Advance search

ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง ปากอ่าวลำน้ำแม่กลองที่มีการประกอบอาชีพทำน้ำตาลมะพร้าวจากมะพร้าวที่มีการปลูกแบบยกร่องน้ำ ซึ่งทำให้ต้นมะพร้าวเจริญเติบโตได้ดี มะพร้าวให้น้ำตาลใสเมื่อนํามาผลิตเป็นน้ำตาลมะพร้าว

สวนทุ่ง
คลองเขิน
เมืองสมุทรสงคราม
สมุทรสงคราม
ธำรงค์ บริเวธานันท์
15 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
18 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
19 ก.ค. 2023
บ้านสวนทุ่ง

ตั้งตามลักษณะภูมิประเทศที่มีลำคลองสวนทุ่งไหลผ่าน เมื่อมีการแยกหมู่บ้านเจริญผล ส่วนหนึ่งเพื่อก่อตั้งหมู่บ้านใหม่ จึงให้ชื่อ บ้านสวนทุ่ง ตามชื่อของลำคลอง


ชุมชนชนบท

ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง ปากอ่าวลำน้ำแม่กลองที่มีการประกอบอาชีพทำน้ำตาลมะพร้าวจากมะพร้าวที่มีการปลูกแบบยกร่องน้ำ ซึ่งทำให้ต้นมะพร้าวเจริญเติบโตได้ดี มะพร้าวให้น้ำตาลใสเมื่อนํามาผลิตเป็นน้ำตาลมะพร้าว

สวนทุ่ง
คลองเขิน
เมืองสมุทรสงคราม
สมุทรสงคราม
75000
13.44798778
99.9847202
องค์การบริหารส่วนตำบลคลองเขิน

ประวัติศาสตร์การก่อตั้งบ้านสวนทุ่งนั้นไม่มีหลักฐานหรือเอกสารทางวิชาการใดสามารถระบุได้แน่ชัดว่าหมู่บ้านก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่เมื่อใด แต่จากคำบอกบอกเล่าของผู้อาวุโสในชุมชนอาจสามารถประมาณได้ว่าหมู่บ้านน่าจะมีอายุประมาณ 2-3 ชั่วคน และทราบเพียงว่าบรรพบุรุษของชาวบ้านสวนทุ่งส่วนใหญ่มีเชื้อสายชาวจีนที่อพยพหลบหนีภัยสงครามเข้ามาตั้งถิ่นฐาน และประกอบอาชีพ ระหว่างช่วงปลายสมัยอยุธยาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ต้นตระกูลเก่าแก่ขณะนั้นมีด้วยกัน 3 ตระกูล คือ เอี่ยมอิศรา สังข์อนันต์ และเข็มกําเนิด

บ้านสวนทุ่ง เดิมนั้นคือ บ้านเจริญผล ก่อนแยกตัวออกมาเป็นบ้านสวนทุ่งเมื่อปี พ.ศ. 2521 เนื่องจากการขยายตัวของประชากรที่เพิ่มมากขึ้นจนยากต่อการบริหารปกครอง ด้วยอยู่ห่างไกลจากพื้นที่หน่วยงานราชการ จึงได้มีการประกาศแยกบ้านเจริญผลส่วนหนึ่งก่อตั้งเป็น บ้านสวนทุ่ง สอดคล้องกับสภาพการตั้งบ้านเรือนที่มีลําคลองชื่อ สวนทุ่ง ไหลผ่านหมู่บ้าน

อาณาเขต

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ที่ 3 ตำบลท่าคา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ที่ 7 ตำบลคลองเขิน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ที่ 1 ตำบลคลองเขิน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลท่าคา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

