Advance search

ขุนต๋อมแหล่งอาศัย มากน้ำใจชาวประชา ตะเคียนคู่วังมัจฉา น้อมสักราองค์ราชันย์

หมู่ที่ 6
บ้านต๋อมดง
บ้านต๋อม
เมืองพะเยา
พะเยา
เทศบาลตำบลบ้านต๋อม โทร. 0-5445-8771
ขวัญเรือน สมคิด
21 มิ.ย. 2023
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
29 มิ.ย. 2023
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
19 ก.ค. 2023
บ้านต๋อมดง

บ้านต๋อมดง มาจากภูมิประเทศ แต่ก่อนบริเวณนี้มีแต่ป่าดงไพร เต็มไปด้วยป่าไม้ตะเคียนและไม่อื่น ๆ พื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การเพาะปลูก ประชาชนในที่ทั่วไปจึงได้เข้ามาจับจองเป็นที่ทำมาหากินในป่าในดง เรียกว่า มีคนมาชุมกันเยอะ คำว่า "ชุม" ภาษาพื้นเมืองเหนือว่า "ต๋อม" มาชุมนุมทำมาหากินในป่าในดงจึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า "ต๋อมดง"


ชุมชนชนบท

ขุนต๋อมแหล่งอาศัย มากน้ำใจชาวประชา ตะเคียนคู่วังมัจฉา น้อมสักราองค์ราชันย์

บ้านต๋อมดง
หมู่ที่ 6
บ้านต๋อม
เมืองพะเยา
พะเยา
56000
19.19612507
99.82555926
เทศบาลตำบลบ้านต่อม

ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของบ้านต๋อมดง จากการบอกกล่าวเล่าสืบต่อกันมาว่า ประมาณ พ.ศ. 2385 ได้มีประชาชน 6-7 ครอบครัวซึ่งได้ย้ายมาจากบ้านต่อมกลางอยู่ทางทิศตะวันออกประมาณ 1 กิโลเมตร นำโดยปูแสนธิ ปู่แสนต๊ะ ท้าวเกตุ ท้าวชิ และปู่คำหงอก เป็นหัวหน้าได้เข้ามาตั้งรกรากทำมาหากินอยู่ในที่นี้ จากนั้นก็ได้มีประชาชนซี่งมาจากจังหวัดลำปางและที่อื่น ๆ ก็ได้เข้ามาจับจองที่ทำมาหากินอยู่เรื่อย ๆ จนมีหลายครอบครัวขึ้น ก็ตั้งเป็นหมู่บ้าน เรียกว่าบ้านต๋อมดง เหตุที่ชื่อว่าบ้านต๋อมดงคงจะมาจากภูมิประเทศ แต่ก่อนบริเวณนี้มีแต่ป่าดงไพร เต็มไปด้วยป่าไม้ตะเคียนและไม่อื่น ๆ พื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การเพาะปลูก ประชาชนในที่ทั่วไปจึงได้เข้ามาจับจองเป็นที่ทำมาหากินในป่าในดง เรียกว่า มีคนมาชุมกันเยอะ คำว่า "ชุม" ภาษาพื้นเมืองเหนือว่า"ต๋อม" มาชุมนุมทำมาหากินในป่าในดงจึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า "ต๋อมดง"

พ.ศ. 2390 พอตั้งหมู่บ้านได้ 5 ปี ก็สร้างวัดขึ้น มาเป็นศูนย์ของชาวบ้านเมื่อสร้างขึ้นมาแล้วก็ช่วยกันบำรุงรักษา ส่งลูกหลานของตนเข้ามาบวชเรียนเขียนอ่านกันอยู่เรื่อย ๆ

พ.ศ. 2498 ในหมู่บ้านเกิดโรคระบาดโรคฝีดาษขึ้น มีคนตายหลายคนคนที่มีตุ่มหนองขึ้นตามตัวเมื่อตายก็รีบนำศพไปฝังเพราะกลัวจะแพร่ระบาด คนป่วยต้องนอนบนใบตอง มีหมอพื้นบ้านต้มยากิน สมัยนั้นเวลามีหญิงคลอดก็จะมีหมอตำแยเรียกว่า "แม่รับ" มาช่วยทำคลอด ชาวบ้านเล่าว่าข้างก็คลอดง่าย คลอดยาก ถ้าเชิงกรานเป็นแบบตั้งหม้อลักษณะกลมก็จะคลอดยากเนื่องจากติดกระดูกเชิงกราน ถ้าเป็นแบบงาไซจะคลอดง่ายเพราะไม่ติดกระดูกเชิงกราน

พ.ศ. 2502 เริ่มมีถนนเส้นทางในหมู่บ้านเป็นถนนลูกรัง การเดินทางการเดินและไปขึ้นรถเมล์ที่ถนนเส้นหลัก หากจะเดินทางไปโรงพยาบาลก็จะไปข้ามสะพานขุนเดช

