Advance search

บ้านสาวะถี

หมู่บ้านหมอลำที่มีชื่อเสียงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีสิมหรืออุโบสถโบราณและมีฮูปแต้มเรื่องสินไชยและกลายเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดขอนแก่นในปัจจุบัน

หมู่ที่ 21
สาวะถี
สาวะถี
เมืองขอนแก่น
ขอนแก่น
วุฒิกร กะตะสีลา
3 ก.ค. 2023
วุฒิกร กะตะสีลา
7 ก.ค. 2023
วุฒิกร กะตะสีลา
19 ก.ค. 2023
บ้านสาวะถี

ชุมชนบ้านสาวะถี เป็นชุมชนโบราณเมื่อครั้งแรกตั้งชุมชนมีการตั้งวัดในชุมชนทั้งหมด 3 แห่ง และมีสระน้ำในวัดเป็นจำนวนมาก จึงเป็นคำเรียกในภาษาอีสานในช่วงตั้งหมู่บ้านว่า “บ้านสาวัดถี่” ความหมายคือมีสระน้ำในวัดจำนวนมากตั้งอยู่ติดกันหรือถี่ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2490 ญาคูเปลี่ยน จิตปัญญโญ เจ้าคณะตำบลได้เปลี่ยนจากคำว่า สาวัดถี่ เป็น “สาวะถี” ตามชื่อของทางราชการและถูกเรียกและเขียนมาจนถึงปัจจุบัน


ชุมชนชนบท

หมู่บ้านหมอลำที่มีชื่อเสียงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีสิมหรืออุโบสถโบราณและมีฮูปแต้มเรื่องสินไชยและกลายเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดขอนแก่นในปัจจุบัน

สาวะถี
หมู่ที่ 21
สาวะถี
เมืองขอนแก่น
ขอนแก่น
40000
ชุมชนสาวะถี โทร. 08-9669-3921
16.5139461
102.6909913
เทศบาลตำบลสาวะถี

เมื่อประมาณ 200ปี มาแล้วกลุ่มคนจากบ้านทุ่ม มีปู่คนิง ปู่คำจ้ำโง้งและปู่มุกดาหาร ได้พากันมาไล่ช้างบริเวณโคกเหล่าพระเจ้า ในพื้นที่โคกเหล่าพระเจ้าปรากฏพระพุทธรูปเก่าองค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ปัจจุบันมีพื้นที่นาล้อมรอบเหลือเป็นป่าโคกประมาณ 20 ไร่ พื้นที่โคกเหล่าพระเจ้าตั้งอยู่บริเวณทางทิศใต้ของหมู่บ้านสาวะถีห่างจากหมู่บ้านประมาณ 5-6 เส้น ขณะนั้นปู่ทั้งสามได้เลี้ยงช้างอยู่บริเวณใกล้ ๆ เหล่าพระเจ้า ช้างที่เลี้ยงเกิดตกมันวิ่งเตลิดเข้าป่าใหญ่ ทั้งสามจึงวิ่งไล่หาช้างจนเหน็ดเหนื่อย ที่สุดก็ได้พบช้างยืนอยู่กลางเนินดินกว้างใหญ่มีป่าไม้สูงทึบจึงเดินเข้าไปจับช้างปรากฏว่าช้างไม่มีท่าทีตกมันหรืออาละวาดเป็นที่น่าอัศจรรย์ จากนั้นได้พากันขึ้นขี่ช้างแล้วเดินอยู่รอบ ๆ โนนดินและเห็นว่าพื้นที่แห่งนี้มีทำเลที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การตั้งรกรากอยู่อาศัย จึงได้ชวนพี่น้องจากบ้านทุ่ม (บ้านถ่ม) มาอยู่อาศัยบริเวณโนนเมือง จึงเชื่อกันว่าชุมชนแห่งนี้มีประวัติมาอย่างยาวนาน โดยพื้นที่ปรากฏลำห้วยล้อมรอบและห่างจากโนนเมืองเพียง 5 กิโลเมตร เป็นพื้นที่ลุ่ม ต้นน้ำของลำห้วยมาจากทางทิศตะวันตกของโนนเมือง (สันเทือกเขาภูพานคำและที่ราบสูงป่าสาวะถี) พบหลักฐานหลายอย่างที่เชื่อว่าพื้นที่แห่งนี้เป็นชุมชนโบราณที่มีผู้คนตั้งรกรากมาก่อน เช่น เครื่องปั้นดินเผา หม้อไหเศษอิฐเผา พบว่ารอบนอกของลำห้วยที่ล้อมรอบโนนเมืองมีร่องรอยของวัดร้างอยู่ 2 แห่งคือ ทางทิศตะวันตกของโนนเมืองมีที่ดอนเป็นป่าชาวบ้านเรียกว่าดอนอุ่มบักป้อม พบเศษอิฐและใบเสมา 8 คู่ มีเนินสูงอยู่ตรงกลางพื้นที่ประมาณ 2 ไร่ อีกแห่งหนึ่งพบที่บริเวณทางทิศตะวันออกของโนนเมืองพบว่ามีร่องรอยสระน้ำอยู่มาก ได้แก่ หนองสา สาหนองยูง สาหนองไข่ผำ สาหนองแกน้อย สาหนองแกใหญ่ สาหนองส้มฮง สาหนองเผือก สาหนองยาง การตั้งถิ่นฐานของชุมชนบ้านสาวะถีเป็นการตั้งถิ่นฐานบนชุมชนโบราณที่มีผู้คนเคยอาศัยอยู่มาก่อนหน้าแล้วถูกทิ้งร้างไป จึงมีกลุ่มคนจากบ้านทุ่ม(บ้านถ่ม) เดินทางมาเลี้ยงช้างและพบพื้นที่ดังกล่าวจึงได้ชักชวนกลุ่มเครือญาติมาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ดังกล่าว 

