Advance search

ชุมชนบ้านน้ำลี ชุมชนที่ยังคงความเชื่อในเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติ มีการประกอบพิธีกรรมการเลี้ยงผี เพราะเชื่อว่าคอยปกป้องดูแลคนในหมู่บ้านให้มีความสงบสุข ประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ที่บ้านน้ำลีที่ยังรักษาไว้ได้แก่ ประเพณีแห่กัณฑ์เทศน์ เทศน์มหาชาติ

หมู่ที่ 6
บ้านน้ำลี
น้ำหมัน
ท่าปลา
อุตรดิตถ์
อบต.น้ำหมัน โทร. 0-5584-9630
หทัยชนก จอมดิษ
9 ก.พ. 2023
หทัยชนก จอมดิษ
16 มี.ค. 2023
บ้านน้ำลี

ประวัติความเป็นมาบ้านน้ำลี ที่มาของคำว่า บ้านลี จากคำบอกเล่าของผู้อาวุโส เดิมที่หมู่บ้านว่าแต่เดิมเป็นป่าดงดิบเต็มไปด้วยไม้เบญจพรรณ และสัตว์ป่านานาชนิด มีภูเขาสลับซับซ้อนจำนวนมากและมีลำห้วยที่มีน้ำไหลตลอดปี มีสัตว์น้ำชุกชุม แหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ จึงตั้งชื่อว่า บ้านน้ำลี้ หมายถึง บ้านอยู่ในที่ลี้ลับ หลบลี้ และมีน้ำอุดมสมบูรณ์

จากคำบอกเล่าอีกแนวหนึ่งคือ คำว่า ลี้ น่าจะมาจากคำว่า หลบลี้ เพราะผู้ทำความผิดทางกฎหมาย หลบเข้ามาอยู่ในป่าแถวนี้ จากสาเหตุคำว่า บ้านลี้ ต่อมาเปลี่ยนชื่อมาเป็น บ้านน้ำลี จากคำบอกเล่าของ พ่อใหญ่ ผาย อารินทร์ และผู้ใหญ่ปัน อารินทร์ อดีตผู้ใหญ่บ้านน้ำลี ให้ข้อมูลไว้ว่า ก่อนบ้านน้ำลีจะแยกเป็นหมู่บ้านนั้นได้ขึ้นกับบ้านวังหัวดอย และมีนายจาก จัทร์สวัสดิ์ เป็นผู้ช่วยผู่ใหญ่บ้าน ได้ตกลงว่าควรจะเปลี่ยนชื่อจากบ้านลี้ มาเป็นบ้านลี โดยตัดไม้โทออก เพราะคำว่า ลี้ ความหมายไม่ดีมันหลบลี้ ไม่เหมาะสม ตั้งแต่นั้นมา นายจาก จันทร์สวัสดิ์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านก็ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกของบ้านน้ำลี 

อีกแนวทางหนึ่งกล่าวว่ที่มาของชื่อบ้าน น้ำรี มาจากหน่วยงานของทางราชการที่ได้เข้าไปพัฒนาชนบท ได้เข้าไปพัฒนาสร้างถนนเข้าหมู่บ้าน ได้เขียนชื่อหมู่บ้านแห่งนี้ว่า บ้านน้ำรี ซึ่งประชาชนในหมู่บ้านน้ำลีในขณะนั้นไม่ได้แย้ง จึงปล่อยเลยตามเลยรวมถึงชื่อสถานีอนามัยบ้านน้ำรี ทำให้เกิดชื่อซ้ำซ้อนกับอีกหมู่บ้านหนึ่งขึ้นมาเป็นสองชื่อในหมู่บ้านเดียวกันและจากหนังสือประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดอุตรดิตถ์ พ.ศ. 2529 ได้เขียนไว้ว่า น้ำรี เป็นชื่อหมู่บ้าน เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศในแถบนี้เป็นเขาสลับซับซ้อน และมีห้วยเล็ก ๆ ไหลผ่านการไหลของน้ำเกิดเสียงไพเราะ จึงตั้งชื่อหมูบ้านว่า น้ำรี ดังนั้น เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดชื่อวของหมู่บ้านควรใช้คำว่า น้ำลี ชื่อเดียวเพราะเป็นชื่อดั้งเดิมที่ประชานชนในหมู่บ้านในอดีตได้ตั้งขึ้นมา และมีความหมายดีกว่า น้ำรี


