Advance search

นอนบ้านดิน ชมทะเลหมอกบ้านเขาฝาชี”  ชุมชนแหล่งท่องเที่ยวศึกษาเส้นทางร่องรอยทางประวัติศาสตร์ พื้นที่ยุทธศาสตร์ฐานทัพญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 วิสาหกิจชุมชนเลื่องชื่อผลิตภัณฑ์สินค้าจากบ้านดิน 

หมู่ที่ 4
เขาฝาชี
บางแก้ว
ละอุ่น
ระนอง
องค์การบริหารส่วนตำบลบางแก้ว โทร. 0-7782-6843
ธำรงค์ บริเวธานันท์
12 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
14 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
20 ก.ค. 2023
บ้านเขาฝาชี

เนื่องจากหมู่บ้านตั้งอยู่บนภูเขาที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับฝาชี จึงเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านเขาฝาชี


นอนบ้านดิน ชมทะเลหมอกบ้านเขาฝาชี”  ชุมชนแหล่งท่องเที่ยวศึกษาเส้นทางร่องรอยทางประวัติศาสตร์ พื้นที่ยุทธศาสตร์ฐานทัพญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 วิสาหกิจชุมชนเลื่องชื่อผลิตภัณฑ์สินค้าจากบ้านดิน 

เขาฝาชี
หมู่ที่ 4
บางแก้ว
ละอุ่น
ระนอง
85130
10.1776146485106
98.7134470045566
องค์การบริหารส่วนตำบลบางแก้ว

ชุมชนบ้านเขาฝาชีในช่วงยุคบุกเบิกในการตั้งชุมชนไม่พบประวัติและช่วงเวลาที่แน่ชัดว่าชุมชมบ้านเขาฝาชีก่อตั้งขึ้นเมื่อใด และมีกลุ่มคนใดเป็นผู้อาศัยในพื้นที่เป็นกลุ่มแรก แต่มีคำบอกเล่าว่าบ้านเขาฝาชีมีประชาชนมาอาศัยตั้งรกรากตั้งแต่ พ.ศ. 2480 หรือก่อนยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีครอบครัวของนายหัด ชูชาติ และเครือญาติมาตั้งรกรากอาศัยอยู่บริเวณที่นายหัดและครอบครัวเข้ามาสร้างบ้านเรือนอยู่นั้น ปัจจุบันเป็นบริเวณบ้านบางหลัด ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ราบ ราบลุ่ม และภูเขาที่มีทรัพยากรป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ มีแหล่งน้ำจืดไหลผ่านในบริเวณที่ตั้งอาศัยของคนในชุมชน และพื้นที่ดังกล่าวมีอาณาเขตติดกับลำน้ำกระบุรีและทะเลอันดามัน จากนั้นก็ได้มีเครือญาติของนายหัด ชูชาติ อพยพเข้ามาอาศัยอยู่เรื่อย ๆ สาเหตุที่มีประชาชนเข้ามาอาศัยในพื้นที่เพิ่มมากขึ้นนั้น

เนื่องจากพื้นที่บ้านบางหลัดเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งทางบกและทางทะเล เพราะมีทรัพยากรป่าไม้ ของป่า สัตว์ป่า ทรัพยากรทางทะเล ที่มีความเหมาะสมในการดำรงชีวิต โดยมีพื้นที่ราบสำหรับใช้เป็นพื้นที่ในการสร้างที่อยู่อาศัยและทำการเกษตร ในระยะต่อมาเริ่มมีขยายอาณาเขตที่อยู่อาศัยเนื่องจากมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น ประชาชนที่อพยพเข้ามาได้จับจองที่ดินขยายอาณาบริเวณขยายวงกว้างออกไป จนถึงบริเวณปากคลองละอุ่นหรือบริเวณที่ตั้งชุมชนบ้านเขาฝาชีในปัจจุบัน

ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ. 2486 เป็นสมัยที่ประเทศญี่ปุ่นใช้เส้นทางบ้านเขาฝาชีเป็นทางผ่านใน  การทำสงครามกับประเทศอังกฤษ ในขณะนั้นพม่าได้ตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศอังกฤษและชุมชมบ้านเขาฝาชีมีอาณาเขตทางทะเลที่ติดต่อกับพม่า ประเทศญี่ปุ่นจึงใช้เส้นทางชุมพร-ระนอง บริเวณบ้านเขาฝาชี เป็นเส้นทางในการขนส่งเสบียงอาวุธไปยังประเทศพม่า ขณะนั้นก็ได้มีการก่อสร้างทางรถไฟจากชุมพรมายังบ้านเขาฝาชีเพราะสามารถเดินทางได้ทั้งทางบกและทางน้ำและมีอาณาเขตติดกับประเทศพม่า ฉะนั้นจึงมีความเหมาะสมทางยุทธศาสตร์ของการทำสงคราม  เมื่อประเทศอังกฤษได้ประกาศยอมแพ้ในการทำสงครามญี่ปุ่น จึงได้รื้อถอนฐานทัพบัญชาการและนำทหารกลับไปยังประเทศของตังเอง พร้อมกับรื้อรางรถไฟกลับไปยังเมืองกะลันตัน ประเทศมาเลเซีย และหลังจากจบสงครามโลกครั้งที่ 2 พื้นที่ที่เคยเป็นฐานทัพทหารญี่ปุ่น ก็กลายเป็นพื้นที่ว่าง  แต่ยังมีความสะดวกสบาย ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบางหลัดและอำเภอละอุ่นจึงเริ่มย้ายมาอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่บ้านเขาฝาชีมากขึ้น และมีความเจริญรุ่งเรื่องขึ้นเรื่อย ๆ

ในยุคสัมปทานป่าไม้ชาวบ้านชุมชนเขาฝาชี เริ่มมีหนทางในการประกอบอาชีพที่หลากหลาย คือ เริ่มมีอาชีพรับจ้างที่นอกเหนือจากอาชีพเกษตรและการประมง

ยุคพายุซีต้า เป็นยุคที่มีการค้าขายเพิ่มมากขึ้น และยังมีพ่อค้าแม่ค้าจากทางฝั่งพม่าข้ามค้าขายอีกด้วย และเป็นยุคที่ภาครัฐเริ่มให้ความสำคัญทางด้านการปกครองมากขึ้น โดยมีการก่อตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลขึ้นในพื้นที่บ้านเขาฝาชีหรือองค์การบริหารส่วนตำบลบางแก้วในปัจจุบัน

พ.ศ. 2556 หรือยุคสมัยแห่งการเปิดจุดผ่อนปรน เนื่องจากมีปัญหาเกี่ยวกับการนำสินค้าข้ามแดนมาจากฝั่งพม่ามาค้าขายโดยผิดกฎหมาย จึงมีการผลักดันให้มีจุดผ่อนปรนเกิดขึ้น โดยมีกำนัน สมจัด ชูชาติ เป็นผู้ผลักดัน แต่หลังจากกำนันเสียชีวิตทำให้จุดหัวท่าที่เป็นจุดผ่อนปรนไม่มีผู้ดูแลต่อ จึงทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ มากมาย มีการลักลอบนำของข้ามประเทศอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งในที่สุดสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองก็ได้เข้ามาดูแลให้ถูกต้อง ปัจจุบันในพื้นที่บ้านฝาชี มีความเจริญรุ่งเรืองทั้งในด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม อาชีพของคนในชุมชนก็เกิดความหลากหลาย เช่น การธุรกิจส่วนตัว อาชีพเกษตรกร อาชีพประมง อาชีพค้าขาย เป็นต้น 

