ชุมชนขนาดเล็กบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน หมู่บ้านเก่าแก่ก่อตั้งมายาวนานมากกว่า 110 ปี
ชุมชนขนาดเล็กบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน หมู่บ้านเก่าแก่ก่อตั้งมายาวนานมากกว่า 110 ปี
ตำบลหงาว เป็นตำบลเล็ก ๆ ที่เกิดจากการอพยพย้ายถิ่นฐานของชาวบ้านจากอำเภอกะเปอร์บางส่วน และจากจังหวัดภูเก็ตมาตั้งบ้านเรือนใกล้กับทะเลและที่ราบริมภูเขาซึ่งสามารถทำเหมืองแร่ ทำประมง และเลี้ยงสัตว์ได้ตามฤดูกาล รวมทั้งการติดต่อกับชุมชนอื่นทางเรือได้อย่างสะดวกที่สุด ต่อมาชาวบ้านเชื้อสายจีนที่เดินทางมาจากจังหวัดภูเก็ตกลุ่มใหญ่เข้ามาประกอบอาชีพทำเหมืองแร่ ชุมชนเริ่มขยายตัวขึ้น มีการปลูกบ้านเรือนเพิ่มขึ้นบางส่วนเลี้ยงวัวไว้บริเวณเชิงเขา จึงเรียกทุ่งหญ้าเลี้ยงวัวเป็นภาษาจีนว่า “บ้านทุ่งหง่าว” ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า “ทุ่งวัวเล่น” หลังจากนั้นชาวบ้านและคนรุ่นหลังได้เรียกชื่อหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านทุ่งหงาว” สืบต่อมา
บ้านท่าฉาง เป็นหมู่บ้านหนึ่งในเขตตำบลหง่าวภายหลังได้รับการยกฐานะเป็นตำบล เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ก่อตั้งมายาวนานมากกว่า 110 ปี ห่างจากอําเภอเมืองระนองไปทางทิศทางเหนือระยะทาง 16 กิโลเมตร บ้านท่าฉางถูกล้อมรอบตัวภูเขาและใกล้กับทะเล พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาและทะเลล้อมรอบ ชาวบ้านที่อพยพมาอาศัยเป็นรุ่นแรก ๆ ที่ตั้งรกรากในหมู่บ้านท่าฉางมาจากจังหวัดภูเก็ตและพังงา โดยเข้ามาทํางานตัดฟืนและขุดแร่ แรกเริ่มมีจำนวนประมาณ 2-3 ครัวเรือน และเมื่อตัดไม้ได้แล้วนํามากองไว้ทําให้มีจํานวนมากมายเลยเรียกว่า “ท่าฉาง” หมายถึง ท่าที่มีฉางไม้กองไว้มากมาย ต่อมาได้มีประชาชนมาตั้งรกรากกันหลายครอบครัวจนมีลูกสืบทอดเป็นชาวท่าฉางมาจนปัจจุบัน
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ที่ 4 บ้านล่าง ตําบล หงาว อําเภอเมือง จังหวัดระนอง
- ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ที่ 5 บ้านหาดทรายดํา ตําบล หงาว อําเภอเมือง จังหวัดระนอง
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ที่ 1 บ้านทุ่งหงาว ตําบลหงาว อําเภอเมือง จังหวัดระนอง
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ทะเลอันดามัน อําเภอเมือง จังหวัดระนอง
การคมนาคม
การคมนาคมและขนส่งในตำบลหงาวมีถนนในท้องถิ่นซึ่งเชื่อมพื้นที่ของหมู่บ้านต่าง ๆ เข้ากับทางหลวงหมายเลข 4 (ถนน เพชรเกษม) ซึ่งเป็นทางตัดต่อของตําบลกับอําเภอเมืองระนองและพื้นที่ตําบลอื่น โดยผ่านพื้นที่ตอนกลางของเขตการปกครององค์การบริหารส่วนตําบลหงาวตามแนวด้านตะวันออกของตําบล ส่วนการเดินทางจากตัวเมืองระนองตามถนนเพชรเกษมมายังตําบลหงาว ระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร และบ้านท่าฉาง ระยะทาง 20 กิโลเมตร โดยสามารถเดินทางจากตัวเมืองระนองโดยรถประจําทางสายสั้นภายในจังหวัด ได้แก่ ระนอง-ท่าฉาง ระนอง-ท่าต้นสน ระนอง-กะเปอร์ และรถประจําทาง ได้แก่ รถประจำทางสายชุมพร-ภูเก็ต ระนอง-ภูเก็ต ระนอง-กระบี่ ระนอง-สุราษฎร์ธานี และระนอง-หาดใหญ่ (โสรดา เทพนุรักษ์ และคณะ, 2561: 9)
