Advance search

บ้านแพะ (ป่าละเมาะ)

น้ำตกขุนต๊ำ จำปาทองลือชื่อ ศักดิ์สิทธิ์คือพระธาตุโป่งขาม ลือนามแดนข้าวโพดหวาน เล่าขานถิ่นสาวงาม โดดเด่นวัฒนธรรมล้านนา ผลิตภัณฑ์ผักตบชวา ภูมิปัญญาท้องถิ่น

หมู่ที่ 11
บ้านต๊ำพระแล
บ้านต๊ำ
เมืองพะเยา
พะเยา
เทศบาลตำบลบ้านต๊ำ โทร. 0-5488-8345-6
ขวัญเรือน สมคิด
13 มิ.ย. 2023
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
27 มิ.ย. 2023
กนกวรรณ เอี่ยมชัย
24 ก.ค. 2023
บ้านต๊ำพระแล
บ้านแพะ (ป่าละเมาะ)

เดิมชื่อหมู่บ้าน "ฮ่องไฮ" และเปลี่ยนชื่อมาเป็น "ต๊ำพระแล" คำว่า "ต๊ำ" หมายถึง ลำน้ำแม่ต๊ำที่ไหลผ่านหมู่บ้าน ส่วนคำว่า "พระแล" เนื่องจากในหมู่บ้านมีการมีวัดที่สร้างขึ้นอยู่แห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ติดลำน้ำชาวบ้านเรียกว่า "วัดพระแล"


ชุมชนชนบท

น้ำตกขุนต๊ำ จำปาทองลือชื่อ ศักดิ์สิทธิ์คือพระธาตุโป่งขาม ลือนามแดนข้าวโพดหวาน เล่าขานถิ่นสาวงาม โดดเด่นวัฒนธรรมล้านนา ผลิตภัณฑ์ผักตบชวา ภูมิปัญญาท้องถิ่น

บ้านต๊ำพระแล
หมู่ที่ 11
บ้านต๊ำ
เมืองพะเยา
พะเยา
56000
19.21935552
99.79943052
เทศบาลตำบลบ้านต๊ำ

บ้านต๊ำพระแล หมู่ที่ 7 ตั้งขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2480 เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ซึ่ง ตั้งตามขอบฝั่งลำน้ำแม่ต๊ำต่อมามีหลายหลังคาเรือนขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็นลำดับ เดิมชื่อหมู่บ้าน "ฮ่องไฮ" และเปลี่ยนชื่อมาเป็น "ต๊ำพระแล" คำว่า "ต๊ำ" หมายถึง ลำน้ำแม่ต๊ำที่ไหลผ่านหมู่บ้าน ส่วนคำว่า "พระแล" เนื่องจากในหมู่บ้านมีการมีวัดที่สร้างขึ้นอยู่แห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ติดลำน้ำชาวบ้านเรียกว่า "วัดพระแล" เนื่องจากพระพุทธรูปที่สร้างมาจากทองคำมีความสวยงาม และมีลักษณะตาที่แลมองตามคนที่ผ่านไปผ่านมา ชาวบ้านในสมัยนั้นไม่มีใครกล้าเข้าใกล้และมีความเชื่อเรื่องผีจึงมีอาการหวาดกลัวต่อมาพระสงฆ์แก่รูปหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าอาวาสประจำวัดป่าลานได้มานำพระพุทธรูปองค์นี้ไว้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันยังมีพระพุทธรูปองค์จำลองจากองค์จริงประดิษฐานอยู่ในอุโบสถที่วัดต๊ำพระแล