พ.ศ. 2504 มีพ่อหมอประจำตำบลเรียกว่าหมอวงศ์ จะทำการรักษาชาวบ้านที่เจ็บป่วยโดยการทำยาต้มสมุนไพรหญิงที่คลอดก็จะนิยมไปคลอดที่โรงพยาบาลมากขึ้น เพราะมีฐานะดีขึ้น

พ.ศ. 2505 เดิมเป็นหมู่บ้านที่อยู่รวมกันหมู่ที่ 5 บ้านต๋อมดง และได้แยกออกเป็นหมู่บ้านหมู่ที่ 6 

พ.ศ. 2507 จึงมีวิถีชีวิตความเชื่อมโยงสายเครือญาติกับหมู่บ้านหมู่ 5 ต.บ้านต๋อม มีพ่อหลวงแต่ละหมู่บ้าน มีจุดศูนย์รวมที่วัดเดียวกัน มีการร่วมประชุม ร่วมคิด ร่วมพิจารณา ร่วมตัดสินใจ ร่วมกันทำงาน ต่อมาได้เกิดโรงเรียนขึ้นในหมู่บ้านชื่อโรงเรียนบ้านต๋อมดง มีครูบุญตันเป็นครูใหญ่

พ.ศ. 2508 หลังจากนั้นได้เกิดศูนย์มาลาเรียแม่ต่ำ ส่งอาสาสมัครเข้ามาในหมู่บ้านละ 1 คน มาเก็บข้อมูล ฉีดยาให้ชาวบ้านที่เป็นไข้ เรียกว่า "ไข้ป่า"

พ.ศ. 2510 แต่เดิมที่ชาวบ้านได้ทำการฝังศพ จากนั้นเริ่มเปลี่ยนมาเผาเนื่องจากว่ากลัวผี เริ่มจากการก่อฝืนเป็นแท่นเผา ต่อมาได้ตั้งป่าช้าเพื่อเผาศพมีเตาเผา

พ.ศ. 2515-2519 ได้มีการย้ายโรงเรียนบ้านต๋อมดงไปที่บ้านหมู่ที่ 7 เริ่มมีการเดินทางโดยรถยนต์เรียกว่า"รถคอกหมู" การเดินทางสะดวกขึ้นไปกันหลายคน

พ.ศ. 2520-2524 การรักษาพยาบาลไม่เสียค่าใช้จ่าย ใช้บัตรสงเคราะห์ แต่ไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร ต่อมามีการซื้อบัตรสุขภาพ ปีละ 500 บาท ได้รับการดูแลดีขึ้น ต่อมามีสาธารณสุขมูลฐานเข้ามา เรียกคล้ายกรมอนามัยส่งเจ้าหน้าที่ส่วนกลางมาให้ความรู้เรื่องสุขอนามัยของชาวบ้าน มีโครงการเรดบาน่า จากประเทศนอร์เวย์ เกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่องสุขอนามัยของชาวบ้าน เช่น ทำส้วมซึม ขุดส้วม นอกจากนี้เริ่มมีการใช้ปุ๋ยการเกษตร (2520) และจัดตั้งกลุ่มแม่บ้านต้อมดง สมัยนั้นมี สมาชิก 200 คน ส่งเสริมอาชีพใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ พ.ศ. 2525-2529 การเดินทางเริ่มมีการใช้รถมอเตอร์ไซด์

พ.ศ. 2525 มีการตั้งกลุ่มธนาคารข้าวเพื่อร่วมกันขายข้าวนัดเอาข้าวมารวมกันวันที่ 1 มกราคม 2526 พูดคุยกันเห็นว่าคนในหมู่บ้านจำนวนมากที่มีข้าวไม่พอกินตลอดปี จึงน่าจะมีการช่วยเหลือกันในหมู่บ้าน ให้ชาวบ้านกู้ยืมไปกินแทนในอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยรณรงค์ชาวบ้านทุกคนเข้าร่วมและเปลี่ยนมาเป็นธนาคารข้าว มีการตั้งกรรมการการรับ-จ่ายข้าว

พ.ศ. 2527 จึงมีการสร้างฉางข้าวขนาดใหญ่ สนับสนุนจากทางอำเภอเมือง จากนั้นมีไฟฟ้าเข้ามาในหมู่บ้าน ชาวบ้านมีไฟฟ้าใช้จากที่เมื่อก่อนใช้ตะเกียงและฟืนก่อไฟ

พ.ศ. 2528-2529 หลังจากนั้นเริ่มมีถนนลาดยาง (2529)

พ.ศ. 2530-2534 มีน้ำประปาขุดบ่อบาดาลใช้ มีการแต่งตั้ง อสม. เข้ามาทำงานด้านสุขภาพ มีคณะกรรมการหมู่บ้าน 7 ฝ่าย หอกระจายข่าว มีการตีฆ้องเป็นจังหวะในการแจ้งข่าว มีกลุ่มกรรมการพัฒนาหมู่บ้าน หมู่ละ 2 คน และก่อตั้งคุ้มมีคณะกรรมการหมู่บ้านเป็นที่ปรึกษานอกจากนี้