บ้านท่าฉางเป็นหมู่บ้านหนึ่งที่อยู่ภายใต้การปกครองของเทศบาลตําบลหงาว ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตําบล หงาว อําเภอเมือง จังหวัดระนอง มีจํานวนครัวเรือน 983 ครัวเรือน มีประชากร จํานวน 3,523 คน เป็น ชาย 1,777 คนเป็นหญิง 1,746 คน
คนในชุมชนบ้านท่าฉางในอดีต ส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นกรรมกรเหมืองแร่กว่าร้อยละ 80 ที่เหลือจากนี้ทำสวนผัก ประมงหาปลา ซึ่งมีทั้งวิธีการใช้ลอบ อวน แห เรือผีหลอก การใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยใช้แสงไฟล่อให้ปลากระโดดขึ้นในเรือโดยอัตโนมัติ บางส่วนที่ทำอาชีพค้าขายโดยการนำของมาขายแก่ผู้ประกอบอาชีพหาแร่ นอกจากนี้ยังมีการประกอบอาชีพการเกษตร ส่วนใหญ่ปลูกกาหยูหรือมะม่วงหิมพานต์ แล้วนำไปแปรรูปเป็นเมล็ดกาหยูอบแห้ง และยังมีการเลี้ยงสัตว์เพื่อนํามาประกอบอาหารเพื่อเลี้ยงชีพในชุมชน เช่น มีการเลี้ยงแพะ เลี้ยงไก่ เลี้ยงเป็ดเทศ เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย เป็นต้น
ปัจจุบันการประกอบอาชีพหาแร่ของคนในชุมชนท่าฉางถูกยกเลิกไปแล้ว แต่อาชีพของชาวท่าฉางในปัจจุบันมีความเกี่ยวโยงกับสภาพพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่ติดกับป่าโกงกางและทะเลอันดามัน เมื่อย้อนเวลาไปราว 3-4 ปีที่ผ่านมาพื้นที่ริมฝั่งทะเลบ้านท่าฉางถูกทำลายอย่างหนักด้วยเครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นเรืออวนลาก เรืออวนรุน จนส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศชายฝั่ง สัตว์น้ำทะเลต่าง ๆ เริ่มหดหาย แต่ในปัจจุบันพื้นที่ริมฝั่งทะเลบ้านท่าฉางได้ฟื้นตัวคืนคงความอุดมสมบูรณ์อีกครั้งหนึ่ง ชาวประมงพื้นบ้านเริ่มหันกลับมาทำการประมง ด้วยเครื่องมือดั่งเดิมที่สามารถสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้ ซึ่งในปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เลี้ยงปูนิ่ม หาหอย ตกปู หาปลา ตามฤดูกาล และอาชีพทางการเกษตรการผลิตเมล็ดกาหยูแบบคั่ว และแบบเผาด้วยวิธีการแบบโบราณ โดยบ้านท่าฉางเป็นแหล่งผลิตกาหยู เพื่อจําหน่ายเป็นของฝากของจังหวัดระนอง นอกจากนี้ยังมีการประกอบอาชีพค้าขายและรับจ้างทั่วไป ซึ่งแรงงานส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานในครัวเรือน
ชาวบ้านส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มีมัสยิดประจําหมู่บ้าน คือ มัสยิดอัลฟาอีซีนย เป็นศูนย์รวมจิตใจ หมู่บ้านท่าฉางมีบาลาย (ที่สอนหนังสือ) 3 แห่ง คือ บาลายบ้านทุ่งบน บาลายบ้านในหาด และบาลายที่ต้น สน เป็นสถานที่ประกอบประเพณีและพิธีกรรมทางศาสนา โดยปกติแล้วชาวบ้านท่าฉางมีประเพณีและพิธีกรรมทางศาสนาที่สำคัญ ดังนี้