พ.ศ. 2436 ชาวบ้านได้อพยพเขามาอยู่ใหม่ เพราะเห็นว่าทำเลดี มีลำน้ำแม่ต๊ำเป็นแม่น้ำสายหลักที่อุดมสมบูรณ์ตลอดปี มีพื้นที่กว้างขวาง สามารถขยายความเจริญได้มากมาย มีแหล่งทรัพยากรที่ทำมาหากินได้ไม่รู้จักหมด ผู้นำชุมชนคนแรกย้ายมาจากจังหวัดลำปาง ชื่อ ขุนต๊ำ คนส่วนใหญ่ก็มาจากบ้านลำปางหลวง จังหวัดลำปางบางคนก็มาจากที่อื่น เช่น จังหวัดแพร่ มาครั้งแรกมีความมุ่งหมายที่จะหาที่ทำนา ปลูกข้าวให้ได้มาก ๆ จึงมีการบุกเบิกป่าเพื่อทำนาจนสำเร็จ มีการจัดสรรที่ดินแบ่งกันเพื่อทำมาหากิน มีอาณาเขตครอบครองของหมู่บ้าน และแต่ละครอบครัวกันอย่างกว้างขวาง

พ.ศ. 2440-2463 นายพรมเสน ยานะ ถึง นายสุนันต๊ะ ปวนคำ จะมีการจัดสรรที่ดินทำกินอย่างเป็นสัดส่วน มีอาณาเขตขยายกว้างแน่นอน สร้างรากฐานของหมู่บ้านไว้เป็นอย่างดี

พ.ศ. 2454-2463 นายบุญมา ชมพู ขึ้นเป็นผู้นำอีกคนหนึ่ง เนื่องจากมีการขัดแย้งเรื่องการสร้างวัด ต้องมีการเกณฑ์คนไปทำงาน เพื่อไม่ให้มีการเอาเปรียบกัน การจัดให้มีผู้นำอีกหนึ่งคน เพื่อคอยคุมคน 2 กลุ่ม กลุ่มทางเหนือกับกลุ่มทางใต้โดยมีวัดตั้งเป็นศูนย์กลาง

พ.ศ. 2463-2468 ขยายที่ดินทำกินใหม่ นำโดยนายแปง ขุนอ้อย เป็นชาวบ้านที่ได้รับการยกย่อง เป็นนายช่างที่มีผลงานสร้างวัดต่ำพระแลจนสำเร็จ และสร้างบ้านคนในหมู่บ้านได้สำรวจพื้นที่บริเวณหลังวัดต๊ำพระแล ที่เล็งเห็น ว่าน่าจะเป็นที่นาได้ จึงได้ ออกสำรวจเป็นที่ทำกินแหล่งใหม่ได้จนถึงปัจจุบันบางคนเชื่อทำไม่จำไหลย้อนคืนสมัยนายแก้ว ยานะ

พ.ศ. 2490-2492 เป็นช่วงสงครามโลก ได้ประกาศให้ชาวบ้านเป็นภาวะฉุกเฉิน ทุกครอบครัวได้ทำหลุมหลบภัยจากระเบิดสงคราม

พ.ศ. 2492-2497 นายมา พิทักษ์รัตนศ์ เป็นผู้นำหมู่บ้านต๊ำพระแล

พ.ศ. 2497-2518 สมัยนายไขย ยานะ มีการขยายการศึกษาสู่ปวงชน จึงมีการจัดตั้งโรงเรียนขึ้น โดยมี นายกองคำ ไชยรินคำ และครูอื่น 1 สอนประมาณ 3 คน ได้ขยายโรงเรียน จากที่ข้างวัดไปตั้งสถานที่ใหม่ในปัจจุบันโดยมีนายกองคำ ไชยรินคำ เป็นครูใหญ่ เป็นผู้ร่วมวางแผ่นทั้งหมด นายกองคำ ไชยรินคำ ยังขยายอาณาเขตโรงเรียนให้ได้มากเป็น 100 กว่าไร่ เพื่อรองรับความเจริญโดยตั้งใจมีสนามมาตรฐาน 400 เมตรเป็นศูนย์การแข่งขันกีฬาของตำบลบ้านต่ำอีกด้วย มีการวางแผนแยกหมู่บ้านขยายความเจริญมาบริเวณรอบโรงเรียน

