Advance search

บางน้ำผึ้ง

ชุมชนในสวนผลไม้บริเวณที่ราบลุ่มริมน้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีคลองบางน้ำผึ้งไหลผ่านจึงทำให้พื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำสวนผลไม้ และมี “ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง” เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของชุมชน

บางน้ำผึ้ง
พระประแดง
สมุทรปราการ
จุฬาลักษณ์ วงค์สวัสดิ์โสต
20 ก.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
24 ก.ค. 2023
จุฬาลักษณ์ วงค์สวัสดิ์โสต
20 ก.ค. 2023
บางน้ำผึ้ง

จากคำบอกเล่าของผู้สูงอายุเล่ากันในหลายที่มาบ้างว่า "เดิมพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ที่มีไม้ยืนต้น และไม้ผลที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก ทำให้มีฝูงผึ้งมาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใน บริเวณนี้มักจะเข้าป่าหาน้ำผึ้งกันได้เป็นจำนวนมาก" จึงเรียกกันต่อมาว่า "ตำบลบางน้ำผึ้ง"  


ชุมชนชนบท

ชุมชนในสวนผลไม้บริเวณที่ราบลุ่มริมน้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีคลองบางน้ำผึ้งไหลผ่านจึงทำให้พื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำสวนผลไม้ และมี “ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง” เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของชุมชน

บางน้ำผึ้ง
พระประแดง
สมุทรปราการ
10130
องค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำผึ้ง โทร. 0-2461-3254
13.679803713300542
100.57374657910988
องค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำผึ้ง

ชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนดั้งเดิม ตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีการอพยพของชาวมอญตั้งแต่สมัยอยุธยาเรื่อยมายังพื้นที่เมืองพระประแดงจังหวัดสมุทรปราการในปัจจุบัน เพราะเป็นเมืองหน้าด่านทางทะเล โดยมีสาเหตุหลักคือปัญหาทางด้านการเมืองและความกดขี่ที่ได้รับจากการปกครองของพม่า

เดิมชุมชนบางน้ำผึ้งไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าตั้งถิ่นฐานเมื่อไหร่ แต่มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งพระองค์เจ้าสายน้ำผึ้ง และพระนางเจ้าสุชาดาได้เสด็จประพาสทางชลมารคมาในพื้นที่บริเวณนี้ตามลำน้ำเจ้าพระยา เมื่อเสด็จมาถึงบริเวณนี้พบว่า พื้นที่บริเวณนี้มีความร่มรื่น อุดมสมบูรณ์ มีพันธุ์ไม้ขึ้นอยู่หนาแน่นทำให้มีฝูงผึ้งมาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และมีผู้เก็บน้ำผึ้งมาถวาย พระนางเจ้าสุชาดาจึงทรงอธิษฐานจิตว่าหากน้ำผึ้งที่ได้รับมา สามารถช่วยรักษาโรคเรื้อรังของพระธิดาได้ จะทรงสร้างวัดถวายไว้ในพื้นที่ชุมชนแห่งนี้ เป็นที่น่าอัศจรรย์ว่าน้ำผึ้งที่ได้มาจากบริเวณนี้สามารถรักษาโรคของพระธิดาได้ เจ้าสายน้ำผึ้งจึงโปรดให้สร้างวัดบางน้ำผึ้งนอก และพระนางเจ้าสุชาดาได้โปรดให้สร้างวัดบางน้ำผึ้งในขึ้น และตั้งชื่อว่า “วัดสุชาดา” ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อมาจนเป็นวัดบางน้ำผึ้งใน มาจนถึงปัจจุบันนี้ และเรียกชุมชนบริเวณนี้ว่า “บ้านบางน้ำผึ้ง” 

ลักษณะภูมิประเทศชุมชนบางน้ำผึ้งเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นพื้นที่ดินตะกอนซึ่งเกิดจากการทับถมของตะกอนในแม่น้ำเจ้าพระยาและลำคลองสายต่าง ๆ ดินจึงมีความอุดมสมบูรณ์สูงเหมาะสมแก่การทำสวน ประเภทสวนผลไม้ และพืชสวน

