Advance search

บ้านฮ่องสังข์

วิถีของชุมชนที่ยังคงทำนามาตั้งแต่อดีต ด้วยระบบการผลิตที่ต้องพึ่งพาธรรมชาติ จึงมีประเพณีเกี่ยวข้องสะท้อนให้เห็นผ่านคติความเชื่อและอำนาจเหนือธรรมชาติ เช่น การทำบุญบั้งไฟ การแห่นางแมว

หมู่ที่ 4
บ้านฮ่องสังข์
ทุ่งกุลา
สุวรรณภูมิ
ร้อยเอ็ด
ปวีณา สุริยา
31 ม.ค. 2023
ปวีณา สุริยา
15 มี.ค. 2023
บ้านฮ่องสังข์


ชุมชนชนบท

วิถีของชุมชนที่ยังคงทำนามาตั้งแต่อดีต ด้วยระบบการผลิตที่ต้องพึ่งพาธรรมชาติ จึงมีประเพณีเกี่ยวข้องสะท้อนให้เห็นผ่านคติความเชื่อและอำนาจเหนือธรรมชาติ เช่น การทำบุญบั้งไฟ การแห่นางแมว

บ้านฮ่องสังข์
หมู่ที่ 4
ทุ่งกุลา
สุวรรณภูมิ
ร้อยเอ็ด
45130
เทศบาลทุ่งกุลา โทร. 0-4303-9835
15.47358
103.8154
เทศบาลตำบลทุ่งกุลา

บ้านฮ่องสังข์มีประวัติการตั้งหมู่บ้านมานาน คือ มีอายุประมาณ 65 ปี ประชาชนทั้งหมดนับถือศาสนาพุทธ ผสมกับความเชื่อเหนือธรรมชาติ มีลักษณะการดำเนินชีวิตเหมือนคนภาคอีสาน การทำนาในอดีตส่วนใหญ่ชาวบ้านจะปลูกข้าวเหนียวไว้เพื่อการบริโภคและมีการปลูกข้าวจ้าวบ้าง กรรมสิทธิ์จากที่นาเกิดจากการจับจองทำประโยชน์ ระบบแรงงงานมีการลงแขก วัฒนธรรมการทำนาเป็นแบบดั้งเดิม

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2519 รัฐบาลเข้ามาสำรวจและมีการวางแผนพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ทั้งหมด  รวมทั้งปฏิรูปที่ดิน ในปี พ.ศ. 2524 ทำให้มีถนน แหล่งน้ำ ไฟฟ้า สะดวกมากขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2529 นายสมชาย ศรีโพธิ์อุ่น ทำนาหว่านโดยศึกษามาจากประสบการณ์ ที่ไปค้าขายในอำเภอสุวรรณภูมิ และทำนาหว่านในที่นาของตนจำนวน 30 ไร่ และทำนาหว่านมาตลอด จนในปี พ.ศ. 2537 มีเกษตรกรในหมู่บ้านให้ความสนใจในการทำนาหว่าน จนถึงปัจจุบันมีเกษตรกรทำนาหว่าน 92 ครัวเรือนในพื้นที่ 1,895 ไร่ เกษตรกรทำนาดำ 22 ครัวเรือน ในพื้นที่ 390 ไร่ และเกษตรกรที่ทั้งนาดำและนาหว่าน 12 ครัวเรือน มีพื้นที่ 211 ไร่

บ้านฮ่องสังข์ หมู่ที่ 4 ตำบลทุ่งกุลา อำเภอสุวรรณภูมิ มีผู้คนอพยพมาจากหลายที่ มาก่อตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นคุ้ม ๆ มีพื้นที่รวมไปถึงหมู่ที่ 3 บ้านสังข์น้อย บ้านสังข์ใหญ่ หมู่ที่ 10 (ปัจจุบัน) ซึ่งปัจจุบันขึ้นกับตำบลทุ่งหลวง ต่อมาบ้านสังข์น้อยหมู่ที่ 12 ตำบลทุ่งหลวงได้ขอแยกจากบ้านฮ่องสังข์หมู่ที่ 4 (ตำบลทุ่งหลวงขณะนั้น)

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2527 ตำบลทุ่งกุลา ขอแยกตัวออกจากตำบลทุ่งหลวง มีการจัดระดับหมู่บ้านใหม่ บ้านสังข์น้อยหมู่ที่ 12 มาเป็นบ้านสังข์น้อยหมู่ที่ 3 หลังจากนั้นปี พ.ศ. 2528 บ้านสังข์ใหญ่ได้ขอแยกออกจากบ้านฮ่องสังข์หมู่ที่ 4 มาเป็นบ้านสังใหญ่ หมู่ที่ 10 ซึ่งแบ่งออกเป็น 6 คุ้ม แต่ละคุ้มอพยพมาจากถิ่นอื่นมาร่วมก่อตั้ง