พ.ศ. 2508 พี่น้องศาสนาคริสต์ที่บ้านต๊ำพระแลเริ่มรวมตัวกันที่ศาลาธรรมในการนมัสการพระเจ้าในวันอาทิตย์

พ.ศ. 2518-2522 นายน้อย ยานะ เป็นผู้นำหมู่บ้านต๊ำพระแล ในปี 2520 มีการรับสมัคร อสม. ทุกหมู่บ้านมีการอบรม อสม. ให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพประชาชนทุกกลุ่มประชากรหน่วยงานรัฐกระทรวงสาธารณสุขอบรมอสม. จึงเกิดกลุ่ม อสม. ในหมู่บ้านเพื่อร่วมดูแลสุขภาพของคนในชุมชน

พ.ศ. 2522-2523 นายเมือง มูลข้าว เป็นผู้นำหมู่บ้านต๊ำพระแล

พ.ศ. 2524 เริ่มมีการสร้างฝายทดน้ำแม่น้ำต๊ำเนื่องจากหมู่บ้านมีสภาพแห้งแล้งเริ่มโดยนายก่องคำ ปันคำ เป็นผู้นำได้วางแผนขอไฟฟ้าเข้าสู่หมู่บ้านได้สำเร็จในปี พ.ศ. 2525 และได้ขอยกหมู่บ้าน เป็น 2 หมู่บ้าน ได้วางผังบ้านที่จะแยกไว้โดยจัดสรรที่ดินแบ่งกันคนละกว้างประมาณ 10 วา ยาวไม่เกิน 70 วา มีถนนเส้นต่าง 1 ตลอดจนที่สาธารณะไว้ทำประโยชน์อีกจำนวนหนึ่ง ในสมัยนี้ยังได้ขยายถนน ทำถนนไปถึงน้ำตกจำปาทองและเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2525 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเสด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถพร้อมด้วยเสด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามกุฎราชกุมารีเสด็จทอดพระเนตรฝายทดน้ำแม่น้ำแม่ต๊ำ จากนั้นทรงเยี่ยมราษฎร ณ บริเวณสนามหน้าโรงเรียนบ้านต๊ำพระแล และใน พ.ศ. เดียวกันเริ่มมีโทรทัศน์ขาวดำ โครงการชลประทานขนาดเล็กฝายต๊ำ ตำบลบ้านต๊ำ เป็นสำนักงานชลประทานที่2กรมชลประทานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเริ่มก่อตั้งกลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์

พ.ศ. 2526-2528 นายเมือง มูลข้าว เป็นผู้นำหมู่บ้านต๊ำพระแล

พ.ศ. 2528-2531 นายไพรฤทธิ์ ปีงวงศ์ เป็นผู้นำหมู่บ้านต๊ำพระแล เริ่มสร้างคริสตจักรหลังใหม่ พ.ศ. 2529 ขึ้น ที่หมู่บ้านซึ่งก็คือ คริสตจักรไมตรีสุข ในปัจจุบัน มีก่อตั้งกลุ่มผู้สูงอายุครั้งแรก และมีการใช้เครื่องกระจายเสียงในการแจ้งข่าวต่าง ๆในหมู่บ้าน เช่น การใช้โทรโข่ง

พ.ศ. 2531 นายอุดม ยานะ เป็นผู้นำหมู่บ้านต๊ำพระแล และในวันที่ 1 เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2532 บ้านต๊ำพระแลหมู่ที่ 7 ได้แยกไปอีกหมู่บ้าน คือบ้านต๊ำพระแลหมู่ที่ 11 เนื่องจากมีประชากรเพิ่มมากขึ้น ทำให้การปกครองและการดูแลเป็นไปได้ไม่ทั่วถึงเพื่อให้ได้รับการจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาหมู่บ้าน การกระจายอำนาจการปกครองการแยกหมู่บ้านจะทำให้หมู่บ้านได้งบประมาณและการดูแลชาวบ้านได้ทั่วถึงมากขึ้น