พื้นที่ชุมชนบ้านสาวะถีเป็นพื้นที่ราบลุ่มมีลำห้วยติดกับชุมชน เป็นชุมชนโบราณที่มีผู้คนอาศัยทับซ้อนบนพื้นที่จนปัจจุบัน การตั้งบ้านเรือนในอดีตเป็นการตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นคุ้มตามเครือญาติและขยายตัวหนาขึ้นเรื่อย ๆ 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
  • เดือนอ้าย : บุญข้าวกรรม
  • เดือนยี่ : บุญคูนลาน
  • เดือนสาม : บุญข้าวจี่
  • เดือนสี่ : บุญเผวส
  • เดือนห้า : บุญสงกรานต์
  • เดือนหก : บุญบั้งไฟ
  • เดือนเจ็ด : บุญชำฮะ
  • เดือนแปด : บุญเข้าพรรษา
  • เดือนเก้า : บุญข้าวประดับดิน
  • เดือนสิบ : บุญข้าวสาก
  • เดือนสิบเอ็ด : บุญออกพรรษา
  • เดือนสิบสอง : บุญกฐิน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

หมู่บ้านหมอลำบ้านสาวะถี

สาวะถีได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้านหมอลำของจังหวัดขอนแก่น เพราะมีหมอลำและคณะหมอลำเกิดขึ้นที่นี่หลายคนหลายคณะ มีพ่อครูแม่ครูหมอลำที่ได้ชื่อว่าเป็นรากฐานของหมอลำพื้นเมืองขอนแก่นหลายท่าน อาทิ หมอลำแซ่ง นามคันที คณะแสงอรุณศิลป์ หมอลำประสงค์ เหล่าหา คณะประสงค์ศิลป์ หมอลำปัน (ไม่ทราบนามสกุล) หมอลำบัว คำมี (แก้ววิเศษ) คณะบัวแก้ววิเศษและมีรุ่นลูกศิษย์ เช่น หมอลำสมจิตร ศรีกวนชา หมอลำคำนาง เจ็กมา รวมถึงหมอลำระเบียบ ดวงจันทร์ พลล้ำ ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาคณะหมอลำ “ระเบียบวาทะศิลป์” ให้กลายเป็นคณะหมอลำที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในยุคนี้ ซึ่งมีรากฐานมาจากสังคมวัฒนธรรมที่เข้มแข็งของชุมชนบ้านสาวะถี

