Advance search

บางน้อยนอก

แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์คลองบางน้อย ชุมชนริมน้ำเก่าแก่แห่งหนึ่งของจังหวัดสมุทรสงคราม ตั้งอยู่บริเวณจุดตัดของแม่น้ำแม่กลองกับคลองบางน้อย อดีตศูนย์กลางการค้าทางน้ำที่สำคัญของลุ่มแม่น้ำแม่กลอง–แม่น้ำท่าจีน

กระดังงา
บางคนที
สมุทรสงคราม
ธำรงค์ บริเวธานันท์
15 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
15 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
19 ก.ค. 2023
ตลาดน้ำคลองบางน้อย
บางน้อยนอก


แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์คลองบางน้อย ชุมชนริมน้ำเก่าแก่แห่งหนึ่งของจังหวัดสมุทรสงคราม ตั้งอยู่บริเวณจุดตัดของแม่น้ำแม่กลองกับคลองบางน้อย อดีตศูนย์กลางการค้าทางน้ำที่สำคัญของลุ่มแม่น้ำแม่กลอง–แม่น้ำท่าจีน

กระดังงา
บางคนที
สมุทรสงคราม
75120
13.462531
99.943992
เทศบาลตำบลกระดังงา

คลองบางน้อยในอดีตนั้นเป็นหนึ่งในเส้นทางคมนาคมสายหลักในโครงข่ายลุ่มน้ำแม่กลอง-ท่าจีน ซึ่งบริเวณสองฝั่งแม่น้ำแม่กลองมีการตั้งถิ่นฐานของชุมชนชาวสวนอย่างหนาแน่น คลองบางน้อยเป็นคลองที่แยกจากแม่น้ำแม่กลองตรงข้างวัดเกาะแก้วและวัดเกาะใหญ่ ยาวลึกเข้าไปถึงวัดบางน้อยซึ่งเป็นศูนย์กลางของศาสนสถานหลายแห่ง ได้แก่ วัดเกาะแก้ว วัดเกาะใหญ่ วัดไทร วัดบางคนทีนอก วัดปากง่าม วัดบางน้อย วัดคาทอลิกนักบุญกาเยตาโน และศาลเจ้าพ่อโรงโขน นอกจากจะมีศาสนสถานเป็นศูนย์กลางแล้ว ลักษณะของชุมชนสองข้างคลองมีลักษณะเป็นบ้านห้องแถว ซึ่งมีชานเชื่อมติดต่อด้านตลาดสามารถเดินไปตามแนวห้องได้ บ้านห้องแถวเหล่านั้นส่วนใหญ่เป็นร้านค้าขายของนานาชนิด ถ้าผู้ซื้อมาทางเรือก็ต้องจอดเรือที่ท่าน้ำขึ้นไปซื้อสินค้าบนห้องแถว ลักษณะร้านค้าริมคลองเช่นนี้จะเหมือนกันตลอดทาง

มีเรื่องเล่าว่าเมื่อประมาณ พ.ศ. 2510 นัด (ตลาด) บางน้อยเป็นนัดที่ใหญ่มาก มีเรือมาติดตลาดนัดละหลายร้อยลําตั้งแต่หน้าวัดเกาะแก้วริมฝั่งแม่น้ำแม่กลองเรื่อยไปถึงปากคลอง ด้านหน้าวัดเกาะแก้วเป็นนัดน้ำตาล แต่ด้านข้างวัดเป็นนัดปกติ เมื่อถึงวันนัดน้ำตาลนั้นจะมีเรือน้ำตาลขนาดใหญ่เข้ามารอรับซื้อน้ำตาลจากชาวสวน ที่จะบรรทุกน้ำตาลใส่เรือเล็กมาส่งต่อให้กับเรือใหญ่ เมื่อเรือใหญ่รับน้ำตาลจากเรือเล็กเรียบร้อยแล้ว จะนําไปส่งที่กรุงเทพฯ ส่วนนัดปกติที่คลองบางน้อย ก่อนถึงวันนัดจะมีเรือทยอยมากันก่อนแล้ว พ่อค้าแม่ค้าที่มานัดบางน้อย นอกจากชาวสวนในละแวกนั้นแล้ว ยังมาจากถิ่นอื่นด้วยทั้งใกล้และไกล เช่น อยุธยา ปทุมธานี กรุงเทพฯ ราชบุรี นครปฐม และสุพรรณบุรี แต่ละถิ่นต่างก็นําผลิตผลในท้องถิ่นของตนมาขายหรือแลกเปลี่ยนกัน การที่คลองบางน้อยเป็นแหล่งค้าขายแลกเปลี่ยนที่สําคัญในอดีต เพราะคลองบางน้อยเป็นเส้นทางเชื่อมคลองสําคัญที่เป็นแหล่งค้าขายทางน้ำด้วยกัน คือ คลองบางนกแขวก คลอง ดําเนินสะดวก และคลองท่าคา (เพียรกานต์ วงศ์วาณิชย์ศิลป์, 2550: 77)