ลักษณะอากาศอากาศมีลักษณะแบบชายทะเล อากาศค่อนข้างเย็น ไม่ร้อนจัด ในฤดูร้อนมีความชื้นในอากาศสูง เนื่องจากอิทธิพลของลมละเทและลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ฤดูฝนจะมีฝนตกชุก ฤดูหนาวไม่หนาวมากจนเกินไป

การคมนาคมการคมนาคมนั้นมีทางเข้าออกเพียง 2 เส้นทาง คือ ทางบกโดยถนนเพชรหึงษ์ และทางน้ำคือข้ามเรือมาจากท่าน้ำสรรพาวุธ เขตบางนา กรุงเทพมหานคร ส่วนภายในชุมชนนั้นจะมีทางเท้าสาธาณณะเชื่อมแหล่งชุมชนทุกหมู่เข้าด้วยกัน

ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในชุมชนนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด เป็นความสัมพันธ์กันแบบเครือญาติและความสัมพันธ์กันในลักษณะสังคมชนบท สังเกตได้จากเวลาที่มีงานบุญต่าง ๆ จะมีชาวบ้านในชุมชนมาร่วมมือร่วมใจกันเรียกได้ว่าเกือบทั้งหมดชุมชนรู้จักกันทั้งหมด เพราะสภาพชุมชนเป็นสังคมแบบปิด ไม่ได้เป็นทางผ่านหรือเป็นที่รู้จักมากนัก ค่อนข้างถูกโดดเดี่ยวจากสังคมภายนอก โดยมีถนนสายหลักที่จะเชื่อมจากชุมชนออกไปสู่สังคมภายนอกคือ ถนนเพชรหึงษ์ เพียงสายเดียวเท่านั้น มีวัดเป็นสถานที่ศูนย์กลางของชุมชน อันได้แก่ วัดบางน้ำผึ้งนอก และวัดบางน้ำผึ้งใน มักจะใช้ศาลากลางเปรียญวัดเป็นสถานที่จัดงานหรือจัดการประชุมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชุมชน

ภายในชุมชนบางน้ำผึ้งจะมีหอกระจายข่าวติดตั้งอยู่ทั่วไป ทั้งภายในบริเวณวัดและบริเวณที่มีการกระจายตัวของบ้านเรือนที่หนาแน่น โดยมีมัคทายกวัดบางน้ำผึ้งในเป็นผู้ดำเนินรายการ เนื้อหาของเรื่องราวที่นำมาพูดในแต่ละวันจะเป็นทั้งความรู้ทั่วไปซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการดูแลสุขภาพอนามัย ประกาศต่าง ๆ จากทางราชการและองค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำผึ้ง หรือเรื่องทั่วไปภายในชุมชน ทั้งงานบวช งานบุญ ไปจนกระทั่งงานศพ

มอญ

กลุ่มอาชีพในชุมชนบางน้ำผึ้งส่วนใหญ่จะเป็นการรวมตัวของกลุ่มแม่บ้านเพื่อหาอาชีพเสริมในช่วงเวลาว่าง ด้วยการใช้วัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น แล้วผลิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งทำรายได้ให้กับสมาชิกได้ไม่น้อยเลยทีเดียว อาทิเช่น 

  • กลุ่มสตรีตำบลบางน้ำผึ้ง ดอกไม้จันทน์ อาหารแปรรูป 
  • กลุ่มบางน้ำผึ้งแผนไทย ลูกประคบสมุนไพร ยาสมุนไพรต่าง ๆ ยาหม่องน้ำ 
  • กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์นมแพะบางน้ำผึ้ง สินค้า OTOP ของชุมชนบางน้ำผึ้ง
  • กลุ่มธูปหอมสมุนไพรสูตรโบราณ สินค้า OTOP ของชุมชนบางน้ำผึ้ง
  • กลุ่มดอกไม้ประดิษฐ์จากเกล็ดปลา สินค้า OTOP ของชุมชนบางน้ำผึ้ง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

วัดบางน้ำผึ้งในเป็นวัดโบราณเก่าแก่ สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2450 ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง เดิมนั้นวัดแห่งนี้มีชื่อว่า "วัดดุสิฎาราม" ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อวัดใหม่มาเป็น "วัดบางน้ำผึงใน" ในสมัยพระครูวิบูลย์ธรรมคุต เมื่อปี พ.ศ. 2460 เพื่อให้ชื่อวัดสอดคล้องกับชื่อหมู่บ้านบางน้ำผึ้ง ต่อมาได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. 2553

