้นกับตำบลถ้ำรงค์ ได้แก่ บ้านท่าทะเฟือง บ้านม่วงงาม บ้านถ้ำรงค์ บ้านไร่สะท้อน บ้านดอนตะโก และบ้านหนองซ้าย

ลักษณะภูมิประเทศ

ลักษณะภูมิประเทศของตำบลถ้ำรงค์มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ําเพชรบุรีไหลผ่านตลอดแนวทางด้านตะวันตกของตำบล ซึ่งเป็นแนวแบ่งเขตระหว่างตำบลถ้ำรงค์กับตำบลตำหรุ นอกจากนี้ยังมีห้วยถ้ำรงค์ ห้วยมะเฟือง ห้วยบ่อใหญ่ อ่างเก็บน้ำห้วยอ่างหิน มีคลองชลประทานและมีถนนเพชรเกษมตัดผ่านตำบล มีภูเขาทั้งหมด 5 ลูก คือ เขาถ้ำรงค์ เขาน้อย เขาบ่อนไก่ เขาพรหมชะแง้ และเขากระปุก ซึ่งสภาพพื้นที่โดยทั่วไปแล้ว เหมาะที่จะทำเกษตรกรรม

ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ทรัพยากรป่าไม้

ตำบลถ้ำรงค์เป็นพื้นที่ที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งพรรณไม้ สมุนไพร ซึ่งมีมากบริเวณภูเขาที่มีถึง 5 ลูก คือ เขาถ้ำรงค์ เขาน้อย เขาบ่อนไก่ เขากระปุก พรรณไม้ที่สําคัญคือ ต้นยางนา ที่ได้รับประกาศเป็นพรรณไม้อนุรักษ์เมื่อปี พ.ศ. 2523 นอกจากนี้ยังมีพรรณไม้ที่สําคัญอีกมากมาย เช่น จันทน์ผา แก่นจันทร์ ลั่นทม ซึ่งส่วนมากจะพบบนเขา ส่วนบริเวณแม่น้ำเพชรบุรีนั้นเต็มไปด้วยไม้ไผ่ ซึ่งชาวบ้านได้นํามาใช้ประโยชน์ในการจักสาน นอกจากนี้ไม้ไผ่ยังนับเป็นเขื่อนธรรมชาติที่ช่วยป้องกันไม่ให้ริมฝั่งพังทลาย

ทรัพยากรน้ำ

ตำบลถ้ำรงค์เป็นพื้นที่ที่อาจกล่าวได้ว่าค่อนข้างมีความอุดมสมบูรณ์เรื่องทรัพยากรน้ำอยู่มากประมาณ ด้วยมีแม่น้ำเพชรบุรีซึ่งไหลผ่านหมู่ที่ 1 บ้านท่ามะเฟือง หมู่ 2 บ้านม่วงงาม รวมถึงลําห้วย 1 ลําห้วย คือ ห้วยทับ ซึ่งไหลผ่านทุกหมู่บ้านในตำบลถ้ำรงค์ แต่ชาวบ้านจะเรียกชื่อลําห้วยนั้นแตกต่างกันไป ในการทำการเกษตรจะใช้น้ำจากลําห้วยและแม่น้ำเพชรบุรี นอกจากนี้ยังมีการกักเก็บน้ำโดยการขุดบ่อบาดาลเพื่อนําน้ำไปบริโภคและอุปโภคในครัวเรือนและการเกษตรต่าง ๆ อีกทั้งมีคลองชลประทานซึ่งช่วยบรรเทาปัญหาความแห้งแล้งให้กับประชาชนในช่วงฤดูแล้งได้อีกด้วย

ทรัพยากรดิน

ดินที่กระจายอยู่ทั่วไปในตำบลถ้ำรงค์เป็นดินที่เหมาะแก่การเพาะปลูกพืช ไม่ว่าจะเป็นข้าว หรือพืชผัก โดยในเกือบทุกหมู่บ้านจะมีดินที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ ยกเว้นดินในบริเวณหมู่ที่ 3และหมู่ที่ 4 ซึ่งเป็นดินชุดสรรพยาที่ให้ผลผลิตทางการเกษตรต่ำ และยังพบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ขาดการบํารุงดิน ทั้งยังใช้สารเคมีในการปราบศัตรูพืชหรือกําจัดวัชพืชเพื่อเร่งผลผลิต ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ดินเสื่อมคุณภาพ