ลักษณะภูมิประเทศ

ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปของจังหวัดสมุทรสงครามมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำแม่กลองไหลผ่านตอนกลางของพื้นที่ตามแนวเหนือ-ใต้ ผ่านอําเภอบางคนที อําเภออัมพวา แล้วไหลลงสู่อ่าวไทยที่ปากแม่น้ำในเขตอําเภอเมือง บริเวณพื้นที่ชายทะเลมีความยาวประมาณ 23 กิโลเมตร พื้นที่เกือบทั้งหมดของจังหวัดเป็นที่ราบชายฝั่งที่มีความลาดเอียงไปทางชายฝั่งทะเล ไม่มีภูเขาและเกาะ มีคลองธรรมชาติและคลองขุดเชื่อมต่อกันเป็นเครือข่ายทั่วพื้นที่มากกว่า 300 สาย คลองเหล่านี้ช่วยระบายน้ำระหว่างพื้นที่ส่วนบนกับฝั่งทะเล ส่วนในตําบลคลองเขินมีลําคลองใหญ่ ซึ่งเคยเป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำของตําบลและระหว่างตําบลอยู่หลายคลอง คือ คลองเขิน คลองยายกี๋ คลองขุดเล็ก คลองพลับ คลองนางตะเคียน คลองปากลัด มีคลองเล็ก ๆ แยกจากคลองใหญ่ และ มีลําประโดงอีกจํานวนมาก

พื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดสมุทรสงครามอยู่ภายใต้อิทธิพลของระบบสามน้ำ กล่าวคือ แม่น้ำแม่กลองกับคลองทุกคลองที่แยกจากตัวแม่น้ำ เมื่อน้ำทะเลขึ้น น้ำทะเลจะดันน้ำจืดในลําน้ำและคลองย่อยต่าง ๆ ที่ไหลมาจากจังหวัดกาญจนบุรีและจังหวัดราชบุรีกลับขึ้นไปก่อน ในช่วงหัวน้ำขึ้น 1-2 ชั่วโมงแรกจึงเป็นน้ำจืด ต่อมาชั่วโมงที่ 3-4 น้ำทะเลเข้าคลุกเคล้ากับน้ำจืดมากแล้วกลายเป็นน้ำกร่อยหรือน้ำลักจืดลักเค็ม พอชั่วโมงที่ 5-6 จะกลับมาเป็นน้ำเค็มอีกครั้ง จึงเป็นที่มาของระบบสามน้ำในลำน้ำสายเดียวกัน

ทรัพยากรธรรมชาติ

  • แหล่งน้ำ : ชุมชนบ้านสวนทุ่งมีลําคลองหลัก 3 สาย คือ คลองสวนทุ่ง คลองเจริญผล และคลองขุดเจ๊ก ในอดีตลําคลองทั้งสามสายนับเป็นเส้นทางการสัญจรหลักที่สําคัญของชุมชนในการเดินทางติดต่อกับโลกภายนอก แต่ปัจจุบันการใช้ประโยชน์จากลําคลองทั้งสามสายนี้ลดน้อยลงจากอดีตเป็นอย่างมาก
  • สัตว์น้ำ : เนื่องจากรอบชุมชนล้อมรอบไปด้วยลําคลองท้องร่อง เมื่อเวลาน้ำลงในลำคลองจะมีสัตว์น้ำ มากมายหลากหลายชนิดมาติดอยู่ตามหลุมตามบ่อ ส่วนมากมักเป็นปลาช่อน ปลาดุกทะเล ปูแสม และกุ้งตัวเล็กอีกมากมาย ซึ่งชาวบ้านสามารถจับมาบริโภคและนำไปจำหน่ายได้ ปัจจุบันจํานวนประชากรในชุมชนที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ทรัพยากรสัตว์น้ำมีจํานวนลดน้อยลง รวมถึงความต้องการทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างเกินความต้องการ โดยเฉพาะกุ้ง ที่พบว่ามีการใช้ยาเบื่อกุ้งในลำคลองเพื่อให้สามารถจับกุ้งได้ในปริมาณมากสำหรับนำไปขาย ชาวบ้านสวนทุ่งจึงต้องสร้างมาตรการเฝ้าระวังสถานการณ์ดังกล่าวนี้อย่างเข้มงวด เพราะหากปล่อยปละละเลยอาจส่งผลให้ทรัพยากรสัตว์น้ำมีจํานวนลดน้อยลงจนถึงขั้นหมดไปจากชุมชน

