
นมัสการหลวงพ่อใหญ่ ชมเขาโกเต็ง กินปลารมควัน
เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นบ้านเรือนสลับกับที่นาและสวนผลไม้ จึงตั้งชื่อชุมชนว่า "บ้านนาสวน" และมีชื่อท้องถิ่นว่า "กระหน่องโซ่ว" เป็นภาษากะเหรี่ยงซึ่งเป็นชื่อไม้ล้มลุกที่ขึ้นในบริเวณทุ่งนา ปัจจุบันไม่พบพืชชนิดนี้แล้ว
นมัสการหลวงพ่อใหญ่ ชมเขาโกเต็ง กินปลารมควัน
เดิมทีหมู่บ้านตั้งอยู่ที่บ้านหนองสระ ทางทิศเหนือของบ้านสะมะแก อยู่ติดกับเขาโจดซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่มีความอุดมสมบูรณ์ และต้นน้ำนี้จะไหลลงสู่หมู่บ้านในตำบลเขาโจด ตำบลด่านแม่แฉลบ และตำบลนาสวน ต่อมาได้เกิดโรคระบาดจึงได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานใหม่ในบริเวณพื้นราบตามลำห้วยที่อยู่ด้านล่าง ก่อนมีการย้ายอพยพนั้นที่แห่งนี้เป็นที่อยู่ของชาวละว้า ต่อมากลุ่มละว้าได้มีการอพยพไปอยู่ที่หมู่บ้านวังควาย ตำบลวังยาว อำเภอองค์พระ จังหวัดสุพรรณบุรี สามารถแบ่งการปกครองออกเป็น 2 หมู่ คือหมู่ 1 “บ้านปลายนาสวน” กะเหรี่ยงเรียกว่า "กะหน่องโซ้วคิ่ง" และหมู่ที่ 2 “บ้านปากนาสวน”กะเหรี่ยงเรียกว่า “กะหน่องโซ้วท่า” หรือคนทั่วไปมักเรียกว่า “ปากท่า” เหตุที่เรียกว่าปากท่าเพราะบ้านปากนาสวนจะตั้งอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำแควใหญ่ การตั้งบ้านเรือนนั้นจะตั้งอยู่ตามลำห้วยตลอดสายของห้วยองจุและห้วยปลายนาสวน ที่ปลายนาสวนนั้นจะประกอบด้วยลำห้วยสองสายเรียกว่า ลำห้วยนาสวนสดและลำห้วยนาสวนแห้ง เป็นลำห้วยที่มีน้ำไหลตลอดปีให้คนได้ใช้บริโภคอุปโภค ที่สำคัญ ตามเรือกสวนนาจะมีน้ำซับที่ใสและสะอาดอยู่เป็นระยะ ๆ ตลอดทั้งสองฝั่งของลำห้วย จะมีบ้านเรือนสลับกับที่นาและสวนผลไม้ เช่น มะพร้าว หมาก กล้วย เป็นต้น ด้วยมีสวนและนาเป็นจำนวนมากจึงได้มีการตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านนาสวน”
เดิมตำบลนาสวนมีพื้นที่อยู่ทางด้านทิศเหนือของอำเภอศรีสวัสดิ์ แบ่งการปกครองออกเป็น 4 หมู่ คือ หมู่ 1 บ้านปลายนาสวน หมู่ 2 บ้านปากนาสวน หมู่ 3 บ้านองหลุ หมู่4 บ้านองสิต ซึ่งทั้งนี้มีพื้นที่หมู่ 3 บ้านองหลุ อยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำแควใหญ่และมีอาณาเขตที่ติดต่อกับอำเภอทองผาภูมิ นอกนั้นอีก 3 หมู่อยู่ทางทิศตะวันออกของแม่น้ำแควใหญ่ โดยบ้านปากนาสวนจะอยู่ติดกับแม่น้ำแควใหญ่ ส่วนบ้านปลายนาสวนและบ้านองสิตอยู่เลยถัดเข้าไป การสัญจรเข้าเมืองกาญจนบุรีจึงต้องมาลงเรือที่บ้านปากนาสวน
เมื่อมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่เขื่อนศรีนครินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2517-พ.ศ. 2523 ได้มีกลุ่มคนซึ่งเป็นแรงงานอพยพในการสัมปทานการทำไม้ในน้ำ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนที่มาจากภาคอีสานได้มารับจ้างเป็นแรงงาน ซึ่งหลังจากหมดงานแล้วก็หาจับจองพื้นที่สำหรับทำไร่บริเวณบ้านเจาะเหลาะ แต่เดิมทีชาวบ้านจากนาสวน จำนวน 2 ครอบครัว ได้ไปทำไร่อยู่และได้ชักชวนญาติพี่น้องมาตั้งหลักปักฐานบริเวณนี้ บ้านเจาะเหลาะนี้เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่บ้านองสิต เมื่อมีจำนวนคนมากขึ้นจึงได้แยกการปกครองออกเป็น 5 หมู่ โดยหมู่ที่ 5 คือ บ้านเจาะเหลาะ เมื่อปี พ.ศ. 2539