พ.ศ. 2533 มีโครงการพะเยาเพื่อพัฒนาเข้ามาเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของชาวบ้านให้ดีขึ้น

พ.ศ. 2537 มีการสร้างเขตอภัยทานสัตว์น้ำหน้าวัด ไม่ให้จับปลาและมีการก่อตั้งกลุ่ม กชคจ. (แก้ไขความยากจน) มาดูแลชาวบ้านที่ยากจน

พ.ศ. 2540-2544 มีการแพร่ระบาดของยาเสพติด ในหมู่บ้านมีการจัดการโดยการให้ผู้ที่ค้าเข้ามาทำงานเป็นแกนนำในการต่อต้านจึงได้เลิกค้าเนื่องจากเล็งเห็นปัญหาห่วงใยลูกหลาน และได้ประกาศเป็นหมู่บ้านปลอดยาเสพติดเมื่อ 2541

พ.ศ. 2545-2549 มีการก่อตั้งศาลาอเนกประสงค์ ใช้ทำกิจกรรมในหมู่บ้าน เช่น การประชุมหารือ (2545-2546) พ.ศ. 2550-2559 ปรับปรุงประปาแท่นวางถัง (2558-2559) ชาวบ้านอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ทางหมู่บ้านจะมีกิจกรรมหลักสายเครือญาติก็คือ ประเพณีเลี้ยงเจ้าพ่อขุนต๋อมและเลี้ยงผีเสื้อบ้านซึ่งจะตั้งศาลอยู่ที่หน้าวัดอมดง โดยจะทำกันทุกๆช่วงเข้าพรรษา ที่ทำสืบต่อกันมา และมีกิจการอนุรักษ์ลำน้ำขุนต่อมโดยมีการสืบชะตา สัตว์น้ำวังมัจฉา มีการให้อาหารปลาโดยซื้อถุงละ 5 บาท โดยอยู่ในการปกครองของ นายพลเมืองวงศ์ ผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน

พ.ศ. 2559-2560 มีการดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง “แนวทางการสร้างระบบสุขภาพชุมชนโดยใช้ปัญหาขยะเป็นกรณีศึกษาบ้านต๋อมดง หมู่ 6 ตำบลบ้านต๋อม อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา” ของวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีพะเยา ภายใต้การสนับสนุนโครงการวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น ตั้งแต่ วันที่ 1 พฤษภาคม 2559 - 30 พฤศจิกายน 2560

บ้านต๋อมดง ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านต๋อม อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ห่างจากที่ว่าการอำเภอเมืองไปทางทิศเหนือตามถนนพลโยธินประมาณ 1 กิโลเมตรและแยกจากถนนพหลโยธินเข้ามาทางสะพานขุนเดชประมาณ 2 กิโลเมตร ถึงสี่แยกวัดต๋อมกลาง ตรงเข้ามาอีกประมาณ 1 กิโลเมตร หมู่บ้านต๋อมดงตั้งอยู่หมู่ที่ 6 เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ต่อจากหมู่บ้านต๋อมดง หมู่ที่ 5 โดยแบ่งแยกจากหมู่ 5 ที่วัดต๋อมดง มีระยะทางห่างจากตัวเมืองพะเยาประมาณ 7 กิโลเมตรมีพื้นที่ทั้งหมดแบ่งเป็น พื้นที่อยู่อาศัย 670 ไร่ พื้นที่ทำการเกษตร 1,430 ไร่ พื้นที่ทำนา 380  ไร่ พื้นที่ทำไร่ 257 ไร่ พื้นที่ทำสวน 80 ไร่

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านห้วยทรายคำ หมู่ที่ 8 ตำบลบ้านต๋อม อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านทุ่งต้นศรี หมู่ที่ 2 ตำบลสันป่าม่วง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านต่อมดง หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านต่อม อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านต๋อมดง หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านต๋อม อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา

ลักษณะทางภูมิศาสตร์ โดยทั่วไปของหมู่บ้านต๋อมดง หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านต๋อม อำเภอเมือง จังหวัดพะเยาเป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำต๋อมซึ่งต้นน้ำมาจากฎเขาด้านตะวันตกไหลผ่านหมู่บ้าน สภาพทั่วไปจึงเหมาะแก่การเกษตร

บ้านต๋อมดงเป็นหมู่บ้านขนาดเล็กมีจำนวนหลังคาเรือนทั้งหมดในหมู่บ้านตามทะเบียนบ้านจำนวน 162 หลังคาเรือนแบ่งเป็นหลังคาเรือนที่มีประชาชนอยู่จริงครัวเรือน 157 หลังคาเรือน และมีบ้านที่ไม่มีคนอาศัยจำนวน 5 หลังคาเรือน ซึ่งเจ้าของบ้านไปต่างจังหวัดหรือเสียชีวิตและส่วนใหญ่จะมีคนคอยดูแลบ้านให้ส่วนใหญ่จะเป็นญาติพี่น้องกันหรืออยู่บ้านใกล้เคียงกัน จำนวนประชาการทั้งหมด 602 คน เพศชาย 305 คน เพศหญิง 297 คนประชากรที่อาศัยอยู่ที่บ้านต๋อมดงเป็นคนพื้นเมือง

