
5 ไหไทยทรงดำ เลิศล้ำผ้าทอ โอ้ละหนอรำแคน ดินแดนความพอเพียง
มีการเล่าสืบต่อกันมาว่า บ้านหัวเขาจีนในอดีตมีทะเลล้อมรอบ และได้มีพ่อค้าชาวจีนนำเรือสำเภามาซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าบริเวณนี้ แต่ได้เกิดอุบัติเหตุเรือสำเภาแตก หัวเรือมาติดอยู่กับภูเขา จึงเรียกว่า “หัวเขาจีน” ต่อมาจึงใช้เป็นชื่อเรียกหมู่บ้านว่า “บ้านหัวเขาจีน” มาจนถึงปัจจุบัน
5 ไหไทยทรงดำ เลิศล้ำผ้าทอ โอ้ละหนอรำแคน ดินแดนความพอเพียง
ชุมชนบ้านหัวเขาจีน ตำบลห้วยยางโทน เดิมขึ้นอยู่กับตำบลวังมะนาว ซึ่งในขณะนั้นแบ่งการปกครองออกเป็น 11 หมู่บ้าน ต่อมาได้มีการแบ่งแยกพื้นที่เป็นตำบลห้วยยางโทน เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2526 โดยแบ่งพื้นที่จากตำบลวังมะนาวออกมา จำนวน 4 หมู่บ้าน และแบ่งพื้นที่ให้เป็น 5 หมู่บ้าน โดยเลือกชื่อวัดห้วยยางโทนซึ่งเป็นศูนย์กลางของตำบล และเป็นแหล่งที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ ของประชาชน
คำว่าห้วยยางโทนนั้นได้ชื่อตามลำห้วยสำคัญในตำบล ซึ่งเป็นลำห้วยที่มีต้นยางขนาดใหญ่ขึ้นอยู่ริมห้วย จึงตั้งชื่อตำบลว่า “ตำบลห้วยยางโทน” ต่อมาได้เปลี่ยนฐานะจากสภาตำบลห้วยยางโทน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ลงนามในประกาศจัดตั้งสภาตำบล จำนวน 3,637 แห่ง เป็นองค์การบริหารส่วนตำบลเมื่อปี พ.ศ. 2540 ซึ่งประกาศดังกล่าวลงในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่มที่ 113 ตอนพิเศษ 52ง ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2539 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2540 เป็นต้นมา มีสถานะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลขนาดเล็ก และปรับขนาดขึ้นเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลขนาดกลาง เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2551 (สุธาวี กลิ่นอุบล, 2562: 40)
บ้านหัวเขาจีน เป็นนามเรียกขานถิ่นที่อยู่อาศัยของชนชาติพันธุ์หนึ่ง เรียกว่า “ไทยทรงดำ” ได้อพยพย้ายถิ่นฐานมาจากดินแดนที่ห่างไกลได้ตั้งหลักปักฐาน ณ บริเวณใกล้ภูเขา ต่อมาได้เกิดโรคฝีดาษระบาดทำให้ผู้คนล้มป่วยและเสียชีวิตจำนวนมาก แต่มีผู้นำ 3 ท่านก็ยังยืนยันที่จะอาศัยอยู่ในดินแดนนี้ต่อ คือ ปู่สอง กลิ่นสุคนธ์ ปู่ว่อง มหาพล และปู่แสน กุมกร และได้ตั้งชื่อ ชุมชนนี้ว่า “บ้านหัวเขาจีน” ได้มีการเล่าสืบต่อกันมาว่า บ้านหัวเขาจีนในอดีตมีทะเลล้อมรอบ และได้มีพ่อค้าชาวจีนนำเรือสำเภามาซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าบริเวณนี้ แต่ได้เกิดอุบัติเหตุเรือสำเภาแตก หัวเรือมาติดอยู่กับภูเขา จึงเรียกว่า “หัวเขาจีน” ต่อมาจึงใช้เป็นชื่อเรียกหมู่บ้านว่า “บ้านหัวเขาจีน” มาจนถึงปัจจุบัน (องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยยางโทน, 2555: 7) ปัจจุบันมีนาย สันติ กลิ่นสุคนธ์ เป็นกำนันตำบลห้วยยางโทน และดูแลหมู่ที่ 1 บ้านหัวเขาจีน
ชุมชนบ้านหัวเขาจีนเป็นหมู่บ้าน 1 ใน 5 ขององค์การบริหารส่วนตำบลห้วยยางโทน อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี อยู่ห่างจากอำเภอปากท่อ ประมาณ 18 กิโลเมตร และมีอาณาเขตติดต่อกับตำบลต่าง ๆ (จิราภรณ์ แก้วมณี, 2557: 56) ดังนี้
- ทิศเหนือ จดหมู่ที่ 2, 5 ตำบลดอนทราย อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี
- ทิศใต้ จดบ้านเนินรัก หมู่ที่ 5 ตำบลหนองชุมพลเหนือ อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี
- ทิศตะวันออก จดบ้านมณีลอย หมู่ที่ 7 ตำบลวังมะนาว อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี
- ทิศตะวันตก จดบ้านหนองลังกา หมู่ที่ 3 ตำบลห้วยยางโทน อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี
ชุมชนบ้านหัวเขาจีน ตำบลห้วยยางโทน มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ ลาดเอียงจากทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออก พื้นที่ใช้ในการเกษตรเป็นดินเหนียว ในฤดูแล้งอากาศร้อนจัด แหล่งน้ำ ธรรมชาติในพื้นที่ตำบลห้วยยางโทนมีไม่มากนัก และตื้นเขินในช่วงฤดูแล้ง มีน้ำในช่วงฤดูฝน ส่วนใหญ่แหล่งน้ำสำคัญในตำบลเป็นแหล่งน้ำที่สร้างขึ้น เช่น สระน้ำสาธารณะ บ่อน้ำตื้น บ่อน้ำบาดาล ฝายน้ำล้น อ่างเก็บน้ำ ฯลฯ ทำให้ประสบปัญหาน้ำไม่เพียงพอสำหรับใช้ในการเกษตร ประชาชนใช้น้ำบาดาล อุปโภคบริโภคจากประปาหมู่บ้าน ในฤดูฝนมีฝนตกมาก ในบางพื้นที่อาจ เกิดน้ำท่วมขังในระยะสั้น ๆ (สุธาวี กลิ่นอุบล, 2562: 41)
การคมนาคม มีเส้นทางหลักและรองอำนวยความสะดวกเรื่องการติดต่อกับสถานที่ต่าง ๆ ได้แก่
- ทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 3206 สายปากท่อ – ห้วยยางโทน – ยางหัก ซึ่งเป็นถนน ที่เชื่อมการคมนาคมระหว่างอำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ซึ่งผ่านตำบลดอนทราย ตำบลห้วยยางโทน และตำบลยางหัก เพื่อเชื่อมต่อกับบ้านโป่งกระทิงบน ตำบลบ้านบึง อำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี โดยตัดผ่านพื้นที่ของตำบลห้วยยางโทนในหมู่ที่ 2, 3 และ 5
- ถนนลาดยางแอสฟัสท์ติกคอนกรีต สายวัดสว่างอารมณ์ – หนองลังกา ซึ่งผ่านบริเวณหมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 2 โดยเชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข 3206 (สายปากท่อ – ห้วยยางโทน – ยางหัก)
- ถนนลาดยางแอสฟัสท์ติกคอนกรีต สายห้วยยางโทน – หนองวัวดำ ตัดผ่านพื้นที่หมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 4
การไฟฟ้า มีไฟฟ้าใช้ครบทุกหลังคาเรือน
แหล่งน้ำมีทั้งสระน้ำสาธารณะ บ่อน้ำตื้น บ่อน้ำบาดาล ฝายน้ำล้น อ่างเก็บน้ำ และฝายน้ำ ครบบริบูรณ์ นอกจากนี้ ยังมีโรงเรียนบ้านหัวเขาจีน ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก สังกัดสำนักงาน คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีวัดคีรีวงค์ และสถานีอนามัย 1 แห่ง (สุธาวี กลิ่นอุบล, 2562: 40)
ข้อมูลจากองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยยางโทน (2566?) ระบุว่า บ้านหัวเขาจีน มีจำนวนประชากร 640 คน จำนวนครัวเรือน 195 ครัวเรือน โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทยทรงดำหรือไทดำ
ไทดำกลุ่ม/องค์กรในชุมชน (จิราภรณ์ แก้วมณี, 2557: 57) ได้แก่
- กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านหัวเขาจีน
- กลุ่มอาชีพสตรีทอผ้าไทยทรงดำบ้านหัวเขาจีน
- กลุ่มเกษตร
- กลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์
- กลุ่มกองทุนแม่ของแผ่นดิน
- กองทุนหมู่บ้านหัวเขาจีน
- กิจกรรมพัฒนาสตรี
- อาสาสมัครสาธารณสุขมูลฐาน