ชุมชนชนบท

ชุมชนบ้านน้ำลี ชุมชนที่ยังคงความเชื่อในเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติ มีการประกอบพิธีกรรมการเลี้ยงผี เพราะเชื่อว่าคอยปกป้องดูแลคนในหมู่บ้านให้มีความสงบสุข ประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ที่บ้านน้ำลีที่ยังรักษาไว้ได้แก่ ประเพณีแห่กัณฑ์เทศน์ เทศน์มหาชาติ

บ้านน้ำลี
หมู่ที่ 6
น้ำหมัน
ท่าปลา
อุตรดิตถ์
53150
17.87742
100.26580
องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำหมัน

ประชากรรุ่นแรกที่เข้ามาตั้งบ้านเรือนที่บ้านน้ำลี ครั้งแรกมี 3 ครอบครัว ได้แก่

ครอบครัวนายสด นางดา หอมคำ มีบุตร 1 คน ชื่อนายเหวา หอมคำ

ครอบครัวของนายนิล แขมน้อย มีลูกชาย 1 คน

ครอบครัวของนายอิน ในครอบครัวมีลูก 3 คน ชาย 1 คน หญิง 2 คน

ทั้งสามครอบครัวอพยพมาจาก อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ เริ่มก่อตั้งเมื่อประมาณ พ.ศ. 2470 ต่อมามีผู้อพยพมาจาก อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน บ้านน้ำหมัน อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ และจากที่อื่น ๆ ชุมชนจึงมีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น

หมู่บ้านน้ำลีเป็นหมู่บ้านที่อยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวน อำเภอท่าปลา ตำบลน้ำหมัน จังหวัดอุตรดิตถ์ ตั้งอยู่ทางเหนือสุดของอำเภอท่าปลาติดกับจังหวัดแพร่ เป็นพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ในด้านทรัพยากรป่าไม้ แหล่งน้ำ พืชและสัตว์ป่า สภาพแวดล้อมโดยทั่วไปเป็นภูเขาสูงและเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญของน้ำน่าน เนื่องจากบ้านน้ำลีตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนดูแลโดยเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ ป่าไม้รอบ ๆ หมู่บ้านจึงเป็นแหล่งอาหารที่ใหญ่ที่สุดของชาวบ้านลี มีพืชพักที่ตามฤดูกาล เช่น เห็ด หน่อไม้ ผักหวาน ผักคิ้ว ผักปลัง ดอกงิ้วแดง กล้วยไม้ นอกจากนี้ในเขตบ้านน้ำลียังมีแหล่งน้ำธรรมชาติ 2 แหล่งใหญ่ คือ ลำห้วยต่าง ๆ ที่ไหลรอบหมู่บ้านและยังมีต้นน้ำของเขื่อนสิริกิติ์

สภาพสังคมทั่วไปของชาวบ้านน้ำลีเป็นชุมชนที่มีวิถีชีวิตแบบชาวบ้าน มีการพึ่งพากันในลักษณะเครือญาติเนื่องจากมีการแต่งงานกันในกลุ่มมาตั้งแต่อดีต มีความร่วมมือในการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ เช่น เกี่ยวข้าว งานบุญ พิธีกรรมต่าง ๆ ลักษณะครอบครัวส่วนใหญ่เป็นครอบครัวเดี่ยว 

จากข้อมูลการสำรวจจำนวนประชากร พ.ศ. 2565 พบว่ามีจำนวนบ้าน 267 หลังคาเรือน รวมจำนวนประชากร 657 คน โดยแบ่งเป็นชาย 331 คน และหญิง 326 คน (สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง, 2565)

อาชีพหลักของชางบ้านน้ำลี คือการทำนาข้าวเหนียว มีการปลูกข้าวบ้างเล็กน้อยไว้สำหรับบริโภคในครัวเรือน ส่วนอาชีพรองลงมาของชาวบ้าน มีการปลูกถั่วเหลือง ข้าวโพด ทำสวนกล้วย กาแฟและหาของป่า เช่น หน่อไม้ ข่าป่า ดอกไม้กราด รายได้หลักมาจากการขายถั่วเหลืองและของป่า ส่วนชาวบ้านที่มีฐานะยากจนและไม่มีที่ดินทำกินการประกอบอาชีพหลักคือ รับจ้างทั่วไป เช่น ปลูกข้าว เกี่ยวข้าวและการขายของป่า