พ.ศ.2532 วันที่ 1 เดือนสิงหาคม บ้านต๊ำพระแลหมู่ที่ 11 ได้แยกออกจากบ้านต๊ำพระแลหมู่ที่ 7 ได้แยกไปอีกหมู่บ้าน คือบ้านต๊ำ เนื่องจากมีประชากรเพิ่มมากขึ้น ทำให้การปกครองและการดูแลเป็นไปได้ไม่ทั่วถึงเพื่อให้ได้รับการจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาหมู่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านคนแรกคือนายไพรฤทธิ์ ปิงวงศ์ 

พ.ศ. 2535 เริ่มมีการนำรถไถนามาใช้แทนควายในการไถนา

พ.ศ. 2539 นายศักดิ์ อ้อยหวาน ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านคนที่ 2 เริ่มมีการก่อสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านต๊ำ และประปาหมู่บ้าน

พ.ศ. 2541 นายประยุทธ อินต๊ะแก้ว ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ 3 เริ่มมีการสร้างถังเก็บน้ำที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก

พ.ศ. 2545 มีการเลือกผู้ใหญ่บ้านคนที่ 4 โดยนายปียะ ยะนา เป็นผู้ได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2545 - 1 สิงหาคม 2549 จัดตั้งกองทุนออมทรัพย์เพื่อการผลิตของหมู่ 11 และจัดตั้งกองทุนหมู่บ้าน

พ.ศ. 2546 จัดตั้งกองทุนเงินล้านของหมู่บ้านหมู่ 11 และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวลืมผัว

พ.ศ. 2549 เริ่มบูรณะวัดม่วง 7 ต้น ซึ่งมีอยู่ในหมู่บ้านประมาณ 10 กว่าปี 

พ.ศ .2550 ได้รับถังเก็บน้ำจากอบต

พ.ศ. 2553 ได้รับถังเก็บน้ำจากโครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง

พ.ศ. 2554 สร้างศาลาอ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้าน

พ.ศ. 2555 การเลือกผู้ใหญ่บ้านคนที่ 6 โดยนายอดุลย์ อ้อยหวาน เป็นผู้ได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งเมื่อ วันที่ 1 สิงหาคม 2555 ถึงปัจจุบัน จัดตั้งกลุ่ม SML เลี้ยงปลา จัดตั้งกลุ่ม SML ปุ๋ย จัดตั้งกลุ่มจักสานไม้ไผ่

พ.ศ. 2558 หมู่บ้านได้รับรางวัลแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง 

ปัจจุบันนายอดุลย์ อ้อยหวาน ดำรงตำแหน่งกำนันตำบลบ้านต๊ำ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2564

พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบต่ำลาดเอียงจากทางทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตก สำหรับใช้ทำการเกษตรเป็นหลัก ได้แก่ การทำนา บางส่วนใช้ทำสวน ทำไร่ นอกจากนั้นยังมีพื้นที่บางส่วนติดกับเขตพื้นที่ป่าไม้คือ อุทยานแห่งชาติดอยหลวง มีน้ำตกจำปาทองและน้ำตกขุนและมีลำน้ำไหลผ่าน 2 สายหลัก ได้แก่ ลำน้ำแม่ต๊ำ และลำน้ำอิง ซึ่งน้ำทั้งสองนี้หลังจากไหลบรรจบกันทางทิศตะวันออกบริเวณบ้านต๊ำดอนมูล หมู่ที่ 2 และไหลลงสู่กว๊านพะเยาทางทิศเหนือของกว๊าน 

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านต๊ำพระแล หมู่ 7 ตำบลบ้านต๊ำ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านห้วยทรายคำ หมู่ 8 ตำบลบ้านต๋อม อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านต๊ำม่อนหมู่ 6 ตำบลบ้านต๊ำ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ เขตอุทยานแห่งชาติดอยหลวง

