
ท่าเรือโบราณน้ำใส บวงสรวงพระธาตุดอยโดน งามเลิศล้ำธรรมมาสโบราณ เลื่องลือไกลดอยหลวง ประชาชนเก่งกสิกรรม งานจักสานไม้ไผ่เลื่องชื่อ
สถานที่ตั้งหมู่บ้านเป็นสันดอนค่อนข้างสูงเล็กน้อยจากทางทิศตะวันตก (ทางลงมาทางทิศตะวันออกสู่กว๊านพะเยา และมีลำน้ำสายหนึ่งแยกออกมาจากน้ำแม่ตุ่นลงสู่กว๊าน สมัยนั้นมีน้ำใสไหลงามตลอดปี และเป็นป่าไม้นานาชนิด เช่น ลำน้ำจะเป็นป่าไผ่คลุม และมีไม่ไผ่บงป่า ไม้ทองกวาว ไม้ช่อยไม้มะค่า ไม้เต็ง-รัง เป็นต้น
ท่าเรือโบราณน้ำใส บวงสรวงพระธาตุดอยโดน งามเลิศล้ำธรรมมาสโบราณ เลื่องลือไกลดอยหลวง ประชาชนเก่งกสิกรรม งานจักสานไม้ไผ่เลื่องชื่อ
บ้านสันกว๊าน ได้เริ่มก่อตั้งประมาณปี พ.ศ. 2341 ได้มีพ่อไม่ทราบนาม ภรรยาชื่อแม่คำ สามีภรรยาคู่นี้มีลูกด้วยกัน 3 คน คนที่ 1 ชื่อ พ่อจอก ภรรยาชื่อแม่ตุมมา คนที่ 2 ชื่อพ่อด้วง ภรรยาไม่ทราบนาม คนที่ 3 ชื่อพ่อแก้ว เป็นโสด ย้ายมาจากบ้านเอื้อม จังหวัดลำปาง และมีพ่อบุญมา ภรรยาชื่อแม่คำ ย้ายมาจากท่ามะโอ จังหวัดลำปาง รวมเป็น 4 ครอบครัว พากันย้ายมาจากลำปางมาใน พ.ศ 2339 เนื่องจากหมู่บ้านเดิมทรัพยากรต่างๆที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตหายากและมีอยู่น้อย ประกอบกับเป็นยุคที่ข้าวยากหมากแพง จึงทำให้ต้องย้ายถิ่นฐานมาตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณสันดอนทางทิศตะวันของกว๊านพะเยาเนื่องจากบริเวณนี้เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐานและประกอบอาชีพ จึงพากันปลูก
บ้านเล็ก ๆ ฝาผนังพื้นทำด้วยไม้ไผ่ หรือไม้ซาง หลังคาทำด้วยหญ้าคา ส่วนเสาเรือนก็เอาไม้ตันเล็กๆ สร้างอยู่ใกล้กัน เพราะสมัยนั้นสัตว์ร้ายมีมาก ต่อมาพ่อแก้วได้ภรรยา ชื่อแม่เต๋ม จากบ้านสันป่าถ่อนมา ก็ได้ปลูกเรือนอยู่คนเดียวอีก 1 หลัง รวมเป็น 5 หลังคาเรือน และได้ตกลงกันยึดสถานที่นี้ปักหลักตั้งหน้าหาชีพกัน เช่น ทำไร่ ปลูกข้าวไว้กินกัน ต่อมาได้ทำเป็นที่นา และขยายกว้างออกไปปีละน้อย และมีคนย้ายจากที่อื่นมาอยู่ เช่น จากลำปาง เข้ามาอยู่เพิ่ม และคนที่มีลูกหลานอยู่แล้วได้มีลูกหลานเพิ่ม ต่อมามีชาวบ้านจากถิ่นอื่นย้ายครอบครัวมาอยู่เพิ่มเป็น 26 หลังคาเรือน
พ.ศ. 2375 ทางราชการได้แต่งตั้งเป็น หมู่บ้านอย่างเป็นทางการ โดยใช้ชื่อหมู่บ้านว่า "สันกว๊าน" ซึ่งถือเอาตามสันดอนบ้านลงไปสู่กว๊าน และได้ส่งบุคคลชื่อ "หาญฟ้าสะท้อน" มาเป็นหัวหน้าหมู่บ้านเป็นคนแรก เป็นคนบ้านเอื้อม จังหวัดลำปาง