ชาวบ้านน้ำลีนับถือศาสนาพุทธและมีความเชื่อในเรื่องผี เจ้าป่าเจ้าเขา มีการประกอบพิธีกรรมการเลี้ยงผี เพราะเชื่อว่าหมู่บ้านนี้มีผีดี คอยปกป้องดูแลคนในหมู่บ้านให้มีความสงบสุข ประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ที่บ้านน้ำลีที่ยังรักษาไว้ได้แก่ ประเพณีแห่กัณฑ์เทศน์ เทศน์มหาชาติ ส่วนพิธีกรรมการเรียกขวัญ การต่อชะตาความเชื่อของชาวบ้านน้ำลีมีความคล้าย ๆ กับความเชื่อทั่วไปเหมือนประชาชนในตำบลน้ำหมัน ความเชื่อเรื่อง เข้าทรงสะเดาะเคราะห์ต่อชะตาเรียกขวัญ ที่คนในตำบลยึดถือปฏิบัติกันสืบมา คือ ขึ้นปีใหม่ เรียกขวัญ วัฒนธรรม ประเพณี ถวายเทียนจำนำพรรษา ผ้าอาบน้ำฝน ออกพรรษา ถวายผ้ากฐิน เทศน์มหาชาติ ก่อเจดีย์ทรายข้าวเปลือก การบวช การแต่งงาน การขึ้นบ้านใหม่ การสรงน้ำปู่ การส่งเคราะห์บ้าน แต่ละประเพณีจะทำตามวันเวลาที่กำหนดกันไว้ เมื่อถึงเวลาก็จะร่วมพิธีกัน เช่น การสรงน้ำปู่ ที่บ้านน้ำหมันหมู่ที่ 9 จะมีศาลซึ่งประชาชนในหมู่บ้านร่วมกันสร้างขึ้นคือ ศาลปู่พญาแก้ววงเมือง ในเทศกาลการเล่นสงกรานต์วันสุดท้าย รุ่งเช้าจะร่วมพิธีวางกระทงส่งเคราะห์บ้านโดยนำกระทงที่ทำด้วยกาบกล้วยแล้วปั้นรูปคน รูปสัตว์ในบ้านเท่าจำนวนจริงใส่ลงในกระทงของแต่ละหลังคาเรือนแล้วนำไปวางเรียงกันข้างทางหน้าศาล

พิธีสรงน้ำปู่ เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมานาน เป็นการแสดงความกตัญญู มีความเชื่อว่าปู่พญาแก้ววงเมือง เป็นผีบ้านผีเมืองที่ให้ความคุ้มครองคนในตำบลในหมู่บ้านไม่ให้มีภัยอันตรายมาเบียดเบียน เช่น โรคระบาด ภัยธรรมชาติ และทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ทุกคนในหมู่บ้านอยู่รมเย็นเป็นสุข นอกจากนี้ประเพณีสรงน้ำปู่เป็นการขอขมาและแสดงความกตัญญูแล้ว ยังทำให้เกิดความเป็นสิริมงคลมาแต่สิ่งที่ดีแก่ตนเองหมู่บ้านและชุมชน ประเพณีสรงน้ำปู่จะทำในช่วงวันที่ 18 เมษยนของทุกปี ในตอนบ่ายจะมีการก่อเจดีย์ทรายที่บริเวณหน้าศาล และเช้าวันที่ 19 เมษายน จะมีการวางกระทงส่งเคราะห์ หรือเรียกว่า พิธีปัดเคราะห์

ประเพณีแห่กัณฑ์เทศน์ เป็นประเพณีชาวบ้านจัดให้มีในวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปีชาวบ้านจะรวมกลุ่มแม่บ้าน เยาวชน ในหมู่บ้านจัดทำเครื่องกัณฑ์เทศน์ ซึ่งประกอบไปด้วยกิ่งไม้ และก้านเงิน ผงซักฟอก ยาสีฟัน ไม้ขีด หนังสือ เป็นต้น จัดตกแต่งด้วยกระดาษสี เมื่อถึงเวลาก็นำไปแห่รอบหมู่บ้าน มีงานครื้นเครงและนำไปวัด ในวันเทศน์มหาชาติ 13 กัณฑ์

