พื้นที่ราบลุ่ม ลักษณะเป็นดินร่วนอยู่โดยรอบหมู่บ้าน เหมาะแก่การเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ทั้งยังมีประเพณีวัฒนธรรมตามวิถีล้านนา
เดิมชื่อหมู่บ้านจันต๊ะวิมานคำ ชาวบ้านได้พิจารณาและเห็นว่าชื่อไม่เหมาะสมกับหมู่บ้านจึงได้มีการลงมติตั้งชื่อใหม่ว่า บ้านชัยภูมิ ซึ่งเดิมทีนั้นอยู่ในตำบลสันนกกก อำเภอพะเยาจังหวัดเชียงราย และมีการพิจารณาตั้งชื่อหมู่บ้านอีกครั้งโดยมีชื่อว่า "บ้านต๊ำนกกก" ชื่อ "ต๊ำ" มาจาก "น้ำตกขุนต๊ำ" นกกก คือ นกชนิดหนึ่งที่มีหงอน ชอบมาหากินปลาบริเวณลำน้ำอิงที่ไหลผ่านหมู่บ้าน เวลาบินไปมาก็ส่งเสียง กก กก กก ชาวบ้านจึงตั้งซื่อว่า "บ้านต๊ำนกกก" ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ภายหลังเมื่อแยกตำบลใหม่จึงมาขึ้นอยู่กับตำบลท่าจำปี
พื้นที่ราบลุ่ม ลักษณะเป็นดินร่วนอยู่โดยรอบหมู่บ้าน เหมาะแก่การเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ทั้งยังมีประเพณีวัฒนธรรมตามวิถีล้านนา
ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2453 บ้านต๊ำนกกก เดิมชื่อหมู่บ้านจันต๊ะวิมานคำ ชาวบ้านได้พิจารณาและเห็นว่าชื่อไม่เหมาะสมกับหมู่บ้าน จึงได้มีการลงมติตั้งชื่อใหม่ว่า บ้านไชยภูมิซึ่งเดิมทีนั้นอยู่ในตำบลสันนกกก อำเภอพะเยา จังหวัดเซียงราย และมีการพิจารณาตั้งชื่อหมู่บ้านอีกครั้งโดยมีชื่อว่าบ้านต๊ำนกกก สถานที่ตั้งบ้านนี้เป็นป่าต้นไผ่บง ต้นมื่น ต้นมะค่า ป่าหญ้ารกร้าง ที่ราบลุ่มแม่น้ำอิง ขุ่นต๊ำมีน้ำโดยรอบ ได้มีพระครูบาอินโต ไม่ทราบนามสกุลเป็นคนบ้านต๊ำเหล่าได้เกณฑ์ราษฎรบ้านต๊ำเหล่า บ้านตำป่าลาน บ้านดอนมูลมาช่วยกันล้มป่าต้นไผ่บง ต้นมื่น ต้นมะค่า ป่าหญ้ารกร้างเพื่อสร้างเป็นหมู่บ้าน เริ่มแรกมีบ้าน 5-6 หลังคาจากนั้นก็ได้เริ่มมีทายาทจึงได้แพร่ขยายครอบครัว เพิ่มครัวเรือนมาเรื่อย ๆ จึงพากันปลูก บ้านเล็ก ๆ ฝาผนังพื้นทำด้วยไม้ไผ่ หรือไม้ซาง หลังคาทำด้วยหญ้าคา ส่วนเสาเรือนก็เอาไม้ต้นเล็ก ๆ สร้างบ้านอยู่ และได้ตกลงกันยึดสถานที่นี้ปักหลักตั้งหน้าหาชีพกัน เช่น ทำนา ปลูกข้าวไว้กินกันและขยายกว้างออกไปปีละน้อย
พ.ศ. 2453 การเดินทางเข้าเมืองนั้นจะต้องข้ามผ่านแม่น้ำอิง ทำให้ชาวบ้านมีความยากลำบากในการเดินทางโดยแต่ละหมู่บ้านในตำบลท่าจำปีและตำบลใกล้เคียงจะต้องมาที่หมู่บ้านทุ่งกิ่วเพื่อมานั่งเรือข้ามฟากที่ท่าเรือไปในตัวเมืองพะเยา โดยตัวเมืองพะเยามี 3 ท่าเรือคือมีท่าเรือโรงพยาบาล ซึ่งปัจจุบันคือบริเวณห้องเก็บศพของโรงพยาบาลพะเยา ท่าเรือบาขาว ปัจจุบันคือหน้าลานอนุสาวรีย์พ่อขุนงำเมืองและท่าเรือหนองระบู เมื่อก่อนเป็นท่าเรือที่ติดกับโรงสีข้าวเมื่อชาวบ้านทำนาได้ผลผลิต จะนำมาขายที่โรงสีและจะซื้อแกลบข้าวที่โรงสีไปเป็นอาหารสัตว์ ปัจจุบันคือบริเวณ โรงแรมกรีนฮิลล์ โดยคิดค่าโดยสารเที่ยวละบาทใช้เวลาทั้งหมด 45 นาที พอขึ้นฝั่งถ้าต่อรถสามล้อไปโรงสีข้าว เที่ยวละบาท พอขากลับก็จะเก็บผักตบชวาและแหนมาเป็นอาหารหมูด้วย