1. คุ้มยางใหญ่ มีผู้อพยพมาจากถิ่นอื่นร่วมก่อตั้ง ซึ่งก่อตั้งประมาณปี พ.ศ. 2470 ปัจจุบันมี 43 ครัวเรือน

2. คุ้มยางน้อย อพยพมาจากถิ่นอื่น ก่อตั้งประมาณปี พ.ศ. 2470  

3. คุ้มโนนเม็ก ก่อตั้งประมาณปี พ.ศ.2475 ปัจจุบันมี 41 ครัวเรือน

4. คุ้มโนนกลาง ก่อตั้งประมาณปี พ.ศ.2475 พร้อมกับคุ้มโนนเม็ก มีผู้นำในการก่อตั้งคือ นายแดง ซุยน้ำเที่ยง เป็นหัวหน้าคุ้มอพยพมาจากบ้านลิ้นฟ้า อำเภออำนาจเจริญ ปัจจุบันมี 12 ครัวเรือน

5. คุ้มโนนโพธิ์ ก่อตั้งเมื่อปีพ.ศ. 2478 มีผู้นำก่อตั้ง คือ นายจันทรา คาโส ปัจจุบันมี 11 ครัวเรือน

6. โนนหนามแท่ง ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2511 โดยนายคูณ ซุยน้ำเที่ยง เป็นผู้ก่อตั้ง ปัจจุบันมี 6 หลังคาเรือน 

สภาพทั่วไปของทุ่งกุลาร้องไห้ในอดีต เป็นดินแดนที่มีความแห้งแล้งมาก เพราะคุณภาพดินต่ำ เป็นดินทรายจัดที่มีความเค็ม ดินแน่นตัว ขาดแร่ธาตุอาหาร ดินไม่อุ้มน้ำ ฝนทิ้งช่วงในฤดูเพาะปลูก การเกษตรกรรมอาศัยการทำนา พึ่งพาน้ำฝนเพียงอย่างเดียว ลักษณะภูมิประเทศเป็นแอ่งกระทะ มีเนินดินทรายที่ไม่ค่อยมีต้นไม้หญ้าขึ้นเพราะเป็นหญ้าแข็ง ลักษณะเหมือนทุ่งหญ้าสะวันนา ชาวนาส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ขาดที่ดินทำกิน มีการบุกรุกที่ทำกินโดยพละการ ก่อให้เกิดปัญหาการแย่งชิงกรรมสิทธิ์ที่ดิน ต้องเจอกับสภาพแห้งแล้งในฤดูแล้ง น้ำท่วมในฤดูฝน การเพาะปลูกมีผลผลิตต่ำ บริเวณทุ่งกุลาร้องไห้มีแม่น้ำไหลผ่านแค่สายเดียว คือ แม่น้ำมูลและแม่น้ำสายเล็ก ๆ อีก เช่น ลำน้ำเสียว ลำพลับพลา เป็นต้น

บ้านฮ่องสังข์อยู่ห่างจากอำเภอสุวรรณภูมิ ไปทางทิศเหนือประมาณ 25 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อดังนี้

  • ทิศเหนือ จดบ้านโนนม่วง หมู่ที่ 8 ต.ทุ่งกุลา อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด
  • ทิศใต้ จดลำพลับพลา ที่กั้นระหว่างอ.ท่าตูม กับ อ.สุวรรณภูมิ
  • ทิศตะวันออก จดลำน้ำฮ่องแฮ ที่กั้นระหว่างบ้านจานเตยกับบ้านฮ่องสังข์
  • ทิศตะวันตก จดบ้านสังข์ใหญ่ ต.ทุ่งกุลา อ.สุวรรณภูมิ

ภูมิอากาศ ลักษณะอากาศบ้านฮ่องสังข์ เป็นลักษณะอากาศมรสุม อากาศร้อนและแห้งแล้ง ฤดูร้อนจัด ฤดูหนาวอากาศเย็น ลมแรง ลักษณะอากาศแบ่งเป็น 3 ฤดู

ลักษณะดิน ดินของบ้านฮ่องสังข์ส่วนใหญ่เป็นดินทรายปะปนกับดินเค็ม (ดินเกลือ) และเป็นดินที่ขาดธาตุอาหารที่พืชต้องการ จึงทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์น้อย ซึ่งเป็นปัญหาในการเกษตรเป็นอย่างมาก จากการสอบถามชาวบ้าน ได้ข้อสังเกตว่าเดิมเป็นดินดีปลูกพืชได้งอกงามดีมาก ต่อมาชาวบ้านนำปุ๋ยเคมีเข้ามาใช้ ทำให้ดินเสื่อมเป็นดินจืด ถ้าไม่ใส่ปุ๋ยพืชที่ปลูกจะไม่งาม จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยเคมีตลอดมา

แหล่งน้ำ เป็นปัจจัยสำคัญในการเกษตร ในหมู่บ้านฮ่องสังข์มีหนองน้ำขนาดใหญ่อยู่หนึ่งแห่ง ชาวบ้านเรียกชื่อว่า “หนองสังข์หรือฮ่องสังข์” ในอดีตหนองน้ำดังกล่าวใช้เป็นที่ตกกล้าของชาวบ้านฮ่องสังข์ ปัจจุบันใช้เป็นที่สำหรับเก็บน้ำไว้เลี้ยงสัตว์ในฤดูแล้งของชาวบ้าน และยังมีหนองน้ำขนาดย่อยอีก 3 แห่ง ซึ่งหนองน้ำทั้ง 3 แห่ง จะมีน้ำขังตลอดปี แต่ถ้าในปีใดฝนแล้งน้ำก็จะเหลือน้อย ชาวบ้านฮ่องสังข์ได้ใช้ประโยชน์จากหนองน้ำดังกล่าวร่วมกัน ด้านการเกษตรใช้เลี้ยงวัวควาย และเป็นแหล่งน้ำใช้สำหรับอุปโภคบริโภค ปัจจุบันมีชาวบ้านขุดบ่อปลาในที่นาของตน โดยวิธีการจ้างรถขุดในอัตราชั่วโมงละ 800 บาท มีประมาณ 8 – 10 บ่อ ซึ่งบ่อดังกล่าวนอกจากจะเป็นแหล่งผลิตอาหารแล้ว ยังเอื้อประโยชน์ต่อการทำเกษตรกรรมของชาวบ้านอีกด้วย

ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาพของบ้านฮ่องสังข์มีลักษณะตรงกลางสูง ใช้สร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัย บริเวณรอบ ๆ  เป็นที่ลุ่มใช้ในการทำนาและมีที่ดินสาธารณะจำนวน 49 ไร่ ใช้เป็นที่ดินส่วนรวมสำหรับการปลูกหม่อนของชาวบ้านทั้งหมู่บ้าน นอกจากนั้นไม่มีที่ดินส่วนใดที่เป็นโคกเป็นป่าเลย ฉะนั้นทรัพยากรที่เกิดจากป่าจึงไม่มีในบ้านอ่องสังข์ มีเฉพาะต้นไม้ที่เกิดอยู่ในนาจึงสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น ต้นเต็ง ต้นรัง ต้นตะแบก นำมาสร้างบ้านเรือน ต้นจิก ต้นแต้ ต้นพะยอม นำมาทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ ทำฟืน เผาถ่าน และต้นหว้า ต้นสะเดา ต้นมะขาม ใช้เป็นอาหาร  ในด้านของสิ่งแวดล้อมนั้น หมู่บ้านฮ่องสังข์นับว่าเป็นหมู่บ้านที่วางแผนผังบ้านเมืองได้สวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อยอีกหมู่บ้านนึง โดยมีถนนผ่านกลางหมู่บ้าน ทำให้แบ่งหมู่บ้านออกเป็น 2 ส่วน และแบ่งเป็น 6 คุ้ม ด้านทิศใต้จะอยู่ในคุ้มที่ 2 ส่วนหมู่บ้านทางทิศเหนือจะเป็นคุ้มที่ 3 – 5 แต่ละบ้านจะมีรั้วไม้ไผ่อยู่หน้าบ้าน และจะปลูกไม้ผลต่าง ๆ ตลอดจนพืชผักสวนครัว

สถานที่สำคัญในหมู่บ้าน

วัดฮ่องสังข์ ศาสนสถานสำคัญ และยังเป็นสถานที่ทำกิจกรรม ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ทำบุญในวันสำคัญทางประเพณีและวัฒนธรรม ใช้ศึกษาธรรมเป็นสถานที่ฟังเทศนาของพระสงฆ์

บ้านฮ่องสังข์ เป็นหมู่บ้านหนึ่งในตำบลทุ่งกุลา ตั้งอยู่ในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นหมู่บ้านที่มีพื้นที่ทั้งหมดอยู่ในเขตปฎิรูปที่ดิน แบ่งการปกครองออกเป็น 6 คุ้ม มีประชากรทั้งหมด 129 ครัวเรือน มีพื้นที่ในการทำนา 2,496 ไร่  ชาวบ้านทุกครัวเรือนประกอบอาชีพการทำนาและมีที่ดินถือครองเป็นของตัวเอง มีพื้นที่ถือครองมากสุด 70 ไร่ น้อยสุด 3 ไร่ 