พ.ศ. 2464 ได้เริ่มก่อสร้างวัดโดยมีพ่อน้อยเป็ง สันกว๊าน ผู้ใหญ่บ้านในสมัยนั้น พ่อน้อยใจ ขันคำและพ่อน้อยเมือง ฝอยทอง ได้ร่วมกันเป็นผู้ขออนุญาตทางราชการเพื่อจัดตั้งวัดขึ้นในหมู่บ้านให้เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาของผู้คนในหมู่บ้าน ขณะนั้นราษฎรในหมู่บ้านซึ่งมีอยู่ 50 ครัวเรือน ได้ร่วมกันบริจาคเงินจัดซื้อที่ดินของพ่อเจ้าน้อยวัง (คนในเมือง) จำนวน 1 แปลง มีขนาดเนื้อที่กว้าง 24 วา ยาว 64 วา เป็นเงินราคา 50 แถบ (1 แถบ เท่ากับ 75 สตางค์) เพื่อใช้เป็นสถานที่จัดสร้างวัดตามที่ได้รับอนุญาต
พ.ศ. 2465 จึงเริ่มสร้างกุฏิสงฆ์ขึ้น แล้วจึงไปอาราธนานิมนต์พระด้วง จินา วัดสันป่าถ่อนมาเป็นอาวาส และได้จัดตั้งชื่อวัดของหมู่บ้านแห่งนี้ว่า "วัดสันนามูล" ซึ่งต่อมาทางวัดก็ได้ปลูกสร้างห้องน้ำและกำแพง ตามลำดับ และได้ซื้อที่ดินเพิ่มขยายพื้นที่ของวัดอีกด้วย
พ.ศ. 2475 การเดินเข้าเมืองนั้นจะต้องข้ามผ่านแม่น้ำอิง ทำให้ชาวบ้านมีความยากลำบากในการเดินทาง ซึ่งทางการได้แต่งตั้งให้ หน้อยจันทร์ เตซใจ เป็นกำนันตำบลบ้านต๋อม ได้รับนามว่าขุนเดช ซึ่งท่านเป็นนักพัฒนาท้องถิ่นและสร้างสาธารณูปการ ท่านจึงระดมชาวบ้านมาช่วยกันสร้างสะพานข้ามแม่น้ำอิง ซึ่งใช้ไม้ไผ่ ทำเป็นไม้สะลาบมาสวนเข้าด้วยกัน สะพานแม่น้ำอิงจึงถูกเรียกว่าสะพานขุนเดชมาจนถึงปัจจุบัน (หน้อย เป็นคำเรียกในล้านนา หมายถึงผู้ที่ผ่านการบวชเรียนจากเณร บางถิ่นที่ เรียก น้อย ส่วนผู้ที่ผ่านการบวชเรียนเป็นพระแล้วสึก เรียก หนาน การเรียกพ่อเป็นการให้เกียรติ ยกย่อง พ่อน้อย พ่อหนาน)
วันที่ 24 ตุลาคม 2482 วัดได้รับพระราชทานวิงสุงคามสีมา และได้ขอเปลี่ยนชื่อวัดสันนามูล มาเป็นชื่อ "วัดสันกว๊าน" ตราบจนปัจจุบัน
พ.ศ. 2482 กรมประมงจึงได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำ บริเวณด้านตะวันตกเฉียงใต้ของ อำเภอเมือง พะเยา แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2484 ทำให้น้ำท่วมไร่นา บ้านเรือน วัด โบราณสถาน โบราณวัตถุต่างๆ ในอาณาบริเวณบ้านสันกว๊านเดิมก็ถูกน้ำท่วม ประชาชนหลายครอบครัวจึงอพยพบ้านเรือนขึ้นมาเหนือน้ำ หนองน้ำธรรมชาติขนาดเล็ก ใหญ่ ได้ถูกรวมเปลี่ยนไปเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีพื้นที่เฉลี่ย 17-18ตารางกิโลเมตร หรือประมาณกว่า 12,000 ไร่ เป็นกว๊านพะเยา
พ.ศ.2484 ในฤดูน้ำหลาก น้ำจากแม่น้ำอิงที่ไหลลงสู่กว๊านพะเยา ทำให้ระดับน้ำกว๊านพะเยาเพิ่มสูงขึ้นและไหลท่วมพื้นที่หมู่บ้านบริเวณชายกว๊าน จึงได้มีการจัดสร้างฝ่ายกั้นน้ำขึ้นมาเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม ในสมัยนั้นยังไม่มีสถานีอนามัยหรือโรงพยาบาล เมื่อเกิดการเจ็บป่วยขึ้นจะใช้สมุนไพรในการรักษาและใช้เวทมนตร์คาถาร่วมด้วย โดยมีหมอเมืองซึ่งเป็นหมอประจำหมู่บ้าน 2 คน คือพ่อเลี้ยง ศรีใจ และพ่อเลี้ยงหนานแก้ว เป็นผู้ทำการรักษา