หมอลำบ้านสาวะถียุคแรกเป็นหมอลำพื้น ลำคนเดียวแต่แสดงหลายบทบาทตามท้องเรื่องนิทานที่นำมาลำ ลำประกอบแคน รูปแบบการนำเสนอที่เรียบง่ายคล้ายการเล่านิทาน ต่างแต่มีเสียงแคนประกอบและการแสดงท่าทางประกอบ มาระยะหลังจึงเริ่มมีผู้แสดงมากขึ้นเป็น 2-7 คน มีทั้งผู้หญิงผู้ชายเล่นเป็นตัวละครตามบทบาทของเนื้อเรื่อง เมื่อความนิยมของหมอลำกลอนเพิ่มขึ้นหมอลำพื้นจึงซบเซาอยู่ระยะหนึ่งและจึงพัฒนามาเป็นหมอลำหมู่ซึ่งมีผู้แสดง 9 คน เรียกว่าหมอลำเก้า และเพิ่มจำนวนผู้แสดงมากขึ้นมีดนตรีประกอบมากขึ้นเรียกว่า “หมอลำเรื่องต่อกลอน” และพัฒนามาเป็นคณะหมอลำเรื่องต่อกลอนอินคอนเสิร์ต อย่างหมอลำคณะระเบียบวาทศิลป์ที่ก้าวขึ้นมาเป็นหมอลำที่ได้รับความนิยมสูงสุดในปัจจุบัน ซึ่งเป็นหมอลำประยุกต์เพื่อสนองความนิยมตามยุคสมัย (ข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดไชยศรี)

สิมและภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดไชยศรี

วัดไชยศรีมีสิมและจิตรกรรมฝาผนังที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมา รูปแบบดังเดิมเป็นสิมทึบพื้นบ้านอีสาน จัดเป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอีสานที่สร้างขึ้นในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 25 มีความโดนเด่นเชิงช่าง 2 ประการคือ

1. สถาปัตยกรรม เป็นสิมทึบที่สร้างขึ้นภายใต้อิทธิพลช่างญวณ ตัวอาคารก่ออิฐถือปูนอยู่ในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 3 ห้อง ตั้งอยู่บนฐานสูง มีมุขยื่นออกมาด้านหน้า เดิมมุงหลังคาด้วยแผ่นไม้เรียกว่า “แป้นเกล็ด” มีบันไดทางขึ้นเฉพาะด้านหน้า ราวบันไดทำเป็นรูปม้าก่ออิฐฉาบปูน ผนังด้านหน้าเจาะช่องหน้าต่างจริงเฉพาะช่องกลาง พื้นที่อาคารด้านนอกต่อหลังพาไลยื่นออกมาและมีรั่วระแนงไม้ประดับด้วยแผ่นไม้แกะสลักเป็นรูปม้าล้อมรอบ สิมหลังนี้ควบคุมการสร้างโดยหลวงปู่อ่อนสาซึ่งเป็นเจ้าอาวาสในขณะนั้น ภายหลังมีการเปลี่ยนทรงของหลังคา รื้อม้าประดับราวบันไดและรั้วระแนงไม้ออก และวจึงก่อกำแพงแก้วเพิ่ม

