หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงอยู่เย็นเป็นสุข ปี 2551 ชุมชนแห่งการเรียนรู้และพัฒนาอาชีพจากการแปลงประยุกต์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่การสร้างรายได้ ภายใต้การสนับสนุนของศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเฉลิมพระเกียรติวัดเขากะโดน
หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงอยู่เย็นเป็นสุข ปี 2551 ชุมชนแห่งการเรียนรู้และพัฒนาอาชีพจากการแปลงประยุกต์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่การสร้างรายได้ ภายใต้การสนับสนุนของศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเฉลิมพระเกียรติวัดเขากะโดน
วัดเขากะโดน ตั้งอยู่ในอาณาเขตพื้นที่บ้านนอก ตําบลชากโดน อําเภอแกลง จังหวัดระยอง ก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2401 โดยมีพระอธิการปุ๋ย และอําแดงทิม พร้อมด้วย
ราษฎรเป็นผู้ริเริ่มในการก่อสร้าง ซึ่งอําแดงทิมและราษฎรได้ร่วมถวายที่ดินจํานวน 14 ไร่ โดยให้ชื่อว่า วัดบ้านป่า ซึ่งกระทั่งปัจจุบันก็ไม่สามารถสืบทราบได้ว่าเพราะเหตุใดจึงได้ชื่อว่าวัดบ้านป่า ทว่าในเวลาต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดเขากะโดน” เป็นชื่อโดยทางราชการ ส่วนชื่อที่ชาวบ้านเรียก คือ “วัดเขา” สังกัดมหานิกายในเขตปกครองคณะสงฆ์ตําบลกร่ำ เขต 1 อําเภอ แกลง จังหวัดระยอง ภาค 13 พื้นที่ตั้งวัดมีลักษณะเป็นเนินเขา มีสภาพแวดล้อมเป็นหมู่บ้าน ทุ่งนาและสวนยางพารา
อาณาเขต
- ทิศเหนือ จด ถนนเข้าหมู่บ้านชากโดน หมู่ 6
- ทิศใต้ จด ที่ดินนายละมัย นางฉวี อาจดี และ นายเก๋ง นางจาย สมนึก
- ทิศตะวันออก จด ถนนเข้าหมู่บ้านชากโดน หมู่ 6
- ทิศตะวันตก จด ถนนสุนทรภู่
การคมนาคม
การคมนาคมของหมู่บ้านอยู่ห่างจากอำเภอแกลง ประมาณ 12 กิโลเมตร การคมนาคมสัญจรส่วนใหญ่นิยมใช้รถจักรยานยนต์ และรถยนต์ส่วนตัว ซึ่งการคมนาคมติดต่อกันระหว่างหมู่บ้านกับอำเภอแกลง สามารถติดต่อได้ 2 เส้นทาง คือ
- ทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 3 (ถนนสุขุมวิท)
- ทางหลวงจังหวัด หมายเลข 3161 (แกลง-สุนทรภู่) โดยมีทางหลวงจังหวัด หมายเลข 3163 (เนินดินแดง-สุนทรภู่) เป็นถนนลาดยางผ่านตำบลสองสลึง ภายในชุมชนมีถนนลาดยางจากอำเภอแกลงถึงหมู่บ้าน ส่วนถนนภายในหมู่บ้านเป็นถนนลาดยางรวมระยะทางทั้งสิ้น 2.9 กิโลเมตร และเป็นถนนลูกรัง ระยะทาง 2.1 กิโลเมตร เส้นทางทั้งสองสามารถใช้ขนส่งสินค้าทางการเกษตรได้ตลอดทั้งปี
สถานที่สำคัญ โบราณสถาน และโบราณวัตถุ
- พิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดเขากะโดน
- กลองใหญ่วัดเขากะโดน
- หลวงพ่อโตวัดเขากะโดน
- สวนสมุนไพรสิบสองสิงหา
- อุทยานการศึกษาวัดเขากะโดน
- สวนสละสุมาลี “คุณพิชัย” แหล่งเรียนรู้ทางด้านการเกษตรการปลูกสละ
พิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดเขากะโดน
พิพิธภัณฑ์ชุมชนได้เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2535 โดยพระครูพิทักษ์วิริยาภรณ์ ได้ริเริ่มจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดเขากะโดน ด้วยเห็นว่าข้าวของเครื่องใช้ เครื่องมือของชาวบ้านในท้องถิ่นนับวันจะหาดูได้ยาก เช่น ถ้วยชามสังคโลก เครื่องมือ เครื่องใช้สมัยโบราณ อาวุธโบราณ หม้อ ไห ฯลฯ นอกจากนี้ ยังได้รวบรวมเครื่องมือเครื่องใช้ทางการเกษตรในอดีต เช่น เกวียนวัว-เกวียนควาย คราดคันไถ ตะลุมพุก กระดอง ไห สีข้าว สีผิด ครกกระเดื่อง ฯลฯ เพื่อเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ของเยาวชน ประชาชน และผู้สนใจ นอกจากนี้ภายในพิพิธภัณฑ์ยังมีผู้ที่มีความรู้ในการทำเครื่องมือเครื่องใช้ทางด้านเกษตรกรรมต่าง ๆ มาสาธิตวิธีการทำ และประโยชน์การใช้สอย เพื่อเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา ซึ่งพิพิธภัณฑ์ชุมชนแห่งนี้จะเป็นประโยชน์สําหรับเยาวชน นักเรียน นักศึกษา และประชาชน ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านวัฒนธรรมความเป็นอยู่ในอดีตที่ผ่านมา ทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของตําบล เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เห็นถึงคุณค่าทางวัฒนธรรม สืบทอด และร่วมกันอนุรักษ์ต่อไป (ชลานิทร์ กันทา, 2554: 59-60)
ชุมชนวัดเขากระโดน (บ้านนอก) ตำบลชากโดน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง เป็นชุมชนขนาดเล็กที่ปัจจุบันมีประชากรเพียง 254 คน ความสัมพันธ์แบบระบบเครือญาติมีลักษณะเป็นแบบครอบครัวขยาย คือ บ้านแต่ละหลังจะประกอบไปด้วย พ่อ แม่ ลูก หลาน หรือที่เรียกว่า “บ้านพี่บ้านน้อง” จะตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกันหรือบริเวณใกล้เคียงกัน ทำให้ระบบครอบครัวเครือญาติเกิดความอบอุ่นพึ่งพาอาศัยช่วยเหลือเกื้อกูลต่อกันอย่างใกล้ชิดแนบแน่น
ในอดีตที่ผ่านมาความอบอุ่นใกล้ชิดสนิทสนมของสถาบันครอบครัวในชุมชนนั้นยังนับว่ามีความรักความผูกพันกันอย่างแน่นแฟ้น แม้ในปัจจุบันความสัมพันธ์ของคนในชุมชนแห่งนี้จะเบาบางลงไปบ้าง เนื่องจากภาวะที่ต้องดิ้นรนต่อสู้ในการทํามาหากินในยุคสมัยนี้ เวลา และความสนใจ ตลอดจนความเอาใจใส่ต่าง ๆ ส่วนใหญ่จึงต้องทําเพื่อตนเองและครอบครัว แต่ก็นับว่าความสัมพันธ์ในระบบเครือญาติในหมู่บ้านชุมชนก็ยังคงความสัมพันธ์ที่ดีได้อยู่อย่างต่อเนื่อง มีการนับถือผู้อาวุโสในเครือญาติ และเชื่อฟังคนเฒ่าคนแก่