ปัจจุบันบ้านนาสวนแบ่งการปกครองออกเป็น 2 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 1 บ้านปลายนาสวน หมู่ที่ 2 บ้านปากนาสวน ส่วนของบ้านปากนาสวนนั้น ภายหลังการสร้างเขื่อนศรีนครินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2523 รัฐได้อพยพและจัดสรรที่ดินให้ใหม่เป็นที่ทำกิน 18 ไร่ ที่อยู่อาศัย 2 ไร่ ห่างจากหมู่บ้านเดิม 25 กิโลเมตร ดังนั้นสภาพความเป็นหมู่บ้านที่เคยเชื่อมติดต่อกันระหว่างบ้านปากนาสวนกับบ้านปลายนาสวนได้แยกออกจากกันโดยสิ้นเชิงและยังมีพื้นที่ของตำบลด่านแม่แฉลบที่บ้านดงเสลาคั่นระหว่างกันอีกด้วย
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ตำบลแก่นมะกรูด อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี
- ทิศใต้ ติดต่อตำบลด่านแม่แฉลบ อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี
- ทิศตะวันออก ติดต่อตำบลเขาโจด อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี
- ทิศตะวันตก ติดต่อตำบลด่านแม่แฉลบ อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
บ้านนาสวน จากการสำรวจข้อมูลโดยการใช้แผนที่เดินดินมีประชากร 290 ครัวเรือน โดยแบ่งกลุ่มสำหรับการจัดกิจกรรมของหมู่บ้านออกเป็น 5 กลุ่ม คือ
กลุ่มเหนือวัด โดยนับบริเวณการตั้งบ้านเรือนอยู่ทางด้านทิศเหนือของวัดปลายนาสวนจนถึงบ้านสุดท้าย มี 82 ครัวเรือน
กลุ่มใต้วัด จะเป็นกลุ่มที่อยู่ทางด้านทิศใต้ของวัดปลายนาสวนจนถึงสะพานข้ามไปกลุ่มของบ้านองจุ ลงทางใต้จะเชื่อมต่อกับกลุ่มแพและกลุ่มบ้านไตรรงค์ มีครัวเรือน 40 ครัวเรือน
กลุ่มบ้านองจุ ตั้งแต่ข้ามสะพานบ้านปลายนาสวนถึงวัดถ้ำองจุ ในกลุ่มนี้จะมีชาวบ้านดั้งเดิมที่จะอยู่ตอนล่างและกลุ่มองจุใหม่ที่อยู่ตอนบน กลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนที่ได้อพยพขึ้นไปซื้อที่ดินบ้านองจุและปฏิเสธที่จะไปอยู่ในพื้นที่ที่รัฐได้จัดสรรให้ เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนวิถีชีวิตดั้งเดิมที่เคยอยู่กับกะเหรี่ยงด้วยกันและเป็นดินลูกรังไม่เหมาะในการทำการเกษตร มี 102 ครัวเรือน
กลุ่มไตรรงค์ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนกะเหรี่ยงบ้านปากนาสวน ที่ได้อพยพไปอยู่ในพื้นที่อื่นเช่นเดียวกับคนกลุ่มบ้านองจุแต่เป็นคนกลุ่มใหญ่จึงได้รวมกันตั้งหมู่บ้านใหม่ขึ้นมาชื่อว่า บ้านไตรรงค์ ภายหลังปี พ.ศ. 2523 แต่ทั้งนี้ บริเวณดังกล่าวได้เคยใช้เป็นที่เลี้ยงสัตว์และทำไร่ของชาวบ้านนาสวนมาก่อน มีครัวเรือน 38 ครัวเรือน
กลุ่มแพ คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนที่อื่นซึ่งมาจากทางจังหวัดในภาคเหนือและภาคอีสานที่เคยประกอบอาชีพในการหาปลาและเลี้ยงปลาจากเขื่อนต่างๆมาก่อน บริเวณที่ตั้งของแพเป็นบริเวณบ้านปลายนาสวนตอนล่าง บ้านมะค่าและบ้านปากนาสวนที่ถูกน้ำท่วม มีครัวเรือน 51 ครัวเรือน
บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ ได้เขียนเล่าเรื่องเกี่ยวกับกะเหรี่ยงว่า กะเหรี่ยงอาศัยอยู่ในเขตไทยก่อนที่ชาวไทยเราจะเคลื่อนย้ายมาสู่แหลมสุวรรณภูมิ แต่มีจำนวนเล็กน้อยและเข้ามาอยู่ภายหลังพวกละว้า ดังปรากฏข้อความอยู่ในตำนานพระธาตุและพงศาวดารเมืองเหนือหลาย ๆ ฉบับว่านอกจากมีพวกลัวะหรือละว้ายังมีพวกลาวหรือกะเหรี่ยง อยู่ตามป่ารอบ ๆ เมือง ชาวกะเหรี่ยงเองเล่าว่าพวกเขาเป็นพี่ชายของไทย
กะเหรี่ยงอพยพเข้ามาอยู่ในเขตไทยเป็นจำนวนมากในสมัยเมื่อพระเจ้าอลองพญา (อ่องเจยะ) ทำสงครามกับมอญ พวกมอญพ่ายแพ้ถูกกองทัพพม่าไล่ติดตามฆ่าฟัน ซึ่งในขณะนั้นกะเหรี่ยงเป็นมิตรกับมอญได้ให้ที่พักอาศัยหลบภัยแก่พวกมอญและเกรงภัยจึงพากันอพยพหลบหนีเข้าสู่เขตไทยและเข้ามาอีกครั้งหนึ่งคือเมื่ออังกฤษยึดพม่าเหนือได้ ใน พ.ศ. 2428 จ่อละผ่อ หัวหน้าชาวกะเหรี่ยงไม่ยอมอ่อนน้อมต่ออังกฤษ ครั้งอังกฤษส่งกองทัพใหญ่มาปราบพวกกะเหรี่ยงจึงพากันเข้ามาอยู่ในไทย ดังนั้น กะเหรี่ยงจึงเป็นกลุ่มคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้เข้าอยู่ในสุวรรณภูมินี้ก่อนยุคล่าอาณานิคมของฝรั่งเศสและสามารถวิเคราะห์การเดินทางเข้าสู่เขตไทยของกะเหรี่ยงในจังหวัดกาญจนบุรี เป็นไปได้ว่ามาทางด่านเจดีย์สามองค์เป็นหลักลงมาถึงไทรโยค ส่วนหนึ่งขึ้นไปตามแม่น้ำแควใหญ่ และอีกส่วนหนึ่งขึ้นไปทางลำตะเพินเข้าสู่จังหวัดสุพรรณบุรีและอุทัยธานี ซึ่งสอดคล้องกับเมืองมอญอยู่ที่เมาะตะมะ เมาะลำเลิงและกะเหรี่ยงเป็นมิตรกับมอญ ตามข้อมูลที่มีผู้เขียนไว้เมื่อถูกพม่ารุกรานจึงอพยพเข้ามาในฝั่งไทย
ปัจจุบัน กะเหรี่ยงในตำบลนาสวนเป็นกะโพล่วหรือโปว์ โดยจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มด้ายแดงและกลุ่มด้ายขาว โดยแต่ละกลุ่มมีการประกอบพิธีกรรมบางอย่างที่ไม่เหมือนกัน
โพล่งการประกอบอาชีพ
เนื่องจากบ้านนาสวนเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยการมีลำห้วยที่มีน้ำซับผุดขึ้นตลอดทาง ตลอดจนพื้นที่ทั่วไปเป็นที่ราบ จึงทำให้ชาวบ้านประกอบอาชีพทำไร่ ทำนา ทำสวน ตรงกับชื่อที่เรียกกันทั่วไปว่า “บ้านนาสวน” ซึ่งแต่ก่อนเป็นการประกอบอาชีพเพียงเพื่อสำหรับการดำรงชีวิตแบบการพึ่งพาตัวเองเป็นหลักในช่วงรอบปีหนึ่งๆ หรืออาจมีสำรองเพื่อรอบปีหน้าบางส่วนเท่านั้น อาชีพของชาวนาสวน นอกจากการทำไร่ข้าว ยังมีไร่ฝ้าย งา แต่ก็มีจำนวนน้อยและรวมทั้งการเลี้ยงสัตว์จำพวกกระบือไว้เป็นแรงงาน อาชีพหลักๆจึงประกอบด้วย
การทำข้าวไร่ มีการดูฤกษ์ยามก่อนเพาะปลูกและมีการทำขวัญข้าว ซึ่งชาวไทยสายกะเหรี่ยงเรียกว่า “บือชีเบาะ” โดยพันธุ์ข้าวที่ปลูกขึ้นอยู่กับความนิยมของผู้บริโภคแต่ละครัวเรือน ตัวอย่างพันธุ์ข้าว เช่น ข้าวเหลือง ข้าวบึ้งกริ๊ง บึ้งบ่อง บึ๊งเอาว ข้าวหมี ข้าวเหลืองเงิน ข้าวเหลืองทอง ข้าวใบตก ข้าวโต๊ะเตี๊ยะ บึ๊งชู่ ข้าวนารู ข้าวที่มีแต่ดั้งเดิม คือ บีงบ่อง และ โต๊ะเตี๊ยะ เป็นต้น