การคมนาคม

ภายในชุมชนบ้านสวนทุ่งมีถนนลาดยางหนึ่งสายคือ ถนนสายดาวโด่ง-บ้านปรก เป็นเส้นทางสัญจรหลักของชุมชนในการเชื่อมไปสู่สถานที่สําคัญภายในตําบลหรือชุมชนอื่นใกล้เคียง มีรถโดยสารประจําทางสายสวนทุ่ง-แม่กลอง วิ่งออกรับผู้โดยสารทุก ๆ ครึ่งชั่วโมง และรถโดยสารประจําทางอีกหนึ่งสายที่ให้บริการถึงชุมชน คือ รถโดยสารประจําทางสายดาวโด่ง-แม่กลอง รถโดยสารประจําทางสายนี้ให้บริการผ่านสถานที่สําคัญ ๆ ภายใน ตําบลคลองเขิน เช่น วัดดาวโด่ง ซึ่งเป็นวัดประจําตําบลคลองเขินและองค์การบริหารส่วนตําบลคลองเขิน เป็นต้น โดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่ตลาดแม่กลอง นับได้ว่าเส้นทางคมนาคมภายในชุมชนมีความสะดวกสบายมากขึ้นเมื่อมีถนนตัดผ่านเข้าสู่ชุมชน แต่สําหรับการสัญจรทางน้ำยังคงพบเห็นอยู่บ้างสําหรับการเดินทางในระยะทางไม่ไกลนักที่ถนนเข้าไม่ถึง เนื่องจากการใช้เรือเป็นพาหนะมีความสะดวกและประหยัดเวลามากกว่าการสัญจรทางบก

ลักษณะการตั้งบ้านเรือน

เนื่องจากระบบนิเวศวิทยาของจังหวัดสมุทรสงคราม ในแต่ละวันมีปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลงแตกต่างกันมาก โดยเฉพาะช่วงน้ำขึ้นส่งผลให้น้ำเอ่อท่วมพื้นที่การเกษตร และบ้านเรือนได้ พื้นที่รอบ ๆ ชุมชนจึงเต็มไปด้วยคลองหรือลําประโดงเชื่อมต่อกับขนัดสวนเพื่อ เพิ่มเนื้อที่แผ่น้ำ การตั้งบ้านเรือนจึงตั้งขนานไปกับลําคลองเพื่อความสะดวกในการคมนาคมทางน้ำ และการอุปโภคบริโภค สภาพบ้านเรือนมีลักษณะเป็นบ้านทรงไทย ยกพื้นสูง มาในปัจจุบันที่การ คมนาคมเปลี่ยนมาเป็นทางบก รูปแบบการตั้งบ้านเรือนจึงมีลักษณะเปลี่ยนไปเป็นบ้านทรงไทยประยุกต์ ครึ่งปูนครึ่งไม้ และไม่มีการยกพื้นสูงเหมือนในอดีต 

ประชากร

ข้อมูลจำนวนประชากรจากสำนักงานทะเบียนราษฎร์ กรมการปกครอง ณ เดือนเมษายน พ.ศ. 2564 รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 9 บ้านสวนทุ่ง ตำบลคลองเขิน มีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 186 ครัวเรือน ประชากร 719 คน แยกเป็นประชากรชาย 340 คน และประชากรหญิง 379 คน

ความสัมพันธ์ภายในชุมชน

ชุมชนบ้านสวนทุ่งเมื่อเริ่มก่อตั้งหมู่บ้านมีต้นตระกูล 3 สายคือ เอี่ยมอิศรา สังข์อนันต์ และเข็มกําเนิด จวบจนถึงปัจจุบันภายในชุมชนมีสายตระกูลเพิ่มขึ้นมากมาย ซึ่งล้วนเป็นลูกหลานของบรรพบุรุษเดียวกัน มีเพียงส่วนน้อยที่เป็นคนต่างถิ่นโยกย้ายเข้ามาอยู่อาศัย อาจโดยการแต่งงานหรือโยกย้ายเข้ามาอยู่อาศัยเอง ในอดีตการเข้ามาอยู่อาศัยโดยการแต่งงานมักเป็นคนละแวกใกล้เคียงในชุมชน ปัจจุบันการแต่งงานของคนรุ่นใหม่มีคนจากหลากหลายถิ่นฐานมากขึ้น เนื่องจากคนรุ่นใหม่เมื่อเรียนจบชั้น ม.3 นิยมเข้าทํางานโรงงาน จึงมีโอกาสพบปะผู้คนมากขึ้น ไม่เฉพาะแต่กับชาวสวนตาลด้วยกันเท่านั้น

