Advance search

น้ำบ่อหินเย็นใส ป่าไม้สมบูรณ์ เพิ่มพูนผลผลิต พัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจพอเพียง รุ่งเรืองวัฒนธรรม งามล้ำ พระธาตุภูขวาง คำประกาศศักดิ์สิทธ์ ยาเสพติดสูญหาย ครอบครัวคลายทุกข์ สุขสบายทุกครัวเรือน

หมู่ที่ 1
บ้านม่วงคำ
ห้วยแก้ว
ภูกามยาว
พะเยา
องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแก้ว โทร. 0-5443-0900
ขวัญเรือน สมคิด
6 มิ.ย. 2023
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
12 มิ.ย. 2023
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
19 ก.ค. 2023
บ้านม่วงคำ

บริเวณที่ตั้งหมู่บ้านป่าที่มีต้นมะม่วงมาก เมื่อผลสุกจะมีสีเหลืองทองสวยงาม ชาวบ้านจึงเรียกว่า บ่าม่วงคำ (คำแปลว่า ทอง) ภายหลังการเรียกชื่อได้ลดทอนลงเหลือเพียง "บ้านม่วงคำ"


ชุมชนชนบท

น้ำบ่อหินเย็นใส ป่าไม้สมบูรณ์ เพิ่มพูนผลผลิต พัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจพอเพียง รุ่งเรืองวัฒนธรรม งามล้ำ พระธาตุภูขวาง คำประกาศศักดิ์สิทธ์ ยาเสพติดสูญหาย ครอบครัวคลายทุกข์ สุขสบายทุกครัวเรือน

บ้านม่วงคำ
หมู่ที่ 1
ห้วยแก้ว
ภูกามยาว
พะเยา
56000
19.276905
99.978208
องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแก้ว

พ.ศ. 2420 เดิมชาวบ้านม่วงคำ เดิมตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านสันป่าสัก (พื้นที่ปัจจุบันเป็นทุ่งนาและบางส่วนเป็นที่ตั้งโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ พะเยา) ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้วยการทำนาเป็นอาชีพหลัก แต่เนื่องจากที่นามีสภาพเป็นแหน (ดินแข็งปลูกข้าวและพืชพันธุ์ทางการเกษตรได้ผลผลิตน้อย) ชาวบ้านในขณะจึงนั้นได้ชวนกันอพยพมาอยู่ที่บ้านห้วยบง ปัจจุบันเป็นพื้นที่บริเวณปากทางเข้าหมู่บ้าน มีสภาพเป็นพื้นที่ราบลุ่ม มีลำน้ำห้วยแก้วไหลผ่านบริเวณด้านทิศใต้ของหมู่บ้านทำให้มีน้ำหลากและท่วมบ้านเรือนราษฎร ทำให้บ้านเรือนและที่นาเสียหายเป็นประจำ ผู้นำในหมู่บ้านขณะนั้นประกอบด้วย พ่อตั๋น พ่อเต่อ พ่อศรี พ่อตุ้ยพ่อตา จึงได้ชักชวนชาวบ้านและแกนนำในการอพยพมีครอบครัวที่อพยพตามมาจำนวน 15 ครอบครัว ประชากรประมาณ 50 คน ได้ย้ายขึ้นไปอยู่บนเนินเขาด้านทิศตะวันออก ซึ่งเป็นภูเขาเตี้ย ๆ ลูกเดียวล้อมรอบด้วยพื้นที่รอบเชิงเขา เดิมเรียกกันว่าทุ่งสันป่าสัก อยู่ในเขตของบ้านห้วยบง ถือว่าเป็นเขตพื้นที่ป่า พื้นที่บริเวณนี้มีสัตว์ชุกชุมมาก มีทั้งเก้ง กวาง หมูป่า เสือ และสัตว์อื่น ๆ อีกมากมาย

พื้นที่โดยรวมแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือบริเวณที่เป็นดงมะม่วงและพื้นที่ราบเชิงเขา เต็มไปด้วยหญ้าสาบเสือและมีเสืออาศัยอยู่บริเวณนั้นชุกชุม จึงเรียกบริเวณนี้ว่า ดงเสือ พื้นด้านล่างต้นมะม่วงเต็มไปด้วยหญ้าสาบเสือ และบริเวณนี้เรียกกันต่อมาว่า "ดงเสือ" เนื่องจากมีเสืออาศัยอยู่ในบริเวณนี้ชุกชุมนั้นเองและพื้นที่อีกส่วนหนึ่งเป็นบริเวณไหล่เขาเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยไผ่บง ปัจจุบันคือบ้านม่วงคำใต้ หมู่ 14 แกนนำและชาวบ้านจึงตกลงใจเลือกบริเวณป่าดงมะม่วง เป็นที่ตั้งหมู่บ้าน ใยช่วงฤดูที่ผลมะม่วงเมื่อสุกแล้ว มีผลสีเหลืองคล้ายทองคำและมีต้นมะม่วงต้นใหญ่มากใช้คน 4 คนโอบไม่รอบ ชาวบ้านจึงเรียกว่า "บะม่วงคำ" (บะม่วง เป็นการเรียกตามภาษาถิ่นคือมะม่วง) ต่อมาได้นำมาตั้งเป็นชื่อหมู่บ้าน ต่อมาการเรียกชื่อหมู่บ้านได้เหลือเพียงเป็น “ บ้านม่วงคำ” จนถึงปัจจุบัน

เมื่อชาวบ้านอพยพมาตั้งถิ่นฐานที่ปัจจุบันประจวบกับเป็นช่วงฤดูฝน การสัญจรไปมาหาสู่กันไม่สะดวก ชาวบ้านจึงได้ร่วมแรงกันขุดที่เพื่อทำถนนและช่วยกันขุดร่องน้ำ เนื่องจากเป็นพื้นที่ลาดเอียงอยู่ก่อนแล้วจึงทำให้การระบายน้ำเป็นไปได้สะดวก แต่ก็มีปัญหาเรื่องน้ำกินน้ำใช้ต้องไปตักน้ำจากหมู่บ้านอื่น ที่ใกล้เคียงจากบ้านป่าฝางมาใช้ ต่อมาจึงมีการขุดบ่อน้ำมาใช้ ด้วยการหาพื้นที่สำหรับขุดบ่อน้ำ โดยสังเกตจากบริเวณที่มีหญ้าเขียวชอุ่มทั้งปีและมีความอุ่น (ไอความชื้น) ตลอดเวลา ต่อมามีชาวบ้านจากดอกคำใต้ได้อพยพมาสมทบโดยมีพ่อหน พ่อแสน และพ่ออาจเป็นผู้นำกลุ่มจำนวน 5 ครอบครัว มีประมาณ 20 คนทำให้มีครัวเรือนเพิ่มขึ้น การขยายตัวของชุมชนได้ขยายบ้านเรือนไปทางทิศตะวันออกซึ่งเป็นพื้นที่ป่าโล่ง เมื่อมีจำนวนประชากรมากขึ้นจึงได้แต่งตั้งผู้นำหมู่บ้านโดยให้พ่อตั๋น ดำรงตำแหน่งเนื่องจากเป็นแกนนำในการก่อตั้งหมู่บ้าน ซึ่งในช่วงแรกมีการดำรงชีวิตที่เรียกได้ว่าเป็นช่วงที่บุกเบิกจริง ๆ เพราะต้องทำการแผ้วถางพื้นที่หมู่บ้านบริเวณไหล่เขาและพื้นที่ทำกินบริเวณที่ราบโดยรอบ ดำรงชีวิตตามวิถีชาวบ้าน โดยการหาปลา หาของป่า ทำการเกษตร ใครมีอะไรก็นำมาแลกกัน มาแบ่งปันกันและอยู่กันแบบพี่แบบน้อง