การทำนา สำหรับนาในพื้นที่บ้านนาสวนเป็นนาดำทั้งหมด ฤดูกาลทำนาจะเริ่มโดยการเพาะกล้าในเดือนมิถุนายน เดือนกรกฎาคมจะปล่อยน้ำเข้านา ไถ คราด และดำแล้วปล่อยน้ำขังในนา ปัจจุบันยังไม่มีการใส่ปุ๋ยในนาและไม่ต้องกำจัดวัชพืช ข้าวในนาจะเจริญเติบโตและตั้งท้องประมาณเดือนตุลาคมและเกี่ยวข้าวได้ในราวเดือนธันวาคม
การทำสวน การทำสวนจะทำตามบริเวณที่ราบที่ลำห้วยไหลผ่านหรือตามที่มีแหล่งน้ำซับ ซึ่งบริเวณนี้มีการทำสวนผสม จำพวกมะพร้าว หมาก มะม่วง ขนุน เป็นต้น ส่วนใหญ่จะปลูกไว้เพื่อการบริโภคหรือไว้แลกเปลี่ยนและจำหน่ายในส่วนที่เหลือ เช่นมะพร้าว หมาก ส่วนที่ราบสูงขึ้นมาจะปลูกกล้วย ขนุน โดยเฉพาะที่ราบริมแม่น้ำแควใหญ่ ส่วนหนึ่งจะปลูกนุ่นไว้เพื่อออกไปจำหน่ายต่อในเมือง โดยใช้เรือและแพล่องไปตามลำน้ำ พร้อมกับซื้อของที่จำเป็นจากตัวเมืองไว้ใช้ต่อไป นอกจากนี้ยังมีพวกตัดไม้ลวก ไม้ไผ่ล่องตามลำน้ำไปขายก็มีเป็นบางส่วน
องค์กรชุมชน
- กลุ่มทอผ้ากระเหรี่ยงพื้นบ้านบ้านปลายนาสวน เป็นการรวมกลุ่มของสาวๆที่สนใจในการสืบทอดภูมิปัญญาของชนชาติพันธุ์กระเหรี่ยงโพล่งหรือกระเหรี่ยงโป มีจำนวนประชากรประมาณ 70,000 คน (ศูนย์วิจัยชาวเขาจังหวัดกาญจนบุรี) ในภาคตะวันตกและในอำเภอศรีสวัสดิ์มีประชากรชนชาติพันธุ์กระเหรี่ยงคิดเป็น 80% ของประชากรทั้งหมด ดังนั้นการแต่งกายในชีวิตประจำวันและการใช้ในพิธีกรรมต่างๆ จึงมีการทอผ้ากระเหรี่ยงสืบทอดมาเป็นเวลายาวนาน ในการทำผลิตภัณฑ์ก็จะแบ่งหน้าที่กันตามความถนัด ผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม ได้แก่ ย่ามจก เสื้อกระเหรี่ยงผู้หญิง ผ้าถุงกระเหรี่ยงผู้หญิง เสื้อกระเหรี่ยงเด็กชาย ชุดกระเหรี่ยงเด็กหญิง ชุดกระเหรี่ยงสาว ย่ามจก ตุงบันไดสวรรค์
- กลุ่มแปรรูปปลาแพนาสวน เกิดจากการรวมตัวของผู้อาศัยอยู่ในแพริมอ่างเก็บน้ำ เขื่อนศรีนครินทร์ที่ส่วนใหญ่จะมีอาชีพในการทำประมงน้ำจืด ได้แก่ การหาปลาน้ำจืดที่มีในอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ตามที่กรมประมงได้สนับสนุนพันธุ์ชนิดต่างๆ มาปล่อยให้เจริญเติบโตแพร่พันธุ์จำนวนมากพอที่จะก่อเกิดเป็นอาชีพได้หลากหลาย เช่น การจับปลา มาจำหน่ายให้กับพ่อค้าแม่ค้าที่รับซื้อนำไปส่งขายยังตลาดทั้งภายในอำเภอศรีสวัสดิ์และตลาดสดจังหวัดกาญจนบุรี บางส่วนก็จะนำภูมิปัญญาดั้งเดิมของการถนอมอาหารประเภทปลามาแปรรูป ปลาที่เหลือจากการขายก็มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ ได้แก่ ปลารมควัน ปลาแดดเดียว น้ำพริกนรกกระเหรี่ยงปลาย่าง
- กลุ่มวิสาหกิจชุมชนคนนาสวน เกิดจากการร่วมมือของชาวบ้านกับบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) วางแผนการพัฒนาร่วมกับคนในชุมชน เพื่อสร้างความยั่งยืนในด้านเศรษฐกิจชุมชนไปพร้อมๆกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยนำเสนออัตลักษณ์ท้องถิ่นที่งดงามสู่สายตาภายนอก ผ่านกิจกรรมและผลิตภัณฑ์ชุมชนตลอดจนแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรและวัฒนธรรมภายใต้การบริหารจัดการโดยชุมชนเอง และได้พัฒนาผลิตผลทางการเกษตรที่มีเป็นจำนวนมากเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านได้อย่างเพียงพอต่อการดำรงชีวิตของชาวบ้านอีกหลายชนิด เช่น งาอินทรีย์คั่วสำหรับโรยข้าว น้ำมันงาพริกกระเหรี่ยงอินทรีย์ตากแห้ง พริกกระเหรี่ยงอินทรีย์ป่น ผักชนิดต่างๆ ที่ปลูกสำหรับส่งไปจำหน่ายให้แก่ลูกค้าทั้งแบบขายปลีกด้วยตัวเองและขายส่ง