พ.ศ. 2504 การฝังศพในหมู่บ้านจะใช้พื้นที่บ้านต๊ำเหล่า ต่อมามีนโยบายของรัฐบาลได้จัดตั้งโครงการปรับปรุงฌาปนสถานประจำหมู่บ้าน จึงได้ใช้พื้นที่ว่างของวัด มาเป็นสถานที่ฌาปนกิจของหมู่บ้านใช้การเผาศพโดยเริ่มจากการนำอิฐมาก่อต่อเป็นเชิงตะกอนและใช้มาจนถึงปัจจุบัน ในสมัยนั้นยังไม่มีสถานีอนามัยหรือโรงพยาบาล เมื่อเกิดการเจ็บป่วยขึ้นจะใช้สมุนไพรในการรักษาและใช้เวทมนตร์คาถาร่วมด้วย โดยมีหมอเมืองซึ่งเป็นหมอประจำหมู่บ้าน 2 คน เป็นผู้ทำการรักษา จนกระทั่งปี พ.ศ. 2515 มีการก่อตั้งสำนักผดุงครรภ์ขึ้นมาทำให้หญิงตั้งครรภ์ไปตรวจครรภ์ การเดินทางนั้นมีรถจักรยานยนต์คันแรกในหมู่บ้าน จากนั้นชาวบ้านก็เริ่มเก็บเงินเพื่อซื้อรถจักรยานยนต์เนื่องจากเห็นว่ามีความสะดวกสบายในการเดินทาง
พ.ศ. 2520 วันที่ 28 กรกฎาคม 2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ฯ มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งจังหวัดพะเยาตาม พระราชบัญญัติ เรื่อง ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520 ให้ไว้ ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2520 ประกอบด้วยอำเภอ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพะเยา อำเภอจุน อำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงม่วน อำเภอดอกคำใต้ อำเภอปง และอำเภอแม่ใจ และมีนายสัญญา ปาลวัฒน์วิไชย เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาคนแรก อำเภอแม่ใจ เมื่อแยกจากจังหวัดเชียงรายมาขึ้นยังจังหวัดพะเยา นายอำเภอแม่ใจขณะนั้นคือ นายเพชร ดิฐธาตรี (พระวิมลธรรมโมลี. 2546 : 138)
พ.ศ. 2521 มีโทรทัศน์เครื่องแรก ซึ่งเป็นเครื่องปั่นไฟ โดยชาวบ้านที่อยากดูละครจะไปรวมตัวกันเพื่อดูละครเนื่องจากบ้านอื่น ๆ ไม่มีโทรทัศน์
พ.ศ. 2524 มีไฟฟ้าเข้ามาในหมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านมีความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตมากยิ่งขึ้น และชาวบ้านที่พอมีกำลังทรัพย์มีการซื้อโทรทัศน์ไว้ประจำบ้านของตนเอง
พ.ศ. 2527 สำนักผดุงครรภ์ได้เปลี่ยนมาเป็นอนามัยท่าจำปี ทำให้เมื่อมีคนเจ็บป่วยเริ่มมีการไปใช้บริการมากกว่าพึ่งทางไสยศาสตร์ แต่ยังคงมีการใช้ไสยศาสตร์เช่น เมื่อเด็กน้อยร้องไห้ไม่หยุดพาไปหาหมอแล้วไม่พบความผิดปกติ ชาวบ้านจะพาไปหาหมอไสยศาสตร์
พ.ศ. 2528 ก่อตั้ง อสม. ตามแผนพัฒนาสุภาพทำให้ชาวบ้านเข้าถึงระบบสุขภาพมากขึ้น มีความรู้ในเรื่องสุขภาพมากขึ้น โดย อสม. จะเป็นผู้นำความรู้ด้านสุขภาพเข้ามาเผยแพร่ในหมู่บ้าน
พ.ศ. 2530 มีถนนคอนกรีตแทนถนนดินแดง ทำให้มีรถยนต์คันแรกของหมู่บ้าน และมีรถสองแถวรับส่งชาวบ้านเข้าไปในเมือง ชาวบ้านจึงมีการใช้เรือลดลง