ลักษณะครอบครัวของคนในหมู่บ้านต๋อมดง หมู่ที่ 6 ในอดีตรูปแบบเป็นลักษณะครอบครัวขยายคือการอยู่ร่วมกันของเครือญาติเป็นครอบครัวเดี่ยวมีสมาชิกของครอบครั่วมากกว่า 2 รุ่นขึ้นไป คือ ปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ ลูกหลาน เป็นต้น การทำหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัวโดยผู้ชายทำหน้าที่เป็นผู้นำ ส่วนหน้าที่ของผู้หญิงทำหน้าที่เป็นแม่บ้านในการเลี้ยงดูบุตร หุงหาอาหารและดูแลบ้าน ปัจจุบันความเป็นอยู่ในหมู่บ้านต่อมดง หมู่ที่ 6 มีการแยกออกเป็นครอบครัวเดี่ยว โดยบุคคลในครอบครัวมีหน้าที่อย่างเทียมกัน คือ ทั้งผู้ชายและผู้หญิงต่างช่วยกันทำมาหากิน ส่วนมากการทำหน้าที่ของพ่อบ้านคือ การทำนา ทำไร่ ทำสวน แม่บ้านต้องทำหน้าที่นอกบ้านเช่นกัน เช่น การออกไปรับจ้าง ภาระในการเลี้ยงดูบุตรเป็นหน้าที่ของปู่ย่าตายาย ถึงแม้ว่ารูปแบบของครอบครัวของคนในชุมชนบ้านต๋อมดง หมู่ที่ 6 ปัจจุบันมีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยวเป็นส่วนใหญ่แต่ระบบความสัมพันธ์เสมือนเป็นครอบครัวเดียวกันเนื่องจากการแยกบ้านเป็นเพียงแยกออกมาปลูกใหม่ในบริเวณที่ใกล้เคียงกับบ้านของพ่อแม่เท่านั้น

บ้านต๋อมดง หมู่ที่ 6 แบ่งการดูแลเป็น 10 คุ้มบ้าน โดยที่แต่ละคุ้มบ้านจะมีประธาน ซึ่งเป็นกรรมการหมู่บ้านตามโครงสร้าง มีการรวมกลุ่มกันอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ดังนี้

ผู้ใหญ่บ้าน : นายพล เมืองวงศ์

กลุ่มที่เป็นทางการ

  • กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) : นางสายรุ้ง วงศ์งาม เป็นประธาน มี อสม. รวมประธานทั้งสิ้น 15 คน
  • กลุ่มผู้แทนเกษตร : นายทอน เมืองวงค์ เป็นประธาน
  • อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน : นายบุญธรรม ชัยกุล เป็นประธาน

กลุ่มที่ไม่เป็นทางการ

  • กลุ่มผู้สูงอายุ : นายทองสิทธิ์ เพิ่มการ เป็นประธาน
  • กลุ่มแก้ไขความยากจน : นางธนพร กิตติพงค์พิทยา เป็นประธาน
  • กลุ่มกองทุนเงินล้าน : นายพล เมืองวงค์ เป็นประธาน
  • กลุ่มธนาคารข้าว : นายดวงแก้ว จินะใจหาญ เป็นประธาน
  • กลุ่มแม่บ้าน : นางนันทวรรณ ทองงามดี เป็นประธาน
  • กลุ่มออมยาง : นายประพันธ์ ใจการ เป็นประธาน
  • กลุ่มฌาปณกิจสงเคราะห์ : นายประสิทธิ์ เหล็กกล้า เป็นประธาน
  • กลุ่มข้าวพันธุ์ดี : นายประสิทธิ์ เหล็กกล้า เป็นประธาน
  • กลุ่มเกษตร : นายณรงค์ สีทอง เป็นประธาน

ประชาชนมีวิถีการดำรงชีวิตแบบพึ่งตนเองโดยการทำการเกษตรหลายรูปแบบทั้งการทำนาทำสวน เลี้ยงสัตว์ จักสานและรับจ้างรวมทั้งประกอบธุรกิจส่วนตัวเช่นค้าขายช่อมรถอีกทั้งยังมีกลุ่มส่งเสริมอาชีพต่าง ๆ เช่น กลุ่มทำกล้วยฉาบ กลุ่มจักสาน เป็นการสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนซึ่งประชาชนให้ความสำคัญต่อการพัฒนาขององค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนประชาชนมีฐานะความเป็นอยู่ในระดับปานกลาง ประชาชนให้ความสำคัญในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนามีการทำบุญตักบาตรในตอนเช้า ในวันพระประชาชนส่วนใหญ่จะไปวัดทำบุญฟังเทศน์ฟังธรรมและมีการทำวัตรเย็นที่วัดบ้านต่อมดงและส่งเสริมรักษาประเพณีอันดีงามต่าง ๆ ตลอดทั้งปี

