Advance search

เกาะล้าน

ชุมชนเกาะล้านโดดเด่นในเรื่องการท่องเที่ยวโดยเฉพาะหาดทรายที่มีความสวยงาม มีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์และคงความเป็นธรรมชาติดั้งเดิมไว้ได้มากหลายแห่ง จึงมีการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและการบริการเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวโดยการสร้างแหล่งท่องเที่ยว ร้านค้า ร้านอาหาร และร้านขายของที่ระลึกไว้คอยบริการ

หมู่ 7
นาเกลือ
บางละมุง
ชลบุรี
ธนวิชญ์ ใจดี
20 ก.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
28 ก.ค. 2023
ณัฐวุฒิ บัวคลี่
20 ก.ค. 2023
เกาะล้าน

แม้จะไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าทำไมถึงเรียกเกาะนี้ว่าเกาะล้าน แต่มีความเป็นไปได้จากพื้นที่ภูเขาบนเกาะมีลักษณะโล่งเตียน ไม่ค่อยมีหญ้าขึ้นปกคลุมให้เห็นนัก ชาวบ้านจึงเรียกว่า "เกาะล้าน" 


ชุมชนเกาะล้านโดดเด่นในเรื่องการท่องเที่ยวโดยเฉพาะหาดทรายที่มีความสวยงาม มีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์และคงความเป็นธรรมชาติดั้งเดิมไว้ได้มากหลายแห่ง จึงมีการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและการบริการเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวโดยการสร้างแหล่งท่องเที่ยว ร้านค้า ร้านอาหาร และร้านขายของที่ระลึกไว้คอยบริการ

หมู่ 7
นาเกลือ
บางละมุง
ชลบุรี
20150
เมืองพัทยา โทร. 0-3825-3100
12.9214542116673
100.787395387887
เมืองพัทยา

ในอดีต ประชากรอาศัยอยู่ในเกาะล้านสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน มีอาชีพเกษตรกรรมทำไร่ ทำสวน และประมง มีหลักฐานคือ ต้นมะพร้าวอายุกว่าร้อยปี และชื่อของสถานที่เรียกต่างๆ บนเกาะล้าน เช่น ท่าบรรทุก ท่าไร่ ท่าตลิ่งชัน อันเป็นที่ใช้ขนผลผลิตลงเรือไปขายที่ฝั่ง เกาะล้านเคยมีฐานะเป็นตำบลเกาะล้านมี 2 หมู่บ้าน เคยมีกำนันมาแล้วถึง 4 คน มีวัดและโรงเรียน

แม้จะไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าทำไมถึงเรียกเกาะนี้ว่าเกาะล้าน แต่มีความเป็นไปได้จากพื้นที่ภูเขาบนเกาะมีลักษณะโล่งเตียน ไม่ค่อยมีหญ้าขึ้นปกคลุมให้เห็นนัก ชาวบ้านจึงเรียกว่า "เกาะล้าน" 

ชาวบ้านบนเกาะล้านมีฐานะดีและมีทรัพย์สินเงินทองมาก เคยกล่าวกันว่าครั้งหนึ่งได้มีโจรสลัดขึ้นปล้นบนเกาะจนได้ทรัพย์สินกลับไปเป็นอันมาก อีกทั้งยังเคยเกิดการระบาดของโรคอหิวาตกโรคบนเกาะอีกด้วย

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทางราชการดูแลไม่ทั่วถึงจากปัญหาที่เกาะล้านอยู่ห่างจากชายฝั่งจนการคมนาคมไม่สะดวก ตำบลเกาะล้านจึงถูกยุบลงพร้อมกับตำบลเขาไม้แก้วและตำบลตะเคียนเตี้ย เกาะล้านจึงเหลือเพียงหมู่บ้านเดียวและไปขึ้นรวมกับตำบลนาเกลือนับแต่นั้นมา มีผู้ใหญ่บ้านมาอีก 3 คน

ต่อมาประมาณปี 2500 เริ่มมีการใช้เรือติดเครื่องยนต์มาใช้แทนเรือใบ กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่นักท่องเที่ยวเริ่มเข้ามาในเกาะล้านมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงสงครามเวียดนามที่ทหารอเมริกันเข้ามาประจำการอยู่ที่สนามบินอู่ตะเภา ที่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติรายแรกๆ พวกเขาจะผลัดกันมาพักผ่อนครั้งละ 1 อาทิตย์ โดยเช่าบ้านฝั่งพัทยาแล้วนั่งเรือมาอาบแดดที่เกาะช้าง ทำให้ชาวบ้านในชุมชนเกาะล้านเริ่มหันมาประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวกันขึ้น ไม่ว่าดัดแปลงเรือตนสำหรับการไปรับ-ส่งนักท่องเที่ยว หรือสร้างกระต๊อบเพื่อนำอาหารและเครื่องดื่มมาขายนักท่องเที่ยว เป็นต้น พอสงครามเวียดนามจบลง ทหารอเมริกันก็ได้นำความสวยงามของเกาะล้านไปเล่าปากต่อปาก จนมีนักท่องเที่ยวจากชาติอื่นๆ มาเที่ยวเพิ่มขึ้น อันเป็นเริ่มต้นของชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยว

ท้ายที่สุดเกาะล้านและตำบลนาเกลือจะขึ้นอยู่ในความปกครองของเมืองพัทยา โดยรับโอนมาจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรีตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521 เป็นต้นมา

เกาะล้านตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองพัทยา จากชายหาดเมืองพัทยาจะสามารถมองเห็นเกาะล้านได้ชัดเจน เพราะอยู่ห่างจากฝั่งออกไปประมาณ 7.5 กิโลเมตร เป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในฐานะ "หมู่เกาะปะการัง" เพราะอุดมไปด้วยปะการังนานาชนิด เป็นแหล่งปะการังที่สมบูรณ์แห่งหนึ่งของประเทศ

เกาะล้านมีลักษณะรูปทรงเป็นห้าเหลี่ยมด้านไม่เท่า ส่วนที่ยาวที่สุดประมาณ 4.65 กม. กว้างประมาณ 2.15 กม. จัดว่าเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบกับเกาะบริเวณพัทยา สภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาประมาณร้อยละ 90 ของพื้นที่ มีลักษณะโล่งเตียน ไม่ค่อยมีหญ้าขึ้นปกคลุมให้เห็นนัก  ส่วนสภาพป่าค่อนข้างอุดมสมบูรณ์พืชพรรณที่ขึ้นอยู่มีความหลากหลายของชีวภาพของป่าเบญจพรรณและสมุนไพรหายาก ด้านสัตว์ป่ามีการพบกระรอกเผือกที่เป็นสัตว์ป่าที่หายากอาศัยอยู่จำนวนมาก ถือว่ายังคงความเป็นธรรมชาติดั้งเดิมไว้ได้มาก

ส่วนของหาดทรายบนเกาะนั้นมีหาดที่มีความสวยงาม กระจัดกระจายอยู่บนเกาะหลายแห่ง และทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ เช่น หาดตายาย หาตาแหวน หาดนวล เป็นต้น เหมาะกับการท่องเที่ยวที่ต้องการความเป็นธรรมชาติ โดยที่มีหาดทรายจะอยู่ตามทิศทั้ง 4 ดังนี้

  • ทิศเหนือ มีหาดสังวาลย์ หาดตาแหวน หาดทองหลาง หาดตายาย
  • ทิศใต้ มีหาดนวล 
  • ทิศตะวันออก มีหาดแหลมหัวโขด หาดแดง หาดเกเร 
  • ทิศตะวันตก มีหาดตาพัน หาดเทียน หาดแสม หาดถ้ำ หาดกรวด

ด้านสภาพอากาศนั้นฤดูฝนมีลักษณะมืดครึ้ม ฤดูแล้งมีลักษณะมีเมฆบางส่วน ส่วนฤดูร้อนจะร้อนและไม่มีลมตลอดปี ในระยะเวลาหนึ่งปี โดยทั่วไปอุณหภูมิจะเปลี่ยนแปลงในช่วงตั้งแต่ 22°C ถึง 32°C และน้อยมากที่จะอยู่ต่ำกว่า 20°C หรือสูงกว่า 34°C

จากข้อมูลประชากรในเกาะล้าน ณ วันที่ 30 ก.ย. 2547 พบว่ามีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 2,401 คน เป็นเพศชาย 1,212 คน เป็นเพศหญิง 1,189 คน มีจำนวนครัวเรือน 489 ครัวเรือน แม้ดูจากตัวเลขเกาะล้านมีประชากรไม่หนาแน่น แต่ข้อเท็จจริงแล้วประชากรในเกาะล้านอาศัยอยู่หนาแน่น เพราะการท่องเที่ยวเจริญเติบโตรวดเร็วและมีการอพยพแรงงานจากถิ่นอื่นเข้ามา จึงมีประชากรแฝงมากกว่าจำนวนความเป็นจริง 3-4 เท่า โดยมิได้มีการแจ้งย้ายเข้ามาตามกฎหมายทะเบียนราษฎร์

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

วิถีชีวิตของคนในชุมชนเกาะล้านเปลี่ยนไปเป็นการทำงานอาชีพที่งรองรับการท่องเที่ยว เช่น ผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจ ขณะที่ประมงพื้นบ้านแบบดั้งเดิมเหลืออยู่น้อย เวลาในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่จึงอยู่กับการทำงานรองรับการท่องเที่ยวมากกว่าจะทำกิจกรรมชุมชนหรือกิจกรรมที่เกี่ยวกับวัด กิจกรรมประจำชุมชนจึงไม่ได้โดดเด่นอะไรมากนัก