วัดบางน้ำผึ้งนอกเป็นวัดเก่าแก่น่าจะมีอายุประมาณ 355 ปี ตั้งอยู่บนเกาะบางกะเจ้า ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้างและสร้างขึ้นเมื่อไร จากหลักฐานศิลาจารึก สันนิษฐานว่าสร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2210 ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย โดยมีเจ้าพระยาท่านหนึ่ง ชื่อ ธรรมธิกรณ์มั่ง ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์วัด  สำหรับที่มาของชื่อ "วัดบางน้ำผึ้งนอก" เพราะวัดที่อยู่ติดริมน้ำ ในสมัยก่อนนิยมเรียกวัดติดกับริมน้ำว่า "วัดนอก"

วัดป่าเกดวัดนี้สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 มีพระอุโบสถหลังเก่าและพระเจดีย์ ซึ่งได้รับการบูรณะเมื่อ พ.ศ. 2462 ต่อมา พ.ศ. 2510 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็น โบราณสถาน จุดที่สวยและโดดเด่นที่สุดของพระอุโบสถหลังเก่าคือ หน้าบันไม้แกะสลักรูปพระ นารายณ์ทรงครุฑยุดนาค ล้อมด้วยลายเครือเถา ส่วนด้านหน้าและด้านหลังมีเสาเหลี่ยมปลายสอบ ขนาดใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับตลาดน้ําบางน้ําผึ้ง จึงชี้ให้เห็นว่าตลาดน้ําบางน้ําผึ้งมีทรัพยากรทางด้านวัฒนธรรมที่ดี 

ตลาดน้ําบางน้ําผึ้งตลาดน้ำบางน้ำผึ้งมีแนวคิดมาจากวิถีชาวบ้านประมาณ 40 กว่าปีที่ผ่านมา ในสมัยก่อนการคมนาคมจะใช้การสัญจร ทางน้ําเป็นเส้นทางสําคัญ เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ําเจ้าพระยา มีลําคลองอยู่ทั่วไป และจะเชื่อมต่อกับแม่น้ําเจ้าพระยา ในอดีตชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทําสวนผลไม้ ดินจะมีความ อุดมสมบูรณ์มาก น้ําท่าบริบูรณ์ดี ทําให้ผลผลิตออกมามีจํานวนมาก อาทิเช่น มะพร้าว หมาก มะนาว ส้มโอ มะม่วง มะปราง ชมพู่ม่าเหมี่ยว กล้วยหอม กล้วยน้ําว้า ผักนานาชนิด เช่น ผักบุ้ง ใบบัวบก ใบทองหลาง ใบชะพลู ผักกระถิน เป็นต้น ชาวบ้านจึงรวมตัวกันนําผลผลิตใส่ เรือมาจําหน่ายบริเวณปากคลองทําให้เกิดตลาดนํ้าขึ้นมา