พ.ศ. 2448 ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้จัดแบ่งการปกครองออกเป็นภูมิภาค คือ หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด ในขณะที่บ้านม่วงคำมีประชากรเพิ่มขึ้นทางราชการจึงได้ตั้งให้เป็นหมู่บ้านและได้มีการแต่งตั้ง ผู้นำหมู่บ้านขึ้นโดยให้พ่อตั๋น บุญเรือง ซึ่งมีความอาวุโสที่สุดในบรรดาแกนนำอพยพ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำหมู่บ้านคนแรกของบ้านม่วงคำ

ต่อมาในปี พ.ศ. 2448 ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5ได้จัดแบ่งการปกครองออกเป็น ภูมิภาค คือ หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด ในขณะที่บ้านม่วงคำมีประชากรเพิ่มขึ้นทางราชการจึงได้ตั้งให้เป็นหมู่บ้านและได้มีการแต่งตั้ง ผู้นำหมู่บ้านขึ้นโดยให้พ่อตั๋น ซึ่งมีความอาวุโสที่สุดในบรรดาผู้นำในการอพยพ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำหมู่บ้านคนแรกของบ้านม่วงคำ

พ.ศ. 2457 พรบ.นามสกุล นามสกุลที่เป็นต้นตระกูลเดิมในหมู่บ้านและปัจจุบันนามสกุลที่มีมากที่สุดคือนามสกุล "บุญเรือง" รองลงมาคือนามสกุล "สิงห์แก้ว" ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งเห็นว่าในชุมชนไม่มีวัด ต้องไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและประเพณีต่าง ๆ ที่วัดป่าฝางซึ่งอยู่ไกลจึงได้ร่วมกันก่อตั้งวัดขึ้น

พ.ศ. 2461 ร่วมกับพ่อปุ๋ย สอนใจ, พ่อหน้อยหมื่น บุญเรือง, หนานมี เผ่าสิงห์, หน้อยมี จำรัส (หน้อยคือการเรียกคำนำหน้าจากผู้ที่เคยผ่านการบวชเณรและ หนานคือผ่านการบวชพระ) เป็นผู้นำในการก่อตั้งวัดซึ่งได้ช่วยกันถากถางบริเวณป่าหน้าหมู่บ้านให้เป็นที่โล่งและเกณฑ์ชาวบ้านไปตัดไม้มาช่วยกันเพื่อนำมาสร้างอาราม ใช้เวลาในการก่อสร้าง 1 ปี และได้นิมนต์พระแก้ว งานหมั่น จากบ้านเจน มาเป็นเจ้าอาวาสและได้มีการบูรณะเรื่อยมาจากคณะศรัทธา จึงได้มีการขยายเนื้อที่ของวัดเพิ่มขึ้นโดยขยายไปในพื้นที่ว่างรอบ ๆ บริเวณวัด

พ.ศ. 2461-2465 พ่อตั๋น บุญเรื่อง เห็นว่าชุมชนไม่มีวัด ต้องไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและประเพณีต่าง ๆ ที่วัดป่าฝางซึ่งอยู่ไกลจึงได้คิดก่อตั้งวัดขึ้น ร่วมกับพ่อปุ้ย สอนใจ,พ่อหน้อยหมื่น บุญเรือง,หนานมีเผ่าสิงห์,หน้อยมี จำรัส เป็นแกนนำในการก่อตั้งวัด ซึ่งได้ช่วยกันถากถางบริเวณป่าหน้าหมูบ้านให้เป็นที่โล่งและเกณฑ์ชาวบ้านไปตัดไม้มาช่วยกันเพื่อนำมาสร้างอาราม ใช้เวลาสร้าง 1 ปี และได้นิมนต์พระแก้ว งานหมั่น จากบ้านเจน มาเป็นเจ้าอาวาส

พ.ศ. 2497 พระครูวรรณรังสี เจ้าคณะตำบลดงเจนและเจ้าอาวาสในเขตปกครอง พร้อมด้วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พ่อค้า ประชาชน ได้พร้อมใจกันสร้างพระวิหารชั้นใหม่ที่วัดพระธาตุภูขวาง ซึ่งใช้เวลาก่อสร้าง 1 ปี 1 เตือนจึงเสร็จเรียบร้อย และใช้เป็นที่ทำบุญประเพณีสืบต่อมา

พ.ศ. 2498-2500 ชาวบ้านคิดสร้างโรงเรียน โดยมีพ่อมา จำรัสและครูอื่นคำ เดซะบุญ ครูใหญ่โรงเรียนบ้านเจนเป็นแกนนำ จึงได้มีการรวบรวมชาวบ้านมาช่วยกันแผ้วถางบริเวณที่ว่างเป็นเนินหน้าหมู่บ้านและตัดไม้บริเวณป่าข้างหมู่บ้านซึ่งเป็นไม้สักและไม้มะค่ามาช่วยกันสร้าง เมื่อสร้างโรงเรียนเสร็จครูอิ่นคำเดชะบูรณ์ได้แจ้งเรื่องไปทางอำเภอจึงได้มีการตั้งให้เป็นโรงเรียนบ้านม่วงคำขึ้นและได้เชิญครูสำรวยพรหมจรรย์ ครูจากโรงเรียนบ้านศาลามาช่วยสอน

พ.ศ. 2507 พระบรมธาตุ ที่วัดพระธาตุฎขวางชำรุดทรุดโทรมลงไปมาก ท่านพระครูวรรณรังสี เจ้าคณะตำบลดงเจน บูรณะซ่อมแชม โดยรักษาให้อยู่ตามรูปแบบเดิมของพระบรมธาตุ

พ.ศ. 2525 มีการก่อตั้ง ธนาคารข้าวของหมู่บ้านขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและลดการถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง

พ.ศ. 2527 บูรณะซ่อมแชมพระบรมธาตุครั้งที่ 2 ที่วัดพระธาตุภูขวาง โดยท่านพระครูสิริรัตนปัญญาเจ้าอาวาสวัดห้วยแก้วหลวง โดยดำเนินการตัดทางจากตีนเขาขึ้นถึงบนยอดพระบรมธาตุ เพื่อให้ศรัทธาประชาชนที่เดินทางขึ้นไปนมัสการ นำรถขึ้นไปไว้ข้างบนได้ พร้อมได้ตกแต่งทาสีพระธาตุ รื้อถอนเปลี่ยนกระเบื้องมุงพระวิหาร