ประเพณีการเข้าสุหนัต
การเข้าสุหนัต (มาโซะยาวี) คําว่า สุหนัด ภาษาอาหรับว่า สุนนะฮฺ แปลว่า แบบอย่างหรือ แนวทาง หมายความว่า เป็นการปฏิบัติตามนบีที่ได้เคยทํามา คําว่า มาโซะยาวี เป็นภาษามลายู (มาโซะ แปลว่า เข้า ยาวี เป็นคําใช้เรียกชาวอิสลามที่อยู่แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยส่วนรวม) หมายถึงเข้าอิสลาม หรือพิธีขลิบหนังปลายอวัยวะเพศชาย การเข้าสุหนัตชายมักจะทําในระหว่างอายุ 9 ขวบ ถึงอายุ 15 ขวบ ส่วนหญิงจะเข้าสุหนัตตั้งแต่คลอดใหม่ ๆ จนอายุไม่เกิน 2 ขวบ
พิธีเข้าสุหนัตหญิงนั้น หมอตําแยจะเอาสตางค์แดงมีรู วางรูสตางค์ตรงปลายกลีบเนื้อซึ่งอยู่ ระหว่างอวัยวะเพศของทารกหญิงแล้วใช้มีดคม ๆ หรือปลายเข็มสะกิดปลายเนื้อส่วนนั้นให้เลือดออกมาขนาดแมลงวันตัวหนึ่งกินอิ่ม เป็นอันเสร็จพิธี ส่วนการเข้าสุหนัตชายนั้น ผู้ทําพิธีขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศเรียกว่า โต๊มเต็ง บางรายจะจัดงานและมีขบวนแห่ใหญ่โต เชิญแขกเหรื่อให้มากินเหนียว (มาแกปูโละ) หรือบางรายจัดให้มีการแสดงมหรสพ เช่น มะโย่ง ลิเกฮูดูให้ชมด้วย
ประเพณีวันเมาลิด
เมาลิดเป็นภาษาอาหรับ แปลว่า ที่เกิดหรือวันเกิด หมายถึง วันเกิดของนบีมูฮัมมัด ตรงกับวันที่ 12 เดือนรอบีอุลอาวาล หรือเดือนที่ 3 ตามปฏิทินอาหรับ วันเมาลิดยังเป็นวันรําลึกถึงวันที่ท่านนบีมูฮัมหมัดลี้ภัยจากเมืองเมกกะไปยังเมืองมาดีนะห์ และเป็นวันมรณกรรมของท่านด้วย กิจกรรมต่าง ๆ ในวันเมาลิด ได้แก่ การเชิญคัมภีร์อัล-กุรอ่าน การแสดงปาฐกถาธรรม การแสดงนิทรรศการ และการเลี้ยงอาหาร ฯลฯ
ประเพณีอาซูรอ
อาซูรอ เป็นภาษาอาหรับ หมายถึงวันที่ 10 ของเดือนมุฮัวรอม ซึ่งเป็นเดือนทางศักราชอิสลาม มีตำนานเล่าว่าในสมัยนบีนุฮ ได้เกิดน้ำท่วมใหญ่ สร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินไร่นาของประชาชน เกิดภาวการณ์ขาดแคลนอาหาร นบีนุฮจึงประกาศให้ผู้ที่มีสิ่งของที่เหลือพอจะกินได้ให้เอามากองรวมกันเพื่อให้เหล่าสาวกได้รับประทานอาหารร่วมกันและเหมือนกัน
ในสมัยนบีมูฮัมมัด (ศ็อล) เหตุการณ์ทํานองนี้ได้เกิดขึ้นขณะที่กองทหารของท่านกลับจาก การรบที่บาดัง ปรากฏว่าทหารมีอาหารไม่พอกิน ท่านจึงใช้วิธีการของนบีนุฮ ให้ทุกคนเอาข้าวของที่กินได้มากวนเข้าด้วยกันแล้วแบ่งกันกินในหมู่ทหาร เครื่องปรุงสําคัญประกอบด้วย เครื่องแกง มีข่า ตะไคร้ หอม กระเทียม ผักชี ยี่หร่า ข้าวสาร เกลือ น้ำตาล กะทิ กล้วย หรือผลไม้อื่น ๆ เนื้อ ไข่ นำมาตําหรือบดเครื่องแกงอย่างหยาบ ๆ เทส่วนผสมต่าง ๆ ลงในกระทะใบใหญ่ เมื่ออาหารสุกเป็นเนื้อเดียวกันแล้วจึงตักใส่ถาด โรยหน้าด้วยไข่เจียวบาง ๆ หรืออาจเป็นหน้ากุ้ง เนื้อสมัน ปลา สมัน ผักชี หอมหั่น พอเย็นแล้วก็ตัดเป็นชิ้น ๆ คล้ายขนมเปียกปูน
