ชุมชนย่านตลาดการค้าบริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำแม่กลอง ตั้งแต่สถานีรถไฟแม่กลองต่อเนื่องถึงตลาดร่มหุบ วัดเพชรสมุทร ถนนเพชรสมุทรและถนนเกษมสุข ลักษณะส่วนใหญ่เป็นตึกแถว ในอดีตเรียกว่า “แขวงบางช้าง” ต่อมาสมัยกรุงธนบุรีได้แยกออกจากจังหวัดราชบุรีเรียกว่า "เมืองแม่กลอง"" และเปลี่ยนชื่อเป็นสมุทรสงคราม ปัจจุบันพัฒนาเป็นย่านพาณิชยกรรมและเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญทางราชการ ศาสนาและแหล่งการค้าที่สำคัญของจังหวัด
ที่มาของชื่อ “แม่กลอง” นั้นมีหลายข้อสันนิษฐาน ข้อสันนิษฐานแรกเป็นเรื่องเล่าสืบต่อกันมา ว่าด้วยเรื่อง “กลองใหญ่” กล่าวคือ มีกลองใบใหญ่ลอยน้ำมาติดอยู่ที่หน้าวัดใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม และชาวบ้านช่วยกันเก็บไว้ที่วัด ด้วยเหตุที่กลองใบนี้เป็นกลองที่มีขนาดใหญ่มาก จึงเรียกว่า “แม่กลอง” หรืออีกข้อสันนิษฐานว่า แม่กลอง แปลว่าทางใหญ่หรือทางหลัก อันหมายถึงเส้นทางคมนาคมทางน้ำ โดยมาจากคำว่า “แม่” และ “กลอง” ในตระกูลภาษามอญ-เขมร โดยคำว่า แม่ มาจาก “เม” แปลว่าเป็นใหญ่ ส่วนคำว่า กลอง แผลงมาจากคำในภาษามอญว่า “โคลง” แปลว่าหนทางหรือเส้นทางคมนาคม
ชุมชนย่านตลาดการค้าบริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำแม่กลอง ตั้งแต่สถานีรถไฟแม่กลองต่อเนื่องถึงตลาดร่มหุบ วัดเพชรสมุทร ถนนเพชรสมุทรและถนนเกษมสุข ลักษณะส่วนใหญ่เป็นตึกแถว ในอดีตเรียกว่า “แขวงบางช้าง” ต่อมาสมัยกรุงธนบุรีได้แยกออกจากจังหวัดราชบุรีเรียกว่า "เมืองแม่กลอง"" และเปลี่ยนชื่อเป็นสมุทรสงคราม ปัจจุบันพัฒนาเป็นย่านพาณิชยกรรมและเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญทางราชการ ศาสนาและแหล่งการค้าที่สำคัญของจังหวัด
แม่กลองเป็นชื่อลำน้ำเก่าแก่สายหนึ่งในสุวรรณภูมิ (South East Asia) ที่ปรากฏหลักแหล่งการตั้งถิ่นฐานของ คนสุวรรณภูมิที่มีความเก่าแก่ที่สุดในภาคกลาง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของลุ่มน้ำเจ้าพระยาบริเวณภาคกลางของประเทศไทย โดยมีต้นน้ำอยู่บนที่สูงในหุบเขาทางทิศตะวันตกที่กั้นเขตแดนประเทศไทยทางจังหวัดตากและจังหวัดกาญจนบุรี และประเทศพม่าแล้วไหลลงทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ผ่านบริเวณที่ราบลุ่มในจังหวัดราชบุรีและไหลออกสู่อ่าวไทยที่จังหวัดสมุทรสงคราม ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับธรณีวิทยาและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์บริเวณแม่น้ำแม่กลองในยุคแรก แม่กลองแบ่ง ลำน้ำได้เป็น 2 ช่วง คือ (1) ช่วงแรก ตั้งแต่ที่สูงบริเวณหุบเขาไหลวกออกสู่อ่าวไทยที่จังหวัดนครปฐม และ (2) ช่วงหลังเปลี่ยนทางเดินไหลตรงลงออกสู่อ่าวไทยที่จังหวัดสมุทรสงครามดังเช่นในปัจจุบัน ด้วยสาเหตุของความกว้างใหญ่ของทะเลอ่าวไทยเมื่อ 3,000 กว่าปีมาแล้ว บริเวณจังหวัดสมุทรสงคราม บางส่วนของจังหวัดราชบุรี จังหวัดนครปฐม ยังเป็นทะเล และบางส่วนเป็น ทะเลโคลนตม ในช่วงเวลาที่ผ่านมาหลายพันปีเกิดการทับถมของโคลนตมเกิดเป็นดินดอนอันเป็นที่ตั้งหลักแหล่งของชุมชนได้ ต่อมาชุมชนหมู่บ้านกระจายอยู่ทั่วไปในบริเวณหุบเขาและทุ่งราบ เนื่องจากน้ำทะเลลดลงกว่าเดิม ทะเลอ่าวไทยมีตะกอนทับถมหนาแน่นเป็นทะเลโคลนตมจนเกิดเป็นชุมชนในปัจจุบัน โดยมีลักษณะของโคลนตมที่ทับถมกันจน เป็นที่ดอนขึ้นทางปากน้ำแม่กลอง ทำให้มีดินที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยอาหารของพืชตามธรรมชาติที่มีดินเหมาะแก่การเพาะปลูก เรือกสวนไม้ดอกไม้ผล จึงมีผู้คนเริ่มย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานทำมาหากินกันมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเจ๊ก-จีนทางตอนใต้ของลุ่มน้ำ แยงซี (กวางตุ้ง-กวางสี) โดยนำเอาเทคโนโลยีการทำสวนยกร่องเข้ามาพัฒนาดัดแปลงพื้นที่ทั้งปากน้ำแม่กลองและปากน้ำ เจ้าพระยาเป็นเรือกสวนผลไม้ ด้วยเหตุที่มีการพัฒนาพื้นที่ดินเป็นเรือกสวนในช่วงเวลาเดียวกัน จึงได้ชื่อว่า “บางช้างสวนนอก บางกอกสวนใน”
เมืองแม่กลองตั้งอยู่ปลายน้ำแม่กลองหรือทางลุ่มน้ำแม่กลองตอนล่าง ซึ่งมีลำน้ำแม่กลองเป็นลำน้ำสายสำคัญ ทางด้านการสงครามและการคมนาคมค้าขาย ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ยังปรากฏการณ์เรียกชื่อทั้งสองอยู่คู่กันดังหลักฐานใน เอกสารประกาศพระราชกำหนดที่ดินให้ขาย ให้เช่าแก่คนนอกประเทศ และประกาศว่าด้วยการประพฤติต่อฝรั่งเศส อังกฤษ และ อเมริกัน ที่อยู่ในเมืองไทยเมื่อต้น พ.ศ. 2399 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีความว่า “เมืองสมุทรสงครามที่เรียกว่าแม่กลอง” นอกจากนี้ยังปรากฏชื่อ “เมืองแม่กลอง” ในแผนที่โบราณจากสมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา-ฉบับกรุงธนบุรี ที่แสดงตำแหน่งบ้านเมืองใหญ่น้อยใกล้ทะเลที่ตั้งอยู่รอบอ่าวไทย ทั้งชายฝั่งทะเลตะวันตกและตะวันออก มีรูปสำเภาและหมู่เกาะต่าง ๆ ทั้งใกล้และไกลตามความเข้าใจสมัยก่อน ซึ่งสะท้อนถึงการค้าทางทะเลตั้งแต่ยุคโบราณ หากเมื่อพิจารณาจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลองสมัยกรุงศรีอยุธยานับตั้งแต่รัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถหรือสมเด็จพระนารายณ์มีการพัฒนาก้าวหน้าขึ้นเป็นราชอาณาจักรสยาม จากหลักฐานลายลักษณ์อักษรคำว่า “สมุทรสงคราม” ในการเป็นเมืองหน้าด่านทางปากทะเล และมีความสำคัญด้านการค้าอันเป็นแหล่งอาหาร ตลอดจนเมืองสมุทรสงครามยังมีความสำคัญในด้านเศรษฐกิจสังคมและการเมืองในสมัยต่อไปเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงพัฒนาอยู่ตลอดเวลา และในช่วงกรุงธนบุรีเชื่อมต่อถึงสมัยต้นรัตนโกสินทร์ แม่น้ำแม่กลองจึงถือเป็นเส้นทาง ยุทธศาสตร์ที่กองทัพไทยใช้เดินทางเพื่อรับศึกพม่าอีกหลายครั้ง ต่อมาเมืองสมุทรสงครามมีฐานะเป็นเมืองเกษตรกรรมที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ตามหลักฐานการเสียภาษีอากรในบันทึกสมุดราชบุรี นอกจากนี้จังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรสาคร และเพชรบุรี ยังปรากฏชุมชนประมง และชุมชนทำนาเกลือในพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่อาศัยน้ำจากทะเลเป็นวัตถุดิบในการทำเกลือสมุทรจวบจนถึงปัจจุบัน ดังปรากฏในรูปถ่ายทางอากาศชุด Williams Hunt พ.ศ. 2486-2490