พ.ศ. 2485-2486 นายทองสุข ชมวงศ์ ดำรงตำแหน่งนายอำเภอพะเยา สงครามเริ่มรุนแรงขึ้น ข้าศึกโจมตีทางอากาศ ทรัพย์สินของทางราชการและประชาชนเสียหายมาก ผู้คนล้มตายและเกิดโรคระบาดคือ มาลาเลีย ซึ่งเกิดจากทหารติดเชื้อมาจากเขียงตุง ผู้คนล้มตายกันมาก มีการลักขโมยปล้นฆ่ากันบ่อยครั้ง เหตุการณ์ไม่ค่อยสงบประชาชนไม่กล้าออกไปทำมาหากิน ด้วยเหตุการณ์นี้เองทำให้กว๊านพะเยาเป็นฐานทัพ ของกองทัพญี่ปุ่นในสมัยนั้นได้มีทหารไทยและญี่ปุ่นจำนวนมากที่อาศัยในฐานทัพโดยมีทหารเสนารักษ์ ที่ชื่อนายมณี บุษเลิศ เป็นคนบางกอกน้อย เป็นทหารเสนารักษ์มาประจำการที่ฐานทัพกว๊านพะเยาได้พบรักกับแม่ค้าขายอาหารชื่อนางสีบุตร บุษเลิศ เป็นชาวบ้านบ้านทุ่งกี่ว หลังจบสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงแต่งงานกัน และนายมณี บุษเลิศ ย้ายมาอยู่ที่บ้านสันกว๊านและมีวิชาการรักษาโรคจากการเป็นทหาร เมื่อชาวบ้านสันกว๊านและชาวบ้านสันกว๊านเจ็บป่วยไม่สบายก็จะมารักษาโรคกับหมอมณี บุษเลิศ หรือ หมอทหาร ที่ชาวบ้านเรียกกัน
พ.ศ. 2490 ได้สร้างท่าเรือบ้านสันกว๊านสำหรับการคมนาคมและขนส่งสินค้าข้ามฝากโดยมีทั้งเรือแจว และเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ โดยการสัมภาษณ์ผู้อาวุโสของหมู่บ้าน โดยแต่ละหมู่บ้านในตำบลบ้านตุ่นและตำบลใกล้เคียงจะต้องมาที่หมู่บ้านสันกว๊านเพื่อมานั่งเรือข้ามฟากที่ท่าเรือไปในตัวเมืองพะเยา โดยตัวเมืองพะเยามี 3 ท่าเรือ คือ มีท่าเรือโรงพยาบาล ซึ่งปัจจุบันคือบริเวณห้องเก็บศพของโรงพยาบาลพะเยา ท่าเรือบาขาว ปัจจุบันคือ หน้าลานอนุสาวรีย์พ่อขุนงำเมือง และท่าเรือหนองระบู เมื่อก่อนเป็นท่าเรือที่ติดกับโรงสีข้าวเมื่อชาวบ้านทำนาได้ผลผลิต จะนำมาขายที่โรงสีและจะซื้อแกลบข้าวที่โรงสีไปเป็นอาหารสัตว์ ปัจจุบันคือบริเวณโรงแรมกรีนฮิลล์ โดยคิดค่าโดยสารเที่ยวละบาทใช้เวลาทั้งหมด 45 นาที พอขึ้นฝั่งถ้าต่อรถสามล้อไปโรงสีข้าวเที่ยวละบาท พอขากลับก็จะเก็บผักตบชวาและแหนมาเป็นอาหารหมูด้วย
พ.ศ. 2492 มีรถจักรยานคันแรกในหมู่บ้าน และในปีเดียวกันนี้เอง ได้จัดสร้างโรงเรียนประถมศึกษาขึ้นเป็นอาคารไม้ชั้นเดียวจำนวน 1 หลัง เปิดสอนชั้น ป. 1-4 มีนักเรียนประมาณ 10 กว่าคนโดยใช้ชื่อว่า "โรงเรียนบ้านสันกว๊าน" และถูกปิดลงในปี พ.ศ. 2557 ตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการเนื่องจากมีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 60 คน
