Advance search

ละอุ่นเหนือ 1 ตำบล 5 หมู่บ้าน 10 เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ สถานที่แห่งการรวบรวมถ่ายทอดเรื่องราววิถีชีวิตริมลำคลองละอุ่น พื้นที่แห่งการจัดการบริหารระบบนิเวศลำคลองจากความเสื่อมโทรมสู่การพลิกฟื้นคืนชีพเศรษฐกิจชุมชน 

ละอุ่นเหนือ
ละอุ่น
ระนอง
องค์การบริหารส่วนตำบลละอุ่นเหนือ โทร. 0-7781-0759
ธำรงค์ บริเวธานันท์
13 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
15 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
23 ก.ค. 2023
ละอุ่นเหนือ


ชุมชนชนบท

ละอุ่นเหนือ 1 ตำบล 5 หมู่บ้าน 10 เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ สถานที่แห่งการรวบรวมถ่ายทอดเรื่องราววิถีชีวิตริมลำคลองละอุ่น พื้นที่แห่งการจัดการบริหารระบบนิเวศลำคลองจากความเสื่อมโทรมสู่การพลิกฟื้นคืนชีพเศรษฐกิจชุมชน 

ละอุ่นเหนือ
ละอุ่น
ระนอง
85130
10.08740753
98.77672836
องค์การบริหารส่วนตำบลละอุ่นเหนือ

ละอุ่น มาจากชื่อนายอุ่น ราษฎรคนแรกที่เข้ามาสร้างถิ่นฐานบ้านเรือนในบริเวณนี้ โดยอพยพมาจากทางภาคอีสาน ซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่า ตาลาวอุ่น หรือ ลาวอุ่น ซึ่งเป็นคําที่คนทางภาคใต้ใช้เรียกคนอีสานว่า ลาว ต่อมา เมื่อเป็นชุมชนก็มีการเรียกชื่อชุมชนว่า ลาวอุ่น และด้วยนิสัยของภาคใต้ชอบใช้คําสรรพนามสั้นๆจึงกร่อนคําเหลือเพียง ละอุ่น เมื่อมีการแยกตําบลละอุ่นเป็น 2 ตําบล จึงเรียกว่า ตําบลละอุ่น ที่อยู่ทางตอนล่างของแม่น้ำว่า ละอุ่นใต้ ส่วนที่ตอนเหนือของแม่น้ำเรียกว่า ละอุ่นเหนือ(สุคนธ์ แซ่อุ๋ย และคณะ, 2560: 79)

อาณาเขต

  • ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลบางแก้ว อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง
  • ทิศใต้ ติดกับ ตำบลละอุ่นเหนือ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง
  • ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลเขาค่ายอำเภอสวี ตำบลนาขา อำเภอหลังสวน ตำบลปังหวาน อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร
  • ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลละอุ่นใต้ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง

ลักษณะภูมิประเทศ

ตำบลละอุ่นเหนือ มีทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นป่าเขาซึ่งยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ มีแหล่งน้ำและปริมาณน้ำฝนค่อนข้างมากและกระจายทั่วพื้นที่ตลอดปี เหมาะแก่การประกอบอาชีพทางการเกษตร มีแหล่ง ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญหลายแห่ง เช่น น้ำตกไทรทอง ร่อยรอยประวัติศาสตร์สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซากเรือรบญี่ปุ่น อุโมงค์เก็บอาวุธของกองทัพทหารญี่ปุ่น วิวทิวทัศน์บนเทือกเขา บ่อน้ำร้อน น้ำตกโตนเพชร ถ้ำ และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งสถานที่ดังกล่าวมานี้ในอนาคตคาดว่าสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีการอนุรักษ์วังปลา ซึ่งคนละอุ่นเหนือร่วมกับผู้นําชุมชน กํานัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนชาวตำบลละอุ่นเหนือได้ประกาศเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำไว้ 10 แห่ง ใน 5 หมู่บ้าน เช่น วังปลาหินลาดบางสังโต้ง วังปลาวังเหรียงบางญวน วังปลาตาแก้ว เป็นต้น ซึ่งกลุ่มอนุรักษ์พันธุ์ปลาน้ำจืดคลองละอุ่นนี้เปรียบเสมือนเป็นแหล่งเรียนรู้ พักผ่อนหย่อนใจของคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว มีการปลูกจิตสํานึกให้เด็ก ๆ และเยาวชนรักถิ่นฐาน ร่วมอนุรักษ์แหล่งน้ำ ซึ่งส่งผลถึงการร่วมกันดูแลป่าต้นน้ำด้วย

