Advance search

ชุมชนบ่านซ้านจุ้ยตุ่ย เป็นย่านการค้าและเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น ในพื้นที่ย่านเมืองภูเก็ต อาทิ ตลาดสดสาธารณะ เทศบาล 1 หรือ ชุมชนท้องถิ่น เรียกว่า "ตลาดบ่านซ้าน" รวมถึงสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรม ประกอบด้วย ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง วัดขจรรังสรรค์ พิพิธภัณฑ์บ้านชินประชา เป็นต้น นอกจากนี้ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางรถโดยสารสาธารณะ หรือ "รถโพถ้อง" รับ-ส่ง จากย่านเมืองภูเก็ตไปยังแหล่งท่องเที่ยวและชุมชนต่าง ๆ ในจังหวัดภูเก็ต

ตลาดใหญ่
เมืองภูเก็ต
ภูเก็ต
ทน.ภูเก็ต โทร. 0-7621-2196
ธำรงค์ บริเวธานันท์
19 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
22 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
19 ก.ค. 2023
บ่านซ้านจุ้ยตุ่ย

ชุมชนบ่านซ้านจุ้ยตุ่ย ก่อตั้งอย่างเป็นทางการ ปี พ.ศ. 2565 เป็นส่วนหนึ่งของ 31 ชุมชนเมือง ภายใต้การดูแลของเทศบาลนครภูเก็ต สาเหตุที่ใช้ชื่อ ชุมชนบ่านซ้านจุ้ยตุ่ย เพราะเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญ 2 แห่ง คือ ตลาดบ่านซ้าน และ  ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง จากความสำคัญของทั้งสองสถานที่ จึงเป็นที่มาของชื่อ "ชุมชนบ่านซ้านจุ้ยตุ่ย" ดังนี้

ย้อนไปในอดีตย่านนี้เป็นที่ตั้งถิ่นฐานของชุมชนชาวจีนบ๊าบ๋าภูเก็ตสืบเนื่องมายังลูกหลานกระทั่งปัจจุบัน สมาชิกชุมชนประกอบอาชีพการค้าขายทั้งพืชผลทางการเกษตร อาหารแห้ง อาหารสดต่าง ๆ รวมถึงการทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ในจังหวัดภูเก็ต  ซึ่งไม่เฉพาะสมาชิกชุมชนที่อาศัยในละแวกบ่านซ้านที่ประกอบอาชีพค้าขาย ยังรวมถึงชาวภูเก็ตที่ทำการเกษตรกรรม การประมง แปรรูปสินค้าประมง นำสินค้าจากท้องถิ่นมาค้าขายยังบ่านซ้าน จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของชุมชนจึงเป็นที่มาของการเรียกชื่อชุมชนนี้ว่า ชุมชนบ่านซ้าน มีรากศัพท์มาจากคำว่า Bazaar หมายถึง ตลาด หรือ ชาวภูเก็ตเรียกย่านการค้าบริเวณชุมชนนี้ว่า ตลาดบ่านซ้าน

ดังกล่าวข้างต้นนี้ผนวกกับในละแวกการตั้งถิ่นฐานของชุมชนจีนบ๊าบ๋าภูเก็ตในย่านบ่านซ้าน เป็นที่ตั้งของศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้งซึ่งตั้งอยู่บริเวณเนินเป๊งหย่องซ้าน ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้งจึงทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมของชุมชนทั้งด้านการเสริมสร้างความสามัคคีของชุมชน การเป็นศูนย์กลางด้านจิตใจ การเป็นสถานที่รักษาเยียวยาอาการป่วยไข้ สถานที่ประกอบพิธีกรรมตามความศรัทธาของชุมชน เช่น เทศกาลกินผัก วันตรุษจีน สมาชิกในชุมชนต่างเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมของศาลเจ้าจุ้ยตุ่ย หรือแม้ในช่วงที่ไม่ใช่เทศกาลศาลเจ้ายังเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจให้แก่สมาชิกในชุมชนและละแวกใกล้เคียง ดังนั้นความสัมพันธ์นี้จึงเป็นที่มาของการตั้งชื่อชุมชนว่า ชุมชนบ่านซ้านจุ้ยตุ่ย


ชุมชนบ่านซ้านจุ้ยตุ่ย เป็นย่านการค้าและเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น ในพื้นที่ย่านเมืองภูเก็ต อาทิ ตลาดสดสาธารณะ เทศบาล 1 หรือ ชุมชนท้องถิ่น เรียกว่า "ตลาดบ่านซ้าน" รวมถึงสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรม ประกอบด้วย ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง วัดขจรรังสรรค์ พิพิธภัณฑ์บ้านชินประชา เป็นต้น นอกจากนี้ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางรถโดยสารสาธารณะ หรือ "รถโพถ้อง" รับ-ส่ง จากย่านเมืองภูเก็ตไปยังแหล่งท่องเที่ยวและชุมชนต่าง ๆ ในจังหวัดภูเก็ต

ตลาดใหญ่
เมืองภูเก็ต
ภูเก็ต
83000
7.883200
98.383113
เทศบาลนครภูเก็ต

ประวัติชุมชนบ่านซ้านจุ้ยตุ่ย จากการสัมภาษณ์ความเป็นมาของชุมชน โดยใช้วิธีการในเชิงประวัติศาสตร์บอกเล่าจากผู้ที่อาศัยในชุมชนละแวกศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้งและตลาดบ่านซ้านครั้งอดีต ซึ่งยังไม่ก่อตั้งชุมชนอย่างเป็นทางการ ประวัติศาสตร์จากชุมชนเป็นดังนี้