บ้านต๊ำพระแล หมู่ 11 เป็นหมู่บ้านที่ขยายมาจากบ้านต๊ำพระแล หมู่ที่ 7 จึงเปรียบเสมือนบ้านต๊ำพระแล หมู่ 7 เป็น "บ้านแม่" และบ้านต๊ำพระแล หมู่ 11 เป็น "บ้านลูก" ซึ่งก็คือ บุตรของครอบครัวบ้านต๊ำพระแลหมู่ 7 ที่ขยายครอบครัวในเขตบ้านต๊ำพระแลหมู่ 11 ปัจจุบัน ซึ่งก็คือรุ่นลูกที่ไปตั้งครัวเรือนในพื้นที่ที่ติดกัน ซึ่งเป็นเนินลดหลั่นกันตามแนวของพื้นที่ หรือบางทีเรียกกันว่าบ้านแพะ (ป่าละเมาะ) มีจำนวนหลังคาเรือนตามทะเบียนบ้าน มีจำนวน 430 ครัวเรือน จำนวนครัวเรือนที่อาศัยอยู่จริง 273 ครัวเรือน

กำนันตำบลบ้านต๊ำ : นายอดุลย์ อ้อยหวาน

ผู้ช่วย : นายสง่า ยอดคำ, นายประหยัด ประจวบ

ภายในหมู่บ้านยังมีการรวมกลุ่มของประชาชนในหมู่บ้าน ดังนี้

กลุ่มที่เป็นทางการ

  • กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) : นางสุขคำ สิริเมือง เป็นประธาน มี อสม.รวมประธานทั้งสิ้น 19 คน
  • กองทุนหมู่บ้าน และกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต : นายปลัด รัตนเกษมกุล เป็นประธาน
  • สมาชิกตำรวจบ้าน (สตบ.) : นายมนตรี วังผา เป็นประธาน
  • กลุ่มอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) : นางสวย อ้อยหวาน เป็นประธาน 

กลุ่มที่ไม่เป็นทางการ

  • กลุ่มผู้สูงอายุ : นายวาส ผาทอง เป็นประธาน 
  • กลุ่มแม่บ้าน : นางนิตยา ชมภู เป็นประธาน
  • กลุ่มโคเนื้อ : นางภคพร อ้อยหวาน เป็นประธาน 
  • กลุ่มฌาปณกิจสงเคราะห์ : นางเพ็ญจันทร์ ปวนคำ เป็นประธาน
  • กลุ่มเลี้ยงปลา SML : นายทิวา อ้อยหวาน เป็นประธาน
  • วิสาหกิจชุมชนข้าวลืมผัว : นายไอศูรย์ ช้างแก้ว เป็นประธาน
  • กลุ่มยุ้งฉาง : นายสมศักดิ์ อ้อยมูล เป็นประธาน
  • กลุ่มจักสานไม้ไผ่ : นายอดุลย์ อ้อยหวาน เป็นประธาน
  • กลุ่มโฮม สปา บ้านสมุนไพร : นางภคพร อ้อยหวานเป็นประธาน
  • กลุ่มสานกระเป๋าพลาสติก : นางขันทอง ปัญญาสุข เป็นประธาน 