ดังนั้น งานเทศกาลที่เกิดขึ้นบนเกาะนี้ จึงมีจุดประสงค์ที่จะกระตุ้นการท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวเข้ามาส่วนร่วม เช่น งานวิ่งเพื่อน้องที่จัดขึ้นในช่วงเดือนกันยายน ให้ทั้งคนในและคนนอกเกาะวิ่งชมธรรมชาติ โดยจะนำรายได้ที่ได้มาฟื้นฟูสาธารณประโยชน์ในส่วนที่ขาดแคลนบนเกาะล้าน อย่างเช่น ซื้ออุปกรณ์การเรียนหรือการกีฬาให้แก่เด็กๆ หรืองานเลี้ยงสังสรรค์ที่นักท่องเที่ยวเข้ามาร่วมได้ จัดทุกวันที่ 1 เมษายนของทุกปี หรือไม่ก็จัดกิจกรรมตามเทศกาลต่างๆ เช่น วันสงกรานต์ วันลอยกระทง วันปีใหม่ เป็นต้น

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนทางการท่องเที่ยว

เกาะล้านถือว่าเป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในฐานะ "หมู่เกาะปะการัง" เพราะอุดมไปด้วยปะการังนานาชนิด และต้อนรับการท่องเที่ยวที่ต้องการความเป็นธรรมชาติ ขณะที่เกาะล้านในความคิดเห็นของชาวบ้านในชุมชนเองก็คิดว่า เกาะล้านประกอบไปด้วยทรัพยากรท่องเที่ยว คือ หายทรายขาว น้ำทะเลใส ปะการังสวย อากาศดีไม่มีมลพิษ ต้นไม้มาก สัตว์น้ำมากมายหลายชนิด ประชากรมีความเป็นมิตร เกาะล้านจึงเป็นจุดขายการท่องเที่ยวคู่กับพัทยามาตลอด

แหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงที่สุดบนเกาะล้านจะประกอบด้วยหาดทั้ง 4 หาด ได้แก่

หาดตาแหวน อยู่ทางตอนเหนือของเกาะ เป็นหาดทรายทอดยาวประมาณ 750 เมตร ความงามทางธรรมชาติมาก เพราะมีหาดทรายที่ขาวสะอาดและน้ำทะเลใสเป็นสีคราม ปลายหาดทั้งสองด้านยังมีแนวปะการังในระดับน้ำตื้นที่มีสีสันสวยงาม สามารถใช้เป็นแหล่งดำน้ำได้ นอกจากนี้ยังมีร้านค้าต่างๆ มากมายและมีเรือท่องเที่ยวมาจอดเป็นส่วนใหญ่ ถือว่าเป็นหาดที่มีนักท่องเที่ยวคึกคักที่สุดในเกาะล้านแล้ว

หาดเทียน มีความยาวของหาดประมาณ 700 เมตร อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะ หาดทรายแห่งนี้มีความสวยงามและมีปะการังดีไม่แพ้หาดตาแหวน แต่เนื่องจากมีขนาดเล็กกว่าจึงมีผู้นิยมไปท่องเที่ยวพักผ่อนน้อย อย่างไรก็ตามในฤดูที่มีมรสุมรุนแรงเข้าปะทะที่หาดตาแหวน นักท่องเที่ยวจะไปหลบพักผ่อนที่หาดเทียนแทน

หาดแสม  อยู่ทางทิดตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะล้าน เป็นหาดขนาดเล็กความยาวของหาดประมาณ 300 เมตร อยู่ใกล้กับหาดนวล มีโขดหินและพื้นที่ป่าไม้ด้านขวาค่อนข้างสมบูรณ์มีความสวยงามเงียบสงบ เหมาะสำหรับการพักผ่อนและการเล่นน้ำ มีน้ำทะเลและหาดทรายสะอาด ยังเป็นที่ตั้งสำนักงานป่าไม้ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวและรีสอร์ท ตลอดจนพื้นที่สำหรับกางเต้นท์ แค็มปิ้ง เพื่อบรรยากาศแบบธรรมชาติ

หาดนวล อยู่ทางตอนใต้ของเกาะล้าน เป็นหาดขนาดเล็กยาวประมาณ 250 เมตร เป็นพื้นที่มีกรรมสิทธิ์ของเอกชน สภาพสิ่งแวดล้อมชายหาดเป็นปะการังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ บริเวณหาดมีโขดหินเยอะแยะ จึงไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวที่ชอบเล่นน้ำนิยมมาเที่ยวมากนัก ส่งผลให้หาดเงียบสงบ เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการความเป็นส่วนตัวและมาอาบแดดกันที่นี่ อีกทั้งยังเงียบสงบและมีลมพัดเย็นสบายตลอดเวลาอีกด้วย

บริเวณปลายสุดด้านใต้ของหาดนวลเรียกว่า "แหลมหาดนวล" รับอิทธิพลของลมค่อนข้างมากและมีกระแสน้ำแรง ลักษณะปะการังค่อนข้างยาวมากกว่า 100 เมตร และค่อนข้างลาดชัน เนื่องจากบริเวณนี้ติดกับแนวโขดหิน ปะการังที่พบบริเวณนี้ค่อนข้างดี เป็นบริเวณที่น่าสนใจในการดำน้ำแบบสกูบา