วงศ์ตระกูลเก่าแก่ของชุมชนมี 4 ตระกูล คือ ตระกูลรัตนวิจิตร ตระกูลสุวรรณโชติ ตระกูลวงศ์อยู่ และตระกูลบุญกอบเกื้อ วงศ์ตระกูลเหล่านี้ยังคงมีลูกหลานดํารงชีวิตอยู่เป็นครอบครัวใหญ่ และได้แพร่ขยายวงศาคณาญาติไปทั่วหมู่บ้าน สําหรับการแบ่งปันมรดกนั้นจะแบ่งโดยการตกทอดมาจากบรรพบุรุษ โดยแบ่งจํานวนเท่า ๆ กัน ปกติแล้วทายาทผู้ชายจะได้รับมรดกมากกว่าผู้หญิง เพราะถือว่าลูกผู้ชายจะเป็นผู้สืบสกุลต่อไป
การประกอบอาชีพ
สำหรับสมาชิกครอบครัวในชุมชนวัดเขากระโดนนั้น ทุกคนในวัยทำงานจะช่วยกันหารายได้จากอาชีพของตนเอง ซึ่งนับว่าค่อนข้างหลากหลาย ทั้งการทำสวนผลไม้ การเป็นลูกจ้างโรงงานอุตสาหกรรม ลูกจ้างเอกชน และรับราชการ โดยการประกอบอาชีพและการดํารงวิถีชีวิตของชาวบ้านนั้น ยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลัก โดยอาชีพหลัก คือ อาชีพเกษตรกรรมทําสวนยางพาราและผลไม้ โดยเฉพาะยางพารามีจํานวนมากที่สุด เนื่องจากเป็นอาชีพที่ได้รับสืบต่อจากบรรพบุรุษ นอกจากยางพาราแล้วพื้นที่ทางการเกษตรของชุมชนยังมีการปลูกทุเรียน มังคุด เงาะ มะม่วง และลองกอง ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในชุมชนประมาณ 43,470 บาท/คน/ปี
กลุ่มองค์กรชุมชน
เนื่องด้วยการยึดเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพ ชาวบ้านในชุมชนจึงได้จัดตั้งกลุ่มองค์การชุมชนที่มีความเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและแนวทางในการประกอบอาชีพ เพื่อหวังว่าสมาชิกในชุมชนทุกคนจะมีรายได้ และสามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาปัจจัยฟุ่มเฟือยจากภายนอก ได้แก่ การจัดตั้งกลุ่มร้านค้าชุมชน กลุ่มผลิตน้ำปลา กลุ่มชุมชนน้ำดื่ม กลุ่มเลี้ยงกุ้ง กลุ่มศูนย์สังเคราะห์ราษฎร กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข และกลุ่มพลิกฟื้นวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง บ้านนอก หรือกลุ่มทํานา โดยเป็นการช่วยกันทํานาเพื่อลดรายจ่ายภายในครัวเรือนและยังมีเหลือเพื่อจําหน่ายเพิ่มรายได้อีกด้วย
ในวิถีชีวิตของชาวบ้านส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ และให้ความเคารพศรัทธาในพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก โดยมี “วัดเขากระโดน” เป็นศูนย์กลางที่สําคัญของชาวชุมชน และเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของคนในชุมชนด้วย จะสังเกตได้จากเวลาที่วัดจัดงานหรือมีพิธีกรรม กิจกรรมต่าง ๆ สมาชิกในชุมชนก็จะมาช่วยงานกันอย่างพร้อมเพรียง ทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กเล็ก ๆ ไปจนกระทั่งวัยผู้สูงอายุ รวมไปถึงผู้คนทั่วไปที่ให้ความเคารพศรัทธาในหลวงพ่อโต และพระครูพิทักษ์วิริยาภรณ์ เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน ต่างก็มักจะมาให้ความช่วยเหลือในงานของวัดกันอย่างสม่ำเสมอและพร้อมเพรียง ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ ในวันสําคัญ ๆ ทาง ศาสนาจึงมักจะมีผู้มาร่วมประกอบศาสนพิธีกันเป็นจํานวนมาก ซึ่งก็ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ชาวบ้านในชุมชนและพี่น้องบริเวณใกล้เคียงได้มาร่วมกันทำบุญทํากุศลประกอบศาสนพิธีร่วมกัน ณ “วัดเขากะโดน” แห่งนี้ด้วย โดยประเพณีพิธีกรรมท้องถิ่นของชุมชนที่ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ ประเพณีลอยกระทง ประเพณีสงกรานต์ ทําบุญข้าวใหม่รดน้ำดําหัวผู้สูงอายุ ทําบุญส่งท้ายสงกรานต์ แห่เทียนพรรษา และตักบาตรเทโว
1. พระครูนิวาสธรรมสาร (หลวงพ่อโต)
ในช่วงสมัยที่หลวงพ่อโตปกครองวัดเขากะโดน ได้ทําการเปิดโรงเรียนสอนนักธรรมชั้นตรีถึงชั้นเอก ทั้งพระและเณรในแถบตําบลเนินค้อ ตําบลกร่ำ และใกล้เคียง ต่างก็มาเล่าเรียนภาษาบาลี ณ วัดแห่งนี้ ต่อมาได้ก่อตั้งโรงเรียนประชาบาลวัดเขากะโดนขึ้น รวมทั้งโรงเรียนสาขาของโรงเรียนประชาบาลในท้องที่อื่น ๆ ในปี พ.ศ. 2510 ท่านได้ตั้งโรงเรียนแกลง (นิวาสบํารุง) ซึ่งต่อมาได้ร่วมกับโรงเรียนบ้านชากบกเปิดสอนถึงชั้นประถมปีที่ 7 และเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนนิวาสกัลยาประชารักษ์” หรือ “โรงเรียนบุนนาค” ในปัจจุบัน และในปี พ.ศ. 2478 หลวงพ่อโตท่านได้จัดตั้งโรงเรียนแผนกบาลีขึ้นที่วัดเขากะโดน เป็นสํานักบาลีแห่งแรกของจังหวัดระยอง โดยสร้างอาคาร รวบรวมหลักสูตรการศึกษาบาลีไว้ครบถ้วน จัดหาพระจากเมืองหลวงที่มีความสามารถและชำนาญมาเป็นครูสอนบาลี และทางกระทรวงศึกษาธิการได้ตั้งชื่อโรงเรียนว่า “โตวิทยาคม” แต่ต้องปิดตัวลงในภายหลัง นอกจากการวางรากฐานทางการศึกษาให้แก่ชาวบ้านชุมชนบ้านนอก และชาวจังหวัดระยองแล้ว หลวงพ่อยังเป็นเถราถุระที่มีชื่อเสียงด้านวิชาอาคม วัตถุมงคล และเครื่องรางของขลังต่าง ๆ ทำให้หลวงพ่อโตมีลูกศิษย์ลูกหาจำนวนมากอยู่ทั่วทุกสารทิศ (ชลานิทร์ กันทา, 2554: 59-60)
2. พระครูพิทักษ์ วิริยาภรณ์
เจ้าอาวาสวัดเขากะโดนรูปปัจจุบัน ผู้ริเริ่มก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดเขากะโดนและศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเฉลิมพระเกียรติวัดเขากะโดน (ศรช.)