การคมนาคม

การคมนาคมในหมู่บ้านของตำบลถ้ำรงค์นั้น ชาวบ้านจะใช้รถส่วนตัวเป็นยานพาหนะ ได้แก่ รถยนต์ รถกระบะ รถจักรยานยนต์ โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ที่จะมีเกือบทุกบ้าน เนื่องจากในหมู่บ้านไม่มีรถประจําทางประจําหมู่บ้าน จะมีก็เพียงรถประจําทางที่ผ่านถนนเพชรเกษม เป็นถนนสายหลักมีรถประจําทางผ่านหลายสาย เช่น สายเพชรบุรี-ท่ายาง สายเพชรบุรี แก่งกระจาน สายเพชรบุรี-ชะอํา สายหัวหิน-ชะอํา และสายกรุงเทพมหานคร-ประจวบคีรีขันธ์ 

ตำบลถ้ำรงค์มีประชากรทั้งสิ้น 3 , 548 คน แยกเป็นประชากรชาย 1,695 คน ประชากรหญิง 1,853 คน ละจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 775 ครัวเรือน โดยแยกตามพื้นที่หมู่บ้าน ดังนี้

  • หมู่ 1 บ้านท่ามะเฟือง มีจำนวนครัวเรือน 150 ครัวเรือน ประชากรแบ่งเป็นชาย 255 คน หญิง 273 คน
  • หมู่ 2 บ้านม่วงงาม มีจำนวนครัวเรือน 180 ครัวเรือน ประชากรแบ่งเป็น ชาย 325 คนหญิง 366 คน
  • หมู่ 3 บ้านถ้ำรงค์ มีจำนวนครัวเรือน 90 ครัวเรือน ประชากรแบ่งเป็นชาย 145 คนหญิง 166 คน
  • หมู่ 4 บ้านไร่สะท้อน มีจำนวนครัวเรือน 147 ครัวเรือน ประชากรแบ่งเป็น ชาย 236 คนหญิง 244 คน
  • หมู่ 5 บ้านดอนตะโก มีจำนวนครัวเรือน 198 ครัวเรือน ประชากรแบ่งเป็น ชาย 403 คนหญิง 414 คน
  • หมู่ 6 บ้านหนองช้างตาย มีจำนวนครัวเรือน 144 ประชากรแบ่งเป็นชาย 277 คนหญิง 292 คนครัวเรือน

ชาวบ้านตำบลถ้ำรงค์ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี เป็นพื้นที่ที่ประชากรมากกว่าครึ่งประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลักมาตั้งแต่อดีต ได้แก่ การทํานา ทําสวนผลไม้ ปลูกพืชผัก และการทําตาล ทั้งการเคี่ยวตาล เฉาะตาล รวมถึงการทําสวนผลไม้ เช่น ชมพู่ ละมุด มะม่วง กล้วย มะละกอ มะนาว โดยการเกษตรของชาวบ้านตำบลถ้ำรงค์นั้นเป็นการเกษตรแบบพึ่งพาธรรมชาติ คือ อาศัยน้ำจากธรรมชาติ คลองชลประทาน แม่น้ำเพชรบุรี และลำห้วยต่าง ๆ ซึ่งไหลผ่านทุกหมู่บ้าน

อาชีพรองของคนในชุมชนตําบลถ้ำรงค์นอกเหนือจากการทําการเกษตร คือ การรับจ้าง ค้าขาย เลี้ยงสัตว์ รับราชการ และอาชีพอื่น ๆ ซึ่งพบว่ามีเพียงไม่กี่รายที่ทําอาชีพอื่น นอกเหนือจากการทําการเกษตรกรรม สำหรับการรับจ้างหรือการค้าขาย ส่วนใหญ่ก็ยังคงมีความเกี่ยวข้องกับการเกษตร เพราะการรับจ้างก็มักเป็นการรับจ้างเป็นแรงงานในภาคการเกษตร เช่น รับจ้างขึ้นตาล เก็บตาล หรือในการค้าขายก็มักจะเป็นการนำผลผลิตทางการเกษตรไปจำหน่าย จึงอาจกล่าวได้ว่ากรประกอบอาชีพของชาวบ้านตำบลถ้ำรงค์นั้นขึ้นอยู่กับการเกตรเป็นหลัก แม้ว่าบางครัวเรือนหรือบางรายอาจไม่ได้ประกอบอาชีพทางการเกษตรเป็นรายได้หลัก ทว่าการประกอบอาชีพรองหรืออาชีพเสริมก็ยังคงมีความเกี่ยวข้องและอยู่ภายใต้ขอบเขตของการเกษตรอยู่