ชุมชนบ้านเขาฝาชี หมู่ที่ 4 ตำบลบางแก้ว เป็นชุมชมกึ่งเมืองกึ่งชนบท บริเวณชุมชนเมืองมีลักษณะเป็นชุมชนแออัด บ้านพักส่วนใหญ่สร้างด้วยอิฐปูนและสร้างด้วยไม้ โดยอาศัยอยู่บริเวณริมน้ำและที่ราบในชุมชน บริเวณตอนกลางของชุมชนบ้านเขาฝาชี มีลักษณะเป็นภูเขาสูงเสมือนระฆังคว่ำ ทางทิศใต้และทางทิศตะวันออกของชุมชนติดกับพื้นที่ทางน้ำ คือ ลำคลองละอุ่น ลำน้ำกระบุรี และทะเลอันดามัน พื้นที่แนวชายแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศพม่า ซึ่งชุมชนบ้านเขาฝาชีเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ทางด้านการค้าระหว่างประเทศ และเป็นยุทธศาสตร์ในการตั้งฐานทัพทำสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีพื้นที่ภูเขาประมาณ 40 % พื้นที่ราบ 60 % ของจำนวนพื้นที่ทั้งหมด และที่ราบใกล้ภูเขาเหมาะแก่การทำการเกษตรซึ่งเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ที่ 5 บ้านพรุตาโรย ตำบลบางแก้ว อำเภอละอุ่น

  • ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ที่ 1 ตำบลทรายแดง อำเภอเมืองระนอง

  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ที่ 1 บ้านบางแก้วน้อย อำเภอละอุ่น

  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ แม่น้ำกระบุรี ทะเลอันดามัน และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

ทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ป่าไม้: พื้นที่ชุมชนบ้านเขาฝาชีมีลักษณะภูเขาทางด้านทิศตะวันออก และกึ่งกลางของพื้นที่มีสภาพป่าไม้เสื่อมโทรมเนื่องจากเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรกรรม แต่มีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์อยู่บริเวณตามแนวหน้าของภูเขา และมีป่าไม้ขนาดเล็กและขนาดใหญ่สำลับกัน

แหล่งน้ำ : มีแหล่งต้นน้ำธรรมชาติและลำห้วย จำนวน 8 สาย ดังนี้

  • คลองละอุ่น
  • ห้วยหน้าโรงพัก
  • ห้วยตาหยัด
  • ห้วยนพเสี่ย
  • ห้วยสาวเหงี่ยม
  • ห้วยบางหลัด
  • คลองบางหลัด
  • ห้วยทับมุด

แหล่งท่องเที่ยวบ้านเขาฝาชี  

จุดชุมวิวเขาฝาชี : เขาฝาชีเป็นภูเขาที่มีลักษณะคล้ายกับฝาชี ซึ่งเป็นที่มาของชื่อนี้ เป็นภูเขาที่สูงจากระดับน้ำทะเล 259 เมตร มองจากภูเขาจะเห็นทัศนียภาพของทะเลอันดามัน จุดบรรจบของแม่น้ำสามสาย   คือ แม่น้ำละอุ่น แม่น้ำกระบุรี และแม่น้ำมะลิวัลย์  และจะมองเห็นหัวเขาค่าง ซึ่งเป็นจุดด่านสกัดในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 และยังมองเห็นสภาพชุมชนบ้านเขาฝาชี ที่เต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ 

สถิติประชากรองค์การบริหารส่วนตำบลบางแก้วแบบแยกรายหมู่บ้าน รายงานจำนวนประชากร หมู่ที่ 4 บ้านเขาฝาชี ทั้งสิ้น 1,415 คน แยกเป็นประชากรชาย 677 คน และประชากรหญิง 738 คน 597 ครัวเรือน

เครือญาติของชุมชนบ้านเขาฝาชีส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ตำบลบางแก้ว กอปรกับชุมชนบ้านเขาฝาชีเป็นเมืองหน้าด่าน ส่งผลให้เกิดการติดต่อระหว่างประเทศกับสาธารณรัฐสหภาพเมียนมาร์บริเวณฝั่งมะลิวัลย์ ซึ่งเป็นการค้าขายแลกเปลี่ยนสิ้นค้า และการขนส่งสินค้าทางการเกษตร จึงทำให้ทั้งสองฝั่งมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติอีกด้วย