ลักษณะภูมิประเทศชุมชนแห่งนี้มีสภาพเป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำแม่กลองไหลผ่านกลางเขตเทศบาล โดยแม่น้ำแม่กลองเริ่มต้นจากจังหวัดกาญจนบุรี ผ่านจังหวัดราชบุรีและไหลลงสู่อ่าวไทยบริเวณปากอ่าวแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งบริเวณนี้มีสภาพเป็นพื้นที่ป่าชายเลน ที่มีความอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญ เนื่องจากมีการทำการประมงน้ำกร่อย ประมงชายฝั่งทะเล รวมทั้งการทำนาเกลือ และนากุ้ง บริเวณพื้นที่ชายฝั่งเป็นจำนวนมาก
ลักษณะภูมิอากาศพื้นที่ในชุมชนตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเล จึงได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้มีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ ส่งผลให้ฤดูหนาวอากาศไม่หนาวจัด ฤดูร้อนไม่ร้อนจัด โดยแบ่งออกเป็น 3 ฤดูกาล ดังนี้
- ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมไปจนถึงเดือนตุลาคม จะมีฝนตกหนักในเดือนกันยายน
- ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนมกราคม เนื่องจากอยู่ใกล้ทะเลจึงทำให้อากาศไม่หนาวจัด และจะมีช่วงระยะเวลาของฤดูหนาวเพียงช่วงระยะเวลาสั้น
- ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนเมษายน จะมีอุณหภูมิไม่สูงมากนัก และอากาศจะไม่ร้อนจัด จะมีอากาศชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา
ตลาดร่มหุบ
เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงโด่งดังอย่างมากในจังหวัดสมุทรสงคราม เนื่องจากมีความพิเศษกว่าตลาดอื่น ๆ ตรงที่ตลาดนั้น ตั้งอยู่บนทางรถไฟ พ่อค้า – แม่ค้าต่างก็ตั้งแผงขายของริมทางรถไฟ และเมื่อถึงเวลาที่รถไฟมานั้น พ่อค้า-แม่ค้าก็จะทำการเก็บสิ่งของต่าง ๆ ที่อยู่บนราง รวมถึงร่มเพื่อให้รถไฟสามารถผ่านไปได้ ซึ่งความพิเศษนี้แหละที่ทำให้ตลาดนี้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจและตื่นตาตื่นใจอย่างมากสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วโลก
ตลาดร่มหุบตั้งอยู่บนทางรถไฟสายแม่กลองจังหวัดสมุทรสงคราม โดยตลาดร่มหุบนั้นก่อกำเนิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2444 ซึ่งเดิมทีนั้น เป็นเพียงการตั้งตลาดอยู่พื้นที่ข้าง ๆ ทางรถไฟเท่านั้น จนเมื่อปี พ.ศ. 2527 ได้มีการปรับปรุงและขยายพื้นที่ในการขายในมาวางขายอยู่บนทางรถไฟ โดยมีจำนวนร้านค้าอยู่ประมาณ 250-300 ร้าน โดยตลาดร่มหุบนั้นเป็นตลาดเดียวในโลกที่มีการก่อตั้งอยู่บนทางรถไฟ จึงถูกจัดให้เป็นตลาดที่น่าหวาดเสียวที่สุดในโลก ซึ่งรถไฟนั้นจะวิ่งผ่านตลาดประมาณ 8 เที่ยวต่อวันในสมัยก่อนแต่ปัจจุบันได้มีการปรับและลดจำนวนเที่ยวลงเหลือประมาณ 4 เที่ยวต่อวัน โดยเวลาเฉลี่ยที่เราจะสามารถเดินทางไปและเจอกับช่วงที่ชาวบ้านหุบร่มนั้น จะมี 06.30 น. 08.30 น. 11.30 น. 15.30 น. ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวจะมีบางช่วงเวลาที่มีทั้งขบวนขาเข้าและขาออกที่เวลาไล่เลี่ยกัน ทำให้ตลาดร่มหุบจึงมีความคึกคักอยู่ตลอดทั้งวัน เพราะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่เดินทางมา เพราะต้องการที่จะมาเก็บบรรยากาศขณะที่รถไฟวิ่งผ่านตลาด