การทําตาลโตนด : ชุมชนตำบลถ้ำรงค์ ถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ซึ่งผูกพันกับต้นไม้อย่างตาลโตนดอย่างใกล้ชิดมากที่สุด ทั้งยังมีทรัพยากรต้นตาลโตนดจำนวนมาก ซึ่งชาวบ้านก็ได้นำผลผลิตจากต้นตาลโตนดมาสร้างเป็นอาชีพและสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน โดยการทำตาลดตนดในที่นี้คือ การทำน้ำตาลโตนด หรือน้ำตาลปี๊บ หรือน้ำตาลปึก ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวผู้ทำตาลโตนดหลายหมื่นบาทต่อปี อีกทั้งยังใช้ต้นทุนต่ำ เนื่องจากไม่ต้องลงทุนปลูกต้นตาลโตนดเอง เพราะต้นตาลดตนดเป็นทรัพยากรที่มีมากและเพียงพอต่อความต้องการของชาวชุมชนตำบลถ้ำรงค์ที่ประกอบอาชีพทำตาลโตนดอยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันนี้อาชีพการทำตาลโตนดเป็นอาชีพที่ชาวชุมชนตำบลถ้ำรงค์นิยมมากที่สุด กระทั่งชุมชนในตำบลถ้ำรงค์กลายเป็นชุมชนที่มีชื่อเสียงด้านการทำตาลโตนดโดยเฉพาะ

การทํานา : ส่วนใหญ่จะเป็นการทํานาดํา เนื่องจากให้ผลผลิตมากกว่านาหว่าน และการดูแลรักษาต้นกล้าก็ทําได้ง่าย ผลผลิตที่ได้จากการทำนาส่วนใหญ่ชาวบ้านจะนําเข้าไปขายให้กับสหกรณ์การเกษตรบ้านลาด และบางส่วนก็จะขายให้กับรถของพ่อค้าคนกลางที่มารับซื้อ และบางส่วนชาวบ้านก็จะเก็บไว้เพื่อทําพันธุ์ข้าว และบริโภคต่อไป แต่ทั้งนี้การทํานาของชาวถ้ำรงค์ ส่วนใหญ่จะเป็นการทํานาเพื่อนําผลผลิตมาเก็บไว้บริโภคภายในครัวเรือน เมื่อเหลือจากการบรอโภคจึงจะนำออกจำหน่าย

การทําสวนชมพู่ : ชมพู่เป็นผลไม้ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดเพชรบุรี เพราะขึ้นชื่อว่ามีรสชาติหวานและเนื้อสัมผัสกรอบ ฉะนั้น ชมพู่จึงเป็นผลไม้ที่นิยมกันมากในหมู่ชาวสวนผลไม้จังหวัดเพชรบุรี รวมถึงชาวถ้ำรงค์ด้วย โดยสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมนั้นมีอยู่หลายสายพันธุ์ เช่น พันธุ์ทับทิมจันทร์ พันธุ์เพชรชมพู่ พันธุ์เพชรสุวรรณ พันธุ์ทูลเกล้า และพันธุ์เพชรสายรุ้ง

การทําไร่มะนาว : ไร่มะนาวถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพในภาคการเกษตรที่ได้รับความนิยมจากชาวถ้ำรงค์เป็นอย่างมากไม่แพ้การทำนาข้าวหรือสวนผลไม้ เพราะให้ผลผลิตสูงและมีราคาค่อนข้างดีเป็นที่ต้องการของตลาด โดยสายพันธุ์ที่นิยมปลูกกันมากคือ มะนาวพันธุ์แป้น มะนาวพันธุ์แป้นนี้มีลักษณะพิเศษคือ มีรสเปรี้ยวและมีน้ำมาก อีกทั้งยังมีลูกกลมแป้นทําให้เป็นที่นิยมของตลาด โดยราคาเฉลี่ยอยู่ที่ลูกละละ 2-4 บาท ทั้งนี้ รายได้ของผู้ปลูกมะนาวก็ขึ้นอยู่กับปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาด

อนึ่ง นอกจากอาชีพในภาคการเกษตร ร้บจ้าง ค้าขาย และรับราชการแล้ว ปัจจุบันชุมชนถ้ำรงค์ยังได้มีการจัดตั้งวิสาหกิจท่องเที่ยวชุมชนถ้ำรงค์เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวของชุมชน โดยนำวิถีชีวิตของชาวบ้านมาเป็นตัวชู ซึ่งการท่องเที่ยวชุมชนถ้ำรงค์นี้มีกิจกรรมมากมายให้เหล่านักท่องเที่ยวได้เอข้าร่วม เรียนรู้ และสัมผัสกับวิถีชีวิตขิงชาวถ้ำรงค์อย่างลึกซึ้ง ได้แก่

  • ชมการละเล่นวัวลาน กิจกรรมของชาวเพชรบุรี
  • ชมสวนตาล เรียนรู้การเป็นชาวสวนตาล และการทำอาหารจากตาล
  • เรียนรู้งานหัตถกรรมจักสานใบตาล และงานประดิษฐ์จากลูกตาลแก่
  • เรียนรู้งานหัตถกรรมว่าวไทย
  • เยี่ยมชมและเรียนรู้การปลูกพืชแบบผสมผสาน
  • เรียนรู้วิธีการสร้างปุ๋ยให้พืชจากมูลไส้เดือน

ผลิตภัณฑ์ชุมชน

  • พริกแกงบ้านถ้ำรงค์
  • ขนมตาล
  • ดอกไม้ประดิษฐ์จากใบตาล
  • ลูกตาลเฉาะ
  • สินค้าเกษตรตามฤดูกาล
  • น้ำตาลโตนดแท้

วิถีชีวิตของชุมชนตำบลถ้ำรงค์ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรีนั้น ส่วนใหญ่มีความผูกพันกับสิ่งแวดล้อมและพึ่งพาอาศัยทรัพยากรจากธรรมชาติ มีวิถีการดําเนินชีวิตที่ได้ประพฤติปฏิบัติกันมายาวนาน ความเชื่อ ความเคารพนับถือที่มีความเกี่ยวข้องกับธรรมชาติหรือปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ซึ่งได้สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน จนกลายเป็นสิ่งที่ดีงาม เป็นประเพณีให้ลูกหลานคนรุ่นหลังได้ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมา ในด้านของการนับถือศาสนานั้นชาวถ้ำรงค์นับถือศาสนาพุทธ และเคารพพระพุทธรูปที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจําตำบลถ้ำรงค์ วิถีชีวิตของชาวบ้านตำบลถ้ำรงค์นั้นเป็นวิถีชีวิตที่เรียบง่าย สามารถธำรงได้ซึ่งประเพณีเก่าแก่แม้ว่าจะมีความเจริญทางด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์เข้ามามาก แต่ก็ยังไม่ทำให้วิถีปฏิบัติของชาวถ้ำรงค์เปลี่ยนแปลงถึงขั้นสูญหาย โดยในรอบปีหนึ่ง ๆ ชุมชนตำบลถ้ำรงค์ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี จะมีประเพณีและพิธีกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการประกอบอาชีพ ศาสนา และความเชื่อมากมาย ดังนี้

ประเพณีการเล่นผีสุ่ม ผีกระด้ง จะมีการแสดงออกมาในรูปการละเล่นพื้นบ้าน คือ จะมีพิธีอัญเชิญผีที่เป็นบรรพบุรุษมายังกระด้งหรือสุ่ม จากนั้นผู้ที่เป็นทายาทก็จะมาฟ้อนรําหรือเต้นไปตามจังหวะกลองยาว เมื่อผู้ใดวิ่งไปจับกระด้งมากวัดแกว่งอย่างแรงและไล่ตีผู้อื่นก็แสดงว่าผีกระด้งเข้าแล้วจึงต้องเอากระด้งไปซ่อน จากนั้นก็จะฟ้อนรําตามจังหวะกลองยาวอย่างไม่รู้ตัว ชาวบ้านอื่นจะต้องยึดแล้วนํากระด้งมาให้ผู้นั้นจับ ผีก็จะไปอยู่ที่กระด้ง ประเพณีการเล่นผีสุ่มผีกระด้ง เป็นความเชื่อของชาวตำบลถ้ำรงค์ที่สืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคนแล้ว