พ.ศ. 2495 เกิดขึ้นของบ้านทุ่งกิ่วรวมกับหมู่บ้านสันกว๊าน โดยโรงเรียนนี้ชื่อว่า โรงเรียนบ้านสันกว๊านทุ่งกิ่ว ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านสันกว๊าน หมู่ 8 บ้านสันกว๊าน ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง จังหวัดพะเยาและถูกปิดลงในปี 2556 ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการเนื่องจากมีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 60 คน
พ.ศ. 2499 มีรถจักรยานยนต์คันแรกในหมู่บ้าน
พ.ศ. 2500 โรงพยาบาลพะเยาได้เปิดให้บริการซึ่งสมัยนั้นชาวบ้านเดินทางไปยังโรงพยาบาลพะเยาโดยนั่งเรือจากท่าเรือโบราณบ้านสันกว๊านไปยังโรงพยาบาล
พ.ศ. 2502-2504 นายศิริ เพชรโรจน์ มาดำรงตำแหน่งนายอำเภอพะเยา มาพัฒนาการหลายอย่าง เช่นปรับปรุงระเบียบการทำงานของหน่วยราชการให้รัดกุมยิ่งขึ้นการพัฒนาท้องที่ตำบลรอบนอกนั้นส่วนใหญ่พัฒนาทำถนนหนทาง เช่น พัฒนาปรับปรุงถนนต่อจากตำบลแม่ต๋ำ-ผ่านตำบลแม่นาเรือ ตำบลตุ่น ต๋อม ต๊ำและตำบลใหม่ 28 ก.ม. ติดต่อกับเขตอำเภอแม่ใจ ประชาชนเรียกถนนสายรอบกว๊าน ถนนได้ตัดผ่านตำบลบ้านตุ่นที่หมู่ 6 หมู่ 11 หมู่2 และหมู่ 3 ทำให้ประชาชนมีความสะดวกในการเดินทางมากขึ้น การเดินทางโดยเรือที่ท่าเรือบ้านทุ่งกิ่ว ได้ลดลงจากเดิมเนื่องจากมีถนนตัดผ่านตำบลบ้านตุ่น
พ.ศ. 2504 การฝังศพในหมู่บ้านจะใช้กว๊านพะเยาฝั่งทิศใต้ในการฝังศพ ย้ายจากกว๊านพะเยามาใช้พื้นที่ป่าช้าของหมู่บ้านในการฝังศพ เนื่องจากน้ำในกว๊านมีปริมาณเพิ่มขึ้นมาท่วมบริเวณที่ฝังศพ ชาวบ้านกลัวว่าจะเกิดโรคระบาดจึงย้ายสถานที่และเปลี่ยนจากการฝังศพมาเป็นการเผาศพ โดยเริ่มจากการนำอิฐมาก่อต่อมาจึงเริ่มมีการสร้างเมรุและเปลี่ยนมาใช้เมรุจนถึงปัจจุบัน
พ.ศ. 2516 น้ำท่วมครั้งที่ 2 ในฤดูน้ำหลาก น้ำฝนตกซุกระดับน้ำในกว๊านพะเยาขึ้นสูง จึงมีการปิดกั้นฝ่ายที่กว๊านพะเยาเพื่อป้องกันน้ำจากกว๊านขึ้นมา ส่งผลให้น้ำไม่มีทางระบาย ทำให้น้ำไหลท่วมพื้นที่หมู่บ้านเป็นเวลานาน จึงทำให้เกิดความเสียหายจำนวนมาก
พ.ศ. 2517 มีการก่อสร้างสถานีอนามัยตำบลบ้านตุ่นขึ้น ตั้งในหมู่ที่ 3 ตำบลบ้านตุ่น โดยขณะนั้นเป็นสำนักงานผดุงครรภ์บ้านตุ่นกลาง โดยนายอินทร์ สอนเผ่า เป็นผู้บริจาคที่ดิน หลังจากนั้นชาวบ้านจึงหันมา
ใช้บริการแพทย์แผนปัจจุบันมากขึ้น
พ.ศ. 2520 วันที่ 28 กรกฎาคม 2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ฯ มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งจังหวัดพะเยาตาม พระราชบัญญัติ เรื่อง ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520 ให้ไว้ ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2520 ประกอบด้วยอำเภอ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพะเยา อำเภอจุน อำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงม่วน อำเภอดอกคำใต้ อำเภอปง และอำเภอแม่ใจ และมีนายสัญญา ปาลวัฒน์วิไชย เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาคนแรก อำเภอแม่ใจ เมื่อแยกจากจังหวัดเชียงรายมาขึ้นยังจังหวัดพะเยา นายอำเภอพะเยา ขณะนั้นคือ นายจรัส ฤทธิ์อุดม (พระวิมลธรรมโมลี. 2546 : 142)