  • อาชีพหลัก : เกษตรกรรม ได้แก่ ทำนา, ทำสวนยางพารา, ทำสวนหอม,เลี้ยงปลา นอกจากนี้ยังประกอบอาชีพ พนักงาน-รับราชการ
  • อาชีพรอง : รับจ้างทั่วไป, ค้าขาย
  • อาชีพเสริม : จักสานผักตบชวา, เลี้ยงสัตว์, ปลูกฟักทอง, ปลูกผักปลอดสารพิษ, ทำหน่อไม้ปี๊บ
  • รายได้ของประชาชน : ส่วนใหญ่ของหมู่บ้านมาจากการเกษตร
  • รายจ่ายของประชาชน : ค่าใช้จ่ายทางเกษตรกรรม เช่น ค่าจ้างรถไถนา รถหยอดข้าว รถเกี่ยวข้าว รถ ดูดข้าว, ค่าปุ๋ยเคมี, ค่ายาฆ่าแมลง, ยาคุมหญ้า เป็นต้น และค่าใช้จ่ายอุปโภค-บริโภค เช่น ค่าอาหาร, ค่าน้ำ, ค่าโทรศัพท์
  • หนี้สินของประชาชน : หนี้กู้ยืม ส่วนใหญ่เป็นหนี้จากการกู้ยืม ธกส.และสหกรณ์การเกษตร
  • กิจกรรมทางเศรษฐกิจ : กิจกรรมเศรษฐกิจ ที่ทำตลอดทั้งปี ได้แก่ เลี้ยงปลาและขายปลา เลี้ยงสัตว์ ได้แก่ เลี้ยงวัว เลี้ยงไก่ไข่เลี้ยงหมู เลี้ยงหมู, จักสานผักตบชวา, ปลูก-เก็บผักสวนครัว และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทำตามช่วงฤดูกาล ได้แก่ ปลูกข้าว-เกี่ยวข้าว, ปลูก-เก็บกระเทียม, ปลูก-เก็บฟักทอง, กรีดยางพารา, ทำหน่อไม้ปี๊บ/ขาย

วัฒนธรรมประเพณี

  • เดือนมกราคม (เดือน 4 ล้านนา) : วันขึ้นปีใหม่, กลางเดือนจัดทำพิธี“ตานข้าวใหม่”
  • เดือนกุมภาพันธ์ (เดือน 5 ล้านนา) : รุกขมูล เข้ากรรม บวงสรวงศาลเจ้าบ้าน
  • เดือนมีนาคม (เดือน 6 ล้านนา) : สรงน้ำพระธาตุ
  • เดือนเมษายน (เดือน 7 ล้านนา) : ปีใหม่เมือง ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง หรือประเพณีปีใหม่เมือง เป็นประเพณีที่สำคัญของชาวเหนือ หรือชาวล้านนา สืบเนื่องมาจากอดีตกาลที่จะยึดถือเป็นช่วงเปลี่ยนศักราชใหม่ โดยกำหนดจุดที่พระอาทิตย์ย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ ซึ่งมักจะตรงกับวันที่ 13 เมษายน หรือ 14 เมษายนของแต่ละปี และจะกินเวลาประมาณ 4-7 วัน ยาวนานกว่าสงกรานต์ของภาคอื่น ๆ

วันที่ 13 เมษายน วันสังขานต์ล่อง จะมีการจุดประทัด ยิงปืน เพื่อส่งสังขารหรือไล่สังขาร (จะถือเอาตามเวลาสังขานต์ล่องตามที่บอกในปฏิทินปี๋ใหม่เมืองในปีนั้น เช่น บอกว่าสังขานต์จะล่องเมื่อ 03 นาฬิกา 30 นาที 26 วินาที ชาวบ้านก็จะจุดประทัดเวลานั้นถือว่าไล่สังขานต์)

วันที่ 14 เมษายน เป็น "วันดา" คือวันที่ต้อง เตรียมสิ่งของต่าง ๆ เพื่อใช้ทำบุญในวันรุ่งขึ้น วันเน่า ไม่ควรด่าทอ เกิดอุบัติเหตุเจ็บตัว สาปแช่งหรือกล่าวคำร้ายต่อกัน ปากจะเน่าจะเหม็น เป็นอัปมงคลไปทั้งปี

วันที่ 15 เมษายน "วันพญาวัน" วันที่สามของประเพณีปีใหม่เมือง ถือเป็นวันเถลิงศก เปลี่ยนศักราชเริ่มต้นปีใหม่ วันนี้มีการทำบุญทางศาสนาแต่เช้าตรู่ และอุทิศกุศลไปถึงญาติผู้ล่วงลับ หรือเรียกว่า “ตานขันข้าว” นำตุงปักลงบนกองเจดีย์ทราย ช่วงบ่ายเป็นการรดน้ำดำหัว เพื่อขอขมาคนเฒ่าคนแก่ พ่อแม่ ครูอาจารย์ ไปสรงน้ำพระพุทธรูป เจดีย์ เลี้ยงผีปู่ย่าในวันนี้