พ.ศ. 2530-2532 หมู่บ้านม่วงคำ มีไฟฟ้าใช้ และเริ่มมีการนำน้ำประปามาใช้ในหมู่บ้าน

พ.ศ. 2533-2539 บูรณะซ่อมแชมพระบรมธาตุครั้งที่ 3 ที่วัดพระธาตุภูขวาง โดยท่านพระอาจารย์ห่อ อหิงสโก ได้บูรณะซ่อมแชมจนได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาและเริ่มมีการสร้างถนนคอนกรีตให้กับหมู่บ้านโดยเริ่มต้นสร้างถนนมา เรื่อย 1 จนเป็นถนนคอนกรีตในปัจจุบัน

พ.ศ. 2533-2539 เริ่มก่อสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านม่วงคำ โดยการร่วมมือกันของชาวบ้าน โดยมีนายบุญค้ำ เรียบสาร ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้นเป็นแกนนำ

พ.ศ. 2533-2539 ก่อสร้างสถานีอนามัยป่าฝาง โดยการนำของพระครูสุวรรโณภาส เจ้าอาวาสวัดป่าฝาง

พ.ศ. 2542 เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2542 มีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้นจากเดิมในช่วงระยะเวลาที่หมู่บ้านม่วงคำได้ก่อตั้งมา จึงได้มีการแบ่งเขตการปกครองเป็น 2 หมู่บ้าน คือ บ้านม่วงคำหมู่ 1 และ บ้านม่วงคำใต้ หมู่ 14 มาจนถึงปัจจุบัน ได้มีการแต่งตั้งและเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน ดังนี้

     1. นายตั๋น    บุญเรือง    เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกของบ้านม่วงคำ
     2. นายขาว    ปันโญ
     3. นายมี    เผ่าสิงห์
     4. นายมา    จำรัส
     5. นายมา    ไชยเสน
     6. นายคำ    สิงห์แก้ว
     7. นายศรี    สิงห์แก้ว
     8. นายประดู่    สอนใจ
     9. นายกึ้น    ฟูแสง
     10. นายวิเชียร    จำรัส
     11. นายทอง    ศรีชัย
     12. นายบุญค้ำ    เรียบสาร
     13. นายแก้วมูล    สอนใจ
     14. นายอนุวัฒน์    จำรัส
     15. นายสมาน    จำรัส    คนปัจจุบัน

พ.ศ. 2547 นายอนุวัฒน์ จำรัส ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน คนที่ 14 ได้ซื้อที่ดินให้เป็นที่ดินสาธารณะนำไปสร้างเป็นอาคารอเนกประสงค์และห้องเก็บของของหมู่บ้าน

พ.ศ. 2548 โรงเรียนบ้านม่วงคำจะถูกปิดการเรียนการสอน แต่ชาวบ้านบ้านม่วงคำไม่เห็นด้วย จึงมีการพัฒนาโรงเรียนและนักเรียนให้ดีให้เป็นลำดับต้น ๆ ของระดับเขต และได้รับการช่วยเหลือจาก ฯพณฯ นายอำพล เสนาณรงค์ อดีตองคมนตรี,ปราโมทย์ ไม้กลัด ที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน,ขวัญแก้ว วัชโรทัย อดีตรองเลขาธิการพระราชวัง ได้มอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนโรงเรียนบ้านม่วงคำ

พ.ศ. 2549 สร้างศาลาป่าสุสานในพื้นที่ 5 ไร่ ที่ป่าบ้านม่วงคำ

พ.ศ. 2549 ก่อตั้งกลุ่มส่งเสริมอาชีพเลี้ยงเป็ดเทศม่วงคำ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มส่งเสริมอาชีพเลี้ยงเป็ดเทศ จากอำเภอภูกามยาว

พ.ศ. 2554 ก่อตั้งกองทุนเงินบาทดูแลผู้สูงอายุและผู้ด้อยโอกาส โดยมีนายสมาน จำรัส เป็นประธานกองทุน ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านบ้านม่วงคำในปัจจุบัน

พ.ศ. 2558 มีการเลี้ยงโคกระบือ ให้เกษตรกรยืมเลี้ยง ตามโครงการธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกรตามพระราชดำริฯ เฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี

พ.ศ. 2559 ก่อตั้งกลุ่มอาชีพเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ขึ้นในหมู่บ้านบ้านม่วงคำ จนมาถึงปัจจุบัน

พ.ศ. 2562 เกิดวิกฤตกาล COVID-19 เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม ประชาชนกลับภูมิลำเนามากมีอัตราการว่างงานที่สูงขึ้นจากผลกระทบ

พ.ศ. 2563 ปัจจุบันบ้านม่วงคำ หมู่ที่ 1 ตำบลห้วยแก้ว อำเภอภูกามยาว จังหวัดพะเยา มีข้อมูลประชากรตามทะเบียนราษฎร์จำนวน 156 ครัวเรือน ประชากรจำนวน 552 คน มีประชากรที่อาศัยอยู่จริงจำนวน 138 ครัวเรือน ประชากรจำนวน 334 คน แบ่งได้ดังนี้ เพศชายจำนวน 157 คนเพศหญิงจำนวน 177 คน พื้นที่ของบ้านม่วงคำ หมู่ที่ 1 มีพื้นที่ทั้งหมด 3,550 ไร่ หรือ 5.68 ตารางกิโลเมตร แบ่งเป็นพื้นที่ทำนา 2,800 ไร่ พื้นที่ทำสวน 30 ไร่ พื้นที่อยู่อาศัย 720 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เชิงเขาและทุ่งนาสลับเนินเขาเตี้ย มีแม่น้ำอิงไหลผ่าน แต่ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากแม่น้ำอิงได้เนื่องจากพื้นที่การเกษตรอยู่ที่ราบสูงกว่าแม่น้ำอิง ในฤดูร้อนจะขาดแคลนน้ำเป็นอย่างมาก ทำให้มีการสร้างฝายกักเก็บน้ำห้วยกลางแพะและขุดสระรองรับน้ำฝนไว้ใช้ในการเกษตร

บ้านม่วงคำ หมู่ที่ 1 ตั้งอยู่ในเขตตำบลบ้านห้วยแก้ว อำเภอภูกามยาว จังหวัดพะเยา อยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทย ห่างจากศูนย์ราชการจังหวัดพะเยาประมาณ 20 กิโลเมตร โดยใช้เวลาเดินทางประมาณ 30 นาที ในการเดินทางโดยรถยนต์ส่วนบุคคลมายังชุมชน เริ่มจากใช้ถนนสายหลักคือ ถนนพหลโยธินหมายเลข 1 มุ่งหน้ามาทางสี่แยกประตูชัย เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนหมายเลข 1202 จากนั้นมุ่งตรงมาประมาณ 15 กิโลเมตร จุดสังเกตคือ ป้ายวัดพระธาตุภูขวางให้เลี้ยวขวา จากนั้นให้มุ่งตรงมาและเข้าสู่บ้านม่วงคำ