ประเพณีรับท้องข้าว เป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการเพาะปลูก ในทุกปีชาวตำบลถ้ำรงค์ที่ประกอบอาชีพทำนาปลูกข้าว จะมีการทำพิธีรับท้องข้าวช่วงที่ข้าวออกรวง โดยจะทำในวันศุกร์ข้างขึ้นของเดือนสิบสองของทุกปี และจะทำเฉพาะนาปีเท่านั้น โดยมีความเชื่อว่า ตอนที่ข้าวออกรวง คือ ตอนที่พระแม่โพสพตั้งท้อง ฉะนั้นจึงต้องมีการฝากท้องรับท้องข้าวเพื่อให้ข้าวออกรวงสม่ำเสมอ

ประเพณีแข่งวัวลาน เป็นประเพณีที่สืบเนื่องมาจากในอดีตการไถนานั้นไม่มีรถไถเดินตามหรือรถแทร็กเตอร์ดังเช่นปัจจุบัน จึงต้องอาศัยแรงงานจากวัวควายในการไถคราดนา กระทั่งในการนวดข้าวก็จะใช้วัวหลาย ๆ ตัวมาผูกเรียงต่อกันเป็นแถวหน้ากระดานแล้วให้วิ่งไปพร้อมกันเป็นวงกลมรอบเสาที่นำรวงข้าววางกองไว้บนลานกลางแจ้งเพื่อเป็นการนวดข้าว วัวที่ใช้ในการนวดข้าวนี้เรียกว่า “วัวลาน” แต่ในปัจจุบันมีเครื่องมือเข้ามาช่วยในการนวดข้าวจึงไม่ต้องใช้วัวในการนวดข้าว วัวลานจึงเปลี่ยนบทบาทเหลือเพียงการละเล่นในประเพณีการแข่งวัวลานเท่านั้น

ประเพณีการไหว้ผีเขมร เป็นพิธีกรรมที่ประกอบขึ้นเพื่อไหว้บรรพบุรุษและเซ่นไหว้ผีบ้านผีเรือน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือ บ้านที่ไหว้ผีเขมรจะมีความเชื่อว่าเมื่อไหว้แล้วจะอยู่เย็นเป็นสุข ทำมาหากินสะดวก ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บมารบกวน พิธีไหว้ผีเขมรจะทำเป็นประจําทุกปี โดยจะทำในวันพุธข้างขึ้นของเดือนสี่เท่านั้น

อนึ่ง นอกเหนือจากประเพณีประจำปีต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้วนั้น ชุมชนตำบลถ้ำรงค์ยังมีประเพณีความเชื่อเกี่ยวกับตาลโตนด โดยในช่วงเดือนมกราคมของทุกปีเมื่อฤดูกาลเก็บน้ำตาลโตนดของชาวถ้ำรงค์เวียนมาถึงอีกครั้ง ทุก ๆ ปีก่อนการเก็บน้ำตาลโตนดเป็นครั้งแรก ชาวสวนตาลโตนดในตำบลถ้ำรงค์จะประกอบพิธีแรกตาล เพื่อขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสวนตาลก่อนจะขึ้นเก็บตาลบนต้นที่ให้ผลผลิตดีเป็นครั้งแรกเพื่อความเป็นสิริมงคล รวมถึงพิธีไหว้ครูภูมิปัญญาตาลโตนด เพื่อเป็นการแสดงออกซึ่งความเคารพต่อผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับตาลโตนดด้านต่าง ๆ จนได้รับยกย่องให้เป็นครูภูมิปัญญาตาลโตนด