สภาพทางเศรษฐกิจ ประชาชน์ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ดังนั้นรายรับได้มาจากการเกษตร ได้แก่การทำนา ทำสวนยางพารา ทำสวนหอมแดงกระเทียม ทำสวนข้าวโพด ทำสวนผลไม้ ทำสวนมันสำปะหลัง และปลูกถั่วสิสง ประชาชนมีรายได้ภาคเกษตรเฉลี่ยประมาณ 45,000 บาท/ครัวเรือน/ปีรายได้นอกภาคเกษตรเฉลี่ยประมาณ 30,000 บาท/ครัวเรือน/ปี รายได้เฉลี่ยของประชากร (ตามเกณฑ์จปฐ.ปี 54ประมาณ 41,496 บาท/คน/ปี

  • อาชีพหลัก : การทำนา
  • อาชีพเสริม : จักสานไม้กวาด, ทำกลัวยฉาบ
  • อาชีพรอง : รับจ้างทั่วไปทำสวนยางพารา, ทำสวนหอมแดงกระเทียม, ทำสวนข้าวโพด, ทำสวนผลไม้, ทำสวนมันสำปะหลัง, ปลูกถั่วลิสง
  • อาชีพเสริม : จักสานไม้กวาด, ทำกล้วยฉาบ
  • รายได้ของประชาชน : ภาคเกษตรกรรม
  • รายจ่ายของประชาชน : ค่าใช้จ่ายทางการเกษตร, ค่าดำรงชีพ, ค่าสาธารณูปโภค, ค่างานสังคม, ค่าเล่าเรียนบุตร, ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ
  • หนี้สินของประชาชน : ส่วนใหญ่เป็นหนี้กู้ยืมของ ธกส. และหนี้ของกองทุนต่าง ๆ ในหมู่บ้าน
  • แหล่งเงินทุน : กองทุนต่าง ๆ ในหมู่บ้านและ ธกส.
  • ผลิตภัณฑ์ชุมชน : ได้จากกลุ่มส่งเสริมอาชีพภายในหมู่บ้าน ได้แก่ จักสานไม้กวาด ทำกล้วยฉาบ
  • ภูมิปัญญาท้องถิ่น : ปราชญ์ชาวบ้านผู้สูงอายุมีความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรโบราณจึงนำมาใช้ทำยาต้มสมุนไพรเป่าเวทมนต์

1. นายพรเกษตร วงศ์ปัญญา : ปราชญ์ชาวบ้านด้านการเกษตร

2. นายแก้ว เมืองวงค์ : ปราชญ์ชาวบ้านด้านหมอพื้นบ้าน

3. นายน้อย ศรีนิล : ปราชญ์ชาวบ้านด้านศิลปวัฒนธรรม

4. นายขึ้น เมืองวงค์ : ปราชญ์ชาวบ้านด้านหัตถกรรม

ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บ้านต่อมดง หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านต๋อม มีลักษณะทางนิเวศที่สมบูรณ์ เนื่องจากมีการอนุรักษ์แหล่งธรรมชาติมีการอนุรักษ์แม่น้ำและพันธุ์ปลาคือ วังมัจฉา มีการทำการเกษตรแบบหมุนเวียน เพื่อรักษาหน้าดิน ซึ่งประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพด้านการเกษตรกรรม คือ การทำนา ทำสวนยางพารา ทำสวนหอมแดงกระเทียม ทำสวนข้าวโพด ทำสวนผลไม้ ทำสวนมันสำปะหลัง นอกจากนั้นยังปลูกถั่วลิสง เป็นพืชหมุนเวียนในการรักษาหน้าดิน โดยใช้แหล่งน้ำจากแม่น้ำต่อมที่ไหลผ่านหมู่บ้าน อาชีพเสริมก็จะทำจักสานไม้กวาด ทำกล้วยฉาบ บ้านอมดง หมู่ที่ 6 มีพื้นที่แบ่งเป็น พื้นที่อยู่อาศัย 670 ไร่ พื้นที่ทำการเกษตร 1,430 ไร่ ทำนา 380 ไร่ พื้นที่ทำไร่ 257 ไร่ พื้นที่ทำสวน 80 ไร่ และมีพื้นที่สาธารณะ คือ ศาลาอเนกประสงค์ ที่ตั้งธนาคารข้าว และศาลาภายในหมู่บ้านภายในหมู่บ้านมีการแบ่งเป็นซอย คือ ซอย 1-8

ลักษณะดินในหมู่บ้านต๋อมดง หมู่ที่ 6 โดยทั่วไปเป็นดินเหนียว ดินทราย ดินร่วนในทุ่งนาซึ่งเหมาะแก่การเพาะปลูก

แหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคและการบริโภค คือน้ำประปาที่เจาะบ่อบาดาล ส่วนน้ำดื่มส่วนใหญ่ซื้อน้ำดื่มสำเร็จรูปและกดน้ำจากตู้กดน้ำภายในหมู่บ้าน บางหลังคาเรือนนั้นก็ยังบริโภคน้ำประปา น้ำบ่อ และน้ำฝน