การประกอบอาชีพ

ชาวบ้านสวนทุ่งมีรายได้จากการประกอบอาชีพหลายช่องทาง ทั้งรายได้ภาคเกษตรกรรมการทําน้ำตาลใสและน้ำตาลมะพร้าว และรายได้ที่มาจากนอกภาคเกษตรกรรม เช่น การรับจ้างในโรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ สำหรับการผลิตน้ำตาลใสขายนั้นมีรายได้ประมาณเดือนละ 6,000-18,000 บาท การผลิตน้ำตาลมะพร้าวครบวงจรมีรายได้ประมาณเดือนละ 8,000-14,000 บาท ขึ้นอยู่กับจํานวนที่ดินและจํานวนต้นมะพร้าวของแต่ละครัวเรือน ผู้ประกอบอาชีพการทํางานโรงงานมีรายได้ประมาณ 6,000-12,000 บาท ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการเข้าทํางานโรงงานและค่าล่วงเวลา

  • การทำน้ำตาลมะพร้าว เนื่องจากลักษณะทางกายภาพของบ้านสวนทุ่งที่มีสภาพเป็นน้ำกร่อย และมีการทำสวนในลักษณะการยกร่องน้ำ ไม่มีการขังของน้ำ ซึ่งการทำเกษตรในลักษณะดังกล่าวทำให้ต้นมะพร้าวเจริญเติบโตได้ดี มะพร้าวให้น้ำตาลใสเมื่อนำมาผลิตเป็นน้ำตาลมะพร้าว การทําน้ำตาลมะพร้าวจึงเป็นอาชีพหลักของคนในชุมชนมายาวนาน

  • การทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม อาชีพทําโรงงานอุตสาหกรรมเริ่มเข้าสู่ชุมชนบ้านสวนทุ่งประมาณปี พ.ศ. 2535 หลังจากเส้นทางการคมนาคมภายในหมู่บ้านมีความสะดวกมากขึ้น ประกอบกับโรงงานอุตสาหกรรมในเขตจังหวัดสมุทรสาครมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มีผู้เข้ามาชักชวนหนุ่มสาวในชุมชนให้ไปประกอบอาชีพทํางานโรงงานอุตสาหกรรมจํานวนมาก ช่วงเริ่มต้นการรับคนเข้าทํางานโรงงานไม่จํากัดอายุและวุฒิการศึกษา กอปรกับวัยแรงงานในชุมชนบางรายเกิดความเหนื่อยหน่ายกับการทำน้ำตาลมะพร้าว เพราะแม้ว่ารายได้ที่ได้จากน้ำตาลมะพร้าวจะคงที่สม่ำเสมอ แต่ต้องใช้พละกำลังจำนวนมาก ทั้งยังต้องเสี่ยงกับอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ บางรายจึงตัดสินใจเปลี่ยนอาชีพมาทำงานโรงงานแทน

  • อาชีพเสริม สำหรับอาชีพเสริมของชาวบ้านสวนทุ่ง ส่วนใหญ่เป็นอาชีพที่ชาวบ้านทำในช่วงพักงวงตาล ประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ เป็นช่วงเวลาที่อากาศเย็นงวงตาลที่เคยให้น้ำตาลมะพร้าวจะให้ น้ำตาลมะพร้าวลดน้อยลงหรือไม่ออก ชาวสวนตาลที่มีสวนน้อยจึงหาอาชีพเสริมทํา เช่น รับจ้างสร้างบ้าน ได้ค่าแรงวันละ 300 บาท รับจ้างโกยดิน คลองละ 400 บาท สําหรับผู้สูงอายุในชุมชนมีอาชีพเหลาทางมะพร้าวขายกิโลกรัมละ7 บาท หรือทําใบจากมวนยาเส้น 100 ใบ ราคา 150 บาท

  • การแลกเปลี่ยนภายนอกชุมชน ก่อนที่ชุมชนจะมีการคมนาคมทางบกเป็นเส้นทางสัญจรหลัก การติดต่อซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับภายนอกชุมชนนั้นมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ตลาดน้ำท่าคาและตลาดน้ำอัมพวา แต่ปัจจุบันตลาดนัดทั้งสองแห่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยตลาดน้ำอัมพวา ในอดีตการแลกเปลี่ยนสินค้าส่วนใหญ่เป็นการแลกเปลี่ยนแบบไม่ใช้เงินตรา กล่าวคือ คนในชุมชนนำใบยาสูบ (ยาจืด) พืชผักประเภทหอม กระเทียม แตงกวา ที่ปลูกในยุคนั้นไปแลกเปลี่ยนสินค้ากับคนต่างถิ่น ต่อมาเมื่อการเดินทางสัญจรทางบกมีความสะดวกสบายมากขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2545 ตลาดนัดทางบกจึงเริ่มเข้ามามีบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจและการค้าของชุมชนบ้านสวนทุ่ง และได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากคนในชุมชนและละแวกใกล้เคียง สินค้าที่นำมาซื้อขายกันที่ตลาดนัดมีทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภคที่จําเป็นภายในครัวเรือน ตลาดนัดจึงสามารถตอบสนองความสะดวกสบายในการเดินทางและการใช้เวลาของผู้คนในยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี 