1. นายถนอม ภู่เงิน : ปราชญ์ด้านการทำสวนตาล

2. นางประทุม ขันตรี : ปราชญ์ด้านการเพาะกล้าตาล

3. นางสายหยุด พงษ์เผือก : ปราชญ์ด้านของหวาน

4. นางสาย ชมพูทอง : ปราชญ์ด้านอาหารถิ่น

5. นางสาวดวงกมล ดนตรี : ปราชญ์ด้านการทำผลิตภัณฑ์จากใบตาล

6. นายปล่อย ฉิมเพชร : ปราชญ์ด้านศาสนพิธี และการสานกระด้งไม้ไผ่

7. นายผุด นามมั่น : ปราชญ์ด้านการทำตุ๊กตาจากกะโหลกตาล

8. นายอุดม โฉมงาม : ปราชญ์ด้านการทำว่าว

9. นายสง่า สว่างจิตต์ : ปราชญ์ด้านการเพาะเลี้ยงไส้เดือน

10. ผู้ใหญ่บุญยงค์ สร้อยก่ำ : ปราชญ์ด้านการทำน้ำพริกแกงเผ็ดจากสมุนไพรในชุมชน

การรักษาโรคด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้าน

ชาวถ้ำรงค์ มีภูมิปัญญาการรักษาโรคเมื่อภาวการณ์เจ็บป่วยที่ไม่รุนแรงเกิดขึ้น ด้วยการพึ่งตนเองโดยใช้ภูมิปัญญาที่มีอยู่ในท้องถิ่นโดยใช้สมุนไพร ตลอดจนการรักษาโรคด้วยความเชื่อซึ่งยังเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับชาวถ้ำรงค์และคนในสังคมชนบท เช่น หมอปัดเป่า การเข้าทรงเจ้า ฯลฯ การรักษาด้วยวิธีการดังกล่าวแม้อาจหาข้อพิสูจน์หรือเหตุผลอ้างอิงจากวิทยาศาสตร์ได้ แต่สามารถเป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของผู้ป่วยที่มาเข้ารับการรักษาได้เป็นอย่างดี เพราะเชื่อว่าเมื่อเข้าไปรับการรักษาแล้วจะหาย ลักษณะดังกล่าวนี้เป็นคติที่หยั่งรากฝังลึกปลูกฝังอยู่ในวัฒนธรรมของไทยมายาวนานจนยากที่จะเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับประชาชนในตำบลถ้ำรงค์ อําเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี การรักษาโรคด้วยความเชื่อในหมู่บ้านยังพอมีอยู่ และยังเป็นที่นิยมของคนในหมู่บ้านและ นอกหมู่บ้าน โดยวิธีการรักษามีดังนี้

  1. การรักษากระดูกหักหรือแตกด้วยวิธีการนวดน้ำมันแล้วพันด้วยผ้ายืดพันแผล
  2. การรักษาอาการปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอก อาการบวมตามข้อ โดยใช้สิ่งที่มีลักษณะคล้ายมีดหมอกดลงบริเวณที่มีอาการเจ็บปวดแล้วเป่าพ่นน้ำมนต์
  3. การรักษาอาการซางในเด็กด้วยวิธีกวาดยา
  4. การรักษาบาดแผลที่เกิดจากสุนัขกัด โดยการปัดเป่าด้วยคาถา
  5. การรักษาตาแดง โดยการปัดเป่าด้วยคาถา

ในการรักษาโรคต่าง ๆ นั้น เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้เป็นสิ่งที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก ซึ่งการรักษาโรคด้วยความเชื่อยังเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมชนบทไทย โดยเฉพาะคนในตำบลถ้ำรงค์ หากแต่ก็มิได้เชื่ออย่างงมงายแต่เพียงอย่างเดียว เพราะการรักษาโรคต่าง ๆ นั้นยังมีการรักษาควบคู่ไปกับการรักษาแพทย์แผนปัจจุบันด้วย

ชาวชุมชนตำบลถ้ำรงค์ใช้ภาษาไทยถิ่นบ้านลาดในการสื่อสาร

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

จุฑามาศ ศักดิ์เสริมเกียรติ. (2555). ภูมิปัญญาตาลโตนดเพื่อการพึ่งตนเอง: ศึกษาเฉพาะกรณีชุมชนตำบลถ้ำรงค์ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี. วิทยานิพนธ์ปริญญาพัฒนาชุมชนมหาบัณฑิต ภาควิชาการพัฒนาชุมชน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

Google Earth. (ม.ป.ป.). สืบค้นเมื่อ 17 กรกฎาคม 2566, จาก https://earth.google.com/

ThaiLand Village. (ม.ป.ป.). วิสาหกิจท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลถ้ำรงค์ อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี. สืบค้นเมื่อ 17 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.thailandvillageacademy.com/