ภาษาพื้นเมืองล้านนา


ในอดีตการดูแลสุขภาพเป็นลักษณะธรรมชาติ วัตถุดิบการทำอาหารต่าง ๆ หาได้ตามธรรมชาติในหมู่บ้าน ในแหล่งน้ำ ป่า มีการปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ไว้เป็นอาหารโดยไม่มีการซื้อขายกัน แต่มีการแบ่งปันกันกินแบ่งปันกันใช้ สังคมมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เมื่อเกิดการเจ็บป่วยจะดูแลกันเองภายในครอบครัวโดยหมู่เครือญาติ ในหมู่บ้านจะมีหมอรักษาทางไสยศาสตร์ หมอพื้นบ้านที่รักษาโดยสมุนไพรต่าง ๆ เช่น การประคบด้วยสมุนไพร การกินสมุนไพรสด รวมถึงการรักษาโดยพิธีกรรม/ความเชื่อ เช่น การสืบชะตา การเป่า การบน ร่างทรง แพทย์ทางเลือก เช่น นวดคลายเส้น ฝังเข็ม การรับบริการจากสถานบริการสาธารณสุขมีน้อยมาก เพราะการคมนาคมไม่สะดวก และอยู่ไกลจากตัวเมือง

ปัจจุบันบ้านเมืองมีการพัฒนา มีการคมนาคมสะดวกขึ้น การได้รับข่าวสารเพิ่มมากขึ้น ทำให้สภาพเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลงไป อาหารการกินเริ่มเปลี่ยนแปลง มีการซื้อขายกันมากขึ้น มีอาหารแปลก ๆ ใหม่ที่ไม่เคยรับประทานเริ่มเข้ามามากขึ้น มีการใช้สารกำจัดศัตรูพืช ใช้สารเคมีต่าง ๆ ทำให้โรคใหม่เริ่มเข้ามา และประกอบกับความเป็นอยู่ที่ดี มีการร่วมกิจกรรมในชุมชนมากขึ้นทำให้การดื่มสุราและสูบบุหรี่เพิ่มจำนวนตามไปด้วย

โครงการวิจัยเรื่อง “แนวทางการสร้างระบบสุขภาพชุมชนโดยใช้ปัญหาขยะเป็นกรณีศึกษาบ้านต๋อมดง หมู่ 6 ตำบลบ้านต๋อม อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา” ของวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีพะเยา ภายใต้การสนับสนุนโครงการวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น ตั้งแต่ วันที่ 1 พฤษภาคม 2559-30 พฤศจิกายน 2560

บ้านต๋อมดง หมู่ 6 ตำบลบ้านต๋อม อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา จากอดีตถึงปัจจุบันมีการพัฒนามากในด้านการคมนาคมที่สะดวกมากขึ้น สภาพเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้พฤติกรรมในการดำเนินชีวิตของคนในชุมชนก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วยเช่นกัน เช่น พฤติกรรมการ มีการซื้ออาหารถุงสำเร็จจากตลาด ตลาดนัด หรือรถพ่วงขายอาหารที่เข้ามาในหมู่บ้าน กลับมารับประทานที่บ้านเพิ่มมากขึ้นกว่าการทำเองในครัวเรือน ส่งผลให้เกิดขยะเพิ่มมากขึ้น หรือพฤติกรรมการใช้สารเคมีทางการเกษตร เพื่อเพิ่มผลผลิตเกษตรกรเริ่มมีการใช้สารกำจัดศัตรูพืช ใช้สารเคมีต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดขยะอันตรายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นขวดหรือกระป๋องบรรจุสารเคมี สอดรับกับพฤติกรรมทางสังคม ของคนในชุมชนที่มีกิจกรรมทางสังคมร่วมกัน เช่น งานตามประเพณี งานบุญ งานศพ หรืองานทางการเกษตร ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของปริมาณขยะที่มีจำนวนมากขึ้น ทางชุมชนบ้านต๋อมดงได้เคยนำประเด็นของสถานการณ์ปัญหาขยะมาหารือแนวทางและวิธีจัดการปัญหาขยะหลายรูปแบบ ได้แก่