ระบบเครือญาติในบ้านฮ่องสังข์ สืบเชื้อสายมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ที่ย้ายมาจากบ้านหัวดง-หนองซำ มาตั้งเป็นบ้านฮ่องสังข์ และผู้คนที่อพยพมาในครั้งนั้นล้วนเป็นญาติพี่น้องกัน เมื่อมาอยู่ที่บ้านฮ่องสังข์จึงมีการแต่งงานขยายครอบครัวออกไป มีลูกหลานเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ลูกหลานเหล่านั้นจึงมีปู่ย่า ตายาย ที่เป็นเชื้อสายเดียวกัน กระทั่งปัจจุบันได้ขยายครอบครัวออกไปเป็นคุ้ม ซึ่งแต่ละคุ้มจะมีความสัมพันธ์โยงใยเป็นญาติพี่น้องกันทั้งหมู่บ้าน และเคารพนับถือญาติผู้ใหญ่เป็นอย่างยิ่ง

ในอดีตชาวฮ่องสังข์มีระบบการผลิตเพื่อการยังชีพ โดยมีอาชีพการทำนาเป็นอาชีพหลัก ส่วนการทำนาทำไร่มีน้อย เพราะสภาพของที่นาส่วนใหญ่เป็นที่ลุ่ม ซึ่ง นายน้อย ชินสอน กล่าวว่า หมู่บ้านฮ่องสังข์ทำนาได้ผลดีกว่าทุก ๆ หมู่บ้าน ในเขตอำเภอสุวรรณภูมิ ในปีที่ฝนแล้งหมู่บ้านอื่นไม่สามารถทำนาได้ แต่บ้านฮ่องสังข์ยังทำนาได้บางส่วน และมักจะมีชาวบ้านอื่นนำของฝากไปแลกข้าวในหมู่บ้านนี้เป็นประจำ ปัจจุบันถึงแม้จะเปลี่ยนแปลงเป็นการผลิตเพื่อการค้า แต่วิถีชีวิตของชาวบ้านฮ่องสังข์ก็ยังสามารถพึ่งตนเองในสังคมได้ เพราะชาวบ้านนอกจากจะมีอาชีพการทำนาเป็นหลักแล้ว ชาวบ้านยังปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ เพื่อการบริโภคในครัวเรือน และนอกจากนั้นชาวบ้านยังมีอาชีพเลี้ยงไหมเป็นอาชีพรอง มีการขายเส้นไหม ใบหม่อน และผ้าไหม โดยมีสำนักงานเกษตรอำเภอสุวรรณภูมิ เข้าไปส่งเสริมด้านวิชาการการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ลักษณะของการจัดอบรมเกษตรกร ผู้ปลูกหม่อน เลี้ยงไหมของบ้านฮ่องสังข์ เมื่อวันที่ 26-28 มกราคม พ.ศ. 2531 เริ่มตั้งแต่การเตรียมสถานที่เลี้ยงไหม การบำรุงรักษาตัวไหม โรคต่าง ๆ และการป้องกัน ตลอดจนกรรมวิธีในการย้อมสีไหม ด้านการปลูกต้นหม่อน นอกจากจะอบรมเกษตรกรให้ทราบถึงการเตรียมดิน วิธีการปลูกและการดูแลรักษาพันธุ์หม่อนแล้ว  ยังได้นำพันธุ์หม่อนน้อย ซึ่งเป็นหม่อนพันธุ์ดีใบใหญ่ และสามารถทนต่อสภาพความแห้งแล้งได้ดี เข้าไปส่งเสริมให้ชาวบ้านฮ่องสังข์ปลูกในที่ดินสาธารณะ จำนวน 49 ไร่ โดยได้แบ่งที่ดินให้แต่ละครอบครัวเข้าไปปลูก ครอบครัวละ 4 แปลง ปัจจุบันต้นหม่อนในแปลงเติบโตเต็มที่ ชาวบ้านได้เก็บใบหม่อนไปเลี้ยงตัวไหม ทำให้บางครอบครัวที่ไม่เคยเลี้ยงไหม หันมาเลี้ยงไหมกันเกือบทุกครัวเรือน เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2531 ชาวบ้านตัดต้นหม่อน เพื่อให้ต้นหม่อนแตกใบ ชาวบ้านนำกิ่งหม่อนในส่วนที่ตัดขยายพันธุ์ในที่ดินส่วนอื่น ๆ และได้แบ่งปันกิ่งหม่อนให้กับชาวบ้านในหมู่บ้านใกล้เคียงไปขยายพันธุ์ต่อไป สำหรับอาชีพชาวบ้านฮ่องสังข์มีดังต่อไปนี้