ในปัจจุบันนั้น ร่มที่พ่อค้า-แม่ค้าใช้งานนั้นจะเป็นในลักษณะของผ้าใบที่นำมาขึงเพื่อกันแดด แต่จากสมัยก่อนนั้น จะเป็นร่มที่ใช้งานจริง ๆ ทั้งร่มกอล์ฟ ร่มสนาม และยังมีร่มพับชนิดต่าง ๆ ของนักท่องเที่ยวที่มีเดินซื้อของ แต่เมื่อรถไฟมา ทั้งนักท่องเที่ยวและพ่อค้า – แม่ค้าต่างก็ต้องรีบหุบร่มเพื่อให้รถไฟผ่านไปได้ ตลาดนี้จึงได้ถูกเรียกว่าตลาดร่มหุบจนมาถึงปัจจุบัน
วัดเพชรสมุทรวรวิหาร
วัดเพชรสมุทรวรวิหารหรือวัดบ้านแหลมเป็นวัดที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดสมุทรสงคราม และเป็นวัดประจำจังหวัดสมุทรสงครามหรือวัดคู่บ้านคู่เมืองของชาวแม่กลอง
วัดเพชรสมุทรวรวิหารหรือวัดบ้านแหลมเดิมชื่อว่า "วัดศรีจำปา" ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าปราสาททองในปี พ.ศ. 2307 ซึ่งมีเรื่องเล่าหรือตำนานเกี่ยวกับการเกิดขึ้นของวัดเพชรสมุทรวรวิหารว่า "ชาวบ้านแหลมที่อยู่ในเขตเขตจังหวัดเพชรบุรี ได้อพยพหนีพม่าเข้ามาตั้งถิ่นฐานในตำบลแม่กลอง" และตั้งชื่อหมู่บ้านตามชื่อดั้งเดิมของถิ่นฐานที่เมืองเพชรบุรีว่า "บ้านแหลม" และเรียกชื่อวัดศรีจำปาเป็น "วัดบ้านแหลม" แทน
วัดบ้านแหลมได้รับการยกฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นวรวิหารเมื่อปี พ.ศ. 2489 และในปีเดียวกันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานนามใหม่ว่า "วัดเพชรสมุทรวรวิหาร"
วัดเพชรสมุทรวรวิหารมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถคือ "หลวงพ่อบ้านแหลม" เป็นพระพุทธรูปปางยืนอุ้มบาตร มีความสูงประมาณ 167 เซนติเมตร แต่บาตรหายสาบสูยไปก่อนที่ชาวบ้านจะได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถของวัดเพชรสมุทรวรวิหาร โดยตามตำนานเล่าว่าชาวบ้านที่อาศัยบริเวณวัดซึ่งทำอาชีพประมงได้ออกเรือไปลากอวนบริเวณปากอ่าวแม่กลองได้กู้อวนพบพระพุทธรูปติดอวนมาสององค์ องค์หนึ่งเป็นปางยืนอุ้มบาตรดังที่กล่าวมาข้างต้นคือ "หลวงพ่อบ้านแหลม" อีกองคืหนึ่งเป็นปางนั่งสมาธิประทับบนฐานบัวผ้าทิพย์ ซึ่งเป็นพระประฐานอยู่ในอุโบสถวัดเพชรสมุทราวรวิหาร พระพุทธรูปทั้งสององค์ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถวัดเพชรสมุทรวรวิหารตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน
ในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2444 การคมนาคมในชุมชนเมืองเก่าแม่กลองยังคงเป็นการคมนาคมทางน้ำโดยใช้เรือเป็นหลัก ซึ่งด้านหน้าบริเวณท่าวัดเพชรสมุทรวรวิหาร จะมีผู้คนนำสินค้ามาขายกันทางเรือ จนเกิดเป็นตลาดขึ้นมาทั้งบริเวณด้านหน้าท่าน้ำของวัดเพชรสมุทรวรวิหารและบริเวณด้านข้างของท่าเรือข้ามฟาก ซึ่งการจับจ่ายซื้อของทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมในชุมชนมีชีวิตชีวาควบคู่ไปกับการคมนาคมทางน้ำที่เป็นตัวกำหนดขอบเขตของตลาดในยุคอดีต