นอกจากชายหาดที่เป็นสิ่งที่ขึ้นชื่อบนเกาะล้านแล้ว สิ่งที่ขึ้นชื่ออีกอย่างนั้นก็คือ "แร่เกาะล้าน" (โคตรเหล็กไหลงอก) ตามตำราและความเชื่อของคนโบราณ แร่นี้ถือว่าเป็นขี้เหล็กไหลตระกูลหนึ่งที่มีลักษณะการงอกไปมาเหมือนเม็ดไข่ปลาสีดำมันปนเขียว รูปร่างแปลกตาบางชิ้นทอสีเป็นสีรุ้งน่าอัศจรรย์ มักพบตามเพดานถ้ำ บางครั้งฝังอยู่ในดินก็มี ชาวบ้านเชื่อว่าแร่นี้สามารถทำให้ผู้ที่ถือครองรอดพ้นจากอุบัติเหตุและอันตรายต่างๆ ได้

จากการนำแร่ชนิดนี้ไปพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แล้ว พบว่าแร่เกาะล้าน ก็คือ แร่แมงกานิส แต่มีความพิเศษอยู่ตรงที่เมื่อเราขุดขึ้นมาแล้ว โดยทั่วไปปริมาณของแร่จะไม่เพิ่มขึ้นเราเรียกว่า “แร่ตาย” แต่แร่ที่เกาะล้านนี้จะเป็น “แร่เป็น” คือคนที่แขวนบูชาแร่ก็จะงอกออกมาเรื่อยๆ ทว่าแร่เกาะล้านถูกลอบขุดลอบขาย จนหายากขึ้นทุกวัน ทางการจึงประกาศห้ามขุดอีกต่อไป

ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลไทยได้ขายสัมปทานเหมืองแร่เกาะล้านให้กับชาวญี่ปุ่น ให้พวกเขาขุดแร่ชนิดนี้ไปเป็นจำนวนมาก และสร้างท่าเรือสำหรับขนกลับไปที่ประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันมีพิพิธภัณฑ์ที่ ชาวบ้านเรียกว่า “บ้านแร่” ตั้งอยู่ที่บ้านแร่เกาะล้าน รีสอร์ท อยู่ระหว่างทางไปหาดแสมเปิดแสดงให้นักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมศึกษาประวัติความเป็นมา และชมแร่เกาะล้านฟรี 

วัดใหม่สำราญ วัดเก่าแก่และสวยงามที่อยู่คู่กับเกาะล้านเพียงแห่งเดียว สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2465 ตั้งอยู่ใกล้ท่าเรือหน้าบ้านหันหน้าออกสู่ทะเล ภายในวัดใหม่สำราญ มีหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด รอยพระพุทธบาท พระแม่กวนอิม และมีหินแร่เกาะล้านที่คนนิยมเช่ามาบูชา บนเขามีสำนักสงฆ์อยู่ 1 แห่ง มีพระจำวัดอยู่ 1 รูป

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

การปกครองของเกาะล้านนั้นขึ้นตรงกับเมืองพัทยา จะไม่มีผู้ใหญ่บ้านเหมือนหมู่บ้านอื่น ๆ ทั่วไป โดยมีหัวหน้าหมู่บ้านและคณะกรรมการวิสามัญชุมชนบ้านเกาะล้านเป็นผู้ดูแล ซึ่งมีลักษณะซ้อนกันอยู่ กล่าวคือ ตำหน้าหัวหน้าหมู่บ้านในชุมชนจะมีการเลือกตั้งกันเอง มีลักษณะเป็นผู้นำอย่างไม่เป็นทางการ ส่วนคณะกรรมการวิสามัญชุมชนจะมีจำนวนทั้งหมด 15 คน ได้รับการแต่งตั้งมาจากทางเมืองพัทยา มีลักษณะเป็นผู้นำอย่างเป็นทางการ ซึ่งทางคณะกรรมการวิสามัญชุมชนจะมีการประชุมที่เมืองพัทยาทุกเดือนเพื่อรับทราบปัญหา และหาทางแก้ไขปัญหาพัฒนาชุมชน

แม้จะในปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เมืองพัทยา) มีโครงการสำรวจเรือ สร้างสะพาน และปรับปรุงการคมนาคมบนเกาะ แต่ในอดีตโครงการต่าง ๆ ที่หยิบยื่นให้กับชุมชนกลับไม่สู้จะประสบความสำเร็จในสายตาของชาวบ้าน เนื่องจากขาดการดำเนินงานที่ต่อเนื่อง เช่น กังหันลมที่สร้างโดยเมืองพัทยา เคยมีหน่วยงานและประชาชนเข้ามาศึกษาดูงานอยู่เนือง ๆ แต่ปัจจุบันกลับขาดการบำรุงรักษา ซ่อมแซม จนไม่สามารถใช้งานได้เต็มที่