การทำนา ชาวบ้านฮ่องสังข์ทุกครัวเรือนจะประกอบอาชีพการทำนา และมีที่ดินถือครองเป็นของตนเอง โดยพื้นที่ถือครองมากที่สุด 70 ไร่ และน้อยที่สุด 3 ไร่ ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะปลูกข้าวเหนียวเพื่อการบริโภคและการปลูกข้าวจ้าวเอาไว้ขาย โดยให้เหตุผลว่า ข้าวจ้าวมีราคาแพง เจริญเติบโตเร็ว เวลาดำนาจะแตกกอได้ดีกว่าข้าวเหนียว ใบและรวงจะยาว ที่สำคัญจะได้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่าข้าวเหนียว ดังนั้นจึงขายข้าวเจ้าทั้งหมดในราคากิโลกรัมละ 4.50 บาท และไปซื้อข้าวเหนียวจากเพื่อนบ้านในราคากิโลกรัมละ 4 บาท เอามาใส่เล้าไว้กิน ซึ่งการปลูกข้าวเจ้าได้กำไรดีกว่าการปลูกข้าวเหนียว ในระยะ 2 ปีที่ผ่านมาเกิดภาวะฝนแล้งติดต่อกัน แต่ชาวบ้านฮ่องสังข์คงได้ทำนาในบางส่วน ขณะที่หมู่บ้านอื่นไม่ได้ทำนาเลย ชาวบ้านจึงเก็บข้าวไว้เพื่อการบริโภคทั้งหมด ปัจจุบันชาวบ้านฮ่องสังข์ยังมีข้าวอยู่ในเล้ากันเกือบทุกครัวเรือน จะมี 8-10 ครอบครัว เท่านั้นที่ต้องซื้อข้าวกินในราคาถังละ 100-150 บาท ในด้านพื้นที่ที่ใช้ในการทำนาของบ้านฮ่องสังข์มีทั้งหมด 2,300 ไร่ ได้ผลผลิตเฉลี่ย 290 กิโลกรัม/ไร่ ส่วนพันธุ์ข้าวที่ใช้ปลูกคือ พันธุ์ กข.6 และข้าวเจ้าหอมดอกมะลิ 105 ซึ่งจากการเข้าไปศึกษาการทำนาของชาวบ้านฮ่องสังข์ ในปี พ.ศ. 2543 พบว่าชาวนาบ้านฮ่องสังข์ทำนาได้ผลผลิตโดยเฉลี่ย 20 ถัง/ไร่ หรือประมาณ 300 กิโลกรัม/ไร่

แรงงานที่ใช้ในการทำนาจะเป็นแรงงานในครอบครัวส่วนใหญ่ ไม่นิยมการจ้าง แต่นิยมการลงแขก ถึงแม้หลายหมู่บ้านจะเห็นว่าการลงแขกจะทำให้เสียค่าใช้จ่ายสูงกว่าการจ้าง แต่การลงแขกของหมู่บ้านฮ่องสังข์เป็นการช่วยกันทำงานจริง ๆ ได้งานอย่างคุ้มค่าทั้งในเรื่องของอาหาร การเลี้ยงดู มีการใช้งานควายเป็นหลัก ทั้งหมู่บ้านมีควาย 152 ตัว และผู้ที่ไม่มีควายไถนา 25 ครอบครัว ต้องเช่าควายจากคนอื่นมา โดยเสียค่าเช่าเป็นข้าวปีละ 50 – 70 ถัง แต่ถ้าปีใดฝนแล้งการทำนาได้ผลไม่เต็มที่ก็จะตกลงราคาค่าเช่ากันเป็นปี ๆ ไปตามความเหมาะสม และหลังจากไถนาปักดำข้าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว หลายครอบครัวจะขายควายให้กับพ่อค้า ซึ่งพ่อค้าจะนำไปขายที่ตลาดนัดโคกระบืออีกต่อหนึ่ง เพราะบ้านฮ่องสังข์ขาดสถานที่เลี้ยงวัวควาย  ซึ่งบริเวณรอบ ๆ บ้านเป็นที่ทำนาทั้งหมดจนมีคำกล่าวว่า “บ้านฮ่องสังข์ไม่มีแม้ที่จะเก็บเห็ด” หมายถึง ไม่มีที่ดินที่เป็นป่าโคก และชาวบ้านจะรีบซื้อควายก่อนจะถึงฤดูกาลทำนา ทัศนะที่ว่า “อย่าซื้อควายหน้านา อย่าซื้อผ้าหน้าหนาว” ชาวบ้านยังใช้อยู่