ความเชื่อเรื่องผีเทวดา

ชาวบ้านสวนทุ่งมีความเชื่อเรื่องผีเทวดาในลักษณะการมีศาลพระพรหม ศาลพระภูมิ และศาลตายาย ศาลต่าง ๆ ล้วนทําหน้าที่ทางด้านจิตใจแตกต่างกันไป

ศาลพระพรหม เป็นศาลที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชน ภายในชุมชนไม่ได้มีศาลพระพรหมเพียงแห่งเดียว สามารถพบเห็นศาลพระพรหมได้ตามแต่ละหย่อมบ้าน มีความเชื่อว่าศาลพระพรหมมีความศักดิ์สิทธิ์และมีอํานาจมากกว่าศาลอื่นทั้งหมด ลักษณะศาลพระพรหมมีรูปทรงจตุรมิตร มีประตูทั้ง 4 ด้านคล้ายปราสาท สมัยก่อนรูปทรงของศาล พระพรหมมีลักษณะคล้ายโบสถ์วิหาร ทําด้วยไม้สัก ปัจจุบันมีรูปลักษณะเปลี่ยนแปลงไป การตั้งศาลพระพรหมต้องตั้งอยู่สูงกว่าศาลอื่นทั้งหมด การตั้งศาลพระพรหม ศาลพระภูมิ ศาลตายาย ตามคติความเชื่อต้องตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออกของบ้านและให้อยู่ติดกับรั้วบ้านเข้าออก เพราะมีความเชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะปกปักรักษาคุ้มครองคนในครอบครัวให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข

ศาลพระภูมิ จัดเป็นเทวดาชั้นต่ำกว่าชั้นพรหม เป็นเทวดาธรรมิกภูมิเทวดาเคหสถานที่อยู่ตามบ้านเรือน ลักษณะศาลพระภูมิเป็นทรงจตุรมิตรเสาเดียว ทําหน้าที่หลักในการดูแลปกปักรักษาเคหสถานบ้านเรือนและคนในครอบครัวให้มีความร่มเย็นเป็นสุข มีความเจริญ สุขภาพร่างกายแข็งแรง ทุกบ้านจะต้องมีศาลพระภูมิตั้งอยู่หน้าบ้าน ก่อนตั้งศาลพระภูมิต้องดูฤกษ์ยาม ส่วนมากจะเป็นวันพฤหัสบดี เพราะเป็นวันครู ตามความเชื่อถือเป็นวันดี

ศาลตายาย หรือศาลเจ้าที่ มักตั้งอยู่ใกล้เคียงกับศาลพระภูมิ ลักษณะของศาลตายายมี 6 เสา คล้ายบ้านแบบสมัยโบราณ ภายในศาลตายายมีตุ๊กตาคนรับใช้ 2 คนชายหญิงอยู่ในศาลเจ้าที่หรือศาลตายายทําหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างมนุษย์กับแม่พระธรณี ทุกปีจะมีการประกอบพิธีเซ่นไหว้ศาลตายาย เครื่องเซ่นไหว้มีหมาก 1 คํา และผลไม้อะไรก็ได้ เวลาถวายเครื่องสักการะต้องเป็นช่วงเวลาเพล ถวายคล้ายกับถวายภัตตาหารเพลแก่พระสงฆ์ เนื่องจากเชื่อว่าศาลตายายเป็นผู้มีศีล (จิตรานนท์ นนทเบญจวรรณ, 2551: 53)

ความเชื่อเรื่องร่างทรง

ชาวบ้านบ้านสวนทุ่งมีความเชื่อเกี่ยวกับร่างทรง เนื่องจากเป็นความ เชื่อที่เกี่ยวพันกับความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจที่เกิดจากการกระทำของสิ่งเหนือธรรมชาติ จึงต้องมีการเข้าทรงสื่อสารกับผี เพื่อถามหาสาเหตุของอาการเจ็บป่วย