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ตลาดน้ําบางน้ําผึ้งเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐกับชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากนายสําเนาว์ รัศมิทัต นายกองค์การบริหารส่วนตําบลบางน้ําผึ้ง ได้ทราบถึงปัญหาผลผลิตทางการเกษตรไม่มีที่จําหน่าย จึงได้ทําประชาคมชาวบ้านทีละหมู่บ้านจนครบทั้ง 11 หมู่บ้านในการจะเปิดตลาดน้ําบางน้ําผึ้ง เมื่อประชาคมกับชาวบ้านครบแล้ว ได้จํานวนประชาชนที่เข้าร่วมกลุ่มเพื่อจําหน่ายสินค้าได้ทั้งหมด 40 ราย จึงได้ประสานสํานักงาน พัฒนาชุมชนจังหวัด เพื่อประสานกลุ่มผลิตภัณฑ์โอท็อปมาจําหน่ายที่ตลาดน้ําบางน้ําผึ้ง และประสานไปยังองค์การบริหารส่วนตําบลอีก 5 ตําบล เพื่อประสานให้ประชาชนที่สนใจมาจําหน่าย สินค้าที่ตลาดน้ําบางน้ําผึ้ง ซึ่งรวบรวมผู้จําหน้ายสินค้าในเบื้องต้นรวมทั้งประชาชนในตําบลบาง น้ําผึ้งรวมทั้งสิ้น 80 ราย จึงได้เริ่มเปิดขายในวันเสาร์ที่ 27 และวันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2547 และเปิดเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2547 ในปัจจุบันจะเปิดดําเนินการในวันเสาร์ - อาทิตย์ ตั้งแต่ เวลาประมาณ 07.30 - 15.00 น. ชาวบ้านในตําบลบางน้ําผึ้ง และตําบลใกล้เคียงได้ จะนําเอาพืชผัก ผลไม้ ไม้ดอกไม้ประดับ ผลผลิตต่าง ๆ อาหารคาวหวานพื้นเมือง งานฝีมือต่าง ๆ ที่ผลิตเองมาจําหน่าย และผลิตภัณฑ์โอท็อปของจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นแนวคิดและนโยบาย หลักของผู้ร่วมดําเนินการที่จะเน้นการท่องเที่ยวแบบผสมผสานเชิงอนุรักษ์ และเป็นการสนองตอบแนวคิด ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในการยกระดับรายได้ของครัวเรือน



ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงการคมนาคม เส้นทางการคมนาคมจากทางน้ําเริ่มเปลี่ยนไปเป็นทางบกซึ่งมีความสําคัญและสะดวกกว่า จึงทําให้การสัญจรทางน้ําลดความสําคัญลงตามลําดับ วิถีชุมชนริมน้ําและตลาดน้ําเกิดการเปลี่ยนแปลง ต่อมาเกิดน้ําท่วมสาเหตุเกิดจากน้ําเหนือไหลบ่าและน้ําทะเลหนุน ทําให้น้ําท่วมพื้นที่เพาะปลูกของชาวบ้านเสียหายเป็นจํานวนมาก พื้นที่ส่วนใหญ่ปล่อยให้รกร้างว่างเปล่าและบางส่วน มีการขายให้นายทุนที่เข้ามากว้านซื้อ หน่วยราชการจึงยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือโดยการสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก ล้อมรอบชุมชนเกาะกระเพาะหมู ตามนโยบายปอดแหล่งสุดท้ายของคนกรุงเทพฯ ทําให้น้ําไม่ท่วมเหมือนเมื่อก่อนชาวบ้านบางส่วนจึงกลับมาประกอบอาชีพเพาะปลูกเหมือนเดิม พื้นที่รกร้างว่างเปล่าได้รับการฟื้นฟูให้กลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้ง และคงความอุดมสมบูรณ์ตามรูปแบบสวนเกษตรดั้งเดิม


ตลาดน้ำบางน้ำผึ้งนอกจากจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ส่งเสริมเศรษฐกิจภายในชุมชนแล้ว ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สามารถนำความรู้ ภูมิปัญญาไปบูรณาการกับการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่ว่าด้วยการจัดการศึกษาโดยกล่าวถึงแหล่งเรียนรู้ว่า “รัฐต้องส่งเสริมการดำเนินงานและจัดตั้งแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตทุกรูปแบบ ได้แก่ ห้องสมุดประชาชน พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ สวนสัตว์ สวนสาธารณะ สวนพฤกษศาสตร์ อุทยานวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีศูนย์กีฬาและนันทนาการ แหล่งข้อมูลและแหล่งการเรียนรู้อื่นอย่างพอเพียงและมีประสิทธิภาพ” ซึ่งสถาบันการศึกษาภายในชุมชนต่างใช้ตลาดน้ำบางน้ำผึ้งเป็นแหล่งเรียนรู้โดยบูรณาการกับเนื้อหาและกิจกรรมการเรียนการสอนในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ อาทิเช่น

