Advance search

ในน้ำมีปลา ในนากลายเป็นสวนคำขนานนามพรรณาวิถีชุมชนจากคำกล่าวชาวบ้านหนองจิก เพื่อพร่ำบรรยายถึงความอุดมสมบูรณ์และพลวัตของทรัพยากรธรรมชาติ กระทั่งการเปลี่ยนพื้นที่นาเป็นพื้นที่สวน และป่าไผ่ ทรัพยากรอันเป็นวัสดุสำคัญในการสร้างสรรค์งานหัตถกรรมจักสานจากภูมิปัญญาของชาวบ้านหนองจิก  

หมู่ที่ 3
หนองจิก
ปากจั่น
กระบุรี
ระนอง
องค์การบริหารส่วนตำบลปากจั่น โทร. 0-7787-3502
ธำรงค์ บริเวธานันท์
19 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
19 ก.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
24 ก.ค. 2023
บ้านหนองจิก


ชุมชนชนบท

ในน้ำมีปลา ในนากลายเป็นสวนคำขนานนามพรรณาวิถีชุมชนจากคำกล่าวชาวบ้านหนองจิก เพื่อพร่ำบรรยายถึงความอุดมสมบูรณ์และพลวัตของทรัพยากรธรรมชาติ กระทั่งการเปลี่ยนพื้นที่นาเป็นพื้นที่สวน และป่าไผ่ ทรัพยากรอันเป็นวัสดุสำคัญในการสร้างสรรค์งานหัตถกรรมจักสานจากภูมิปัญญาของชาวบ้านหนองจิก  

หนองจิก
หมู่ที่ 3
ปากจั่น
กระบุรี
ระนอง
85110
10.52589885
98.83625194
องค์การบริหารส่วนตำบลปากจั่น

บ้านหนองจิก เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ หมู่บ้านหนึ่งในตำบลปากจั่น อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง สำหรับประวัติความเป็นมาว่าก่อตั้งขึ้นเมื่อใด หรือมีผู้อพยพเข้าตั้งแต่พุทธศักราชที่เท่าไหร่นั้นไม่มีปรากฏแน่ชัด แต่ตามตำนานเมืองกระบุรีในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น เมืองกระบุรี (ตําบลปากจั่นขณะนั้น) เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ขึ้นกับเมืองชุมพร มีนายแก้ว ธนบัตร เชื้อสายเจ้าพระยานครเก่าเป็นนายบ้าน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงศรีอยุธยาได้ให้นายแก้ว ธนบัตร รวบรวมหมู่บ้านต่าง ๆ ที่ปกครองอยู่ ยกขึ้นเป็นหัวเมืองชั้นจัตวาขึ้นกับเมืองชุมพร เพื่อให้เป็นเมืองหน้าด่านรับศึกพม่าคู่กับเมืองมลิวัลย์ (ปัจจุบันอยู่ในเขตพม่า) พร้อมพระราชประทานยศให้ นายแก้ว ธนบัตร เป็น “พระแก้วโครพ” ดํารงตําแหน่งเจ้าเมือง กระบุรีคนแรก เมื่อพระแก้วโครพ รับตําแหน่งเจ้าเมืองกระบุรีแล้ว ได้สร้างตัวเมืองโดยใช้ดินก่อเป็นกําแพงล้อมรอบ ซึ่งต่อมาเรียกว่า “บ้านค่าย” (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งสถานีตํารวจภูธรตําบลปากจั่น) จากนั้นได้ย้ายไปตั้ง เมืองกระบุรีใหม่ที่ตําบลน้ำจืด (อําเภอหลังเก่า) (องค์การบริหารส่วนตำบลปากจั่น, ม.ป.ป.: ออนไลน์)

ตําบลปากจั่น อําเภอกระบุรี จังหวัดระนอง มีที่ตั้งห่างจากที่ว่าการอําเภอกระบุรี เป็นระยะทาง 13 กิโลเมตร ห่างจากศาลากลางจังหวัด เป็นระยะทาง 72 กิโลเมตร มีพื้นที่รวม จํานวน 84,062.50 ไร่ หรือ จํานวน 134.50 ตารางกิโลเมตร