เนื่องจากศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยย้ายจากบริเวณ “หั่งอาหล่าย” หรือ ซอยรมย์มณี บริเวณกลางถนนถลางย่านเมืองเก่าในปัจจุบัน ครั้งเหตุการณ์ไฟไหม้ศาลเจ้า ปี พ.ศ. 2451 เป็นต้นมา ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยได้ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของผู้คนที่ตั้งถิ่นฐานละแวกเนิน “เป็งย่องซ้าน” และตลาดบ่านซ้าน

“อี๋เกิดที่บ่านซ้าน 3-4 ปี พอใหญ่ (อายุมากขึ้น) แล้วย้ายมาที่นี่”

“เมื่อก่อนแถวนี้เป็นป่าจากทั้งหมด น้ำท่วมตลอด ทางเดินเป็นทางดินเล็ก ๆ ”

“บ้านแถวนี้เป็นหลังคาจากหมด ใต้ถุนเป็นน้ำข้างบนเป็นไม้”

“หลวงเค้าถมดินทำถนน แล้วมาสร้างเป็นบ้านดิน แล้วมาเป็นบ้านปูน ปูนครึ่งไม้ครึ่ง หลังคาสังกะสี”

“แถวนี้เป็นคนจีนทั้งนั้น เช่าที่วัดสร้างบ้าน”

ภาพปะติดปะต่อ จากการพูดคุยทำให้สามารถร้อยรัดเรื่องราวประวัติของชุมชนละแวกนี้ และช่วยให้เราได้ภาพที่มีความชัดเจนยิ่งขึ้นเกี่ยวกับประวัติของชุมชน

จากสภาพหรือลักษณะพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่อยู่ติดกับคลองที่คนเก่าแก่เล่าว่า “เมื่อก่อนเรือสำเภา 3 – 4 กระโดง สามารถแล่นเข้ามาค้าขายขนส่งสินค้าในย่านนี้ เพื่อนำสินค้ามาส่งยังร้านค้าในตลาดบ่านซ้าน อาทิ เม็ดกาแฟ” ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าเพราะเหตุใดพื้นที่ละแวกศาลเจ้าจะเต็มไปด้วยป่าจาก การสัญจรจึงต้องเดินลัดเลาะไปตามเส้นทางดินที่เฉอะแฉะ ชาวบ้านที่ตั้งถิ่นฐานอาศัยบริเวณนี้จึงมีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการจับและขายปลา รวมถึงการทำตับจาก และที่หลีกไม่พ้นคือ การทำใบจากเพื่อสูบยา นอกจากศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบเก้ง สถานที่ที่รวมความสามัคคีของคนในละแวกนี้ วัดขจรรังสรรค์ เป็นอีกหนึ่งที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของผู้คนในละแวกนี้เช่นกัน 

ชาวบ้านที่ตั้งบ้านเรือนหลังวัด หรือ บริเวณที่ติดกับถนนระนองในปัจจุบันล้วนแล้วแต่อาศัยอยู่ในพื้นที่ของวัดขจรรังสรรค์ทั้งสิ้น วัดให้เช่าที่ดินราคาถูกปลูกสร้างบ้านเรือนกระทั่งปัจจุบัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2500 มีการปรับปรุงถนนให้ดีขึ้น วัดจึงสร้างกำแพงกั้นพื้นที่ระหว่าง วัด กับ บ้านเรือน ทว่าก่อนหน้านั้นพื้นที่เป็นผืนเดียวกัน

“เมื่อก่อนบ้านไม่ได้ยาวแบบนี้หรอก เป็นบ้านสั้น ๆ ” 

“ด้านหลังบ้านเป็นคลอง บ้านติดคลอง”

“ต่อมาใครมีเงินก็ถม ๆ ไปเรื่อย ๆ จนถมคลอง ใครถมก่อนก็ได้ก่อน บ้านไม่ได้ยาวเป็นแนวตรง จะเบี้ยว ๆ ”

บ้านที่อยู่ละแวกนี้จึงมีลักษณะยาวส่วนหน้าบ้านแคบ บ้านบางหลังอาจจะยาว 20 เมตร หรือมากกว่าก็เป็นไปได้ วัดไม่จำกัดการสร้างบ้าน (ยกบ้าน) ของชาวบ้าน ใครทำได้เท่าไรก็ทำไป การเก็บค่าเช่าจึงพิจารณาจากขนาดพื้นที่ที่ใช้ ฉะนั้นบ้านแต่ละหลังจึงจ่ายค่าเช่าให้กับวัดในราคาที่ไม่เท่ากันกระทั่งปัจจุบัน

“แถวนี้มีคนอยู่ไม่มาก” (แปะหิ้น อายุ 71 ปี)

“แถวถนนระนองมีบ้านอยู่ ยาวไปถึงตลาดบ่านซ้าน เค้าเช่าที่ดินวัด” 

“หลังศาลเจ้ามีบ้านคนเป็นหลังคาจาก มีบ้านคนหลังคาจาก”

“ข้างหลังมีบ้านมาเช่ายกบ้าน ด้านหลังเป็นป่ากล้วยหมดเลย ที่เป็นสวนรก ๆ ”

