ชุมชนบ้านชมพู พื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งทรัพยากรน้ำ และทรัพยากรน้ำ ซึ่งมีความเกี่ยวโยงกับการประกอบอาชีพของชาวบ้านตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
เดิมชาวบ้านเรียกว่า ชําพลู หรือชําพู “ชํา” หรือ “ซำ” แปลว่า พื้นดินที่ชื้นแฉะส่วน “พู” หรือ “พลู” หมายถึง พลูที่กินหมาก ซึ่งจะขึ้นงามเป็นดงตรงพื้นที่ "ชํา” แต่ปัจจุบัน เรียกและเขียนเป็น “ชมพู” บางครั้งเขียน “ชมภู”
ชุมชนบ้านชมพู พื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งทรัพยากรน้ำ และทรัพยากรน้ำ ซึ่งมีความเกี่ยวโยงกับการประกอบอาชีพของชาวบ้านตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
คลองสียัด หรือแควสียัด เป็นลำน้ำธรรมชาติในจังหวัดฉะเชิงเทรา ต้นน้ำเกิดจากการรวมตัวของลำห้วยหลายสายที่เกิดจากเขาฤๅไน เขาสวรรค์ และเขาละลาก ซึ่งอยู่ในท้องที่อำเภอท่าตะเกียบทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัด ไหลไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ผ่านอำเภอสนามชัยเขต ก่อนไหลไปรวมกับคลองระบมกลายเป็นคลองท่าลาดในท้องที่ตำบลเกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม
คลองสียัดอยู่ในเขตป่าไม้ขนาดใหญ่ เรียกว่า ป่าแควระบม-สียัด เป็นป่ารอยต่อระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน และป่าสงวนแห่งชาติป่าแควระบมและป่าสียัด ซึ่งมีรอยต่อ 5 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และปราจีนบุรี ถือได้ว่าเป็นป่าผืนใหญ่ของภาคตะวันออกที่มีความหลากหลายทางทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งพืช และสัตว์ รวมถึงมีอ่างเก็บน้ำคลองสียัดซึ่งเป็นเขื่อนดินเก็บกักน้ำเพื่อการเกษตรที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2543 จัดเป็นต้นกําเนิดของลุ่มน้ำย่อยแควระบม-สียัด โดยเฉพาะคลองสียัดซึ่งมีลักษณะเป็นป่าริมน้ำ และบางพื้นที่เป็นเกาะแก่งกลางลำน้ำ ซึ่งมีความหลากหลายทางกายภาพและชีวภาพ ระบบนิเวศเป็นป่าครึ่งบกครึ่งน้ำที่ไหลผ่านเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตให้กับชุมชนบริเวณแนวลำคลอง 6 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านวังกุ้ง บ้านทุ่งยายชี บ้านน้อยนาดี บ้านชมพู คลองสียัด และบ้านฝั่งคลอง สภาพพื้นที่ของชุมชนมีอาณาเขตติดกับป่า ชาวบ้านมีการพึ่งพาอาศัยทรัพยากรธรรมชาติในการดํารงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นในด้านอาหาร เช่น การหาหน่อไม้มา ประกอบอาหาร การใช้น้ำในลำคลองเพื่อการบริโภคอุปโภค และการเกษตร มีพืชสมุนไพรนานาชนิด ให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ โดยชาวบ้านส่วนใหญ่จะตั้งถิ่นฐานบริเวณลำคลอง มีอาชีพทำ การเกษตร เช่น ทำสวน ทำไร่ ทำนา นอกจากนี้ก็มีการรับจ้างทั่วไป