ที่ตั้งและอาณาเขต

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ เทศบาลตําบล จ.ป.ร. และจังหวัดชุมพร
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ องค์การบริหารส่วนตําบลมะมุ และจังหวัดชุมพร
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ เทศบาลตําบล จ.ป.ร.
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ประเทศพม่า มีแม่น้ำกระบุรีกั้นระหว่างแดน

ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

บริเวณที่ตั้งชุมชนบ้านหนองจิกเป็นพื้นที่ที่ยังคงอุดมสมบูรณ์ด้วยป่าไม้นานาพรรณ เนื่องด้วยอยู่ในเขตสงวนแห่งชาติน้ำขาวและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ นอกจากนี้ภายในพื้นที่บ้านหนองจิกและพื้นที่โดยรอบนั้นมีทรัพยากรป่าไม้ชนิดหนึ่งซึ่งขึ้นอยู่มากเป็นพิเศษ ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และชาวบ้านนำมาปลูก คือ ไผ่ ที่มีมากถึง 8 สายพันธุ์ ได้แก่ ไผ่ตง ไผ่สีสุก ไผ่คายดำ ไผ่หวาน ไผ่รวก ไผ่หยาง ไผ่ผากหรือไผ่คายขาว และไผ่เหลือง โดยไผ่เหล่านี้ชาวบ้านได้นำมาใช้ประโยชน์ทั้งการประกอบอาหาร ทำปุ๋ย และนำมาจักสานเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ ตลอดจนความเชื่อเกี่ยวกับส่วนต่าง ๆ ของไผ่ ดังจะกล่าวถึงรายละเอียดต่อไปนี้