“สวนพลูก็ปลูกแซมในป่ากล้วย”

เมื่อขีดวงให้ศาลเจ้าเป็นศูนย์กลางในการทำความเข้าใจพื้นที่โดยรอบ รวมถึงชุมชนละแวกศาลเจ้า นอกจากสภาพพื้นที่ที่เป็นป่าต้นจากบริเวณหน้าศาลเจ้า รวมถึงบริเวณด้านหลังวัดขจรรังสรรค์ที่ชาวบ้านเช่าพื้นที่วัดปลูกสร้างบ้านเรือนแล้ว สามารถประติดประต่อพื้นที่ชุมชนได้ต่อเนื่องไปถึงบริเวณด้านหลังของศาลเจ้าพบว่า มีการอยู่อาศัยแบบกระจายโดยทั่วไป 

“ส่วนมากคนจีน บนศาลเจ้ามีเวทีลิเก บางปีมีหุ่นนิ้วจากเมืองจีนมาเล่น” (แปะหิ้น อายุ 71 ปี)

“เมื่อก่อนคนจีนมาก เวลาคุยกันพูดทั้งภาษาจีนภาษาไทย ใครพูดจีนได้ก็พูด” (นางเง็กกิ้ม แซ่ซื่อ อายุ 83 ปี)

การเข้ามาของคนจีนในจังหวัดภูเก็ตเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมายาวนาน เฉพาะอย่างยิ่งการเข้ามาทำเหมืองในภูเก็ต จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่พบความหลากหลายของผู้คน และการนันทนาการเพื่อผ่อนคลายความอ่อนล้าจากการทำงาน มหรสพจึงเป็นความสำคัญลำดับแรก ๆ ที่ช่วยผ่อนคลายความอ่อนล้าของผู้ที่จากบ้านมายังดินแดนอื่น ดังเหล่าบรรดาจีนโพ้นทะเลที่มาทำงานนอกบ้านเกิดเมืองนอน หุ่นนิ้ว กาเล่ (หุ่นชักแบบจีน) งิ้ว ลิเก หนังกลางแปลง มหรสพเหล่านี้ นอกจากชุมชนแต่ละแห่งเป็นเจ้าภาพในการจัดจ้างนักแสดง ศาลเจ้าก็เป็นอีกหนึ่งเจ้าภาพหลักในการจัดมหรสพเหล่านี้ ในงานวาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับศาลเจ้าเป็นการเฉลิมฉลองเพื่อความรื่นเริง แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างศาลเจ้ากับชุมชน

“เราเด็ก ๆ มาเล่นที่ “อ๊าม” (ศาลเจ้า) ทุกวัน” 

“เมื่อก่อนม้าทรงคนบ้านซ้านหมด”

“โกเต็กกี่” “โกฝา” “จิ้นเบ๋ง” “โกหวด” “โกโป้ลงบกเชี๊ยะ” (แปะหิ้น อายุ 71 ปี)

“เมื่อก่อนเราไปช่วยหุงข้าว”

“เรายกที่ดินให้อ๊ามเลย ตรงครัวด้านหลังน่ะ”

ประวัติศาสตร์บอกเล่าเกี่ยวกับชุมชน ความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนบ่านซ้านกับศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง ในฐานะพื้นที่ทางจิตวิญญาณ บอกเล่าผ่านการสนทนากับผู้ที่สามารถเรียกได้ว่า เป็นคนดั้งเดิม เกิดและเติบโตในพื้นที่ละแวกศาลเจ้าและตลาดบ่านซ้าน ซึ่งคนรุ่นเดียวกันย้ายถิ่นที่อยู่หรืออาจเสียชีวิตเรื่องราวจำนวนมากจึงค่อย ๆ ลบเลือนไป 

ขอบเขตชุมชนบ่านซ้านจุ้ยตุ่ย 

  • ทิศเหนือ จด ถนนบางกอก
  • ทิศตะวันออก จด หมู่บ้านแอดทาวน์ 2
  • ทิศตะวันตก จด สวนเฉลิมพระเกียรติ ร.9
  • ทิศใต้ จด ศูนย์ราชการจังหวัดภูเก็ต

ชุมชนบ่านซ้านจุ้ยตุ่ย

  • ถ.ระนอง ทั้ง 2 ฝั่งถนน ตั้งแต่ วงเวียนน้ำพุ  ถึง สามแยกปั๊มน้ำมันซิมจั่นเก่า
  • ถ.กระบี่ ทั้ง 2 ฝั่งถนน ตั้งแต่ สามแยกบ้านพระพิทักษ์(Blue elephant) ถึง สี่แยกอ๊ามจ้ออ๋อง
  • ถ.วิชิตสงคราม ทั้ง 2 ฝั่งถนน ตั้งแต่ สามแยกปั๊มน้ำมันซิมจั่นเก่า ถึง สี่แยกอ๊ามจ้ออ๋อง
  • ถ.ปฏิพัทธ์ ทั้ง 2 ฝั่งถนน ตั้งแต่ สี่แยกจ้ออ๋อง ถึง สี่แยกหยี่เต้ง(โรงฆ่าสัตว์เก่า)
  • ถ.บางกอก ทั้ง 2 ฝั่งถนน ตั้งแต่ สามแยกโรงเรียนเทศบาลเมือง ถึง วงเวียนน้ำพุ
  • ถ.เยาวราช ฝั่งซ้ายฝั่งเดียว(ฝั่งอั่งมอหลาวลิมปานนท์ หรือ ฝั่งธนาคารอิสลาม) ตั้งแต่ วงเวียนน้ำพุ ถึง สี่แยกร้านมือเยี่ยมเก่า
  • ซ.ภูธร ทั้ง 2 ฝั่งถนน ตั้งแต่ สามแยกอ๊ามปุดจ้อ ถึง สามแยก ร้านบางกอกมอเตอร์ไซค์เคิ้ล
  • กงก๊วน (หลังตลาดสดทั้งหมด) ถ.บางกอก ซอย2, ซอย4, ซอย6

