Advance search

บ้านคำชะอี เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์การอพยพเข้ามาอยู่อาศัยของชาวผู้ไทดำเป็นเวลากว่า 100 ปี ชาวบ้านในชุมชนยังคงสืบทอดรักษาคติความเชื่อ วัฒนธรรม และประเพณีที่ได้รับมาจากบรรพบุรุษ มีการผสมผสานระหว่างหลักธรรมในศาสนาพุทธกับความเชื่อเรื่องผีดั้งเดิม อันถือเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวผู้ไท 

บ้านคำชะอี
คำชะอี
คำชะอี
มุกดาหาร
อบต.ตำชะอี โทร. 0-4264-2145
วิไลวรรณ เดชดอนบม
16 มี.ค. 2023
วิไลวรรณ เดชดอนบม
16 มี.ค. 2023
บ้านคำชะอี

ปรากฏคำบอกเล่าสืบต่อกันมาถึงที่มาของชื่อหมู่บ้านคำชะอี 2 ประการ

ประการแรก คือ ในหนองน้ำทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านจะมีแมลงชนิดหนึ่งคล้ายจักจั่น ชาวบ้านเรียกว่า แมงอี ต่อมาจึงเรียกเป็นชื่อหมู่บ้าน คำแมงอี แล้วเพี้ยนมาเป็น คำชะอี ในเวลาต่อมา

ประการที่สอง สืบเนื่องจากคำชะอีเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ ในพื้นที่มีต้นไม้ชนิดหนึ่งชื่อ ต้นคำชะอี มีดอกสีเหลืองส่งกลิ่นหอม ซึ่งชาวบ้านนิยมนำไปอบเสื้อผ้า แต่ปัจจุบันสูญพันธุ์ไปแล้ว ต่อมาจึงได้เรียกชื่อหมู่บ้านตามชื่อดอกไม้ว่า บ้านคำชะอี


ชุมชนชาติพันธุ์

บ้านคำชะอี เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์การอพยพเข้ามาอยู่อาศัยของชาวผู้ไทดำเป็นเวลากว่า 100 ปี ชาวบ้านในชุมชนยังคงสืบทอดรักษาคติความเชื่อ วัฒนธรรม และประเพณีที่ได้รับมาจากบรรพบุรุษ มีการผสมผสานระหว่างหลักธรรมในศาสนาพุทธกับความเชื่อเรื่องผีดั้งเดิม อันถือเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวผู้ไท 

บ้านคำชะอี
คำชะอี
คำชะอี
มุกดาหาร
49110
16.5334119
104.364038
องค์การบริหารส่วนตำบลคำชะอี

บ้านคำชะอี เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์การอพยพเข้ามาอยู่อาศัยของชาวผู้ไทจากเมืองแถน หรือเมืองแถง (เมืองเดียนเบียนฟู ประเทศเวียดนาม) และเมืองน้ำน้อยอ้อยหนู ในแคว้นสิบสองจุไทย การอพยพของบรรพบุรุษชาวผู้ไทสู่บ้านคำชะอีนั้น เริ่มขึ้นเมื่อครั้งเหตุการณ์เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์เป็นกบฏต่อราชอาณาจักรสยาม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกกองทัพขึ้นไปปราบปราม ภายหลังปราบปรามเจ้าอนุวงศ์สำเร็จ ได้มีการกวาดต้อนผู้คนเข้ามาอยู่บริเวณฝั่งขวาแม่แม่น้ำโขง โดยมีจุดประสงค์เพื่อต้องการลดกำลังพลฝั่งเวียงจันทน์ ซึ่งในขณะนั้นมีชาวผู้ไทจากเมืองวังและเมืองคำอ้อกลุ่มหนึ่งในบรรดาผู้ไทที่ถูกกวาดต้อนมา ได้ขอเข้าอยู่กับพระจันทรสุริยวงศ์ เจ้าเมืองมุกดาหาร แต่อยู่ได้เพียงระยะหนึ่งก็อพยพยย้ายออกมาทางทิศตะวันตกของเมืองมุกดาหารเพื่อแสวงหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกินแห่งใหม่ แต่พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่หินลูกรังไม่เหมาะแก่การเพาะปลูก จึงย้ายลงมาทางทิศใต้ซึ่งมีสายน้ำรอบบริเวณ มีความชุ่มชื้นเหมาะแก่การเพาะปลูก จึงได้ตัดสินใจปักหลักอยู่ในบริเวณนี้เพื่อสำรวจพื้นที่ทำกินแล้วจับจองเอาตามใจชอบ เมื่อพื้นที่ถูกขยับขยายออกไปเรื่อย ๆ จำนวนคนก็เพิ่มมากขึ้นกลายเป็นชุมชนขนาดย่อมกระจายกันอยู่ เช่น บ้านโพนแดง บ้านหนองไหล บ้านฝากห้วย บ้านตาดโตน และบ้านคำชะอี ซึ่งในเวลาต่อมาบ้านโพนแดง บ้านหนองไหล บ้านฟากห้วย และบ้านตาดโตน กลายเป็นหมู่บ้านร้าง เนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่ยพอพย้ายไปอยู่ที่บ้านคำชะอี และกระจายตัวกันออกไปอยู่ถิ่นอื่น 