ส่วนหน่วยงานตำรวจนั้น สภ.เมืองพัทยาจะส่งตำรวจวันละ 1 นายประจำอยู่ที่เกาะล้าน เพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับชาวบ้านและนักท่องเที่ยว ทว่ากลับไม่สามารถทำงานได้ตามความคาดหวังของชาวบ้าน โดยเฉพาะปัญหาเรื่องยาเสพติด ส่งผลต่อทัศนคติของชาวบ้านที่มีต่อตำรวจ ก่อเกิดความไม่ไว้วางใจและร่วมกันทำงานได้


การท่องเที่ยวบนเกาะล้านทำให้เกิดการขยายตัวของการท่องเที่ยว คนในชุมชนส่วนใหญ่จึงหันมาทำธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวมากขึ้น มีการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและการบริการท่องเที่ยวเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวโดยการสร้างแหล่งท่องเที่ยว ร้านค้า ร้านอาหาร และร้านขายของที่ระลึก มีบริการเรือชมปะการังและเรือสกู๊ตเตอร์ รถเช่า รวมถึงการทำพี่พักอย่างรีสอร์ทกับบังกะโล ทั้งหมดนี้เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ ส่งผลให้มีรายได้เข้าสู่ชุมชนมากขึ้น

นอกจากคนในชุมชนแล้ว คนนอกเกาะล้านก็ได้เข้ามาทำธุรกิจเกี่ยวกับที่พักและรถเช่าเช่นเดียวกับคนในชุมชน จนธุรกิจทั้งสองนี้เพิ่มมากขึ้นและคนในชุมชนมีงานทำ มีอาชีพมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ 3,000 กว่าคน จากต่างถิ่นที่แฝงตัวมาทำงานอีกว่า 6,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ประกอบการที่พักอย่างธุรกิจรีสอร์ทมักจะจ้างแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงาน เนื่องจากค่าแรงถูกกว่าคนไทย

แหล่งรายได้ที่เกิดจากการท่องเที่ยวบนเกาะล้าน สามารถแยกออกได้เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรก นักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางมาในวันหยุด แต่ในวันปกติก็มีทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งอาจทำให้มีรายได้เข้าสู่ชุมชน อีกส่วนหนึ่งเป็นนักท่องเที่ยวที่มากับกรุ๊ปทัวร์ รายได้ตกมาอยู่ทางชุมชนน้อยมากเนื่องจากรายได้ส่วนใหญ่จะตกอยู่กับผู้ประกอบการหรือผู้ลงทุนทางธุรกิจที่มีเงินทุนจำนวนมาก ถึงกระนั้นรายได้ส่วนใหญ่จากการท่องเที่ยวก็ยังตกอยู่ผู้คนในชุมชนเป็นอย่างมาก เพราะว่าส่วนใหญ่ผู้ประกอบการบนเกาะล้านก็เป็นคนท้องถิ่น ในขณะเดียวกันการที่นักท่องเที่ยวมายังเกาะล้าน รายได้ที่เข้าสู่ชุมชนจะยิ่งมากขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเกาะ

ทว่าการที่มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวมากขึ้นนั้น ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้นเพราะเกาะล้านคือพื้นที่เศรษฐกิจ ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น เห็นได้จากราคาของในร้านสะดวกจะบวกราคาขึ้นจากค่าขนส่ง การขยายตัวของธุรกิจท่องเที่ยวส่งผลต่อรายได้ส่วนใหญ่ของคนชุมชนที่มาจากนักท่องเที่ยว ดังนั้น ถ้าในฤดูกาลในที่นักท่องเที่ยวมีน้อย ประชาชนในชุมชนจะได้รับผลกระทบจากรายได้ที่ลดลง


เดิมทีชาวบ้านในชุมชนเกาะล้านมีวิถีชีวิตแบบคนบนเกาะ คือ ทำอาชีพเกษตรกรทำไร่ทำนา ทำสวน ทำประมงเพื่อเลี้ยงชีพ แต่ปัจจุบันการท่องเที่ยวขยายตัวและนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวยังเกาะล้านมากขึ้น ประกอบกับทรัพยากรสัตว์น้ำลดน้อยลงและมีเรืออวนจากจังหวัดใกล้เคียงมาแย่งชิงปลาในบริเวณร่องน้ำเกาะล้าน วิถีชีวิตเดิมของคนบนเกาะก็ได้เปลี่ยนไปและหันไปทำอาชีพการให้บริหารนักท่องเที่ยว เพราะไม่ต้องเสี่ยงภัยในทะเลและอาชีพบริการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวหาเงินง่าย

ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอาชีพเป็นอาชีพผู้ประกอบการหรือเกี่ยวกับการให้บริการนักท่องเที่ยว เช่น รถเช่าหรือเช่าเรือให้นักท่องเที่ยว ทำรีสอร์ท เป็นต้น ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ในแต่ละวันในการบริการนักท่องเที่ยว แต่ก็ยังคงหลงเหลือกลุ่มคนที่ยังอาชีพประมงอยู่จนถึงปัจจุบัน

แม้ประชาชนในเกาะล้านอาศัยอยู่หนาแน่น เนื่องจากเกาะล้านเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว นอกจากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวหรือพักแล้ว ก็มีการอพยพแรงงานจากถิ่นอื่นเข้ามา จึงมีประชากรแฝงมากกว่าจำนวนความเป็นจริง โดยมิได้มีการแจ้งย้ายเข้ามาตามกฎหมายทะเบียนราษฎร์ เพื่อประกอบอาชีพหารายได้บนเกาะ การดำรงชีวิตประจำวันยังคงเหมือนเดิมแต่มีบางส่วนที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง เช่น ร้านอาหารที่มีหลายประเภทให้เลือกทานมากขึ้น 

นอกจากนี้การเข้ามาจำนวนมากของนักเที่ยวและแรงงานต่างด้าว ก็ได้ทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรมเพิ่มขึ้น เช่น การเกิดอุบัติเหตุเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีต หรือจะเป็นปัญหายาเสพติดที่เริ่มก่อตัวในช่วงเวลาเดียวกับช่วงที่การท่องเที่ยวเกาะล้านเจริญเติบโตขึ้น เนื่องจากยาเสพติดมีโอกาสขนผ่านทางเรือมาได้ทุกเวลา แต่ชาวบ้านกลับไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหายาเสพติดในเชิงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินแก่ครัวเรือน ซึ่งมีสาเหตุมาจากฐานะของชาวบ้านในชุมชนเกาะล้านไม่ขัดสน สามารถซื้อยาเสพติดด้วยเงินตัวเองหรือครอบครัว ในทางตรงกันข้ามผู้เสพเองก็มักจะเสพอยู่ในกลุ่มของตัวเองอย่างเงียบ ๆ

ที่กล่าวมาข้างต้น มาตรการความปลอดภัยอาชญากรรม ทางชุมชนทำได้เพียงแค่ประชาสัมพันธ์ สอดส่องดูแล ทั้งเจ้าหน้าที่และคนในชุมชน ส่วนเรื่องอุบัติเหตุก็มีการขอความร่วมมือเรื่องของการขับขี่รถในการท่องเที่ยวต่าง ๆ ให้ปลอดภัย รถสองแถวมีการจำกัดความเร็วเอาไว้ และบนเกาะมีตำรวจวันละ 1 นาย แต่ส่วนใหญ่อุบัติเหตุจะมาจากรถเช่าที่นักท่องเที่ยวเช่าอย่างการฝ่าฝืนกฎจราจร เป็นต้น


เกาะล้านนั้นมีปัญหาในเรื่องการขาดแคลนน้ำอันเป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมที่เป็นเกาะห่างจากตัวเมืองพัทยา จึงไม่มีแหล่งน้ำจืดอยู่บนเกาะ น้ำที่เกาะล้านมีใช้อยู่ 2 แบบ คือ น้ำประปาที่ผลิตจากน้ำทะเลมาเป็นน้ำจืด กับน้ำบาดาลที่มีหลายจุดที่เกาะล้าน ส่วนหนึ่งจากน้ำฝนที่ชาวบ้านทำที่เก็บไว้ใช้หน้าแล้ง ถ้าช่วงไหนฝนไม่ตกหรืออยู่ในหน้าแล้งจนน้ำไม่พอ ชาวบ้านจึงต้องสั่งน้ำจืดจากฝั่งพัทยามาใช้โดยมีเรือขนน้ำมาส่งครั้งละ 2 แท็งค์ บางร้านค้าจะสั่งแบบเหมาทั้งลำเพื่อกักตุนน้ำไว้หลังร้าน นอกจากนี้ในช่วงที่ขาดแคลนน้ำ เมืองพัทยาก็ได้ประสานไปทางกองทัพเรือสัตหีบมาช่วยนำน้ำบรรทุกเรือมาแจกเดือนละ 4-5 ครั้งไม่แน่นอน เพื่อบรรเทาความทุกข์ของชาวบ้าน โดยมีที่เก็บน้ำรวมอยู่ที่บริเวณท่าเรือ 1 แห่ง และหน้าวัดใหม่สำราญอีก 1 แห่ง ชาวบ้านสามารถมารับน้ำได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ


การดูแลทางด้านสาธารณสุขนั้น สำนักงานเมืองพัทยา สาขาเกาะล้านมุ่งที่จะพัฒนาและส่งเสริมให้ประชาชนเกาะล้านมีคุณภาพชีวิตที่ดี  มีสภาพแวดล้อมที่ดี ชายหาดสะอาดเรียบร้อย ไม่มีขยะมูลฝอยและสิ่งปฎิกูล ปราศจากโรคระบาด โรคติดต่อ และจัดระเบียบชายหาดทางด้านการกางร่ม-เตียง ของหาดแสม และชายหาดอื่น ๆ เพื่อให้ประชากรมีสุขภาพดี และเป็นเขตปลอดโรคสุนัขบ้า