รายงานฉบับสมบูรณ์ การฝึกปฏิบัติ 2 กองสวัสดิการสังคม เทศบาลนครภูเก็ต คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2565) พบว่า ชุมชนบ่านซ้านจุ้ยตุ่ย มีลักษณะความเป็นสังคมเมืองที่เน้นความเป็นส่วนตัวของปัจเจกบุคคล เน้นการพึ่งพาตนเองมากกว่าการพึ่งพาอาศัยกัน ลักษณะครอบครัวและการดําเนินชีวิต โดยมากเป็นครอบครัวแหว่งกลาง (Skipped-generation Households) กล่าวคือ ปู่ ย่า ตา ยายอาศัยอยู่กับหลาน ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรเดิมในพื้นที่ประมาณ 30-40 % จากจํานวนครัวเรือน 943 ครัวเรือนในชุมชน เนื่องจากกลุ่มวัยแรงงานที่เป็นพ่อ แม่ ไปทํางานในพื้นที่อื่น ซึ่งมีหลายส่วนที่มีเพียงผู้สูงอายุดําเนินชีวิตอยู่ในบ้าน หรือดําเนินธุรกิจครอบครัว เพราะสมาชิกในครอบครัวขยายออกไปดําเนินชีวิตในพื้นที่อื่น เช่น กรุงเทพมหานคร ชุมชนบ่านซ้านจุ้ยตุ่ยมีลักษณะของชุมชนผู้สูงอายุ นอกจากนี้จากการศึกษาพบว่า ประชากรในพื้นที่เป็นกลุ่มประชากรแฝงทั้งคนต่างพื้นที่และแรงงานต่างชาติที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนกว่า 60-70%  ส่วนอาคารบ้านเรือนในชุมชนกว่า 85-90% เป็นร้านค้า สถานประกอบการและอาคารพาณิชย์เป็นทั้งบ้านและร้านค้า

คณะกรรมการชุมชนบ่านซ้านจุ้ยตุ่ย

ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2565 มีคณะกรรมการชุมชนจำนวน 9 ท่าน ได้รับการแต่งตั้งจากเทศบาลนครภูเก็ต ให้ทำหน้าที่ในตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 ถึง วันที 31 มีนาคม 2569 โดยมีหน้าที่ตามที่เทศบาลนครภูเก็ตกำหนดไว้ดังนี้

  • จัดทำแผนแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนในด้านต่าง ๆ ทั้งในด้านความปลอดภัย ความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อยในชุมชน ตลอดจนรับแจ้งปัญหาความเดือดร้อนในชุมชน
  • สร้างความสามัคคีของประชาชนในชุมชน
  • ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจการของเทศบาล
  • มีหน้าที่ช่วยเหลือเทศบาลในการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่
  • การจัดบริการสาธารณะในชุมชน
  • ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่เทศบาลมอบหมายหรือกระทรวงมหาดไทยกำหนด

นอกจากนี้ คณะกรรมการชุมชนยังมีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินกิจการของ ภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งภายนอกและภายในชุมชน ในการที่จะดำเนินกิจการอันเป็นประโยชน์ต่อชุมชนทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ส่งผลให้เป็นชุมชนที่น่าอยู่น่าเยือน

กิจกรรมชุมชนบ่านซ้านจุ้ยตุ่ย ดำเนินตามปฏิทินจันทรคติจีน ภายใต้ความร่วมมือทั้งภาครัฐและภาคเอกชนอาทิ เทศบาลนครภูเก็ต คณะกรรมการชุมชน ศาลเจ้า วัด ดังตารางปฎิทินกิจกรรมของชุมช

เดือนช่วงเวลากิจกรรมลักษณะกิจกรรม
มกราคมเสาร์แรกของเดือนวันเด็กกิจกรรมสำหรับเด็ก
วันที่ 1 เดือน 1 (ตามปฏิทินจันทรคติจีน)เทศกาลตรุษจีนไหว้/สักการะองค์เทพ
วันที่ 9 เดือน 1ทีกองแซ (ไหว้เทวดา)ไหว้/สักการะองค์เทพ
หลังเทศกาลตรุษจีน 15 วันเทศกาลโคมไฟ ศาลเจ้าซัมส้านเทียนเฮวกึ๋ง (ศาลเจ้าแม่ย่านาง)ประดับประดาโคมไฟ ศาลเจ้าซัมส้านเทียนเฮวกึ๋ง
มีนาคมวันที่ 19 เดือน 2 (ตามปฏิทินจันทรคติจีน)แซยิดศาลเจ้าปุดจ้อไหว้/สักการะองค์เทพ
เมษายน13-15 เมษายนเทศกาลสงกรานต์สรงน้ำพระ รดน้ำขอพร ณ บ้านชินประชา
มิถุนายนวิวาห์บาบ๋าพิธีแต่งงานแบบเปอรานากัน
กรกฎาคมและสิงหาคมวันที่ 19 เดือน 6 (ตามปฏิทินจันทรคติ)แซยิดศาลเจ้าปุดจ้อไหว้/สักการะองค์เทพ