พ.ศ. 2532 มีการก่อตั้งธนาคารข้าวหมู่บ้าน โดยให้ชาวบ้านเอาข้าวไปรวมกัน เมื่อยามขัดสน สามารถมายืมได้โดยเมื่อนำมาคืนต้องคืนเพิ่มจากที่ยืม เช่นยืม 8 ถัง ต้องนำมาคืน 9 ถัง
พ.ศ. 2541 มีการสร้างสะพานขุนจอมธรรมข้ามแม่น้ำอิง ทำให้ชาวบ้านเข้าออกหมู่บ้านเพื่อเข้าเมืองสะดวกมากขึ้น
พ.ศ. 2544 ก่อตั้งกองทุนเงินล้านทำให้ประชาชนมีแหล่งเงินทุนหมุนเวียน สำหรับการลงทุนสำหรับพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ หรือ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย บรรเทาเหตุฉุกเฉิน และจำเป็นเร่งด่วนเสริมสร้างกระบวนการพึ่งพาตัวเองของหมู่บ้านและชุมชนเมือง
พ.ศ. 2545 ก่อตั้งกลุ่มจักสานและผักตบชวา ทำให้ประชาชนมีรายได้ในการสานกระเป๋าจากผักตบชวาส่งออกโดยมีพ่อค้าคนกลางเข้ามารับของ
พ.ศ. 2548 หมู่บ้านได้รับการยกย่องเป็นหมู่บ้านปลอดสารเสพติด ทำให้ในหมู่บ้านนั้นตระหนักและเห็นความสำคัญของการงดเว้นสารเสพติด
พ.ศ. 2550 เกิดไข้เลือดออกระบาด อสม. จึงมีการรณรงค์ให้กำจัดยุงลาย ทำให้แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายนั้นลดลง ประชาชนมีความตระหนักถึงโทษของสัตว์พาหะนำโรค
พ.ศ. 2551 ก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์ ทำให้ส่งเสริมให้ประชาชนมีการประหยัดและออมเงินในรูปเงินสัจจะ ให้บริหารเงินทุนสนับสนุนการประกอบอาชีพและสวัสดิการของสมาชิก ให้มีประสบการณ์ในการบริหารและจัดทำเงินทุนด้วยตนเองส่งเสริมให้มีความสามัคคี การทำงานร่วมกัน และการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ให้มีประสบการณ์ในการบริหาร และจัดการเงินทุนของตนเอง ในเวลาเดียวกันได้มีการแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านคนใหม่คนที่ 4 นายชาติชาย ทุ่มพริก เนื่องจากผู้ใหญ่บ้านคนก่อนหน้านี้เสียชีวิต
พ.ศ. 2554 สถานีอนามัยตำบลท่าจำปี ได้รับงบประมาณจากกระทรวงสาธารณสุขให้ก่อสร้างสถานีอนามัย ขอแทนเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น ในปีต่อ 1 มาสถานีอนามัยตำบลท่าจำปี ได้ร่วมมือกับ อสม. ผู้สูงอายุประชาชนทั่วไปร่วมกันพัฒนาปรับปรุงอาคารและบริเวณโดยรอบเพื่อให้เกิดความสะดวกสบายแก่ผู้มารับบริการเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันและได้เปลี่ยน จากสถานีอนามัยเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เพื่อปฏิรูปสุขภาพคนไทยตามนโยบายของกระทรวง สาธารณสุขร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพและสำนักงานหลักประกันสุขภาพ แห่งชาติ
พ.ศ. 2560 มีการเจาะบาดาลสร้างน้ำประปาหมู่บ้านเพื่อให้ประชาชนได้มีน้ำใช้กันอย่างเพียงพอเนื่องจากบางหลังคาเรือนไม่มีน้ำบ่อ หรือน้ำบ่อไม่สะอาด หรือมีไม่เพียงพอต่อการใช้งาน
พ.ศ. 2561 มีการสร้างคลองคอนกรีตผ่านหน้าบ้านแต่ละหลัง ทำให้แก้ปัญหาน้ำท่วมบ้านเรือนเนื่องจากน้ำระบายออกไม่ทัน หลังจากมีการสร้างคลองคอนกรีตทำให้ไม่ประสบปัญหาน้ำท่วมหมู่บ้านอีก