ชุมชนวัดเขากะโดนได้เล็งเห็นคุณค่าของความเป็นไทยที่สามารถจะร่วมมือร่วมใจกันในการอนุรักษ์ฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณี การละเล่นพื้นบ้านให้คงอยู่ โดยการนำชาวบ้านที่มีความรู้ความสามารถในการละเล่นต่าง ๆ มาจับกลุ่มฝึกหัดเพื่อให้เกิดความชำนาญ และจัดให้มีการละเล่นอยู่เสมอ บางครั้งมีผู้ว่าจ้างไปแสดงในสถานที่ต่าง ๆ เป็นการสร้างรายได้เสริมให้แก่ชาวบ้านอีกทางหนึ่ง โดยมีครูภูมิปัญญาท้องถิ่นที่จัดกิจกรรมที่จัดกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้านร่วมกับวัดเขากะโดน คือ นายพิณ แม่นหมาย นายฉลวย วงศ์อยู่ เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถด้านการร้องเพลงและรําโทน ซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ
รําโทน
รําโทน เป็นการละเล่นที่แพร่หลายและเฟื่องฟูเป็นอย่างมากในอดีต แต่ปัจจุบันกลับถูกกระแสวัฒนธรรมฝังกลบจนแทบจะสูญหาย เจ้าอาวาสวัดเขากะโดน พระครูพิทักษ์ วิริยาภรณ์ ได้เล็งเห็นถึงปัญหาในข้อนี้ จึงได้ร่วมกับชาวบ้านในการรื้อฟื้นรำโทนขึ้นมาใหม่ คณะรําโทนที่ได้รับการฟื้นฟูนั้นประกอบด้วย ผู้ใหญ่พิน แม่นหมาย นางหมวย เมตตา นางไสว สันรัตน์ และนายฉลวย วงศ์อยู่
อุปกรณ์การเล่นรำโทน ประกอบด้วย กลองสองหน้า กรับ ฉิ่ง และนักร้อง การรําโทนจะใช้จังหวะ รําวง เนื้อร้องจะบอกถึงวิถีชีวิต การทํามาหากิน ฤดูกาล ความเป็นมาของหมู่บ้าน ความรักความสามัคคีในหมู่บ้าน ตลอดจนความรักของหนุ่มสาว ซึ่งผู้ขับร้องได้นำเอาเนื้อหาดังกล่าวมาปรับประยุกต์ให้เข้ากับยุกสมัยปัจจุบัน ส่งผลให้รำดทนกลับมาเป็นที่สนใจและแพร่หลายอีกครั้งหนึ่ง และสิ่งที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งก็คือ ขณะนี้โรงเรียนสุนทรภู่พิทยานิคม ตําบลกร่ํา อําเภอแกลง จังหวัดระยอง และโรงเรียนแกลง “วิทยสถาวร” ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมระดับอําเภอ ได้บรรจุรำโทนเข้าเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา
เล่นเหมียว
การเล่นเหมียว เป็นการละเล่นของเด็ก ๆ ตลอดจนวัยรุ่น โดยอาศัยแม่น้ำลําคลองในหมู่บ้านเป็นสถานที่การเล่น ปกติมักจะเล่นกันเป็นกลุ่มใหญ่ ตกลงนัดหมายว่าใครจะรับบทเป็นเหมี่ยว คือ ผู้ที่จะต้องดำน้ำจับผู้เล่นคนอื่น ๆ จากนั้นพร้อมกันกระโจนลงน้ำ ผู้ที่เป็นเหมี่ยวต้องร้องว่า “เหมี่ยว” ก่อนดำน้ำเพื่อไปจับผู้เล่นคนอื่น ๆ ที่หมายตาไว้ โดยก่อนดำน้ำจะต้องคำนวณทิศทางเป้าหมายว่าคู่ต่อสู้จะไปลอยคออยู่ทิศทางใด ซึ่งหากผู้ใดถูกเหมี่ยวจับได้ ก็จะต้องรับบททำหน้าที่เป็นเหมี่ยวต่อไป
ทอยกรอง
อุปกรณ์และวิธีการเล่นทอยกรอง
- กระเบื้องแตกหรือตุ่มแตก เอามาเคาะให้เป็นรูปกลม ๆ ขนาดจับถนัดมือ
- เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ข้างละ 50 เม็ด วางอยู่ในวงกลมกว้างประมาณ 1 ฟุต
จากนั้นขีดเส้นที่จะยืนถอยประมาณ 2 เมตร คนไหนทอยออกจากวงมากกว่าคนนั้นจะเป็นผู้ชนะการลงเม็ดมะม่วง จะลงครั้งละเท่าไหร่ก็ได้ แล้วแต่จะตกลงกัน จะเล่นสอง สาม หรือสี่ก็ได้ กติกาเด็ก ๆ จะตกลงกันเอง เมื่อเล่นได้หรือเสียก็จะเลิก เด็ก ๆ ก็จะเอาเม็ดมะม่วงหิมพานต์ไปคั่วแล้วนั่งล้อมวงกินกัน
