น้ำตกขุนต๊ำ จำปาทองลือชื่อ ศักดิ์สิทธิ์ คือพระธาตุโป่งขาม ลือนามแดนข้าวโพดหวาน เล่าขานถิ่นสาวงาม โดดเด่นวัฒนธรรมล้านนา ผลิตภัณฑ์ผักตบชวา ภูมิปัญญาท้องถิ่น
คำว่า "ต๊ำ" หมายถึง ลำน้ำแม่ต๊ำที่ไหลผ่านหมู่บ้าน ส่วนคำว่า "ม่อน" (ถิ่น-พายัพ) หมายถึง เนินเขา,ยอดเขา "ต๊ำม่อน" จึงหมายถึงหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บนเนินเขาตลอดสองฝั่งลำน้ำแม่ต๊ำ
น้ำตกขุนต๊ำ จำปาทองลือชื่อ ศักดิ์สิทธิ์ คือพระธาตุโป่งขาม ลือนามแดนข้าวโพดหวาน เล่าขานถิ่นสาวงาม โดดเด่นวัฒนธรรมล้านนา ผลิตภัณฑ์ผักตบชวา ภูมิปัญญาท้องถิ่น
พ.ศ. 2264 พระพุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองแผ่ขยายถึงล้านนา ได้มีเจ้าแม่แก้ว วันนา เป็นบุตรของเจ้าน้อยมหาพรหมและเป็นพี่ของเจ้าหลวงมหาชัยหรือพระเจ้าประเทศอุดรทิศ (เจ้าเมืองพะเยา ต้นตระกูลศรีติสาร) เห็นว่าพื้นที่ในสถานที่ตั้งของวัดต่ำม่อนเดิมเหมาะสมเป็นที่ตั้งสถานประกอบพิธีทางศาสนาลัทธิมหายาน เจ้าแม่แก้ววันนาจึงได้พระพุทธรูปพระประธานถวายเป็นทาน โดยจ้างปู่สล่า (ช่าง) ส่าง (ชาติพันธ์ุไทยใหญ่ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า เงี้ยว) คำตั๋น เป็นช่างปั้นนับ การสร้างพระพุทธรูป เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องประดับด้วยแก้วศรีต่าง ๆ ชาวบ้านเรียก "พระเจ้าเงี้ยว" พระประธานองค์นี้ถูกสร้างขึ้นมาพร้อม ๆ กับอารามเล็ก ๆ อยู่กลางป่ามีตันโพธิ์(ตันศรี) ขึ้นมารอบอาราม ต่อมาขาดคนดูแลรักษากลายเป็นวัดร้างหลายปี พวกชาวเงี้ยว ชาวขมุและลั๊วะ อยู่ไม่เป็นหลักแหล่งย้ายที่ทำกินไปเรื่อย ๆ และสมัยนั้นอยู่กันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ มีการรบราฆ่าฟันกันจึงต้องทิ้งถิ่นฐานไป
ในเวลาต่อมาก็เริ่มมีชาวบ้านมาตั้งถิ่นฐานอีก รวมทั้งชาวลำปางได้อพยพมาอาศัยอยู่เพิ่มเป็นจำนวนมากขึ้นจนถึงปัจจุบัน นับว่าชาวบ้านต๊ำม่อนปัจจุบันมีเชื้อสายมาจากลำปางและได้ช่วยกันบูรณปฏิสังขรณ์วัดม่อนขึ้นมาใหม่มีชื่อเรียกกันหลายชื่อ วัตต๊ำม่อนดอนชัยบ้าง วัดดอนศรีล้อมบุญโยงบ้าง ตามแต่จะเรียกกัน เหตุที่เรียกเช่นนี้เพราะวักนี้ล้อมรอบไปด้วยตันศรีหรือต้นโพธิ์และวัดตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เป็นเนินสูง ๆ ต่ำ ๆ (ที่เนินสูง ๆ ต่ำ ๆ ชาวบ้านเรียกว่า "ม่อน") ดังนั้นบางกลุ่มจึงเรียกกันว่า "วัดต๊ำม่อนศรีล้อมดอนชัย" บางกลุ่มก็พากันเรียก "วัดต๊ำม่อนศรีบุญโยง" เนื่องจากเป็นวัดที่มีชาวบ้านทั่วสารทิศมาทำบุญกันมาก ทั้งชาวพื้นเมืองเงี้ยว ขมุและลั๊วะเพราะพื้นที่แห่งนี้มีวัดต๊ำม่อนเป็นวัดแห่งแรกเหมือนกับเนื้อนาบุญที่โยงใยทั่วถึงกันต่อมานิยมเรียกกันสั้น ๆ ว่า "ต๊ำม่อน" วัดต๊ำม่อนหลังจากถูกรกร้างมานานก็ได้มีครูบาคัณธะวัง ครูบาปัญญาและพระครูบาแว ร่วมกับชาวบ้านได้ช่วยกันบูรณปฏิสังขรณ์เป็นถาวรสถานและมีถาวรวัตถุสืบทอดศาสนาต่อ ๆ กันมา โดยมีพ่อหรานมะโนเป็นมัคนายกหรืออาจารย์วัดเป็นคนแรกและมีพ่อ
หน้อยศรึใจ นามบาน เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกของบ้านต๊ำม่อน วัดม่อน ตั้งอยู่เลขที่ 2 หมู่ที่ 6 บ้านต๊ำม่อน อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 5 ไร่ 81 ตารางวาโฉนดที่ดิน เลขที่ 62133/62134