จนกระทั่งการคมนาคมหลักเริ่มเปลี่ยนแปลงเพราะการสร้างทางรถไฟและสถานีรถไฟสายแม่กลอง ต่อมาช่วงหลังปี พ.ศ. 2444 ผลจากการเปลี่ยนแปลงทางคมนาคมที่อำนวยความสะดวกสบายให้แก่ผู้คนมากขึ้น ทำให้พื้นที่บริเวณหน้าวัดเพชรสมุทรวรวิหารกลายเป็นย่านการค้าของชุมชน และทำให้ตลาดแม่กลอง หรือ "ตลาดหุบร่ม" นั้นดำเนินกิจการเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ทางรถไฟสายแม่กลองเริ่มก่อสร้างและดำเนินงานโดยบริษัทเอกชนชาวต่างประเทศ คือ บริษัทรถไฟท่าจีนทุน จำกัด และบริษัทท่าจีนเรวเวกัมปนีลิมิเต็ด ซึ่งได้ขอพระบรมราชานุญาตจากสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เพื่อก่อสร้างและดำเนินการเดินรถไฟสถานีบ้านแหลมถึงสถานีแม่กลอง ระยะทาง 33.8 กิโลเมตร เรียกทางเดินรถไฟสายนี้ว่า "ทางสายแม่กลอง" โดยได้รับสัมปทานเดินรถเป็นเวลา 40 ปี
ต่อมาในปี พ.ศ. 2450 บริษัทรถไฟท่าจีนทุน จำกัด และบริษัทรถไฟแม่กลองทุน จำกัดได้รับพระบรมราชานุญาตให้ควบรวมเป็นบริษัทเดียวกัน จึงเปลี่ยนใช้ชื่อบริษัทว่า "รถไฟแม่กลองทุนจำกัด" และดำเนินกิจการเดินรถเรื่อยมาจนหมดสัมปทานเป็นเวลา 40 ปี จนมาในปี พ.ศ. 2488 จึงได้ขายกิจการให้กับกรมรถไฟและดำเนินกิจการภายใต้ชื่อ "องค์กรรถไฟสายแม่กลอง" ต่อมาจึงได้เปลี่ยนสถานะเป็นสำนักรถไฟสายแม่กลองและเข้าร่วมการรถไฟแห่งประเทศไทยในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2498 ผลจากการสร้างเส้นทางรถไฟแม่กลองส่งผลให้เกิดชุมชนต่าง ๆ ที่เส้นทางรถไฟผ่าน เกิดตลาดในชุมชน เกิดศูนย์กลางทางธุรกิจ สถานีรถไฟแม่กลองจึงเป็นเสมือนจุดศูนย์กลางรวมความเจริญของจังหวัดสมุทรสงครามในอดีต
กองบรรณาธิการสิลปวัฒนธรรม. สมุทรสงคราม มาจากไหน? ค้นหลักฐานเมืองจากสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2566. จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_40313
เขตสินธุ์ สินทวิชัย. (2559). เสียงของตลาดแม่กลอง : การสังเกตพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมของตลาดไทยดั้งเดิมผ่านงานซาวน์สเคปคอมโพสิชั่น. วิทยานิพนธ์ดุริยางคศาสตรมหาบัณฑิต, สาขาวิชาสังคีตวิจัยและพัฒนา, บัณฑิตวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยศิลปากร.
ชนิธิกาญจน์ จีนใจตรง และกฤตรพร ห้าวเจริญ. (2563). ภูมิทัศน์วัฒนธรรมของชุมชนดั้งเดิมจังหวัดสมุทรสงคราม. วารสารวิชาการคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล., 31, 17-33.
ชุมชนบริเวณเมืองเก่าแม่กลอง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2566. จาก https://culturalenvi.onep.go.th/site/detail/3862
ประวัติความเป็นมาของตลาดร่มหุบ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2566. จาก https://umbrella-perfect.com/ประวัติความเป็นมาของตล/
รู้จัก “แม่น้ำแม่กลอง”. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2566. จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_19141
สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสมุทรสงคราม. วัดเพชรสมุทรวรวิหาร. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2566. จาก https://skm.onab.go.th/th/content/category/detail/id/110/iid/5585
สำนักงานพัฒนาชุชนอำเภอเมืองสมุทรสงคราม. (ม.ป.ป.). ประวัติความเป็นมา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2566. จาก https://district.cdd.go.th/muangsamut/about-us/ประวัติความเป็นมา/