  • กลุ่มสาระคณิตศาสตร์ ได้แก่ การคำนวณการบวก ลบ คูณ หารอัตราการซื้อขายสินค้า
  • กลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ ได้แก่ การศึกษาอาหารและสารอาหาร ระบบนิเวศน์
  • กลุ่มสาระภาษาไทย ได้แก่ การเขียนคำขวัญ จดหมายเชิญชวนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง
  • กลุ่มสาระภาษาต่างประเทศ ได้แก่ การฝึกการพูด การฟังภาษาต่างประเทศกับผู้มาเยือนเพื่อให้เกิดประสบการณ์ตรง
  • กลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม ได้แก่ ความเป็นมาของตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง บทบาทของตลาดน้ำบางน้ำผึ้งกับชุมชนในท้องถิ่น และชุมชนมอญพระประแดง
  • กลุ่มสาระศิลปะ ได้แก่ การวาดภาพวิถีชีวิตในตลาดน้ำ ดนตรีในวิถีชีวิตของชุมชนในพื้นที่บางกะเจ้า หรือการบูรณาการการจัดการแสดงภายในตลาดน้ำกับการเรียนการสอน
  • กลุ่มสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยี ได้แก่ การจำหน่ายสินค้า การใช้เทคโนโลยีในการสร้างผลิตภัณฑ์ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ หรือการประชาสัมพันธ์สินค้า
  • กลุ่มสาระสุขศึกษาและพลศึกษา ได้แก่ การอนามัย สุขลักษณะของตลาดน้ำ การขี่จักรยานและการพายเรือเพื่อสุขภาพ


ภายในชุมชนได้จัดกิจกรรมการพักแบบโฮมสเตย์ขึ้นมา เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้วิถีชีวิตริมคลองชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งผู้คนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายมอญ นอกเหนือจากนี้บริเวณใกล้ตลาดบางน้ําผึ้งมีวัด 2 บางน้ําผึ้งในที่อยู่ใกล้กับตลาดบางน้ําผึ้ง ซึ่งทางวัดให้อนุญาตผู้ที่มาท่องเที่ยวสามารถใช้บริการในการจอดรถ และให้ความร่วมมือร่วมกันเป็นอันดีในการที่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวตลาดน้ํานั้นได้มีโอกาสนมัสการและทําบุญภายในวัดบางน้ําผึ้ง ในอีกด้วยนอกเหนือจากนี้บริเวณใกล้เคียงยังมีวัดบางน้ําผึ้งนอกที่อยู่บริเวณท่าข้ามเรือ มายังตลาดน้ําบางน้ําผึ้ง ซึ่งเห็นชัดได้ว่านอกเหนือจากวัดดังกล่าวระหว่างทางได้มีวัดต่าง ๆ อีกมากมาย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กรชวัล น้ำใจดี. (2548). การสื่อสารในการจัดการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของชุมชนบางน้ำผึ้ง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ. วิทยานิพนธ์นิเทศศาสตรมหาบัณฑิต, สาขาวิชานิเทศศาสตรพัฒนาการ ภาควิชาการประชาสัมพันธ์, คณะนิเทศศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ชุมชนบางน้ำผึ้ง. (2564). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2566, จาก https://culturalenvi.onep.go.th/site/detail/3747.

ธนกฤต หิรัยสาย และสุภาภรณ์ สงค์ประชา. (2563). พลวัตชุมชนพื้นที่สีเขียว ของชุมชนบางน้ำผึ้ง จังหวัดสมุทรปราการ. วารสารสหศาสตร์, 20(2), 131-151.

ธันย์นิชา เลิศนรเศรษฐ์. (2551). แนวทางการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวจังหวัดสมุทรปราการ : ตลาดน้ำบางผึ้ง. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, สาขาวิชาการจัดการโรงแรมและการท่องเที่ยว, มหาวิทยาลัยนเรศวร.

พูนสิริ พึ่งโต. (2553). การมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง จังหวัดสมุทรปราการ. ปริญญานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต, สาขาวิชาการวางแผนและการจัดการท่องเที่ยวเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม, บัณฑิตวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

เมธิดา อาคมธน. (2561). อัตลักษณ์ของชาวมอญ หมู่บ้านมอญทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรบัณฑิต, ภาควิชามานุษยวิทยา, คณะโบราณคดี, มหาวิทยาลัยศิลปากร.

สุทธยา สมสุข. (2552). คุณภาพบริการกี่ท่องเที่ยวของตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง. วารสารวิชาการและวิจัย มทธ.พระนคร, 3(2), 188-196.