พ.ศ. 2516 ได้มีการก่อตั้งสถานีอนามัยตำบลบ้านต๊ำ เพื่อดูแลปัญหาความเจ็บป่วยเบื้องต้นของชาวบ้าน
พ.ศ. 2518-2524 ปกครองโดย พ่อหลวงกองคำ ปันคำ(ผู้ใหญ่บ้าน) ได้รับงบประมาณจากทางราชการ จึงได้มีการขยายถนนให้กว้าง 3 เมตร ขยายเป็น 8 เมตร และได้รับงบประมาณสนับสนุนเพื่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กแทนสะพานไม่เดิม และวางแผนขอไฟฟ้าและถนนคอนกรีตเข้าสู่หมู่บ้านสำเร็จในปี พ.ศ. 2520 ทำให้การคมนาคม การเดินทางไปรักษาเมื่อเจ็บป่วยสะดวกมากขึ้น เช่นเดินทางไปรักษาที่โรงพยาบาลพะเยาหรือเดินทางไปรักษาด้วยการเป่า หมอชาวบ้าน ในอีกหมู่บ้าน ถือเป็นความเชื่อทางไสยศาสตร์ และในปีดังกล่าวได้มีการย้ายคริสจักรจากบ้านต๊ำพระแลมาก่อตั้งที่บ้านต๊ำม่อนถือเป็นศูนย์รวมของพี่น้องศาสนาคริสต์และมีพิธีนมัสการพระเจ้าในทุกวันอาทิตย์ ปัจจุบันอยู่ในเขตบ้านม่อน หมู่ 6
พ.ศ. 2524 ประชาชนไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีนโยบายกระทรวงสาธารณสุขมุ่งเน้นการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชน มีการรับสมัคร อสม. ทุกหมู่บ้าน มีการอบรม อสม. ให้มีความรู้ในการดูแลสุขภาพประชาชนทุกกลุ่มประชากรหน่วยงานรัฐกระทรวงสาธารณสุขอบรม อสม. เกิดกลุ่ม อสม. ในหมู่บ้านเพื่อร่วมกันดูแลสุขภาพของคนในชุมชน และเริ่มสร้างฝายทดแทนน้ำแม่ต่ำเนื่องจากหมู่บ้านมีสภาพแห้งแล้งเริ่มโดยนายก๋องคำ ปันคำ
พ.ศ. 2532 ได้มีการก่อตั้งเทศบาลตำบลบ้านต๊ำ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
พ.ศ. 2536 มีการกระจายอำนาจการปกครองเกิดการพัฒนาด้วยแนวคิดผู้นำในหมู่บ้านพ่อหลวงก๋องคำ ปันคำ จึงจัดการจัดประชาคมหมู่บ้านและดำเนินเรื่องเพื่อแยกบ้านต๊ำม่อนเป็น 2 หมู่บ้าน คือ ม.6 และม.12 เพื่อให้ได้รับงบประมาณในการพัฒนาหมู่บ้านและการกระจายอำนาจการปกครองโดยใช้ลำน้ำแม่ต๊ำเป็นแนวกั้นทุกกลุ่มประชากรเกิดหมู่บ้านขึ้นใหม่ 1 หมู่บ้าน
พ.ศ. 2540 มีการแยกบ้านต๊ำม่อนเป็น 2 หมู่บ้านอย่างเป็นทางการ คือหมู่ 12
พ.ศ. 2544 พ่อหลวงเซ็น มูลเข้า ได้จัดตั้งกลุ่มเลี้ยงปลาดุกและกลุ่มเลี้ยงวัวเพื่อส่งเสริมรายได้ให้กับคนในชุมชน มีการตั้งกองทุนหมู่บ้านโดยบริหารจัดการกองทุนในรูปแบบของสมาชิกกลุ่ม ปล่อยกู้ให้สมาชิกรายละ 30,000 บาท/คน ให้สมาชิกออมทุกเดือน ๆ ละ 50 บาท รัฐบาล สนับสนุนงบประมาณ มีสมาชิกกองทุน จำนวน 120 คน เกิดกลุ่มกองทุนและมีผู้รับผิดชอบในรูปแบบของคณะกรรมการกองทุน ซึ่งประชาชนในหมู่บ้านมีการประกอบอาชีพหลัก ๆ คือ การทำการเกษตรที่อยู่กับไร่สวน มีรายได้จากการขายผลผลิตทางการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ จากการประกอบอาชีพทำนา ทำไร่ ทำการเกษตรที่มีต้นทุนจากการผลิตสูง เช่น ค่าปุ๋ย ค่ายาฆ่าแมลง เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้เกิดกลุ่มต่าง ๆ ขึ้นในชุมชน และส่งผลให้กลุ่มนั้นเข้มแข็งช่วยเหลือตนเองได้และช่วยเหลือชุมชน ได้แก่ 1.กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน 2. กลุ่ม อสม.
