Advance search

มีหาดวอนนภาเป็นจุดเด่นตรงที่อยู่ถัดไปจากหาดบางแสนมีบรรยากาศที่เงียบสงบ มีน้ำทะเลที่ใสและลึกประมาณ 1 เมตร สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ทางทะเลได้ ในช่วงท้ายหาดจะมีลักษณะเป็นก้อนหินกั้นเป็นแนวยาวเป็นทาง มีสะพานปลาวอนนภาอยู่สุดปลายหาดซึ่งเป็นแหล่งทำมาหากินของชาวประมง ทุก ๆ วันจะมีเรือนำปลาที่หาได้จากทะเลมาขึ้นที่สะพานปลาแห่งนี้และสามารถซื้อกับชาวบ้านในราคาที่ถูกได้

ถนนบางแสนสาย 1
แสนสุข
เมืองชลบุรี
ชลบุรี
เทศบาลเมืองแสนสุข โทร. 0-3819-3500-2
ธนวิชญ์ ใจดี
22 ก.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
30 ก.ค. 2023
ณัฐวุฒิ บัวคลี่
22 ก.ค. 2023
หาดวอนนภาศัพท์

เดิมทีชุมชนหาดวอนนภามีชื่อเรียกว่า "บ้านเพิงล่าง" เป็นชุมชนประมงที่เงียบสงบ สมัยก่อนบริเวณชายทะเลเคยเป็นป่าแสมมาก่อน ต่อมาก่อนปี พ.ศ.2490 มีเศรษฐีชาวกรุงเทพที่มีชื่อว่า "คุณนายวอน นภาศัพท์" มาซื้อที่ดินที่บ้านเพิงล่างเป็นจำนวนมาก เพื่อที่จะตั้งใจสร้างเป็นสถานที่พักตากอากาศ ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาให้บางแสนเป็นสถานที่พักตากอากาศ และการสร้างถนนสุขุมวิทที่เชื่อมภาคตะวันออกในสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ทำให้จากบ้านเพิงล่างได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น "หาดวอนภาศัพท์" ตามชื่อของคุณนายคนนี้


มีหาดวอนนภาเป็นจุดเด่นตรงที่อยู่ถัดไปจากหาดบางแสนมีบรรยากาศที่เงียบสงบ มีน้ำทะเลที่ใสและลึกประมาณ 1 เมตร สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ทางทะเลได้ ในช่วงท้ายหาดจะมีลักษณะเป็นก้อนหินกั้นเป็นแนวยาวเป็นทาง มีสะพานปลาวอนนภาอยู่สุดปลายหาดซึ่งเป็นแหล่งทำมาหากินของชาวประมง ทุก ๆ วันจะมีเรือนำปลาที่หาได้จากทะเลมาขึ้นที่สะพานปลาแห่งนี้และสามารถซื้อกับชาวบ้านในราคาที่ถูกได้

ถนนบางแสนสาย 1
แสนสุข
เมืองชลบุรี
ชลบุรี
20130
13.2720140
100.9231140
เทศบาลเมืองแสนสุข

เดิมทีชุมชนหาดวอนนภามีชื่อเรียกว่า "บ้านเพิงล่าง" เป็นชุมชนประมงดั้งเดิมที่เงียบสงบ มีทั้งคนพื้นถิ่นและคนเชื้อสายจีนอาศัยอยู่ไม่กี่ครอบครับ อยู่ในบ้านที่มีลักษณะเป็นบ้านเล็กๆ หลังคามุงจาก ดพเนินชีวิตด้วยการออกทะเลหาปลาด้วยเรือลำเล็กๆ กับเครื่องมือที่ทำง่ายๆ ต่อมาเมื่อมีรายได้มากขึ้นก็มีเรือยนต์ขนาดกลางหรือใหญ่และเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นสำหรับการจับปลา แล้วนำไปขายที่สะพานปลาทั้งที่แหลมแท่น สามมุข อ่างศิลา และศรีราชา 

สมัยก่อนบริเวณชายทะเลของชุมชนนี้เคยเป็นป่าแสมมาก่อน ช่วงก่อนปี พ.ศ. 2486 ชุมชนต่างๆ ในแสนสุขยังไม่เป็นที่รู้จักของคนภายนอก ยกเว้น ชุมชนเขาสามมุข จนกระทั่งก่อนปี พ.ศ. 2490 มีเศรษฐีชาวกรุงเทพที่มีชื่อว่า "คุณนายวอน นภาศัพท์" มาซื้อที่ดินที่บ้านเพิงล่างเป็นจำนวนมาก เพื่อที่จะตั้งใจสร้างเป็นสถานที่พักตากอากาศ และบริจาคที่ดินนั้นสร้างโรงเรียนให้กับชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาให้บางแสนและเขาสามมุขให้เป็นสถานที่พักตากอากาศ บ้านรับรองบุคคลสำคัญหรืออาคันตุกะจากต่างประเทศ และการสร้างถนนสุขุมวิทที่เชื่อมภาคตะวันออกในสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประมาณปี พ.ศ. 2486-2488 ทำให้บ้านเพิงล่างได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น "หอนวอนภาศัพท์" เพื่อเป็นเกียรติแก่คุณนายวอน นภาศัพท์ รวมถึงตั้งชื่อโรงเรียนนั้นว่า "โรงเรียนวอนนภาศัพท์"

หลังยุคสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เขาสามมุขก็ไม่คึกคักเท่าเมื่อก่อน ต่อมาในปี พ.ศ. 2503 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้สร้างบ้านรับรองใหม่ที่แหลมแท่น บ้านรับรองที่เขาสามมุขจึงถูกละเลยและทรุดโทรมลงตามลำดับ นั้นหมายถึงว่าชุมชนหาดวอนจะเงียบเหงาลงไปด้วย

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2536 เทศบาลตำบลแสนสุขได้จัดทางโครงการนำร่องในการพัฒนาเขาสามมุขให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ เริ่มต้นการพัฒนาพื้นที่ด้านตะวันออกของเขาสามมุขช่วงต่อจากศาลเจ้าแม่สามมุขจีนไปทางใต้ แล้วพัฒนาเชื่อมต่อจากรอบเขาสามมุขไปยังแหลมแท่น ชายทะเลบางแสนตลอดแนว และถนนอ่างศิลา พร้อมกับปรับปรุงพื้นที่ริมทะเลแหลมแท่น ปรับปรุงภูมิทัศน์แหลมแท่น เขาสามมุข ชายหาดบางแสน เพื่อให้ประชาชนมีทั้งสถานที่พักผ่อนชมทัศนียภาพ

ต่อมาปี พ.ศ. 2556  ได้มีการแยกพื้นที่ชุมชนหาดวอนนภาออกเป็น 2 ส่วน คือ “ชุมชนหาดวอนล่าง” และ “ชุมชนหาดวอนบน” และในอีก 1 ปีต่อมา ค่อยมีการรวมพื้นที่ชุมชนหาดวอนบนและชุมชนหาดวอนล่าง รวมเป็น “ชุมชนหาดวอนนภา” จนถึงปัจจุบัน

ชุมชนหาดวอนนภามีพื้นที่ทั้งหมด 2.07 กิโลเมตร ลักษณะทางกายภาพของชุมชนในช่วงปี พ.ศ.2480 พื้นที่บ้านเรือนในชุมชนเป็นผืนทราย จะมีลำคลองสายเล็ก ๆ เชื่อมจากสุขุมวิทไล่ลงมาที่หาด มีบ่อน้ำจืดของชุมชน 3 บ่อเป็นแหล่งอุปโภคและบริโภคของคนในชุมชน เคยเป็นป่าแสมมาก่อน ต่อมาก็ได้มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่และภูมิทัศน์จากผืนทายมาเป็นดินลูกรัง จากนั้นถมดับทับทราย ถมคลอง และสร้างถนนริมหาดที่เชื่อมจากต้นหาดวอนไปถึงท้ายชุมชนในปัจจุบัน ก่อเกิดการปรับเปลี่ยนสภาพพื้นที่เพราะถนนที่สร้างได้ขวางกั้นเส้นทางน้ำทะเลที่ขึ้นลงตามธรรมชาติ พอถึงเวลาน้ำทะเลขึ้นของทุกวัน บ้านเรือนที่ติดอยู่กับทะเลจึงถูกน้ำท่วม