1. นายประชุม แผนคู้ อายุ 66 ปี ปราชญ์ด้านการรักษาโรคด้วยพืชสมุนไพร 

การทำน้ำตาลมะพร้าว

การปลูกต้นมะพร้าวจะปลูกให้มีระยะห่างกันต้นละประมาณ 4 วา หรือ 8 เมตร จํานวนที่ปลูกอยู่ระหว่าง 7-12 ต้นต่อความยาวหลังร่อง จากนั้นจะทำดินเสริมหลังร่องหรือโกยดินทุก ๆ 1-3 ปีต่อครั้ง เพราะรากมะพร้าวจะขยายกว้างออกไปตามความสูงใหญ่ของต้น ขณะเดียวกันน้ำที่ขึ้นลงในร่องสวนทุกวันจะพาเอาตะกอนมาทับถมทำให้ร่องสวนตื้นเขิน แต่ถ้าน้ำตาลใสให้ผลผลิตไม่ดีอาจมีการใส่ปุ๋ยเร่งมะพร้าวอีกทาง

มะพร้าวส่วนใหญ่ที่ปลูกอยู่ในชุมชนบ้านสวนทุ่ง เริ่มแรกเป็นมะพร้าวพันธุ์ใหญ่ มีขนาดลําต้นสูง ใช้ระยะเวลาประมาณ 4-6 ปีจะเริ่มออกงวง แต่ถ้าปลูกชิดปลูกถี่จะใช้เวลาออกงวงนานถึง 10 ปี ปัจจุบันชาวสวนตาลจึงนําพันธุ์มะพร้าวใหม่มาปลูก คือ พันธุ์น้ำหอม ซึ่งเป็นมะพร้าวพันธุ์เตี้ย สูงช้า ใช้ระยะเวลาในการออกดอก (จั่น) เพียงแค่ 2-3 ปี

เมื่อต้นมะพร้าวออกงวง ดอกที่ยังตูมอยู่จะมีกาบ (กะเปี้ยว) หุ้มอยู่ เมื่อดอกเริ่มแก่กาบจะแตกออก ชาวสวนจะต้องเหนี่ยวงวงลงมาเพื่อเอากระบอกไปแขวนรอน้ำตาล เพราะธรรมชาติของงวงจะชี้ขึ้นไปบนฟ้า ถ้าไม่เหนี่ยวงวงตามกรรมวิธีจะทำให้เอากระบอกไปแขวนรอน้ำตาลไม่ได้ เมื่อเริ่มทำน้ำตาลมะพร้าวจึงต้องเหนี่ยวงวงหรือโน้มงวงเสียก่อน เพื่อที่เวลาใช้มีดปาดปลายงวง น้ำตาลจะได้ไหลลงไปในกระบอกที่แขวนรอน้ำตาลอยู่ที่ปลายงวง วิธีการผลิตน้ำตาลมะพร้าวมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

  • การโน้มจั่นมะพร้าว : ทำโดยใช้เชือกผูกค่อนไปทางปลาบงวง เหนี่ยวไว้กับทางมะพร้าวที่อยู่ต่ำลงไป เพื่อให้งวงค่อยโน้มปลายทีละน้อย การผูกเชือกเชือกจะร่นลงมาวันละน้อยหรือวันเว้นวัน แต่โดยปกติแล้วมักจะใช้เวลาประมาณ 7 วัน