บ้านชมพู ตำบลท่าตะเกียบ อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็น 1 ใน 6 หมู่บ้านที่ตั้งอยู่บริเวณริมคลองสียัด เดิมชาวบ้านเรียกหมู่บ้านของตนเองว่า ชําพลู หรือชําพู “ชํา” หรือ “ซำ” แปลว่า พื้นดินที่ชื้นแฉะส่วน “พู” หรือ “พลู” หมายถึง พลูที่กินหมาก ซึ่งจะขึ้นงามเป็นดงตรงพื้นที่ "ชํา” แต่ปัจจุบัน เรียกและเขียนเป็น “ชมพู” บางครั้งเขียน “ชมภู” เริ่มแรกหมู่บ้านแห่งนี้มีเพียง 4 หลังคาเรือน คือ บ้านย่าคํา ยายทอง ปู่สุคนธุ์ และปู่ดี ที่ต่างหนีตายจากโรคผีดาษจากบ้านเก่าท่าตะเคียนมาจนถึงบ้านชมพู ซึ่งอยู่ใกล้แหล่งน้ำธรรมชาติ หรือคลองสียัด ทั้ง 4 คน เห็นว่าพื้นที่แห่งนี้อยู่ติดกับลำน้ำ มีความบริบูรณ์ดีทั้งดิน ป่าไม้ แหล่งน้ำ และแหล่งอาหาร จึงได้พากันสร้างบ้านเรือนขึ้นใหม่ทางฝั่งขวาของคลองสียัด แล้วก่อตั้งเป็นบ้านชมพูตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
บ้านชมพู หมู่ 17 ตำบลท่าตะเกียบ มีระยะทางห่างจากอำเภอท่าตะเกียบประมาณ 10 กิโลเมตร พื้นที่ทางด้านทิศเหนือติดต่อกับบ้านทุ่งยายชี ทิศใต้จรดบ้านไทรงาม ทิศตะวันออกจรดบ้านวังวุ้ง และทิศใต้จรดบ้านน้อยวังดี ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ลาดเนิน มีทิวเขาและป่าดงดิบที่ค่อนข้างสมบูรณ์ และเป็นส่วนหนึ่งของป่าสงวนแห่งชาติแควระบม-สียัด ผืนป่าขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมพื้นที่ถึง 5 จังหวัด แหล่งต้นน้ำลำธารของแม่น้ำบางปะกง
บ้านชมพูในอดีตมีสภาพเป็นพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ มีการทำนาเพื่อไว้ บริโภคในครัวเรือน แต่ด้วยความที่สภาพพื้นที่ยังมีต้นไม้อุดมสมบูรณ์ ทำให้เกิดอาชีพล่องซุงไปขายที่ลาดเกาะขนุน (ตลาดเกาะขนุนในปัจจุบัน) โดยลักษณะของการล่องแพ ล่องซุง คือการนําท่อนซุงมาผูกรวมกับไม้ไผ่เป็นแพ ท่อนซุงอยู่ด้านล่าง ไม้ไผ่อยู่ด้านบน ซึ่งในการล่องซุงแต่ละครั้งใช้เวลานานเป็นเดือนคนที่ล่องซุงจะเตรียมเสบียงไปหุงหาอาหารบนแพ มีการหาปลา และจับลั้งมาทำเป็นอาหาร นอกจากนั้นยังมีอาชีพการตัดน้ำยางจากต้นยางนาทำเป็นขี้ไต้เพื่อนําไปขายเป็นเชื้อเพลิง หลังจากปี พ.ศ.2500 เป็นต้นมา มีการบุกรุกป่าเพื่อขยายพื้นที่เกษตรกรรมมากขึ้นทำให้ป่าไม้เริ่มลดน้อยลง พ.ศ. 2510–2525 ประชากรในหมู่บ้านชมพูเริ่มมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทำให้มีการบุกบุกเบิกพื้นที่ป่าเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยและแปรสภาพเป็นพื้นที่ทำกิน กระทั่ง พ.ศ. 2532 เป็นต้นมา ป่าไม้เริ่มหมดกลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรมเข้ามาแทนที่ พืชที่ปลูกในช่วงนั้น ได้แก่ อ้อย ข้าวโพด และมันสําปะหลัง จากนั้นในปี 2540 ชาวบ้านเริ่มขายที่ดินของตนเองให้แก่นายทุน โดยนายทุนเหล่านั้นนําพื้นที่ไปปลูกต้นยูคาลิปตัสและยางพารา แต่ต่อมาเห็นว่านายยางพาราและยูคาลิปตัสของนายทุนรายได้ดี ชาวบ้านจึงได้เริ่มปลูกยางพาราในที่ของตนเอง สภาพพื้นที่โดยรวมในปัจจุบันได้แปลงสภาพจากผืนนากลายเป็นไร่ยางพาราและไร่ยูคาลิปตัส และจากการทำนาเพียงครั้งเดียวต่อปี ก็เปลี่ยนมาทำนาปรังร่วมด้วย