เครือข่ายทางสังคม กลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้าทอบ้านหัวเขาจีนเป็นกลุ่มที่มีการทำงานอย่างจริงจัง มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นรูปธรรมมากมายหลายประเภท จึงเป็นที่สนใจและเป็นตัวอย่างของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับกลุ่มคนอื่น ๆ จากภายนอกเป็นจำนวนมากที่ได้มาศึกษาดูงาน ฉะนั้นจึงมีลักษณะที่ให้บริการแก่สังคม ภายนอกมากกว่าที่จะออกไปแสวงหาปัจจัยต่าง ๆ แต่ทั้งนี้ก็เป็นลักษณะสังคมแห่งการแบ่งปันช่วยเหลือเกื้อกูลกันโดยเฉพาะกลุ่มผ้าทอชาวไทยทรงดำด้วยกันจากต่างจังหวัดก็จะมาเอาสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์ผ้าทอประเภทต่าง ๆ เอาไปขายต่ออีกทางหนึ่ง (สุธาวี กลิ่นอุบล, 2562: 44)
ประชากรในชุมชนบ้านหัวเขาจีนมีการประกอบอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัว โดยข้อมูลจากองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยยางโทน (2566?) ระบุ ไว้ดังนี้
- อาชีพเกษตรกรรม ได้แก่ การทำนา ไร่ผัก สวนยางพารา ปาล์มน้ำมัน
- อาชีพเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ สุกร ไก่ เป็ด โค กระบือ
- อาชีพหัตถกรรมในครัวเรือน ได้แก่ ทอผ้า
- อาชีพค้าขาย ได้แก่ ร้านค้าขาย ของชำ ร้านขายอาหาร ค้าขายผัก ผลไม้
- อาชีพรับจ้างทั่วไป
ชุมชนบ้านหัวเขาจีน (เป็นสังคมของชาวไทยทรงดํา สังคมที่อาศัยธรรมชาติมี วิถีชีวิตที่เรียบง่ายสอดคล้องกบธรรมชาติ มีการถ่ายทอดวัฒนธรรมสืบต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน และวัฒนธรรม ที่สืบทอดกันมานั้นปัจจุบันยังคงมีผลต่อการดําเนินชีวิตของชาวไทยทรงดํา บ้านหัวเขาจีนอยางมิจางหาย ความเชื่อประเพณีและพิธีกรรมของชาวไทยทรงดําส่วนใหญ่จะมีความผูกพันอยู่กับความเชื่อในเรื่องผีบรรพบุรุษและขวัญเป็นอันมาก เนื่องจากเชื่อว่าผีนั้นเป็นเทวดา เป็นบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วของครอบครัวกลับมาให้ความคุ้มครองปกป้องรักษาลูกหลาน ด้วยเหตุความเชื่อในเรื่องผีเหล่านั้นเองจึงได้เกิดเป็นประเพณีต่าง ๆ และการยึดถือปฏิบัติสืบทอดต่อกันเรื่อยมา ในสังคมไทยทรงดําบ้านหัวเขาจีนนั้น แต่ละครอบครัวจะมีการบูชาผีบรรพบุรุษเพื่อแสดงความกตัญญูกตเวที ขณะเดียวกันก็ขอพรให้ผีบรรพบุรุษช่วยคุ้มครองป้องกันสมาชิกทุกคนด้วย (ภัททิยา ยิมเรวัตร, 2544: 40)
พิธีเสนเรือน คือพิธีเซ่นไหว้ผีเรือนของชาวไทยทรงดํา ผีเรือนคือผีบรรพบุรุษ ที่ได้เชิญมาไว้บนเรือนและจะจัดให้อยู่ ณ มุมห้องห้องหนึ่งโดยเฉพาะที่ทางบ้าน ซึ่งถือว่าเป็นกลาโหมในบ้าน (ถนอม คงยิ้มละมัย, 2542: 313) พิธีเสนเรือนเป็นประเพณีที่ผู้คนในชุมชนบ้านหัวเขาจีนรู้จักกันเป็นอย่างดีมากกว่าพิธีกรรมและประเพณีอื่น ๆ เพราะการทําพิธีเสนเรือน บุคคลในครอบครัวเชื่อว่าครอบครัวจะอยู่เย็นเป็นสุข เจริญก้าวหน้า ทํามาค้าขึ้น หรือบางคนเชื่อว่าการจัดทําพิธีเสนเรือนเพื่อให้ตนเองหายเจ็บป่วย โดยทําการบนบานไว้กับผีเรือนเมื่อตนเองหายเจ็บป่วยก็ทําการพิธีเสนเรือน (สุธาวี กลิ่นอุบล, 2562: 58-59)
อาหารประจำถิ่นที่สำคัญ เช่น แกงโฮเฮ ควายลุย แกงผำ ผักจุ๊บ แกงหน่อส้ม เป็นต้น
ผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าและผ้าไทยทรงดำ และศูนย์ทอผ้าไทยทรงดำบ้านหัวเขาจีน
ศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมไทยทรงดำ (ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ บ้านหัวเขาจีน)