ส่วนสถานีอนามัยบนเกาะล้านมีเพียงแห่งเดียว สร้างเมื่อ พ.ศ. 2514 มีเจ้าหน้าที่ตำแหน่งบริหารงานสาธารณสุข 6 ประจำอยู่ 1 คน ให้บริการตรวจโรคแก่ชาวบ้านในชุมชนและให้การรักษาเบื้องต้นกับนักท่องเที่ยวที่ประสบอุบัติเหตุทางน้ำ


ชุมชนเกาะล้านมีโรงเรียนเพียงแห่งเดียว คือ โรงเรียนเมืองพัทยา 10 (บ้านเกาะล้าน) ซึ่งเปิดกิจการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2472 ปัจจุบันเปิดสอนก่อนระดับวัยเรียนจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โดยเริ่มเปิดสอนในระดับชั้นมัธยมตอนต้นเมื่อปีการศึกษา 2536 มีการส่งเสริมสนับสนุนการศึกษา การกีฬา การจัดฝึกอบรมเยาวชนเพื่อห่างไกลยาเสพติดที่เป็นปัญหาบนเกาะล้าน


เกาะล้านมีอัตลักษณ์ชุมชนผ่านสถานที่สำคัญในชุมชนทางศาสนาที่นักท่องเที่ยวนิยมมาไหว้พระทำบุญ  คือ วัดใหม่สำราญเกาะล้านและศาลเจ้าที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่อดีตที่อยู่ตามหาดต่าง ๆ บนเกาะ คนในชุมชนมีอัตลักษณ์ในเรื่องของความกตัญญู ช่วยเหลือกัน และการอยู่แบบเป็นกันเอง นอกจากนั้นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นคือน้ำทะเลใส เพราะผู้คนมาที่นี่เพื่อเล่นน้ำทะเล ดูปะการัง แล้วก็แร่เกาะล้านที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านบูชามาตั้งแต่อดีต

บนเกาะล้านเองก็มีการจัดเทศกาลเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวเข้ามาส่วนร่วม เช่น งานวิ่งเพื่อน้องที่จัดขึ้นในช่วงเดือนกันยายน ให้ทั้งคนในและคนนอกเกาะวิ่งชมธรรมชาติ โดยจะนำรายได้ที่ได้มาฟื้นฟูสาธารณประโยชน์ในส่วนที่ขาดแคลนบนเกาะล้าน อย่างเช่น ซื้ออุปกรณ์การเรียนหรือการกีฬาให้แก่เด็ก ๆ หรืองานเลี้ยงสังสรรค์ที่นักท่องเที่ยวเข้ามาร่วมได้ จัดทุกวันที่ 1 เมษายนของทุกปี หรือไม่ก็จัดกิจกรรมตามเทศกาลต่าง ๆ เช่น วันสงกรานต์ วันลอยกระทง วันปีใหม่ เป็นต้น

แม้จะการท่องเที่ยวจะขยายตัวขึ้น แต่ความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของชาวบ้านค่อนข้างน้อย คนในชุมชนยังคงมีการแต่งกาย วิถีชีวิต และความเชื่อที่ยังคงเดิม แตกต่างจากชุมชนที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ได้รับผลกระทบทางวัฒนธรรมมากจากการท่องเที่ยว


เกาะล้านมีกิจกรรมทางทะเลคือบานาน่าโบ๊ท เจ็ทสกี เรือลากร่ม ดำน้ำตื้น ดำน้ำลึก และการตกหมึกในเวลากลางคืน แต่การที่นักท่องเที่ยวมาทำกิจกรรมทางทะเลมากขึ้น ส่งผลต่อความเสื่อมโทรมโดยเฉพาะปะการังทะเลและการจัดการขยะในพื้นที่ ซึ่งทางเมืองพัทยาจะเป็นผู้ดูแลในเรื่องนี้

การที่มีนักท่องเที่ยวมากขึ้นจึงมีการเดินเรือมากขึ้นตามไปด้วย ส่งผลต่อระบบนิเวศน์ทางทะเลจากการที่ปะการังเสื่อมโทรม ซึ่งปัจจุบันมีผลกระทบในลักษณะนโยบายคือการดำเนินธุรกิจซีวอร์คเกอร์ ธุรกิจที่เกี่ยวกับการเดินไปดูปะการังทะเลและไม่มีกฏหมายรองรับ อาจมีผลกระทบในพื้นที่ เพราะนักท่องเที่ยวหรือผู้ประกอบการไม่ได้ใส่ใจเรื่องการดูแลทรัพยากรใต้ทะเล