การกินอาหารในวันอาชูรอมีบัญญัติไว้ในอุลกุรอาน โดยให้บริโภคจากสิ่งที่อนุมัติและสิ่งที่ดี ไม่บริโภคอย่างสุรุ่ยสุร่ายและสิ่งที่ก่อให้เกิดโทษแก่ร่างกาย สติปัญญา อาหารที่ไม่อนุมัติ เช่น เนื้อหมู เลือด สัตว์ที่ตายแล้ว สัตว์ที่เชือดโดยเปล่งนามอื่นนอกจากอัลเลาะห์ สัตว์ที่เชือดเพื่อบูชายัญ ส่วนสัตว์ที่ตายเองต้องมีสาเหตุดังนี้คือ สัตว์ที่ถูกรัด สัตว์ที่ถูกตี สัตว์ที่ตกจากที่สูง และสัตว์ที่ถูกสัตว์ป่ากิน สัตว์ที่ตายเองในห้าลักษณะดังกล่าวหากเชือดทันก็สามารถบริโภคได้ อาหารที่จัดอยู่ในพวกเครื่องดื่มมึนเมาและสิ่งอื่นใดก็ตามที่อยู่ในข่ายก่อให้เกิดโทษมากกว่าเกิดประโยชน์ ก็ไม่เป็นที่อนุมัติเช่นกัน เช่นเหล้า ยาเสพติดทุกประเภท ฯลฯ
ประเพณีฮารีรายอ
ประเพณีฮารีรายอ หรือเทศกาลฮารีรายอมีการจัดงานอยู่สองวัน คือ
- วันอิฎิลฟิตรี เป็นวันรื่นเริง เนื่องจากสิ้นสุดการถือศีลอดในเดือน รอมฎอน เป็นการกลับเข้าสู่สภาพเดิม ตรงกับวันที่ 1 ของเดือนเซาวาล ซึ่งเป็นเดือนที่ 10 ทางจันทรคติ การปฏิบัติของชาวอิสลามในวันฮารีรายอจะบริจาคทานเรียกว่า ซากัดฟิตเราะห์ (การบริจาคข้าวสาร) แก่คนแก่หรือคนยากจน บางครั้งจึงเรียกว่า วันรายอฟิตเราะห์ หลังจากนั้นจะไปละหมาดที่มัสยิด และมีการขอขมาจากเพื่อน มีการเยี่ยมเยียนญาติพี่น้องที่อยู่ใกล้และไกลออกไป ทั้งยังมีการเลี้ยงอาหารในวันนี้ด้วย
- วันรายออิฎิลอัฎฮา คําว่า อัฎฮา แปลว่า การเชือดพลี เป็นการเชือดสัตว์เพื่อเป็นอาหารแก่ประชาชนและคนยากจน อิดัลอัดฮา จึงหมายถึง วันรื่นเริงเนื่องในวันเชือดสัตว์พลี ตรงกับวันที่ 10 ของเดือนซุลฮจญะ เป็นเวลาเดียวกับการประกอบพิธีฮัจญ์ที่เมืองเมกกะของชาวอิสลามทั่วโลก ชาวไทยอิสลามจึงนิยมเรียกวันตรุษนี้ว่า วันอีดใหญ่ การปฏิบัติจะมีการละหมาดร่วมกันและเชือดสัตว์เช่น วัว แพะ แกะ แล้วแจกจ่ายเนื้อสัตว์เหล่านั้นแก่คนยากจน การเชือดสัตว์พลีนี้เรียกว่า กุรบาน
ภาษาที่ใช้สื่อสารกันภายในชุมชนบ้านท่าฉางนั้นมีทั้งภาษามลายูและภาษาไทย โดยกลุ่มที่พูดภาษามลายูหรือชาวไทยมุสลิมมักตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นกลุ่มไม่ปะปนกับกลุ่มศาสนาอื่น ปัจจุบันผู้ที่พูดภาษามลายูก็สามารถพูดไทยได้เป็นส่วนใหญ่ เพราะมีการศึกษาสูงขึ้นตามความเจริญของท้องถิ่นและความจําเป็นที่ต้องประกอบอาชีพที่สัมพันธ์กัน สําหรับชาวพุทธที่พูดภาษาไทยก็สามารถพูดภาษามลายูได้ นับว่าเป็นวิวัฒนาการด้านวัฒนธรรมในปัจจุบัน
ท่าต้นสนกับวิถีชีวิตและเศรษฐกิจของชาวท่าฉาง
ปัจจุบันพื้นที่ชายทะเลท่าฉางมีการก่อสร้างท่าเรือต้นสน โดยมีการคาดการณ์คาดเมื่อท่าเรือเปิดให้บริการจะส่งผลกระทบต่อวิถีการประกอบอาชีพของชาวบ้าน ทั้งนี้ ชาวท่าฉางก็ได้มีคิดวางแผนเอาไว้เมื่อถึงเวลาที่ท่าเรือเปิดก็จะเกิดอาชีพใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้นและคนในชุมชนก็มีงานทำที่ดีขึ้นจากเดิม แต่การพัฒนาท่าเรือเมื่อเป็นไปในทางที่ดีก็จะมีทางที่ไม่ดีตามมาด้วยเช่นเดียวกัน