  • ไผ่ตง ในหนึ่งกอจะมีลําไผ่ประมาณ 10-20 ลําโดยประมาณ ซึ่งแต่ละกอก็มีอายุเฉลี่ยตั้งแต่ 1-60ปี ลักษณะเฉพาะของไผ่ตงเป็นไม้เนื้อหนา แข็งลําใหญ่ ใบหนา ต้นตรงปลายเรียว ทำให้ไม่นิยมนำไผ่ตงมาใช้ในงานจักสาน เพราะดัดยาก
  • ไผ่สีสุก หนึ่งกอจะมีลำไผ่ประมาณ 40-50 ลำ มีอายุเฉลี่ยประมาณ 30-50 ปี ลักษณะเฉพาะของไผ่สีสุก คือ เป็นไผ่เนื้อบาง ในลำจะมีเนื้อเยื่อบาง ๆ สีขาวใส เรียกว่า เจี้ยไผ่ บริเวณกิ่งมีหนามย้อยลงมาจากข้างต้น ตรงปลายเรียว มีหน่อสีเขียวเข้ม ต้นสีอ่อน มีด่างขาว ส่วนเมื่อต้นตายไปแล้วจะมีสีน้ำตาลอ่อน ไผ่ชนิดนี้นิยมนำมาทำเครื่องจักสานเพราะเป็นไผ่เนื้ออ่อน สามารถดัดได้ง่าย อนึ่ง ชาวบ้านมีความเชื่อเกี่ยวกับหนามไผ่สีสุกว่า เมื่อมีคนคลอดบุตรให้นำหนามไผ่สีสุกมาไว้ที่บ้านเพราะจะช่วยไล่ผีได้ เนื่องจากสมัยก่อนเชื่อว่าผีมักจะมากินเลือดที่ตกตามใต้ถุนบ้าทน กล่าวคือ บ้านเรือนในอดีตมีลักษณะยกใต้ถุนสูง เมื่อคลอดบบุตรบนบ้านแล้วล้างเลือด เลือดก็จะตกลงมาตามใต้ถุนบ้าน ผีจะมากินเลือดที่ตกเหล่านี้ แต่ถ้านำหนามไผ่สีสุกมาไว้ใต้ถุนบ้าน ผีจะกลัวและไม่กล้าเข้ามา
  • ไผ่คายดำ เป็นไผ่ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ หนึ่งกอจะมีลำไผ่ประมาณ 20-50 ลำ อายุเฉลี่ย 7-50 ปีโดยประมาณ ลักษณะเฉพาะของไผ่คายดำ คือ เป็นไผ่เนื้อบาง บริเวณลำไผ่จะมีคายสีดำเกาะอยู่ นิยมนำมาจักสานเพราะขนาดของปล้องไผ่มีระยะห่างกำลังพอดี ไม่ใหญ่ ไม่เล็ก แต่จะมีคายบริเวณลำไผ่
  • ไผ่รวก เป็นไผ่ที่ชาวบ้านนำสายพันธุ์มาจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดชุมพร รวมถึงในจังหวัดระนอง หนึ่งกอจะมีลำไผ่ประมาณ 20-70 ลำ อายุเฉลี่ย 4-50 ปี ไผ่รวกมีลักษณะเป็นไผ่เนื้อตัน แข็ง ลำเล็ก หนอสีเทาอมเขียว ต้นอ่อนสีเหลือง ต้นกลางอ่อนกลาง ต้นแก่สีเขียวเข้ม มีด่างขาวเรียกว่า ตกกระ การขยายพันธุ์สามารถนำแขนงที่มีรากมาปักชำบนดินได้ ไผ่รวกสามารถนำมาทำเฟอร์นิเจอร์หรือไม้สอยผลไม้ได้ แต่ส่วนใหญ่ชาวบ้านหนองจิกจะนิยมปลูกไผ่ชนิดนี้เพื่อกินหน่อ
  • ไผ่หวาน เป็นไผ่ที่ได้สายพันธุ์มาจากจังหวัดชุมพรและกรุงเทพมหานคร หนึ่งกอจะมีลำไผ่ประมาณ 4-5 ลำ อายุเฉลี่ยประมาณ 10 ปี ลักษณะเฉพาะของไผ่หวาน คือ เป็นไผ่เนื้อบางคล้ายไผ่คายดำ แต่ไม่มีคายสีดำ เนื้อไผ่ค่อนข้างแข็ง ขยายพันธุ์โดยนำแขนงที่มีเริ่มมีรากโผล่ออกมาไปปักชำบนดิน ไผ่ชนิดนี้นิยมปลูกเพื่อกินหน่ออย่างเดียว ไม่นำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น
  • ไผ่ผากหรือไผ่คายขาว เป็นไผ่ขึ้นเองตามธรรมชาติบริเวณป่าที่ค่อนข้างรกชัฏ อุดมสมบูรณ์ หรือบริเวณภูเขา หนึ่งกอจะมีลำไผ่ประมาณ 20 ลำ อายุเฉลี่ย 20 ปี ลักษณะเฉพาะของไผ่ผาก คือ เป็นไผ่เนื้อบางคล้ายไผ่คายดำ แต่มีคายสีขาว เนื้อไผ่แข็ง ลำขนาดปานกลาง สำหรับไผ่ชนิดนี้จะไม่มีการเพาะพันธุ์แต่อย่างใด ปล่อยให้ขึ้นเองตามธรรมชาติ
  • ไผ่เหลือง เป็นไผ่ที่นำสายพันธุ์มาจากจังหวัดชลบุรี ชุมพร และระนอง หนึ่งกอจะมีลำไผ่ประมาณ 15-30 ลำ อายุเฉลี่ย 5-20 ปี เป็นไผ่เนื้อบาง ลำต้นสั้น สีเหลืองแวว เนื้อแข็ง ขนาดลำปานกลาง ขยายพันุ์โดยการนำแขนงที่มารากออกมาไปปักชำบนดิน ไผ่ชนิดนี้นิยมนำมาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ หรืออาจปลูกเป็นไม้ประดับก็ได้
  • ไผ่หยาง เป็นไผ่ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติบริเวณภูเขา หรือป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ โดยหนึ่งกอจะมีลำไผ่ประมาณ 15-30 ลำ อายุเฉลี่ย 8-40 ปี ลักษณะของไผ่หยางเป็นไผ่เนื้อบาง ไม่มีคาย เนื้อแข็ง มีการเพาะพันธุ์และไม่มีการนำมาใช้ประโยชน์แต่อย่างใด 