ด้านลักษณะครอบครัว คือ มีลักษณะเป็นครอบครัวขนาดใหญ่ อาศัยอยู่ร่วมกันหรืออาศัยอยู่บ้าน คนละครัวเรือนแต่อยู่ในพื้นที่บริเวณเดียวกัน และมีลักษณะครอบครัวที่สืบทอดอาชีพหรือความเป็นผู้นำไปยังรุ่นสู่รุ่น โดยมีความเคารพนับถือจากประชาชนในพื้นที่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ชาวบ้านในชุมชนบ้านเขาฝาชีส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพ เกษตรกรรมและการประมง เช่น ปลูกยางพารา ปาล์มน้ำมัน หมาก มะพร้าว ทุเรียน มังคุด ลางสาด ลองกอง วางอวนลอย รุนกุ้ง เลี้ยงปูนิ่ม เลี้ยงปลา เลี้ยงหอย เป็น เนื่องจากชุมชนเขาฝาชีและประเทศพม่ามีอาณาเขตติดต่อกันจึงมีการติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้า หลากหลายชนิด อาทิ พืชผักผลไม้นานาชนิด ส่งผลให้พื้นที่ชุมชนบ้านเขาฝาชีซึ่งมีอาณาเขตพรมแดนระหว่างประเทศติดต่อกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาเนพื้นที่เศรษฐกิจระหว่างประเทศ ซึ่งมีการติดต่อค้าขายทั้งธุรกิจภาครัฐและภาคเอกชน

อนึ่ง นอกจากชุมชนบ้านเขาฝาชีจะเป็นพื้นที่การค้าระหว่างประเทศแล้ว ชุมชนบ้านเขาฝาชียังเป็นชุนที่มีความโดดเด่นด้านสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติจุดชมวิวบ้านเขาฝาชี รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวอันเป็นร่องรอยทางประวัติศาสตร์ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ในการณ์นี้ ภาครัฐจึงมุ่งเน้นที่จะพัฒนาชุมชุนบ้านเขาฝาชีให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว และมีผลิตภัณฑสินค้า OTOP ที่แปรประยุกต์สรรสร้างจากภูมิปัญญา วิถีชีวิต ศิลปะ และวัฒนธรรมชุมชน ส่งเสริมการค้าขายบริเวณจุดผ่อนปรนบ้านเขาฝาชี ให้มีการจำหน่ายสินค้าที่หลากหลาย และสอดคล้องความต้องการของผู้บริโภค เพื่อเป็นการกระจายรายได้และสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน ทำให้ชุมชนมีเศรษฐกิจที่เจริญรุ่งเรืองมากยิ่งขึ้น 

ผลิตภัณฑ์ชุมชน

เนื่องจากชุมชนบ้านเขาฝาชีปลูกต้นหมากเป็นจำนวนมาก กลุ่มชาวบ้านจึงนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์บรรจุอาหารได้หลากหลายชนิด ที่ทำจากธรรมชาติซึ่งปลอดภัยจากสารเคมี และยังสร้างรายได้เสริมได้ให้คนในชุมชนเป็นอย่างมาก และยังมีผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อาทิ  กะปิ การแปรรูปอาหารทะเล ผลิตภัณฑ์จากดินเผา ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าที่มีชื่อเสียงอย่างมากของชุมชนเขาฝาชี ณ ช่วงขณะนี้ ฯลฯ 

บ้านเขาฝาชีเป็นชุมชนที่มีวัฒนธรรมค่อนข้างที่จะคล้ายคลึงกับชาวพม่า อันเป็นผลเนื่องมาจากลักษณะภูมิประเทสที่ติดต่อกัน ทั้งด้านพิธีกรรมในทางศาสนาและความเชื่อ เช่น การนับถือสิ่งลี้ลับ การไหว้ครู นับถือศาลเจ้า และความเชื่อในเรื่องของไสยศาสตร์  ชาวบ้านเขาฝาชีมีความเชื่อ หลักปฏิบัติ และศรัทธาในพระพุทธศาสนา โดยมีการสร้างวัดไทยในเมืองมะลิวัลย์ ประเทศพม่า เพื่อให้คนไทยที่อาศัยอยู่ที่เมืองมะลิวัลย์ได้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและประเพณี เช่น การบวช ทอดกฐิน เป็นต้น