วันที่ 16 เมษายน "วันปากปี" เป็นวันแรกของปี มารวมตัวกันเพื่อทำบุญเสาใจบ้าน หรือส่งเคราะห์บ้าน พิธีสืบชะตาหมู่บ้าน และพากันไปขอขมา ดำหัว พระเถระผู้ใหญ่ตามวัดต่าง ๆ ดำหัวผู้อาวุโส ผู้นำชุมชน ในตอนค่ำของวันนี้จะมีการบูชาเทียน สืบชะตา ลดเคราะห์ รับโชค เพื่อให้เกิดความเป็นมงคลแก่ครอบครัว โดยในวันปากปีมีความเชื่อบางประการเกี่ยวกับ “แกงขนุน” หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า “แก๋งบ่าหนุน” ที่จะกินกันทุกครอบครัว เพราะเชื่อว่าจะหนุนชีวิตให้เจริญก้าวหน้า ทั้งนี้เหตุผลของการทานแกงขนุนดังกล่าว อาจจะมาจากชื่อขนุน ที่มีความหมายถึงการเกื้อหนุน ค้ำจุน ครอบครัวให้เจริญรุ่งเรืองหรือตลอดปี

  • เดือนพฤษภาคม (เดือน 8 ล้านนา) : เลี้ยงผีเจ้าที
  • เดือนมิถุนายน (เดือน 9 ล้านนา) : ประเพณีเลี้ยงผีปู่ย่า ไหว้ผีมดผีเม็ง, เลี้ยงขุนผีน้ำ (เจ้าพ่อพญาคำฟู)
  • เดือนกรกฎาคม (เดือน 10 ล้านนา) : แรม 1 ค่ำ เดือน 8 ทำบุญเข้าพรรษา แฮกนา หว่านกล้า ไถนา
  • เดือนสิงหาคม (เดือน 11 ล้านนา) : ช่วงเดือนนี้จะอยู่ในช่วงเข้าพรรษา มีการทำบุญตักบาตร
  • เดือนกันยายน (เดือน 12 ล้านนา) : ปล่อยเปรตปล่อยผี ทำบุญให้กับคนที่ล่วงลับไปแล้ว, ตานก๋วยสลาก ช่วงเดือน 12 ล้านนาถึงเดือนยี่ หรือตั้งแต่เดือนกันยายนจนถึงเดือนตุลาคมของทุกปี
  • เดือนตุลาคม (เดือน 1 ล้านนา) : ทำบุญออกพรรษา อยู่ในช่วงตานก๋วยสลาก สิ้นสุดเอาในเดือนเกี๋ยงดับ
  • เดือนพฤศจิกายน (เดือน 2 ล้านนา) : ทอดกฐิน มีเวลา 1 เดือนหลังจากออกพรรษา ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือนเกี๋ยง (เดือนเกี๋ยงดับ) จนถึงวันเพ็ญเดือนยี่เหนือ, ประเพณียี่เป็ง
  • เดือนธันวาคม (เดือน 3 ล้านนา) : สวดมนต์ข้ามปี