คลองละอุ่นเหนือ

คลองละอุ่นเหนือ เป็นต้นน้ำสำคัญของอําเภอละอุ่น เป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค แหล่งน้ำเพื่อการเกษตร เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำที่สำคัญ และเป็นลำคลองที่ใช้หล่อเลี้ยงชีวิตชาวละอุ่นเหนือมาช้านาน คลองละอุ่นเหนือมีความยาวของคลองระยะทางรวมประมาณ 45 กิโลเมตร ซึ่งมีต้นน้ำไหลมาเทือกเขาขุนอําไพและเทือกเขานมสาว ไหลผ่านตำบลในวงใต้ ตำบลในวงเหนือ ตำบลละอุ่นเหนือ ตำบลละอุ่นใต้ รวมทั้งคลองบางพระ คลองบางแก้ว หมู่ที่ 2, 3 ตำบลบางแก้ว และหมู่ที่ 2 ตำบลละอุ่นใต้ ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำกระบุรีที่หมู่ 4 ตำบลบางแก้ว (กม.30)

คลองละอุ่นเหนือเป็นคลองที่มีลักษณะคดเคี้ยวเหมือนเส้นผมผู้หญิง มีความอุดมสมบูรณ์ของพันธุ์ไม้นานาพรรณ ทั้งที่เป็นป่าไม้ธรรมชาติ และเป็นไม้ยืนต้นที่เป็นอาหารของคนในชุมชน รวมถึงสัตว์น้ำพันธุ์ปลาท้องถิ่นมากกว่า 10 สายพันธุ์ เช่น ปลาพวง ปลาพาก แม่ปลา ปลา เสือ ปลาอยู่รู ปลาซิว ปลาไหล ปลาใบไม้ ปลาเพ็ง เป็นต้น

ตำบลละอุ่นเหนือมีจำนวนประชากรทั้งหมด 1,063 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 556 คน ประชากรหญิง 507 คน และจำนวนครัวเรือน 335 ครัวเรือน

การประกอบอาชีพดั้งเดิมของอําเภอละอุ่นนั้น ในอดีตมีการทํานา ทําไร่ ทําสวน และทำประมง เพื่อเลี้ยงครอบครัวและบริโภคในครัวเรือน ชุมชนส่วนใหญ่อาศัยกันอยู่แบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน มีการ แลกเปลี่ยนทรัพยากร มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างดี การประกอบอาชีพยังพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน หรือที่เรียกว่า ช่วยกันลงแรง ซึ่งกระบวนการผลิตของชาวละอุ่นเหนือในยุคสมัยนั้นเป็นการผลิตแบบพึ่งพาธรรมชาติ ไม่มีการใช้สารเคมี หรือปุ๋ยเคมีเข้าไปปนกับพืชพรรณหรือหน้าดิน เนื่องจากทรัพยากรธรรชาติมีความอุดมสมบูรณ์ดีอยู่แล้ว อีกทั้งยังไม่มีการผูกเกี่ยวระบบเศรษฐกิจของชุมชนเข้ากับระบบทุนนิยม ทำให้การใช้ทรัพยากรไม่ได้เป็นไปอย่างล้างผลาญ ทั้งป่าไม้ และพันธ์ุสัตว์น้ำยังมีบริบูรณ์ แต่ต่อมาเมื่อการคมนาคมเจริญขึ้น สิ่งสาธารณูปโภคต่าง ๆ มีมากขึ้น การประกอบอาชีพก็เริ่มเปลี่ยนไป ระบบการผลิตของคนในชุมชนเปลี่ยนจากการผลิตเพื่อยังชีพเป็นการผลิตเพื่อการค้า มีการค้าขายมากขึ้น มีการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีมากขึ้น โดยการเกษตรของชาวละอุ่นเหนือส่วนมากแล้วจะเป็นการทำเกษตรรูปแบบผสมผสาน มีการปลูกพืชไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก พืชไร่ ปะปนกันไปในสวน ทั้งนี้ยังมีการเลี้ยงสัตว์และทำประมงควบคู่ไปด้วย พืชเศรษฐกิจที่สำคัญจะเป็นการทำสวนจำพวกยางพารา กาแฟ ปาล์มน้ำมัน หมาก ผัก และผลไม้นานาชนิด นอกจากนี้ยังมีบางส่วนที่มีรายได้จากอาชีพรับจ้าง ค้าขาย และรับราชการ ซึ่งเป็นอาชีพที่กำลังเข้ามามีบทบาทอย่างมากในชุมชนชาวละอุ่นเหนือในปัจจุบันนี้ 