ชุมชนบ้านเขาฝาชี มีประเพณีที่จะต้องปฏิบัติร่วมกันกับชาวบ้านจากฝั่งเมียนมา คือ ประเพณีการแข่งกีฬาเชื่อมความสัมพันธ์ไทย-เมียนมา ตลอดจนประเพณีที่มีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อและศาสนา เช่น บุญสวดกลางบ้าน และประเพณีสงกรานต์ ทั้งนี้ก็เพื่อแสดงออกถึงความสามัคคี และเชื่อความสัมพันธ์อันดีงามของประชนทั้งสองฝั่ง

ปฏิทินชุมชนบ้านเขาฝาชี

การแข่งขันกีฬาเชื่อมความสันพันธ์ ไทย–เมียนมา (มะลิวัลย์): จัดขึ้นในช่วงเดือน กุมภาพันธ์-มีนาคมชองทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์พื่อเชื่อมสัมพันธ์และแสดงออกถึงความเป็นมิตร ความสามัคคีต่อกัน โดยชนิดกีฬาที่นำมาแข่งขันในมหกรรมกีฬาประเพณีเชื่อมสัมพันธ์นี้จะมีกีฬาประเภท ฟุตบอล ตระกร้อ วอลเลย์บอล และกีฬาพื้นบ้านอีกหลายชนิด

ประเพณีแข่งเรือยาวขึ้นโขนชิงธงเชื่อมสัมพันธ์ไทย–มะลิวัลย์: ในทุกปีช่วงออกพรรษาจะมีการทำพิธีชักพระแข่งเรือยาวที่ลำน้ำคลองละอุ่น ในอดีตจะมีพิธีกรรมชักพระและล่องน้ำไปตามบริเวณลำคลองละอุ่น ให้คนในชุมชนละแวกได้มีส่วนร่วมในการประกอบพิธีกรรม เมื่อเวลาผ่านไปจึงลงเหลือเพียงประเพณีแข่งเรือยาว ประกวดเรือสวยงาม และมีมหรสพสมโภชตลอดคืน ในฝั่งของเมืองมะลิวัลย์ ประเทศพม่าก็ได้เข้าร่วมในประเพณีนี้ด้วย โดยได้นำเรือเข้ามาประกวดแข่งขัน และนำมโนราห์พม่ามาทำการแสดงให้ชาวบ้านเขาฝาชีได้รับชมการแสดง  การจัดประเพณีในครั้งนี้ประชาชนทั้งสองฝั่งเชื่อว่า เพื่อเป็นการสานสัมพันธ์เสมือนพี่น้อง และมีจุดประสงค์เพื่อสืบทอดประเพณีนี้จากรุ่นสู่รุ่น เพื่อไม่ให้ประเพณีดังกล่าวสูญหายไป  

  • นายหัด ชูชาติ บุคคลต้นตระกูลแรกผู้เข้ามาบุกเบิกตั้งถิ่นฐานในบริเวณบ้านเขาชี เป็นบุคลผู้ได้รับความเคารพนับถือและได้รับการยกย่องจากชาวบ้านเขาฝาชีให้เขามาเป็นผู้นำในยุคนั้น ต่อมาได้มีการเลือกตั้งโดยการยกมือประชามติ ซึ่งนายหัด ชูชาติ ก็ยังคงได้รับเลือกให้เป็นผู้นำเช่นเดิม

  • นายยา วงศ์ทอง  อายุ 85 ปี ที่อยู่ ปราชญ์ผู้มีความรู้เรื่องภูมิปัญญาในการทำขวัญเด็ก กวาดซางเด็ก กราดครู ออกแขก ซึ่งได้รับความเคารพนับถือจากคนในชุมชนมานานจนถึงปัจจุบัน

