กลุ่มชาติพันธุ์เยอที่อพยพมาจากอำเภอราษีไศล มีสำนึกของความเป็นเยอและยึดถือประเพณีดั้งเดิมของบรรพบุรุษ
ระเวียงเป็นชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่งที่ปรากฏในพื้นที่ของชุมชนในช่วงตั้งหมู่บ้าน ระเวียงเป็นคำเรียกในภาษาเยอ ขณะเดียวกันต้นระเวียงคนลาวอีสานก็เรียกว่า ต้นหนามแท่ง ด้วยภูมิประเทศของพื้นที่ที่มีหนองน้ำขนาดใหญ่และมีต้นหนามแท่งหรือต้นระเวียงขึ้นอยู่จำนวนมากจึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านหนองระเวียง”
กลุ่มชาติพันธุ์เยอที่อพยพมาจากอำเภอราษีไศล มีสำนึกของความเป็นเยอและยึดถือประเพณีดั้งเดิมของบรรพบุรุษ
ตั้งแต่พญากะตะศิลา ได้นำชาวเยออพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่บ้านเมืองคง ในเขตอำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ชาวเยอได้รวมตัวกันอย่างหนาแน่นและได้ขยายชุมชนออกไปตั้งหมู่บ้านใหม่บริเวณใกล้เคียง เมื่อปี พ.ศ. 2472 มีครอบครัวของชาวเยอจำนวน 3 ครอบครัว นำโดยนายลิตร คำพระ นายเลื่อน แสงแก้ว และนายลี นราวงศ์ อพยพมาจากบ้านเมืองคงเพื่อหนีภัยความแห้งแล้งและโรคห่าระบาดซึ่งชาวเยอเชื่อกันว่าเป็นการกระทำของผี การอพยพเป็นการเดินทางโดยใช้เกวียนและเดินเท้าใช้เวลาเดินทาง 4 วัน 4 คืน เพื่อติดตามชาวเยออีกกลุ่มที่อพยพมาตั้งบ้านเรือนที่บ้านหัวหมู ตำบลปะหลาน อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม โดยมีจุดประสงค์เพื่อหาทำเลที่ตั้งหมู่บ้านใหม่ ในที่สุดก็ได้พื้นที่ในการตั้งหมู่บ้านใหม่ที่อยู่ห่างจากบ้านหัวหมูไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 8 กิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าและยังไม่มีใครจับจองเป็นพื้นที่อยู่อาศัย อาหารการกินจำพวกของป่า สัตว์ต่าง ๆ ก็มีความอุดมสมบูรณ์ ประกอบกับพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่โคกเนินจึงเหมาะแก่การตั้งหมู่บ้าน อีกทั้งยังมีหนองน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่และมีต้นไม้ชนิดหนึ่งขึ้นอยู่จำนวนมากคือต้นหนามแท่งเป็นชื่อที่คนลาวอีสานเรียก ชาวเยอเรียกว่า “ต้นระเวียง” มีลักษณะเป็นไม้พุ่มเตี้ยมีหนามยาวผลกลมชาวบ้านนำมาซักผ้าแทนสบู่และมีสรรพคุณเป็นสมุนไพรยาแก้เลือดได้ ดังนั้นเมื่อกลุ่มชาวเยอเลือกพื้นที่ดังกล่าวตั้งชุมชนจึงตั้งชื่อของชุมชนว่า “บ้านหนองระเวียง”