กิจการโรงสีในหมู่บ้านฮ่องสังข์มี 5 แห่ง แต่ปัจจุบันได้หยุดกิจการไป 1 แห่ง คงเหลือ 4 แห่ง ในการสีข้าว เจ้าของโรงสีคิดค่าทุนเป็นรำและปลายข้าว บางครั้งเจ้าของโรงสีต้องไปรับข้าวจากชาวนาและนำไปส่งถึงบ้าน เพราะไม่ค่อยได้สีข้าวจึงต้องใช้วิธีการดังกล่าว ส่วนราคาปลายข้าวปี๊บละ 30 บาท และรำข้าวปี๊บละ 10 บาท ซึ่งเจ้าของโรงสีทุกโรงจะประกอบการเลี้ยงหมูประมาณ 5-20 ตัว โดยจะใช้รำและปลายข้าวจากโรงสีของตน ส่วนที่เหลือก็จะขายให้กับชาวบ้านที่เลี้ยงหมู หมูที่นิยมเลี้ยงมักจะเป็นพันธุ์ลาสไวท์ และพันธุ์พื้นเมือง (หมูไทยน้อย) ซึ่งเป็นหมูตัวเล็กสีดำ หลังแอ่นมีลักษณะพิเศษ คือ เลี้ยงง่าย ปล่อยหากินตามธรรมชาติ 

การทำนา เมื่อถึงเดือนหก (เดือนพฤษภาคม) เป็นช่วงของหน้าฝน ชาวไร่ชาวนาจะเข้าป่าหาไม้มาทำคันไถและแอก พร้อมใบไถ เพราะแต่ก่อนต้องเอาไม้มาทำคันไถเอง ไม่มีใบไถเหล็กเหมือนในปัจจุบัน มีการเตรียมใบไถไว้ 2 อัน อันแรกไว้ไถตะกล้า (แปลงนาเล็กๆที่เตรียมไว้เพาะกล้าข้าว) พอถึงปลายเดือนหก ต้นเดือนเจ็ด (เดือนมิถุนายน) ก็เริ่มเพาะกล้ากัน เมื่อเพาะกล้าได้พอแล้ว ก็เริ่มไถดะเพื่อกลบหญ้าหรือเศษวัสดุไว้ พอต้นกล้าอายุประมาณ 1 เดือนเศษก็ถอนมาปักดำ  เอาไม้ไผ่เหลากลมประมาณเท่านิ้วมือ ยาวประมาณ 40-50 เซนติเมตร แล้วจัดให้เหมือนดอกไม้ประดิษฐ์ ความหมายคือทำลักษณะรวงข้าว แล้วเอาขันตอก ดอกไม้ หากพลูบุหรี่ ของหวาน หรือเหล้าไหไก่ต้มตามครอบครัวไหนจะนับถือ นำไปไว้มุมใดมุมหนึ่งของแปลงนา แล้วเอามือล้วงเอาดินโคลนพอหมาด ๆ มากองไว้ทำให้เรียบ เอาไม้ไผ่ที่จักทำเป็นรวงข้าวปักลง 4 มุมแล้วจุดธูป 1 ดอก เทียน 1 เล่ม เอาหมากพลู บุหรี่ พร้อมขันตอกดอกไม้ ไข่ต้มและของหวาน ที่เตรียมมาใส่ลงกลางสี่เหลี่ยมแล้วบนบานแม่โพสพให้มาเสวยข้าวปลาอาหารที่เตรียมมา แล้วกล่าวว่า “ปีนี้ลูกหลานจะลงไร่ลงนา ขอให้ได้ข้าวงามได้ผลเต็มยุ้งฉาง ขออย่าได้มีหนอน มีแมง ตลอดจนนก หนู ปู มาจิกตอดรวงข้าวของข้าน้อยเถิด” เมื่อกล่าวจบก็รินน้ำเปล่าลงแม่ธรณี ให้ล้างมือแล้วฝากฝังให้ดูแลข้าวกล้าในนาด้วย แล้วนำต้นกล้าที่เตรียมมาปักเจ็ดปัก แต่ละปักก็ว่าชื่อวันนับตั้งแต่วันอาทิตย์ถึงวันเสาร์ หลังจากนั้นก็ถอนกล้าไปปักดำ