บ้านเรือนส่วนใหญ่ นิยมสร้างเป็นบ้านปูน และบางบ้านสร้างปูนด้านล่างและไม้ด้านบน มักไม่ค่อยมีใต้ถุนบ้าน การตั้งชุมชนมีการวางผังโครงสร้างการจัดสรรที่ดินถนนและซอยต่างๆอย่างเป็นระเบียบ การตั้งบ้านเรือนมีการเว้นระยะความห่างของบ้านใกล้เคียงกันเนื่องจากได้รับการจัดสรรพื้นที่ใกล้เคียงกัน บ้านที่ตั้งอยู่บริเวณเดียวกันจะมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติ เช่น พี่-น้อง, แม่-ลูก เป็นต้น บางครอบครัวก็ออกไปตั้งบ้านเรือนที่ห่างจากชุมชนซึ่งมีการกระจายเป็นหย่อมๆ นิยมปลูกผักสวนครัวไว้ที่บริเวณหน้าบ้านและรอบบ้าน สภาพบ้านเรือนปัจจุบันมีความมั่นคงถาวร มีถนนคอนกรีต ถนนลาดยาง เสาไฟฟ้า และน้ำประปาใช้ภายในชุมชนอย่างเพียงพอ

พื้นที่ส่วนใหญ่ในหมู่บ้านแบ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรม และบริเวณที่ตั้งบ้าน มีการตั้งเรือนเป็นกลุ่ม ส่วนใหญ่บ้านที่มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติ จะตั้งบ้านเรือนใกล้กัน ลักษณะบ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้ชั้นเดียว ยกพื้นสูงมีรั้วกั้นในแต่ละหลังคาเรือน สภาพบ้านเรือนมีความมั่นคงถาวร ทุกบ้านมีถังเก็บน้ำไว้สำรองน้ำใช้ เนื่องจากการเปิดปิดน้ำประปาภายในหมู่บ้านเป็นเวลา คือ จะเปิดประมาณ 05.00 น. และปิดประมาณ 09.00 น. และเปิดอีกครั้งประมาณ 17.30 น. ปิดประมาณ 22.00 น.

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดกับ หมู่ 2 บ้านป่าฝาง ตำบลห้วยแก้ว อำเภอภูกามยาว จังหวัดพะเยา
  • ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านสันต้นผึ้ง หมู่ที่ 6 ตำบลแม่อิง อำเภอภูกามยาว จังหวัดพะเยา
  • ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านม่วงคำใต้หมู่ที่ 14 ตำบลห้วยแก้ว อำเภอภูกามยาว จังหวัดพะเยา
  • ทิศใต้ ติดกับ บ้านร้อง หมู่ที่ 6 ตำบลดงเจน อำเภอภูกามยาว จังหวัดพะเยา

บ้านม่วงคำ เป็นชุมชนเก่าแก่ที่สุดในตำบลห้วยแก้ว มีประชากรตามทะเบียนราษฎร์ 156 ครัวเรือน ประชากรจำนวน 552 คนมีประชากรที่อาศัยอยู่จริง 138 ครัวเรือน ประซากรจำนวน 334 คน แบ่งได้ดังนี้ เพศชายจำนวน 157คน เพศหญิงจำนวน 177 คน

การตั้งบ้านเรือนมีการเว้นระยะความห่างของบ้านใกล้เคียงกันเนื่องจากได้รับการจัดสรรพื้นที่ใกล้เคียงกัน บ้านที่ตั้งอยู่บริเวณเดียวกันจะมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติ เช่น พี่-น้อง, แม่-ลูก เป็นต้น บางครอบครัวก็ออกไปตั้งบ้านเรือนที่ห่างจากชุมชนซึ่งมีการกระจายเป็นหย่อม ๆ นิยมปลูกผักสวนครัวไว้ที่บริเวณหน้าบ้านและรอบบ้าน 

ผู้ใหญ่บ้าน : นายสมาน จำรัส 

แบ่งการดูแลเป็น 10 คุ้มบ้าน โดยที่แต่ละคุ้มบ้านจะมีประธาน ซึ่งเป็นกรรมการหมู่บ้านตามโครงสร้าง มีการรวมกลุ่มกันอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ดังนี้

กลุ่มที่เป็นทางการ

  • กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) : นางเพ็ญ สิงห์แก้ว เป็นประธาน มี อสม. รวมประธานทั้งสิ้น 15 คน
  • อาสาสมัครพัฒนาชุมชน : นายนพดล ไชยวุฒิ เป็นประธาน

กลุ่มที่ไม่เป็นทางการ

  • กลุ่มผู้สูงอายุ : นายปั่น ธิปัญโญ เป็นประธาน มีสมาชิก 93 คน
  • กลุ่มสมาคมหมู่บ้าน : นายอินแก้ว กัลยา เป็นประธาน
  • อาสาสมัครเกษตร : นายเงิน สิงห์แก้ว เป็นประธาน
  • กลุ่มพัฒนาสตรี : นางพูนศรี ทิพย์วิจารย์ เป็นประธาน
  • กลุ่มธนาคารข้าวบ้านม่วงคำ : จัดตั้งเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2525 ปัจจุบันมีสมาชิก 128 คน มีคณะกรรมการ 9 คน มีนายดี สมศรี เป็นประธานกลุ่ม ปัจจุบันมีข้าวอยู่ 31,315 กิโลกรัม และมีเงินทุนหมุนเวียนในกลุ่ม 117,000 บาท ให้กู้คิดอัตราร้อยละ 1 บาท/เดือน
  • กลุ่มออมทรัพย์ : ปัจจุบันมีสมาชิก 84 คน บริหารงานโดยคณะกรรมการกลุ่ม มีนางสำเนือง มีทอง เป็นประธานกลุ่มฯ มีเงินสัจจะสะสมทั้งหมด 114,950 บาท มีคณะกรรมการ 4 คน เพื่อความโปร่งใส
  • กองทุน : กองทุนแก้ไขความยากจน
  • กองทุนหมู่บ้านบ้านม่วงคำ : ปัจจุบันมีสมาชิก 97 คน มีนายเดช ดูการดี เป็นประธาน
  • ศูนย์สงเคราะห์ราษฎรประจำหมู่บ้าน
  • กองทุนประปาชุมชน : แต่เดิมชาวบ้านจะใช้น้ำฝนและน้ำจากบ่อน้ำตื้นท้ายหมู่บ้าน ในการบริโภค ซึ่งเป็นน้ำที่ไม่สะอาดพอที่จะนำมาบริโภค ทางคณะกรรมการหมู่บ้านและชาวบ้านจึงได้ร่วมกันจัดทำโครงการขึ้นและได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลจำนวน 250,000 บาท ประชาชนในหมู่บ้านจึงมีการประชุมและลงมติในการจัดทำประปาหมู่บ้าน มีการบริหารโดยการตั้งคณะกรรมการบริหาร 11 คน นำโดยพ่อชัย คำลือ คำลือเป็นประธานกลุ่ม และมีผู้ดูแลควบคุมการผลิตและจำหน่าย คือ นายตุ๋ย วงค์ไชย คิดค่าน้ำหน่วยละ 5 บาท เงินที่ได้ส่วนหนึ่งจะใช้เป็นค่าใช้จ่าย ต้นทุนการผลิตและค่าจ้างคนดูแล เงินที่เหลือจะถูกเก็บไว้เป็นเงินกองทุนศูนย์สงเคราะห์ราษฎร โดยเงินนี้จะเก็บไว้ให้ชาวบ้านที่เดือดร้อนเรื่องการเงิน กู้ยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ย
  • กองทุนสาธารณสุขมูลฐานหมู่บ้าน (กลุ่ม อสม.) : สมาชิกกลุ่ม 25 คน นางเพ็ญ สิงห์แก้ว เป็นประธาน มีเงินทุนหมุนเวียนในกลุ่ม จำนวน 15,000 บาท
  • กลุ่มรักษาป่าชุมชน
  • กลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์ : สมาชิก 1,573 คน นายทูล บุญเรือง เป็นประธานกลุ่ม มีเงินฉุกเฉิน 10,000 บาท และมีเงินทุนหมุนเวียนในกลุ่ม จำนวน 23,920.92 บาท หากมีสมาชิกเสียชีวิต ครอบครัวสามารถติดต่อขอรับเงินเพื่อมาใช้ในการจัดงานได้ ส่วนหนึ่งมีกิจกรรมการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสและงานสาธารณประโยชน์ในหมู่บ้าน
  • กลุ่มแม่บ้านสตรีบ้านม่วงคำ
  • กลุ่มพัฒนาอาชีพในหมู่บ้าน : กลุ่มส่งเสริมอาชีพเลี้ยงเป็ดเทศม่วงคำ, กลุ่มผลิตแชมพูสมุนไพร, กลุ่มเลี้ยงโค

ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร รายได้หลักมาจากการทำนา เป็นส่วนใหญ่ เมื่อเสร็จจากการทำการเกษตรตามฤดูกาลแล้ว ประชาชนจะทำอาชีพเสริม เช่น เย็บผ้า ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า ค้าขาย ทำงานก่อสร้างเป็นต้น สภาพชุมชน ยังเป็นสภาพของหมู่บ้านที่เมื่อใดต้องการความช่วยเหลือภายในหมู่บ้าน ซึ่งมีการเจือจุนเป็นอย่างดีจึงไม่ทำให้เกิดปัญหาสังคมแต่อย่างใด ปัจจุบันได้รับการสนับสนุนงบประมาณการจัดสรรงบประมาณจากทางราชการ และเทศบาลตำบลป้าฝาง หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดตั้งกลุ่มต่าง ๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านร่วมกัน ให้หมู่บ้านได้รับการพัฒนาตามสภาพความเป็นไปได้ในสภาพการณ์ปัจจุบันการประกอบอาชีพ อาชีพหลัก อาชีพรอง และอาชีพเสริมประชาชนมีรายได้เฉลี่ยต่อหลังคาเรือนประมาณ 8,687.50 บาท/เดือน รายได้ของประชาชน มาจากภาคเกษตรกรรม

  • อาชีพหลัก : ของประชาชนบ้านม่วงคำ  คือ ทำนา
  • อาชีพรอง : เย็บผ้า ค้าขาย พนักงานบริษัท รับจ้างทั่วไป ขายข้าวโพด ปลูกมันสำปะหลัง เลี้ยงกระบือ
  • อาชีพเสริม : ปลูกพืชผักสวนครัว ค้าขาย และซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า
  • แหล่งเงินทุน : กองทุนต่าง ๆ ในหมู่บ้าน และทุนกู้ยืมของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.)
  • รายจ่ายของประชาชน : ค่าใช้จ่ายทางการเกษตร ค่าดำรงชีพ ค่าสาธารณูปโภคค่างานสังคม ค่าเกี่ยวกับการเรียนของบุตรหลาน ค่าเกี่ยวกับการเกษตร และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ
  • หนี้สินของประชาชน : ส่วนใหญ่เป็นหนี้สินกู้ยืมของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) และหนี้ของกองทุนต่าง ๆ ในหมู่บ้าน (จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 138 หลังคาเรือน โดยนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 4 รุ่นที่ 28 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พะเยา, 2563)

วัฒนธรรมประเพณี สืบสานวัฒนธรรมล้านนาดังนี้

  • เดือนมกราคม (เดือน 4 ล้านนา) : ประเพณี "ตานข้าวใหม่" จะทำหลังจากชาวบ้านได้เก็บเกี่ยวข้าวจากทุ่งนาเสร็จเรียบร้อยแล้วตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนสี่ (มักจะทำในเดือนมกราคมของทุกปี )จะเป็นการทำบุญตักบาตร นำข้าวเปลือก ข้าวสารที่เป็นข้าวใหม่ และหลั๋วพระเจ้า (กิ่งไม้ ยาวประมาณ 2 เมตร มักใช้ไม้จากต้นคนฑา ไม้ฝาง ไม้จามจุรี เนื่องจากมีลักษณะเป็นเล่มงาม ไม่มีกิ่ง เมื่อนำเปลือกออกจะมีสีขาวนวล) ซึ่งเชื่อว่า เริ่มเข้าสู่หน้าหนาว พระพุทธเจ้าจะได้ใช้เป็นฟืนในการก่อไฟให้ความอบอุ่น ไปทำบุญที่วัด โดยมีความเชื่อว่า การได้นำข้าวใหม่ไปถวายให้กับพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ได้ฉันก่อนนั้นจะทำให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ ครอบครัว
  • เดือนกุมภาพันธ์ (เดือน 5 ล้านนา) : เลี้ยงผีเจ้าที่ ผู้คนมีความเชื่อว่าที่บ้านที่เรือนที่เราอาศัยอยู่จะมีผีเจ้าที่เป็นผู้ดูแลคุ้มครองไม่ว่าจะไปประกอบกิจกรรมหรือทำอะไรที่ไหน เช่น จะสร้างบ้านเรือนจะไปทำสวน ทำไร่ จะไปทำมาค้าขายหรือจะไปท่องเที่ยวมักจะมีการขอบนบานศาลกล่าวบอกให้แจ้งที่เจ้าทางให้ได้รู้ได้ทราบเสียก่อน เพื่อให้ท่านช่วยคุ้มครองปกปักรักษา บางบ้านยังมีการตั้งเป็นศาลพระภูมิ เรียกว่า ศาลภูมิเจ้าที่ จะมีการเลี้ยงผีเจ้าที่ ปกติจะนิยมเลี้ยงปีละ 1 ครั้ง หรือหลายๆ ครั้งก็ได้แล้วแต่โอกาสที่เราได้บนบานท่านไว้ นิยมทำกันระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ของทุกปีโดยทำภายในบ้านของตนเอง ในช่วงเช้าจะมีการเตรียมไก่ต้ม 1 คู่ เหล้าขาว 1 ขวด อาหารคาวหวานจัดใส่สำรับไปวางไว้ที่ศาลเจ้าที่ และผู้อาวุโสภายในบ้านจะจุดธูป กล่าวคำบูชา จากนั้นก็จะวางทิ้งไว้ ช่วงสายก็จะมาเก็บสำรับ นำไก่ไปประกอบอาหารรับประทานในครอบครัว
  • เดือนมีนาคม (เดือน 6 ล้านนา) : สรงน้ำพระธาตุภูขวาง นำเอาข้าวตอกดอกไม้ และน้ำขมิ้น ส้มป่อย ไปสรงน้ำพระธาตุภูขวาง ภายในหมู่บ้านจะมีหอผีเจ้าบ้าน ตั้งอยู่บริเวณซอย 1หมู่ที่ 14 (เดิมบ้านม่วงคำมีเพียงหมู่เดียวภายหลังได้มีการแบ่งออกเป็นหมู่ 1 และหมู่ 14) โดยชาวบ้านเชื่อว่า พ่อบ้านจะคุ้มครองดูแลบ้านเรือนผู้คนภายในหมู่บ้านให้อยู่เย็นเป็นสุขและเพื่อเป็นการแสดงถึงความเคารพนับถือ ชาวบ้านจะนำเอาไก่ต้ม เหล้าขาว อาหารคาวหวานดอกไม่ ธูปเทียน มารวมกันบริเวณหน้าศาลในวันนั้น จะมีการลงเจ้าเข้าทรง โดยมีม้าทรง (ร่างทรง) คือ นาง  เป็นตัวแทนให้ศีลให้พรแก่ชาวบ้านโดยนิยมทำกันในระหว่างเดือนหกเหนือ
  • เดือนเมษายน (เดือน 7 ล้านนา) : ปีใหม่เมือง ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง หรือประเพณีปีใหม่เมือง เป็นประเพณีที่สำคัญของชาวเหนือ หรือชาวล้านนา สืบเนื่องมาจากอดีตกาลที่จะยึดถือเป็นช่วงเปลี่ยนศักราชใหม่ โดยกำหนดจุดที่พระอาทิตย์ย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ ซึ่งมักจะตรงกับวันที่ 13 เมษายน หรือ 14 เมษายนของแต่ละปี และจะกินเวลาประมาณ 4-7 วัน ยาวนานกว่าสงกรานต์ของภาคอื่น ๆ