พ.ศ. 2545 ก่อตั้งกลุ่มจักสานเพื่อส่งเสริมรายได้ในช่วงเวลาว่างจากการทำไร่และทำไร่สวน
พ.ศ. 2547 ยุบกลุ่มจักสาน เนื่องจากไม่มีผู้มารับซื้อผลิตภัณฑ์ของชาวบ้าน แต่ในปัจจุบันยังมีไม่กี่ครัวเรือนที่ยังทำเพื่อเสริมรายได้ในครัวเรือนของตนเอง
พ.ศ. 2552 จัดตั้งกลุ่มปุ๋ยหมักเพื่อใช้ในการเกษตรเพื่อลดต้นทุนในการผลิตและลดการใช้สารเคมีที่อาจส่งผลต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
พ.ศ. 2553 พ่อหลวงศรีทอง สมวัน มีการจัดตั้งกลุ่มเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อให้ชาวนานำเมล็ดข้าวไปปลูกก่อนเมื่อได้รายได้จากการขายข้าวแล้วจึงนำเงินมาจ่ายค่าเมล็ดพันธุ์ข้าวให้กับกลุ่ม
พ.ศ. 2558 ก่อตั้งกลุ่มโคมไฟ เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีรายได้ ปัจจุบันกลุ่มตั้งอยู่ที่หน้าวัด บ้านต๊ำม่อน หมู่ที่ 6 แต่สมาชิกที่เข้าร่วมกลุ่มเป็นผู้สูงอายุที่มาจากหลายหมู่บ้าน รวมถึงผู้สูงอายุบ้านต๊ำม่อนหมู่ที่ 12
พ.ศ. 2560 เกิดอุทกภัยน้ำท่วมในหมู่บ้าน เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินครัวเรือน แต่ไม่ได้รับการเยียวยาในส่วนนี้แต่ได้รับการช่วยเหลือจากเทศบาลบ้านต่ำคือ ถุงยังชีพและคนในชุมชนจึงร่วมมือกันในการจัดทำฝ่ายกั้นน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม
มีพื้นที่หมู่บ้านประมาณ 180 ไร่ พื้นที่การเกษตร 1,070 ไร่ พื้นที่ทำนา 800 ไร่
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ : ติดต่อกับ ตำบลท่าจำปี อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
- ทิศใต้ : ติดต่อกับ บ้านต๊ำม่อน หมู่ที่ 6 อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
- ทิศตะวันออก : ติดต่อกับ บ้านต๊ำพระแล หมู่ที่ 7-11 อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
- ทิศตะวันออก : ติดต่อกับ บ้านต๊ำเหล่า ตำบลท่าจำปี อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
ลักษณะภูมิประเทศ
พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบต่ำ ลาดเอียงจากทางทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตก สำหรับใช้ทำการเกษตรเป็นหลัก มีพื้นที่หมู่บ้านประมาณ 180 ไร่ พื้นที่การเกษตร 1,070 ไร่ พื้นที่ทำนา 800 ไร่ นอกจากนั้นยังมีพื้นที่บางส่วนติดกับเขตพื้นที่ป่าไม้ คือ อุทยานแห่งชาติดอยหลวง มีน้ำตกจำปาทองและน้ำตกขุนต๊ำและมีลำน้ำไหลผ่าน 2 สายหลัก ได้แก่ ลำน้ำแม่ต๊ำ และลำน้ำอิง ซึ่งลำน้ำทั้งสองนี้หลังจากไหลบรรจบกันทางทิศตะวันออกบริเวณบ้านต๊ำดอนมูล หมู่ที่ 2 และจะไหลลงสู่กว๊านพะเยาทางทิศเหนือของกว๊านพะเยา
จากการสำรวจของนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีพะเยา ปี 2562 มีบ้านเรือนทั้งหมด 117 หลังคาเรือน จำนวนประชาการที่อาศัยอยู่จริงทั้งหมด 486 คน เพศชาย 246 คน เพศหญิง 240 คน
ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีวัดเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ เปรียบเสมือนศูนย์กลางของชุมชน วิถีชีวิตขนบธรรมเนียมประเพณีของคนในชุมชนมีความเกี่ยวข้องกับวัดแทบทั้งสิ้น โดยกลุ่มวัยที่มีความเกี่ยวข้องกับวัดโดยตรงคือ ผู้สูงอายุ ซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นทุกปี ในหมู่บ้านต๊ำม่อน มีกิจกรรมทางศาสนาตลอดทั้งปี วัดสามารถเป็นศูนย์รวมทางด้านจิตใจของคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี พระภิกษุสงฆ์ในพื้นที่มีบทบาทในการปรับเปลี่ยนค่านิยมที่เป็นผลเสียต่อคนในชุมชน เช่น การร่วมเป็นฝ่ายสนับสนุนนโยบายงดเหล้าในงานศพ
นอกจากนี้ในหมู่บ้าน มีประชาชนส่วนหนึ่งประมาณ 10 ครัวเรือน ที่นับถือศาสนาคริสต์ มีโบสถ์คริสต์จักรจำนวน 1 แห่ง ตั้งอยู่ในบ้านต๊ำม่อน หมู่ 6 ซึ่งประชาชนในหมู่ 12 ไปเข้าร่วมกิจกกรมทางศาสนาด้วยกัน โดยเฉพาะกิจกรรมประจำทุกวันอาทิตย์
ผู้ใหญ่บ้าน : นายสีทอง สมวัน
กลุ่มที่เป็นทางการ
- กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) : นางทองสุข อ้อยสุข เป็นประธาน
- กลุ่มอาสาสมัครรักษาความสงบสุขของหมู่บ้าน : นายเรียว สะพานแก้ว เป็นประธาน
กลุ่มที่ไม่เป็นทางการ
- กลุ่มผู้สูงอายุ : นายแก้วมูล ทันทะไชย เป็นประธาน
- กลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์ : นายโยธิน สมธิศรี เป็นประธาน
- กลุ่มเลี้ยงวัว : นายสุภาพ สะพานแก้ว เป็นประธาน
- กลุ่มเลี้ยงปลา : นายสุนันท์ กันตา เป็นประธาน
- กลุ่มเมล็ดพันธุ์ข้าว : นายสีทอง สมวัน เป็นประธาน
- กลุ่มทำปุ๋ยอินทรีย์ : นายนิเวศ สายสร้อย เป็นประธาน
- กลุ่มพัฒนาสตรี : นางกรรณิการ์ แสงแก้วตระกูล เป็นประธาน
- กองทุนเงินล้าน : นายสมทบ อินต๊ะ เป็นประธาน
การประกอบอาชีพ
- อาชีพหลัก : เกษตร-ทำนา, เกษตร-ทำสวน, พนักงาน-รับราชการ
- อาชีพรอง : รับจ้างทั่วไป, ค้าขาย
- อาชีพเสริม : เลี้ยงวัว, เลี้ยงปลาดุก, เลี้ยงไก่พื้นเมือง, จักสาน, ไม้กวาดดอกหญ้า, กรีดยาง
- รายได้ของประชาชน : ส่วนใหญ่มาจากการเกษตร
- รายจ่ายของประชาชน : ค่าใช้จ่ายทางเกษตรกรรม เช่น ค่าจ้างรถไถนา, รถเกี่ยวข้าว, ค่าปุ๋ย, ค่าสารเคมี เป็นต้น
- หนี้สินของประชาชน : ส่วนใหญ่เป็นหนี้กู้ยืม ส่วนใหญ่เป็นหนี้จากการกู้ยืม ธกส.และสหกรณ์จังหวัด
- แหล่งเงินทุน : สหกรณ์จังหวัด ธกส. และกองทุนเงินล้าน
- วัตถุดิบในชุมชนในด้านอินทรียวัตถุ : ปุ๋ยหมักชีวภาพจากเศษอาหาร
วัฒนธรรมประเพณี ประเพณีที่สำคัญคือ การเลี้ยงผีขุนน้ำ เป็นประเพณีของตำบลที่มาทำร่วมกัน
- เดือนมกราคม (เดือน 4 ล้านนา) : วันขึ้นปีใหม่, กลางเดือนจัดทำพิธี "ตานข้าวใหม่"
- เดือนกุมภาพันธ์ (เดือน 5 ล้านนา) : เข้ากรรมรุกมูล-เข้ากรรม, เลี้ยงผีหอเจ้าบ้าน
- เดือนมีนาคม (เดือน 6 ล้านนา) : สรงน้ำพระธาตุ
- เดือนเมษายน (เดือน 7 ล้านนา) : ปีใหม่เมือง ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง หรือประเพณีปีใหม่เมือง เป็นประเพณีที่สำคัญของชาวเหนือ หรือชาวล้านนา สืบเนื่องมาจากอดีตกาลที่จะยึดถือเป็นช่วงเปลี่ยนศักราชใหม่ โดยกำหนดจุดที่พระอาทิตย์ย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ ซึ่งมักจะตรงกับวันที่ 13 เมษายน หรือ 14 เมษายนของแต่ละปี และจะกินเวลาประมาณ 4-7 วัน ยาวนานกว่าสงกรานต์ของภาคอื่น ๆ