ในการจัดการปกครองบ้านคำชะอีแต่ละหมู่ถูกแบ่งออกเป็นคุ้ม ดังนี้

หมู่ที่ 1 แบ่งออกเป็น 4 คุ้ม คือ

1.คุ้มพิทักษ์ชน

2.คุ้มเข้าเมืองขวา

3.คุ้มโรงเรียน

4.คุ้มเมืองเก่า

หมู่ที่ 2 แบ่งออกเป็น 6 คุ้ม คือ

1.คุ้มขุนนิคม

2.คุ้มเจ้ากรมแสง

3.คุ้มในเมือง

4.คุ้มเจ้าไชยอภิเดช

5.คุ้มวิวัฒนากรา

6.คุ้มทุ่งสว่าง

หมู่ที่ 11 แบ่งออกเป็น 5 คุ้ม คือ

1.คุ้มอนามัย

2.คุ้มหมื่นบรครุฑ

3.คุ้มเจ้าปู่

4.คุ้มเกาะสวรรค์

5.คุ้มประปา

หมู่บ้านคำชะอี แบ่งออกเป็น 3 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 1, 4 และหมู่ที่ 11 มีจำนวนหลังคาเรือน 401 หลังคา ประชากรทั้งหมด 2,128 คน เป็นชาย 1,050 คน หญิง 1,078 คน 

ผู้ไท

อาชีพหลัก : เกษตรกรรมทำนา ทำสวน ทำไร่

อาชีพเสริม : รับจ้างทั่วไป การประมง ปศุสัตว์ เช่น การเลี้ยงไก่ เป็ด สุกร กระบือ

การแลกเปลี่ยนภายในชุมชน : เป็นการซื้อขายสินค้าอุปโภค บริโภค และของใช้ในชีวิตประจำวัน ในร้านขายของชำประจำหมู่บ้าน มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าผลผลิตทางการเกษตร เช่น พริก มะเขือ ฯลฯ

การแลกเปลี่ยนกับนอกชุมชน : ส่วนใหญ่จะเป็นการนำผลผลิตทางการเกษตร พืชผักสวนครัวออกไปจำหน่ายต่างชุมชน หรือตลาดสดในตัวอำเภอ 

ชาวผู้ไทบ้านคำชะอี เป็นชุมชนที่มีการผสมผสานระหว่างหลักธรรมในศาสนาพุทธกับความเชื่อเรื่องผีดั้งเดิมของชาวผู้ไท ยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณีตามแบบชาวอีสาน โดยการปฏิบัติตามประเพณีฮีตสิบสองคองสิบสี่ ซึ่งเป็นประเพณีที่ชาวคำชะอีได้มีโอกาสมาร่วมทำบุญ พบปะสังสรรค์เป็นประจำทุกเดือน ประเพณีฮีตสิบสองหรือประเพณีสิบสองเดือนของชาวกะเหรี่ยงบ้านคำชะอี มีดังนี้