จังหวัดระนองมีประเพณีและงานประจำปีที่ชาวระนองทุกพื้นที่ถือปฏิบัติร่วมกัน ซึ่งรวมถึงชาวละอุ่นเหนือด้วย โดยประเพณีสำคัญที่นิยมปฏิบัติสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน มีดังนี้

ประเพณีสวดกลางบ้าน : มีการประกอบพิธีทางศาสนา สวดภาณยักษ์ไล่ภูตผีปีศาจทั้งหลาย โดยชาวบ้านทุกครัวเรือนจะตัดผม ตัดเล็บ ห่อด้วยกระดาษขาวหรือกระดาษแดงใส่ลงแพที่ทำด้วยไม้ระกำ และประดับประดารอบ ๆ แพด้วยธงแดงที่ทำจากกระดาษสี เมื่อน้ำทะเลหรือน้ำในแม่น้ำขึ้นเต็มที่ก็จะมีการปล่อยแพไปตามแม่น้ำ ถือเป็นการสะเดาะเคราะห์ มีการจัดงาน 3 วัน 3 คืน และมีมหรสพจัดแสดงด้วย กำหนดจัดงานประมาณเดือนมกราคมหรือเดือนเมษายนของทุกปี

ประเพณีตักบาตรเทโว : เกิดจากความเชื่อกันว่าในวันออกพรรษานี้เป็นวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จจากชั้นดาวดึงส์ลงมาโปรดมนุษย์โลก เมื่อถึงวันนี้ชาวพุทธจะนำอาหารคาวหวานไปใส่บาตร ซึ่งเป็นประเพณีทางศาสนาที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาช้านาน กำหนดจัดงานในวันออกพรรษาของทุกปี

ประเพณีงานแห่พระแข่งเรือ : มีการนำเรือมาตกแต่งให้สวยงาม แล้วอัญเชิญพระพุทธรูปประดิษฐานในเรือ แห่ไปตามลำน้ำกระบุรี ซึ่งเป็นแม่น้ำที่กั้นพรมแดนระหว่างไทย-พม่า นอกจากนี้ยังมีการแข่งเรือประเภทต่าง ๆ กำหนดจัดงานตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันแรม 3 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี

ประเพณีออกพรรษา : ในช่วงออกพรรษาของชาวระนองจะมีประเพณีจำเพาะที่จัดขึ้น คือ  ประเพณีทำพุ่มหรือผ้าป่า โดยจะทำกันในตอนบ่ายของวันออกพรรษา แต่ละบ้านจะจัดทำพุ่มไว้หน้าบ้าน พร้อมด้วยผ้าเหลือง 1 ผืน และเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับพระสงฆ์ ต่อจากนั้นผู้จัดการฝ่ายสงฆ์ก็จะนิมนต์พระไว้ล่วงหน้าให้มากที่สุด โดยมากจะนิมนต์พระทุกรูปในเขตนั้นแล้วสำรวจพุ่มติดหมายเลขหรือชื่อเจ้าของพุ่มเพื่อนำไปให้พระสงฆ์จับฉลาก จับฉลากได้พุ่มของใครก็จะหาพุ่ม เมื่อพบแล้วผู้เป็นเจ้าของพุ่มก็จะนิมนต์พระภิกษุรูปนั้นมาเพื่อกล่าวถวายผ้าป่า หลังจากกล่าวถวายผ้าป่าแล้วพระภิกษุก็จะซักผ้าบังสุกุลแล้วให้พรแก่เจ้าของพุ่ม กำหนดจัดงานในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี

ประเพณีวันสารทไทย : เป็นวันสำคัญวันหนึ่งที่ชาวบ้านจะร่วมกันนำอาหารคาวหวานไปถวายพระสงฆ์ และนำโกศอัฐิของพ่อแม่และบรรพบุรุษผู้ล่วงลับให้พระสงฆ์สวดมาติกาบังสุกุลทำบุญอุทิศให้แก่ท่าน (สำนักงานจังหวัดระนอง, ม.ป.ป. : ออนไลน์)