สถิติประชากรองค์การบริหารส่วนตำบลปากจั่นแบบแยกรายหมู่บ้าน รายงานสถิติจำนวนครัวเรือนหมู่ที่ 3 บ้านหนองจิก 291 ครัวเรือน ประชากรจำนวนทั้งสิ้น 636 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 333 คน และประชากรหญิง 303 คน โดยประชากรในชุมชนมีทั้งชาวไทยและชาวไทยเชื้อสายจีน ชาวจีน และชาวลาวโซ่งที่อพยพจากปากแม่น้ำชุมพรเข้ามาอาศัยอยู่ร่วมด้วย 

จีน, ไทดำ

ชาวบ้านในชุมชนบ้านหนองจิกส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำสวนยางพารา ปาล์มน้ำมัน สวนผลไม้ นอกจากนี้ยังมีบางส่วนประกอบอาชีพค้าขาย รับจ้าง และรับราชการ สืบเนื่องจากภายในชุมชนบ้านหนองจิกมีทรัพยากรจำนวนมาก ซึ่งชาวบ้านได้นำมาใช้ประโชน์เพื่อสร้างรายได้ทั้งที่ขายเป็นไผ่สด และที่นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญา โดยชาวบ้านหนองจิกมีรายได้จากการขายลำต้นไผ่ประมาณ 5,000 บาทต่อปี ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากหน่อไม้ดองและหน่อไม้สดประมาณ 500-1,000 บาทต่อปี นอกจากนี้ยังมีงานหัตถกรรมจักสานจากไม้ไผ่ เช่น รังหมวก รังไก่ ฝาชี กร่อมไก่ ตะกร้า ไม้ตีแมลงวัน ตะแกรง กระด้ง กระโล้ ไซ ซ่อนดักปลา ตุ้มดักปลา ฝากขวบสับลายสอง กระจาดหาบ ตะกร้าใส่ปลา ตะแกรงร่อนรําพรวน ตะแกรงร่อนถ่าน เชี่ยนหมาก หมวกใบลาน ซึ่งบางส่วนชาวบ้านได้นำออกมาจำหน่าย โดยราคาจำหน่ายผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจากไม้ไผ่และวัสดุจากท้องถิ่นของชาวบ้านหนองจิกแต่ละชนิด แต่ละประเภทมีราคาที่แตกต่างกันไป ดังนี้

  • หมวกใบลาน : ราคาใบละ 300 บาท
  • เชี่ยนหมาก : ราคาใบละ 100-300 บาท
  • ตะกร้า : ราคาใบละ 100-500 บาท
  • กระด้ง : ราคาใบละ 100-400 บาท
  • ตะแกรงร่อนรำพวน (ใหญ่) : ราคาใบละ 120-150 บาท และใบเล็ก 100 บาท
  • กร่อมไก่ : ราคาลูกละ 250-300 บาท
  • ฝาชี : ราคาใบละ 300-1,000 บาท
  • จานวิถีไทยฯ : ราคาใบละ 100 บาท

บ้านหนองจิก ตำบลปากจั่น อำเภอกระบุรี มีวัฒนธรรม ประเพณีสำคัญประจำปีต่าง ๆ ที่สืบปฏิบัติเช่นเดียวกับชาวระนองทั่วไป โดยทั่วไปจะมีความเกี่ยวข้องกับวาระวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และประเพณีที่มีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อดั้งเดิมของคนท้องถิ่น โดยในที่จะยกตัวอย่างเพียงบางประเพณี ได้แก่ ประเพณีกวนข้าวทิพย์ และประเพณีสวดกลางบ้าน