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ถนนเนตรดีตลอดแนว
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ถนนสุขุมวิทและชุมชนท้ายตลาด
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อ่าวไทย

จากสถิติจำนวนประชากรของเทศบาลเมืองแสนสุขในช่วงปี 2564 พบว่า ประชากรชุมชนหาดวอนนภามีทั้งหมด 3,944 คน มีคนเชื้อสายไทยและจีนอาศัยอยู่ร่วมกันในชุมชน

ส่วนของระบบเครือญาตินั้น ชาวบ้านให้ความสำคัญแก่ฝ่ายพ่อฝ่ายแม่ ความสัมพันธ์เครือญาติเป็นไปอย่างแนบแน่น เกื้อกูลกันในด้านต่าง ๆ คือช่วยเหลือด้านแรงงาน ดูแลยามเจ็บป่วย ช่วยเหลือด้านการเงิน สนับสนุนการเป็นผู้นำชุมชน และสืบทอดประเพณีพิธีกรรม โดยพื้นฐานของระบบเครือญาติในชุมชนจะมาจากกลุ่มคน 2 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่

1) กลุ่มที่มีความสัมพันธ์กันทางสายเลือด หมายถึง การมีพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายเป็นคนเดียวกัน ซึ่งคนในชุมชนวอนนภาจะมีตระกูลใหญ่ ๆ เพียง 3 ตระกูล คือ ตระกูลบุญสายที่คนใช้เยอะมากที่สุด ตระกูลหน่อเนื้อ ตระกูลยิ้มละมัย

2) กลุ่มที่มีความสัมพันธ์โดยการแต่งงาน เมื่อแต่งงานกันแล้ว ทั้งสองตระกูลจะมีความเกี่ยวดองกันในฐานะเครือญาติที่ไม่เกี่ยวข้องกับสายเลือด ให้เกียรติผู้สูงอายุกว่าเป็นสำคัญ

ระบบเครือญาติที่กล่าวมาถือเป็นรากฐานที่สำคัญในการช่วยเหลือเกื้อกูลกันภายในชุมชนหาดวอนนภา โดยเฉพาะการทำประมงที่ไม่สามารถทำได้เพียงคนเดียว ต่างฝ่ายต่างคนที่อยู่ในเครือญาติด้วยกันจะเข้ามาช่วยเหลือการทำประมงตอบแทนซึ่งกันและกันด้วยความเต็มใจ

จีน

กลุ่มทางสังคมภายในชุมชนหาดวอนนภาส่วนใหญ่ไม่มีการรวมตัวกันในรูปแบบอย่างเป็นทางการ  แต่จะเป็นการรวมตัวกันแบบเครือญาติที่พึ่งพาช่วยเหลือกัน เช่น กลุ่มทำประมง กลุ่มถักสานเครื่องมือทำมาหากิน กลุ่มสมุนไพร

กลุ่มที่เป็นทางการและรวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง มีการดำเนินงานกันเป็นระบบ คือ กลุ่มสตรีแสนสุข โดยมีนางสติล คุณปลื้ม (ภรรยา นายสมชาย คุณปลื้ม หรือกำนันเป๊าะ) เป็นประธาน กิจกรรมที่กลุ่มนี้ทำจะเป็นการใช้ความช่วยเหลือเรื่องอาชีพ เรื่องครอบครัว สุขอนามัย และนันทนาการ

กลุ่มนี้ถือว่ามีบทบาทอย่างมากภายในตำบลแสนสุข เนื่องจากสตรีของตำบลแสนสุขอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของฝ่ายชาย ที่ส่วนใหญ่มีบทบาทในฐานะผู้นำชุมชน รวมถึงสตรีเองก็ได้มีบทบาทในฐานะผู้นำชุมชนด้วย เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด และอาสาสมัครต่าง ๆ พวกเธอเหล่านี้จะรวมตัวกันเป็นเครือข่ายให้ความรู้ความเข้าใจวิชาการ ทั้งวิชาการเฉพาะด้านและความรู้ทั่วไปแก่สมาชิก