ในการปักดำตามปกติพ่อบ้านจะลุกขึ้นแต่เช้าไปดำนา เหลือไว้แต่แม่บ้านเป็นคนทำอาหารส่งข้าวส่งน้ำทำไปทุกวันจนกว่าจะเสร็จ ผู้มีนามากก็จ้างคนไปช่วยดำนาจ่ายค่าแรงวันละ 13 บาท ห่อข้าวไปกินเอง เมื่อดำเสร็จก็ปล่อยไว้ ไม่ใส่ปุ๋ย เพราะแต่ก่อนไม่มีปุ๋ยเคมีเหมือนเช่นทุกวันนี้ ส่วนพันธุ์ข้าวที่ใช้ปักดำก็มีข้าวเหนียวพันธุ์ ป้อแอ้ว ข้าวหมากขาม ข้าวอีตอเลาะ ข้าวสามเดือน ข้าวจ้าวมีพันธุ์กลาง คือ ข้าวบักหม่วย ข้าวขี้ตมน้อย ข้าวขี้ตมใหญ่ ส่วนพันธุ์ข้าวหนัก คือ ข้าวพม่าน้อย ข้าวพม่าใหญ่ ข้าวพวง ล้วนเป็นข้าวเม็ดเล็ก ทุกวันนี้จะเรียกว่า ข้าวรวม

ในอดีตการเก็บเกี่ยวข้าวเป็นกิจกรรมที่ต่อเนื่องมาจากการดำนา พอดำนาเสร็จก็จะเกี่ยวข้าวดอพอดี ก่อนจะลงมือเกี่ยวชาวนาจะมีพิธีกรรมแฮกเกี่ยว ซึ่งได้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ แรงงานในการเก็บเกี่ยวข้าวในอดีตจะใช้แรงงานในครอบครัว และการช่วยเหลือจากญาติพี่น้องในรูปของการลงแขก ส่วนในปัจจุบันกิจกรรมการลงแขกมีน้อยมาก ขณะที่ว่าจ้างแรงงานในการเก็บเกี่ยวกำลังได้รับความนิยมในการบริโภคและการค้าข้าว

คติ ความเชื่อ และพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำนา การทำนาของชาวอีสานเป็นระบบการผลิตที่ต้องพึ่งพาธรรมชาติ ชาวนาไม่สามารถควบคุมสภาพธรรมชาติให้สมดุลได้ จึงมีพิธีกรรมเกี่ยวกับการผลิตมากมาย เช่น การทำบุญบั้งไฟ การแห่นางแมว การเต้าเซียงข้อง พิธีกรรมต่าง ๆ เหล่านั้นสะท้อนให้เห็นถึงคติความเชื่อในเรื่องของผีและอำนาจเหนือธรรมชาติ ซึ่งคติความเชื่อเหล่านั้น นอกจากจะก่อให้เกิดกำลังใจในการประกอบอาชีพการทำงานแล้ว ยังเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวไม่ให้ชาวบ้านประพฤติผิดจารีตประเพณีอีกด้วย คติความเชื่อเรื่องข้าวและพิธีกรรมเกี่ยวกับการทำนาของชาวบ้านฮ่องสังข์ มีดังนี้

1. แม่โภสพ ชาวบ้านฮ่องสังข์เชื่อว่าพระแม่โภสพเป็นเทพีแห่งข้าว มีหน้าที่เป็นผู้รักษาต้นข้าว สามารถดลบันดาลให้ข้าวได้ผลดีหรือไม่ได้ผลก็ได้ เมื่อมีเหตุเภทภัยเกิดขึ้นกับข้าว จะต้องบอกกล่าวต่อแม่โภสพ เพื่อขจัดปัดเป่าให้หมดสิ้นไป เมื่อเสร็จจากการทำนาและขนข้าวขึ้นเล้าแล้ว ชาวบ้านจะประกอบพิธีสู่ขวัญข้าวเพื่อเป็นการเรียกขวัญ ปลอบขวัญ และระลึกถึงบุญคุณของแม่โภสพ

2. พญาแถน เป็นผู้สร้างสรรพสิ่งในโลก และเป็นเทพเจ้าแห่งฝน (พระพิรุณ) ดังนั้นชาวอีสานจึงมีฝนตกตามฤดูกาล ชาวนาได้ทำนาปลูกข้าวอย่างเต็มที่ ไม่อดอยาก ในส่วนประเพณีการทำบุญบั้งไฟของชาวบ้านฮ่องสังข์ไม่ได้ทำพิธีในหมู่บ้านของตน แต่ได้เข้าร่วมประเพณีกับอำเภอสุวรรณภูมิ ซึ่งจัดเป็นบางปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภาวะการทำนาของชาวบ้าน ถ้าปีใดฝนดีชาวบ้านได้ทำนาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยก็จะจัดประเพณีดังกล่าว แต่ถ้าปีใดฝนแล้งก็จะงดไว้เพื่อจัดในปีต่อ ๆ ไป