ประเพณีกวนข้าวทิพย์

ประเพณีกวนข้าวทิพย์ จะจัดขึ้นในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา เพื่อเป็นการอนุรักษ์และให้เยาวชนรุ่นหลังได้เรียนรู้พุทธพิธีอันศักดิ์สิทธิ์และเคร่งครัดตามแบบฉบับโบราณ พิธีกวนข้าวทิพย์ เป็นพุทธประเพณีอันดีงาม ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล โดยอ้างถึงเหตุการณ์ในสมัยพุทธกาลที่นางสุชาดาได้ปรุงข้าวมธุปายาสถวายพระโคตมพุทธเจ้าก่อนที่พระองค์จะตรัสรู้ ถือกันว่าข้าวมธุปายาสเป็นของทิพย์ เมื่อได้จัดทำขึ้นจึงเรียกว่า ข้าวทิพย์ การกวนข้าวทิพย์ถวายพระสงฆ์เพื่อเป็นการสักการบูชา จึงถือว่าเป็นสิริมงคลแก่ตนเองหากได้รับประทานข้าวทิพย์ การกวนข้าวทิพย์ต้องอาศัยความสามัคคีจากชาวบ้านจึงจะสำเร็จลงได้ สำหรับในพื้นที่จังหวัดระนองจะจัดขึ้น ณ ที่วัดในเขตตำบลปากจั่น อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง

ประเพณีสวดกลางบ้าน

ประเพณีสวดกลางบ้าน จะมีการสวดภาณยักษ์ไล่ภูตผีปีศาจ โดยชาวบ้านทุกครัวเรือนจะตัดผม ตัดเล็บ ห่อด้วยกระดาษขาวหรือกระดาษแดงใส่ลงแพที่ทำด้วยไม้ระกำ และประดับประดารอบ ๆ แพด้วยธงแดงที่ทำจากกระดาษสี เมื่อน้ำทะเลหรือน้ำในแม่น้ำขึ้นเต็มที่ก็จะมีการปล่อยแพไปตามแม่น้ำ ถือเป็นการสะเดาะเคราะห์มีการจัดงาน 3 วัน 3 คืน และมีมหรสพจัดแสดง โดยปกติแล้วประเพณีสวดกลางบ้านจะมีกำหนดจัดขึ้นประมาณช่วงเดือนมกราคมหรือเมษายนของทุกปี 

1. นายอิน นิยมไทย : มีความสามารถในการทำซ่อนดักปลา

2. นายสาย นิยมไทย : มีความสามารถในการทำตุ้มดักปลา และตะกร้าใส่ปลา

3. นางบุญไห้ ลิ่มศิลา : มีความสามารถในการทำหมวกใบลาน ตะกร้า เชี่ยนหมาก กระด้ง และตะแกรงร่อนรำพวน

4. นางอารีย์ ทองช่างเหล็ก : มีความสามารถในการทำตะกร้า

5. นายอำพล ธนบัตร : มีความสามารถในการทำไซดักปลา ซ่อนดักปลา รังหมวก รังไก่ และไม้ตีแมลงวัน

6. นายอำนวย ธนบัตร : มีความสามารถในการทำไซดักปลา และเข่งใส่ของ

7. นางเนือง นุ่มน้อย : มีความสามารถในการทำกระด้ง ตะแกรงร่อนรำพวน และกระชอน

8. นางคุ้ม นุ่มน้อย : มีความสามารถในการทำโกรก สาดใบเตย และกระด้ง

9. นายบัญชา สงวนสัตย์ : มีความสามารถในการทำกร่อมไก่

10. นางยกซิ่ว แสงมณี : มีความสามารถในการทำฝาชี ตะกร้า จานวิถีไทย กระด้ง ตะแกรงร่อนรำพวน และเชี่ยนหมาก