วันที่ 13 เมษายน วันสังขานต์ล่อง จะมีการจุดประทัด ยิงปืน เพื่อส่งสังขารหรือไล่สังขาร (จะถือเอาตามเวลาสังขานต์ล่องตามที่บอกในปฏิทินปี๋ใหม่เมืองในปีนั้น เช่น บอกว่าสังขานต์จะล่องเมื่อ 03 นาฬิกา 30 นาที 26 วินาที ชาวบ้านก็จะจุดประทัดเวลานั้นถือว่าไล่สังขานต์)
วันที่ 14 เมษายน เป็น "วันดา" คือวันที่ต้อง เตรียมสิ่งของต่าง ๆ เพื่อใช้ทำบุญในวันรุ่งขึ้น วันเน่า ไม่ควรด่าทอ เกิดอุบัติเหตุเจ็บตัว สาปแช่งหรือกล่าวคำร้ายต่อกัน ปากจะเน่าจะเหม็น เป็นอัปมงคลไปทั้งปี
วันที่ 15 เมษายน "วันพญาวัน" วันที่สามของประเพณีปีใหม่เมือง ถือเป็นวันเถลิงศก เปลี่ยนศักราชเริ่มต้นปีใหม่ วันนี้มีการทำบุญทางศาสนาแต่เช้าตรู่ และอุทิศกุศลไปถึงญาติผู้ล่วงลับ หรือเรียกว่า "ตานขันข้าว" นำตุงปักลงบนกองเจดีย์ทราย ช่วงบ่ายเป็นการรดน้ำดำหัว เพื่อขอขมาคนเฒ่าคนแก่ พ่อแม่ ครูอาจารย์ ไปสรงน้ำพระพุทธรูป เจดีย์ เลี้ยงผีปู่ย่าในวันนี้
วันที่ 16 เมษายน "วันปากปี" เป็นวันแรกของปี มารวมตัวกันเพื่อทำบุญเสาใจบ้าน หรือส่งเคราะห์บ้าน พิธีสืบชะตาหมู่บ้าน และพากันไปขอขมา ดำหัว พระเถระผู้ใหญ่ตามวัดต่าง ๆ ดำหัวผู้อาวุโส ผู้นำชุมชน ในตอนค่ำของวันนี้จะมีการบูชาเทียน สืบชะตา ลดเคราะห์ รับโชค เพื่อให้เกิดความเป็นมงคลแก่ครอบครัว โดยในวันปากปีมีความเชื่อบางประการเกี่ยวกับ "แกงขนุน" หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า "แก๋งบ่าหนุน" ที่จะกินกันทุกครอบครัว เพราะเชื่อว่าจะหนุนชีวิตให้เจริญก้าวหน้า ทั้งนี้เหตุผลของการทานแกงขนุนดังกล่าว อาจจะมาจากชื่อขนุน ที่มีความหมายถึงการเกื้อหนุน ค้ำจุน ครอบครัวให้เจริญรุ่งเรืองหรือตลอดปี
- เดือนพฤษภาคม (เดือน 8 ล้านนา) : เลี้ยงผีเจ้าที
- เดือนมิถุนายน (เดือน 9 ล้านนา) : ประเพณีเลี้ยงผีปู่ย่า, ไหว้ผีมดผีเม็ง, เลี้ยงขุนผีน้ำ
- เดือนกรกฎาคม (เดือน 10 ล้านนา) : แรม 1 ค่ำ เดือน 8 ทำบุญเข้าพรรษา
- เดือนสิงหาคม (เดือน 11 ล้านนา) : ช่วงเดือนนี้จะอยู่ในช่วงเข้าพรรษา มีการทำบุญตักบาตร
- เดือนกันยายน (เดือน 12 ล้านนา) : ปล่อยเปรตปล่อยผี ทำบุญให้กับคนที่ล่วงลับไปแล้ว, ตานก๋วยสลาก ช่วงเดือน 12 ล้านนาถึงเดือนยี่ หรือตั้งแต่เดือนกันยายนจนถึงเดือนตุลาคมของทุกปี
- เดือนตุลาคม (เดือน 1 ล้านนา) : ทำบุญออกพรรษา อยู่ในช่วงตานก๋วยสลาก สิ้นสุดเอาในเดือนเกี๋ยงดับ
- เดือนพฤศจิกายน (เดือน 2 ล้านนา) : ทอดกฐิน มีเวลา 1 เดือนหลังจากออกพรรษา ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือนเกี๋ยง (เดือนเกี๋ยงดับ) จนถึงวันเพ็ญเดือนยี่เหนือ, ประเพณียี่เป็ง
- เดือนธันวาคม (เดือน 3 ล้านนา) : มีการร่วมกันเก็บเกี่ยวข้าว ลงแขกเอามื้อ วันคริสต์มาส วันอีสเตอร์ (วันพระเยซูคริสต์ทรงคืนพระชนม์)
1. พระครูสุวัฒน์สังฆโสภณ (จิรวัฒน์)
เจ้าอาวาสวัดต๊ำม่อน เจ้าคณะตำบลบ้านต๊ำ เขต 1 ต.บ้านต๊ำ อ.เมือง จ.พะเยา
การศึกษา : ปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิต (พธ.บ.)