ปัจจุบัน คลองบางน้อยตั้งอยู่ในการปกครองของเทศบาลตำบลกระดังงา ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม สวนยกร่อง สวนผลไม้ เช่น มะพร้าว ส้มโอ กล้วย ชมพู่ ลิ้นจี่ ประชาชนมีการใช้ประโยชน์จากน้ำในแม่น้ำ ลำคลองลำประโดงที่ยังมีคุณภาพดีสำหรับการเกษตรกรรม และยังมีสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำลำคลอง เช่น ปลาตะเพียน ปลาเสือ ปลาเข็ม กุ้งก้ามกราม กุ้งตะกาด เป็นต้น ซึ่งชุมชนที่ตั้งอยู่บริเวณริมคลองบางน้อยแห่งนี้ประกอบด้วย 4 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนกระดังงาร่วมใจ ชุมชนเกาะใหญ่ร่วมใจพัฒนา ชุมชนเกาะแก้วพัฒนา และชุมชน 789 ร่มใจพัฒนา มีวัดไทยจำนวน 4 วัด คือ

  • วัดบางคนทีนอก
  • วัดไทร เป็นวัดเก่าแก่ ภายในมีพิพิธภัณฑ์ของเก่า เช่น พระไตรปิฎก คัมภีร์ใบลานจารึกอักษรขอม บาตรฝังมุก พัดสานของสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี ถวายให้แก่หลวงปู่อ่วม อดีดเจ้าอาวาสวัดไทร
  • วัดเกาะใหญ่ วัดที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมาตั้งแต่ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ภายในพระอุโบสถมีพระประธานปางสมาธิ (หลวงพ่อโต) รอยพระพุทธบาทจำลอง หอระฆังโบราณ และเจดีย์ปรกโพธิ์
  • วัดเกาะแก้ว มีวิหารหลวงพ่อสามพี่น้อง เสากินรี และเป็นที่ตั้งตลาดน้ำบางน้อย

ที่ตั้ง

ชุมชนตลาดน้ำคลองบางน้อยตั้งอยู่ในเขตตำบลกระดังงา อําเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ห่างจากกรุงเทพมหานครไปทางตะวันตกเฉียงใต้ ทางหลวงหมายเลข 35 เพียง 65 กิโลเมตร ตามถนนพระรามที่ 2 (ธนบุรี-ปากท่อ) และจากตัวเมืองต่อไปยังถนนสายสมุทรสงคราม-อัมพวา-บางนกแขวก ระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร จะถึงตําบลกระดังงา ซึ่งเป็นเส้นทางที่ตัดผ่านบริเวณพื้นที่ชุมชน และมีชุมชนที่ขนาบไปกับคลองบางน้อยทั้งสองฝั่งอยู่บริเวณปากคลองบางน้อยนอก วัดปากง่าม และบางน้อยใน

ลักษณะภูมิประเทศ

ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ลักษณะพื้นที่มีลําคลองลํากระโดง คลองบางน้อย สาขาจากแม่น้ำแม่กลองไหลผ่านตลอดตั้งแต่ตําบลกระดังงา ตําบลยายแพง และตําบลจอมปลวก มีแม่น้ำแม่กลองไหลผ่านตามแนวเหนือ-ใต้ นอกจากคลองธรรมชาติแล้วยังมีคลองที่ขุดเชื่อมต่อกันเป็นเครือข่าย ซึ่งทำให้เกิดความสะดวกด้านการคมนาคมทางน้ำ และมีพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม

ลักษณะภูมิอากาศ

ด้วยเหตุที่จังหวัดสมุทรสงครามมีพื้นที่ติดต่อกับอ่าวไทย จึงทำให้ได้รับอิทธิพลลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้ ทำให้มีฝนตกในฤดูฝนมาพอสมควร ประกอบกับอยู่ใกล้ทะเลจึงมีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ ในฤดูหนาวอากาศไม่หนาวจัด และในฤดูร้อนอากาศไม่ร้อนจนเกินไป โดยฤดูฝนจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมไปจนถึงเดือนตุลาคม ในช่วงนี้จะมีฝนตกต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน และตกชุกในเดือนกันยายน ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม ช่วงนี้อากาศจะไม่ถึงขั้นว่าหนาวจัด เนื่องจากอยู่ใกล้ทะเล และฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงเดือนเมษายน เช่นเดียวกัน เนื่องจากพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับทะเล ทำให้ในฤดูร้อนก็ไม่ถึงขั้นว่าร้อนจัด เนื่องจากมีลมพัดอยู่เสมอ 

ลักษณะทางสังคมของชุมชนคลองบางน้อย

ลักษณะทางสังคมของชุมชนคลองบางน้อยสามารถแบ่งได้ 3 ลักษณะ คือ ชุมชนชาวสวน ชุมชนริมคลองบางน้อย และชุมชนใหม่

  • ชุมชนชาวสวน เป็นพื้นที่ของประชากรที่ประกอบอาชีพทางการเกษตร มีที่ดินทํากินเป็นของตนเองโดยปลูกไม้ผล เช่น หมาก มะพร้าว ลิ้นจี่ มะม่วง ส้มโอ กล้วย และพืชผลต่าง ๆ เป็นต้น ลักษณะการตั้งบ้านเรือนเป็นแบบกระจายตัวอยู่บริเวณริมน้ำเพื่อที่จะสามารถใช้เป็นเส้นทางลําเลียงผลผลิตลงเรือนําไปขายในช่วงที่มีนัดต่าง ๆ หรือสัญจรเข้าออกพื้นที่และชักน้ำเข้าสู่สวนได้
  • ชุมชนริมคลองบางน้อย เป็นพื้นที่ชุมชนของกลุ่มประชากรที่ประกอบอาชีพค้าขาย คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีบรรพบุรุษเป็นชาวจีนอพยพ บ้างก็เริ่มจากการเป็นลูกจ้างรับจ้างทั่วไปจนมีกิจการเป็นของตนเอง หรือประกอบอาชีพค้าขายตามความถนัด โดยเลือกที่จะอยู่ในพื้นที่อันจํากัดแต่อยู่ในย่านของชุมชน ชานนอกเรือนที่เชื่อมต่อกันเป็นแนวทางเดินทอดยาวไปตามแนวลําคลองเป็นส่วนสําคัญที่เชื่อมโยงคนในละแวกบ้านเข้าด้วยกัน โดยมีกิจกรรมร่วมกัน พบปะพูดคุยกัน อุดหนุนสินค้าของแต่ละบ้าน รวมทั้งเชื่อมโยงสังคมใหม่ที่สัญจรมาโดยทางน้ำจากต่างถิ่น
  • ชุมชนใหม่ เป็นชุมชนที่เกิดจากการขยายตัวขึ้นมาจากชุมชนเดิม ขยับขยายย้ายมาจากบริเวณริมคลองบ้าง มาจากต่างถิ่นบ้าง ลักษณะที่อยู่อาศัยเป็นแบบอาคารพาณิชย์เกาะตัวไปตามถนนสายหลัก มีเส้นทางคมนาคมตัดผ่านสะดวกต่อการเดินทาง สังคมในลักษณะนี้มีกิจกรรมหลักคือพาณิชยกรรมและการบริการ เช่น อู่ซ่อมรถ ร้านค้า สะดวกซื้อ ร้านขายยาแผนปัจจุบัน ร้านเสริมสวย ร้านซักอบรีด จำหน่ายและซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า ธนาคาร เป็นต้น ลักษณะทางสังคมของชุมชนนี้ยังคงเชื่อมโยงกับชุมชนเดิมที่อาศัยอยู่ริมคลอง ซึ่งยังรู้จักกัน ไปมาหาสู่กันบ้าง แต่ความสัมพันธ์ทางสังคมนั้นอยู่ในระดับหมู่เครือญาติของตนเท่านั้น

ประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมเป็นหลัก ได้แก่ การทำสวนผลไม้ซึ่งมีลักษณะเป็นสวนยกร่อง ปลูกมะพร้าว ส้มโอ กล้วย มะม่วง ลิ้นจี่ และการทำสวนผัก รองลงมาคืออาชีพอุตสาหกรรมในครัวเรือน ได้แก่ ทำหมาก ทำน้ำตาลมะพร้าว แปรรูปมะพร้าว เย็บกระทงใบตองแห้ง ชุบโลหะ อาชีพเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา เลี้ยงหมูป่า เป็นต้น อาชีพค้าขาย ได้แก่ ขายของชํา สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าเบ็ดเตล็ดขายของตามตลาดนัด อาชีพรับจ้าง ได้แก่ รับจ้างทั่วไป รับจ้างทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมทั้งในจังหวัดและจังหวัดข้างเคียง รวมถึงอาชีพรับราชการ รัฐวิสาหกิจ และอาชีพอิสระอื่น ๆ ตามลําดับ

ลักษณะสภาพเศรษฐกิจของชุมชนคลองบางน้อยในปัจจุบันไม่มีการขยายตัว ไม่เฟื่องฟูเหมือนในอดีตที่การทำเกษตรกรรมยังคงเป็นอาชีพหลักในครัวเรือนของชุมชนคลองบางน้อย ซึ่งนับว่าเป็นอาชีพดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ในอดีต อย่างไรก็ตาม ชุมชนคลองบางน้อยมีความพยายามที่จะฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจภายในชุมชนให้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้งด้วยการสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มอาชีพต่าง ๆ เพื่อผลิตสินค้าตามความถนัดของสมาชิกในกลุ่ม เช่น กลุ่มสตรีแม่บ้าน กลุ่มเกษตรกร กลุ่มพื้นถิ่นหัตถกรรม กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการต่อยอดจากผลิตผลในท้องถิ่น เพื่อเป็นการสร้างรายได้และเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตของท้องถิ่นได้อีกอีกทาง

สืบเนื่องจากลักษณะภูมิประเทศของชุมชนคลองบางน้อยที่มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มติดลำน้ำ กอปรกับลักษณะการแบ่งตัวของพื้นที่ชุมชนที่ก็แบ่งด้วยสภาพแวดล้อม จึงอาจกล่าวได้ว่าชาวบ้านในพื้นที่ชุมชนคลองบางน้อยมีวิถีการดําเนินชีวิตสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติมีอิทธิพลอย่างมากต่อการกำหนดรูปแบบการดำเนินชีวิต วิถีความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพ ตลอดจนวัฒนธรรมและประเพณี ซึ่งจะเห็นได้จากการประกอบงานประเพณีพิธีกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูกาลต่าง ๆ ในแต่ละปี เช่น ในหน้าแล้งประมาณช่วงเดือนมีนาคม ฤดูกาลแห่งการเก็บเกี่ยว ในอดีตขณะตำข้าวก็จะร้องเพลงกันไปด้วย เรียกว่า เล่นเข้าแม่ศรี (ฝ่ายหญิงร้อง) เข้าลิงลม (ฝ่ายชายร้อง) ซึ่งการร้องรํานั้นเนื้อหาของเพลงจะเกี่ยวกับคําสั่งสอนตามหลักพุทธศาสนา ส่วนฤดูฝนชาวสวนมักเรียกช่วงฤดูฝนว่า หน้าน้ำ เป็นช่วงที่น้ำหลาก จะมีการแข่งขันเรือพายกันในคลอง เข้าวัดไปทําบุญ ฟังเทศน์ฟัง ธรรมทอดกฐินหรือออกผนวช ซึ่งการนับเวลาดังกล่าวเป็นการนับเวลาทางจันทรคติที่ถือเอาข้างขึ้นข้างแรมเป็นเกณฑ์ โดยจะเห็นได้จากการติดนัดในการค้าขายที่ตลาดน้ำในสมัยก่อน ชาวบ้านก็ถือเอาการกำหนดข้างขึ้นข้างแรมเป็นสําคัญ และได้สั่งสมกันมาเป็นประเพณี (เพียรกานต์ วงศ์วาณิชย์ศิลป์, 2550: 101)