1. นายมนตรี สังข์ดี : ปราชญ์ชุมชนด้านการดำรงชีวิตตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง

2. นายสุคนธ์ แซ่อุ๋ย : ปราชญ์ชุมชนด้านการดำรงชีวิตตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง

3. นายวิสุทธิ์ แข็งแรง : ผู้นำการประกอบพิธีกรรม

4. นายสนิท แสงอินทร์ : ปราชญ์ด้านภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย

5. นายสวัสดิ์ แก้วเดชะ : ครูการแสดงพื้นบ้าน

6. นางสมร สังโสม : ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำอาหารไทย และขนมไทย 

เครื่องมือการจับปลา

เนื่องจากพื้นที่ตำบลละอุ่นเหนือมีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญมากมาย อีกทั้งยังมีลำคลองละอุ่นเหนือ ลำน้ำธรรมชาติอันบริบูรณ์ด้วยทรัพยากรสัตว์น้ำมากมาย ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงวิถีชีวิตของชาวละอุ่นเหนือมาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน โดยการจับสัตว์น้ำจากลำคลองละอุ่นรวมถึงคลองสาขามากมายในบริเวณโดยรอบเพื่อบริโภคและจำหน่ายเป็นอาชีพ ทั้งนี้ เนื่องจากชาวละอุ่นเหนือมีวิถีการประกอบอาชีพที่เกี่ยวโยงกับสายน้ำและทรัพยากรสัตว์น้ำ เป็นเหตุให้ชาวละอุ่นเหนือจำต้องมีภูมิปัญญาในการสร้างสรรค์เครื่องมือในการประกอบอาชีพ โดยในที่นี้จะกล่าวถึงเครื่องมือที่ใช้จับปลา ดังนี้

ฉมวก : มีลักษณะเป็นเส้นเหล็กกลม ส่วนปลายจะถูกฝนจนแหลม บางอันมีเงี่ยงอยู่ด้านใน ปลายอีกด้านเป็นเหล็กทรงกระบอกกลวงสําหรับใส่ส่วนที่เป็นด้ามฉมวกซึ่งทําจากไม้รวก ด้ามยาวประมาณ 3 เมตร เครื่องมือจับสัตว์ชนิดนี้จะใช้สำหรับการแทงกบในหน้าฝน ซึ่งเป็นช่วงที่กบออกมาผสมพันธุ์

ไซดักปลา : ไซดักปลามีลักษณะคล้ายสุ่มขนาดเล็ก แต่มีรูปทรงค่อนข้างเรียวยาว วิธีการใช้ไซคือจะนำเอาไซไปวางขวางทางน้ำไหล แล้วพรางตกแต่งให้เหมือนแหล่งซ่อนตัวของสัตว์น้ำ หรือแหล่งหากินตามธรรมชาติของปลา โดยส่วนใหญ่จะริดกิ่งไม้พร้อมใบมาสานตกแต่ง เมื่อปลาเกิดฉงนเข้าใจว่าไซที่ประดับตกแต่งด้วยกิ่งไม้และใบไม้เป็นที่หลบซ่อนหรือแหล่งอาหารก็จะเข้ามาในไซ และติดกับดักที่วางไว้

ลอบเล็ก : มีลักษณะเป็นโครงไม้ไผ่ถักด้วยเชือก หุ้มด้วยเนื้ออวน ด้านหน้ามีงาแซงที่ทำจากไม้ไผ่จำนวน 1 อัน ลอบชนิดนี้จะใช้ดักปลาบริเวณน้ำตื้น โดยวางลอบไว้ริมหนองน้ำหรือนำไปใส่ริมฝั่งแม่น้ำสงครามโดยการขุดดินให้ลึกพอที่จะวางลอบได้ จากนั้นใช้กิ่งไม้หรือผักคลุมพรางไว้ เมื่อปลาเข้ามาหาที่หลบหรือหาอาหารก็จะหลงเข้ามาในลอบ แต่บางกรณีจะนำลอบไปวางดักปลาที่มีน้ำไหลเพื่อดักจับปลาที่ว่ายทวนน้ำขึ้นไป  