  • เดือนอ้าย เลี้ยงผีมด หรือผีหมอ ผีฟ้า ผีแถน พระสงฆ์ทุกวัดเข้าปริวาสกรรม
  • เดือนยี่ บุญคูณข้าว เป็นการทำบุญเปิดยุ้งข้าว มีการเลี้ยงแม่โพสพเพื่อตอบแทนที่ทำให้ข้าวได้ผลผลิตดี
  • เดือนสาม บุญข้าวจี่ ชาวบ้านจะนำข้าวจี่ชุบไข่ใส่น้ำอ้อยมาถวายพระ เพื่อถือเป็นการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว และบรรดาผีไร้ญาติทั้งหลาย
  • เดือนสี่ บุญมหาชาติ เป็นประเพณีสุดยิ่งใหญ่ของชาวผู้ไทซึ่งใช้ระยะเวลาถึง 3 วัน วันแรกเป็นการเตรียมการ ผู้ชายจะช่วยกันสานไม้ไผ่เพื่อนำมาเป็นเรือนพะเวส หรือกระแตะ และช่วยกันมัดฟางข้าวให้เป็นนก หนู ไก่ และปลา วันที่สองสร้างหออุปคุต แล้วนำกระแตะที่สานไว้มากั้นทำเป็นบริเวณทำพิธีเทศน์มหาชาติ ช่วงบ่ายจะมีการยกเสาพะเวส โดยจะนำข้าวต้มมัด กล้วย ผูกติดกับเสาไม้ไผ่ที่ลานวัด แล้วพรมน้ำหอม ผูกผ้าผืนยาว เรียกว่า ผ้าพะเวส แล้วเชิญพะเวสเข้ามาในหมู่บ้าน ในวันที่สามจะมีการแห่ข้าวพันก้อน ร่วมรับฟังเทศน์มหาชาติ มีการแห่กัณฑ์หลอนและกัณฑ์เทศน์อัศจรรย์ เช้าวันต่อมามีการทำบุญตักบาตรเป็นอันเสร็จสิ้นพิธี
  • เดือนห้า บุญสงกรานต์ เป็นประเพณีที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน มีการสรงน้ำพระพุทธรูปและผู้อาวุโสในครอบครัว ก่อพระเจดีย์ทราย ร่วมเล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน และในวันสุดท้ายจะมีการสรงน้ำพระโดยการเทน้ำลงในรางที่ทำเป็นรูปทรงพญานาค
  • เดือนเจ็ด ตามปฏิทินของชาวผู้ไทเดือนนี้ไม่มีการประกอบประเพณีใด ๆ เว้นแต่การขอฝนที่จะกระทำเฉพาะปีที่ฝนแล้งเท่านั้น
  • เดือนแปด บุญเข้าพรรษา จะมีการฟังเทศน์ทุกวันในช่วงเย็น
  • เดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน เป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับดวงวิญญาณบรรพบุรุษผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว โดยจะทำภายหลังฤดูกาลดำนา
  • เดือนสิบ บุญข้าวสาก หรือบุญข้าวสลาก เป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติพี่น้องผู้ล่วงลับ โดยการนำกระบุงใส่ข้าวสากไปถวายพระสงฆ์ แต่ปัจจุบันชาวผู้ไทบ้านคำชะอีไม่ค่อยทำแล้ว
  • เดือนสิบเอ็ด บุญออกพรรษาเป็นวันที่พระออกจากการจำพรรษา ตามประเพณีของชาวผู้ไทจะจัดงานถึง 3 วัน วันแรกห่อข้าวต้มมัด วันที่สองแห่ต้นไม้ที่สร้างขึ้นให้เป็นที่อยู่หรือปราสาททองของผู้ล่วงลับ มีการทำบุญอัฐิ และจุดประทัดเพื่อปลุกดวงวิญญาณของผู้ตายให้รู้สึกตัวมารับเอาผลบุญ และในเช้าวันที่สามจะมีการทำบุญตักบาตเป็นอันเสร็จสิ้นพิธี
  • เดือนสิบสอง บุญลอยกระทง ถือเป็นบุญรื่นเริงที่มีวัตถุประสงค์เพื่อชำระล้างบาปที่ได้กระทำมาตลอดหนึ่งปี  

ความเชื่อ และพิธีกรรม

ชาวผู้ไทบ้านคำชะอีได้สืบทอดรักษาคติความเชื่อที่ได้รับมาจากบรรพบุรุษ โดยความเชื่อ และพิธีกรรมท้องถิ่นในหมู่บ้านคำชะอี มีดังนี้