2. จิตรกรรมฝาผนัง หรือ “ฮูปแต้ม” วาดเต็มพื้นทั้งผนังด้านนอกและด้านในของอาคารด้วยเทคนิคการใช้สีขาวทารองพื้นก่อรร่างภาพ ระบายด้วยสีฝุ่นวรรณะเย็น ได้แก่ คราม เหลือง ขาว เขียว น้ำตาลและดำ เนื้อเรื่องส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับวรรณกรรมลุ่มแม่น้ำโขงเรื่อง “สังข์ศิลป์ชัย” หรือที่ชาวอีสานเรียกว่า “สินไซ” ความโดดเด่นของฮูปแต้มที่วัดไชยศรี คือ มีการแสดงเนื้อหาเรื่องสินไซที่ครบถ้วนสมบูรณ์มากที่สุดที่ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน ถึงแม้จะมีการลำดับภาพและเรื่องราวที่ไม่ต่อเนื่องกันแต่ช่างได้ใช้กลวิธีการบรรยายภาพด้วยตัวอักษรไทยน้อยประกอบ สันนิษฐานว่าหลวงปู่อ่อนสาได้ศึกษาเรื่องราวจากหนังสือผูกใบลานแล้วจึงกำหนดตำแหน่งของภาพที่จะวาดลงบนผนัง ส่วนจิตรกรหรือช่างแต้มนั้นเป็นชาวอำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคามนำโดยนายทอง ทิพย์ชาและคณะ นอกจากเรื่องสินไซแล้วที่ผนังด้านนอกยังวาดภาพพระพุทธรูปประทับนั่งเหนือซุ้มหน้าต่าง มีภาพนรกภูมิผนังด้านหน้า ส่วนผนังด้านในมีการวาดภาพแต่ละด้านดังนี้

  • ทิศใต้ เป็นฉากการสู้รบระหว่างสินไซกับกองทัพของยักษ์กุมภัณฑ์
  • ทิศเหนือ เป็นการสู้รบระหว่างสินไซกับกองทัพของวรุณนาค
  • ทิศตะวันตก เป็นภาพม้วนชาดก (สรุป) เพื่อเฉลยว่าตัวละครแต่ละตัวได้มาเกิดเป็นบุคคลใดในสมัยพุทธกาล เช่น สินไซคือพระพุทธเจ้า ยักษ์กุมภัณฑ์คือพระโมคคัลลานะ สังข์ทองคือพระสารีบุตร สีโหคือพระอานนท์ นางสุมณฑาคือนางวิสาขาเป็นต้น
  • ทิศตะวันออก ตำแหน่งเหนือประตูทางขวาวาดภาพยักษ์กุมภัณฑ์ไปสู่ขอนางสุมณฑาซึ่งเป็นตอนจบของเรื่องราวทั้งหมด (ข้อมูลจากสำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น)

ใช้ภาษาอีสานในการสื่อสารและใช้ภาษาไทยเป็นภาษาราชการ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กบฏผู้มีบุญ “โสภา พลตรี” แห่งบ้านสาวะถี