พ.ศ. 2525 มีถนนลาดยางเข้าหมู่บ้าน เริ่มมีรถเดินทางเข้าออกมากขึ้น หลังจากนั้นในปีเดียวกันท่าเรือถูกหยุดใช้
พ.ศ. 2528 มีไฟฟ้าเข้าถึงหมู่บ้าน และมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นผู้นำดูแลสุขภาพตนเอง ครอบครัวและชุมชน โดยผ่านกระบวนการอบรมให้ความรู้จากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
พ.ศ. 2530 มีโทรศัพท์สาธารณะในหมู่บ้าน
พ.ศ. 2532 มีจัดสร้างประปาบาดาลของหมู่บ้าน โดยกรมโยธาที่โรงเรียนบ้านสันกว๊าน
พ.ศ. 2542 มีจัดสร้างประปาของหมู่บ้าน โดยกรมอนามัยที่ทางเข้าหมู่บ้านติดกว๊านพะเยา
พ.ศ. 2557 โรงเรียนบ้านสันกว๊าน ถูกปิดเนื่องจากมีจำนวนนักเรียนน้อย จึงให้ยุบรวมไปเรียนที่โรงเรียนบ้านดอกบัว
พ.ศ. 2558 หมู่บ้านสันกว๊าน ชนะเลิศการประกวดหมู่บ้าน ลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับจังหวัด โดยมีกองทุนสนับสนุนคือ กองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลบ้านตุ่น, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, กองทุนสหกรณ์เครดิตยูเนียนสันกว๊านจำกัด
ผู้นำหมู่บ้านสันกว๊าน ได้แก่
1. หาญฟ้าสะท้อน | พ.ศ. 2375-2395 |
2. หาญเปี้ย | พ.ศ. 2395-2402 |
3. แสนจันทร์ต๊ะ | พ.ศ. 2402-2013 |
4. ท้าวซื้อ | พ.ศ. 2413-2413 |
5. ท้าวหลง | พ.ศ. 2413-2442 |
6. พ่อเจ้าอุด ชุ่มใจ | พ.ศ. 2442-2460 |
7. พ่อน้อยใจ ขันคำ | พ.ศ. 2460-2464 |
8. พ่อน้อยเป็ง สันกว๊าน | พ.ศ. 2464-2468 |
9. พ่อแก้วมา ครองมัจฉา | พ.ศ. 2468-2470 |
10. พ่อน้อยซื้อ เครือสาร | พ.ศ. 2470-2473 |
11. พ่อน้อยอินทร์ ขันคำ | พ.ศ. 2473-2476 |
12. พ่อน้อยซื้อ เครือสาร | พ.ศ. 2476-2478 |
13. นายแก้ว ขันคำ | พ.ศ. 2478-2492 |
14. นายตุ้ย ใจกล้า | พ.ศ. 2492-2516 |
15. นายศรี สมส่วน | พ.ศ. 2516-2518 |
16. นายสี สันกว๊าน | พ.ศ. 2518-2528 |
17. นายกมล เครือสาร | พ.ศ. 2528-2535 |
18. นายเพิ่ม สารข้าว | พ.ศ. 2535-2540 |
19. นายชาติชาย อูปแก้ว | พ.ศ. 2540-ปัจจุบัน (2562) |
รายชื่อเจ้าอาวาสวัดสันกว๊าน (ข้อมูลจากประวัติบ้านสันกว๊านและวัดสันกว๊าน เรียบเรียงและได้ข้อมูลจาก พ่อหนานหาญ สันกว๊าน)
1. พระอธิการด้วง จินา | พ.ศ. 2465-2470 |