ในอดีตคนในชุมชนบ้านชมพูรวมถึงชุมชนบริเวณริมคลองสียัดมีความสัมพันธ์อยู่อย่างพี่อย่างน้อง มีน้ำใจเอื้อเฟื้อต่อกัน มีการไปมาหาสู่กันอยู่ตลอดโดยเฉพาะช่วงเทศกาล เช่น วันสงกรานต์ วันเข้าพรรษา-ออกพรรษา ชาวบ้านชุมชนริมคลองสียัดจะต้องมารวมตัวทำบุญกันที่บ้านทุ่งยายชี เนื่องจากผู้คนในชุมชนแถบนี้โดยปกติแล้วจะรู้จักกันหมด บางคนมีความสัมพันธ์เป็นเครือญาติสายตระกูลเดียวกัน เมื่อมีงานบุญงานศพจะมารวมกันอยู่ช่วยบ้านงานจนเสร็จงาน แต่ปัจจุบันความสัมพันธ์ดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปมาก ความแน่นแฟ้นประดุจเครือญาติที่เคยมีเริ่มลดลง กระทั่งลูกหลานบางคนในปัจจุบันไม่รู้จักกัน ซึ่งปัจจัยและเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ทำให้ความสัมพันธ์ของชาวบ้านชมพูรวมถึงชุมชนบริเวณริมคลองสียัดเกิดความเปลี่ยนแปลงนั้นสามารถสรุปได้ ดังนี้
- ความเจริญทางสังคม
- ความเจริญทางด้านเทคโนโลยี
- ปัจจัยทางด้านการเงิน เมื่อมีความเจริญเข้ามาผู้คนต่างทำมาหากินเพื่อเลี้ยงตนเองและครอบครัว ทำให้ไม่มีเวลาในการพบปะกัน
- สภาพทางด้านเศรษฐกิจ เมื่อทุกอย่างที่ทำเริ่มขายได้ ชาวบ้านจึงมุ่งเน้นทำงานของตนเองเพื่อขายให้ได้เงินมากขึ้นเพื่อให้ความเป็นอยู่ของครอบครัวดีขึ้น
- ชาวบ้านเริ่มนิยมซื้อรถยนต์ส่วนบุคคลใช้ จึงไม่ค่อยมีการพึ่งกันเหมือนสมัยที่ผ่านมา
- สภาพของภูมิอากาศและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ
สืบเนื่องจากที่ตั้งหมู่บ้านชมพูตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งทรัพยากรป่าไม้ และแหล่งน้ำ ฉะนั้นการประกอบอาชีพของชาวบ้านในชุมชนจึงมีความยึดโยงกับสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะในอดีตชาวบ้านประกอบอาชีพทำนา ทำไร่ ตัดยาง ล่องซุง หาของป่าขายอย่างอิสระ เพราะเห็นว่าป่าไม้มีอยู่มาก ทั้งยังเกิดหมุนเวียนอยู่เรื่อยไป ชาวบ้านไม่เกิดความหวงแหนในทรัพยากรธรรมชาติ เมื่อเวลาผ่านไป ป่าหมด เงินทองที่เคยหาได้จากป่าก็หมดตามเพราะไม่สามารถใช้ประโยชน์จากป่าได้อีก จึงเกิดการแสวงหาแนวทางการประกอบอาชีพใหม่ เช่น วิ่งรถขายกับข้าว วิ่งรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ทำงานโรงงาน และรับจ้างกรีดยาง ส่วนการประกอบอาชีพทางการเกษตรดังเช่นการทำนา และทำไร่นั้นปัจจุบันก็ยังมีอยู่ แต่การหาของป่า ตัดไม้ และล่องซุงไม่มีแล้ว พืชเศรษฐกิจของชุมชนนอกจากข้าวแล้ว ยังมีมันสำปะหลัง เป็นพืชไร่ที่นิยมปลูกมากในกลุ่มชุมชนบริเวณริมคลองสียัด
การเลี้ยงศาล ในการเลี้ยงศาลจะทำในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 (เดือนมีนาคม) ของทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรําลึกถึงเจ้าแม่บึงยายหลาน ซึ่งเป็นศาลประจําหมู่บ้าน มีความเชื่อสืบต่อกันมาว่าหากมีการเลี้ยงศาลแล้ว จะทำให้ครอบครัวและชาวบ้านในหมู่บ้านมีความสุข ซึ่งสิ่งที่ต้องเตรียมในการเลี้ยงศาล ได้แก่ ไก่ 1 ตัวต่อ 1 ครอบครัว หรือถ้าไม่มีไก่สามารถใช้ไข่แทนได้ วิธีการเลี้ยงศาลนั้นเริ่มจากนําไก่มาวางเรียงหน้าศาล โดยจะมีผู้ที่เป็นร่างทรงของเจ้าแม่บึงยายหลาน เมื่อทำพิธีบวงสรวงเสร็จแล้วจะมีการร้องรําต่อหน้าศาล เมื่อพิธีเสร็จสิ้นต้องรับประทานไก่ให้หมดภายในวันนั้นที่บริเวณศาลจึงจะสามารถกลับบ้านได้ (ห้ามนําไก่กลับไปรับประทานที่บ้าน)