ปฏิทินประเพณี
จากการที่บ้านนาสวนเป็นชุมชนที่ดั้งเดิมชาวกะเหรี่ยง จึงมีวิถีการดำรงชีวิตและวัฒนธรรมประเพณีเป็นของตนเอง ดังนั้นในรอบปีหนึ่งๆจะมีการประกอบพิธีกรรมที่สอดคล้องกับฤดูกาลและความเชื่อซึ่งเดือนทั้ง 12 เดือน มีชื่อเรียกและการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ดังนี้
เดือน | คำเรียกภาษาถิ่น | ประเพณี | คำเรียกภาษาถิ่น |
1 | หล่าเหลิว | งานบวชต้นโพธิ์ | ละกะเส่อ |
2 | หล่าเมาะผู้ | - | กะตอกปุ่ง |
3 | หล่าเมาะพะคู้ | งานทำบุญไฟ | กะเตาะไม้ |
4 | หล่าเซิ่ง | - | โพ่ละเกิง |
5 | หล่าต่า | งานสงกรานต์ | กะเตาะเจ่ว |
6 | หล่าฝ้า | งานบรรพชา – อุปสมบท | บะไสะ |
7 | หล่าโหน่ย | งานบุญไตรจีวร | กะเตาะจิง |
8 | หล่าหรุ | เข้าพรรษา | ตะเคิง |
9 | หล่าเมาะ | งานบุญผัก ผลไม้ | - |
10 | หล่าซิงหมิง | งานบุญกะยาสารท | - |
11 | หล่าซิงซ่า | ออกพรรษา,ทำบุญผ้าเช็ดหน้า,บันไดสวรรค์ | - |
12 | หล่าหน่อง | งานทอดกฐิน | กะเทิ่ง |
ปฏิทินการปลูกพืช
ปฏิทินกิจกรรมในการดูแลปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์
- ข้าว : เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน เตรียมดิน เดือนกรฎาคม-ตุลาคม เริ่มปลูก เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม เก็บเกี่ยว
- มันสำปะหลัง : มีการปลูกตลอดปี
- พืชผัก : มีการปลูกตลอดปี
- ไม้ผล : มีการปลูกตลอดปี
- ปศุสัตว์ : มีการเลี้ยงตลอดปี
- ประมง : ทำประมงตลอดทั้งปี
กลุ่มทอผ้ากระเหรี่ยงพื้นบ้านบ้านปลายนาสวน การบริหารจัดการกลุ่มโดย
- นางสุวรรณา ประสิทธิ์สิงห์ : ประธาน
- นางเฉิดฉาย นารีรักษ์ : รองประธาน
- นางอุษณีย์ นิ่มนวล : เลขาฯ
- นางศศิ พิมลา : ประชาสัมพันธ์
- นางเรณู สวัสดิ์ดรงค์ : กรรมการ
- นางอารีย์ แถวปลิว : กรรมการ
- นางสีใบ นาสวนประพฤติ : กรรมการ
- นางอนงค์ ประสิทธิ์สิงห์ : กรรมการ
- นายเรวัต สวัสดิ์โธนกุล : กรรมการ
- นางสุดา ยั้งประยุทธ์ : กรรมการ
- นางดารา สวัสดิ์ไฉไล : สมาชิก
- นางพรนภา ศรีประกอบศุกร์ : สมาชิก
- นางอิสริยาภรณ์ จันทร์ประเสริฐ : สมาชิก
กลุ่มแปรรูปปลาแพนาสวน การบริหารจัดการกลุ่มโดย
- นางสาวเจนจิรา บุญเลี้ยง : ประธาน
- นางสาวอรทิพย์ นาสวนโกมล : รองประธาน
- นางสาวอาภาพร การดี : เหรัญญิก
- นางจันทร์ ศิริภัทร์ : เลขานุการ
- นางสาวอนันตา สมจันทร์ : ประชาสัมพันธ์
- นายศัจธร บุญเลี้ยง : กรรมการ
- นายภูมิณวิทย์ อ่อนเบา : กรรมการ
- นายธีระ สิงห์น้อย : กรรมการ
- นางบัวแก้ว สีดา : กรรมการ
- นางเตรียมจิต ทาทอง : กรรมการ