  • การให้ความรู้ในการแยกขยะ รณรงค์ให้ทุกครัวเรือนแยกขยะ เพื่อลดปริมาณขยะ เพราะขยะบางส่วนนำมาใช้ใหม่ได้ หรือนำมาทำประโยชน์ขายต่อเป็นรายได้ครอบครัว จากการประเมินลักษณะขยะในครัวเรือนที่พบมาก คือ เป็นขยะพลาสติก ซึ่งทางเทศบาลได้พยายามเข้ามาจัดการโดย รับซื้อ โดยให้ผู้นำในหมู่บ้านรวบรวมเก็บซื้อจากสมาชิกในหมู่บ้าน เพื่อให้ได้จำนวนมาก ๆ นำมาทำขยะอัดแท่ง และให้ความรู้ในการนำขยะเปียกมาใช้ทำปุ๋ย และทำน้ำหมัก ท้องถิ่นให้การสนับสนุนในเรื่องกากน้ำตาลเพื่อการทำน้ำหมัก พบปัญหาสำหรับคนทำ คือ เหม็น ซึ่งคิดว่าคงทำไม่ถูกวิธี จึงหยุดทำ เพราะไม่มีใครทำส่วนการทำบ่อหมักของชุมชนที่ให้ทำคุ้มละ 1 บ่อนั้น บางคุ้มบ่อหมักอยู่กลางบ้านเพื่อนบ้านไม่กล้านำขยะไปทิ้งเพราะเกรงใจเจ้าของบ้านกลัวเจ้าของบ้านเขาเหม็น ก็เลยกลายเป็นมีแต่เจ้าของบ้านทิ้งเอง จนบ่อเต็มก็กลายเป็นแปลงผักกาดแทน
  • การได้งบประมาณจาก สปสช. มาทำบ่อแยกขยะ จำนวน 3 บ่อ คือ บ่ออันตราย บ่อน้ำหมัก บ่อหมักปุ๋ย แต่ไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องจากประชาชนไม่แยกขยะก่อนทิ้งลงไปในบ่อขยะ
  • การรณรงค์แยกขยะในงานศพ โดยการจัดหาถุงขยะให้แล้วแยกขยะแต่ละชนิดให้ใส่ในถุง แต่ก็ประสบปัญหาเดิมคือ ยังคงใส่ขยะปนกันในถุงขยะ

จากประสบการณ์การแก้ไขปัญหาเรื่องขยะที่ผ่านมาสิ่งสำคัญเป็นเรื่องของบุคคล คือ ความรู้และจิตสำนึกของคน ที่มักรอคอยส่วนราชการมาเก็บ การมีพฤติกรรมไม่ยอมคัดแยกขยะ ไม่รู้จักการใช้ประโยชน์จากขยะ นอกจากนี้ยังมองว่า ปัญหาขยะเป็นปัญหาเรื่องความสะอาด แต่ยังไม่มองว่า เป็นปัญหาที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ แต่ในปัจจุบันจากปัญหาขยะทำให้ชุมชนมองเห็นผลกระทบที่ตามมา คือ การเผาขยะทำให้เกิดควัน ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ การนำขยะไปทิ้งที่ป่าต้นน้ำ โดยเฉพาะขยะอันตราย เช่น กระป๋องหรือขวดบรรจุสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ขยะซึมลงในดิน ลงสู่แม่น้ำ ทำให้น้ำเสีย น้ำก็ไหลลงสู่แม่น้ำลำคลอง ทำให้ปลาตาย น้ำที่เคยใช้ซักผ้ากลายเป็นน้ำมีกลิ่นเหม็นเน่า นอกจากนี้ขยะยังทำให้มีแมลงวันซึ่งเป็นพาหะนำเชื้อโรคมาสู่คน ทำให้เกิดปัญหาระบบทางเดินอาหาร สรุปได้ว่า ขยะเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนในชุมชน

จากการสำรวจข้อมูลเพื่อประเมินภาวะสุขภาพชุมชนโดยนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พะเยา ในประเด็นการสำรวจครัวเรือนเกี่ยวกับสัตว์นำโรค พบว่า มีครัวเรือนที่พบหนูร้อยละ 32 ยุงร้อยละ 31 แมลงวันร้อยละ 19 และจากรายงานของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านต๋อม ประจำปี 2558 พบว่า มีโรคที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดขยะ คือ มีอัตราการเกิดโรคปอดอักเสบ 372.44 ต่อประชากรแสนคน และอัตราป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วง 5,027.53 ต่อประชากรแสนคน และจากการเก็บข้อมูลเพื่อค้นหาสาเหตุเชิงลึกของปัญหาการจัดการขยะของบ้านต๋อมดง พบว่า ร้อยละ 90 คนในชุมชนมีความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะ ไม่ว่าจะเป็นการลดปริมาณขยะ การคัดแยกขยะ การกำจัดขยะ และผลกระทบต่อสุขภาพ แต่ในส่วนของทัศนคติกับพฤติกรรม พบว่า ส่วนใหญ่ยังขาดความตระหนักและไม่มีการปฏิบัติอย่างจริงจัง โดยยังมีความคิดเห็นว่า การจัดการขยะเป็นเรื่องยุ่งยาก และการกำจัดขยะเป็นหน้าที่ของเทศบาล และยังมีพฤติกรรมการทิ้งขยะโดยไม่มีการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง เป็นต้น บทเรียนที่ผ่านมาทำให้พบว่า การดำเนินงานในชุมชนเป็นลักษณะทำตามแรงกระตุ้นของนโยบายและงบประมาณสนับสนุนของทั้ง สปสช. สสส. อปท. โดยมีกลุ่มผู้นำชุมชน อสม. หรือกลุ่มแกนนำต่าง ๆ แต่ขาดความต่อเนื่อง