วันที่ 16 เดือน 7

วันที่ 17 เดือน 7

ประเพณีพ้อต่อ (สารทจีน)เซ่นไหว้ บูชาวิญญาณบรรพบุรุษ
ตุลาคมวันที่ 1-9 เดือน 9 (ตามปฏิทินจันทรคติจีน)ประเพณีถือศีลกินผักพิธีกรรมต่าง ๆ ในประเพณีถือศีลกินผัก
แรม 15 ค่ำ เดือน 10วันสารทเดือนสิบทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษ ณ วัดขจรรังสรรค์
พฤศจิกายนวันที่ 29 เดือน 9แซยิดเล่าเอี๋ยสักการะองค์ประธานศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง

1.คุณจรูญรัตน์ ตัณฑวณิช บุคคลสำคัญของชุมชนบ่านซ้านจุ้ยตุ่ย เป็นผู้มีความรู้ด้านวัฒนธรรมเพอรานากันภูเก็ต โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านวัฒนธรรมการแต่งกายและเครื่องประดับของสตรีเพอรานากัน รวมถึงการเปิดบ้านชินประชาให้เป็นพิพิธภัณฑ์บ้านชินประชา เป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ภูเก็ตและวัฒนธรรมเพอรานากันภูเก็ตผ่านวัตถุทางวัฒนธรรมที่จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์บ้านชินประชา

ชุมชนบ่านซ้านจุ้ยตุ่ย เป็นชุมชนที่มีความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมส่งต่อมายังปัจจุบัน เป็นต้นทุนที่นำไปสู่การสร้างให้เป็นชุมชนเมืองสร้างสรรค์ที่ได้รับการสนับสนุน จากหน่วยงานภาครัฐในท้องถิ่นและหน่วยงานภายนอก ต้นทุนทางวัฒนธรรมของชุมชนบ่านซ้านจุ้ยตุ่ยประกอบด้วย

  • ความเข้มแข็งของคณะกรรมการชุมชน คณะกรรมการชุมชนบ่านซ้านจุ้ยตุ่ยมีแนวทางร่วมกันในการส่งเสริมให้ชุมชนสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในชุมชน อาทิ การแสวงหาแนวทางส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของชุมชนจากประวัติศาสตร์ของชุมชน อาทิ การเป็นศูนย์กลางการค้า การเป็นศูนย์กลางการขนส่งภายในจังหวัด ความหลากหลายของร้านอาหารภายในชุมชน เป็นต้น
  • สถานที่สำคัญทางศาสนาในชุมชน อาทิ ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง วัดขจรรังสรรค์ ศษลเจ้าแม่กวนอิมพระโพธิสัตว์ศาลเจ้าปุดจ้อ ศาลเจ้าจ้ออ๋อง ศาลเจ้าแม่ย่านาง เป็นต้น
  • ประเพณีของชุมชน อาทิ ประเพณีถือศีลกินผัก ประเพณีผ้อต่อ (สารทจีน) งานแส่ยิดเทพเจ้าศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง เป็นต้น
  • สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ชุมชน อาทิ บ้านชินประชา คฤหาสน์พระพิทักษ์ชินประชา คฤหาสน์ลองห้อง วงเวียนสุริยเดช คฤหาสพระพิไสยสรรพกิจ พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทหัว พิพิธภัณฑ์จุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง 
  • ความหลากหลายด้านอาหาร อาทิ ตลาดฉำฉา ตลาดสดสาธารณะ ร้านอาหารหลากหลายประเภทในชุมชน

ดังกล่าวคือความรุ่มรวยเหล่านี้ก่อให้เกิดการสรรค์สร้างให้ชุมชนบ่านซ้านจุ้ยตุ่ยเป็นชุมชนเมืองสร้างสรรค์ของภาคใต้

ศาลเจ้า : ทุนวัฒนธรรมชุมชน

ศาลเจ้าปุดจ้อ หรืออ๊ามปุดจ้อ เป็นศาลเจ้าเก่าแก่ของชุมชนย่านนี้ ด้านหน้าศาลเจ้าเป็นคลองที่เรือใบสามหลักขนสินค้าใหญ่สามารถมาส่งสินค้าได้ บริเวณนี้จึงเป็นที่ตั้งท่าเรือและศาลเจ้าชื่อว่า “ศาลเจ้าเต้กุ๊น” หรือ “กวนอู” ต่อมาพ่อค้าจากปีนังเข้ามา ทําการค้าขายในภูเก็ตได้นํารูปแกะสลักไม้ขององค์พระโพธิสัตว์กวนอิมปุดจ้อติดตัวมาด้วย เมื่อเห็นสถานที่ในบริเวณ ศาลเจ้าเป็นสถานที่ที่เหมาะสม จึงได้อัญเชิญพระโพธิสัตว์กวนอิมปุดจ้อ มาประดิษฐาน ภายหลังเปลี่ยนชื่อมาเป็นศาลเจ้าปุดจ้อนับแต่นั้นมา