วันที่ 13 เมษายน วันสังขานต์ล่อง จะมีการจุดประทัด ยิงปืน เพื่อส่งสังขารหรือไล่สังขาร (จะถือเอาตามเวลาสังขานต์ล่องตามที่บอกในปฏิทินปี๋ใหม่เมืองในปีนั้น เช่น บอกว่าสังขานต์จะล่องเมื่อ 03 นาฬิกา 30 นาที 26 วินาที ชาวบ้านก็จะจุดประทัดเวลานั้นถือว่าไล่สังขานต์)

วันที่ 14 เมษายน เป็น "วันดา" คือวันที่ต้อง เตรียมสิ่งของต่าง ๆ เพื่อใช้ทำบุญในวันรุ่งขึ้น วันเน่า ไม่ควรด่าทอ เกิดอุบัติเหตุเจ็บตัว สาปแช่งหรือกล่าวคำร้ายต่อกัน ปากจะเน่าจะเหม็น เป็นอัปมงคลไปทั้งปี

วันที่ 15 เมษายน "วันพญาวัน" วันที่สามของประเพณีปีใหม่เมือง ถือเป็นวันเถลิงศก เปลี่ยนศักราชเริ่มต้นปีใหม่ วันนี้มีการทำบุญทางศาสนาแต่เช้าตรู่ และอุทิศกุศลไปถึงญาติผู้ล่วงลับ หรือเรียกว่า “ตานขันข้าว” นำตุงปักลงบนกองเจดีย์ทราย ช่วงบ่ายเป็นการรดน้ำดำหัว เพื่อขอขมาคนเฒ่าคนแก่ พ่อแม่ ครูอาจารย์ ไปสรงน้ำพระพุทธรูป เจดีย์ เลี้ยงผีปู่ย่าในวันนี้

วันที่ 16 เมษายน "วันปากปี" เป็นวันแรกของปี มารวมตัวกันเพื่อทำบุญเสาใจบ้าน หรือส่งเคราะห์บ้าน พิธีสืบชะตาหมู่บ้าน และพากันไปขอขมา ดำหัว พระเถระผู้ใหญ่ตามวัดต่าง ๆ ดำหัวผู้อาวุโส ผู้นำชุมชน ในตอนค่ำของวันนี้จะมีการบูชาเทียน สืบชะตา ลดเคราะห์ รับโชค เพื่อให้เกิดความเป็นมงคลแก่ครอบครัว โดยในวันปากปีมีความเชื่อบางประการเกี่ยวกับ “แกงขนุน” หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า “แกงบ่าหนุน” ที่จะกินกันทุกครอบครัว เพราะเชื่อว่าจะหนุนชีวิตให้เจริญก้าวหน้า ทั้งนี้เหตุผลของการทานแกงขนุนดังกล่าว อาจจะมาจากชื่อขนุน ที่มีความหมายถึงการเกื้อหนุน ค้ำจุน ครอบครัวให้เจริญรุ่งเรืองหรือตลอดปี

  • เดือนพฤษภาคม (เดือน 8 ล้านนา) : เลี้ยงผีเจ้า ทำบุญวันวิสาขบูชา
  • เดือนมิถุนายน (เดือน 9 ล้านนา) : ประเพณีเลี้ยงผีปู่ย่า เลี้ยงขุนผีน้ำ(เจ้าพ่อพญาคำฟู), ประเพณีเลี้ยงผีป่า เจ้าที่นาเลี้ยงโดยเหล้าไห ไก่คู่ เป็นการเลี้ยงเจ้าที่ก่อนลงทำนาเพื่อให้การทำนาราบรื่นและได้ผลผลิตดี
  • เดือนกรกฎาคม (เดือน 10 ล้านนา) : แรม 1 ค่ำ เดือน 8 ทำบุญเข้าพรรษา
  • เดือนสิงหาคม (เดือน 11 ล้านนา) : ช่วงเดือนนี้จะอยู่ในช่วงเข้าพรรษา มีการทำบุญตักบาตร
  • เดือนกันยายน (เดือน 12 ล้านนา) : ปล่อยเปรตปล่อยผี ทำบุญให้กับคนที่ล่วงลับไปแล้ว, ตานก๋วยสลาก ช่วงเดือน 12 ล้านนาถึงเดือนยี่ หรือตั้งแต่เดือนกันยายนจนถึงเดือนตุลาคมของทุกปี
  • เดือนตุลาคม (เดือน 1 ล้านนา) : ประเพณีตานทำเปรต มักทำกันในเดือนตุลาคมหลังจากออกพรรษาแล้ว เป็นการทำบุญที่ มีการนำเอาของใช้จำเป็น เช่น รองเท้า สบู่ ยาสีฟัน ยาสระผม แปรงสีฟัน ขันน้ำ ข้าวสารอาหารแห้ง เสื้อผ้า อาหารแห้ง และอาหารปรุงสุก ผลไม้ จัดใส่สำรับตามจำนวนญาติที่ล่วงลับไปแล้ว ไปทำบุญถวายพระที่วัด ซึ่งจะคล้ายกับประเพณี ตานก๋วยสลาก แต่จะแตกต่างตรงที่ ไม่ได้เชิญพระสงฆ์จากวัดอื่นมาร่วมพิธีด้วย แต่จะทำกันเองภายในหมู่บ้าน หลังจากหมดพิธีกรรมทางศาสนาที่วัดแล้วก็จะแยกย้ายกันกลับบ้าน ไม่ได้มีการจัดเลี้ยงฉลองกัน
  • เดือนพฤศจิกายน (เดือน 2 ล้านนา) : ทอดกฐิน มีเวลา 1 เดือนหลังจากออกพรรษา ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือนเกี๋ยง (เดือนเกี๋ยงดับ) จนถึงวันเพ็ญเดือนยี่เหนือ, ประเพณียี่เป็ง
  • เดือนธันวาคม (เดือน 3 ล้านนา) : มีการร่วมกันเก็บเกี่ยวข้าว ตักบาตรสิ้นปี

