Advance search

ตลาดน้ำท่าคาที่ยังคงรักษาไว้ได้อย่างดี คือ การกําหนดเวลาของการมีตลาดน้ำที่เรียกว่า “นัด” หรือการกำหนดวันค้าขายจากน้ำขึ้นน้ำลง โดยในหนึ่งเดือนจะมีนัดอยู่ 6 ครั้ง ได้แก่ วัขึ้น 2 ค่ำ ขึ้น 7 ค่ำ ขึ้น 12 ค่ำ แรม 2 ค่ำ แรม 7 ค่ำ และแรม 12 ค่ำ 

หมู่ที่ 2
ท่าคา
อัมพวา
สมุทรสงคราม
ธำรงค์ บริเวธานันท์
10 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
11 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
19 ก.ค. 2023
ตลาดน้ำท่าคา


ตลาดน้ำท่าคาที่ยังคงรักษาไว้ได้อย่างดี คือ การกําหนดเวลาของการมีตลาดน้ำที่เรียกว่า “นัด” หรือการกำหนดวันค้าขายจากน้ำขึ้นน้ำลง โดยในหนึ่งเดือนจะมีนัดอยู่ 6 ครั้ง ได้แก่ วัขึ้น 2 ค่ำ ขึ้น 7 ค่ำ ขึ้น 12 ค่ำ แรม 2 ค่ำ แรม 7 ค่ำ และแรม 12 ค่ำ 

หมู่ที่ 2
ท่าคา
อัมพวา
สมุทรสงคราม
75110
13.471907
99.994747
องค์การบริหารส่วนตำบลท่าคา

ชุมชนตลาดน้ำท่าคาตั้งอยู่บริเวณคลองพันลา หมู่ที่ 2 บ้านคลองศาลา ตําบลท่าคา อําเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งมีคลองท่าคาเป็นคลองสายสําคัญที่พาดผ่านกลางหมู่บ้านในแนวทิศตะวันออกไปจนถึงทิศตะวันตก โดยมีคลองย่อยเชื่อมต่อกันอันได้แก่ คลองพันลา คลองสวนทุ่ง คลองขุนเล็ก เป็นต้น การมีคลองต่าง ๆ ไหลผ่านทําให้ชุมชนหมู่ 2 มีลักษณะพิเศษ คือ การเดินทางของชาวบ้านนั้นนิยมเดินทางโดยใช้เรือเป็นพาหนะ แม้ว่าหน่วยงานราชการได้ทําถนนลาดยางเพื่อความสะดวกของคนในหมู่บ้านแล้วก็ตาม ลักษณะการตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยของประชากรบริเวณตําบลท่าคา ส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์กันในลักษณะเครือญาติ จะตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณริมแม่น้ำลําคลอง เพื่อความสะดวกในการใช้น้ำอุปโภคบริโภคและใช้เป็นเส้นทางคมนาคม พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน นอกจากคลองจะเอื้อให้ชาวบ้านนิยมเดินทางโดยใช้เรือแล้ว ยังช่วยรักษาความเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนไว้ได้อย่างดี คือ ตลาดน้ำท่าคา หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ตลาดนัดท่าคา

มีเรื่องเล่าถึงประวัติเหตุการณ์เสด็จประพาสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มายังบริเวณคลองท่าคา เป็นหลักฐานสำคัญทําให้ทราบว่าชุมชนแห่งนี้มีอายุไม่น้อยกว่า 100 ปี หลักฐานยืนยันถึงเหตุการณ์ดังกล่าวปรากฏเป็นคำบอกเล่าของผู้สืบเชื้อสายของบุคคลที่มีโอกาสรับเสด็จรัชกาลที่ 5 และหลักฐานยืนยันอันเป็นสิ่งของพระราชทานต่าง ๆ อาทิ ไม้เท้า รูปพระฉายาลักษณ์ และดวงตรา เป็นต้น