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

ชาวบ้านในชุมชนหาดวอนนภามีประเพณี วัฒนธรรม และพิธีกรรมที่มีความสำคัญหลากหลายประเพณี อันมาจากชาวบ้านและบุคคลที่อพยพเข้ามา โดยสามารถแบ่งเป็น 2 ประเภทด้วยกัน ได้แก่

1) ประเพณีที่ปฏิบัติเช่นเดียวกับท้องถิ่นทั่วไป จะจัดตามวันสำคัญในปฏิทินไทย เช่น ทำบุญตักบาตรวันปีใหม่ วันมาฆบูชา วันสงกรานต์ เป็นต้น

2) ประเพณีที่ปฏิบัติเฉพาะชาวบ้านหาดวอนนภา จะมีประเพณีแบบนี้อยู่ 1 ประเพณี คือ ประเพณีก่อทรายวันไหลบางแสน เป็นงานที่ทางเทศบาลเมืองแสนสุขจัดร่วมกับบริษัทห้าง ร้านเอกชน และหน่วยงานของรัฐบาล ในช่วงวันที่ 16-17 เมษายนของทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์และส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณีและการละเล่นพื้นบ้านอันดีงามของบางแสนให้คงอยู่ และเป็นที่รู้จักแพร่หลายออกไป

งานประเพณีนี้จะจัด ณ บริเวณชายหาดบางแสน โดยนิมนต์พระทุกวัดในตำบลแสนสุขมาประกอบพิธีสงฆ์ กิจกรรมในงานวันไหลประกอบด้วยการทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระพุทธรูป ก่อพระเจดีย์ทราย ตรวจสุขภาพ และรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ รวมทั้งเล่นน้ำสงกรานต์ แข่งขันกีฬาพื้นเมือง เช่น ชักเย่อ สะบ้า เป็นต้น

ปัจจุบันชื่อประเพณีนี้เปลี่ยนชื่อเป็น "งานก่อพระทรายวันไหลบางแสน" ให้เข้ากับยุคสมัย และมีการเพิ่มกิจกรรมการประกวดก่อพระทรายวันไหล เปิดโอกาสให้ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้ามาร่วมประกวดพระทรายได้ด้วย เพื่อรักษาประเพณีและการท่องเที่ยว

ส่วนภายในวันประเพณีที่ชุมชนหาดวอนนภาจะจัดกิจกรรมเล็กๆ ภายในชุมชน มีการก่อพระทราย ทำบุญตักบาตร และรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุเป็นประเพณีเฉพาะ เพื่อสร้างความรักความผูกพันให้กับคนภายในชุมชน 

นอกจากนี้ยังมีประเพณีทำบุญกลางบ้านที่จัดขึ้นในวันลอยกระทงของทุกปี เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลและขอขมาลาโทษภูตผีปีศาจ เจ้ากรรมนายเวร ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วภายในชุมชน เชื่อกันว่าจะทำให้ผู้คนในชุมชนอยู่ร่วมเย็นเป็นสุข ทั้งนี้ก็มีการทำบุญตักบาตรและประกอบพิธีทางศาสนาในวันลอยกระทงไปด้วย

วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ

คนในชุมชนหาดวอนนภาประกอบอาชีพประมงเพื่อหาเลี้ยงตนเอง โดยผู้ชายจะออกเรือไปหาปลา ส่วนผู้ใหญ่และเด็กจะทำงานอยู่ที่บ้าน เนื่องจากความเชื่อที่ว่าผู้หญิงไม่สมควรขึ้นเรื่องเพราะแม่ย่านางเรืออาจไม่พอและทำให้จับปลาไม่ได้มาก ซึ่งก่อนออกเรือในแต่ละครั้งก็มีการเซ่นไหว้แม่ย่านางเรือด้วยธนู 9 ดอก กล้วย ส้ม อาหารหวานต่างๆ และผ้าสีแดง เพื่อขออนุญาตออกเรือเพื่อให้ได้ปลามาเป็นจำนวนมาก และยังมีการชวนเพื่อนบ้านหรือคนในละแวกบ้านมาช่วยออกหาปลาอีกด้วย ถ้าช่วยกันลงเรือหาปลา คนที่ช่วยจะได้ส่วนแบ่งปลาที่จับด้วยเพื่อแสดงน้ำใจ