3. ผีตาแฮก ชาวนาบ้านฮ่องสังข์ร้อยละ 98 เชื่อว่า “ผีตาแฮก” เป็นผีที่บทบาทต่อความเจริญงอกงามของข้าว โดยมีอำนาจในการที่จะบันดาลให้ข้าวกล้าในนาอุดมสมบูรณ์ และยังมีหน้าที่ในการรักษาท้องนาอีก ก่อนที่จะลงมือทำนาทุกปี ชาวนาจะประกอบพิธีเลี้ยงตาแอก และหลังจากเสร็จสิ้นการทำนาก็จะทำพิธีปลงพาหวาน โดยถือคติว่า “ขึ้นปลง ลงเลี้ยง” หรือแม้แต่ในบุญข้าวสาก (เดือน10) ชาวบ้านจะทำบุญข้าวสากที่วัด และนำข้าวสากไปเลี้ยงผีตาแฮกในบริเวณที่นาของตน แต่จะมีชาวนาอีกร้อยละ 42 ที่เรียนธรรม จะไม่เชื่อถือเรื่องผีตาแฮก เมื่อถึงเวลาทำนาก็จะลงมือทำนาทันทีไม่ถือฤกษ์ยามและเคล็ดลับต่างๆ

4. ผีบรรพบุรุษ ชาวนาบ้านฮ่องสังข์ร้อยละ 98 เชื่อในเรื่องของผีบรรพบุรุษ โดยมีความเชื่อว่า เมื่อบรรพบุรุษตายไปแล้วยังท่องเที่ยวดูแลทุกข์สุขและคุ้มครองบ้านเรือนให้แก่ลูกหลานในด้านการทำนาผีบรรพบุรุษจะช่วยดลบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ปกป้องดูแลต้นข้าวให้เจริญงอกงาม ชาวนาบ้านฮ่องสังข์ร้อยละ 96 มีประเพณีเซ่นไหว้ผีเรือน มีการทำบุญประเพณี เช่น การทำบุญข้าวประดับดินในเดือน 9 ทำบุญข้าวสากในเดือน 10 เพื่อทำบุญกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปยังวิญญาณของบรรพบุรุษ มีความเชื่อว่า “ครั้นบ่ไปทำบุญ พ่อแม่บ่ได้กิน บ่เห็นลูกหลานทำบุญไปให้ พ่อแม่จะร้องไห้”

นอกจากนี้ภายในชุมชนยังมีประเพณีวัฒนธรรมความเชื่ออื่น ๆ 

- ประเพณีฟังเทศน์มหาชาติ กำหนดเดือน 3-6 ของทุกปี ปัจจุบันและในอดีตก็ทำพิธีเหมือนกัน แตกต่างกันที่พระที่เทศน์พระเวสในอดีตจะเทศน์ในแผ่นใบลาน ตัวหนังสือลาว ปัจจุบันเทศน์ในหนังสือทำเป็นเล่มอ่านเป็นกัณฑ์เทศน์ให้จบวันเดียว

- ประเพณีก่อพระเจดีย์ทราย จุดบั้งไฟถวายเจ้าพ่อปากพลับพลา กำหนดเดือน 6 ของทุกปี ในอดีต วัดทำวัด หมู่บ้านทุกหมู่บ้านในตำบลทุ่งกุลา เมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 จะมารวมกันที่หาดทรายปากพลับพลา ไหลตกแม่น้ำมูลเพื่อก่อเจดีย์ทราย ถวายภัตราหารเพลแด่พระภิกษุสงฆ์ จากนั้นก็ทำพิธีบวงสรวงเจ้าพ่อปากพลับพลา เพื่อขอพรให้อยู่ดี กินดี มีความสุขหลังจากนั้นก็จุดบั้งไฟถวายเจ้าพ่อเพื่อขอฝนให้ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล ปัจจุบันหรืออดีตก็ไม่แตกต่างกัน ซึ่งในหมู่บ้านมีความเชื่อว่าการทำบุญ ต้องได้บุญ การทำบุญคือบริจาคทาน และเชื่อในเรื่องของโชควาสนา จะดีหรือชั่ว อยู่ที่โชควาสนา 

  • นายน้อย ชินสอน  ผู้ใหญ่บ้าน มีหน้าที่ปกครองหมู่บ้านดูแลราษฎรภายในหมู่บ้าน
  • นายสมศรี คิดหนองสรวง  ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน
  • นายคำพันธ์ ซอยน้ำเที่ยง  ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน
  • นายณรงค์ บัวลอย  ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน
  • นายทองล้วน ลำไย  ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน
  • นายประเสริฐ ทอนศรี  สมาชิก อบต.
  • นายวสันต์ พุฒมี  สมาชิก อบต. 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนใช้ภาษาไทยเป็นหลัก

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

บุษกร สำโรง. (2546). การปรับเปลี่ยนวัฒนธรมการทำนาข้าวในเขตปฏิรูปที่ดินทุ่งกุลาร้องไห้ : ศึกษากรณีบ้านฮ่องสังข์ ตำบลทุ่งกุลา อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด. ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.