ส่วนปัญหาเรื่องขยะที่มีจำนวนมากและไม่มีถังขยะเพียงพอต่อความต้องการ ทำให้นักท่องเที่ยวมักทิ้งขยะตามข้างทางหรือชายหาด ประกอบการจัดการขยะที่ค่อนข้างยาก ไม่มีบ่อฝังกลบขยะหรือสถานที่กำจัดขยะอย่างเป็นทางการบนเกาะช้าง จึงเกิดความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม สะท้อนจาก ปัญหา "ขยะล้นเกาะล้าน" เคยเป็นข่าวครึกโครมเมื่อกลางปี 2558 ขณะนี้ปัญหายังไม่คลี่คลายและมีแนวโน้มที่จะหนักขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งขยะที่ตกค้างนั้นกินพื้นที่ใหญ่กว่าสนามฟุตบอลขนาดมาตรฐานไปแล้ว

ปัญหาเรื่องการจัดการขยะทางเมืองพัทยาจึงมีการเอาขยะที่กระจัดกระจายมารวมกันเป็นกองขยะกองใหม่ จากนั้นคลุมผ้ายางปิดไว้ ในอนาคตมีโครงการที่จะทำศูนย์กำจัดขยะโดยใช้วิธีเผาทำลาย ซึ่งอยู่ระหว่างการขออนุมัติจากกระทรวงมหาดไทย เพื่อก่อสร้างระบบกำจัดขยะและดำเนินการบริหารจัดการขยะ โดยที่กระทรวงมหาดไทยเองก็มีนโยบายให้เกาะล้านเป็นสถานที่ที่ต้องจำกัดพื้นที่เฉพาะไม่ให้ขยะล้นเกาะ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กรมการปกครอง. (2565). ข้อมูลที่ตั้งและสภาพทั่วไปของหมู่บ้าน จังหวัดชลบุรี. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://opendata_tst.dopa.go.th/

เกรียงธมล ธีระศักดิ์โสภณ. (2561). ชุมชนเกาะล้าน: ปัญหายาเสพติดที่รุมเร้าจนเกินเยียว สู่ความต้ังใจอันแรงกล้าของการพึ่ง พาแนวทางสันติวิธี. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://www.oncb.go.th/

เกาะล้านวิกฤตขาดแคลนน้ำจืด เมืองพัทยาเร่งแก้ไขประสานกองทัพเรือช่วยเหลือ. (2566). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://www.naewna.com/

ขยะล้นเกาะล้าน. (2559). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://www.thaipbs.or.th/

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา. (2552). หมู่เกาะล้าน. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2566. เข้าถึงได้จาก http://sc.buu.ac.th/

ภูมิอากาศและสภาพอากาศเฉลี่ยตลอดปีใน บ้านเกาะล้าน. (ม.ป.ป.). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://th.weatherspark.com/

ศันสนีย์ ตันติวิท. (2539). การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Eco-tourism) : กรณีศึกษาการมีส่วนร่วมของชุมชนเกาะล้านต่อท้องถิ่น. วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. 5(1). สืบค้นเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2566. เข้าถึงได้จาก http://tujournals.tu.ac.th/

ศุภวรรณ โพธิ์นาค. (2545). ผลกระทบของการท่องเที่ยวต่อวิถีชีวิของชุมชนเกาะล้าน เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี (วิทยานิพนธ์บัณฑิตวิทยาลัย). นครปฐม. มหาวิทยาลัยมหิดล. เข้าถึงได้จาก https://library.mahidol.ac.th/

อิสระพงษ์ พลธานี, อุมาพร บุญเพชรแก้ว, ฐิติวัลค์ ช่อมะลิ, ณัฐฌา มูลคร, สุดารัตน์ คณิตอิทธิวัฒน์, ศศิพร กลั่นบุศย์ และอาทิตยา ประเสริฐนอก. (2564). การศึกษาผลกระทบจากการท่องเที่ยวทางทะเลตามองค์ประกอบของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่เกาะล้าน อำเภอ บางละมุง จังหวัดชลบุรี. ศิลปศาสตร์ปริทัศน์. 16(2). สืบค้นเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://so04.tci-thaijo.org/

ADMIN (นามแฝง). (2564). แร่เกาะล้าน แร่ศักดิ์สิทธิ์ของคนบนเกาะล้าน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://roomkohlarn.com/kohlarn-mineral/

Anusorn Srikhamkhwan. (2562). มหัศจรรย์ แร่เกาะล้าน ตำนานสายเหนียว แห่งเกาะล้าน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://travel.trueid.net/

Hello! Happy Time (นามแฝง). (2566). วัดใหม่สำราญ วัดคู่เมืองของเกาะล้าน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://th.trip.com/

nukkpidet (นามแฝง). (2565). หาดนวล ที่เที่ยวชลบุรี ทะเลใกล้กรุงเทพ สวรรค์สุดชิลบน เกาะล้าน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://travel.trueid.net/