  • การเสี่ยงทาย ภาษาถิ่นเรียกว่า หมอมอ คือการเสี่ยงทายตามหาสิ่งของที่หายไป การทำนายถึงโชคชะตาราศีประจำปี ฤกษ์ยาม และการเสี่ยงทายเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ทั่วไปที่มีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต
  • การเสียเคราะห์ หรือการสะเดาะเคราะห์ เป็นการสะเดาะเคราะห์ในกรณีที่เชื่อว่าจะเกิดเหตุร้ายขึ้นกับตนเองหรือคนรอบตัว
  • การบูชาโชค เช่น การได้รับเลือกเข้าทำงาน โดยจะมีหมอสูตรหรือพระเป็นผู้สูตร (สูตร หมายถึง การสู่ขวัญ)
  • ความเชื่อเรื่องภูตผีวิญญาณ ชาวผู้ไทมีความเชื่อว่าอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับคนในครอบครัว เป็นผลจากการกระทำของผี เนื่องจากผู้ป่วยไปสร้างความไม่พอใจแก่ผี ต้องทำการแก้ด้วย พิธีกรรมเหยา มีหมอเหยามาร้องลำอ้อนวอนประกอบแคนเพื่อเจรจากับผีให้ผู้ป่วยหายจากอาการเจ็บไข้ นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับผีบรรพบุรุษ ผีเจ้าที่ ผีปอบ คาถาอาคม และไสยศาสตร์
  • หมอพื้นบ้าน เช่น หมอน้ำมัน รักษากระดูก บาดแผล เป่าตาแดง ฯลฯ
  • พิธีเลี้ยงผี เป็นพิธีกรรมการบูชาผีบรรพบุรุษ คือ เจ้าพ่อทาตา โดยจะจัดขึ้นสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปีบริเวณศาลเจ้าพ่อดานดึง
  • พิธีแต่งงาน หรือปะซู การแต่งงานของชาวผู้ไทจะต้องมี พ่อล่าม ทำหน้าที่สั่งสอนบอกกล่าววิธีการครองเรือนแก่คู่บ่าวสาว
  • ลำผญาผู้ไท เป็นหมอลำท้องถิ่นของชาวผู้ไทในลักษณะการเกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาว เนื้อหาของผญาเกี่ยวข้องกับคติ คำสอน ภาษิต วิถีชีวิต การครองเรือน ในอดีตลำผญาเป็นที่นิยมอย่างมากในงานบุญประเพณีต่าง ๆ แต่ปัจจุบันไม่เป็นที่นิยมเทียบเท่าอดีตแล้ว
  • คะลำ เป็นข้อห้ามเกี่ยวกับการดำเนินชีวิต เช่น หญิงตั้งครรภ์ห้ามกินเนื้อควายเผือก (ควายด่อน) ห้ามสีข้าวในคืนเดือนดับ ห้ามนอนหันศีรษะไปทางทิศตะวันตก เป็นต้น

ลักษณะการสร้างที่อยู่อาศัย

ในอดีตชาวผู้ไทบ้านคำชะอีนิยมสร้างบ้านยกพื้นสูง มุงหลังคาด้วยหญ้าแฝก ฝาเรือนใช้ไม้ไผ่สานขัด พื้นเรือนปูด้วยฟาก หรือกระดาน เสาเรือนนิยมใช้ไม้แก่น แต่ปัจจุบันชาวบ้านเปลี่ยนรูปแบบการสร้างบ้านใหม่ตามแบบสมันิยม คือ ใช้อิฐและปูนเป็นส่วนประกอบหลักในการสร้างเรือน 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาพูด : ภาษาผู้ไท (ใช้ในชีวิตประจำวัน) ภาษาไทยกลาง (ภาษาราชการ) 

ภาษาเขียน : ภาษาไทยกลาง  

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

วิษณุ กาปรสิริพัฒน์. (2541). ภูมิปัญญาอีสานในพิธีกรรมด้านความเชื่อเพื่อการรักษาพยาบาลผ่านทางภาษาของชาวผู้ไท (รายงานการวิจัย). สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ.

อบต.ตำชะอี โทร. 0-4264-2145