1. นายเงิน สิงห์แก้ว : ปราชญ์ชาวบ้านด้านหมอพื้นบ้าน

2. นายทอง ศรีวิชัย : ปราชญ์ชาวบ้านด้านหมอพื้นบ้าน

3. นายชัย คำลือ : ปราชญ์ชาวบ้านด้านหมอพื้นบ้าน

4. นายเดช ปงไชยา : ปราชญ์ชาวบ้านด้านศิลปวัฒนธรรม

5. นายทาน ปงไชยา : ปราชญ์ชาวบ้านด้านศิลปวัฒนธรรม

6. นางนวล ก้อนคำ : ปราชญ์ชาวบ้านด้านหัตถกรรม

7. นางอำไพ คำลือ : ปราชญ์ชาวบ้านด้านหัตถกรรม

8. นายก๋วน สมศรี : ปราชญ์ชาวบ้านด้านหัตถกรรม

9. นางนงค์นุช สิงห์แก้ว : ปราชญ์ชาวบ้านด้านหัตถกรรม

10. นางนภัสสร จุมบ่า : ปราชญ์ชาวบ้านด้านหัตถกรรม

11. นายพิสิฐษ์ ไชยบูรณวิทย์ : าวบ้านที่ป่วยและรักษาพยาบาลแผนปัจจุบันไม่หาย ก็จะมารักษาแพทย์แผนไทยโดยการใช้สมุนไพรกับพ่อพิสิฐษ์ ไชยบูรณวิทย์ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากครอบครัว เกี่ยวกับการรักษาด้วยสมุนไพรและได้เข้าร่วมโครงการ ใช้สมุนไพรในการเลิกสุราและสารเสพติด ร่วมกับวัดป่าฝาง นอกจากนี้ พ่อพิสิฐษ์ ไชยบูรณวิทย์ ยังทำสมุนไพรแห้งจำหน่าย รับสะเดาะเคราะห์ เสริมดวงชะตา และดูดวง

12. นายเดช ปงไชยยา : พ่อเดช รับสะเดาะเคราะห์ เสริมดวงชะตา ฮ้องขวัญ สู่ขวัญ ซึ่งชาวบ้านมักมาขอให้ทำพิธี ซึ่งขั้นตอนในการสะเดาะเคราะห์และการเสริมดวงชะตาก็คือ การเอาเสื้อผ้าของคนป่วยหรือคนที่เพิ่งฟื้นจากอาการเจ็บป่วย และชื่อ-สกุล, วัน/เดือน/ปีเกิด แล้วใส่ขันตั้ง ส่วนค่าขันตั้งแล้วแต่ความศรัทธา นำมาทำพิธี

ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม แหล่งน้ำอุปโภค บริโภค และแหล่งน้ำทำการเกษตร บริเวณโดยรอบชุมชนเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ เป็นเขตป่าชุมชน มีทรัพยากรธรรมชาติมีความอุดมสมบูรณ์ สิ่งแวดล้อมยังมีความเป็นชนบท ยังไม่มีการเข้ามาของโรงงานอุตสาหกรรม มีลักษณะทางนิเวศที่สมดุลเนื่องจากมีการอนุรักษ์แหล่งธรรมชาติ แหล่งน้ำอุปโภค บริโภค และแหล่งน้ำทำการเกษตรที่สำคัญของชุมชน ดังนี้

  • แหล่งน้ำอุปโภค : ได้แก่ น้ำบ่อตื้น น้ำประปาหมู่บ้าน น้ำประปา และน้ำบาดาล
  • แหล่งน้ำบริโภค : ได้แก่ น้ำบรรจุขวดสำเร็จรูป ตู้กดน้ำหยอดเหรียญ และน้ำฝน
  • แหล่งน้ำทำการเกษตร : ได้แก่ บ่อน้ำตามทุ่งนา บ่อน้ำที่ไร่,สวน
  • น้ำที่ใช้ในการเกษตร : เนื่องจากหมู่บ้านม่วงคำมีแม่น้ำแม่อิงไหลผ่านห่างจากหมู่บ้านประมาณ 1.5 กิโลเมตร และไม่มีลำห้วยไหลผ่านภายในหมู่บ้าน จึงต้องอาศัยน้ำฝนในการทำการเกษตร และมีการขุดสระเก็บน้ำ โดยเป็นสระน้ำสาธารณะ ขนาดกลาง 2 แห่ง อยู่บริเวณปากทางเข้าหมู่บ้าน 1 แห่ง และอยู่บริเวณท้ายหมู่บ้าน 1 แห่ง (ระหว่างทางไปพระธาตุภูขวาง) ใช้สำหรับสำรองน้ำไว้ใช้ในการเกษตร แม่น้ำ ในช่วงหน้าแล้งน้ำแห้งชาวบ้านก็จะชวนกันไปหาปลาจากน้ำแม่อิงมาประกอบอาหารและจำหน่าย
  • น้ำที่ใช้ในการอุปโภค : ทุกบ้านจะใช้น้ำประปาหมู่บ้านในการอุปโภค ระบบประปาหมู่บ้านตั้งอยู่ที่ ซอย 1 หมู่ที่ 14 เป็นการใช้แหล่งน้ำร่วมกันทั้ง 2 หมู่บ้านโดย น้ำที่ใช้มาจากการเจาะบ่อบาดาล มีความลึก 92 เมตร ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลจำนวน 250,000 บาท โดยการบริหารจัดการน้ำมีกรรมการจากหมู่ 1 เป็นผู้ดูแลซึ่งคณะกรรมการได้มาจากการคัดเลือกจากประชากรทั้ง 2 หมู่บ้าน โดยมีพ่อชัย คำลือเป็นประธาน และมีผู้ดูแลในการเปิดปิดน้ำโดยจ้างคนในหมู่บ้านเดือนละ 1,700 บาท และมีการเก็บค่าน้ำประปาหน่วยละ 5 บาท มีการตรวจสอบคุณภาพน้ำโดยการประปาส่วนภูมิภาคซึ่งจะมาตรวจทุก ๆ 6 เดือน
  • บ่อน้ำตื้นท้ายหมู่บ้าน : มี 5 แห่งกระจายไปตามทุ่งนาและท้ายหมู่บ้าน ปัจจุบันยังคงมีการใช้กันอยู่แต่ไม่นิยมเหมือนก่อนเนื่องจากน้ำมีสีเขียว ขุ่นเล็กน้อย และจะปั้มน้ำจากบ่อน้ำตื้นมาผลิตน้ำประปาในช่วงหน้าแล้ง
  • น้ำที่ใช้ในการบริโภค : เดิมชาวบ้านใช้น้ำฝนและน้ำจากบ่อน้ำตื้นท้ายหมู่บ้าน ในการบริโภค ซึ่งเป็นน้ำที่ไม่สะอาดพอที่จะนำมาบริโภค ทางคณะกรรมการหมู่บ้านและชาวบ้านจึงได้ร่วมกันจัดทำโครงการขึ้นและได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลจำนวน 250,000 บาท ประชาชนในหมู่บ้านจึงมีการประชุมและลงมติในการจัดทำโรงกลั่นน้ำดื่มของหมู่บ้าน โดยผ่านกระบวนการทำความสะอาดด้วยระบบ RO และได้มีการบริหารโดยการตั้งคณะกรรมการบริหาร 11 คน นำโดยพ่อชัย คำลือ คำลือเป็นประธานกลุ่ม และมีผู้ดูแลควบคุมการผลิตและจำหน่าย คือ พ่อปั๋น โดยจะจำหน่ายในราคาที่ถูกกว่าราคาในท้องตลาด โดยขายถังละ 7 บาท เงินที่ได้ส่วนหนึ่งจะใช้เป็นค่าใช้จ่าย ต้นทุนการผลิตและค่าจ้างคนดูแล เงินที่เหลือจะถูกเก็บไว้เป็นเงินกองทุนศูนย์สงเคราะห์ราษฎร โดยเงินนี้จะเก็บไว้ให้ชาวบ้านที่เดือดร้อนเรื่องการเงิน กู้ยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ย