หมอลำโสภา (โสภา พลตรี) เกิดเมื่อ ปี พ.ศ. 2425 ที่บ้านโนนรัง ตำบลสาวะถี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โสภา พลตรี เป็นลูกชาวนาเรียนหนังสือจากวัด สามารถอ่านตัวธรรม ตัวขอมได้ เป็นคนที่มีความจำเป็นเลิศสามารถจดจำพระธรรมคัมภีร์ต่าง ๆ ได้มาก รวมทั้งรู้พิธีกรรมบวงสรวงต่าง ๆ รวมทั้งเป็นหมอลำที่มีชื่อเสียงในพื้นที่ตำบลสาวะถี มีความสามารถในการสั่งสอนหรือปลุกระดมผู้คนและปราศรัย หมอลำโสภา พลตรี มีการปราศรัยต่อต้านนโยบายของรัฐประการที่ 1 ที่บังคับให้ทุกคนต้องเรียนในโรงเรียนประชาบาลและต้องเรียนหนังสือไทยซึ่งหมอลำโสภาต่อต้านและอยากให้เรียนแบบเก่าในวัดและเรียนอักษรธรรมอีสาน ทั้งนี้หมอลำโสภาไม่ให้ลูกเข้าเรียนในโรงเรียนบ้านสาวะถีและสอนหนังสือด้วยตนเองอีกทั้งยังมีลูกศิษย์ลูกหาที่มีแนวคิดดังกล่าวเข้าร่วมด้วย หมอลำโสภาต่อต้านเรื่องการเรียนแบบใหม่จนเกือบมีเรื่องชกต่อยกับครูใหญ่โรงเรียนบ้านสาวะถี หมอลำโสภายังมีความคิดที่ไม่เห็นด้วยกับการเรียกผู้สอนนักเรียนว่า “ครู” ซึ่งเป็นคำที่ทางราชการใช้เรียก หมอลำโสภาเห็นว่าคำว่าครูต้องใช้เรียกพระที่ผ่านพิธีกรรมฮดสรงจากชาวบ้านหรือเป็นที่นับถือในทางธรรมเท่านั้น ประการที่ 2 กฎหมายป่าไม้ปี พ.ศ. 2481 กำหนดให้การตัดไม้ต้องขออนุญาตจากทางการกรมป่าไม้หมอลำโสภาให้เหตุผลว่าต้นไม้เกิดเองตามธรรมชาติรัฐบาลไม่ได้ปลูกต้นไม้ทำไมต้องขออนุญาตจากรัฐบาลและต้องเสียค่าธรรมเนียมให้รัฐใครอยากตัดก็ตัดไปใช้ได้เลย ประการที่ 3 ปี พ.ศ. 2482 รัฐบาลเก็บภาษีที่ดินแทนโดยเรียกว่า “ภาษีบำรุงท้องที่” ชาวบ้านในชุมชนหลายคนไม่พอใจรวมทั้งหมอลำโสภา ซึ่งเห็นว่าที่ดินเกิดขึ้นตามธรรมชาติกว่าจะเป็นนาไร่ต้องตรากตรำตัดไม้ขุดตอ ยกคันนา ที่ดินเป็นของเราจะว่าเป็นของหลวงได้อย่างไร มีการเก็บภาษีที่ดิน 5 สตางค์ เพิ่มเป็น 10 สตางค์ และ 20 สตางค์ หมอลำโสภาและลูกศิษย์ไม่เสียภาษีที่ดิน ขุนวรรณวุฒิวิจารณ์นายอำเภอในขณะนั้นไม่พอใจอย่างมากเกรงจะเป็นตัวอย่างให้คนอื่น ๆ จึงสั่งยึดที่นาของนายสิงห์ นายเสริม ลูกศิษย์ของหมอลำโสภาให้กับเจ๊กพกในราคา 125 บาทเพื่อเป็นภาษีที่ดินแล้วบังคับให้ทั้งสองโอนที่ดินให้กับเจ๊กพกแต่สองคนไม่ยอมและยังทำนาในที่นาดังกล่าวอยู่ เจ๊กพกไม่สามารถเข้าไปใช้ที่ดินแปลงนั้นได้จึงเสียเงินให้รัฐไปเปล่า 125 บาท