11. นายปรีชา พิกุลทอง : มีความสามารถในการทำสุ่มจับปลา และกร่อมไก่

12. นายเสนอ ดำริพงษ์ : มีความสามารถในการทำตะแกรงรอนรำพวน

13. นางเอมอร อมรถนัด : มีความสามารถในการทำฝากขวบสับลายสอง

14. นายไชยยะ แสงมณี : มีความสามารถในการทำกราดไก่

15. นางกุศล แสงมณี : มีความสามารถในการทำกระจาดหาบ

16. นางแสง เบญจวรรณ : มีความสามารถในการทำสาดใบเตย

17. นายหวน แสงมณี : มีความสามารถในการทำตุ้มดักปลา และตะกร้าใส่ปลา

18. นางอุบล ธนบัตร : มีความสามารถในการทำโกรก

19. นางบุญไห้ ลิ่มศิลา : มีความสามารถในการทำตะแกรงร่อนรำพวน 

งานหัตถกรรมจากภูมิปัญญาชาวบ้านหนองจิก

ชุมชนบ้านหนองจิกมีสมาชิกในชุมชนผู้มีความรู้ด้านศิลปหัตถกรรมเครื่องจักสานอยู่หลายคน ซึ่งการสร้างสรรค์ภูมิปัญญาของชาวบ้านหนองจิกนั้นมีจุดเริ่มต้นจากการประกอบอาชีพและทรัพยากรที่มีอยู่มากในท้องถิ่น โดยงานจักสานดังกล่าวส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ภายในครัวเรือน เช่น ฝาชี ตุ่ม ไซ ตะกร้า กระด้ง กะโล่ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านหนองจิกที่มีความเกี่ยวข้องวผูกพันกับทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงความสำคัญของเครื่องมือเครื่องใช้จากการจักสานที่มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตและชีวิตประจำวันของชาวบ้าน วัสดุที่นำมาใช้จักสานส่วนมากจะใช้ไม้ไผ่ หวาย คลุ้ง และใบเตย ที่มีอยู่ในท้องถิ่น สวนข้างบ้าน ริมคลอง หรือบนภูเขา ตามแต่จะหาได้ และเนื่องจากในชุมชนมีทั้งชาวไทย ชาวไทยเชื้อสายจีน ชาวจีน และลาวโซ่งที่อพยพมาจากปากแม่น้ำชุมพร ส่งผลให้ภูมิปัญญาการจักสานของชาวหนองจิกมีความผสมผสานทางวัฒนธรรมจากหลายเชื้อชาติ โดยมากจะทำเฉพาะของใช้ในชีวิตประจำวัน ของใช้ในครัวเรือน และเครื่องมือจับสัตว์น้ำ แล้วนำออกจำหน่ายเป็นบางส่วน ดังตัวอย่างที่จะได้ยกมากล่าวดังต่อนี้