ศาลเจ้าปุดจ้อ ทำหน้าที่เป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวภูเก็ตมีความเกี่ยวพันกับชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย ชาวบ้านในชุมชนและในจังหวัดภูเก็ตมากราบไหว้ในโอกาสต่าง ๆ เช่น คู่แต่งงานมาขอพร สามีภรรยามาขอลูก ผู้เจ็บไข้ได้ป่วยมักมาเซียมซีเพื่อขอให้ปุดจ้อช่วยรักษาชี้แนะตัวยากลับไปต้มกิน เด็กครบเดือนพ่อแม่จะพามากราบไหว้ขอพรให้พระคุ้มครอง รวมถึงการตั้งชื่อภาษาจีน

ศาลเจ้าแม่ย่านาง (ม่าจ๊อโป๋)

อ๊ามม่าจ๊อโป๋ อดีตเป็นท่าเรือสําหรับขนถ่ายสินค้า และเป็นจุดแรกที่ชาวจีนที่อพยพแวะพักและอาศัยอยู่เพื่อรอการเรียกใช้งานจากนายเหมือง แม่ย่านาง หรือ มาจ๋อโป๋ เป็นเทพคุ้มครองทะเล ชาวเรือให้ความนับถือต้องบูชาเพื่อประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพรวมถึงการปกป้องคุ้มภัยเมื่อออกทะเล

ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง มีความเป็นมาสัมพันธ์กับคณะงิ้วโกก๊ะหี่ ที่มาแสดงบริเวณหั่งอาหร่าย (ซอยรมณีย์) ถนนถลาง ที่เดิมเป็นที่ตั้งของศาลเจ้า ตามธรรมเนียมของชาวคณะงิ้วเมื่อถึงเดือนเก้า สมาชิกในคณะงิ้วจะต้องประกอบพิธีกินผัก สวดมนต์เพื่อบูชาเทพเจ้าต่าง ๆ ที่นับถือ รวมไปถึงการบูชากิ๊วอ๋องไต่เต่ เพื่อสืบชะตาขอพรให้อายุมั่นขวัญยืนอยู่เย็นเป็นสุข ภายหลังชาวทุ่งคาหรือภูเก็ตในสมัยนั้นเห็นว่าการกินผักและมีพิธีการสวดมนต์ ขอพรนั้น เป็นสิ่งดีงาม จึงได้มีชาวท้องถิ่นเข้าร่วมกินผักกับชาวคณะงิ้ว ต่อมาคณะงิ้วต้องย้ายไปแสดงที่อื่น แต่เห็นว่าชาวทุ่งคาหรือภูเก็ตมีความเลื่อมใสศรัทธาเข้าร่วมการกินผักมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง คาดว่าจะสามารถถือปฏิบัติสืบต่อไป จึงได้มอบวัตถุมงคลและอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการกินผักให้แก่ชาวเมืองทุ่งคาไว้ ชาวเมืองทุ่งคาต่างร่วมใจกันสร้างศาลเจ้าขึ้นในพื้นที่บริเวณหั่งอาหล่ายนั้น เพื่อเป็นสถานที่ต้องใช้ในการกินผักและประกอบพิธีกินผัก

ทว่าหลังจากเพลิงไหม้ศาลเจ้าในหั่งอาหล่ายคนในพื้นที่ช่วยกันดับเพลิงและขนย้ายสิ่งของเครื่องใช้สําคัญมายังเนินเขาเป๊งหย่องซ้าน และฝากสิ่งของต่าง ๆ ไว้ที่ศาลเจ้าปุดจ้อ เมื่อถึงช่วงเดือนเก้าก็จะสร้างเป็นอาคารไม้มุงด้วยหลังคาจากขนาดเล็กเป็นการชั่วคราวในบริเวณสวนพลูข้างศาลเจ้าปุดจ้อ เพื่อประกอบพิธีกินผักตามที่เคยปฏิบัติเมื่อครั้งศาลเจ้าเก่า เมื่อเสร็จสิ้นพิธีกินผักก็รื้อถอนตัวอาคารศาลเจ้าชั่วคราว

ต่อมา มีผู้ศรัทธาในชุมชนบริจาคเงินสร้างศาลเจ้าหลังแรกมุงด้วยหลังคาจากขนาดกว้าง 1 ห้อง ให้ชื่อว่า “ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง”

พ.ศ. 2503 ชาวบ้านเริ่มเข้ามาร่วมงานกินผักของศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้งมากขึ้นจึงได้มีการขยายศาลเจ้าทางด้านข้างซ้ายและขวาเป็น 3 ห้อง เปลี่ยนหลังคาจากมาเป็นหลังคาสังกะสี

พ.ศ. 2525 เมื่อมีผู้ศรัทธามากขึ้นมีการปรับปรุงตัวอาคารศาลเจ้าเป็นอาคารหินอ่อนและดําเนินการก่อสร้างอาคารศาลเจ้าหลังใหม่ดังปัจจุบัน