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นสำเนียงระยอง
ภาษาเขียน : ภาษาไทย
ชุมชนวัดเขากระโดนมีระบบการปกครองแบ่งออกเป็นฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารจะประกอบด้วยผู้ใหญ่บ้าน 1 คน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 2 คน ทำหน้าที่ในการดูแลบริหาร ปกครองหมู่บ้าน โดยทั่วไปส่วนฝ่ายนิติบัญญัติก็จะประกอบไปด้วยสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล 2 คนทำหน้าที่ในการประสานงานกับทางองค์การบริหารส่วนตำบลชากโดนเพื่อมาดําเนินการในหมู่บ้าน ซึ่งจะทำให้การทำงานระหว่างชุมชนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นไปอย่างสอดคล้องกัน และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชนด้วย
ปัจจุบันกลุ่มผู้นำชุมชนของชุมชนวัดเขากระโดนได้ใช้หลักการแบ่งงานกันทำในการบริหารจัดการ หมู่บ้าน การแบ่งงานกันทำถือเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการทำงานร่วมกัน ซึ่งนอกจากจะเป็นการกระจายอํานาจแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของแต่ละบุคคล เพราะแต่ละบุคคลต้องดูแลกลุ่มของตนเอง อีกทั้งยังเป็นการแบ่งเบาภาระหน้าที่ซึ่งกันและกัน ซึ่งไม่เพียงแต่การแบ่งกันดูแลกลุ่มต่าง ๆ เท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการแบ่งหน้าที่กันในแต่ละกลุ่มด้วย โดยแต่ละบุคคลนอกจากจะรับผิดชอบหน้าที่ของตนเองแล้ว ยังมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หน้าที่อื่นเพื่อช่วยเหลือกัน
ปัจจุบันเด็กและเยาวชนในชุมชนวัดเขากระโดนได้รับการศึกษาภาคบังคับทุกคน ประชาชนที่มีอายุ 15-60 ปี อ่านเขียนภาษาไทยได้ครบทุกคน ในชุมชนมีสถานศึกษา 1 แห่ง คือ โรงเรียนวัดเขากะโดน ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของชุมชนชากโดน (หมู่ 5) นอกจากการศึกษาในระบบแล้วพื้นที่ชุมชนวัดเขากระโดนยังเป็นที่ตั้งของสถานศึกษานอกระบบที่ สำคัญอีกด้วย คือ ศูนย์ กศน. ของตําบลชากโดน ซึ่งตั้งอยู่ในวัดเขากะโดน
ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเฉลิมพระเกียรติวัดเขากะโดน (ศรช.)
เนื่องจากวัดเขากระโดนได้มีการส่งเสริมการเรียนรู้ โดยมีพระครูพิทักษ์วิริยาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดเขากระโดนเป็นผู้ริเริ่มโครงการการศึกษา โดยใช้สถานที่ของวัดเขากระโดนเป็นที่ให้ความรู้ ต่อมา พ.ศ. 2537 ได้มีการริเริ่มการเรียนการสอนอย่างเป็นทางการ โดยมีการรวมกลุ่มของชาวบ้าน เรียกว่า สถานที่พบกลุ่ม กศน. วัดเขากะโดน (นัดพบกันมาเรียน) ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อสถานที่พบกลุ่มวัดเขากระโดนเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเฉลิมพระเกียรติวัดเขากระโดน (ศรช.) โดยเป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการของคนในชุมชนทางด้านการศึกษาและส่งเสริมให้ประชาชนสามารถประกอบวิชาชีพเลี้ยงตนเองได้
การสอนทักษะในการประกอบอาชีพ