ปัญหาในเชิงระบบว่า การแก้ปัญหาการจัดการขยะที่ผ่านมายังไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องจากการทำงานในลักษณะต่างคนต่างทำ เทศบาลและหน่วยงานภาครัฐก็กำหนดนโยบาย งบประมาณ และกิจกรรมมาให้ชุมชนดำเนินการ โดยไม่มีการศึกษาบริบทของชุมชน และการแก้ไขปัญหาไม่ได้มาจากความต้องการที่แท้จริงของชุมชน ทำให้กิจกรรมอาจจะไม่สอดคล้องกับพื้นที่ คนในชุมชนเมื่อได้งบประมาณหรือรับนโยบายมา ก็ต่างคนต่างทำในครัวเรือนของตนเอง ทำให้การแก้ไขปัญหาการจัดการขยะของชุมชนไม่ประสบผลสำเร็จ และได้ส่งผลต่อการเกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ในชุมชน นอกจากนี้ด้วยการแก้ไขปัญหาในลักษณะเดียวกัน ก็ทำให้การแก้ไขปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ในชุมชน ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้การแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพ และการดำรงไว้ซึ่งสุขภาวะของคนในชุมชน ก็คือการดำเนินการในลักษณะที่เป็นระบบในการดูแลสุขภาพ ที่เข้าไปแก้ไขปัญหาที่เป็นความต้องการที่แท้จริงของชุมชน ดำเนินการตามบริบทของชุมชน โดยมีการมีส่วนร่วมของทั้งชุมชน รพสต. อปท. และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ในลักษณะของระบบสุขภาพชุมชน

หากเชื่อมโยงสู่ระบบสุขภาพของคนในชุมชน ซึ่งประกอบไปด้วย 6 องค์ประกอบหลัก คือ การให้บริการ บุคลากร ระบบสารสนเทศด้านสุขภาพ ยาและเวชภัณฑ์ ระบบการคลังด้านสุขภาพ และภาวะผู้นำและธรรมาภิบาล ดังนั้นเพื่อเป็นการจัดการปัญหาขยะ จึงเน้นไปที่ระบบบริการ หมายถึง บริการที่ส่งเสริม ป้องกัน รักษา ฟื้นฟูสุขภาพอย่างมีคุณภาพ ปลอดภัย ได้มาตรฐาน ครอบคลุมสิทธิประโยชน์ทางการแพทย์และสาธารณสุข ให้ความสำคัญต่อการสร้างหน่วยบริการระดับปฐมภูมิที่เข้มแข็ง มีระบบสนับสนุนที่มีประสิทธิภาพจากหน่วยบริการที่อยู่สูงขึ้นไป โดยมีแนวคิดเรื่องการนำระบบสุขภาพชุมชน ซึ่งเป็นระบบการทำงานเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพ บูรณาการภาคี ไม่ว่าจะเป็น ประชาชน รพสต. อปท. และภาคีเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็น วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พะเยา หรือหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ เน้นเป้าหมายที่ชัดเจน ผ่านกระบวนการชื่นชมและให้คุณค่า และจัดการความรู้แบบอิงบริบทของพื้นที่ นั้นคือ เมื่อมีปัญหาสุขภาพเกิดขึ้น เช่น ปัญหาการจัดการขยะในชุมชน ทุกภาคส่วน คือ ชุมชน (คนในชุมชน แกนนำหมู่บ้าน อสม.) รพสต. อปท. (เทศบาล) และภาคีเครือข่าย (วพบ. วัด โรงเรียน หน่วยงานต่าง ๆ ) จะต้องเข้ามาบริหารจัดการอย่างมีเอกภาพ ทำให้งานไม่ซ้ำซ้อน มีความชัดเจน เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรร่วมกันในการแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็น งบประมาณ กำลังคน วิชาการ เพื่อกำหนดกระบวนการดำเนินงานที่สอดคล้องกับบริบทของชุมชน และดำเนินงานโดยผ่านกระบวนการให้คุณค่าและการชื่นชม เพื่อสร้างกำลังใจและเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์ประกอบต่าง ๆ ในระบบ นอกจากนั้นการที่มีภาคเครือข่ายเข้ามาร่วมกับชุมชน จะทำให้คนในชุมชนมีความเชื่อมั่นและยอมรับมากขึ้น โดยเน้นไปที่การส่งเสริมสุขภาพในด้านการปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมด้านการจัดการขยะ ย่อมจะส่งผลให้คนในชุมชนมีพฤติกรรมการกำจัดขยะที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ ช่วยลดปัญหาด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากปัญหาขยะได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจากการสร้างขยะที่เพิ่มมากขึ้นหรือปัญหาที่เกิดจากการกำจัดขยะที่ไม่ถูกวิธี ย่อมทำให้ประชาชนดำรงไว้ซึ่งสุขภาวะ ก่อเกิดคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

Google Maps. (2559). พิกัดแผนที่ชุมชนบ้านต๋อมดง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2559. เข้าถึงได้จาก https://www.google.com/maps

ประวัติจังหวัดในล้านนา จังหวัดพะเยา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2559. เข้าถึงได้จาก http://wiangsalanna.myreadyweb.com/

เทศบาลตำบลบ้านต๋อม โทร. 0-5445-8771