  • การปาดตาล : ในช่วงก่อนขึ้นตาล ชาวสวนตาลจะนําไม้พะยอม ไม้เคี่ยม หรือไม้ตะเคียน ที่สับเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใส่ไว้ในกระบอกน้ำตาลเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำตาลบูด เพราะต้องแขวนรอน้ำตาลไว้หลายชั่วโมงก่อนจะนํามาเคี่ยว ไม้ชนิดนี้เป็นไม้มีรสฝาด จึงป้องกันน้ำตาลบูดได้ และทำให้น้ำตาลจับตัวเวลาเคี่ยว หากไม่ใส่เวลาเคี่ยวน้ำตาลจะไม่แห้ง เยิ้มเป็นน้ำคืนตัวอย่างรวดเร็ว การปาดตาล จะปาดบริเวณปลายงวงที่มีกาบหุ้มอยู่ เพื่อให้น้ำตาลเดินได้ดี และงวงตาลมีน้ำไหล การปาดตาลจะทำวันละ 2 ครั้ง คือ ช่วงเช้ากับช่วงเย็น หรือที่เรียกว่าตาลเช้ากับตาลเย็น ดอกมะพร้าว 1 ดอกให้น้ำตาลประมาณ 1 เดือนเศษ โดยดอกมะพร้าวที่ออกในช่วงฤดูร้อนกับฤดูฝนจะให้น้ำตาลในปริมาณที่มาก ปกติชาวสวนตาลจะทําน้ำตาลปีละประมาณ 7-9 เดือน และพักตาลช่วงหน้าแล้ง เพราะเป็นช่วงที่งวงออกน้อย หรือเป็นช่วงที่ตาลหมดกําลัง ถ้าไม่พักต้นมะพร้าวจะออกงวงน้อยลง เล็กลง และสั้นลง หรือออกงวงห่างออกไปหรือหมดงวง แต่ถ้าชาวสวนตาลรายใดมีที่ดินมากอาจใช้วิธีพักสลับกัน ก็จะทําน้ำตาลมะพร้าวได้ทั้งปี

  • การเคี่ยวน้ำตาลมะพร้าว : ก่อนเคี่ยวจะต้องใช้ผ้าขาวบางกรองเปลือกไม้พะยอมออก จากนั้นจึงเทน้ำตาลมะพร้าวลงในกระทะ เตาเคี่ยวน้ำตาลเป็นเตาแบบปล่องใส่ฟืนช่องเดียว แต่ไฟจะลุกออกทุกช่อง สามารถเคี่ยวได้คราวละหลายกระทะ ที่พบเห็นในชุมชนส่วนใหญ่เป็นเตาที่สามารถเคี่ยวได้ 3-4 กระทะ ขึ้นอยู่กับการมีน้ำตาลใสสําหรับเคี่ยวมากหรือน้อย เมื่อน้ำตาลเริ่มเดือด ฟองขาวหม่นจะฟูขึ้นมา ต้องใช้ลองกะวังหรือโค (ไผ่สานรูปทรงกลม) ครอบบนปากกระทะเพื่อป้องกันฟองที่ฟูล้นออกมา ส่วนฟองที่ล้นออกมาจะใช้ที่ช้อนฟองตักเอาฟองออกจนหมด การเคี่ยวน้ำตาลใช้ไฟสม่ำเสมอประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง น้ำตาลจะค่อย ๆ งวดลงจนเป็นสีเหลืองจัดหรือที่เรียกว่า “ขึ้นดอกหมาก” เป็นฟองเล็ก ๆ เคี่ยวต่อไปสักครู่ฟองจะใหญ่ขึ้น แสดงว่าได้ที่แล้ว ยกลงวางที่รองแล้วใช้ลวดกระทุ้งน้ำตาล ซึ่งทำด้วยลวดขดเป็นเส้นเป็นวงซ้อนกัน ด้ามยาวทำด้วยไม้รูปร่างเหมือนไม้ตีไข่แต่ขนาดใหญ่กว่า กระทุ้งแล้วหมุนไปมาเพื่อให้น้ำตาลละเอียดเสมอกัน เนื้อเนียนไม่หยาบ ถ้าไม่กระทุ้งเนื้อน้ำตาลจะหยาบเป็นเม็ด ๆ และมีสีน้ำเหลืองใสปนอยู่ เมื่อน้ำตาลทิ้งไว้พอแห้งเปลี่ยนสภาพจากเหลวเป็นข้นขึ้นสีเหลืองก็จะใช้เนียนขอดน้ำตาลจากกระทะใส่ปี๊บ แล้วประทับตรายี่ห้อเป็นอันเสร็จ ปัจจุบันนอกจากจะใช้ลวดกระทุ้งน้ำตาลแล้ว ยังมีวัสดุอุปกรณ์อีกประเภทหนึ่งที่ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อช่วยผ่อนแรง ทำงานโดยใช้ไฟฟ้า คือ เครื่องปั่นน้ำตาลที่ทำมาจากเหล็ก