ศรช. วัดเขากระโดน จัดการเรียนการสอนด้านการฝึกทักษะอาชีพในรูปของการทำโครงการต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เรียนนําความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการประกอบอาชีพ เช่น ความรู้ด้านคหกรรม ได้แก่ การทำโครงงานน้ำยาล้างจาน โครงงานทำแชมพู โครงงานทำขนม ขณะเดียวกันก็มีการจัดการเรียนการสอนด้านงานช่างฝีมือให้กับผู้เรียน ได้แก่ โครงการทำชั้นวางหนังสือพิมพ์ โครงการทำชั้นวางรองเท้า โครงการทำตู้เสื้อผ้า โครงการซ่อมบํารุงเครื่องจักรกลต่าง ๆ ตามความสนใจของผู้เรียน จึงเหมาะสําหรับผู้เรียนที่ต้องการฝึกฝนทักษะในการประกอบอาชีพด้วย นอกจากนั้นยังมีแหล่งการเรียนรู้ที่สำคัญ คือ “วัด” ซึ่งถือเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่สำคัญของชุมชน ภายในวัดได้จัดให้มีการเรียนการสอนในด้านต่าง ๆ ทั้งวิชาการที่มีความทันสมัยและสืบทอดวัฒนธรรมไทยดั้งเดิม หรือวิชาพิมพ์ดีดทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษซึ่งเปิดสอนมาตั้งแต่ปี 2525
อีกวิชาหนึ่งที่มีความสำคัญและมักจะได้รับความสนใจอย่างมาก คือ วิชาดนตรีซึ่งมีการก่อตั้งชมรมชื่อว่า “ชมรมดนตรีไทยวัดเขากระโดน” ด้วยพระครูพิทักษ์วิริยาภรณ์ ได้ตระหนักถึงคุณค่าของการอนุรักษ์ดนตรีไทยที่เริ่มจะลืมเลือนหายไปจากความรู้สึกนึกคิดของคนไทย จึงได้เริ่มโครงการเปิดสอนดนตรีไทยให้กับเด็กนักเรียนที่มีภูมิลําเนาใกล้ชิดวัด การสอนดนตรีไทยนั้นจะสอนเครื่องดนตรีประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะเครื่องมอญ โดยในการเปิดฝึกหัดอบรมนั้นจะแบ่งการฝึกหัดอบรมเป็น 2 ระยะ คือ
- ระยะที่ 1 เปิดการฝึกหัดอบรมโดยใช้การเรียนการสอนเฉพาะวันอาทิตย์วันเดียว
- ระยะที่ 2 เปิดการฝึกหัดอบรมในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน ในการเรียนการสอนนั้น จะให้นักเรียนเป็นผู้เลือกเครื่องดนตรีไทยที่ตนเองสนใจ โดยทางวัดเป็นผู้จัดหาอุปกรณ์ในการเรียนการสอนให้ วิธีการฝึกหัดอบรม ใช้วิธีการต่อโน้ตเพลง การเรียนการสอนจะเปิดโอกาสให้เด็กอายุตั้งแต่ 9 ปีขึ้นไปได้มาศึกษาเรียนรู้ดนตรีไทยดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันก็มีเด็กเยาวชนสนใจมาศึกษาเป็นจํานวนมาก โดยไม่ใช่มีเพียงเด็กเยาวชนในพื้นที่เท่านั้น แต่ยังมีเด็กพื้นที่อื่นที่อยู่ไกลออกไปมาเรียนด้วย
ชลานิทร์ กันทา. (2554). กระบวนการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดเขากะโดน ตำบลชากโดน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง. สารนิพนธ์ปริญญาพัฒนาชุมชนมหาบัณฑิต ภาควิชาการพัฒนาชุมชน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย. (2555). พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดเขากระโดน. สืบค้นเมื่อ 8 กรกฎาคา 2566, จาก https://db.sac.or.th/museum/
Google Earth. (ม.ป.ป.). สืบค้นเมื่อ 8 กรกฎาคา 2566, จาก https://earth.google.com/
Mew Ruttanaporn. (2559). วัดเขากะโดน. สืบค้นเมื่อ 8 กรกฎาคา 2566, จาก https://th.foursquare.com/
Tourism Directory. (ม.ป.ป.). วัดเขากระโดน. สืบค้นเมื่อ 8 กรกฎาคา 2566, จาก https://thailandtourismdirectory.go.th/