สมณศักดิ์
- 5 ธันวาคม พ.ศ. 2557 เป็น พระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ ชั้นเอก ที่ พระครูสุวัฒน์สังฆโสภณ
- 25 ธันวาคม พ.ศ. 2565 เป็น พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบล ชั้นเอก ในราชทินนามเดิม
ผลงานที่ได้รับการยอมรับและเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง
- พระครูสุวัฒน์สังฆโสภณ เจ้าอาวาสวัดต๊ำม่อน รับรางวัลบุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชน
- กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ พระครูสุวัฒน์สังฆโสภณ เจ้าอาวาสวัดต๊ำม่อน เป็นบุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชน เข้ารับพระราชทานโล่เกียรติคุณและเกียรติบัตร เนื่องในโอกาสวันเยาวชนแห่งชาติ 20 กันยายน 2560
- พระครูสุวัฒน์สังฆโสภณ ได้ดำเนินงานศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ จัดการเรียนการสอนศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ตามระเบียบกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน เข้าใจหลักธรรมของพระพุทธศาสนาและนำไปใช้กับชีวิตประจำวัน จัดกิจกรรมส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมให้แก่เด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ถึงปัจจุบัน และในปี พ.ศ. 2550 ได้เริ่มดำเนินกิจกรรม “โครงการกล้าแผ่นดินพะเยา” เชื่อมโยงระหว่างบ้าน วัด โรงเรียน (บวร) เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมในมิติวัฒนธรรม ผ่านกิจกรรมทางศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมและวิถีชีวิตความเป็นไทยในหลากหลายรูปแบบ ส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน มีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ตระหนักถึงการอุทิศตนเพื่อสาธารณประโยชน์ เป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตนและปฏิบัติตามระเบียบของสังคม และมีความรับผิดชอบการกระทำของตนเองที่มีผลต่อสังคม กล้าแสดงออก กล้าทำความดี มีจิตอาสา และจิตสาธารณะ ดำเนินชีวิตอยู่บนพื้นฐานของหลักปรัชญาเศรษฐกิจ รู้จักคิดเป็น ทำเป็น แก้ไขปัญหาเป็น ดำเนินชีวิตอย่างมีคุณธรรม ห่างไกลอบายมุข สิ่งเสพติด และปัญหาสังคมต่างๆ ดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
- ปี พ.ศ. 2557 พระครูสุวัฒน์สังฆโสภณ ได้รับรางวัลวัฒนคุณาธร ผู้ทำประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรมด้านศาสนา
- ปี พ.ศ. 2558 พระครูสุวัฒน์สังฆโสภณ ได้รับรางวัลเสาเสมาธรรมจักร ผู้ทำประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ประเภท การศึกษาสงเคราะห์ สาขา การศึกษาศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ (พะเยาทีวี, Facebook Page)
ทุนทรัพยากร
พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบต่ำ ลาดเอียงจากทางทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตก สำหรับใช้ทำการเกษตรเป็นหลัก ได้แก่ การทำนา บางส่วนใช้ทำสวน ทำไร่ นอกจากนั้นยังมีพื้นที่บางส่วนติดกับเขตพื้นที่ป่าไม้คือ อุทยานแห่งชาติดอยหลวง มีน้ำตกจำปาทองและน้ำตกขุนต๊ำและมีลำน้ำไหลผ่าน 2 สายหลัก ได้แก่ ลำน้ำแม่ต๊ำ และลำน้ำอิง ซึ่งน้ำทั้งสองนี้หลังจากไหลบรรจบกันทางทิศตะวันออกบริเวณบ้านต๊ำดอนมูล หมู่ที่2 และไหลลงสู่กว๊านพะเยาทางทิศเหนือของกว๊านพะเยา ประชาชนส่วนใหญ่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำเหล่านี้ในการอุปโภคและการเกษตร
ทุนวัฒนธรรม