หมอลำโสภา พลตรี ต่อต้านนโยบายของรัฐทั้ง 3 ข้อ ประมาณปี พ.ศ. 2481-2482 ได้เดินทางไปกรุงเทพฯเพื่อเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินเรื่องภาษีที่ดิน กฎหมายป่าไม้และระบบโรงเรียนแต่ไม่ได้เข้าเฝ้า หมอลำโสภากล่าวถึงเรื่องการกดขี่จากทางการอย่างต่อเนื่องและมีผู้เชื่อและเข้าร่วมเป็นลูกศิษย์เพิ่มขึ้นทั้งในหมู่บ้านสาวะถีและพื้นที่ใกล้เคียง ในที่สุดหมอลำโสภาและลูกศิษย์ถูกจับกุมทั้งหมด 11 คน ไปขังที่ขอนแก่น 15 วัน หลังจากการปล่อยตัวหมอลำโสภาพูดถึงการกดขี่ขี่ของข้าราชการอีก จึงถูกจับครั้งที่ 2 จับไปทั้งหมด 20 คน ไม่ปรากฏหลักฐานว่าขังนานเท่าใด เมื่อปล่อยตัวกลับมาหมอลำโสภายังมีการปลุกระดมผู้คนอีกครั้งทั้งในพื้นที่ตำบลสาวะถีและตำบลใกล้เคียง มีการปราศรัยใหญ่ที่บ้านสาวะถี เรือนของนายเสริมลูกศิษย์คนสำคัญ ในวันที่16 ธันวาคม 2483 มีคนจากหลายหมู่บ้านมาฟังการลำ เช่น บ้านงิ้ว บ้านโนนกู่ บ้านป่าหวาย บ้านโคกสว่าง บ้านเซียงซุยปัจจุบันอยู่พื้นที่อำเภอภูเวียง บ้านบึงแก ตำบลสำราญ มีผู้ฟังประมาณ 200-300 คน หมอลำโสภา พลตรีพูดในเรื่องของบ้านเมืองที่รัฐบาลกดขี่ข่มเหงประชาชนแต่ก่อนการซื้อขายที่ดินง่ายไม่ยุ่งยากไม่ต้องมีสัญญาซื้อขายไม่เคยมีปัญหาจนทางการเข้ามาบังคับให้มีการทำสัญญาและต้องเสียภาษีที่ดินให้กับหลวงที่ที่ชาวบ้านไม่ควรเสีย ต่อมาหมอลำโสภามีการพยากรณ์อนาคตของบ้านเมืองหลายประการ เช่น “ม้าซิโป่งเขา เสาซิออกดอก โบกกุมภัณฑ์ กระดาษน้อยสองนิ้วใครก็ซื้อได้ เบิดบ้านสิมีไถ 2-3 ดวง ต่อไปสิเกิดอดอยาก ควายตัวละหมื่นตัวละพัน”

ทางการเห็นว่าจะปล่อยเรื่องนี้ไว้ไม่ได้จึงได้นำกำลังทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ กำนัน ครู เข้าจับกุมหมอลำโสภาหลังจากการปราศรัยใหญ่ในครั้ง ผู้คนที่อยู่ในเวทีปราศรัยต่างแตกหนี แต่เจ้าหน้าที่ก็จับตัวหมอลำโสภา แกนนำและชาวบ้านได้รวมทั้งหมด 116 คน และนำตัวไปขังไว้ที่โรงเรียนบ้านสาวะถี รุ่งขึ้นจึงนำตัวไปอำเภอเมืองขอนแก่น ซึ่งได้ตั้งข้อกล่าวหาหมอลำโสภาและกลุ่มคนเหล่านี้ว่า “กบฏภายใน” การสอบสวนกินเวลานานถึง 2 เดือน ศาลพิพากษาให้หมอลำโสภา นายสิงห์ นายเสริม นายคุย ซึ่งเป็นหัวหน้าแกนนำจำคุกตลอดชีวิตแต่ศาลลดโทษให้เหลือจำคุก 16 ปี อีกทั้งมีการนำตัวแกนนำทั้ง 4 คนไปจำคุกที่เรือนจำบางขวางและมีเหตุการณ์การจับหมอลำโสภาและนายคุยไปถ่วงน้ำบริเวณคลองบางซื่อเมื่อดึงตัวนักโทษขึ้นมากลับยังมีชีวิตอยู่จึงมีการปล่อยตัว(การพิสูจน์ความผิดแบบโบราณ) และนำกลับมาขังที่เรือนจำขอนแก่น หมอลำโสภา พลตรี มีอาการปวดฟันเจ้าหน้าที่เรือนจำจึงฉีดยาให้ อีก 1 วัน หมอลำโสภาได้ตายลงและยังเป็นปริศนาว่าการตายเกิดจากสาเหตุอะไรแต่ชาวบ้านหลายคนเชื่อว่าหมอลำโสภาถูกฉีดยาให้ตาย เจ้าหน้าที่เรือนจำนำศพของหมอลำโสภาไปฝังเพื่อรอญาติมารับในอีก 4 วันหลังการตายญาติมารับศพเพื่อนำไปเผาปรากฏว่าเมื่อขุดหลุมศพกลับไม่พบศพเจอเพียงเสื่อที่ห่อศพกับผ้าขาวม้าของหมอลำโสภาเพียงเท่านั้น