ศาลเจ้าจ้ออ๋อง หรืออ๊ามไถ้หงวนต๋อง ศาลประจำตระกูล ปี พ.ศ. 2441 ชาวจีนแซ่อ๋องอพยพมาทํามาหากินที่ภูเก็ต ได้นํา “ผงธูป” จากศาลเจ้าจ้ออ๋องประเทศจีนติดตัวมา เริ่มมีการตั้งโต๊ะบูชาที่เหมืองดีบุกของนายต่อเต่งหยอง แถบตําบลบ้านทุ่งทอง ชื่อเหมืองท่อเต่กงเนี้ย ภายหลังนายต่อเต่งหยองมีโรคประจําตัวอย่างหนึ่ง พยายามรักษาหลายรูปแบบ หลายปีก็ไม่หาย นายต่อเต่งหยองจึงประกอบพิธีอัญเชิญเทพเจ้าจ้ออ๋องประทับทรง เพื่อขอยาจีนมารับประทาน ปรากฏว่ายาที่พระเข้าทรงที่ตนไปเจียดมาต้มกินอาการดีขึ้น จึงเเลื่อมใสศรัทธาเทพจ้ออ๋อง จึงคิดที่จะสร้างศาลเจ้าจ้ออ๋องและดําเนินการก่อสร้าง พ.ศ. 2443 เพื่อให้ชาวตระกูลแซ่อ๋องได้สักการะบรรพบุรุษ ต่อมา พ.ศ. 2496 คณะกรรมการและชาวตระกูลแซ่อ๋องได้พร้อมใจกันปรับปรุงศาลเจ้า เปลี่ยนจากหลังคาจากเป็นหลังคาสังกะสี ปัจจุบันมีการปรับปรังให้มีความสวยงามยิ่งขึ้น

วัดขจรรังสรรค์ เป็นวัดที่สนับสนุนการก่อสร้างโดยหลวงขจรจีนสกล พ.ศ. 2423 ภายในมีสถาปัตยกรรมโบราณ เช่น โบสถ์ กุฏิ เจดีย์เก่า พระประธานซึ่งเป็นพระนอน ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ. 2425 วัดขจรรังสรรค์ทำหน้าที่ดั่งโรงเรียนแห่งแรกในชุมชน มีการสอนหนังสือให้แก่เด็กในชุมชนมาตั้งแต่อดีตกระทั่งปัจจุบัน

ทุนประเพณีท้องถิ่นของชุมชน

ประเพณีผ้อต่อ

ประเพณีผ้อต่อ หรือสารทจีน เป็นงานบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้บรรพบุรุษเป็นประเพณีแห่งความกตัญญูที่ปฏิบัติสืบต่อกันมานานตามคติความเชื่อของชาวไทยเชื้อสายจีน ประเพณีเริ่มจัดตั้งแต่ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 ตามปฏิทินจันทรคติจีน ประเพณีผ้อต่อมีชื่อเรียกดั้งเดิมว่า เทศกาลอุลลัมพน เป็นกิจกรรมโปรดสรรพสัตว์ให้หลุดพ้นจากห้วงแห่งความทุกข์โดยทั่วกัน ประเพณีผ้อต่อจัดช่วงวันครึ่งปี ตามคตินิยมของจีนซึ่งเป็นวันที่วิญญาณได้รับการปลดปล่อยให้กลับมาเยี่ยมญาติพี่น้อง แต่ละบ้านมีการจัดแท่นบูชาพร้อมอาหารคาวหวาน โดยเครื่องเซ่นไหว้ในประเพณีผ้อต่อ ได้แก่ น้ำชา ขนมรวม (เต่เหลี่ยว) มิดเจี่ยน (คล้ายเครื่องบายศรีของไทย) ขนมเต่า (อังกู้) ขนมฟู (ฮวดโก้ย) ขนมจ่าง (กี้จ่าง) ผลไม้ (สับปะรด กล้วย ข้าว ส้ม) ของหวานคาวเหล้าจีน

สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ "ขนมเต่าสีแดง" เรียกว่า "อั่งกู้" เอกลักษณ์ของงาน "อั่งกู้" เป็นของเซ่นไหว้ ทำด้วยแป้งข้าวสาลีผสมกับน้ำตาล ปั้นเป็นตัวหรือเข้าพิมพ์อัดเป็นรูปเต่าหลายขนาดแล้วย้อมด้วยสีแดง คตินิยมของจีนถือว่าเต่าเป็นสัตว์อายุยืน การทำพิธีต่าง ๆ จึงนิยมนำเต่ามาเป็นส่วนหนึ่งของพิธีด้วยนัยว่าจะทำให้อายุยืนเหมือนเต่า ประเพณีผ้อต่อ นอกจากมีวัตถุประสงค์เพื่อเซ่นไหว้บูชาวิญญาณบรรพบุรุษ ยังมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ การทำบุญอุทิศส่วนบุญให้วิญญาณไร้ญาติ จึงได้ชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า "ซีโกวโจ่ย" ความหมายว่า เทศกาลอุทิศส่วนบุญให้วิญญาณโดดเดี่ยวไร้ญาติ ผ้อต่อ เป็นวัฒนธรรมผสมผสานระหว่างศาสนาพุทธและเต๋า

จังหวัดภูเก็ตได้มีการแบ่งลักษณะของการจัดงานผ้อต่อได้ดังนี้

  • เก่ผ้อ หรือ โก่ยผ้อ เป็น ผ้อต่อของชุมชน
  • ซีเตียวผ้อ เป็น ผ้อต่อที่กระทำโดยหมู่ชนกลุ่มผ้อค้า ค้าขายแห่งใดแห่งหนึ่ง
  • จื้อเต่ผ้อ เป็น ผ้อต่อที่ทำขึ้นโดยกลุ่มคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น กรรมกรแบกหามจัดไหว้ให้ผู้ร่วมอาชีพที่ตายไปแล้วเรียกล่ออ๊าถาวพ่อ
  • อ๊ามผ้อ เป็น ผ้อต่อของคนที่เคยช่วยศาลเจ้า(อ๊าม)เดียวกัน
  • บ้าบ๋าผ้อ เป็น ผ้อต่อของกลุ่มบ้าบ๋า ย่าหยา
  • โห่ยผ้อ เป็น ผ้อต่อของ สมาคม