ในการหาปลาและสัตว์ทะเลจะใช้อวนและลอบเป็นเครื่องมือในการหาที่ส่วนใหญ่จะทำขึ้นมาเอง ปลาและสัตว์ทะเลที่หาได้จะเป็นปลากุแล ปลาหมึก ปูม้า และหอยเป็นส่วนใหญ่ โดยจะใช้เรือขนาดเล็กออกทะเลและมีผู้ช่วยเพียง 1-2 คนเท่านั้นจากขนาดของเรือ จะใช้อวนในการจับปลาด้วยการวางไว้บริเวณที่ปลาชุกชุม ส่วนลอบจะใช้เหยื่อลงไปเป็นตัวล่อ พอถึงเวลากลับก็จะเก็บอวนและลอบที่จับปลาและสัตว์ทะเลมาได้กลับไป

ภูมิปัญญาด้านการจับปลาและสัตว์ทะเลของคนในชุมชนหาดวอนนภานั้น จะมีการสังเกตผ่านน้ำ คลื่น ลม และฤดูกาล เช่น ปลาหมึกจะมีเยอะในฤดูหนาว พอถึงฤดูมะม่วงสุกเป็นสัญญาณที่จะจับแมงดา เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีภูมิปัญญาเกี่ยวกับการประกอบอาหารและชีวิตประจำวัน ได้แก่ การลอบจับปู วิธีการจับหอย การทำกะปิ การตากปลา การทำโป๊ะเลี้ยงหอยเลี้ยงปู การถนอมอาหาร การทำน้ำปลา และการทำกุ้งแห้ง โดยยังคงสืบทอดและเป็นวิถีชีวิตของคนในชุมชน

ปลาและสัตว์ทะเลที่จะจับมาได้นั้นจะแบ่งได้ 2 ส่วน ส่วนแรกจะเอาไปขายให้กับพ่อค้าคนกลางที่มารับที่สะพานปลา หรืออาจจะส่งไปเป็นวัตถุดิบให้กับร้านอาหารบริเวณหาดวอนนภาหรือร้านอาหารราคาย่อมเยาสำหรับนิสิตนักศึกษาและคนในชุมชน อีกส่วนจะเอามาปรุงเป็นกับข้าวสด เช่น ปลาเผา น้ำพริกปลา เป็นต้น ถ้ายังเหลืออีกก็จะนำไปทำปลาตากแห้ง โดยนำปลาที่ได้มาขอดเกล็ด ตัดหัว ควักไส้ แล้วล้างให้สะอาด นำปลาไปผึ่งแดดบนกระด้งที่มีตาถี่ๆ ระหว่างนั้นคนในชุมชนก็จะมาช่วยทำหรือซ่อมแซมเครื่องมือการทำประมง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

หาดวอนนภา หรือเรียกสั้น ๆ ว่า "หาดวอน" เป็นหาดตั้งอยู่ตอนใต้ของหาดบางแสน มีลักษณะเป็นแนวหินกั้นคลื่นซัดเซาะชายฝั่งเป็นยาวตลอดแนวชายหาดทำให้นักท่องเที่ยวส่วนมากไม่นิยมลงเล่นน้ำที่นี่ เนื่องจากมีโขดหินเยอะมาก มีน้ำทะเลที่ใสและลึกประมาณ 1 เมตร 

บริเวณหาดยังมีการจัดระเบียบร้านค้าใหม่ให้มีความเป็นระเบียบมากยิ่งขึ้น และสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ทางทะเลได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น การเช่าห่วงยางเล่นน้ำ การเล่นบานาน่าโบ๊ท แต่ในการเล่นกิจกรรมต่าง ๆ ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมากเพราะโขดหินที่เยอะ ส่วนบนลานหินริมทะเลเป็นที่สำหรับการนั่งปูเสื่อ หรือเตียงผ้าใบใต้ร่มเงาทิวมะพร้าว และการนั่งรับลม สามารถนั่งทานอาหารได้อีกด้วย