การทำบุญกลางบ้าน การทำบุญกลางบ้านจะทำในวันเดียวกับการเลี้ยงศาล หลังจากการเลี้ยงศาลเสร็จสิ้นในตอนเช้า จะนิมนต์พระมาสวดทำบุญตอนเย็น โดยมีการโยงด้ายสายสิญจน์จากบ้านหนึ่งไปอีกบ้านหนึ่ง ต่อไปจนถึงบริเวณที่มีการทำบุญกลางบ้าน หลังจากสวดมนต์เสร็จทุกคนแยกย้ายกับกลับบ้าน
การไหว้ผีตาร๊อต พิธีการไหว้ผีตาร็อตเป็นพิธีการไหว้ผีในพิธีการแต่งงานชาวบ้านที่มีเชื้อสายชอง โดยถ้าฝ่ายผู้หญิงเป็นไทยชอง ผู้ชายเป็นเชื้อสายไหนก็ได้จะต้องไหว้ผีตาร็อต เครื่องไหว้ในพิธีไหว้ผีตาร็อตจะมีแหวน 7 วง สร้อย 7 เส้น กําไล 7 วง ต่างหู 7 ชั้น จากนั้นหมอผีร็อตจะร้องเพลงเป็นภาษาป่า เอาน้ำใส่ในรูขวาน (ต้องเป็นขวานโยน) ให้คู่บ่าวสาวกิน แล้วให้คู่บ่าวสาวป้อนไข่ ใครกินหมดก่อนจะเป็นผู้นํา ใครกินหมดทีหลังจะเป็นผู้ตาม เมื่อร้องเพลงจบ 3 รอบแล้วจะมีการจับหัวเจ้าบ่าวกับหัวเจ้าสาวชนกัน 3 ครั้งเป็นอันเสร็จพิธี ปัจจุบันหมอผีที่ทำพิธีการไหว้ผีตาร็อตในหมู่บ้านชมพูเหลืออยู่เพียง 2 ท่านเท่านั้น
ภาษาพูด : ภษาไทยกลาง และภาษาไทยถิ่นสำเนียงฉะเชิงเทรา
ภาษาเขียน : ภาษาไทย
อ่างเก็บน้ำแควระบมสียัด เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำบางปะกงตอนล่าง โดยการก่อสร้างเขื่อนดินปิดกั้นคลองสียัดเพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำและช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่บริเวณคลองสียัดตอนล่าง ซึ่งได้มีการศึกษาความเป็นมาเป็นไปได้ของโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำบางปะกงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 จนกระทั่งเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2532 คณะรัฐมนตรีมีมติให้กรมชลประทานดำเนินการศึกษาสำรวจออกแบบและก่อสร้างโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำบางปะกงและสาขาเพื่อให้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำและบรรเทาอุทกภัย จำนวน 8 โครงการ ประกอบด้วย โครงการคลองสียัด โครงการคลองระบมตอนล่าง จังหวัดฉะเชิงเทรา โครงการคลองพระสทึง โครงการคลองพระปรงตอนล่าง จังหวัดสระแก้ว โครงการห้วยโสมง โครงการห้วยไคร้ โครงการลำพระยาธาร และโครงการใสน้อย–ใสใหญ่ จังหวัดปราจีนบุรี โดยได้วางแผนก่อสร้างโครงการคลองสียัดไว้ระหว่างปี 2537-2552 รวม 16 ปี เป็นงานจ้างเหมาทั้งหมด ราคาค่าก่อสร้างประมาณ 4,016 ล้านบาท (องค์การบริหารส่วนตำบลท่าตะเกียบ, ม.ป.ป.: ออนไลน์)
สุชิน คำมณี และคณะ. (2560). กระบวนการสร้างความสัมพันธ์ของชุมชนในการฟื้นฟูระบบนิเวศพื้นที่ลำคลองสียัด ตำบลท่าตะเกียบ อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา ระยะที่ 2 (รายงานการวิจัย). สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น.
องค์การบริหารส่วนตำบลท่าตะเกียบ. (ม.ป.ป.). อ่างเก็บน้ำคลองสียัด. สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.thatakieb.go.th/
Google Earth. (ม.ป.ป.). สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2566, จาก https://earth.google.com/
Nukkpidet. (2564). อ่างเก็บน้ำคลองสียัด ที่เที่ยวฉะเชิงเทรา จุดชมวิวสวย พักผ่อนชิล สูดอากาศบริสุทธิ์. สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2566, จาก https://travel.trueid.net/