ภูมิปัญญาการรักษาโรคพื้นบ้าน

ในชุมชนมีผู้มีความรู้ในเรื่องการรักษาโดยใช้ยาสมุนไพร คือนายประชุม แผนคู้ อายุ 66 ปี ผู้มีความรู้ในเรื่องตัวยาสมุนไพรที่คนในชุมชนมักมาหาเมื่อเกิดอาการเจ็บป่วย เช่น ฟ้าทะลายโจร ใช้บรรเทาอาการลดไข้ ใบมะกา ใช้ล้างพิษในท้อง หญ้าหนวดแมวหรือพยัคฆ์เมฆ สําหรับล้างไต ว่านน้ำหรือว่านหอยแครง ใช้รักษา อาการร้อนในหรือปวดเมื่อยตามร่างกาย ถ้าเป็นงูสวัด ให้ใช้ใบตําลึง ปูนแดง พิมเสน เกลือสมุทร โขลกให้เข้ากันแล้วนําไปพอกที่แผล หรือโขลกข่ากับน้ำปูนใส แก้ท้องเสีย ปวดท้อง เปลือกแค รักษาแผลในปาก ยอดทับทิม ยอดฝรั่ง 7 ยอด ต้มให้เด็กกินแก้ท้องเสีย เป็นต้น

ภาษาพูด : ภาษาไทยกลาง

ภาษาเขียน : ภาษาไทย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

การใช้ประโยชน์จากต้นมะพร้าว ต้นมะพร้าวเป็นพืชที่ให้ประโยชน์มากมาย ทุกส่วนของต้นมะพร้าวก่อให้เกิดรายได้เป็นเม็ดเงิน รวมถึงยังมีการนำส่วนประกอบต่าง ๆ ของต้นมะพร้าวมาใช้ประโยชน์ ดังนี้

  • ลําต้น นิยมนํามาปลูกบ้าน มีพ่อค้าจากต่างถิ่นเข้ามาหาซื้อลําต้นมะพร้าว เพื่อนําไปแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ไม้ต่าง ๆ ราคาซื้อขายต้นละประมาณ 100 บาท
  • ลูกมะพร้าว จําหน่ายได้ทั้งผลอ่อนและผลแก่ ราคาซื้อขายขึ้นอยู่กับราคาที่เจ้าของสวนเก็บเอง กับราคาที่ผู้ซื้อเป็นคนเก็บ ทั้งสองแบบราคาอยู่ที่ประมาณลูกละ 3-7 บาท
  • เปลือกมะพร้าวหรือกะลามะพร้าว ส่วนใหญ่ชาวบ้านนํามาตากแห้งใช้สำหรับเป็นฟืนเคี่ยวตาล
  • ทางมะพร้าว นำมาเหลาทําไม้กวาดราคากิโลกรัมละ 6 บาท ส่วนใหญ่เป็นอาชีพของผู้สูงอายุในหมู่บ้านหรือผู้ที่มีเวลาว่าง ทางมะพร้าวแห้งนํามาใช้เป็นฟืนเคี่ยวตาล ราคาทางมะพร้าวแห้งจะอยู่ที่ 100 ทาง 60 บาท
  • หัวตะโหงก คือส่วนที่เป็นคอของก้านมะพร้าว นํามาใช้เป็นฟืนเคี่ยวตาล ราคาขายหัวตะโหงกจะอยู่ที่ 100 หัว ราคา 50 บาท

เก็บเรื่องมาเล่าโดยหนุ่มสุทน. (2563). น้ำตาลมะพร้าว แหล่งเรียนรู้ จ.สมุทรสงคราม. สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2566, จาก https://news.trueid.net/

กองวิจัยและพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร. (2565). การทำน้ำตาลมะพร้าว จ.สมุทรสงคราม. สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.gosmartfarmer.com/

จิตรานนท์ นนทเบญจวรรณ. (2551). ภูมิคุ้มกันชุมชนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง: กรณีศึกษาชุมชนผู้ประกอบอาชีพน้ำตาลมะพร้าว บ้านสวนทุ่ง ตำบลคลองเขิน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนาชนบทศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล.

นัย บำรุงเวช. (2565). ท่องเที่ยวเชิงเกษตร บุกแหล่งผลิตน้ำตาลมะพร้าว. สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.technologychaoban.com/

Google Earth. (ม.ป.ป.). สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2566, จาก https://earth.google.com/