สุดหาดวอนนภาจะมีหมู่บ้านชาวประมง (ชุมชนหาดวอนนภา) และสวนสุขภาพตำบลแสนสุข ในช่วงเย็น ๆ คนพื้นที่นิยมพาลูกหลานมาเล่น และออกกำลังกายกันที่นี่

บรรยากาศของหาดจะมีความสงบ และมีความร่มรื่น โดยที่หาดมีความสะอาด และหาดเป็นหาดเล็ก ๆ ที่สามารถทำกิจกรรมได้อย่างจำกัด และในช่วงเช้าจะมีนักท่องเที่ยวที่หลีกเลี่ยงความพลุกพล่านของหาดบางแสนมานั่งที่ริมหาด รับลมใต้ต้นมะพร้าวกันอีกด้วย และในช่วงเย็นที่จะเป็นช่วงหลังพระอาทิตย์ตก ที่หาดจะมีความคึกคักด้วยนักท่องเที่ยวที่มากันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากจะเต็มไปด้วยแสง สี และเสียงเพลง จากร้านอาหาร ผับบาร์ต่าง ๆ

ช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ หรือช่วงหน้าหนาว หาดบางแสนและหาดวอนนภาน้ำใส ทะเลสวยเป็นพิเศษ ในความสวยของทะเลก็ยังมีขยะลอยให้เห็นกันอยู่บ่อย ๆ

ตลาดนัดหาดวอน ถือเป็นแหล่มรวมตัวของชุมชนและสถานที่จับจ่ายซื้อของของคนในชุมชนหาดวอนนภาและชุมชนใกล้เคียง เป็นตลาดนัดขนาดใหญ่ที่รวมสินค้าชุมชน อาหารสดอาหารแห้ง นอกจากนี้ยังมีอาหารพื้นถิ่นที่ทำโดยคนท้องถิ่นมาตั้งเตาทำครัวที่ตลาด จำหน่ายในราคาถูก เปิดขายทุกวันจันทร์และวันศุกร์ ตั้งแต่เที่ยงวันถึงสองทุ่ม

สะพานปลาหาดวอนนภา ตั้งอยู่สุดปลายหาดวอนนภา ทอดยาวลงสู่ทะเลบางแสน เป็นแหล่งทำมาหากินของชาวประมง ทุก ๆ วันจะมีเรือนำปลาที่หาได้จากทะเลมาขึ้นที่สะพานปลาแห่งนี้ ถ้ามาบางแสนในช่วงหน้าหนาว น้ำจะใสพอที่จะเห็นตัวปลาที่แหวกว่ายกันเป็นฝูง

ในช่วงเย็นชาวประมงจะมาทอดแหกันริมสะพานปลาหาดวอนนภา ได้เห็นปลาเป็น ๆ ที่จับมาจากทะเลบางแสน ไม่ว่าจะเป็นปลากระบอก ปลาเห็ดโคน บางตัวอาจมีขนาดใหญ่และความยาวเท่าถังพลาสติก ซึ่งต้องใช้การกะระยะที่ดี ประเมินทิศทางปลา และยังต้องมีความชำนาญในการเหวี่ยงแห เพราะคลื่นที่ซัดมาและเชือกที่ผูกอยู่กับเรือประมงอาจทำให้ปลาเปลี่ยนทิศทางได้ ขณะที่นักท่องเที่ยวบางคนเองก็นำเบ็ดมาตกปลาเองด้วย

นอกจากนี้สะพานปลายังไม่ใช่แค่แหล่งทำมาหากินของชาวบ้านและที่จับปลาเพียงเท่านั้น สะพานปลาแห่งนี้ยังเป็นจุดที่นักปั่นจักรยานที่จะปั่นเพื่อผ่อนคลาย ชื่นชมวิวทิวทัศน์อีกด้วย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

การทำประมงของชาวบ้านในชุมชนหาดวอนนภาในระยะแรกจะทำในลักษณะของการ "เอาแรง" เป็นการช่วยกันทำเพื่อแบ่งกันใช้ แต่ในปัจจุบันเป็นการทำประมงเพื่อขาย กลายมาเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนซึ่งช่วยเสริมรายได้ให้แก่ครอบครัวและครัวเรือนเป็นอย่างมาก 