การขยายตัวของบ้านหนองระเวียงในช่วงปี พ.ศ. 2487 กล่าวคือในช่วงปี พ.ศ. 2485-2486 ชาวเยอจากอำเภอราษีไศลถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารและได้ประจำการที่จังหวัดเพชรบูรณ์มีการพยายามสร้างเมืองเพชรบูรณ์ให้เป็นเมืองหลวงของไทยในสมัยจอมพล ป พิบูลสงคราม ชาวเยอที่ถูกเกณฑ์ไปเป็นไข้มาลาเรียจำนวนมากรวมถึงในช่วงเวลานั้นในเขตอำเภอราศีไศลเกิดความแห้งแล้งและโรคระบาดทำให้มีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก กลุ่มชาวเยอในอำเภอราศีไศลจำนวนมากอพยพหนีภัยแล้งและโรคระบาดมาอยู่ที่บ้านหนองระเวียงจำนวนมาก ส่งผลให้ชุมชนบ้านหนองระเวียงมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วและกลายเป็นหมู่บ้านหลักของกลุ่มชาติพันธุ์เยอในเขตอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม จากการอพยพของชาวเยอมายังบ้านหนองระเวียงนี้เองส่งผลให้มีการขยายตัวของชาวเยอในเขตหมู่บ้านต่าง ๆ ใกล้เคียง เช่น บ้านหนองลุมพุก บ้านยางพันชาด บ้านหนองไผ่ บ้านโนนใหญ่ บ้านหัวหนอง เป็นต้น
บ้านหนองระเวียงเป็นหมู่บ้านที่มีลักษณะการตั้งหมู่บ้านเป็นแบบกระจุก ตั้งอยู่บนที่เนินซึ่งลักษณะการตั้งหมู่บ้านแบบนี้พบเห็นโดยทั่วไปในหมู่บ้านในภาคอีสาน บ้านหนองระเวียงมีอาณาเขตติดกับหมู่บ้านอื่นดังนี้
- ทิศเหนือ ติดกับ บ้านหนองลุมพุก เป็นหมู่บ้านชาวเยอ
- ทิศใต้ ติดกับ บ้านหนองหญ้าหวาย เป็นหมู่บ้านของลาวอีสาน
- ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านยางพันชาด เป็นหมู่บ้านชาวเยอ
- ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านโนนใหญ่ เป็นหมู่บ้านชาวเยอ
ความเชื่อเรื่องผี,ชุมชนชาติพันธุ์เยอ
ภาษาพูดใช้ภาษาเยอรวมทั้งภาษาอีสาน(กรณีพูดกับลาวอีสาน) หากแต่ปัจจุบันภาษาลาวอีสานมีบทบาทเป็นภาษาพูดหลักของคนในชุมชนภาษาเยอเริ่มเลือนหายและไม่ค่อยมีคนใช้เท่าใดนัก เมื่อชาวเยอพูดภาษาอีสานจะมีสำเนียงที่แตกต่างออกไปโดยจะมีเสียงที่เหน่อและสั้นห้วนกว่า ส่วนภาษาไทยเป็นภาษาที่ใช้ในราชการ
พญากะตะศิลา ผีบรรพบุรุษของชาวเยอบ้านหนองระเวียง ศาลของพญากะตะศิลาตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองคง อำเภอราศีไศล จังหวัดศรีสะเกษ มีการจัดพิธีเลี้ยงผีพญากะตะศิลาเป็นประจำทุกปี ซึ่งจะจัดขึ้นในวันเพ็ญเดือน 3 หรือวันมาฆบูชา ชาวเยอที่อาศัยอยู่ต่างพื้นที่ซึ่งรวมทั้งชาวเยอที่บ้านหนองระเวียงจะเดินทางเพื่อไปร่วมพิธีกรรมดังกล่าวเป็นประจำทกปีเพราะถือว่าเป็นผีสำคัญของกลุ่มชาติพันธุ์เยอ
ทวีศักดิ์ บุญสู่. (2537). ความเชื่อของชาวเยอ:ศึกษาเฉพาะกรณีหมู่บ้านหนองระเวียงหมู่ที่ 4 ตำบลเวียงชัย อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม. ปริญญานิพนธ์วิชาเอกไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม
ปลาส้ม วิสาหกิจชุมชนบ้านหนองระเวียง ตำบลเวียงชัย พยัคฆภูมิพิสัย. เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/