เดิมตลาดน้ำท่าคาเป็นตลาดบกมาก่อน แม่ค้าจะขนสินค้าจากเรือขึ้นไปแลกเปลี่ยนสิ่งของกัน เช่น แลกมะละกอกับอ้อย แลกมะละกอกับปลาทู แต่หลังจากเมื่อเริ่มมีการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างแม่ค้าจากทางเพชรบุรี ซึ่งนําอาหารทะเลมาแลกเปลี่ยนกับผักผลไม้ การแลกเปลี่ยนสินค้าจากทะเลกับผลไม้ที่ปลูกในสวนจึงเปลี่ยนตลาดบกไปเป็นตลาดน้ำ เนื่องมาจากความลําบากต่อการขนย้ายสัมภาระ เพราะต้องขนถ่ายจากบนบกมาลงเรือ จึงเปลี่ยนสถานที่นัดพบจากบนบกมาเป็นทางเรือเพื่อช่วยกันขนถ่ายสินค้าระหว่างกัน โดยเรือที่นําสินค้ามาแลกเปลี่ยนนั้นมีที่มาจากทั้งตําบลท่าคาและบริเวณใกล้เคียง

ที่ตั้งและอาณาเขต

ตําบลท่าคา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของศาลากลางจังหวัดสมุทรสงคราม  ห่างจากกรุงเทพมหานครตามเส้นทางถนนธนบุรี-ปากท่อ หรือถนนพระราม 2 เป็นระยะทางประมาณ 78 กิโลเมตร ห่างจากศาลากลางจังหวัดสมุทรสงครามประมาณ 15 กิโลเมตร และห่างจากที่ว่าการอําเภออัมพวาประมาณ 10 กิโลเมตร เนื้อที่ตําบลท่าคามีเนื้อที่ประมาณ 9 ตารางกิโลเมตร หรือ 5,631 ไร่ มีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่ต่าง ๆ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อ ตำบลจอมปลวก ตําบลดอนมะโนรา

  • ทิศใต้ ติดต่อ ตําบลบางช้าง

  • ทิศตะวันออก ติดต่อ ตําบลบางกระบือ

  • ทิศตะวันตก ติดต่อ ตําบลคลองเขิน ตําบลนางตะเคียน

ลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศ

พื้นที่โดยทั่วไปมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่ม มีลําคลองน้อยใหญ่เชื่อมต่อกันจำนวนมาก สภาพดินเป็นดินเหนียวปนทรายเหมาะสําหรับการเกษตร อากาศมีความชุ่มชื่นอยู่ตลอดทั้งปี เนื่องจากมีอาณาเขตอยู่ใกล้ทะเลอ่าวไทยและได้รับอิทธิพลจากลมทะเล ในฤดูหนาวไม่หนาวจัด ฤดูร้อนไม่ร้อนจัดโดยอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 28 องศาเซลเซียสตลอดปี

การคมนาคม

การคมนาคมมายังตลาดน้ำท่าคาและชุมชนท่าคา สามารถเดินทางได้หลายเส้นทาง ดังนี้

1. เดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว ใช้เส้นทางตามทางหลวงหมายเลข 325 สายสมุทรสงคราม-ดําเนินสะดวกบางแพ เริ่มจาก กม.ที่ 28 ของถนนเพชรเกษม ผ่าน อำเภอบางแพ และอำเภอดํา  เนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ไปยัง อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม จนถึงหลักกิโลเมตรที่ 32 เลยมาทางแยกวัดเกาะแก้ว จะมีทางแยกเข้าวัดเทพประสิทธิ์ เลี้ยวขวาจากแยกเข้าไปประมาณ 5 กิโลเมตร ตามถนนลาดยางตลอดเส้นทาง

2. รถตู้โดยสารประจําทาง สายอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-สมุทรสงคราม มีบริการทุกวันใต้ทางด่วนเส้นทางไปถนนพหลโยธิน ปลายทางที่อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ใกล้กับตลาดสดทางรถไฟในอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ส่วนการเดินทางไปยังตลาดน้ำ สามารถต่อรถสองแถวโดยสารประจําทางสายวัดเทพประสิทธิ์ (วัดเทพประสิทธิ์–ท่าคา-ดอนสาม) ซึ่งมีบริการทุกวัน