ทว่าจากนโยบายการพัฒนาริมชายหาดของเทศบาลเมืองแสนสุขและโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก (Eastern Seaboard Development Program : ESB) มีการสร้างถนนริมหาดวอนนภาเพื่อความสะดวกสบายของนักท่องเที่ยว ส่งผลให้พวกเขารู้จักกับหาดวอนนภามากขึ้น ก่อให้เกิดการขยายตัวในธุรกิจมากมายบริเวณหาด อาทิเช่น ร้านอาหาร สตรีทฟู้ดส์ สถานบันเทิง และโรงแรม มีการแบ่ง 2 ฝั่งถนน ฝั่งหนึ่งจะเป็นบ้านเรือน ร้าน อาหาร และโรงแรม ขณะที่อีกฝั่งหนึ่งเป็นแนวเขื่อนริมทะเล จนชาวบ้านชุมชนหาดวอนนภากำลังเปลี่ยนไปสู่ความเป็นเมือง เข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมการบริการท่องเที่ยวแทน


แม้ชุมชนหาดวอนนภาจะยังดำรงชีพด้วยการประมงต่อไปได้ในปัจจุบันด้วยการเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน แต่ก็เจอปัญหาถูกนายทุนเอาเปรียบจากการที่เอาเรือยนต์ขนาดใหญ่เกินกว่าที่จะหาปลาชายฝั่งที่ชาวบ้านเรียกว่า เรือดุน เข้ามาหาปลาในบริเวณหาดวอนนภา ใช้อวนตาถี่ลากถึงพื้นทรายใต้น้ำ เพื่อหาปลาหน้าดินและปลาผิวน้ำในคราวเดียว สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวประมงรายเล็กในชุมชน

การพัฒนาหาดวอนนภาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวก็ยังได้เปลี่ยนจากการยังชีพให้เป็นธุรกิจมากขึ้น ผลมาจากค่าครองชีพและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น จากการสังคมเครือญาติ ภายหลังเริ่มมีความเป็นทุนนิยมมากขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันกันมากขึ้น แล้วยังมีปัญหาคนต่างถิ่นอพยพย้ายเข้ามา คนในชุมชนเองก็ประสบปัญหาที่คนที่ทำประมงเริ่มน้อยลงทุกวันโดยเฉพาะคนรุ่นหลัง สามารถจับปลาได้น้อยลงจากปัญหาเรื่องของระบบนิเวศน์ทะเล อีกทั้งการออกเรือในแต่ละครั้งจำเป็นต้องใช้น้ำมันที่ราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ จนการออกเรือแต่ละครั้งอาจขาดทุน ไม่นับปัญหาน้ำเสียและขยะที่ทำให้ปริมาณปลาและสัตว์ทะเลลดลงจนจับได้น้อย ทำให้คนในชุมชนต้องเริ่มซื้อวัตถุดิบนอกชุมชนเพื่อแปรรูปอาหารทะเล

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ได้ทำให้ชุมชนเริ่มถอยร่นไปสุดทาง จนแทบแยกไม่ออกระหว่างชุมชนเมืองกับวิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้าน


ในช่วงแรกของการสร้างถนนกั้นระหว่างชายหาดวอนนภาและชุมชนที่อยู่ถัดไปจากในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ทำให้เกิดน้ำท่วมขังบ้านเรือน ต่อมาเทศบาลเมืองแสนสุขได้มีนโยบายการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียของตำบลแสนสุข โดยสร้างบ่อบำบัดที่หาดวอนนภาบริเวณตรงข้ามตลาดนัดหาดวอน และสร้างท่อน้ำทิ้งให้อยู่ข้างใต้ถนนบางแสนล่าง โดยระบายน้ำจากบ่อบำบัดน้ำเสียลงที่หาดวอนนภา ปัจจุบันบริเวณที่ปล่อยน้ำเสียมีกลิ่นเหม็นของน้ำและขยะจำนวนมาก โดยมันจะมาในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน

ขณะเดียวกันก็อุปกรณ์ของต่างด้าวที่เข้ามาทำประมงในพื้นที่ในฐานะลูกจ้างเอง ก็ใช้อวนตาถี่ที่ต่างจากอวนนภาที่มีตาใหญ่กว่า ทำให้ปูม้าเสี่ยงต่อการสูญพันธ์ุเพราะถูกจับไปด้วยอวนตาถี่ที่ไม่มีช่องว่างให้หนีไปได้

นอกจากนี้การเข้ามาของโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ที่กำหนดให้พื้นที่ภาคตะวันออกเป็นเขตพื้นที่อุตสาหกรรมใหญ่ และการเปลี่ยนบริเวณหาดวอนนภาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ส่งผลให้พื้นที่ทางทะเลหายไป ทรัพยากรอาหารทางทะเลลดลง เกิดการบุกรุกที่ดินและถมพื้นที่ชายฝั่งทะเลเพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรมใหญ่ ซ้ำบริเวณใกล้เคียงยังมีเขตอุตสาหกรรมแหลมฉบังที่ปล่อยน้ำเสียจากอุตสาหกรรมอีกด้วย

ปัญหาที่กล่าวมาล้วนส่งผลต่อระบบนิเวศน์ทางทะเลของตะวันออก รวมทั้งคุณภาพและปริมาณสัตว์น้ำที่ลดน้อยลง ทำให้ชาวประมงในชุมชนจับปลาได้น้อยลงตามไปด้วย อีกทั้งปัญหาน้ำเสียเองก็ไม่ได้รับการสอบถามหรือเยียวยาจากหน่วยงานใดแม้จะมีการร้องเรียนจากชาวบ้านอยู่หลายครั้ง จนยังคงเป็นปัญหาให้กับชาวบ้านจนถึงปัจจุบัน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ไพบูลย์ โสภณสุวภาพ. (2559). หาดวอนนภา ชีวิตวัฒนธรรมชุมชนชายทะเล : การวิจัยผ่านกระบวนการศิลปะการละคร. วารสารศิลปกรรมบูรพา. 19(1). สืบค้นเมื่อ 22 กรกฎาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://ojs.lib.buu.ac.th/

เทศบาลเมืองแสนสุข. (ม.ป.ป.). แนะนำเทศบาลเมืองแสนสุข. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://www.saensukcity.go.th/

เทศบาลเมืองแสนสุข. (ม.ป.ป.). สถิติประชากร. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 22 กรกฎาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://www.saensukcity.go.th/ 

สะพานปลาหาดวอนนภา พาชมวิถีชีวิตชาวประมงบางแสน. (2561). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 22 กรกฎาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://www.saensukcity.com/ 

สำนักงานพื้นที่พิเศษ 3. (ม.ป.ป.). หาดวอนนภา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 22 กรกฎาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://tis.dasta.or.th/ 

สุกัญญา บูรณเดชาชัย. (2549). วิถีชีวิตและกระบวนการทำประมง : กรณีศึกษาหมู่บ้านประมงหาดวอนนภา ต.แสนสุข อ.เมือง จ.ชลบุรี. วารสารวิชาการ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์. 14(20). สืบค้นเมื่อ 22 กรกฎาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://buuir.buu.ac.th/

ศศิบังอร ธรรมคุณ, สรวิทย์ สมศรี, ประวิทย์ ทองไชย และกนก พานทอง. (2561). วิถีประมงพื้นบ้านหาดวอนนภาในบริบทสังคมเมือง. วารสารเทคโนโลยีภาคใต้. 11(1). สืบค้นเมื่อ 22 กรกฎาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://so04.tci-thaijo.org/ 

castuslover (นามแฝง). (2560). หาดวอนนภา (หาดวอน). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://baantongsukbangsaen.wordpress.com/ 

Dot easterners (นามแฝง). (2565). เสียงจาก 'ประมงพื้นบ้าน' รุ่น (เกือบ) สุดท้ายของ 'หาดวอนนภา'. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://prachatai.com/ 

TOEY (นามแฝง). (2565). รีวิว หาดวอนนภา บางแสน ชลบุรี ถ่ายรูป ชมวิวพระอาทิตย์ตก. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://baanpuck.com/ 

เทศบาลเมืองแสนสุข โทร. 0-3819-3500-2