2. พระเจ้าอธิการเป็ง อินทว์โส | พ.ศ. 2470-2476 |
3. เจ้าอธิการตุ้ย ญาณร์สี | พ.ศ. 2476-2487 |
4. พระอธิการเลิศฟ้า อุตตโร | พ.ศ. 2487-2495 |
5. พระอธิการกิ่งแก้ว ฐิตญาโณ | พ.ศ. 2495-2498 |
6. พระอธิการอุ่นเรือน ฐิตญาโณ | พ.ศ. 2498-2500 |
7. พระครูปัญญารัตนาภรณ์ | พ.ศ. 2500-2543 |
8. พระครูวาปีบุษโยภาส | พ.ศ. 2543-2555 |
9. พระอธิการสมศักดิ์ กนตสีโล | พ.ศ. 2555-ปัจจุบัน |
หมู่บ้านสันกว๊านห่างจากตัวเมืองจังหวัดพะเยา ระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร ห่างจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านตุ่นระยะทางประมาณ 800 เมตร เป็นหมู่บ้านขนาดกลางมีจำนวน 151 ครัวเรือน (ตามทะเบียนบ้าน) ที่ตั้งของหมู่บ้านเป็นที่ราบลุ่มสันดอนริมน้ำกว๊านพะเยา มีพื้นที่อยู่อาศัย 125 ไร่ พื้นที่ทำการเกษตร 860 ไร่ ลักษณะทั่วไปของหมู่บ้านมีการตั้งบ้านเรือนเป็นกลุ่ม ส่วนใหญ่เป็นญาติพี่น้องกัน ลักษณะบ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้านชั้นเดียวยกพื้นสูง แต่ละบ้านมีรั้วกั้นอาณาเขตแต่ละหลังอย่างชัดเจน สภาพบ้านเรือนมีความมั่นคง มีน้ำใช้และบริโภคตลอดทั้งปีและหมู่บ้านสันกว๊านมีความอุดมสมบูรณ์ ถนนภายในหมู่บ้านเป็นถนนลาดยางและคอนกรีต ในหมู่บ้านมีทั้งหมด 4 ซอย รถยนต์สามารถผ่านได้สะดวก คนในหมู่บ้านส่วนใหญ่เดินทางโดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นส่วนใหญ่
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ที่ 10 บ้านสันกว๊าน ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
- ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ที่ 6 บ้านสันป่าถ่อน ตำบลแม่ใส อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ กว๊านพะเยา
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่ที่ 1 บ้านตุ่นใต้ ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
มีคณะกรรมการหมู่บ้านในการดำเนินการเป็นหลัก โดยมีนายชาดิชาย อูปแก้วเป็นผู้ใหญ่บ้าน มีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 2 คน และจัดคุ้มบ้านเป็น 12 คุ้ม หัวหน้าคุ้มบ้านเป็นกรรมการหมู่บ้านโดยตำแหน่ง
1. อาสาพัฒนาชุมชน (อช.) : นางสุราง เสมอใจ เป็นประธาน
2. อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน : นายอินถวาย สารข้าว ประธาน อสม.
3. กลุ่มอาชีพ
- กลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว
- กลุ่มประมงพื้นบ้าน
- กลุ่มเกษตรทำนา
- กลุ่มจักสารผักตบชวา
- กลุ่มช่างซ่อมเครื่องยนต์
- กลุ่มผู้เลี้ยงโค-กระบือ
4. กลุ่มกิจกรรมตามกฎหมาย
- กองทุน SML.