พ.ศ. 2562 มีการจัดทำน้ำดื่มประชารัฐทำให้ประชาชนเปลี่ยนมาดื่มน้ำแบบสำเร็จรูป ไม่บริโภคน้ำบ่อและน้ำฝน
สภาพทางภูมิศาสตร์ พื้นที่ส่วนใหญ่ของหมู่บ้านต่ำนกกกเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำพื้นดินเป็นดินร่วน มีพื้นที่เกษตรกรรมอยู่โดยรอบหมู่บ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีทุ่งนา แต่ไม่มีป่าไม้ หรือแหล่งน้ำใหญ่ในหมู่บ้าน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอเมืองพะเยา เส้นทางที่สามารถเดินทางไปบ้านต๊ำนกกกมีทั้งหมด 2 เส้นทาง โดยจุดเริ่มตันอยู่ที่ศูนย์ราชการจังหวัดพะเยา ดังนี้ เส้นทางที่ 1 สามารถเดินทางเข้าหมู่บ้านต๊ำนกกกได้โดยเข้าทางถนนพหลโยธิน ที่บ้านห้วยเคียน เส้นทางที่ 2 สามารถเดินทางเข้าหมู่บ้านต๊ำนกกกได้โดยเข้าทางบ้านน้ำล้อมที่อำเภอเมืองจังหวัดพะเยา
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดกับ บ้านห้วยเคียน หมู่ที่ 10 ตำบลท่าจำปี อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
- ทิศใต้ ติดกับ บ้านต๊ำป่าลาน หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านต๊ำ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
- ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านห้วยเคียน หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านต๊ำ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
- ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านต๊ำเหล่าหมู่ที่ 2 ตำบลท่าจำปี อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
การคมนาคม ถนนในหมู่บ้านเป็นถนนคอนกรีต มีบางสายที่เป็นดินแดง ถนนสายหลักกว้าง ประมาณ 3 เมตรประชาชนส่วนใหญ่ใช้รถจักรยาน และรถจักรยานยนต์เป็นพาหนะ ทางเข้าสู่หมู่บ้านสองข้างทางส่วนใหญ่เป็นทุ่งนา และร่องน้ำมีน้ำไหลบางช่วง
จากการสำรวจของนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีพะเยา ปี 2562 มีบ้านเรือนทั้งหมด 114 หลังคาเรือน จำนวนประชาการที่อาศัยอยู่จริงทั้งหมด 359 คน เพศชาย 165 คน เพศหญิง 164 คน ประชากรที่อาศัยอยู่ที่บ้านบ้านต๊ำนกกกเป็นคนพื้นเมือง พูดภาษาถิ่นในการติดต่อสื่อสาร มีการตั้งบ้านเรือนเป็นกลุ่มตามเครือญาติ พื้นที่ส่วนใหญ่ของชุมชนมีความอุดมสมบูรณ์ ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร พื้นที่หมู่บ้านมีทั้งหมด 1,100 ไร่ พื้นที่ทำการเกษตร 800 ไร่ เป็นที่อยู่อาศัย 300 ไร่
การบริหารการจัดการดูแลในหมู่บ้าน มีคณะกรรมการหมู่บ้านในการดำเนินการเป็นหลัก
ผู้ใหญ่บ้าน : นายชาติชาย พุ่มพริก
กลุ่มที่เป็นทางการ
- กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) : นางพาณิภัค สุวรรณ์ เป็นประธาน มี อสม. รวมประธานทั้งสิ้น 15 คน
- คณะกรรมการชรบ. และ สตม. : นายบุญสม พุ่มพริก เป็นประธาน
- อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน : นายรุ่งปัญญา ใจมั่น เป็นประธาน
- คณะกรรมการการป้องกันและต่อต้านยาเสพติดระดับหมู่บ้าน : นายชาติชาย พุ่มพริก เป็นประธาน
กลุ่มที่ไม่เป็นทางการ
- กลุ่มผู้สูงอายุ : นายบุญมี เข่งค้า เป็นประธาน มีสมาชิก 84 คน
- กลุ่มเยาวชน : นายไพโรจน์ รัศมี เป็นประธาน
- กลุ่มแม่บ้าน และกลุ่มการพัฒนาสตรีหมู่บ้าน : นางจิราพร ทุ่มพริก เป็นประธานทั้ง 2 กลุ่ม
- กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต : นางพาณิภัค สุวรรณ์ เป็นประธาน
- กลุ่มจักสาน : นางจำเนียร สุขแก้ว เป็นประธาน
- ลูกเสือชาวบ้าน : นายวิวัฒน์ ชาวดอน เป็นประธาน
วิถีทางเศรษฐกิจ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม เกี่ยวกับการทำนา มีการทำตลอดทั้งปี คือ ปลูกผักสวนครัว ปลูกฝรั่ง จักสานบัวลอย รับจ้าง ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมจะมีการเก็บลำไย ในเดือนมิถุนายนถึงเดือนพฤศจิกายนจะทำนาปี และเดือนธันวาคมถึงเดือนเมษายนจะมีการหาปลา ส่วนหนึ่งประกอบอาชีพด้านการประมงน้ำจืด คือ การหาปลาในลำน้ำอิง ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านไปทางทิศตะวันออกเล็กน้อย และบางส่วนประกอบอาชีพกรรมกรรับจ้าง
วัฒนธรรมประเพณีแบบล้านนา
- เดือนมกราคม (เดือน 4 ล้านนา) : วันขึ้นปีใหม่, กลางเดือนจัดทำพิธี “ตานข้าวใหม่”
- เดือนกุมภาพันธ์ (เดือน 5 ล้านนา) : เก็บส้มป่อยศักดิ์สิทธิ์ เป็นการเก็บในวันที่สำคัญของวันใดวันหนึ่งของเดือนเพื่อความศักดิ์สิทธิ์ในการนำส้มป่อยในประกอบพิธีต่าง ๆ, บวงสรวงศาลเจ้าบ้าน
- เดือนมีนาคม (เดือน 6 ล้านนา) : สรงน้ำพระธาตุ
- เดือนเมษายน (เดือน 7 ล้านนา) : ปีใหม่เมือง ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง หรือประเพณีปีใหม่เมือง เป็นประเพณีที่สำคัญของชาวเหนือ หรือชาวล้านนา สืบเนื่องมาจากอดีตกาลที่จะยึดถือเป็นช่วงเปลี่ยนศักราชใหม่ โดยกำหนดจุดที่พระอาทิตย์ย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ ซึ่งมักจะตรงกับวันที่ 13 เมษายน หรือ 14 เมษายนของแต่ละปี และจะกินเวลาประมาณ 4-7 วัน ยาวนานกว่าสงกรานต์ของภาคอื่น ๆ
วันที่ 13 เมษายน วันสังขานต์ล่อง จะมีการจุดประทัด ยิงปืน เพื่อส่งสังขารหรือไล่สังขาร (จะถือเอาตามเวลาสังขานต์ล่องตามที่บอกในปฏิทินปี๋ใหม่เมืองในปีนั้น เช่น บอกว่าสังขานต์จะล่องเมื่อ 03 นาฬิกา 30 นาที 26 วินาที ชาวบ้านก็จะจุดประทัดเวลานั้นถือว่าไล่สังขานต์)
วันที่ 14 เมษายน เป็น "วันดา" คือวันที่ต้อง เตรียมสิ่งของต่าง ๆ เพื่อใช้ทำบุญในวันรุ่งขึ้น วันเน่า ไม่ควรด่าทอ เกิดอุบัติเหตุเจ็บตัว สาปแช่งหรือกล่าวคำร้ายต่อกัน ปากจะเน่าจะเหม็น เป็นอัปมงคลไปทั้งปี