ชุมชนคุณธรรมวัดต๊ำม่อน ต้นแบบด้านคุณธรรม ความสำเร็จของการขับเคลื่อนชุมชนด้วย 3 มิติ ในมิติศาสนาจัดกิจกรรมศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์, กิจกรรมบวร สานรัก 3 วัย สานใจใกล้ธรรม การปฏิบัติธรรมทุกวันเสาร์ต้นเดือน, กิจกรรมกล้าคุณธรรม อบรมพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมแก่เด็กและเยาวชน, จัดกิจกรรมรวมพลังกล้าแผ่นดิน "ชุมชนคุณธรรม สานสัมพันธ์ กล้าแผ่นดิน สืบสานศิลป์ 4 ภาค” เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมในมิติวัฒนธรรมให้แก่เด็กและเยาวชนมิติหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจัดกิจกรรม ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมการดำรงชีวิตแบบพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวันจัดกิจกรรมชมรมต้นกล้าบ้านต๊ำ ส่งเสริมให้เยาวชนมีจิตอาสา และบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวม, กิจกรรมค่ายละอ่อนกล้าดี ส่งเสริมให้เยาวชนที่ผ่านการอบรมไปขยายเครือข่ายทำความดีในพื้นที่ตนเอง, ค่ายละอ่อนฮักดี ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมแก่นักเรียน ศพอ.วัดต๊ำม่อนมิติวิถีวัฒนธรรมส่งเสริมให้เยาวชนสืบสานศิลปะการตีกลองสะบัดชัย, ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุนำทุนทางวัฒนธรรมมาพัฒนาสร้างสรรค์ทำโคมล้านนาเพื่อจำหน่ายและเปิดพื้นที่เป็นศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชุมชน, ส่งเสริมประเพณีตานต้อด ประเพณีที่แสดงถึงความมีน้ำใจไมตรี ความเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน เพื่อช่วยเหลือหรือสงเคราะห์กันเองของคนในชุมชน
ใต้ร่มพระบารมี ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ตำบลบ้านต๊ำ
วันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2525
ชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขับเคลื่อนด้วยพลังบวร วัดต๊ำม่อนนำพลัง “บวร” บ้าน วัด โรงเรียน มีชุมชนเป็นศูนย์รวมจิตใจ รวมพลังขับเคลื่อนกิจกรรมในชุมชน ส่งเสริมให้คนในชุมชนมีคุณธรรม พึ่งพาตนเองได้ ใช้ชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมไทย โดยยึดข้อปฏิบัติหลัก คือ 1. การน้อมนำหลักธรรมคำสอนไปประพฤติปฏิบัติ 2. การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 3. การดำรงชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมไทย และส่งเสริมให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการสร้าง “ชุมชนคุณธรรม” ให้เข้มแข็ง พึ่งพาตนเอง และเกิดความรักความสามัคคี
วันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2525
เวลา 10.55 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตต์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากลานเฮลิคอปเตอร์ ภูพิงคราชนิเวศน์ ไปทอดพระเนตรโครงการอ่างเก็บน้ำตามพระราชดำริ และทรงเยี่ยมฐานปฏิบัติการกองร้อยทหารราบที่ 4731 ตลอดจนทรงเยี่ยมราษฎร อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา กับอำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย
ครั้นเสด็จพระราชดำเนินถึงบ้านต๊ำพระแล ตำบลบ้านต๊ำ อำเภอเมืองพะเยา ทรงพระดำเนินไปยังฝายทดน้ำแม่ต๊ำ ทรงปล่อยปลานิล ปลาไน ปลาลิ่น และกุ้งก้ามกราม จำนวน 76,000 ตัว ลงในฝายทดน้ำ ซึ่งกรมชลประทานได้ดำเนินการสร้างอย่างถาวรแทนฝายเดิมของราษฎร โดยสามารถส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกบริเวณหมู่บ้านต๊ำพระแล และหมู่บ้านใกล้เคียงในเขตตำบลบ้านต๊ำเป็นเนื้อที่ประมาณ 4,000 ไร่ และมีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคได้ตลอดปี จากนั้นทรงเยี่ยมราษฎรที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ บริเวณสนามหน้าโรงเรียนบ้านต๊ำพระแล แล้วจึงประทับ
เฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินต่อไปยังฐานพญาพิภักดิ์ ตำบลยางฮอม อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย
นายพุฒทะกุล (แพทย์ประจำตำบล) นายก๋อง ชาวเหนือ (อดีตผู้ใหญ่บ้าน บ้านต๊ำม่อน หมู่ 6) และนายก๋องคำ ปันคำ (ผู้ใหญ่บ้าน บ้านต๊ำม่อน หมู่6) เข้าเฝ้ารับเสด็จ ณ บริเวณฝายต๊ำ และเสด็จฯ ทรงเยี่ยมโรงสีข้าวของนายหมิง
พระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพติร ทรงมีพระเมตตาต่อชาวพะเยา โดยเสด็จ พระราชดำเนิน ทรงเยี่ยมพสกนิกร เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525 ได้เสด็จพระราชดำเนิน ทอดพระเนตรโครงการฝายทดน้ำแม่ต๊ำ และทรงเยี่ยมราษฎรบริเวณโรงเรียนบ้านต๊ำพระแล ในท้องที่ตำบลบ้านต๊ำ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับงานชลประทาน ดังนี้
“ควรพิจารณาวางโครงการและก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ฝายทดน้ำ ตามลำน้ำสาขาต่าง ๆ ของแม่น้ำอิง ในจังหวัดพะเยาและจังหวัดเชียงราย เพื่อบรรเทาอุทกภัยสำหรับพื้นที่เพาปลูกในเขตลุ่มน้ำอิง และจัดหาน้ำให้ราษฎรหมู่บ้านต่าง ๆ ในเขตลุ่มน้ำอิงดังกล่าว สามารถมีน้ำทำการเพาะปลูกได้ทั้งในฤดูฝน ฤดูแล้ง และมีน้ำอุปโภค บริโภคตลอดปีด้วย"
โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเฮือก เป็นโครงการตามพระราชดำริ เนื่องมาจากการถวายหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยเฮือกของนายก๋องคำ ปันคำ อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 ตำบลบ้านต๊ำ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา มีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้อุปโภค บริโภคและการเกษตร ไปยังสำนักราชเลขาธิการพระบรมมหาราชวัง ซึ่งความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยเฮือก ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพะเยา)
Google Maps. (2562). พิกัดแผนที่ชุมชนบ้านต๊ำ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562. เข้าถึงได้จาก https://www.google.com/maps
ประวัติจังหวัดในล้านนา จังหวัดพะเยา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562. เข้าถึงได้จาก http://wiangsalanna.myreadyweb.com/
ผู้สูงอายุบ้านต๊ำม่อนรวมตัวผลิตโคมล้านนาจำหน่าย. (2565, 6 ตุลาคม). ข่าวพะเยา. ข่าวพะเยา. [ฉบับอิเล็กทรอนิกส์]. ค้นจาก https://www.khawphayao.com/
พะเยาทีวี. (2560, 22 สิงหาคม). กล้าแผ่นดิน. เข้าถึงได้จาก Facebook Page
พระวัดดังสร้างหุ่นการ์ตูนดึงดูดเยาวชนเข้าวัด. (2565, 27 สิงหาคม). ข่าวพะเยา. ข่าวพะเยา. [ฉบับอิเล็กทรอนิกส์]. ค้นจาก https://www.khawphayao.com/
ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. (2564). กลุ่มเยาวชนกลองสะบัดชัย วัดต๊ำม่อน. 2 มิถุนายน 2564. เข้าถึงได้จาก http://m-culture.in.th/
วธ.ชู ชุมชนคุณธรรมวัดต๊ำม่อน ต้นแบบแก้ปัญหาสังคม. (2561, 15 มกราคม). ผู้จัดการออนไลน์. [ฉบับอิเล็กทรอนิกส์]. ผู้จัดการออนไลน์. ค้นจาก https://mgronline.com/
เครือข่ายเพื่อนฯคุณธรรม วัดต๊ำม่อน ร่วมกับ สถานศึกษา ภาคีเครือข่าย จัดโครงการรวมพลังกล้าแผ่นดิน. (2563, 13 มกราคม). สยามรัฐออนไลน์. [ฉบับอิเล็กทรอนิกส์]. สยามรัฐออนไลน์. ค้นจาก https://siamrath.co.th/
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพะเยา. (2565). ชุมชนคุณธรรมวัดต๊ำม่อน. เข้าถึงได้จาก http://anyflip.com/otsho/xcic/basic
ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. (2563). ชุมชนคุณธรรมวัดต๊ำม่อน. เข้าถึงได้จาก http://www.m-culture.in.th/