1. นายสอน อ้อยหวาน หมอดิน : ปราชญ์ชาวบ้านด้านการเกษตร

2. นางรสสุคนธ์ ปิงวงศ์ : ปราชญ์ชาวบ้านด้านหัตถกรรม

3. นายธง ทำเคลื่อน : ปราชญ์ชาวบ้านด้านหัตถกรรม

  • วิสาหกิจชุมชนกลุ่มชาข้าวก่ำ (ข้าวลืมผัว) หมู่ 11 บ้านต๊ำพระแล ตำบลบ้านต๊ำ อำเภอเมือง พะเยา ที่มีการรวมกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ทำการเพาะปลูกข้าวระบบเกษตรอินทรีย์ ปัจจุบันมีสมาชิก 49 คน มีพื้นที่เพาะปลูกเป็นข้าวลืมผัว 500 ไร่ ข้าวหอมมะลิ 100 ไร่ และข้าวก่ำล้านนา 20 ไร่ รวมพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 700 ไร่ โดยเน้นการเพาะปลูกอย่างมีคุณภาพ ให้มีผลผลิตต่อไร่สูง ต้นทุนต่ำ เป็นการผลิตข้าวคุณภาพอย่างครบวงจร จนประสบความสำเร็จ สามารถผลิตข้าวตลาดเฉพาะ ตลอดจนถึงการแปรรูปที่ตรงตามความต้องการของตลาดได้

ภาษาพื้นเมืองล้านนา


ในอดีตการดูแลสุขภาพ เป็นลักษณะธรรมชาติการรับประทานอาหารต่าง ๆ มาจากอาหารที่หาได้จากธรรมชาติในหมู่บ้านในป่าและแหล่งน้ำมีการปลูกผักเลี้ยงสัตว์ไว้เป็นอาหารโดยไม่ได้ซื้อขายกันเมื่อเกิดการเจ็บป่วยก็จะดูแลกันภายในครอบครัวเครือญาติ ในช่วงแรก ๆ ในหมู่บ้านจะมีหมอรักษาทางไสยศาสตร์ หมอพื้นบ้านที่รักษาโดยสมุนไพรต่าง ๆ และมีพิธีกรรมในการรักษา เช่น การเป่า การแหก การสะเดาะเคราะห์ สืบชะตา เลี้ยงผี การรับบริการจากสถานบริการสาธารณสุขมีน้อยเพราะการคมนาคมไม่สะดวกและอยู่ไกล

ปัจจุบันชาวบ้านเล่าว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปมากเมื่อมีการคมนาคมสะดวกขึ้นการได้รับข่าวสารเพิ่มขึ้น ทำให้สภาพเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลงไป ทั้งแหล่งอาหาร การใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น มีอาหารแปลกใหม่เริ่มเข้ามาในหมู่บ้าน เริ่มมีการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีในการกำจัดศัตรูพืชเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีการเจ็บป่วยในโรคใหม่ ๆ และประกอบกับการมีการใช้ชีวิตที่มีความเป็นอยู่ดีขึ้น จึงมีกิจกรรมรวมตัวกันของชุมชน มีการดื่มสุราหลังเลิกงานของวัยทำงาน รวมทั้งวัยรุ่น อีกทั้งมีการดื่มสุราช่วงเทศกาล ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

Google Maps. (2562). พิกัดแผนที่ชุมชนบ้านต๊ำพระแล. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2562. เข้าถึงได้จาก https://www.google.com/maps

ประวัติจังหวัดในล้านนา จังหวัดพะเยา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2562. เข้าถึงได้จาก http://wiangsalanna.myreadyweb.com/

ยุทธภูมิ นามวงศ์. (2561, 21 มกราคม). ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงบ้านต๊ำพระแล. [วิดีโอ]. ยูทูบ. https://www.youtube.com/

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. (2559). ‘ต๊ำพระแล’หมู่บ้านตัวอย่างลดเมาเพิ่มสุข. สืบค้นเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2565. https://www.thaihealth.or.th

ศูนย์ข้อมูลข้าวตลาดเฉพาะ. (ม.ป.ป.). วิสาหกิจชุมชนกลุ่มชาข้าวก่ำ (ข้าวลืมผัว) หมู่ 11 บ้านต๊ำพระแล. สืบค้นเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2565. เข้าถึงได้จาก https://www.thairicedb.com/

เทศบาลตำบลบ้านต๊ำ โทร. 0-5488-8345-6