ลอบใหญ่ : มีลักษณะเป็นโครงทรงสี่เหลี่ยม หุ้มด้วยเชือก มีส่วนที่เรียกว่า งา เป็นช่องให้สัตว์น้ำเข้ามาภายใน ส่วนจะจะวางเครื่องมือประเภทนี้ไว้บริเวณปากคลอง โดยยึดให้อยู่กับที่ปล่อยให้สัตว์น้ำว่ายเข้ามาเอง ข้อดีของการใช้ลอบในการดักจับสัตว์น้ำคือ สัตว์น้ำที่จับได้ส่วนใหญ่จะยังคงมีชีวิตอยู่

อะโพโล้ดักลูกกุ้งลูกปลา หรือลอบดักกุ้ง : เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการดักกุ้งและลูกปลา เป็นเครื่องมือที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยภูมิปัญญาชาวบ้านโดยนำไม้ไผ่มาทำโครง แล้วใช้ตาข่ายมาหุ้มโครงไม้ไผ่ จากนั้นนำเหยื่อใส่ในตาข่าย ข้าง ๆ ตาข่ายจะใช้ขวดพลาสติกโดยตัดเอาช่วงฝาขวดเย็บติดกับตาข่ายเหมือนประตูเพื่อเป็นช่องให้กุ้งหรือลูกปลาเข้าไปกินอาหาร จากนั้นจะไม่สามารถกลับออกมาได้ เนื่องจากปากขวดมขนาดเล็กและแสงจะไม่สะท้อน ทำให้ลูกกุ้งหรือลูกปลาจะหาทางออกไม่เจอ

ไซกุ้ง : ไซกุ้งจะแตกต่างจากไซปลาตรงที่ไซกุ้งจะใช้สำหรับดักสัตว์น้ำขนาดเล็ก เช่น กุ้ง ปู ปลาซิว โดยนำไปวางตามทางน้ำไหลของชาวบ้าน แล้วทำคันดินบังคับให้น้ำไหลเข้าทางปากไซ เมื่อปลาเข้าไปแล้วจะไม่สามารถกลับออกมาได้เพราะติดงา

ชนาง : ลักษณะคล้ายพลั่วตักดิน ชาวบ้านนิยมช้อนปลาหรือสัตว์น้ำในบริเวณที่น้ำไม่ลึก โดยขนาดของชะนางจะขึ้นอยู่กับความลึกตื้นของน้ำ หากบริเวณที่นำชนางไปวางมีน้ำลึกก็จะต้องชะนางที่มีขนาดใหญ่ขึ้น

เบ็ดคันยาว : เป็นเบ็ดทำด้วยไม้ไผ่หรือไฟเบอร์กาสเสริมเข้ากับทุ่นตะกั่วขนาดเล็ก คันเรียว เล็ก ยาวประมาณ 5 เมตร สำหรับวิธีใช้เบ็ดคันยาวนั้นมีวิธีกาทรเช่นเดียวกับเบ็ดทั่วไป คือโยนสายเอ็นผูกเหยื่อ (ส่วนใหญ่ใช้ไส้เดือน) ลงน้ำ ส่ายโยกคันเบ็ดไปมาเพื่อล่อปลา เมื่อปลาเข้ามากินเหยื่อก็รีบยกคันเบ็ดขึ้น

เบ็ดทง : เป็นเครื่องมือที่ใช้ลวดเหล็กเป็นส่วนสำคัญ ลวดนี้จะมีลักษณะเป็นลวดปลายแหลม เรียกว่า เงี่ยง ใช้สำหรับตกปลาที่ใขนาดใหญ่ โดยจะผูกไว้กับก้านเบ็ดที่เหลาจากไม้ไผ่ มีขนาดเรียวเล็ก ยาวประมาณ 60-80 เซนติเมตร

ชุด : เป็นเครื่องมือจับปลาพื้นบ้านที่ถักขึ้นจากเถาวัลย์หรือหวาย ใช้สำหรับดักปลาช่อน โดยนิยมวางตามที่รก ๆ บริเวณดินโคลน เนื่องจากปลาช่อนชอบเกลือกตัวเองกับดินโคลน เมื่อนำชุดไปวางบริเวณนี้ปลาช่อนจะหลุดเข้ามาเองโดยไม่ต้องใช้เหยื่อล่อ โดยปกติชาวบ้านจะนิยมถักชุดให้มีขนาดใกล้เคียงกับขนาดตัวปลาช่อน เพราะเมื่อปลาช่อนเข้าไปติดแล้วจะไม่สามารถหลุดออกมาได้ 

ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นสำเนียงระนอง

ภาษาเขียน : ภาษาไทย


ปัจจุบันตำบลละอุ่นเหนือกำลังเผชิญกับปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรดิน และทรัพยากรป่าไม้อันมีสาเหตุมาจากหลายประการ โดยในปัจจุบันนั้นพบว่าในฤดูแล้งชาวตำบลละอุ่นเหนือประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในการเกษตรและการอุปโภค อีกทั้งน้ำยังไม่สะอาดเนื่องจากไม่มีระบบการประปาที่ได้มาตรฐาน แต่ในช่วงฤดูฝนกลับมีปัญหาตรงกันข้าม เนื่องจากน้ำฝนที่มีปริมาณมาก กอปรกับตำบลละอุ่นเหนือไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำ ทำให้น้ำไหลลงสู่ทะเล บางพื้นที่เกิดดินเลื่อนไหล อีกทั้งในวันที่ฝนตกยังส่งผลกระทบต่อชาวสวนยางพารา เพราะเมื่อฝนตกจะไม่สามารถออกไปกรีดยางได้ ทางด้านทรัพยากรดินพบว่ามีความเสื่อมสูง คุณภาพดินต่ำ เนื่องจากมีสารพิษตกค้างจากการใช้สารเคมีในการเกษตร มีการพังทลายของหน้าดินเนื่องจากถูกน้ำกัดเซาะ อีกทั้งดินในบริเวณที่ราบลุ่มยังมีลักษณะเป็นดินเค็มซึ่งทำให้ไม่สามารถเพาะปลูกได้ นอกจากนี้ในบริเวณป่าชายเลนซึ่งเป็นแหล่งอาหารและที่วางไข่ของสัตว์น้ำยังถูกบุกรุกทำลายจากวิธีการจับสัตว์น้ำที่ไม่ถูกต้องอย่างล้างผลาญ ขาดการอนุรักษ์ เป็นเหตุให้ปริมาณสัตว์น้ำลดลง ซึ่งส่งผลกระทบระยะยาวต่อการประกอบอาชีพของชาวละอุ่นเหนือ นำไปสู่กระบวนการจัดการในการอนุรักษ์พันธุ์ปลาท้องถิ่นเพื่อเศรษฐกิจของชาวละอุ่นเหนือโดยการกำหนดเขตวังอนุรักษ์พันธุ์ปลาท้องถิ่น กำหนดเขตการฟื้นฟูทรัพยากรและเขตการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดภายใต้แนวคิดการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลให้คงอยู่ชาวละอุ่นเหนือไปตราบเท่านาน 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

จุ้ยยางเป็ดน้อย. (2552). ละอุ่น ระนอง. สืบค้นเมื่อ 10 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.bloggang.com/

สุคนธ์ แซ่อุ๋ย และคณะ. (2560). โครงการศึกษารูปแบบที่เหมาะสมในการอนุรักษ์พันธุ์ปลาท้องถิ่นเพื่อสร้างเศรษฐกิจของชุมชนในตำบลละอุ่นเหนือ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง (รายงานการวิจัย). สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น.

สำนักงานจังหวัดระนอง. (ม.ป.ป.). ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี การศึกษา. สืบค้นเมื่อ 10 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.ranongcities.com/

สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง. (ม.ป.ป.). ประวัติความเป็นมา. สืบค้นเมื่อ 10 กรกฎาคม 2566, จาก https://district.cdd.go.th/

สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี. (2561). ชนาง. สืบค้นเมื่อ 10 กรกฎาคม 2566, จาก https://culture.sru.ac.th/

อุ้ยลัย. (2556). ขายไซดักปลา โดย อุ้ยลัย. สืบค้นเมื่อ 10 กรกฎาคม 2566, จาก https://forums.chiangraifocus.com/

Suti. (2554). ไปธงเบ็ดกัน. สืบค้นเมื่อ 10 กรกฎาคม 2566, จาก http://www.siamfishing.com/

องค์การบริหารส่วนตำบลละอุ่นเหนือ โทร. 0-7781-0759