3. เดินทางโดยรถไฟรถดีเซลรางออกจากสถานีรถไฟวงเวียนใหญ่ทุกวัน สายวงเวียนใหญ่-มหาชัย แล้วข้ามเรือข้ามฟากแม่น้ำท่าจีน ต่อรถไฟที่สถานีบ้านแหลม จังหวัดสมุทรสงคราม ไปลงที่สถานีรถไฟแม่กลอง ต่อจากนั้นเดินทางไปยังตลาดน้ำท่าคาได้ด้วยรถสองแถวโดยสารประจําทางสายวัดเทพประสิทธิ์

4. เดินทางโดยเรือรับจ้างเหมาลำ สามารถเหมาเรือรับจ้างล่องมาตามลำคลองไหลายเส้นทาง เช่น จากคลองดำเนินสะดวกมายังคลองท่าคา เป็นต้น 

ข้อมูลจำนวนประชากรจากสำนักงานทะเบียนราษฎร์ กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่  บ้านคลองศาลา ตำบลท่าคา มีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 169 ครัวเรือน ประชากร 507 คน แยกเป็นประชากรชาย 244 คน และประชากรหญิง 263 คน ผู้คนที่อาศัยอยู่ในชุมชนส่วนใหญ่เป็นคนไทยภาคกลาง มีคนจีนมาตั้งถิ่นฐานอยู่บ้างเล็กน้อย ในช่วงแรกสันนิษฐานว่ามีบ้านเรือนตั้งอยู่ไม่มากนัก ภายหลังจึงมีการอพยพมาตั้งบ้านเรือนของคนถิ่นอื่น เช่น จากคนที่อยู่อําเภอเมือง และจังหวัดใกล้เคียง เช่น ราชบุรี เพชรบุรี มีทั้งอพยพมาอยู่อาศัยและได้ทําการแต่งงานกับคนในชุมชนท่าคา ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ รองลงมา คือ ชาวไทยเชื้อสายจีน ผู้นับถือศาสนาคริสต์และอิสลามมีเล็กน้อย

ปัจจุบันระบบเศรษฐกิจของตำบลท่าคาส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับภาคเกษตรกรรมเป็นหลัก รองลงมาเป็นภาคอุตสาหกรรม โดยทั่วไปประชาชนในตำบลท่าคาเป็นเกษตรกรชาวสวน อาทิ สวนมะพร้าว ฝรั่ง ลำไย ลิ้นจี่ รองลงมามีอาชีพรับจ้างทั่วไป และรับจ้างในโรงงานอุตสาหกรรม นอกจากนี้ จะมีอาชีพอื่น ๆ เช่น ข้าราชการ พนักงานบริษัทเอกชน เป็นต้น การทำเกษตรของชาวตำบลท่าคา คือ การปลูกพืชล้มลุกทุกชนิด ได้แก่ หอม กระเทียม พริกสก พริกแห้ง ข้าวโพด ถั่วลิสง ถั่เหลือง และเมื่อถึงฤดูทำนาก็จะปลูกข้าวในท้องร่อง บนหลังร่องจะปลูกพืชล้มลุกและทำยาจืด (พืชมีใบคล้ายยาสูบ นำใบมาหั่น ล้างน้ำ นำไปตากแดดให้แห้ง จะได้ยาจืดเป็นเส้นฝอยสีน้ำตาลอ่อน มีกลิ่นหอมเล็กน้อย ใช้กินคู่กับหมาก) ส่วนพืชชนิดอื่นจะมการเก็บเกี่ยวตามฤดูกาล โดยพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านส่วนหนึ่งจะมีพ่อค้าแม่ค้าเข้ามารับซื้อถึงในหมู่บ้าน และอีกส่วนหนึ่งจะนำไปจำหน่ายแลกเปลี่ยนกับสินค้าชนิดอื่นที่ตลาดน้ำท่าคา