ความเชื่อ

ชาวบ้านน้ำลีมีความเชื่อในเรื่องผีต่าง ๆ เช่น ผีเจ้าปู่หลวง ซึ่งเป็นผีที่คอยคุ้มครองคนในหมู่บ้านให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข ในวันสงรานต์ของทุกปีชาวบ้านจะทำพิธีเลี้ยงผีที่ศาลเจ้าปู่หลวงเพื่อแสดงความกตัญญู โดยจัดให้มีถวายอาหารประเภทต่าง ๆ ที่ทำมาจาก หมู ไก่ ตะกวด เต่า เหล้า หมากพลู

ผีครู เป็นผีที่ชาวบ้านผู้มีคาถาอาคมให้ความเคารพและสถิตย์อยู่ในบ้าน ผีครูจะให้ความคุ้มครองเจ้าของบ้านและคนในครอบครัวให้มีแต่โชค ผีครูเป็นการถ่ายทอดวิชาคาอาคมจากรุ่นสู่รุ่นโดยเฉพาะผู้ชายที่จะมีการถ่ายทอดวิชาอาคม เมื่อได้รับการถ่ายทอดแล้วก็จะต้องทำพิธีอัญเชิญผีครูเข้าไปในบ้าน ในวันสงกรานต์ก็จะทำพิธีเลี้ยงผีโดยเซ่นไหว้ด้วยเหล้า และหมากพลู

ผีปู่ย่า ซึ่งเป็นผีบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ชาวบ้านเชื่อว่าวิญญาณยังวงเวียนอยู่ ถ้าลูกหลานไม่เคารพหรือเลี้ยงดู ก็จะทำให้ลูกหลานเจ็บป่วย รักษาไม่หาย ชาวบ้านจะขอขมาด้วยการเลี้ยงอาหาร สำหรับภูติผีปีศาจและสิ่งเร้นลับ ชาวบ้านก็ยังมีความเชื่อในผีกะ ผีพง ผีนางไม้ ผีโป่ง ผีป่า ชาวบ้านจะไม่ออกไปไหนเวลากลางคืนและไม่กล่าวลบหลู่ดูหมิ่นผู้ที่เป็นผีกะหรือผีพง รวมทั้งมีเครื่องรางของขลังทำมาจากหนังหมีแห้งติดดไว้ที่ประตูบ้านเพื่อป้องกันผีอีกด้วย

ความเชื่อเรื่องการสืบชะตา เป็นพิธีกรรมที่สำหรับคนแก่คนเจ็บป่วย เพื่อให้หายและมีอายุยืนยาวต่อไป พิธีการสืบชะตา เป็นพิธีกรรมที่สำหรับคนแก่ คนเจ็บป่วย เพื่อให้หาย มีพิธีการทำขวัญ เรียกขวัญ ซึ่งจะทำพิธีกับเด็กแรกเกิด และผู้ป่วย รักษาไม่หาย หมอขวัญจะทำพิธีเรียกขวัญเพื่อให้มาอยู่กับผู้ป่วยไม่ให้ขวัญนั้นร่อนเร่ไปไหนอีก

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ธีร์กัญญา อินทอง. (2546). องค์ความรู้ท้องถิ่นตำบลน้ำหมัน อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์. วิทยานิพนธ์ปริญญาครุศาตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์.

หทัยรัตน์ เสียงดัง. (2542). อาหารป่า วิถีการบริโภคที่สอดคล้องกับธรรมชาติ : การศึกษาเฉพาะกรณีหมู่บ้านน้ำรี ตำบลน้ำหมัน อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์. สารนิพนธ์สำนักบัณฑิตอาสา,  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

 สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง. (2565). สถิติจำนวนประชากร ปี พ.ศ. 2565. ค้นจาก https://stat.bora.dopa.go.th/new_stat/webPage/statByYear.php

อบต.น้ำหมัน โทร. 0-5584-9630