ชุมชนบ้านหัวเขาจีน ได้ร่วมกันจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำบ้านหัวเขาจีน (เฮือนลาว) ขึ้นไว้ เพื่อเป็นศูนย์ถ่ายทอดความรู้วิถีชีวิตทางวัฒนธรรมของชุมชนที่เรียกว่า “ไทยทรงดำ” และใช้เป็นศูนย์ทอผ้าไทยทรงดำของกลุ่มสตรีอาสาพัฒนา ซึ่งสามารถเป็นแหล่งเรียนรูทางภูมิปัญญาท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี โดยมีการต้อนรับคณะศึกษาดูงานจากที่ต่าง ๆ ด้วยวิถีทางวัฒนธรรมท้องถิ่น และการแสดงทางวัฒนธรรมไทยทรงดำ เช่น สาธิตการทอผ้า การแสดงอิ้นกอน ฟ้อนแคน การสาธิต พิธีกรรมต่าง ๆ เป็นต้น (จิราภรณ์ แก้วมณี, 2557: 57)
ศูนย์การเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียงชุมชนบ้านหัวเขาจีนดำเนินงานฐานการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง 5 ฐานการเรียนรู้ (จิราภรณ์ แก้วมณี, 2557: 58) ดังนี้ (1) คุ้ม 5 ไหกับอาหารพื้นถิ่น (2) คุ้มจักสานกับการสืบสานภูมิปัญญา (3) คุ้มก่อร่างสร้างใยไหมทอผ้า (4) คุ้มเส้นใยถักทอก่อสร้างทางฝันสัมพันธ์วัฒนธรรมอันดีงาม (5) คุ้มครัวเรือนเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ
กิจกรรมที่ชุมชนร่วมกันดําเนินการในด้านการป้องกันปราบปรามยาเสพติดและอบายมุข ได้แก่ จัดเวรยามเฝ้าระวังการแพร่ระบาด ส่งเสริมสนับสนุนให้เยาวชนเล่นกีฬา วางกฎระเบียบของหมู่บ้าน แบ่งคุ้มหมู่บ้านเป็นจํานวน 6 คุ้มบ้าน โครงการหมู่บ้านปลอดยาเสพติด ได้รับกองทุนแม่ของแผ่นดิน สนับสนุนการจัดระเบียบสังคม จัดตั้งชุดรักษาความปลอดภัยในหมู่บ้าน (จิราภรณ์ แก้วมณี, 2557: 57)
ภาษาไทยกลาง, ภาษาไทดำ (ไทยทรงดำ)
รางวัลการพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชน ได้แก่ รางวัลหมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง อยู่เย็น เป็นสุข, รางวัลชนะเลิศการประกวดหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง, โล่รางวัลประกาศเกียรติคุณ เราไม่ถอยอีกแล้ว, โล่รางวัลประกาศเกียรติคุณ หมู่บ้าน ชุมชนเข้มแข็ง, รางวัลการทำพุ่มมาลาจากผ้าไหมแห่งเดียวในประเทศไทย และรางวัลชนะเลิศการประกวดส้มตำลีลา (สุธาวี กลิ่นอุบล, 2562: 58)
จิราภรณ์ แก้วมณี. (2557). "การจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงชุมชนบ้านหัวเขาจีน อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี" วิทยานิพนธ์ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต. มหาวิทยาลัยศิลปากร.
ถนอม คงยิ้มละมัย. (2537). “อําเภอเขาย้อย” เอกสารประกอบการสอนวิชา ส071 ท้องถิ่นของเรา 1 หมวดสังคมศึกษา โรงเรียนเขาย้อยวิทยา อําเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี.
ภัททิยา ยิมเรวัต. (2544). ประวัติศาสตร์สิบสองจุไท. กรุงเทพฯ: สํานักพิมพ์สร้างสรรค์.
สุธาวี กลิ่นอุบล. (2562). "การศึกษาการมีส่วนร่วมของชุมชนต่อความสำเร็จในการพัฒนาชุมชนตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง บ้านหัวเขาจีน ตำบลห้วยยางโทน อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี" วิทยานิพนธ์ปริญญาศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาพัฒนศึกษา) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร.
องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยยางโทน. (2555). ข้อมูลชุมชนบ้านหัวเขาจีน หมู่ที่ 1 ตำบลห้วยยางโทน. ราชบุรี: อัดสำเนา.
องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยยางโทน. (2566?.) "ข้อมูลสภาพทั่วไป" องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยยางโทน. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 30 ธันวาคม 2566. เข้าถึงจาก http://huaiyangton.go.th/public/list/data/index/menu/1144