ภาษาพื้นเมืองล้านนา

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

วัดม่วงคำ

วัดม่วงคำ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2465 ตั้งอยู่เขตพื้นที่ หมู่ที่ 14 บ้านม่วงคำใต้ ตำบลห้วยแก้ว อำเภอภูกามยาว จังหวัดพะเยา โดยมีพ่อตั๋น ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกของบ้านม่วงคำอยู่ 2 ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งเห็นว่าในชุมชนไม่มีวัด จะต้องไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและประเพณีต่าง ๆ ที่วัดป่าฝางซึ่งอยู่ไกลจึงได้คิดก่อตั้งวัดขึ้นในปี พ.ศ. 2461 ร่วมกับพ่อปุ๋ย สอนใจ, พ่อหน้อยหมื่น บุญเรือง, หนานมี เผ่าสิงห์, หน้อยมี จำรัสเป็นแกนนำในการก่อตั้งวัดซึ่งได้ช่วยกันถากถางบริเวณป่าหน้าหมู่บ้านให้เป็นที่โล่งและเกณฑ์ชาวบ้านไปตัดไม้มาช่วยกันเพื่อนำมาสร้างอาราม ใช้เวลาในการก่อตั้ง 1 ปี และได้เรียนเชิญพระแก้ว งานหมั่น จากบ้านเจน มาเป็นเจ้าอาวาสและ เนื่องจากอารามที่ตั้งขึ้นใช้ไม้สักเป็นเสา ใช้ฟากมาตีเป็นฝาผนังและมุงหลังคาด้วยต้องตึง จึงได้มีการบูรณะเรื่อยมาจากคณะศรัทธาจากต่างจังหวัดและชาวบ้าน จึงได้มีการขยายเนื้อที่ของวัดเพิ่มขึ้นโดยขยายไปในพื้นที่ว่างซึ่งเป็นที่สาธารณะรอบ ๆ บริเวณวัด วัดม่วงคำได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2521 เขตคันธสีมา กว้าง 40 เมตร ยาว 40 เมตร

พระธาตุภูขวาง

ตั้งอยู่ หมู่ที่ 1 บ้านม่วงคำ ตำบลห้วยแก้ว อำเภอภูกามยาว จังหวัดพะเยา ตามตำนานกล่าวไว้ว่า สมัยหนึ่งเมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย เสด็จสัญจรมาด้วยอิทธิฤทธิ์ ทรงประทับบนยอดดอยภูขวางที่นี้ พระองค์ทรงสถิตสำราญพระอิริยาบถประทับอยู่ใต้ร่มไม้รัง อันมีในท่ามกลางดอยที่นั้น พระองค์ทรงเปล่งออกซึ่งพระรัศมีรังสี (ฉัพพรรณรังสี) 6 ประการ คือ ขาว เขียว เหลือง แดง หม่น สิ้ว มีวรรณะดังแก้ววิฑูรย์น้ำค้างพวกชาวบ้านได้เห็นพระรัศมีของพระพุทธองค์พลุ่งออกเป็นฉัพพรรณรังสี 6 ประการ แจ้งส่องชัชวาลทั่วดอยทั้งมวลเป็นอันรุ่งเรืองงามมาก ก็บังเกิดศรัทธาปสาทะความเลื่อมโสมนัสชื่นชมยินดีมาก พวกนายบ้านได้เห็นดังนั่น ก็ป่าวประกาศให้ภรรยาลูกเต้าตลอดชาวบ้านทั้งหลาย แล้ว รีบเร่งจัดแจงแต่งหาโภชนาหารพร้อมบริบูรณ์แล้วก็นำไปใส่บาตร (ตักบาตร) ถวายแด่พระพุทธเจ้ากับทั้งพระอรหันต์ทุกพระองค์ พระอรหันต์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานก็ทรงรับภัตตาหารบิณฑบาต และพระองค์ก็ฉันจังหันบนดอยที่นั่น 

เมื่อสมัยท่านครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทยยังมีชีวิตอยู่ ท่านได้ทราบตำนานประวัติของพระธาตุภูขวางว่า เป็นสถานที่โบราณสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ จึงได้คิดทำการบูรณะขึ้น เพื่อให้เป็นที่สักการบูชาของพุทธศาสนิกชน หลังจากทรุดโทรมมานาน การก่อสร้างของท่านได้รับความร่วมมือจากพุทธศาสนิกชนเป็นอย่างดี เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงจัดงานฉลองและมอบให้ท่านครูบาแก้ว คนฺธวํงโส เจ้าอาวาสวัดพระเจ้าองค์หลวงเป็นผู้เอาใจใส่ดูแล ต่อมาท่านครูบาแก้วพร้อมด้วยท่านพระครูวรรณรังสี ได้ก่อสร้างพระวิหารขึ้นเพื่อสะดวกต่อการทำบุญ ตามประเพณีประจำปี ซึ่งได้กำหนดในเดือน 6 เหนือ ขึ้น 15 ค่ำ เป็นประจำทุกปี ในราว พ.ศ. 2497 (ซึ่งตรงกับสมัยที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2) ท่านพระครูวรรณรังสี เจ้าคณะตำบลดงเจน และเจ้าอาวาสในเขตปกครอง พร้อมด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พ่อค้า ประชาชน ได้พร้อมใจกันสร้างพระวิหารขึ้นใหม่ ซึ่งใช้เวลาในการก่อสร้าง 13 เดือนจึงเสร็จเรียบร้อย และใช้เป็นที่ทำบุญประเพณี สืบต่อมา

Google Maps. (2563). พิกัดแผนที่ชุมชนบ้านม่วงคำ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2563. เข้าถึงได้จาก https://www.google.com/maps

ประวัติจังหวัดในล้านนา จังหวัดพะเยา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2563. เข้าถึงได้จาก http://wiangsalanna.myreadyweb.com/

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพะเยา(2558). ประเพณีสรงน้ำพระธาตุภูซาง (พะเยา). (ออนไลน์). สืบค้นวันที่ 20 ธันวาคม 2563. เข้าถึงได้จาก https://www2.mculture.go.th/phayao/

องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแก้ว โทร. 0-5443-0900