  • นายเสงี่ยม แสงสว่าง ร่างทรงพ่อตาหลวงแก้ว สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำศาลหลักเมืองกระบุรี หรือที่ชาวบ้านในละแวกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ศาลพ่อตาหลวงแก้ว ทุกปีจะมีการจัดพิธีบวงสรวงขึ้นในวันเสาร์สัปดาห์แรกของเดือนหก โดยชาวบ้านจะร่วมกันมาทำความสะอาดศาล และนำของมาเซ่นไหว้ ได้แก่ ไก่ต้ม เหล้า ข้าว แกง มะพร้าว ขนมโต ข้าวเหนียวแดง ข้าวเหนียวขาวและหัวหมู

  • นางลอย เสนทองแก้ว (หมอไสยศาสตร์) ปราชญ์ผู้มีความรู้เรื่องการทำนายโชคลาภ ชะตาชีวิต สุขภาพ และสะเดาะเคราะห์ 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาพูด: ภาษาไทยถิ่นสำเนียงระนอง

ภาษาเขียน: ภาษาไทย 


ชุมชนบ้านเขาฝาชี การพัฒนาระบบการค้าบริเวณชายแดนให้มีความเชื่อมโยงกับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มีในชุมชน เพื่อสร้างอาชีพที่หลากหลายให้กับคนในชุมชน ภายใต้แนวคิดการฟื้นฟูขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม ประเพณี ตลอดจนศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านที่ควรแก่การสืบสาน เพื่อพัฒนาเชื่อมโยงสู่การจัดการท่องเที่ยวชุมชนได้ในอนาคต ซึ่งก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนในชุมชน รวมทั้งการสร้างคุณค่า รักษาเอกลักษณ์ของความเป็นชุมชนไว้สืบไป 

เนื่องจากในอดีตชุมชนบ้านเขาฝาชีเคยเป็นจุดยุทธศาสตร์การตั้งฐานทัพทำสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งปัจจุบันจะมีการรื้อฐานทัพนั้นออกไปแล้ว ทว่า ยีงคงหลงเหลือจึงเหลือร่องรอยทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเหตุการณ์ดังล่าว จึงมีการสร้างพิพิธภัณฑ์เชิงประวัติศาสตร์ขึ้นเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ที่ครั้งหนึ่งชุมชนบ้านเขาฝาชีเคยเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการเป็นจุดยุทธศาสตร์ฐานทัพกองกำลังทหารญี่ปุ่น 

นพพร บำรุง และคณะ. (2562). โครงการการศึกษาวิถีชุมชนบริเวณจุดผ่อนปรนการค้าชายแดนบ้านเขาฝาชี เพื่อหาแนวทางการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจการค้าชายแดน บ้านเขาฝาชี หมู่ที่ 4 ต.บางแก้ว อ.ละอุ่น จ.ระนอง (รายงานการวิจัย). สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.

บ้านดินเขาฝาชี กม.30. (2561). สืบค้นเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.facebook.com/

          . (2563). สืบค้นเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.facebook.com/

          . (2566). สืบค้นเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.facebook.com/

ศูนย์ประสานงานประมงชายแดนทางทะเลไทย-เมียนมาร์. (2563). จุดผ่อนปรนชายแดนบ้านเชาฝาชี. สืบค้นเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.facebook.com/

Google earth. (2565). สืบค้นเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2566, จาก https://earth.google.com/

Gogogeng. (2566). เขาฝาชีจุดชมวิวและที่เที่ยวระนอง. สืบค้นเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2566, จาก https://gogogeng.com.

MO Memoir. (2557). สุดทางรถไฟที่ ละอุ่น ระนอง (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๗๗). สืบค้นเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2566, จาก http://tamagozzilla.blogspot.com/

Noirobroo. (ม.ป.ป.). ประเพณีแห่พระแข่งเรือขึ้นโขนชิงธง มรดกทางวัฒนธรรมแห่งลุ่มน้ำหลังสวน. สืบค้นเมื่อวัน 12 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.nairobroo.com.

องค์การบริหารส่วนตำบลบางแก้ว โทร. 0-7782-6843