ชุมชนชนบทดั้งเดิม มีวัฒนธรรมอย่างคนอีสาน
ในการตั้งบ้านช่วงแรกของชุมชนมีหนองน้ำสำคัญในพื้นที่คือ หนองสามพันค่า ซึ่งอยู่ห่างจากพื้นที่ตั้งบ้าน จึงมีการขุดหนองคูขึ้นเพื่อใช้ในชุมชนและได้ตั้งชื่อหมู่บ้านตามหนองน้ำที่ขุดขึ้นว่า “บ้านหนองคูใหญ่”
ชุมชนชนบทดั้งเดิม มีวัฒนธรรมอย่างคนอีสาน
บ้านหนองคูใหญ่ เป็นบ้านเก่าที่มีผู้คนมาตั้งชุมชนแต่โบราณ มีหลายกลุ่มที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ซึ่งแบ่งได้ 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มที่มาจากบ้านไร่เดิม ตำบลเขวาไร่ อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม กลุ่มที่มาจากบ้านดินแดนสวนมอน อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด และกลุ่มที่มาจากบ้านหนองอุ่ม หนองซอน อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม แต่คนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่มาจากบ้านไร่เดิม
ที่ตั้งหมู่บ้านเป็นที่ราบสูงติดกับโคกดงใหญ่ ปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่ไร่นาของชาวบ้าน มีหนองน้ำอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของหมู่บ้าน ซึ่งติดกับวัด เรียกหนองนี้ว่า หนองคู และอีกหนองน้ำแห่งหนึ่งที่ไกลออกไปจากหมู่บ้านเรียกว่า หนองสามพันค่า ก่อนตั้งชุมชนแห่งนี้กลุ่มคนจากบ้านไร่เดิมได้เห็นที่ดินและหนองน้ำและมีกู่ศักดิ์สิทธิ์ชื่อว่า กู่สามพันค่า
บ้านหนองคูใหญ่แบ่งพื้นที่ออกเป็นคุ้ม ดังนี้
- คุ้มวัดหรือคุ้มหนองคู
- คุ้มกลาง
- คุ้มหนองหว้า
- คุ้มหนองนกกะทา
- คุ้มเหล่าผักเผ็ด
- คุ้มหัวนาไทย
ภายหลังชุมชนบ้านหนองคูใหญ่เกิดเหตุการณ์โรคระบาด คือ โรคห่าขี้แหลว “อหิวาตกโรค” ชาวบ้านจึงแยกไปตั้งหมู่บ้านเล็ก ๆ ตามหัวไร่ปลายนาของตน เมื่อปี พ.ศ. 2513-2518 ประกอบกับเกิดฝนแล้งติดต่อกันผู้คนจึงย้ายออกจากชุมชนไปหาที่ทำกินใหม่ คือ จังหวัดเพชรบูรณ์ ลพบุรี เป็นต้น
- เดือนอ้าย : บุญข้าวกรรม
- เดือนยี่ : บุญคูนลาน
- เดือนสาม : บุญข้าวจี่
- เดือนสี่ : บุญเผวส
- เดือนห้า : บุญสงกรานต์
- เดือนหก : บุญบั้งไฟ
- เดือนเจ็ด : บุญชำฮะ
- เดือนแปด : บุญเข้าพรรษา
- เดือนเก้า : บุญข้าวประดับดิน
- เดือนสิบ : บุญข้าวสาก
- เดือนสิบเอ็ด : บุญออกพรรษา
- เดือนสิบสอง : บุญกฐิน
คนในชุมชนใช้ภาษาลาวอีสานในการสื่อสารประจำวันและใช้ภาษาไทยเป็นภาษาราชการ
จันทร์เพ็ญ เทียงดาห์. (2528). ประวัติหมู่บ้านหนองคูใหญ่ ต.หนองคูขาด อ.บรบือ จ.มหาสารคาม. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม
อุโบสถวัดหนองคูใหญ่.(2565). สืบค้นเมื่อวันที่21 กันยายน 2566. เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/photo/