วันที่ 15 เมษายน "วันพญาวัน" วันที่สามของประเพณีปีใหม่เมือง ถือเป็นวันเถลิงศก เปลี่ยนศักราชเริ่มต้นปีใหม่ วันนี้มีการทำบุญทางศาสนาแต่เช้าตรู่ และอุทิศกุศลไปถึงญาติผู้ล่วงลับ หรือเรียกว่า “ตานขันข้าว” นำตุงปักลงบนกองเจดีย์ทราย ช่วงบ่ายเป็นการรดน้ำดำหัว เพื่อขอขมาคนเฒ่าคนแก่ พ่อแม่ ครูอาจารย์ ไปสรงน้ำพระพุทธรูป เจดีย์ เลี้ยงผีปู่ย่าในวันนี้
วันที่ 16 เมษายน "วันปากปี" เป็นวันแรกของปี มารวมตัวกันเพื่อทำบุญเสาใจบ้าน หรือส่งเคราะห์บ้าน พิธีสืบชะตาหมู่บ้าน และพากันไปขอขมา ดำหัว พระเถระผู้ใหญ่ตามวัดต่าง ๆ ดำหัวผู้อาวุโส ผู้นำชุมชน ในตอนค่ำของวันนี้จะมีการบูชาเทียน สืบชะตา ลดเคราะห์ รับโชค เพื่อให้เกิดความเป็นมงคลแก่ครอบครัว โดยในวันปากปีมีความเชื่อบางประการเกี่ยวกับ “แกงขนุน” หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า “แก๋งบ่าหนุน” ที่จะกินกันทุกครอบครัว เพราะเชื่อว่าจะหนุนชีวิตให้เจริญก้าวหน้า ทั้งนี้เหตุผลของการทานแกงขนุนดังกล่าว อาจจะมาจากชื่อขนุน ที่มีความหมายถึงการเกื้อหนุน ค้ำจุน ครอบครัวให้เจริญรุ่งเรืองหรือตลอดปี
- เดือนพฤษภาคม (เดือน 8 ล้านนา) : เลี้ยงผีเจ้าที่
- เดือนมิถุนายน (เดือน 9 ล้านนา) : ประเพณีเลี้ยงผีปู่ย่า ไหว้ผีมดผีเม็ง, เลี้ยงเจ้าที่นา เลี้ยงผีขุนน้ำ
- เดือนกรกฎาคม (เดือน 10 ล้านนา) : แรม 1 ค่ำ เดือน 8 ทำบุญเข้าพรรษา
- เดือนสิงหาคม (เดือน 11 ล้านนา) : ช่วงเดือนนี้จะอยู่ในช่วงเข้าพรรษา มีการทำบุญตักบาตร
- เดือนกันยายน (เดือน 12 ล้านนา) : ปล่อยเปรตปล่อยผี ทำบุญให้กับคนที่ล่วงลับไปแล้ว, ตานก๋วยสลาก ช่วงเดือน 12 ล้านนาถึงเดือนยี่ หรือตั้งแต่เดือนกันยายนจนถึงเดือนตุลาคมของทุกปี
- เดือนตุลาคม (เดือน 1 ล้านนา) : ทำบุญออกพรรษา อยู่ในช่วงตานก๋วยสลาก สิ้นสุดเอาในเดือนเกี๋ยงดับ
- เดือนพฤศจิกายน (เดือน 2 ล้านนา) : ทอดกฐิน มีเวลา 1 เดือนหลังจากออกพรรษา ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือนเกี๋ยง (เดือนเกี๋ยงดับ) จนถึงวันเพ็ญเดือนยี่เหนือ, ประเพณียี่เป็ง
- เดือนธันวาคม (เดือน 3 ล้านนา) : มีการร่วมกันเก็บเกี่ยวข้าว ลงแขกเอามื้อ
- แม่น้ำอิง
- พื้นที่ทำการเกษตร มีจำนวน 1,100 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำพื้นดินเป็นดินร่วน มีความอุดมสมบูรณ์ใช้ทำการเกษตร
- ศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิตวัดต๊ำนกกก
ภาษาพื้นเมืองล้านนา
Google Maps. (2562). พิกัดแผนที่ชุมชนบ้านแม่ต๊ำนกกก. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2562. เข้าถึงได้จาก https://www.google.com/maps
ประวัติจังหวัดในล้านนา จังหวัดพะเยา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2562. เข้าถึงได้จาก http://wiangsalanna.myreadyweb.com/
ศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิตวัดต๊ำนกกก. เข้าถึงได้จาก https://www.google.co.th/travel/