- อสม.
- อพม.
- กลุ่มแม่บ้าน
- กลุ่มผู้ใช้น้ำ
- กทบ.
- องค์กรชุมชน
- กลุ่มเยาวชน
- กลุ่มสตรีอาสาฯ
สภาพทางเศรษฐกิจ
- อาชีพหลัก : ประมง, เกษตรกรรมประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงเนื่องจากหมู่บ้านมีพื้นที่ติดแหล่งน้ำกว๊านพะเยา ส่วนใหญ่จึงมีรายได้จากการประมง รองลงมาคือเกษตรกรรม
- อาชีพเสริม : เลี้ยงไก่ชน, จักสานผักตบชวา, ปลูกกระเทียม
- รายได้ของประชาชน : เงินจากลูกหลาน, ประมง, ทำนา, ปลูกกระเทียม, สานผักตบชวา, เบี้ยยังชีพ, ค้าขาย, รับจ้างทั่วไป, ข้าราชการ, เย็บผ้าโหล, ถักแห, ข้าราชการ
- รายจ่ายของประชาชน : ค่าอุปโภคบริโภค, ค่าน้ำ, ค่าไฟ, ค่าโทรศัพท์, ค่าน้ำมัน, กองทุน, ปุ๋ย, อาหารสัตว์, ค่าเช่านา, ค่าจ้างแรงงาน, ค่าหวย, หนี้สิน, ค่าเล่าเรียนบุตร, ผ่อนรถ, บุหรี่-สุรา
- หนี้สินประชาชน : หนี้กองทุนหมู่บ้านและหนี้ ธ.ก.ส.
- พืชและสัตว์ที่ปลูกและเลี้ยง : พืชที่ปลูกส่วนใหญ่ ได้แก่ หอมแดง, กระเทียม, ข้าว, ผักสวนครัว สัตว์ที่เลี้ยงส่วนใหญ่ ได้แก่ วัว, ควาย
1. นายเจริญ หน่อแก้ว : ปราชญ์ชาวบ้านด้านการเกษตร
2. นางอ่อน ยังมั่ง : ปราชญ์ชาวบ้านด้านการเกษตร
3. นายอุดม ใจกล้า : ปราชญ์ชาวบ้านด้านการเกษตร
4. นายหวัน วงค์ไชยา : ปราชญ์ชาวบ้านด้านหมอพื้นบ้าน
5. นายศรีทอน อุตะมะ : ปราชญ์ชาวบ้านด้านหมอพื้นบ้าน
6. นายสุนทร ไทยกุล : ปราชญ์ชาวบ้านด้านหมอพื้นบ้าน
7. นายเอี่ยม ขันคำ : ปราชญ์ชาวบ้านด้านศิลปวัฒนธรรม
8. นายเหรียญ สันกว๊าน : ปราชญ์ชาวบ้านด้านหัตถกรรม
- กว๊านพะเยา
- สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนสันกว๊าน
ภาษาพื้นเมืองล้านนา
Google Maps. (2561). พิกัดแผนที่ชุมชนบ้านสันกว๊าน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2562. เข้าถึงได้จาก https://www.google.com/maps.
ราชกิจจานุเบกษา. (2549). ประกาศจังหวัดพะเยา เรื่อง ตั้งและกำหนดเขตหมู่บ้าน. เล่ม 123 ตอนพิเศษ 128 ง. 13 ธันวาคม 2549.
พระครูโสภณปริยัติสุธี (ศรีบรรดร ถิรธมฺโม.). (2552). ชื่อบ้าน-ภูมิเมืองพะเยา. พะเยา : เจริญอักษร.
นักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 4 รุ่นที่ 27 (2562). รายงานการวินิจฉัยชุมชนบ้านสันกว๊านหมู่ 8 ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา. วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พะเยา.
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). (2562). “บ้านสันกว๊าน”หมู่บ้านต้นแบบปลอดเหล้า. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2562. เข้าถึงได้จาก https://resourcecenter.thaihealth.or.th/
องค์การบริการส่วนตำบลบ้านตุ่น. (ม.ป.ป.). "บ้านสันกว๊าน" หมู่บ้านต้นแบบปลอดเหล้า. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2562. เข้าถึงได้จาก http://www.baantoon.com/