สำหรับสินค้าที่วางจำหน่ายที่ตลาดน้ำท่าคา ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าจำพวกพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้าน เช่น ชมพู่ มะพร้าว น้ำตาลมะพร้าว ฝรั่ง ส้มโอ โดยสินค้าเหล่านี้บรรดาพ่อค้าแม่ค้าจะนำลงเรือพายขายในพื้นที่ตลาด นอกจากนี้ยังมีสินค้าจำพวกอาหาร และข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่วางจำหน่ายในร้านค้าที่อยู่บนบก อนึ่ง ตลาดน้ำท่าคายังมีบริการล่องเรือชมสวน การสาธิตเคี่ยวน้ำตาลมะพร้าว และการหยอดมะพร้าว เพื่อให้เหล่านักท่องเที่ยวได้สัมผัสซึมซับวิถีชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยุ่บริเวณริมคลองท่าคา

โฮมสเตย์กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรตลาดน้ำท่าคา

กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรตลาดน้ำท่าคา ตั้งอยู่ริมคลองท่าคาใกล้ตลาดน้ำท่าคา เริ่มแรกรวมกลุ่มโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำน้ำตาลมะพร้าว ฟื้นฟูภูมิปัญญาอาชีพดั้งเดิมของตนตำบลท่าคา เพื่อเพิ่มมูลค่าและคุณค่าของสินค้า รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวตลาดน้ำท่าคาด้วยการจัดกิจกรรมพานักท่องเที่ยวมาดูการทำน้ำตาลมะพร้าว    ต่อมาจึงคิดทำบ้านพักโฮมสเตย์ที่สื่อให้เห็นถึงภูมิปัญญา วิถีชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรมของชุมชนท่าคาโดยชุมชนเป็นเจ้าของ เพื่อส่งเสริมให้คนมาเที่ยวตลาดน้ำท่าคาและเพื่อส่งเสริมให้เกิดการดูแลทรัพยากร สิ่งแวดล้อม ริมคลองท่าคาให้คงความอุดมสมบูรณ์สืบไป 

เนื่องด้วยลักษณะภูมิประเทศของตำบลท่าคาที่อยู่ติดกับแม่น้ำลำคลอง จึงพบว่าประชาชนส่วนมากนิยมสร้างบ้านอยู่ติดกับลำน้ำที่มีลักษณะเป็นบ้านทรงไทยโบราณยกเสาสูง เพื่อให้ป้องกันจากน้ำท่วมและน้ำหลาก อีกทั้งตัวเรือนของบ้านจะหันหน้าให้กับลําคลอง หรือเส้นทางการคมนาคมทางน้ำ และบริเวณหน้าบ้านที่หันหน้าเข้าหาคลองเกือบทุกหลังมีส่วนเปิดโล่งที่ใช้สําหรับเป็นชาน ศาลาท่าน้ำ หรือบันไดท่าน้ำ เพื่อการใช้ประโยชน์เอนกประสงค์โดยเฉพาะบันไดซึ่งถือเป็นองค์ประกอบสําคัญที่เชื่อมโยงระหว่างผู้คนกับน้ำเข้าหากัน เพื่อการคมนาคมติดต่อกับโลกภายนอก ส่วนพื้นที่ด้านหลังของบ้านเรือนส่วนมากจะเป็นพื้นที่สวน โดยเฉพาะสวนมะพร้าว หรืออาจจะมีต้นไม้สูงอยู่ทางด้านหลังเป็นทิวแถวแนวป้องกันตลิ่งพัง และป้องกันการกัดเซาะจากคลื่นน้ำในลําคลองที่เกิดจากเรือยนต์แล่นผ่าน แต่ในบริเวณที่ไม่ใช่บ้านเรือนส่วนใหญ่จะเป็นคันดินธรรมชาติที่มีพืชพันธุ์นานาชนิดเจริญเติบโต เช่น จาก ลําพู เป็นต้น

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาพูด: ภาษาไทยกลาง

ภาษาเขียน: ภาษาเขียน


การประกอบอาชีพดั้งเดิมของชาวบ้านในยุคก่อนนั้นมีการทํานาปรังเป็นหลัก โดยเริ่มดํานาในฤดูหนาว ร่วมกับการปลูกไม้เตี้ยซึ่งเป็นพืชล้มลุก เช่น มันสําปะหลัง หัวไชเถ้า และปลูกยาเส้น แต่อาชีพดังกล่าวได้สูญหายไปเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อม จากการที่นําเค็มได้ล้นเข้ามาตามคลองทําให้ปลูกพืชผลต่าง ๆ เช่นเดิมไม่สามารถทําได้ การที่น้ำเค็มจากทะเลเข้าสู่ถึงคลองท่าคานั้น เป็นเพราะการสร้างเขื่อนศรีนครินทร์ที่จังหวัดกาญจนบุรีในปี พ.ศ. 2522