ทว่าชาวบ้านไม่ได้มองว่าผลกระทบทางลบที่จะตามมานั้นเป็นปัญหาใหญ่โตแต่อย่างใด ด้วยชาวท่าฉางมีความต้องการให้ท่าเรือมีการพัฒนาให้เจริญมากยิ่งขึ้น เพราะจะช่วยสร้างอาชีพใหม่ให้เกิดขึ้นภายในชุมชน เช่น เรือรับจ้าง รถรับจ้าง กิจกรรมด้านการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตในชุมชน ตลอดจนการแปรรูปสัตว์น้ำ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชน ทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในชุมชน ส่วนผลกระทบทางอ้อมมคือการเปิดให้บริการท่อเรืออาจทำให้มีประชากรแฝงจากภายนอกเข้ามาในชุมชน แต่ดังที่กล่าวไปแล้วว่าชาวท่าฉางหาได้มองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาใหญ่ เพราะสิ่งสำคัญที่สุดที่ชาวท่าฉางต้องการ คือ ท่าเรือแห่งนี้จะนำมาซึ่งแนวทางและลู่ทางประกอบชีพ เพื่อกระตุ้นระบบเศรษฐกิจสร้างเม็ดเงินให้หมุนเวียนในชุมชนอย่างมั่นคง
หลักการทักทายตามแนวทางของศาสนาอิสลาม (สะลาม)
การทักทาย หรือ การให้สะลามเมื่อพบปะกัน คือ การกล่าว “อัสลามุอลัยกุม” และมีการสัมผัสมือกัน สําหรับผู้ที่ถูกให้สลามจําเป็นจะต้องตอบว่า “อาลัยกุมมุสลาม” การปฏิบัติเกี่ยวกับการกล่าวสะลาม มีหลายประการ คือ
1. การสะลามและการจับมือด้วย ซึ่งกระทําได้ระหว่างชายกับชาย และหญิงกับหญิง สําหรับชายกับหญิงทําได้เฉพาะผู้ที่อยู่ในฐานะที่แต่งงานกันไม่ได้เท่านั้น เช่น พ่อกับลูก พี่กับน้อง หากชายหญิงนั้นอยู่ในฐานะที่จะแต่งงานกันได้เป็นสิ่งต้องห้าม
2. ผู้ที่อายุน้อยกว่าควรให้สะลามผู้ที่อายุมากกว่า
3. เมื่อจะเข้าบ้านไม่ว่าจะเป็นบ้านของตนเองหรือผู้อื่น สิ่งแรกที่จะต้องทํา คือ การกล่าวสะลาม ให้แก่ผู้ที่อยู่ในบ้านทราบก่อน หากกล่าวครั้งแรกยังไม่มีผู้รับสะลามก็ให้กล่าวอีกสองครั้ง ถ้ายังไม่มีผู้กล่าวรับก็ให้เข้าใจว่าเจ้าของบ้านไม่อยู่หรือไม่พร้อมที่จะรับแขกก็ให้กลับไปก่อน แล้วค่อยมาใหม่
4. จะต้องมีการกล่าวสะลามก่อนที่จะมีการสนทนาปราศรัย
5. เมื่อมีผู้ให้สะลาม ผู้ฟังหรือผู้ที่ได้ยินต้อง (บังคับ) กล่าวรับสะลาม ถ้าอยู่หลายคนก็ให้คนใดคนหนึ่งกล่าวรับถือเป็นการใช้ได้ ถ้าไม่มีผู้ใดรับสะลามเลยจะเป็นบาปแก่ผู้นั้น
โสรดา เทพนุรักษ์ และคณะ. (2561). แนวทางการปรับตัวด้านอาชีพของคนในชุมชนบ้านท่าฉาง ภายใต้บริบทของการพัฒนาท่าเรือในตำบลหงาว อำเภอเมือง จังหวัดระนอง. สำนักงานกองทุนสนับสุนการวิจัย (สกว.). ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น.
อวดระนอง. (2563). ท่าต้นสน บ้านท่าฉาง ตำบลหงาว. สืบค้นเมื่อ 19 กรกฎาคม 2566, จาก https://web.facebook.com/
Anunida Anantachoke. (ม.ป.ป.). ท่าต้นสน หงาว ระนอง. สืบค้นเมื่อ 19 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.pinterest.com/
Google Maps. (ม.ป.ป.). สืบค้นเมื่อ 19 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.google.com/maps/