หมอลำโสภา พลตรี ถึงแม้เสียชีวิตไปแล้วผู้คนยังคงมีความศรัทธาและเชื่อว่าเป็นผู้วิเศษ ทั้งเมื่อก่อนตายหมอลำโสภาเล่าให้ลูกศิษย์ฟังในคุกว่า ตนเป็นลูกพระเจ้ามั่นยืนหมายความว่าผู้เป็นอมตะไม่มีวันตาย และยังเล่าอีกว่าตนจะไปเกิดใหม่ในภพหน้าจะเป็นผู้นำผู้ทุกข์ผู้ยาก อีกทั้งหมอลำโสภาแสดงปาฏิหาริย์ในลักษณะผู้วิเศษ 2 ครั้ง คือการถ่วงน้ำแล้วไม่ตายและครั้งหลังตายที่มีการขุดศพแต่ไม่พบร่างลักษณะเป็นผู้ “สำเร็จ”ของผู้วิเศษ อีกทั้งการกระทำของหมอลำโสภาที่เป็นผู้นำทางความคิดและนักปลุกระดมโดยเฉพาะการต่อต้านเรื่องภาษีซึ่งเป็นที่ถูกใจของชาวบ้าน และคำทำนายของหมอลำโสภาเรื่องอนาคตของบ้านเมืองชาวบ้านก็นำมาตีความในช่วงหลัง ๆ ว่ามีความแม่นยำ เช่น “ม้าสิป่งเขา เสาสิออกดอก” ชาวบ้านเชื่อว่าคือมอเตอร์ไซค์และเสาไฟฟ้า “กระดาษน้อย ๆ สิมีค่า” ชาวบ้านเชื่อว่ามันคือหวยเถื่อน “เบิดบ้านสิมีไถ 2-3 ดวง เอาไว้ไถนากัน” ชาวบ้านเชื่อว่าเลิกใช้ความไถนาและมีรถไถนา “ทางย่าง 9 คืน 10 คืน จะย่างมื้อเดียว” ชาวบ้านเชื่อว่าคือถนนลาดยาง “เขาตีมวยอยู่เมืองนอก จะนอนฟังอยู่บ้านกะได้”ชาวบ้านเชื่อว่าคือวิทยุโทรทัศน์ “เขาลำอยู่ทิศได๋ ย่างตามฟังกะได้”ชาวบ้านเชื่อว่าคือวิทยุ

คำทำนายของหมอลำโสภา พลตรี ทำให้ชาวบ้านเชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ในฐานะผู้วิเศษหรือผู้มีบุญ

สุนทร ศรีหนองบัว. (2550). การเรียนรู้ร่วมกันเพื่อจัดการวัฒนธรรมท้องถิ่น บ้านสาวะถี ตำบลสาวะถี อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น.ปริญญาบัณฑิตสาขาไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

สุวิทย์ ธีรศาศวัต และชอบ ดีสวนโคก. (2537). กบฏผู้มีบุญโสภาแห่งบ้านสาวะถี จังหวัดขอนแก่น.วารสารมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ ปีที่12 ฉบับที่1, 2537

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดไชยศรี.ป้ายนิทรรศการหมู่บ้านหมอลำสาวะถี

สำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น.ป้ายแนะนำโบราณสถานสิมและฮูปแต้มวัดไชยศรี

หมอลำคณะระเบียบวาทศิลป์. (2565). หมอลำคณะระเบียบวาทะศิลป์. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://www.prachachat.net/

กบฏผีบุญหมอลำโสภา พลตรี. (2565). กบฏผีบุญหมอลำโสภา พลตรี. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2566.  เข้าถึงได้จาก https://theisaanrecord.co/

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. (2565). หมอลำโสภา พลตรี : กบฏผู้มีบุญแห่งบ้านสาวะถี. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://www.artculture4health.com/