เมื่อเริ่มเก็บกับน้ำในปีแรกจึงไม่มีน้ำไหลลงมาปลายแม่น้ำ ปีแรกที่มีการสร้างเขื่อน น้ำเค็มจึงลุกคืบมาถึงจังหวัดราชบุรี เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วชาวบ้านท่าคาจึงได้รับความเดือดร้อนในการทําเกษตรกรรม ทําให้ชาวบ้านต้องเปลี่ยนจากการทำไร่มันสำปะหลัง หัวไชเท้า และยาเส้นต้องหันมาปลูกสวนมะพร้าว ซึ่งเป็นต้นไม้ที่มีความคงทนต่อสภาพความเค็มของดินเสีย และได้กลายเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งผลผลิตจากมะพร้าวนอกจากจะจำหน่ายลูกมะพร้าวสดแล้ว และยังมีการนําเอามะพร้าวมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์น้ำตาลจากมะพร้าว ปัจจุบันยังมีการตั้งเตาตาลอยู่หลายแห่ง

จากความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จะเห็นวิวัฒนาการการประกอบอาชีพของชาวท่าคาอันเกิดจากพลวัตของลักษณะภูมิประเทศและสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างเขื่อนศรีนครินทร์ ซึ่งส่งผลให้มีน้ำเค็มไหลล้นเข้าสู่คลองท่าคา คลองน้ำสายสำคัญที่ชาวท่าคาใช้สำหรับการทำเกษตร แต่เมื่อมีน้ำเค็มเข้ามาปะปนในลำคลอง สร้างอุปสรรคแก่การประกอบอาชีพเกษตรกรรมของชาวบ้าน ชาวบ้านจึงต้องเจากการทำไร่มันสำปะหลัง หัวไชเท้า และยาเส้นต้อง มาปลูกสวนมะพร้าว ซึ่งเป็นต้นไม้ที่มีความคงทนต่อสภาพความเค็มของดินเสีย และได้กลายเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านมาจนถึงปัจจุบัน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

มธุวรรณ พลวัน. (2546). ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวต่อการจัดการด้านการท่องเที่ยว: กรณีศึกษา ตลาดน้ำท่าคา ต.ท่าคา อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาชนบทศึกษาและการพัฒนา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

เรวัต ฤกษ์มงคลกุล. (2554). ตลาดน้ำกับวิถีชีวิตชุมชน กรณีศึกษาตลาดน้ำท่าคา ตำบลท่าคา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาชนบทศึกษาและการพัฒนา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

สุรเชษฐ์ บุญพงษ์มณี. (2549). การจัดการที่อยู่อาศัยโฮมสเตย์ ณ บ้านท่าคา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม. วิทยานิพนธ์ปริญญาเคหพัฒนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเคหการ ภาควิชาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ศรัณยู นกแก้ว. (ม.ป.ป.). ตลาดน้ำท่าคา : ตลาดน้ำกลางสวนมะพร้าว เล็ก ๆ แต่น่ารักละลายหัวใจ. สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.sarakadeelite.com/lite/thaka-floating-market/

Achaya. (2559). ล่องเรือชมสวนตาล ชิมอาหารปรุงจากเรือ สัมผัสวิถีชีวิตชาวบ้านริมคลองแบบดั้งเดิม. สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.wongnai.com/

Death of a salesman, Nititpon Boonchalermrat, Sanit Fuangnakhon. (2564). Shutterstock. อ้างถึงใน nukkpidet. (2564). ตลาดน้ำท่าคา ที่เที่ยวสมุทรสงคราม ชมวิถีชีวิตเพลิน ๆ ช้อปชิมของอร่อย. สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2566, จาก https://travel.trueid.net/

Google Earth. (ม.ป.ป.). สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2566, จาก https://earth.google.com/