- นางสงวน เมืองไสย์ : สมาชิก
- นางวัชรี บานเย็น : สมาชิก
- นายบรรแล แก้วปลิว : สมาชิก
- นางสาวประภา ยั้งประยุทธ์ : สมาชิก
บ้านนาสวนมีสถานที่และภูมิปัญญาท้องถิ่นต่าง ๆ ที่น่าสนใจอยู่มากมาย แต่จะยกที่สำคัญแต่ละด้านมาดังนี้
ทุนวัฒนธรรม
สถานที่สำคัญ
1.วัดปลายนาสวน เป็นศูนย์รวมทางจิตใจของชาวบ้านปลายนาสวนและวัดนี้ได้มีการพัฒนาขึ้นตามลำดับ ได้มีการปิดทองฝังลูกนิมิต เมื่อ ปี พ.ศ.2557
2. วัดถ้ำองจุ เป็นศูนย์รวมทางด้านจิตใจ ของชาวกะเหรี่ยงในจังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี อุทัยธานี ตากและกะเหรี่ยงในพม่า ในถ้ำจะมี "หลวงพ่อใหญ่' พระพุทธรูปปางมารศรีวิชัยขนาดใหญ่ประดิษฐานอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดั้งเดิมที่อยู่คู่กับชาวบ้านนาสวนและเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นมาของชุมชนแห่งนี้ ในทุกปีของวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 5 จะมีงานประจำปีที่ชุมชนชาวกระเหรี่ยงจะมาร่วมงานเพื่อเป็นสิริมงคลให้กับตนเอง
ประเพณีที่สำคัญ
การทำบุญปากะบ่อง (ไหว้เครื่องบิน) จะทำในวันเพ็ญกลางเดือน 10 ของทุกปี โดยก่อนวันทำพิธี ชาวบ้านจะนำไม้ไผ่มาช่วยกันประกอบ ให้มีลักษณะคล้ายเรือและยกสูงจากดินระดับอกเพื่อเตรียมไว้สำหรับบรรจุข้าว ผัก และผลไม้ต่างๆ ซึ่งเป็นผลผลิตที่ออกใหม่ของปี เมื่อถึงวันทำพิธีทุกคนจะนำข้าว ผักและผลไม้มาใส่ในกะบ่อง (เครื่องบิน) ที่ได้ช่วยกันสร้าง
สิ่งของที่ต้องใช้ในการทำบุญ ได้แก่
- เทียน 1,000 เล่ม
- ดอกไม้ 1,000 ดอก
- ฉัตร 1,000 อัน
- กระทง 1,000 อัน
- หมากพลู 1,000 คำ
พิธีกรรมจะเริ่มโดยการนำพิธีของผู้นำที่มีความรู้และเป็นที่นับถือของชาวบ้าน โดยให้ชาวบ้านนั่งกับพื้นและท่องบทสวดตามผู้นำพิธี 3 รอบ ต่อมาให้นั่งยองๆและท่องบทสวดตามผู้นำพิธี 3 จบ แล้วนั่งคุกเข่าท่องบทสวดตามผู้นำพิธีอีก 3 จบ สุดท้ายยืนค้อมตัวและท่องบทสวดตามผู้นำพิธีอีก 3 จบ แล้วจึงเดินเวียนไปทางขวาคล้ายการเวียนเทียนอีก 3 จบ เป็นอันเสร็จพิธี ทั้งนี้กะเหรี่ยงมีความเชื่อในการมีอยู่ของยุคพระศรีอริยเมตตรัย จึงได้นำอาหารที่เป็น ข้าว ผักและผลไม้ขึ้นถวายเพื่อจะได้ไปเกิดให้ทันในยุคนั้น
การละเล่นพื้นบ้าน
การละเล่นเย่องปิ่ง เย่องปิ่ง เป็นภาษากะเหรี่ยง แปลว่าการร้องเพลงเป่าแคน เป็นการละเล่นพื้นบ้านที่มีมาแต่โบราณ ปกติจะมีคนร้อง 1 คนและคนเป่าแคน 1 คนเป็นอย่างน้อย แต่เดิมหนุ่มสาวจะไปพบกันที่บ้านก็จะมีการเย่อปิ่ง โดยอาจจะผลัดกันร้องโต้ตอบกันระหว่างชายกับหญิง แม้กระทั่งการร้องโต้ตอบกันในระหว่างหมู่บ้านต่างที่ส่วนเนื้อเพลงนั้นมีความหลากหลายแล้วแต่ผู้แต่ง ตั้งแต่เกี่ยวกับการเกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาว การรำพึงรำพันถึงคนรัก กระทั่งเป็นเพลงนิทานชาดก ดังเช่น
“คู่ หลุ่ง ว้า บ่อง ลี ดุ ช่อง
ลี ลี โอ้ ป่อย เล่อเอ่อด่อง
เส้ยนี่คาหล่อง เส้ยลาบ่อง
น้อง ท้อง เนอ เยอมิทิ่งหล่อง”
แปลได้ว่า “ขึ้นไปดักไก่บนเขาไม้ลวก
เดินไปพักไปจนถึงยอดเขา
เห็นต้นผึ้งล้มมีใบสีเหลือง
เมื่อนึกถึงเธอฉันน้ำตาไหล”
ปัจจุบันการเย่องปิ่ง มักจะเล่นกันตามเทศกาลงานบุญต่าง ๆ ซึ่งการละเล่นนี้เริ่มจะไม่ค่อยได้พบเห็นเนื่องจากคนที่ร้องและเป่าแคนได้นับวันจะเหลือน้อยลง
ภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่องการทอผ้า
การทอผ้าจะเริ่มจากปลูกฝ้าย เก็บดอกฝ้ายที่มีคุณภาพดีไว้ตากไว้ให้แห้ง มาเข้าหีบปั่นเอาเมล็ดฝ้ายออก ตากไว้อีกรอบแล้วจึงมาปั่นให้เป็นเส้นเก็บไว้ ย้อมสีตามที่ต้องการ เมื่อถึงเวลาทอจะต้องนำด้ายมาเดินตามแบบ ซึ่งแบบขึ้นด้ายจะใช้ไม้ไผ่นวลมาเจาะให้เป็นรูและใช้ไม้ที่เหลากลมใส่ตามรูที่ได้เจาะไว้จากนั้นจึงขั้นด้ายจนเสร็จวางยังจุดที่ใช้สำหรับการทอผ้า โดยปกติทำที่พื้นด้านหัวสอดร้อยผูกไว้ที่ฝาด้านท้ายมีหนังสัตว์สำหรับนั่งพิงช่วยให้ด้าย ทั้งหมดตึงและมีไม้สำหรับเหยียดขายันไว้อีกแรงหนึ่ง
ผ้าทอพื้นบ้านลายกะเหรี่ยง เป็นผ้าทอที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่มีความสวยงาม และบ่งบอกถึงประเพณี วัฒนธรรม ความเป็นท้องถิ่นของชุมชน แต่นับวันผู้ที่มีความรู้ในการทอผ้ากะเหรี่ยงมีน้อยลงทุกที อาจเป็นเพราะวัฒนธรรมจากภายนอกได้เข้ามามีบทบาทสำคัญแทนและผ้าที่ทอต้องใช้เวลานาน การแต่งกายด้วยผ้ากะเหรี่ยงจึงเห็นกันอยู่น้อยมากส่วนใหญ่จะแต่งกันเฉพาะงานพิธีการ งานบุญต่างๆ เท่านั้น ผ้าทอมี ๖ ลายด้วยกัน ได้แก่ ลายจุ่งคู้จุ่งได้ ลายเกี๊ยะลิ๊ ลายเปาะ ลายย้าคุ้งมิ้ ลายเซ่อโคร่ว ลายโท่ว ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็ยังมีการทอผ้ากันอยู่บ้างแต่ส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้สูงอายุแล้ว
ภาษาพูด : บ้านนาสวนเป็นชุมชนที่มีชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงอาศัยอยู่ ดังนั้นในชุมชนจึงใช้ภาษากะเหรี่ยงในการสื่อสาร จนถึงช่วงปีพ.ศ.2517 ที่มีการสร้างเขื่อนศรีนครินทร์ เริ่มมีการติดต่อกับคนภายนอกชุมชน จึงมีการใช้ภาษาไทยกันมากขึ้น ประกอบกับการมีการศึกษาภาคบังคับถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ให้กับเด็ก ๆ มีจึงความสามารถในการใช้ภาษาไทยจึงมากขึ้น แต่กลับกัน ทำให้การใช้ภาษากะเหรี่ยงของเด็ก ๆ น้อยลง ส่งผลให้การใช้ภาษากะเหรี่ยงในครอบครัวและสังคมน้อยลงตามไปด้วย
ภาษาเขียน : กะเหรี่ยงใช้ตัวอักษรของมอญเป็นตัวหนังสือเขียนซึ่งมีพยัญชนะ 36 ตัว สระ 35 ตัว ลักษณะของตัวหนังสือจะกลม ภาษาเขียนส่วนใหญ่จะใช้เรียนกันที่วัดในช่วงของการบรรพชา อุปสมบท ปัจจุบันจำนวนผู้ที่สามารถเขียนตัวหนังสือได้มีจำนวนน้อยมากและวัดซึ่งเดิมเป็นสถานที่สำหรับการเรียนหนังสือภาษากะเหรี่ยงนั้นไม่มีอีกแล้ว เนื่องจากพระภิกษุที่เข้ามาจำพรรษาส่วนใหญ่เป็นบุคคลภายนอก จึงไม่มีการสานต่อการอ่านเขียนภาษากะเหรี่ยง
- ไฟฟ้า หมู่ 1, 2, 4, และ 5 มีไฟฟ้าใช้ ส่วนหมู่ 3 ไม่มีไฟฟ้าใช้
- ประปา หมู่ 1, 2, 4, และ 5 มีประปาใช้ ส่วนหมู่ 3 ไม่มีประปาใช้
ตำบลนาสวน มีการให้บริการด้านสาธารณสุข ดังนี้