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนภูมิปัญญา

มัวกุ้ง เป็นภูมิปัญญาการประกอบอาชีพที่เกิดจากการสร้างความเข้าใจธรรมชาติของสัตว์น้ำ เมื่อถึงเวลาน้ำในลำคลองลด ชาวบ้านจะพายเรือหรือพุ้ยเลนที่อยู่ก้นร่องให้ฟุ้งกระจายทำให้น้ำขุ่น เพื่อที่จะทำให้สัตว์น้ำเกิดอาการเมาน้ำ จากนั้นพวกมันจะลอยหัวขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำทำให้ง่ายต่อการจับ การมัวกุ้งจึงถือเป็นภูมิปัญญาการประกอบอาชีพที่ชาญฉลาดอันเกิดจากความเข้าใจวิถีการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำ ซึ่งช่วยให้สามารถจับสัตว์น้ำได้ในปริมาณมาก แต่ในขณะเดียวก็ไม่ได้สร้างความเสียหายหรือเสื่อมโทรมแก่สภาพแวดล้อมในลำคลอง 

ภาษาพูด : ภาษาไทย

ภาษาเขียน : ภาษาไทย


การไฟฟ้า : ชุมชนคลองบางน้อยมีไฟฟ้าใช้ทุกครัวเรือนมีบริการไฟฟ้าสาธารณะกระจายอยู่บริเวณถนนในชุมชน การบริการไฟฟ้าในพื้นที่อยู่ในความรับผิดชอบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอําเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม

การประปา และระบบระบายน้ำ : ในพื้นที่ชุมชนคลองบางน้อยมีบริการของประปา 1 แห่ง คือ การประปาเทศบาลตําบลกระดังงา เพื่อใช้ในการอุปโภคและบริโภค นอกเหนือพื้นที่เขตเทศบาลนั้นเป็นประปาหมู่บ้านจะใช้น้ำบาดาลและระบบประปาผิวดิน โดยมีแม่น้ำแม่กลองเป็นแหล่งน้ำดิบที่ใช้ในการผลิตน้ำประปาและแหล่งน้ำดิบสํารอง และมีถังเก็บน้ำฝนเพื่อสํารองน้ำไว้ใช้ สําหรับชุมชนคลองบางน้อยระบบระบายน้ำยังคงเป็นแบบการระบายน้ำตามธรรมชาติ ที่ระบายโดยตรงลงสู่แม่น้ำลําคลองได้แก่ แม่น้ำแม่กลอง คลองบางน้อย และลําประโดง


ชุมชนคลองบางน้อยมีสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนถึงระดับชั้นประถมศึกษา 4 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนอนุบาลบางคนที โรงเรียนวัดปากง่าม (ผ่องสะอาดราษฎร์นุกูล) โรงเรียนบ้าน โรงเรียนวัดบางน้อย (แจ่มประชานุกูล) และโรงเรียนวัดบางน้อยเป็นโรงเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นด้วยเช่นกัน โดยสถานศึกษาตั้งอยู่ในตําบลกระดังงา ตําบลบางคนที และตําบลจอมปลวกตามลําดับ นอกจากนี้ยังมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียนตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ของโรงเรียนแต่ละแห่งซึ่งมีประจําอยู่ทุกตําบล

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ตลาดน้ำบางน้อย บางคนที สมุทรสงคราม. (2565). สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.facebook.com/

เพียรกานต์ วงศ์วาณิชย์ศิลป์. (2550). แนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูชุมชนคลองบางน้อย จังหวัดสมุทรสงคราม. วิทยานิพนธ์ปริญญาการวางแผนภาคและเมืองมหาบัณฑิต สาขาวิชาการวางผังชุมชน ภาควิชาการวงแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน. (ม.ป.ป.). วิถีชีวิตชาวคลอง(บางน้อย) สู่เส้นทางแผนธุรกิจ ท่องเที่ยวโดยชุมชน. สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2566, จาก https://web.codi.or.th/

Thailand Tourism. (ม.ป.ป.). ตลาดน้ำบางน้อย. สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2566, จาก https://thailandtourismdirectory.go.th/