  • ตุ้มดักปลา : รูปแบบการทำนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าจะทำเป็นรูปแบบไหน ขนาดเท่าใด แต่ส่วนมากจะทำทรงคล้ายรูปแจกัน โดยได้ใช้วัสดุในท้องถิ่น เช่น หวาย และคลุ้ม ต้นคล้าย ๆ กับต้นคล้าแต่เปลือกผิวด้านในจะเป็นสีแดง มีความแข็งแรงคงทน หรือจะใช้ไม้ไผ่ หรือต้นระกําก็ได้ นํามาขัดจนได้ขนาดตามความต้องการเล็กหรือใหญ่
  • สวย เป็นเครื่องมือจับสัตว์น้ำชนิดหนึ่ง สร้างสรรค์ขึ้นจากวัสดุต่าง ๆ ในท้องถิ่นที่หาได้เช่น ไม้ไผ่ลวก ไผ่สีสุกไผ่คายดํา ส่วนการทำนั้นรูปแบบของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน บางคนอาจทำเป็นเอวคอด บางคนเป็นทรงกลมก็มี และขนาดก็ตามความต้องการอีกเช่นเดียวกัน
  • กระด้ง ใช้สำหรับตากปลาหรือใช้ในการร่อนข้าว บางท้องถิ่นอาจเรียกว่า กระด้ง บางท้องถิ่นอาจเรียกว่า กะโล่ก็ได้ ต่างกันที่กระด้งจะเป็นรูปวงรี ส่วนกะโล่จะกลมกว่า วัสดุอุปกรณ์ใช้ไม้ไผ่ปล่องห่าง ไผ่คายดํา ไผ่ลวก
  • กระจาด เป็นเครื่องใช้สำหรับหาบของไปขาย หรือขนเลียงข้าว หรือใช้หาบของ หรืออาหารไปท้องไร่ท้องนา วิธีการทำจะทำคล้ายตะกร้า แต่จะสานเป็นตานกเปล้า และนิยมทำเป็นคู่
  • สุ่มไก่ นิยมกันทำในกลุ่มคนรักไก่ชนโดยใช้ไม้ไผ่เป็นหลัก
  • รังไก่ เป็นภาชนะสำหรับรองให้ไก่ไข่ ทำจากไม้ไผ่ รังก่สามารถนำไปดัดแปลงเพื่อปลูกผัก ไม้ดอก หรือประดับตกแต่งซุ้มงานได้
  • ไม้ตีแมลงวัน เป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญาที่สร้างสรรค์ขึ้นจากการนำเส้นกวายมาขัดกันเป็นแผ่นขนาดประมาณครึ่งฝ่ามือ แล้วนำไปต่อกับด้ามที่เหล่าจากไม้ไผ่ ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร
  • สาดใบเตย หรือเสื่อที่ทอจากใบเตย ใช้สำหรับปูนอนหรือไว้ตากเลี้ยงข้าว
  • โกรก ใช้สำหรับใส่ของ ทำจากใบเตย ในอดีตใช้สำหรับการขนเลียงข้าว
  • ข้องใส่ปลา เครื่องใช้สำหรับใส่ปลาเวที่ชาวบ้านออกไปหาปลาตามท้องไร่ท้องนา ทำจากไม้ไผ่ ส่วนรูปทรงแล้วแต่จะสร้างสรรค์ อาจเป็นทรงกลม หรือทรงรีก็ได
  • ตะกร้า ทำจากไม้ไผ่ คนในสมัยก่อนใช้สำหรับใส่ของเวลาไปจ่ายตลาดหรือเอาใส่ปิ่นโตไปวัด
  • เชี่ยนหมาก คนโบราณนิยมทำใส่หมากพลูไว้ต้อนรับแขกมาเยี่ยมบ้าน โดยจะมีเกือบทุกบ้าน
  • ฝาชี เป็นเครื่องใช้ในครัวเรือนที่ได้รับความนิยมอย่างมากจากชาวบ้านหนองจิกในปัจจุบัน โดยภูมิปัญญาของชาวบ้านที่เป็นชาวลาวโซ่ง เริ่มแรกนิยมทำเป็นรูปทรงกรวยต่าง ๆ ต่อมาได้มีการพัฒนาลวดลายโดยแกะลายจากเสื่อกระจูด แล้วขึ้นทรงเป็นรูปโค้งมน ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมา
  • ฝากขวบลายขัดสอง ในอดีตทำเพื่อกั้นเป็นฝาบ้าน แต่เนื่องจากปัจจุบันมีความเจริญเข้ามา ผู้คนหันไปใช้ปูน อิฐ กระเบื้องในการสร้างบ้าน ฝากขวบลายขัดสองจึงไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการสร้างบ้านแล้ว
  • ตะแกรงร่อนรำพวน คือ แกรงใช้สำหรับร่อนข้าว เพราะสมัยโบราณนอกจะนวดข้าวด้วยควายแล้ว ยังมีการใช้ตะแกรงร่อนข้าวเอาฟางออก โดยสานด้วยไม้ไผ่ มีรูปลักษณะเหมือนกระด้ง แต่จะแตกต่างกันตรงที่กระด้งสานด้วยลายสองแบบชิด แต่ตะแกรงลำพวนจะสานตาห่างประมาณ 1 เซนติเมตร 

ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นสำเนียงระนอง

ภาษาเขียน : ภาษาไทย


การสืบสานศิลปหัตถกรรมเครื่องจักสานของชุมชนบ้านหนองจิก

การสืบสานศิลปหัตถกรรมเครื่องจักสานของชุมชนบ้านหนองจิก ตำบลปากจั่น อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง มีวิธีการถ่ายทอดด้วยวิธีการที่เรียกว่า ครูพักลักจำ โดยการสืบสานแบบรุ่นสู่รุ่น แบบทำใช้เอง ฝึกกันเอง พอทำใช้เอง และสอนลูกหลานให้ทำใช้ในครัวเรือน ส่วนมากไม่ได้ทำขาย จะมีเพียงบางรายเท่านั้นที่ทำขายบ้าง ทว่ากลับแต่ไม่มีการสืบสานแบบเชิงเรียนรู้อย่างจริงจัง การที่เห็นพ่อแม่หรือเพื่อนบ้านทำใช้ จึงทำใช้บ้าง คล้ายลักษณะครูพักลักจํา เนื่องจากชาวบ้านบางรายอาจหวงวิชาเพราะภูมิปัญญาดังกล่าวนั้นทำขาย หากอยากได้วิชาทำก็ต้องอาศัยไปนั่งดูวิธีการ แล้วจึงมาฝึกพัฒนาฝีมือด้วยตัวเอง หรือบางอย่างก็สืบสานมาจากต่างถิ่น เช่น การจักสานฝาชี เดิมทีคนในชุมชนยังไม่ค่อยมีใครทำใช้จนมีลาวโซ่งเข้ามาอาศัยอยู่ และได้นำภูมิปัญญาการสานฝาชีเข้ามาตั้งแต่นั้น ซึ่งปัจจุบันชาวบ้านหนองจิกมีความพยายามอย่างยิ่งที่จะอนุรักษ์วิธีการสานฝาชีนี้ไว้ให้ลูกหลาน เนื่องจากขณะนี้ในชุมชนมีเพียงคุณสุภา นิยมไทยเท่านั้นที่ยังคงมีความสามารถในการสานฝาชีอยู่

สำหรับสภาวการณ์ของงานหัตถกรรมจักสานพื้นบ้านบ้านหนองจิกขณะนี้มีทีท่าว่าจะเริ่มเลือนหายไปทุกวัน ด้วยพลาสติกเข้ามามีบทบาทแทนที่เครื่องมือเครื่องใช้จากวัสดุท้องถิ่น บ้านหนองจิกจึงได้มีความพยายามที่จะฟื้นฟูอนุรักษ์ให้ภูมิปัญญาการจักสานกลับมามีบทบาทสำคัญต่อวิถีชีวิตและการดำเนินชีวิตประจำวันของคนในชุมชนอีกครั้งหนึ่ง มีการพัฒนารูปแบบรูปทรงของชิ้นงานให้มีความทันสมัย เป็นที่นิยมตามความต้องการของตลาด อีกทั้งยังมีความพยายามชักชวนเด็กและเยาวชนให้เข้ามามีส่วนร่วมปลูกจิตสำนึกให้เกิดความรักและหวงแหนในผลงานหัตถกรรมจักสานซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น นำผลงานจากคนในชุมชนไปจัดแสดงในงานจัดแสดงสินค้าพื้นเมืองต่าง ๆ เพื่อให้งานหัตถกรรมจักสานบ้านหนองจิกออกสู่สายตาผู้คน เป็นที่รู้จัก โดยคาดหวังว่าจะมีหน่วยงานใดเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนส่งเสริมเพื่อสืบสานงานหัตถกรรมบ้านหนองจิกให้คงอยู่คู่ชาวหนองจิกและลูกหลานต่อไป

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

โสพล นิยมไทย และคณะ. (2560). โครงการการสืบสานศิลปหัตถกรรมเครื่องจักสาน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนบ้านหนองจิก หมู่ที่ 3 ต.ปากจั่น อ.กระบุรี จ.ระนอง. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น.

ศูนย์ข้อมูลทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. (2555). ประเพณีกวนข้าวทิพย์. สืบค้นเมื่อ 19 กรกฎาคม 2566, จาก http://www.m-culture.in.th/

Google Earth. (ม.ป.ป.). สืบค้นเมื่อ 19 กรกฎาคม 2566, จาก https://earth.google.com/

Sanas. (2563). ชวนคุณมาหลงรักษ์ รู้จักแล้วจะหลงเสน่ห์กับกระเป๋าจักสานไม้ไผ่ไทย. สืบค้นเมื่อ 19 กรกฎาคม 2566, จาก https://pantip.com/

องค์การบริหารส่วนตำบลปากจั่น โทร. 0-7787-3502