1. โรงพยาบาลส่งเสริมส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล จำนวน 1 แห่ง ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลนาสวน
ตำบลนาสวน มีโรงเรียนในพื้นที่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ดังนี้
- โรงเรียนบ้านนาสวน
- โรงเรียนวัดถ้ำองจุ
- โรงเรียนบ้านปากนาสวน
- โรงเรียนบ้านองหลุ
- โรงเรียนบ้านองสิต
อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์
นาเด่ง : พิณกะเหรี่ยงจังหวัดกาญจนบุรี
นาเด่ง เป็นพิณ 6 สาย ปรากฏอยู่ในวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงโป จังหวัดกาญจนบุรี ที่อาศัยอยู่ในบริเวณป่าด้านทิศตะวันตกของอุทยานแห่งชาติทุ่งใหญ่นเรศวร ในอดีตแพร่หลายมากในกลุ่มชาวกะเหรี่ยงโปและกะเหรี่ยงสะกอทั้งในประเทศพม่าและประเทศไทยในภาคเหนือและภาคตะวันตก นาเด่งเริ่มแพร่หลายและนิยมเล่นในกลุ่มกะเหรี่ยงจังหวัดกาญจนบุรี ในอำเภอสังขละบุรี เมื่อประมาณ 50-60 ปีที่ผ่านมา ต่อมาจึงได้กระจายสู่อำเภอต่าง ๆ ที่มีชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่ จนถึงปัจจุบันนาเด่งมีวิธีการบรรเลงและการแต่งคำร้องที่มีรูปแบบเป็นเอกลักษณ์ เพลงร้องประกอบการเล่นนาเด่งของชาวกะเหรี่ยงที่พบในจังหวัดกาญจนบุรีส่วนมาก มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต แบ่งเป็น 6 ประเภท คือเพลงเกี่ยวประวัติชนเผ่า เพลงเกี่ยวกับธรรมชาติ เพลงเกี่ยวกับประเพณี เพลงเกี่ยวกับสัจธรรมและพุทธทำนาย เพลงเกี่ยวกับความรักและเพลงของกะเหรี่ยงเผ่าอื่น แต่เดิมนาเด่งเป็นเครื่องดนตรีที่เล่นเพื่อความบันเทิง ต่อมาได้เพิ่มบทบาทในพิธีกรรมสำคัญของชนเผ่ามากขึ้น ได้แก่ พิธีทำบุญข้าวใหม่ พิธีผูกข้อมือ อีกทั้งในปัจจุบันชาวกะเหรี่ยงได้ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมดนตรีของตนเองตามกระแสสังคม โดยได้นำนาเด่งไปแสดงเพื่อธุรกิจการท่องเที่ยวกันมากขึ้น
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกาญจนบุรี. (2564). มรดกภูมิปัญญา อาหารพื้นถิ่น วิถีชาติพันธุ์ สร้างสรรค์อาภรณ์. โครงการการดำเนินงานขับเคลื่อนแนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลและชาวกะเหรี่ยงประจำปี พ.ศ. 2564. กาญจนบุรี : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกาญจนบุรี
ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลนาสวน. (2562). แผนพัฒนาการเกษตรระดับตำบล 5 ปี (พ.ศ.2561-2565). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2566. ได้จาก http://sisawat.kanchanaburi.doae.go.th/
สถิติการบริการด้านการทะเบียนราษฎร. (2566). พื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี อำเภอศรีสวัสดิ์ ตำบลนาสวน ข้อมูลเดือนมิถุนายน 2566. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2566.ได้จาก https://stat.bora.dopa.go.th/
จรัญ กาญจนประดิษฐ์. (2553). นาเด่ง : พิณกะเหรี่ยงจังหวัดกาญจนบุรี, วารสารศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.