การจัดงานผ้อต่อลักษณะต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับการตกลงกันของคนในชุมชน ซึ่งงานผ้อต่อชุมชนบ่านซ้านจุ้ยตุ่ย ตลาดสดถนนระนอง จัดงานตั้งแต่ถนนเยาวราชถึงบ่านซ้าน จัดเป็น โก่ยผ้อ

ภาษาไทยถิ่นภูเก็ต

ภาษาเขียนใช้ภาษาไทยมาตรฐาน ส่วนพูดภาษาถิ่นภาคใต้สำเนียงภูเก็ตที่มีการใช้คำยืมทั้งจากภาษาจีนฮกเกี้ยนและภาษาอังกฤษ ซึ่งเอกลักษณ์ด้านเสียง กล่าวคือ

พยัญชนะประสม (ควบกล้ำ) ภาษาไทยถิ่นภูเก็ตมีหน่วยเสียงพยัญชนะประสม ที่มีความแตกต่างจากภาษาไทยมาตรฐานและภาคอื่น แต่เหมือนกับภาษาไทยถิ่นใต้อื่น ๆ คือหน่วยเสียง /มร/ และ /มล/ พยัญชนะประสมภาษาไทยถิ่นภูเก็ตใช้แตกต่าง  จากภาษาไทยมาตรฐาน คือ หน่วยเสียง /ตร/ ภาษาไทยมาตรฐาน ภาษาไทยถิ่นภูเก็ตจะใช้/กร/ เช่น ตรวจ ตรวจ / เตรียม เกียม เป็นต้น

พยัญชนะท้าย (สะกด) ภาษาไทยถิ่นภูเก็ตมีการออกเสียงภาชนะท้ายแตกต่างจากภาษาไทยถิ่นใต้บางจังหวัดและภาษาไทยถิ่นภาคอื่น คือ การออกเสียงพยัญชนะสะกด /-K/ เมื่อตามหลังเสียงสระยาวจะเปลี่ยนไปเป็นเสียง /-?/ เช่น ออก - เอาะ / ถูก - ถุ้ / แจก - แจะ / โยก - โหยะ / เชือก - เฉือะ เป็นต้น

ภาษาไทยถิ่นภูเก็ตมีวงศ์ศัพท์ที่เป็นศัพท์เฉพาะถิ่น ทั้งที่เป็นคำไทยและคำยืมจากภาษาจีนฮกเกี้ยน ซึ่งเป็นจุดเด่นของภาษาไทยถิ่นภูเก็ต

  • วงศ์ศัพท์ที่เป็นคำไทยเฉพาะถิ่นของตนเอง อาทิ ปลาถ้ำ ผักแกล็ด เหล็กไฟ ถั่วฝรั่ง ครกเบือ หาญตาย หม้อไฟ สะดวก ยอใจ  ไปแกลบ ลิงพังกา ถั่วใต้ดิน เป็นต้น
  • คำยืมจากภาษาจีนฮกเกี้ยน อาทิ เสียวโป๋ย จุ้ยก้าว ต่าวโฮ้ย กาโต้ อ่างอิ่ว ป๋าน เป็นต้น
  • ใช้คำไทยประสมหรือคำซ้อนกับคำจีน อาทิ ค่อใน อ๊ามพระจีน หนมต่าวซ้อ แกงทึ้ง หน่ำฉ่อ ฉ่าเกือะ เป็นต้น
  • สร้างคำใหม่ เป็นคำที่ไม่มีใช้ในภาษาจีนมาดั้งเดิม อาทิ โกปี้ฮู่เล้ง แต่ซึ้ง เป็นต้น
  • การยืมคำภาษาอังกฤษ (ส่วนมากเป็นเครื่องมือ) อาทิ
    • แย็ก (Jack) แม่แรง
    • หอน (Horn) แตร
    • ลอรี่ (Lorry) รถบรรทุก
    • ฟอแม้น (Forman) หัวหน้าคนงาน
    • ริ่ง (Ring) ล้อรถ
    • บอริ่ง (Boring) เจาะหาแร่ เป็นต้น
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กองสวัสดิการสังคม เทศบาลนครภูเก็ต (2565). รายงานสมบูรณ์การฝึกภาคปฏิบัติ 2. การฝึกภาคปฏิบัติ 2 คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ธำรงค์ บริเวธานันท์ (2563). ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง : พื้นที่ทางจิตวิญญาณ. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน). 

Torquoise. (ม.ป.ป.). ตำนานประเพณีพ้อต่อ. https://phuketindex.com/travel/photo-stories/

ตลาดสดสาธารณะ 1 บ่านซ้าน ภูเก็ต. https://www.facebook.com/bansan.phuket/

Museum Thailand. (ม.ป.ป.). ประเพณี พ้อต่อ จากอินเดียถึงจีนโพ้นทะเล. https://www.museumthailand.com/

Samart Thongserm. (2565). สืบสานประเพณี “พ้อต่อ” ตลาดบ่านซ้าน. ภูเก็ต เดลี่ นิวส์. https://phuketdailynews.com/

ทน.ภูเก็ต โทร. 0-7621-2196